เนิ่นนานมาแล้วที่การศึกษาตกเป็นจำเลยของสังคมไทย เวลาบ้านเมืองเราเกิดวิกฤติอะไรขึ้นมา หลายคนก็เชื่อว่าต้องกลับไปเริ่มต้นแก้ไขกันที่ระบบการศึกษานี่แหล่ะ เพราะมันคือต้นตอของปัญหาทั้งหมด
ที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองออกนโยบายต่างๆ นานา เพื่อแก้ไขการศึกษาไทยให้ดีขึ้น ส่วนผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นอย่างไรนั้น เชื่อว่าหลายคนก็เห็นกันอยู่แล้วเนอะ
The MATTER ไปพูดคุยกับ ‘ครูจุ๊ย’ หรือ อ.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในประเทศฟินแลนด์ เพื่อหาคำตอบว่า ตกลงแล้ว ปัญหาการศึกษาไทยมันต้องเริ่มแก้ไขที่ตรงไหน เราต้องต่อสู้กับอะไรเพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ครูจุ๊ยบอกกับเรา (กึ่งๆ ระบายความในใจพร้อมถอนหายใจเป็นพักๆ) ว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดในตอนนี้คือความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา
The MATTER: ถ้าเราจะพูดถึงปัญหาการศึกษาไทย ตอนนี้ปัญหามันหนักขนาดไหน
อ.กุลธิดา: ความเหลื่อมล้ำคือเบอร์หนึ่งเลยนะ ฝากเขียนตัวใหญ่ๆ ในประเทศนี้
The MATTER: เวลาที่พูดถึงความเลื่อมล้ำในการศึกษาอะไรคือเรื่องใหญ่ที่สุด
อ.กุลธิดา: เรื่องใหญ่ที่สุดคือวัฒนธรรมของเรา การศึกษาไทยมันยกย่องเฉพาะเด็กที่เก่ง ทั้งในระบบห้องเรียนและในระบบการศึกษาไทย เราเอาเงินมาลงให้กับโรงเรียนที่เก่ง โรงเรียนที่ดี แล้วเราก็มีโรงเรียนโมเดลเต็มไปหมด การศึกษาไทยสร้างเด็กมาหนึ่งก้อน สร้างเด็กโอลิมปิกขึ้นมา สร้างมาสารพัด แล้วเราก็ทิ้งที่เหลือเอาไว้ข้างหลัง อ่านหนังสือไม่ออกก็อ่านหนังสือไม่ออกต่อไป อันนี้เป็นสิ่งที่เราทำมาตลอดเลย ถ้าเจาะซูมสเกลรายละเอียดลงไปอีก เราก็จะจัดอันดับสารพัดสารเพในระบบการศึกษาของเรา เรายังมีห้องเก่งห้องไม่เก่ง Gifted, King, Queen เลิกแล้วมั้ง แต่เมื่อก่อนมี
เราสัมผัสมากับระบบแบ่งแยกแม้กระทั่งที่นั่งในห้องเรียนที่เรียงตามลำดับ เก่งนั่งตรงนี้ ห่วยนั่งตรงนี้ แล้วเราคิดสภาพเป็นเด็กสิ ทุกขณะจิตที่ฉันเรียนหนังสืออยู่ฉันกลับทราบว่าฉันเป็นคนสุดท้ายของห้อง แย่หนักกว่าเดิม ไม่ได้ช่วยอะไร
คือห้องเรียนเราก็มีปัญหานี้ ห้องเรียนเรามีเด็กที่เก่งแสนเก่ง บางคนเรียนนานาชาติมาแล้วมาเรียนที่นี่ใดๆ ก็ตาม แล้วมีเด็กที่ไม่ได้อะไรเลย อย่างในวิชาภาษาอังกฤษ เขาอาจจะเก่งอย่างอื่นเนอะ สิ่งที่เราทำคือ เราก็เอาเด็กเก่งมาประจำกลุ่มแต่ละกลุ่ม แล้วเวลาเราสอนไปเราหยุดตลอดเพื่อให้เด็กเก่งช่วยเพื่อนที่ไม่เก่ง คือหยุดเพื่อให้เพื่อนช่วยอธิบาย แล้วเราขอเลยว่า ถ้าจะมีคนยกมือถามคำถาม เราไม่ให้ลีดเดอร์ช่วยถาม เราให้ลีดเดอร์ช่วยเด็กที่อยู่ในนั้นตั้งคำถาม
The MATTER: ระบบแบ่งแยกเด็กเก่งกับไม่เก่งออกจากกัน มันส่งผลต่ออะไรบ้าง
อ.กุลธิดา: ระบบแบ่งแยกเหมือนให้รางวัลคนเก่งอยู่ตลอดเวลา และกดทับคนไม่เก่งอยู่ร่ำไป แต่เราจะมองแต่เฉพาะคนเก่ง เราอวยเฉพาะคนเก่ง ส่วนคนไม่เก่งก็ไม่ต้องมองก็ได้ นี่ก็ถ่างความเหลื่อมล้ำในการศึกษาออกไปเรื่อยๆ แล้วเราไม่สามารถเปลี่ยนระบบการศึกษาได้ถ้าเรามีคนเก่งเพียงแค่กระจุกเดียว แล้วเราทิ้งคนอีกจำนวนมาก
The MATTER: เคยเจอบรรยากาศในห้องเรียน เด็กที่โดนทิ้งเขาได้มาคุยมาเล่าอะไรบ้าง
อ.กุลธิดา: ตอนเราทำงานปริญญาเอกต้องออกไปต่างจังหวัด เราต้องนั่งฟังวิชาสังคมว่าคุณครูเขาสอนยังไง สิ่งที่เรานั่งในห้องอาจไปต้องไปคุยกับเด็กเพราะเรามีหน้าที่เป็นผู้สังเกตอย่างเดียว เราเห็นว่าคุณครูเขาไม่ได้มาสนใจหรอก เด็กที่เลอะๆ เทอะๆ อยู่ข้างหลังห้องที่ทำแบบฝึกหัดไม่ได้ เด็กก็จับปากกาอยู่อย่างนั้น เขียนไม่ได้
ประเทศเรายังมี Dictation เขียนตามคำบอกอยู่นะ ในบางโรงเรียน พอเด็กเขียนผิดนิดเดียวครูก็มาพูดว่านี่เธอไม่ได้เรียนอะไรไปเลยใช่ไหมที่ฉันสอนเมื่อกี้ ซึ่งเด็กคนนั้นอาจพยายามแล้วนะ แต่เขาอาจจะเผชิญหน้าปัญหาอะไรบางอย่าง สิ่งที่เด็กคนนั้นได้รับคือโดนตำหนิว่าสอนไปแล้วไม่จำ และสิ่งที่หยิบติดตัวกลับไปคือทำไมฉันโง่ งั้นถ้าฉันไม่เก่งแล้วจะพยายามทำไม
The MATTER: เพราะปัญหาแบบนี้เลยทำให้เด็กหลายคนเลือกที่จะออกจากระบบการศึกษา
อ.กุลธิดา: ใช่ แล้วมีจำนวนเยอะด้วย
The MATTER: แล้วจะแก้ไขกันยังไงดี
อ.กุลธิดา: โอ๊ย อยากจะร้องไห้ เราว่ามันต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมทั้งครูและนักเรียน ครูต้องเข้าใจว่าเด็กมีธรรมชาติของตัวเอง แล้วไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกคน เอาความเก่งไปเก็บแป๊ปนึง เปลี่ยนเป็นความถนัดก็ได้ เพราะเด็กคงถนัดกันคนละอย่าง
ระบบการศึกษาเราอิงเกรด เกรดไม่พอยังมี GPA อีก เพื่อที่จะได้จัดอันดับได้ว่าใครสูงกว่าใคร ใครต่ำกว่าใคร แต่ฟินแลนด์ไม่มี GPA นะ ใช้เพียงเกรดอย่างเดียว ถ้าอยากรู้ว่าคนไหนเก่งให้ไปดูที่แต่ละวิชา
ฟินแลนด์เขาเชื่อว่าคนมันไม่ได้เก่งทุกอย่าง การศึกษาจะต้องทำให้คนเห็นว่าเราถนัดอะไร นี่คือเป้าหมาย ไม่ใช่ว่าเราไปกดไว้ว่าเธอไม่เก่ง
The MATTER: ปัจจัยแบบนี้มันทำให้เด็กไม่สามารถค้นพบตัวเองระหว่างเรียนได้รึเปล่า
อ.กุลธิดา: แน่นอน เราจะเอาแรงใจที่ไหนไปค้นพบตัวเอง ไอ้แบบ Negative comments ทั้งหลาย มันก็ Unfair ที่จะบอกว่าอันนี้ครูทุกคนเป็นเนอะ เราก็พูดถึงครูส่วนหนึ่งเนอะ
เราคิดว่าต้องให้เด็กได้ลองทำและหลากหลาย ต้องให้เขาได้ลองทำ และหลากหลาย และต้องให้เขาเสนอด้วยว่าอยากทำอะไร สิ่งที่ต้องมีก่อนคือบรรยากาศการเรียนรู้ที่เด็กรู้สึกปลอดภัย ปลอดภัยทั้งจิตใจ และร่างกายกายภาพก็รู้สึกปลอดภัย เมื่อมีความรู้สึกปลอดภัยปุ๊บเขาจะเริ่มไว้ใจคุณครู
เมื่อเริ่มไว้ใจครู กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างระบบการศึกษาภายใต้ความกลัว กลัวแล้วจะเกิดอะไรขึ้นล่ะ ถามก็ไม่ได้ จะเสนออะไรก็ไม่กล้า อยากรู้อะไรก็เงียบไว้ดีกว่าเดี๋ยวผิด
The MATTER: การศึกษาเราก็ให้เลือกแล้วไม่ใช่หรอ ได้เรียนดนตรีไทย ดนตรีสากล วิชาพละอะไรมากมาย รวมถึงนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้
อ.กุลธิดา: แต่เราเคยได้เลือกไหมล่ะ เรียนกระบี่กระบอง เราได้เลือกเหรอ เอาจริงๆ เดี๋ยวหาว่าเราไม่ยุติธรรม คือในฟินแลนด์ก็ไม่ได้มีให้เลือกมากหรอก แต่มันได้ทดลองหลากหลายมากเลยในปีหนึ่งอ่ะ ด้วยความที่ฟินแลนด์มันกำหนดการเรียนการสอนตามสภาพอากาศ ดังนั้นวิชาพละก็เรียนตั้งแต่สิ่งที่อยู่ในยิมไปถึงสิ่งที่อยู่นอกยิม วิ่ง สกี ครบในหนึ่งปี ดังนั้นมันก็โป๊ะเชะไปโดนอะไรบางแหล่ะ ที่เราแบบโอเค หรือไม่โดนอะไรเลย
สำหรับที่ฟินแลนด์แล้ว ถ้าเด็กๆ รู้ว่าตัวเองไม่ชอบก็ถือว่ารู้แล้วนะ ไม่จำเป็นที่ต้องไปบังคับให้ตัวเองชอบอะไรบางอย่าง ไม่ชอบก็คือไม่ชอบ อย่างน้อยคุณก็รู้ว่าไม่ชอบ
The MATTER: เวลาสอนเด็กอยู่ในห้องเรียน เจอเด็กสาย เจอเด็กซน จัดการกับปัญหาอย่างไรบ้าง
อ.กุลธิดา: เอาเรื่องมาสายก่อน เป็นครูสิ่งแรกคือถาม ทำไมมาสาย แล้วคือแน่นอนมันก็จะต้องมีเด็กแถ แต่ทำบ่อยๆ ว่าทำไมถึงมาสาย เขาก็จะบอกความจริงเนี่ยแหล่ะ ผมตื่นสายครับ แล้วถามว่าเราได้อะไร ในตรงนี้มันก็จะสร้างความตระหนักรู้แล้วว่า คือเขาต้องย้ำตัวเองว่าเขาไม่มีความรับผิดชอบก็เลยตื่นสาย มาสาย หรือถ้าเขามีเหตุ เราในฐานะครูได้เข้าใจเขาว่า อ๋อ มันมีเหตุ คือเราไม่เคยถือคติว่าต้องด่าก่อน ต้องถามไล่เรียงก่อน
The MATTER: แล้วเด็กซนล่ะ แบบไม่ตั้งใจเรียน เอาแต่คุย ไม่สนใจอาจารย์
อ.กุลธิดา: ห้องเรามันเป็นห้องแบบ เราแทบไม่ได้พูดเลยนะ มันทำเยอะอ่ะ ดังนั้นถ้าสมมติเมื่อไหร่ที่เด็กไม่ตั้งใจอ่ะมันไม่มีผลไง ทำงานไม่ทันเวลามันก็จะเกิดกระบวนการอายเพื่อนเองนึกออกไหม เห้ยเพื่อนทำเสร็จหมดเลยอ่ะ มีกลุ่มฉันที่แบบ เวิ่นเว้ออยู่และช้าอยู่ แล้วเด็กก็จะเรียนรู้เองมาครั้งหน้าก็จะปรับตัวได้
The MATTER: กำลังจะบอกว่าการออกแบบบรรยากาศในห้องเรียนสำคัญ
อ.กุลธิดา: สำคัญมาก แบบฟินแลนด์เนี่ยคิดทุกอย่าง Space สำคัญที่สุด คือถ้าเริ่มอะไรไม่ได้ หมายถึงเราเนี่ยไม่มีอำนาจที่ไปเปลี่ยนทั้งระบบการศึกษา เห้ย เปลี่ยนกายภาพห้องเรียนก่อน จำเป็นต้องมีโต๊ะหรือเปล่า โต๊ะต้องใช้หรือเปล่า คือแบบนั่งแบบอื่นได้ไหม ให้เด็กทำงานเคลื่อนไหวสะดวก สมมติเราสอน ม.ปลาย มันคือเด็กวัยรุ่นอะดรีนาลีนหลั่ง จะให้มันมานั่ง 3 ชั่วโมงแล้วมาฟังเราอ่ะ แล้วคุณก็บอกว่าเด็กมันไม่มีระเบียบ แต่คุณเข้าใจ Nature เด็กไหม เป็นคุณจะนั่งไหม คุณก็ไม่นั่งอะ ดังนั้นงานของคุณคือในฐานะครูก็ต้องทำให้มันเกิดกระบวนการต่างๆ นานา เพื่อที่เด็กจะเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่
The MATTER: หรือแปลว่าการไม่มีระเบียบ มันก็เป็นผลดีต่อการศึกษาการเรียนบรรยากาศในห้องเรียนได้เหมือนกัน
อ.กุลธิดา: คือมันไม่จำเป็นต้องเรียนเป็นตามระเบียบโอซีดี สำหรับเรานะ การเรียนในห้องจะต้องเป็นแบบ Organic มันจะต้องแบบปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เพราะว่าการศึกษาที่ดีมันจะต้องเป็นการศึกษาที่ผู้เรียนบอกได้ว่าอยากได้อะไร จะเอาอะไร แล้วมันเปลี่ยนปรับตามความต้องการของนั้น ถ้าคนสอนกับคนเรียนตั้งจุดประสงค์ตรงกันแล้ว มันก็วิธีไปต่ออีกหลายแบบ
The MATTER: แล้วอย่างเราเห็นข่าวมีคนไปสอนต้องซ้ายหันขวาหัน มันช่วยให้เด็กมีระเบียบหรือเปล่า
อ.กุลธิดา: การฝึกเด็กเล็กๆ ให้ยืนซ้ายหันขวาหัน แถวตรงตลอดเวลามันขัดต่อธรรมชาติเด็กมากเลยนะ มันจำเป็นแค่ไหนเชียว ในเมื่อแค่สอนให้เค้ารู้จักหน้าที่ของตัวเองและรับผิดชอบต่อส่วนรวมก็พอแล้ว
คือสอนได้แต่เด็กก็จะมีระเบียบแค่ตอนสั่ง เพราะว่าโดนสั่งมา กลัวด้วย แต่ถามว่า มันจะเป็นกระบวนการที่แบบต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคต แล้วเขาจะทำทุกครั้งหรือเปล่ามันก็ไม่การันตีนะ จริงๆ แล้ว อาจจะต้องมาดีไซน์ระเบียบวินัยกันใหม่หมดเลยว่ามันคืออะไรกันแน่ ตกลงว่ามันมาจากการสั่ง หรือมันมาจากการที่เราในฐานะที่เป็นคนปฏิบัติเข้าใจว่าทำไมเราต้องทำแบบนี้ แล้วก็ทำ อย่างการเข้าแถว สมมติต่อคิว เราเข้าใจว่ามันเพื่อที่เราจะได้อยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข ไม่มีใครตีกัน เพราะว่าทุกคนต่อแถวกัน เราเคารพสิทธิของคนอื่นที่เข้ามาก่อนเราก็ต่อแถวเขาก็แค่นั้น
The MATTER: แล้วการสั่งแบบนี้มันส่งผลอะไรบ้าง
อ.กุลธิดา: เราก็ไม่ต้องคิดไง คือเขาให้หันเราก็หัน ส่วนตัวเราไม่เห็นด้วยกับกระบวนการแบบนี้ในสถาบันการศึกษา เพราะเรารู้สึกว่า เราต้องทำให้เด็กมีระเบียบวินัย แต่มันมีอีกหลากหลายวิธี สำหรับเรามันเป็นการทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กๆ รับผิดชอบต่อตนเองก่อน คืองานของตัวเองต้องรับผิดชอบให้ได้ แล้วรับผิดชอบต่อส่วนรวมด้วย
The MATTER: อยากให้ลองยกตัวอย่างเกี่ยวกับการสอนวินัยที่ดี
อ.กุลธิดา: คือคุยกันสิ หน้าที่มีอะไรบ้าง ต้องทำอะไรบ้าง ใครรับผิดชอบอะไรบ้าง คุณปฏิบัติตามหน้าที่สิ จบ
The MATTER: อันนี้หมายถึงให้เด็กคุยกันเอง
อ.กุลธิดา: ใช่ เราให้เด็กคุยกันเองตลอด สมมติเราสั่งงานใหญ่ๆ ตอนแรกเด็กก็จะงงและมึนว่าต้องทำอะไรบ้าง เราก็มีหน้าที่ช่วยแคะว่า งานแบบนี้ต้องทำอะไรบ้าง 1 2 3 4 5 แล้วให้เค้าไปคุยกันเอง แบ่งงานกันเอง ใครทำอะไรก็คุยกันเอง แค่นี้ก็เกิดระเบียบขึ้นแล้ว
The MATTER: ครูในโรงเรียนอาจจะกลัวว่า เนี่ยเด็กคนนี้ไม่ยอมไปต่อแถวกินข้าว ลัดคิวเพื่อน ถ้าไม่ให้คนมาสั่งไม่มีทางแก้ไขได้หรอก
อ.กุลธิดา: ถ้ามีแบบมีคนที่ลัดคิวเพื่อนอย่างนี้ เพื่อนไม่หน้าเขียวใส่เหรอ แล้วถ้าเราเป็นเพื่อนเราหน้าเขียวใส่แล้วนะ ถ้ามันเกิดกระบวนการนี้จริงว่าแบบเพื่อนมองหน้าแล้วยังไม่รู้สึกแล้วยังทำต่อไป ครูก็ต้องเข้ามาดูแล้วว่าแบบ หนู เมื่อกี้หนูต่อแถวหรือเปล่า แล้วถ้าสมมติว่ามันเป็นต่อไปอีกเนี่ย คงต้องคุยกับผู้ปกครองแล้ว มันต้องมีอะไรเกิดขึ้นในครอบครัว
The MATTER: ได้ไปดูการศึกษามาทั้งฟินแลนด์และเกาหลีเหนือ ระเบียบวินัยทั้ง 2 ประเทศมันแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
อ.กุลธิดา: เราว่าระเบียบวินัยของฟินแลนด์มันถูกจำกัดความไว้ว่า เป็นความรับผิดชอบต่อส่วนรวม คือมันมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมมาก มันไม่จำเป็นต้องแถวตรง แต่ วันนั้นเราเพิ่งโพสต์ระบบแยกขยะ ถ้าเห็นแล้วจะแบบ ถ้าดิฉันเป็นประชากรประเทศนี้ดิฉันเหนื่อยนะ ที่แยกขยะอะไรกันละเอียดเบอร์นั้น แต่ทำไมต้องทำล่ะ เพราะว่ามันได้สอนมาแล้วว่านี่คือจะทำให้ส่วนรวม
ส่วนเกาหลีเหนือเขาตั้งธงเอาไว้ว่า การจะเป็นประชากรที่ดีของเขาเนี่ย ต้องทำตามสิ่งที่ระบอบบอก ดังนั้นมันก็จะอาศัยการกำหนดว่า อยากเป็นประชากรที่ดีไหม เพราะการเป็นประชากรที่ดีเนี่ย คุณอาจจะได้รับค่าตอบแทนใดๆ เพิ่มเติม
แต่สังเกตอะไรไหม อันนี้ก็เหมือนกับการสั่ง มันมีแรงจูงใจข้างนอกมาสั่งให้เราทำ ของรางวัลมาล่อหรืออะไรก็ตาม ในเกาหลีเหนือมันทำจนเป็นระบบไปแล้วอ่ะ ถามว่ามันยั่งยืนไหม ถ้าระบบนี้ยังอยู่ก็ยังคงเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ
The MATTER: แต่ถ้าเรามองที่ผลลัพธ์ล่ะ ผลลัพธ์ที่ฟินแลนด์ก็มีวินัยนะ เกาหลีเหนือก็มีวินัยนะ แล้วเราควรจะตัดสินอย่างไรว่าอันไหนดีหรือไม่ดี
อ.กุลธิดา: สงสัยต้องไปดูว่าถ้าคนสองประเทศนี้ออกจากเกาหลีเหนือและฟินแลนด์จะเป็นอย่างไร ถ้าเอาคนเกาหลีเหนือออกไปอยู่ที่อื่น ยังจะทำตัวแบบนี้อยู่หรือเปล่า แล้วถ้าเอาคนฟินแลนด์ออกไปอยู่ประเทศอื่นยังจะทำตัวแบบนี้อยู่หรือเปล่า คือเปลี่ยนสภาวะสังคม สงสัยต้องวัดแบบนี้
The MATTER: ระบบแอดมิชชั่นแบบใหม่ จะช่วยลดความเลื่อมล้ำได้แค่ไหน
อ.กุลธิดา: แอดมิชชั่นมันช่วยถ่างช่องว่างไหมล่ะ ถ้าคนมีทรัพยากรน้อยๆ จะมาแบบขยันสอบยังไง เข้ามาสอบทีเสียเงินมหาศาล ถ้าเป็นเด็กต่างจังหวัด แค่เข้าเมืองก็ลำบาก แล้วเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ไม่หนักกว่าเหรอ กลายเป็นว่าเด็กที่มีทรัพยากรเต็มที่ก็เข้าไปเลย จะสมัครกี่ที่ จะลองกี่รอบก็ได้ แต่ที่ไม่มีอ่ะ แล้วไม่พอมันไปเพิ่มความกดดันให้กับเด็กรึเปล่า เด็กที่ไม่มีทรัพยากรอาจจะต้องกดดันหนักกว่าเดิมอีก
The MATTER: ครอบครัวจะช่วยเด็กได้อย่างไรบ้าง
อ.กุลธิดา: ครอบครัวช่วยไม่กดดันได้ไหมอ่ะ เมืองนอกไม่ใช่แค่ฟินแลนด์มันมี Gap year ด้วยซ้ำอ่ะ เรียนจบ ม.หก ทิ้งไว้หนึ่งปี เพื่อที่จะไปค้นหาว่าจริงๆ แล้วคุณอยากทำอะไรกันแน่ ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องหมายถึงมหาวิทยาลัยเท่านั้นด้วยซ้ำ สมมติไปเรียน Gap year แล้วไปลองเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารแล้วแบบโครตอินเลย ได้ประสบการณ์มากมายนั้นนี้โน้น เอออยากทำธุรกิจแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เออก็ทำไปดิ แล้วถึงจุดที่แบบวันหนึ่งอยากเรียนเป็นชิ้นเป็นอันแล้วค่อยกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาก็ได้ คือที่ฟินแลนด์มันไม่ตายตัว
The MATTER: คือครอบครัวก็ต้องเข้าใจเด็กด้วย
อ.กุลธิดา: ใช่ คือครอบครัวเข้าใจอยู่แล้วอันนั้นอ่ะ แต่บ้านเราไม่เข้าใจ เราไปบอกพ่อแม่สิ ขอ Gap year ไปลองเป็นเด็กเสิร์ฟซักปีเดี๋ยวได้โดนหันมามองตาเขียวแน่นอน แล้วบ้านเราก็จะมีความคาดหวังเป็นแบบเดียวกัน สมมติแค่ตัวเราเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนแค่จะเรียนช้าไปปีนึง ผู้ปกครองก็ยังคิดแล้วคิดอีกป่ะ เพราะกลัวว่าเรียนช้าตามเพื่อไม่ทัน
เราอยากให้ผู้ปกครองมองเด็กแบบใหม่ อยากให้ดูว่าลูกของเราอยากทำอะไร สนใจอะไร แล้วมันจำเป็นจะต้องรีบไหม ก็คือเข้าใจว่าสภาพสังคมเรามันเทียบกับฟินแลนด์ไม่ได้ ยังไงเราก็รีบอยู่แล้วเนื่องจากเศรษฐกิจสังคมมันไม่เหมือนกัน แต่ว่ามันจำเป็นจะต้องรีบขนาดแบบกดดันขนาดนั้นไหม
The MATTER: ในฐานะครูคนหนึ่งจะบอกกับเด็กที่อยู่ภายใต้โครงสร้างที่กดดันแบบนี้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะคนที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอซักที
อ.กุลธิดา: ถ้าเป็นเด็กที่รู้แล้วว่าต้องค้นหาตัวเองเราว่าไม่ยากนะ ก็คือหาหนทาง ลองทำอันนี้อันนู้น ถามตัวเองว่าชอบทำอะไรบ้าง ชอบเรียนวิชาอะไรบ้าง ไม่จำเป็นว่าคุณจะได้เกรดวิชานั้นดีนะ เอาที่คุณชอบอ่ะ เพราะเกรดมันไม่ได้บอกอะไร มันบอกแค่ว่าคุณท่องมันได้ไหม ถ้าในระบบการศึกษาปกติอ่ะ
คือคุณรู้สึกชอบอะไร เอาจริงๆ เด็กไทยมีปัญหานะ ถามว่าชอบอ่ะ เป็นคำถามที่เขาตอบยากนะ นึกไม่ออก อันนี้ง่าย รู้แล้วว่าต้องขวนขวายก็แค่สำรวจตัวเอง แต่คนที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตอนนี้ฉันมีปัญหาอยู่ คือฉันกำลังไม่รู้อะไรเลยในชีวิต คือไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้นั้น ระบบการศึกษามันต้องช่วยให้เด็กเริ่มรู้สึกว่าฉันชอบอันนี้มากกว่าอันนั้นอ่ะ และฉันถนัดอันนี้มากกว่าอันนั้นอ่ะ แต่ของเรามันไม่ช่วยไง
The MATTER: สุดท้ายแล้ว อยากจะบอกเด็กที่บอบช้ำกับอะไรมาเยอะมาก อยากไปแตะบ่าแล้วบอกเขาว่ายังไงบ้าง
อ.กุลธิดา: อยากบอกเขาว่า นี่มันไม่ใช่จุดสูงสุด ต่ำสุด จุดจบ จุดสิ้นสุดของชีวิตเลย ถึงแม้สังคมจะบอกแบบนั้นก็ตาม บอกว่าการศึกษาเป็นนิพพานอะไรอย่างนี้ มันยังมีหนทางอื่นๆ อีกที่เขาจะสามารถขวนขวายหาความรู้ ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ เขาโชคดีกว่ารุ่นป้าขนาดไหน มีช่องทางเต็มไปหมดเลย
อย่าให้ระบบมันมาบอกเขาว่า เขาจะต้องเป็นแบบนี้แบบนั้นเท่านั้น ขวนขวายหาให้เจอว่าชอบหรืออยากทำอะไร แล้วก็หาทำมันต่อไป