เข้าหน้าฝนแล้ว บ้านน้ำท่วมกันหรือเปล่า?
วนเวียนมาทุกปีกับปัญหาน้ำท่วมที่จุดไหนท่วม ก็จะท่วมมันอยู่อย่างนั้น
‘ลาดกระบัง’ เขตที่อยู่ริมสุดฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เจอปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอยู่ทุกปี เยอะบ้าง น้อยบ้าง นานบ้าง เร็วบ้าง แล้วแต่ปริมาณน้ำที่จะไหลเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งในปี 2565 นี้ ลาดกระบังก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เจอน้ำท่วมนานเกือบสัปดาห์ จนถึงขั้นต้องได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครได้รับการเยียวยา
แล้วทำไมลาดกระบังถึงเจอปัญหานี้ตลอด ทางออกของเรื่องนี้ควรเป็นแบบไหน? The MATTER ขอชวนมาดูปัญหาน้ำท่วมในเขตลาดกระบัง พร้อมฟังเสียงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เขาทำอะไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง แล้วเงินเยียวยาซึ่งควรเป็นเกณฑ์กลางให้กับพื้นที่ประสบภัยทุกพื้นที่มีปัญหาอะไรบ้าง
น้ำท่วมลาดกระบัง ‘สาหัส’ กันขนาดไหน?
เพื่อนคนหนึ่งอัพไอจีสตอรี่ว่า อยากใส่รองเท้าบูทมานานแล้ว ในที่สุดก็มีโอกาสได้ใส่.. แต่เป็นรองเท้าบูทที่ต้องใส่เพื่อลุยน้ำออกไปทำงาน ทำแบบนั้นได้อยู่ 2-3 วัน ก่อนวันที่ 4 เพื่อนจะลงสตอรี่ว่า วันนี้ลุยน้ำออกไปไม่ไหวแล้ว เดี๋ยวเท้าจะเปื่อยไปเสียก่อน
พี่อีกคนทักแชทมาถามไถ่เส้นทาง เพื่อเช็คว่า ถนนเส้นไหนน้ำท่วม ‘น้อยที่สุด’ ก่อนจะประเมินแล้วว่า ไม่เสี่ยงขับรถออกมาคงดีที่สุด และเลือกที่จะ work from home ไปอีกหนึ่งวัน
สถานการณ์น้ำท่วมในลาดกระบังเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาก เรียกได้ว่า หนักหน่วงและสาหัสสากัน หลายครัวเรือนเจอน้ำทะลักเข้าไปในบ้านชนิดที่ว่ากระสอบทรายก็เอาไม่อยู่ บางจุดรถเก๋งและมอเตอร์ไซค์ต้องจอดเก็บไว้ เพราะถ้าจะลุยน้ำไปก็คงเครื่องดับแน่ๆ
หรือถ้าขยับมาดูระดับสถานศึกษา โรงเรียนหลายแห่งก็ประกาศให้นักเรียนเรียนออนไลน์ชั่วคราว แม้แต่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ยังประกาศให้นักศึกษาเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์เช่นกัน โดยที่ในโลกโซเชียลก็มีคนแชร์ภาพรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมเสียหายหลายคัน บริเวณลานจอดรถชั้นใต้ดิน คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้
นอกจากนี้ บริเวณฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หลักสูตรสัตวศาสตร์ ก็เจอผลจากน้ำท่วมหนักในรอบที่ผ่านมาเช่นกัน เพราะระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร 50 เซนติเมตร ซึ่งผู้ดูแลฟาร์มเล่าว่า เมื่อคืนวันที่ 11 กันยายน เวลาประมาณ 04.00 น. ขณะที่ผู้ดูแลกำลังนอน ฝนตกลงมาอย่างหนักน้ำท่วมเร็วมาก ต้องรีบไปช่วยชีวิตสัตว์ทั้งเป็ด ไก่ หมู วัว แต่ช่วยไก่ไม่ทัน ทำให้ไก่ตายยกเล้า
“ในหมู่บ้านเรายังไม่ถือว่าท่วมมาก จุดที่หนักๆ คือถนนเจ้าคุณทหารที่ต้องใช้เดินทางไปทำงาน ไปเรียน ท่วมหนักเกือบอาทิตย์นึงได้เลย” ณัฐมา วัย 25 ปี ซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยในเขตลาดกระบังเล่า พร้อมบอกว่า แม้จะท่วมหนัก แต่มองว่า การจัดการค่อนข้างดีกว่าทุกๆ ปี และมีความพยายามแก้ไขจัดการที่รวดเร็ว
ขณะที่ วิสูตร ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ลาดกระบังวัย 65 ปี กล่าวว่า ในหมู่บ้านน้ำท่วมเกือบถึงเข่า จะเอารถเล็กเข้าออกหมู่บ้านก็ไม่ได้เลย ทำให้บางบ้านต้องจอดรถเรียงรายกันอยู่บนถนนใหญ่ ส่วนของตนมีรถใหญ่จึงพอขับเข้าออกได้
“เป็นแบบนี้อยู่ประมาณ 6 วันได้ ทั้งที่ที่อื่นๆ เขาไม่ท่วมเลย ในเมืองยิ่งแห้งสนิท เขตบางซื่อ ดุสิต บางรัก วัฒนา พระนคร ดูสิมีน้ำท่วมไหม ทั้งๆ ที่ตรงนั้นน้ำมันจะต้องไหลไป หรือตรงพระโขนง ที่น้ำจากลาดกระบังควรจะไหลระบายออกไป น้ำก็ไปไม่ถึง”
วิสูตรตั้งคำถามถึงการบริหารจัดการว่า ทำไมคนที่อยู่นอกประตูน้ำถึงเจอกับน้ำท่วมนานขนาดนี้ ทำไมถึงไม่มีการระบายผ่อนออกไปเลย พร้อมตั้งคำถามว่าเป็นการกั้นไม่ให้น้ำไหลเข้ากรุงเทพฯ ชั้นในหรือเปล่า?
นอกจากนี้ ในหมู่บ้านของวิสูตร ผู้คนยังต้องระดมเงินเพื่อเครื่องสูบน้ำกันเอง เนื่องจากไม่ได้รับการจัดสรรเครื่องสูบน้ำมาในพื้นที่ด้วย ทั้งที่หน้าที่ในการจัดสรรเครื่องสูบน้ำเป็นของสำนักงานเขต ยิ่งกลายเป็นคำถามว่า ประชาชนต้องช่วยเหลือตัวเองกันอย่างนั้นหรือ
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ กทม.ถึงกับประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยในเขตลาดกระบัง ซึ่งมีทั้งสิ้น 6 แขวง ได้แก่ แขวงลาดกระบัง แขวงคลองสามประเวศ แขวงคลองสองต้นนุ่น แขวงลำปลาทิว แขวงทับยาว และแขวงขุมทอง
ประกาศนี้ ยิ่งเป็นเครื่องย้ำเตือนว่า ลาดกระบัง เป็นพื้นที่ที่เจอปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักหน่วงจริงๆ
ปัญหาน้ำท่วมลาดกระบัง มีที่มาจากไหน?
สำหรับลาดกระบัง ปี 65 น้ำท่วมหนักกว่าปี 54
นี่เป็นข้อความที่หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกัน ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็มาจากปริมาณน้ำฝนที่หนักหน่วงกว่าทุกๆ ปี แตกต่างไปจากเมื่อปี 2554 ที่เป็นน้ำเหนือที่ระบายลงมา
แน่นอนว่า ไม่ใช่แค่พื้นที่ลาดกระบังหรอกนะที่เจอฝนตกหนัก แต่ปัญหาน้ำท่วมขังรุนแรงและยาวนานติดกันหลายวัน ทำให้ลาดกระบังเป็นพื้นที่ใช้เวลานานที่สุดกว่าจะพ้นวิกฤตน้ำท่วม ซึ่งหากดูจากจุดวัดระดับน้ำที่วัดลาดกระบัง ในปี 2554 ระดับน้ำอยู่ที่ 71 เซนติเมตร แต่ปีนี้ กลับมีจุดสูงสุดอยู่ที 81 เซนติเมตร และสูงกว่าระดับวิกฤตไป 20 เซนติเมตร นั่นแปลว่าสถานการณ์ในลาดกระบังปีนี้ หนักหน่วงกว่าเมื่อปี 2554 มาก
“ปีนี้ลานีญารุนแรงกว่าปีที่แล้วมาก” เจษฎา จันทรประภา รองผู้อำนวยการ ด้านปฏิบัติการ สำนักการระบายน้ำกล่าว
เดิมที ปริมาณน้ำฝนทั่วกรุงเทพฯ ในรอบ 30 ปี จะมีค่าเฉลี่ยประมาณ 1,689.7 มิลลิเมตร แต่ของปีนี้ (ข้อมูลวันที่ 21 ตุลาคม 2565) อยู่ที่ 2,155 มิลลิเมตร มากกว่าค่าเฉลี่ย 500 มิลลิเมตร หรือมากกว่าประมาณ 30% ของค่าเฉลี่ยเดิม
เจษฎาเล่าว่า ที่ผ่านมา ฝนจะตกหนักมากในพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนเหนือและฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นความหนักที่รุนแรงกว่าเมื่อปี 2554 มาก และในปี 2554 ก็เป็นเรื่องของน้ำเหนือที่จะไหลลงมาออกอ่าวไทย ขณะที่ปีนี้เป็นเรื่องของปริมาณน้ำฝนที่มากเกินกว่าปกติเป็นหลัก
แต่ลาดกระบัง ถือเป็นพื้นที่ที่ท่วมซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่บ่อยครั้ง แม้ว่าปีนี้จะหนักหน่วงผิดปกติ แต่ก็ใช่ว่าปีหน้าจะไม่เจอกับปัญหาน้ำท่วมอีก คำถามสำคัญที่ตามมาจึงกลายเป็นว่า ทำไมดินแดนนี้ถึงท่วมอยู่บ่อยครั้ง?
“อย่าลืมว่า พื้นที่ตรงนี้อยู่ใกล้กับหนองงูเห่านะครับ เป็นพื้นที่ต่ำ” รอง ผอ.สำนักการระบายน้ำ กล่าว
อย่างไรก็ดี เจษฎามองว่า ทุกวันนี้พื้นที่เมืองของลาดกระบังเปลี่ยนไปแล้ว เนื่องจากมีสนามบินสุวรรณภูมิ (ซึ่งอยู่ชิดกับเขตลาดกระบัง) มีมหาวิทยาลัย ฮับทางเศรษฐกิจ รวมถึงบ้านจัดสรรจำนวนมาก นั่นแปลว่าพื้นที่นี้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว แต่ในทางกายภาพ ก็ยังเป็นพื้นที่ต่ำอยู่
เมื่อเมืองมีแต่ตึกคอนกรีต ปัญหาที่ตามมานอกจากเรื่องของการระบายน้ำแล้ว ยังมีเรื่องของ urban heat islands เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเจษฎาอธิบายว่า หากดูแต่เดิม ลาดกระบังยังไม่ใช่พื้นที่ชุมชนหนาแน่น ยังไม่มีการเก็บความร้อนเหมือนในตัวเมืองกรุงเทพฯ มากนัก แต่เดี๋ยวนี้มีอาคารอุตสาหกรรมและบ้านจัดสรรมากขึ้นทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว
“พื้นที่แบบนี้ ปูนมันจะร้อน แล้วก็จะเกิด urban heat islands คือในเวลาเย็น อากาศจะต่ำลง เพราะปูนคลายความร้อนออกมา ทำให้ฝนตกหนักบริเวณที่มีความร้อนมาก ฝนเลยตกหนักในพื้นที่ลาดกระบัง จริงๆ ในภาพใหญ่ก็เกิดขึ้นทั้งกรุงเทพฯ แต่ปีนี้ฝนตกเน้นๆ ที่ลาดกระบังอยู่หลายครั้ง แถมเป็นฝนระดับ 140-150 มิลลิลิตรทั้งนั้น ก็ถือว่ารุนแรงมาก”
ไม่เพียงแค่ฝนตกหนักเท่านั้นที่เป็นปัญหา อย่างที่เล่าไปว่า การเติบโตของเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการระบายน้ำด้วย ซึ่ง ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งให้สัมภาษณ์กับเราว่า ลาดกระบังเคยเป็นพื้นที่ทุ่งที่ให้เอาน้ำไปพักไว้ แต่ตอนหลังมีการก่อสร้างมากขึ้นทำให้การระบายน้ำไม่รวดเร็วอย่างที่คิด เพราะสิ่งก่อสร้างต่างๆ ไปบล็อกทางการระบายน้ำ
ขณะที่ สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตลาดกระบัง กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เขาได้รับร้องเรียนมาจากหลายพื้นที่ในเขตว่า มีคนปลูกสิ่งก่อสร้างทับลำราง จากเดิมที่เคยเป็นทางน้ำไหล ปัจจุบันก็กลายเป็นอพาร์ตเมนท์ เป็นหมู่บ้านคนไปแล้ว การปล่อยน้ำจากหมู่บ้านและคลองต่างๆ จึงไม่คล่องอย่างที่ควร
“พอเมืองขยายจุดที่เป็นคลองและลำรางมาก่อนก็โดนบีบลง อย่างแต่ก่อน คลองอาจจะกว้าง 8 เมตร ปัจจุบันคลองกว้าง 6 เมตร ซึ่งอันนี้ก็ต้องตั้งคำถามว่าเป็นเพราะการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่หรือเปล่า และอีกเรื่องคือประชาชนมาอาศัยอยู่เยอะขึ้น แต่ไม่ได้มีการจัดสรรทางน้ำและขุดลอกคูคลองอย่างเป็นระบบ”
ยิ่งกว่านั้น หากลองกางแผนที่ออกมา จะเห็นว่า ลาดกระบังเป็นเขตที่อยู่ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา และค่อนไปทางบางประกง ซึ่งถือเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่น้ำมักจะเทมาอยู่แล้วตามหลักทางธรรมชาติ แต่เมืองก็ขยายตัวจนการระบายน้ำไม่สามารถทำได้ทันท่วงที ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังนานนับสัปดาห์อย่างในปีนี้นั่นเอง
“การระบายน้ำในพื้นที่นี้ค่อนข้างลำบาก เพราะห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 40 กิโลเมตร จะระบายลงด้านล่างก็ติดกับสมุทรปราการและสนามบินสุวรรณภูมิ ต้องผ่านทางคลองสำโรงถึงจะออกอ่าวไทยได้ ซึ่งการระบายน้ำทางนี้ค่อนข้างจะทำได้ยากกว่าระบายกับพื้นที่กรุงเทพฯ อีก ตอนนี้เราใช้การบริหารน้ำ โดยการระบายผ่านคลองประเวศบุรีรมย์ เข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ออกตรงสถานีสูบน้ำพระโขนงเป็นหลัก” เจษฎากล่าว
แต่ปัญหาก็คือ พอฝนตก น้ำก็จะไหลจากพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ มายังมีนบุรี หนองจอก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต่ำที่สุด เดิมทีวิธีการรับมือก็คือใช้ความเป็นพื้นที่ใหญ่ของเขตหนองจอกให้เป็นประโยชน์ และคอยสูบน้ำออก แต่พอเป็นพื้นที่ใหญ่ ก็จะติดในเรื่องของการระบายสูบออกไม่ทัน เมื่อเจอฝนตกหนัก
บริเวณถนนเส้นต่างๆ โดยเฉพาะถนนหลวงแพ่ง ถนนลาดกระบัง และถนนเจ้าคุณทหารว่าหนักแล้ว ในหมู่บ้านและซอยต่างๆ ซึ่งมีระดับพื้นถนนต่ำกว่าถนนสำหรับรถสัญจรผ่านยิ่งหนักกว่า น้ำท่วมขังนิ่งสนิทรอการระบาย กินเวลา 6 วันเต็มๆ จนเริ่มส่งกลิ่นเน่าเหม็นโชย
ถึงจะบอกว่าเป็นเพราะฝนตกหนัก แต่ด้วยระดับพื้นผิวที่ต่ำกว่าถนน ทุกๆ ปีจึงจะมีน้ำท่วมขังในหมู่บ้านและซอยต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งเป็นการท่วมขังที่สูงประมาณตาตุ่ม รถสัญจรออกได้ แต่ปีนี้เมื่อเกิดปรากฏการณ์ฝนตกหนัก ทำให้ลาดกระบังกลายเป็นพื้นที่ประสบภัยอย่างที่เล่ากันไป
ประเด็นก็คือ วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ รุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะฝนตกหนัก น้ำท่วม รวมถึงภัยอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น จึงไม่มีเครื่องการันตีว่า ในปีหน้าหรือปีถัดๆ ไป จะไม่เกิดกรณีฝนตกหนักแล้วน้ำท่วมขังในพื้นที่นี้อีกนั่นเอง
แก้น้ำท่วมซ้ำซากอย่างไร เงินเยียวยาไปถึงไหนแล้ว?
สำหรับในปีนี้ พอฝนตกลงมาอย่างหนักหน่วง ทำให้น้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ระบายออกได้ช้า รอง ผอ.สำนักระบายน้ำจึงมองว่า ต้องใช้วิธีเพิ่มเครื่องสูบน้ำระบบไฮดรอลิกเพื่อที่จะสามารถเพิ่มกำลังสูบน้ำได้มากขึ้น พร้อมกับนำกระสอบทรายมาทำแนวคันในพื้นที่ชุมชนและถนนสายหลักเพื่อให้ผู้คนสัญจรได้ก่อน
เจษฎากล่าวด้วยว่า ตอนนี้ กทม.มีโครงการอุโมงค์หนองบอน ซึ่งจะช่วยเร่งระบายน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ได้ดีขึ้น รวมถึง ทางหน่วยงานเองก็จะเร่งพัฒนาคลองบางนา เพื่อจะให้คลองประเวศบุรีรมย์ สามารถระบายออกแม่น้ำเจ้าพระยาได้ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะในปัจจุบันคลองบางนาเป็นคอขวด ทำให้น้ำไหลผ่านไม่ค่อยดีนัก
“แล้วเราก็จะทำแนวคันตามแนวของคลองประเวศฯ เพราะตอนนี้เวลาฝนตก น้ำเอ่อล้น น้ำจากคลองประเวศฯ จะเข้าไปในพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชน เพราะคลองประเวศฯ ไม่มีแนวคัน ก็คงจะต้องทำเขื่อนทำคันไว้ เพื่อเวลาที่น้ำมา น้ำจะได้อยู่ในพื้นที่จำกัด ชาวบ้านข้างเคียงจะได้ไม่เดือดร้อน”
ส่วนในหมู่บ้านและซอยต่างๆ ซึ่งมีปัญหากับเรื่องน้ำขังหนักกว่าถนนสายหลัก ซึ่งเจษฎาเล่าว่า ตอนนี้ ต่อให้จัดการบริเวณถนนได้แล้ว แต่ในหมู่บ้านและซอยย่อยต่างๆ ยังต้องใช้เวลาเพิ่มไปอีกวัน กว่าจะสามารถเคลียร์น้ำขังได้
“ปีหน้า จะมีการจัดการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำให้ดีกว่าเดิม เช่น เพิ่มระบบสูบน้ำ ระบบปิดล้อมไม่ให้น้ำในคลองไหลเข้าไปในหมู่บ้าน เพื่อให้ปัญหาในพื้นที่ลุ่มต่ำแก้ไขได้เร็ว”
เมื่อถามว่า หากเป็นหมู่บ้านหรือซอยของเอกชน จะเจอปัญหาอะไรกับการจัดการไหม? เจษฎาเล่าว่า ก็มีปัญหาอยู่บ้าง เพราะเป็นพื้นที่ที่มีอาณาเขตส่วนตัว การที่รัฐจะเข้าไปดำเนินการใดๆ ในพื้นที่เอกชน ก็ต้องได้รับความยินยอมก่อน จึงจะเข้าไปทำงาน เลยยังติดปัญหาส่วนนี้อยู่บ้าง แต่ในกรณีที่เดือดร้อน รัฐก็สามารถจะเข้าไปแก้ไขได้ แต่คงไม่สามารถทำในระยะถาวรให้ได้ ต้องได้รับความเห็นชอบเสียก่อน
“ส่วนในภาพรวม การแก้ไขในระยะยาว เราจะเตรียมทำ sub-holder พื้นที่ปิดล้อมย่อย แล้วก็ทำระบบแนวคันตามแนวคลองประเวศบุรีรมย์ แล้วก็ระบบเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วขึ้น” เจษฎากล่าว
ทวิดา ก็กล่าวถึงแนวทางแก้ไขในระยะยาวว่า มีการหารือเรื่องทางด่วนน้ำ ที่จะตัดส่งน้ำออกไป ไม่ให้มวลน้ำผ่านพื้นที่ชั้นใน แล้วให้ออกในทางกรุงเทพฯ ตะวันออก แต่ยังไม่ได้มีแผนการที่ชัดเจน เพราะเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลาศึกษาอีกเยอะ
ส่วนในเรื่องของผังเมือง เจษฎากล่าวว่า ต้องมีการพูดคุยเพื่อจัดการกับผังเมืองที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งทางสำนักระบายน้ำก็ได้ติดต่อประสานงานกับฝ่ายผังเมืองแล้ว
“เรียนว่าในกฎหมายผังเมืองฉบับใหม่ จะมีผังน้ำ ซึ่งจะเป็นเกี่ยวโครงสร้างพื้นฐานของเรื่องน้ำ จะกำหนดอยู่ในกฎหมายผังเมืองฉบับใหม่ด้วย เป็นฉบับที่ยังไม่ได้ประกาศใช้ และอยู่ในขั้นพิจารณาอยู่”
The MATTER ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม.ด้วยอีกทาง เพื่อสอบถามความชัดเจนในเรื่องของผังเมือง แต่ไม่สามารถติดต่อได้
ขณะที่ กฎหมายผังเมืองที่เจษฎากล่าวนี้ คือการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองระบุว่าจะเน้นเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นหลัก ด้วยการเพิ่มผังน้ำหรือ ‘ผังระบายน้ำจังหวัด’ เข้าไป เพื่อเพิ่มระดับการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว โดยจะทำเป็นผังน้ำระดับอำเภอ รวม 878 อำเภอทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก
พงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจว่า ทุกวันนี้เมืองขยายออกไป การปลูกสิ่งก่อสร้างเป็นการกีดขวางทางระบายน้ำ ทำให้น้ำท่วมขังได้ ดังนั้น การทำผังระบายน้ำจึงเป็นการแก้ปัญหาเรื่องทางกายภาพทางด้านผังเมือง
กรมโยธาธิการฯ ยอมรับว่า การออกกฎกระทรวงลักษณะนี้ ถือเป็นการลิดรอนสิทธิ แต่เพื่อแก้ปัญหาโดยภาพรวม เช่น โฉนดบ้านใครเป็นพื้นที่แก้มลิง ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย เจ้าของที่ดินจะไปถมที่ดินผืนนี้ทำโรงงานไม่ได้ หรือจะถมดินสร้างบ้าน ต้องยกระดับบ้านให้มีใต้ถุนสูง เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังตรงบริเวณนั้น
กลับมาที่ย่านลาดกระบังอีกนิด หลังจากเวลาผ่านมาเดือนกว่าที่น้ำท่วมรุนแรง จนมีการประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัยในเขตลาดกระบัง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ก็ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีอุทกภัย) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 ในพื้นที่เขตลาดกระบังทั้ง 6 แขวงนี้ด้วย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ
แต่ ณ วันนี้ (25 ตุลาคม) ก็ยังไม่มีวี่แววว่าผู้ที่อยู่ศัยในพื้นที่ประสบภัย จะได้รับเงินเยียวยาเสียที
“ยังไม่เห็นข้อมูลอะไรเลย แล้วก็ไม่รู้ว่าจะมีการเยียวยาด้วย” เสียงจากวิสูตรสะท้อนให้เห็นว่า การประชาสัมพันธ์และสื่อสารกับประชาชนเรื่องเงินเยียวยานี้ยังไม่ทั่วถึง
เช่นเดียวกับณัฐมาที่บอกว่า เธอเองไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องมีการเยียวยา และไม่รู้ด้วยว่าเธอเป็นคนที่มีสิทธิ์ได้รับการเยียวยานั้น
ขณะที่ สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตลาดกระบัง กล่าวเรื่องเงินเยียวยาว่า ตอนนี้ยังติดปัญหาเรื่องความชัดเจนในหลักเกณฑ์เรื่องการประสบภัย เพราะหลักเกณฑ์เดิมเป็นเรื่องของไฟไหม้ ไม่ตอบโจทย์กับเรื่องน้ำท่วม
“ในหลักเกณฑ์กำหนดว่า ต้องน้ำท่วมอย่างน้อย 7 วัน คำถามคือ ถ้า 6 วันก็ไม่เข้าเกณฑ์ใช่ไหม อีกข้อคือ เขาบอกว่าประชาชนต้องไปแจ้งความก่อน แต่ในเมื่อลาดกระบังประกาศเป็นพื้นที่อุทกภัยแล้วเจ้าหน้าที่ก็ทราบดีอยู่แล้วว่าจุดไหน ซอยไหนน้ำท่วมบ้าง ทำไมต้องให้ประชาชนเดือดร้อนไปแจ้งความเพิ่ม”
ประเด็นต่อมาคือ เฟอร์นิเจอร์ และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เสียหายจากน้ำท่วมในตอนนี้ ยังไม่เข้าเกณฑ์ความเสียหาย เพราะในหลักเกณฑ์กำหนดว่าต้องเป็น ‘โครงสร้าง’ ซึ่งเป็นคำที่กำกวมและไม่ชัดเจน
ด้วยหลักเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจนนี้ ทำให้จนถึงตอนนี้ ประชาชนในเขตลาดกระบังซึ่งเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมเมื่อเดือนก่อน ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาแต่อย่างใด
ธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตลาดกระบัง เล่าว่า ได้พิจารณาเรื่องเกณฑ์เยียวยาเบื้องต้นในรอบแรกกับผู้ที่ทำการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ไปแล้ว โดยผู้ที่ทำประมงและได้พิจารณารอบแรกมี 47 ราย วงเงินราว 2 ล้านบาท ผู้ที่ทำการเกษตรมี 8 ราย วงเงินราว 80,000 บาท และวันที่ 26 ตุลาคม ก็จะประชุมกับผู้ทำปศุสัตว์ รวมถึงเกษตรกรและชาวประมงที่ตกหล่นในรอบแรกเพิ่มเติม
“ส่วนของบ้านเรือนประชาชน จะเป็นไปตามเกณฑ์ที่ ปภ.กำหนด ส่วนเกณฑ์หลักๆ เลยผมก็ดูแล้วค่อนข้างที่จะรัดกุมมาก ในเรื่องเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ก็คงไม่ได้ ก็จะดูในเรื่องของตัวโครงสร้างเป็นหลัก แต่ตอนนี้อยู่ในขั้นพิจารณาว่าจะมีความชัดเจนแค่ไหน”
นั่นแปลว่า หากเฟอร์นิเจอร์เสียหายจากการถูกน้ำท่วม ก็อาจจะไม่สามารถนำมาคิดคำนวณเพื่อขอการเยียวยาได้ หรือถ้าน้ำท่วมบ้านเรือนของประชาชนในจำนวนวันที่ ‘น้อยกว่า’ ตามเกณฑ์กำหนด ก็อาจจะไม่ได้รับเงินเยียวยาเช่นกัน
“เกณฑ์มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ อย่างนาข้าวเอง ก็ต้องปล่อยให้เสียทั้งหมด ถ้าเสียไม่หมด ต้องไปคิดเป็นเปอร์เซ็นต์อีก”
เมื่อถามว่า ทางสำนักงานเขตสามารถทำอะไรกับเรื่องนี้ได้ไหม ธนะสิทธิ์ก็ตอบว่า ต้องให้เขาพิจารณากันไปก่อน แล้วเดี๋ยวค่อยมาดูว่าสามารถที่จะพูดคุยหรืออุทธรณ์ได้ไหม
ส่วนเรื่องการประชาสัมพันธ์ ทางสำนักงานเขตลาดกระบังระบุว่า มีการสื่อสารอยู่แล้ว และพยายามเกาะติดอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ปศุสัตว์ และประมง ขณะที่ฝ่ายประชาชนที่บ้านเรือนเดือดร้อนก็ทราบข่าวอยู่แล้ว เพราะมีข่าวออกไปว่าเขตลาดกระบังเป็นพื้นที่ประสบภัย
“ประชาชนส่วนใหญ่ในลาดกระบังรู้นะครับ ว่าต้องมาแจ้งประสบภัย เพราะในสื่อก็บอก เจ้าหน้าที่เราก็ลงพื้นที่ เท่าที่มีการมาแจ้งว่าบ้านไหนเสียหายอะไรยังไง เท่าไหร่ อีกอย่างหนึ่งคือ น้ำท่วมในส่วนของบ้านเรือนประชาชน ก็จะเป็นในส่วนของประชาชนก็ดี ส่วนที่เป็นบ้านจัดสรรก็ดี เราลงพื้นที่ทั้งหมด”
เมื่อถามว่า ประชาชนต้องไปแจ้งด้วยตัวเองใช่ไหมว่าเป็นผู้ประสบภัย ธนะสิทธิ์ก็ตอบว่า “ใช่ เราไม่เดินเข้าไปเองอยู่แล้ว เพราะกำลังเราไม่พอ บางพื้นที่เราก็จะตั้งจุดรับแจ้งที่เขต และรับแจ้งเป็นจุดๆ ไป เช่น ที่วัดต่างๆ ประมาณ 5-6 จุดในแต่ละแขวง”
สำหรับใครที่ยังไม่ได้แจ้งว่าประสบภัย ผอ.เขตลาดกระบังย้ำว่า ให้ไปแจ้งที่เขตได้ โดยเบื้องต้นมีการกำหนดเวลาเป็น 90 วันหลังจากที่มีการประกาศภัยพิบัติ
“เกณฑ์นี้จะได้ใช้ในเหตุน้ำท่วมครั้งต่อๆ ไปไหม ต้องขึ้นอยู่กับ ปภ.ว่าเขาจะมีการปรับเกณฑ์หรือเปล่า ทางเขตเป็นผู้รับนำเกณฑ์เข้ามา ปภ.เป็นผู้กำหนดเรื่องเกณฑ์”
ต้องจับตาดูกันว่า เกณฑ์ในการเยียวยาเรื่องน้ำท่วมของเขตลาดกระบังจะเป็นอย่างไรต่อไป ประชาชนจะได้รับการเยียวยาอย่างสมเหตุสมผลจริงไหม ขณะเดียวกันปัญหาน้ำท่วมลาดกระบังจะเป็นได้รับการแก้ไขอย่างจริงๆ จังๆ หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องผ่านการทำงานอย่างจริงจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
ไม่อย่างนั้น ก็ประชาชนคนธรรมดาเนี่ยแหละ ที่จะต้องเดือดร้อนกับเรื่องน้ำท่วมไปเรื่อยๆ ทุกปี