“วิว อาหาร รูปละ 7 บาท”
“หารูปผู้ชายใส่แว่น ตี๋ๆ”
“รูปร้านเหล้า เหมา 100 บาท”
มันเกิดอะไรขึ้น? ทำไมวัยรุ่นไทย ถึงฮิตซื้อรูปไลฟ์สไตล์ ในราคา 5 บาท 10 บาท ที่ดู ‘เทสต์ดี’ แล้วเขาซื้อไปทำอะไรกัน?
ช่วงที่ผ่านมา หลายๆ คนคงได้เห็นเทรนด์ใหม่บนโลกออนไลน์ ที่วัยรุ่นมีการซื้อ-ขายรูปไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นรูปวิว สถานที่เที่ยว อาหาร รูปทำกิจกรรมต่างๆ หรือแม้กระทั่งการตามหารูปยาต้านเศร้า หรือใบรับรองแพทย์ ในราคาที่เริ่มต้นถูกที่สุดเพียง 2 บาทเท่านั้น โดยแหล่งซื้อขายหลักจะอยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊ก ซึ่งปัจจุบันมีหลายสิบกลุ่ม และบางกลุ่มมีสมาชิกสูงถึง 12,000 คน และมีโพสต์เคลื่อนไหวกว่าเดือนละ 6,000 โพสต์
จนเกิดคำถามที่ว่า รูปเหล่านี้ที่ดูเป็นรูปในชีวิตประจำวันเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นรูปกินสุกี้ หรือรูปเซลฟี่หน้ากระจก จะถูกซื้อไปด้วยเหตุผลอะไร เพราะเป็นบริบทที่แตกต่างกันกับคนที่ทำงานในสายอาชีพต่างๆ ที่ซื้อรูปจาก Stock ต่างๆ อย่าง Shutterstock ซึ่งล้วนเป็นรูปที่ไฟล์คุณภาพสูง และมีจุดประสงค์ด้านการทำงานที่ชัดเจน
เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้น และหาคำตอบว่ารูปเหล่านี้ซื้อไปทำไม และแรงจูงใจมาจากอะไรกันแน่ The MATTER ก็ได้ทดลองซื้อรูปจากแม่ค้าคนหนึ่งในเฟซบุ๊ก
จากการสังเกตพบว่า วิธีการซื้อจะแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ
- เลือกตามสต๊อก คือซื้อจากตัวอย่างรูปที่แม่ค้าลงไว้ คล้ายการซื้อของออนไลน์อื่นๆ ที่เห็นสินค้าก่อนแล้วตัดสินใจซื้อ
- โพสต์ตามหารูปแบบที่อยากได้ เช่น หารูปไปกินสุกี้ หารูปยืนใส่รองเท้านักเรียน หารูปฟีลแฟน หรือแม้กระทั่งหารูปของผิดกฎหมาย อย่างรูปปืน
- จ้างถ่ายตามสั่ง โดยให้ราคาที่สูงกว่าปกติ เพราะต้องทำตามบรีฟของลูกค้า
เราจึงได้ทดลองทักแชทเพื่อลองซื้อจากรูปภาพที่แม่ค้าลงตัวอย่างไว้ โดยแม่ค้าก็ตอบแชทอย่างรวดเร็ว พร้อมส่งรูปติดลายน้ำมาให้เลือกจำนวนมาก มีทั้งรูปแมว รูปวิว หรือแม้แต่ของรูปแม่ค้าเองที่เห็นประมาณครึ่งหน้า
พร้อมแจ้งกฎการใช้ ว่า ทางร้านไม่มีกฎใดๆ สามารถนำไปใช้แอบอ้างได้ แต่กฎเหล็กคือห้ามนำไปใช้เสียหาย โกง หรือเอาไปด่าคนอื่น โดยเมื่อซื้อรูปแล้วก็จะไม่ขายซ้ำ สิทธิขาดในภาพนั้นจะกลายเป็นของผู้ซื้อ ทั้งนี้ กฎของแต่ละร้านอาจจะแตกต่างกันออกไป บางร้านอาจมีกฎที่เข้มงวดกว่า เช่น การกำหนดว่าสามารถนำรูปไปทำอะไรได้บ้าง หรือเอาไปขายต่อได้ไหม แต่ยิ่งกฎหลวมเท่าไร ราคาก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น เพราะผู้ซื้อจะได้เป็นเจ้าของรูปอย่าวแท้จริง
ดังนั้น การที่เราเลือกซื้อรูปที่แม่ค้ายืนยันว่าถ่ายเอง พร้อมลบให้หลังซื้อ ก็แลกมาด้วยราคาที่สูงกว่าปกติ โดยจากการสอบถามราคา พบว่า แต่ละรูปจะมีราคาไม่เท่ากัน หากเป็นรูปที่ถ่ายได้ยาก หรืออาจมีความนิยมสูงในช่วงนั้นๆ เช่น รูปแก้วมัทฉะ เครื่องดื่มที่เป็นกระแส โดยสรุปเราจึงได้ซื้อ 2 รูปนี้ มาในราคารวม 55 บาท ทันทีที่โอนเงิน แม่ค้าก็จะส่งไฟล์รูปกลับมาให้ทันที

ตัวอย่างรูปที่ซื้อจากแม่ค้าขายรูป
แม่ค้าคนนี้เล่าให้เราฟังว่า เริ่มขายมาได้ประมาณ 2 เดือนแล้ว เหตุผลหลักคือการหารายได้เสริมจากรูปที่ตนก็ถ่ายได้อยู่แล้ว
จากการสังเกต พบว่า ผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ซึ่งหลายคนนำรูปไป ‘ปั้นแอค’ ซึ่งหมายถึงการสร้างบัญชีโซเชียลมีเดียให้ดูสวยงามจนโด่งดัง และเมื่อมีผู้ติดตามเยอะ ก็อาจรับงานสร้างรายได้ได้ เช่น กลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ หรืออาจจะนำบัญชีผู้ใช้ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากนี้ไปขายให้กับธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการบัญชีที่มีผู้ติดตามมากก็ได้
สำหรับบางคน ก็อาจจะแค่อยากมีรูปสวยๆ ไว้ลงโซเชียลมีเดียของตัวเอง อาจเพื่อสร้างภาพลักษณ์ หรือเมื่อได้ดูและโพสต์รูปสวยๆ ก็เติมเต็มความสุขทางใจได้ ซึ่งก็ดูไม่ได้ผิดอะไร เพราะเป็นความยินยอมกันทั้งสองฝ่าย
ขณะที่บางราย อาจนำไปสร้างบัญชีปลอม ซึ่งบางคนก็อาจมีจุดประสงค์ที่ดูเหมือนจะไม่ได้กระทบใครเท่าไร อย่างการเอาไป ‘ส่องแฟนเก่า’ หรือหากจะมีใครนำไปแอบอ้างเพื่อหลอกลวง ก็สุดแต่จะรู้ได้
แต่ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้เพื่อปั้นแอคให้ดูสวยงาม หรือนำไปลงโซเชียลมีเดีย หลายคนก็ตั้งข้อสังเกตพร้อม ‘ความเป็นห่วง’ ว่า คนรุ่นใหม่อาจติดกับภาพลักษณ์ที่สวยงามบนโซเชียลมีเดีย จนอาจกระทบไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต จากการไม่ยอมรับในสิ่งที่ตนเองมีจริงๆ หรือเปล่า
ทฤษฎีที่สามารถอธิบายถึงความต้องการการยอมรับจากคนในสังคมได้ คือ ทฤษฎีอัตลักษณ์ทางสังคม (Social Identity Theory – SIT) เป็นทฤษฎีทางสังคมจิตวิทยาที่พยายามอธิบายว่าผู้คนมองและเข้าใจตัวเองอย่างไรในบริบทของกลุ่มสังคม
โดย SIT เชื่อว่า คนเราจะมีแนวคิดเกี่ยวกับตัวเอง (self-concept) แบ่งออกเป็น 2 ส่น คือ อัตลักษณ์ส่วนบุคคล หมายถึง การที่คนยังมีลักษณะเฉพาะแบบปัจเจกบุคคล เห็นว่าตนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
และอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจประเด็นนี้ คือ อัตลักษณ์ทางสังคม หมายถึง การรับรู้ถึง ‘ความเป็นส่วนหนึ่ง’ กับกลุ่ม ซึ่งก็จะทำให้เกิดอัตลักษณ์อีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อให้ได้รับการยอมรับ โดยเป็นไปตามลักษณะหรือวัฒนธรรมของกลุ่มนั้นๆ
ดังนั้น ถ้าหากอยากได้รับการยอมรับในฐานะคนที่รสนิยมดี มีฐานะ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกสังคมมองว่าจะได้รับการชื่นชม หรือมีสถานะทางสังคมสูงกว่า ก็อาจเกิดความพยายามในการแสดงออกและสร้างอัตลักษณ์ที่เข้ากันได้กับกลุ่มที่ต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขึ้นมา ผ่านการซื้อรูปที่แสดงไลฟ์สไตล์ที่ตนไม่สามารถเข้าถึงได้จริง และโพสต์ลงไปในโซเชียลมีเดีย หรือสร้างบัญชีใหม่ขึ้นมานั่นเอง
ซึ่งการให้คุณค่ากับภาพลักษณ์ จนยอม ‘ควักตังค์’ มาซื้อรูปนี้ แนวคิดหนึ่งที่อาจอธิบายได้ คือ แนวคิดการบริโภคเชิงสัญญะ (Consumption of Sign) ซึ่งเป็นกลุ่มแนวคิดว่า การที่ในโลกยุคปัจจุบันนั้น การที่คนจะซื้ออะไรบางอย่าง ไม่ได้มองแค่ประโยชน์จากการใช้งานโดยตรงเท่านั้น แต่ยังมีการ ‘ให้คุณค่า’ กับสิ่งสิ่งหนึ่งอีกด้วย
เช่น การจะซื้อข้าวจานหนึ่ง ก็ไม่ได้เป็นไปเพียงเพื่อบริโภคให้ท้องอิ่มเท่านั้น แต่ผู้บริโภคอาจเลือกเดินเข้าร้านอาหารเพราะให้ความรู้สึกหรูหรา กินแล้วเป็นคนทันสมัย ดูสุขภาพดี
ในที่นี้ แม้ว่าการซื้อรูปอาหารที่ดูเทสต์ดีนั้นจะไม่สามารถบริโภคจริงได้ หรือการซื้อรูปไปเที่ยวต่างประเทศก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกว่าตนได้ไปเหยียบหิมะจริงๆ ได้แต่อย่างใด แต่ผู้ซื้อก็ได้ ‘ให้ความหมาย’ ว่ารูปเหล่านั้นจะสามารถสะท้อนไลฟ์สไตล์หรือตัวตนของตนเองได้ว่าเป็นคนเทสต์ดี มีฐานะ หรือ ‘ดูดี’ ในสายตาคนอื่นๆ จึงเห็นว่าคุ้มค่าที่จะจ่ายเงินแลกมา
ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายหลายคน ให้ความเห็นไว้ว่า การซื้อ-ขายนั้น ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร แถมดีเสียอีกที่มีการซื้อขายกันอย่างถูกต้อง ผู้ถ่ายและนำมาขายก็ยินยอม ผู้ซื้อก็ได้รูปเพื่อนำไปใช้ ดีกว่าสมัยก่อนที่อาจสร้างบัญชีสวยๆ ขึ้นมาผ่านการคัดลอกรูปบนอินเทอร์เน็ตโดยอาจไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของภาพ
แต่หากมองในระยะยาว คนทั่วไปจำนวนหนึ่งแสดงความเห็นว่า การปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็กไทย กับการจมอยู่กับภาพลักษณ์ที่ไม่ใช่ความจริงบนโลกออนไลน์ และขาดความเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างแต่ละบุคคล
นอกจากนั้น สิ่งที่อาจจะต้องระวัง คือผลกระทบที่เกิดขึ้น จากนำรูปไปแอบอ้างเพื่อหลอกลวงผู้อื่น เช่น จากที่เห็นข่าว ‘สแกมเมอร์หลอกให้รัก’ (Romance Scam) ที่สร้างตัวตนเป็นคนที่ดูดี แล้วไปหลอกให้คนอื่นรัก แล้วยอมมอบเงินหรือทรัพย์สินให้
รวมถึงยังมีข้อกังวลในการตามหารูปที่ดูสุ่มเสี่ยงทางกฎหมาย เช่น หารูปติดเรทเด็กนักเรียน ม.ต้น หารูปปืน หรือของผิดกฎหมายอื่นๆ ที่สุดจะเดาได้ว่า จะนำรูปไปใช้ทำอะไร
เพราะในมิติของผู้ขายเอง ก็ต้องสูญเสียสิทธิความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะคนที่ยอมขายรูปที่เห็นหน้าหรือร่างกายของตนเอง หรือผู้ขายที่เปิดเผยตัวตน การส่งรูปให้ลูกค้าก็อาจทำให้ลูกค้ารู้ได้ว่าตนอาศัยอยู่ในบริเวณไหน จากที่สะท้อนให้เห็นได้ผ่านรูปถ่าย และอาจยังมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าเป็นช่องทางรายได้เสริมที่ดี จึงเข้าวงการมาเป็นแม่ค้าบ้าง ซึ่งอาจถูกหลอกให้ถ่ายรูปที่ไม่เหมาะสมได้เช่นกัน
ดังนั้น ประเด็นการ ‘ซื้อขายรูปเทสต์ดี’ จึงอาจยังมีอีกหลายเรื่องที่ทับซ้อนกันอยู่อีก ที่แม้มองเผินๆ จะดูไม่เป็นไรและสักวันก็อาจจะเลิกฮิตไป แต่ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสุขภาพจิต มิจฉาชีพ หรือความเป็นส่วนตัวและการหลอกลวง แต่ก็เป็นโจทย์ที่น่าสนใจว่า เทรนด์เหล่านี้ สะท้อนว่าสังคมไทยกำลังเดินไปในจุดไหน
อ้างอิงจาก