ถ้าพูดถึงช่วงเทศกาล ในอีกแง่หนึ่งก็คือ ‘วันรวมญาติ’ ดีๆ นี่เอง โดยเฉพาะเทศกาลปีใหม่ ซึ่งเป็นเทศกาลสากลที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้กลับมาอยู่บ้านพร้อมหน้าพร้อมตากัน เหล่าญาติผู้ใหญ่ไม่ว่าจะปู่ ย่า ตา ยาย ป้า น้า อา ต่างก็ตั้งหน้าตั้งตารอช่วงเวลาอันชื่นมื่นนี้กันอย่างมาก เพื่อที่จะได้ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ แลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ ให้กันฟัง
แต่อาจไม่ใช่กับบรรดาลูกๆ หลานๆ ที่มองว่าวันรวมญาติคือวันที่ต้องรับมือกับ Generation Gap หรือ ‘ช่องว่างระหว่างวัย’ ที่ทำให้ไม่เข้าใจกัน เนื่องจากพวกเขาต้องเผชิญกับ ‘คำถาม’ ต่างๆ ที่ไม่รู้จะตอบยังไง หรือตอบไปคนถามก็ไม่เข้าใจอยู่ดี แถมยังถูกตัดสินผ่านค่านิยมเก่าๆ อีก จนทำให้ตอบไปตอบมาก็อาจกลายเป็นการสร้างความลำบากใจแก่กันได้ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วก็คงไม่ใช่ความผิดของใคร เพียงแต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้คนแต่ละวัยมีชุดความคิดที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีชุดความคิดเป็นอิสระมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เทศกาลสุขสันต์กลายเป็นวันแตกหักตัดญาติกัน The MATTER เลยขอชวนมาดูคำถามในวันรวมญาติที่อาจสร้างความบอบช้ำหรือความกดดันให้กับลูกหลาน หรือคำถามที่ถามแล้วอาจจะต้องเปิดใจให้กว้างในการรับฟังคำตอบ พร้อมทั้งทำความเข้าใจความคิด มุมมอง และการตัดสินใจของคนรุ่นใหม่กันว่าเป็นยังไงบ้าง
“เรียนอะไร? ทำงานที่ไหน? ได้เงินเดือนเท่าไหร่?”
เป็นเรื่องปกติที่ญาติผู้ใหญ่อยากจะอัพเดตการเรียนหรือการงานของลูกหลานบ้าง อยากรู้ว่าทำอะไร? ทำแล้วจะมั่นคงมั้ย? ได้เงินเดือนเยอะหรือเปล่า? แต่ทุกวันนี้มีอาชีพที่เกิดขึ้นใหม่มากมายตามเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น ทำให้บางคณะในมหาวิทยาลัยได้รับความนิยมตามไปด้วย อาชีพที่เคยมองข้ามมองว่าไม่มั่นคง หรือมองว่าไร้อนาคต กลับทำรายได้มหาศาลอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น ยูทูบเบอร์ อีสปอร์ต กราฟิกดีไซเนอร์ แอนิเมเตอร์ เป็นต้น
หากลูกหลานตอบอาชีพหรือคณะที่เราไม่รู้จัก อย่าเพิ่งตัดสินว่าพวกเขากำลังเลือกทางที่ผิด เพราะยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว แม้การรับราชการจะดูมั่นคงในสายตาญาติผู้ใหญ่ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์คุณค่าชีวิตที่คนรุ่นใหม่กำลังมองหาเสมอไป แม้แต่เรื่องเงินเดือนเอง คิดว่าใครๆ ก็คงอยากได้เงินเดือนที่สูงและมั่นคง แต่ทุกคนมองจำนวนเงินที่มากน้อยแตกต่างกันไป ญาติผู้ใหญ่อาจมองว่าแค่นี้จะไปพอกินพอใช้อะไร? แต่ลูกหลานอาจรู้สึกว่า เงินเท่านี้ก็โอเคแล้ว ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้แบบไม่ขัดสน มีเก็บออมเล็กๆ น้อยๆ เทียบกับได้ทำงานที่มีความสุข มี work-life balance มีเวลาทำงานอดิเรก เท่านี้ก็นับว่าคุ้มค่า ทำให้ตัวเลขเงินนำมาตัดสินความสำเร็จไม่ได้เสมอไป
หรือถ้าไม่เข้าใจในสิ่งที่พวกเขาทำจริงๆ ลองเปลี่ยนเป็นถามเจาะลึกเข้าไป เช่น งานที่ทำเป็นยังไงบ้าง สนุกไหม ทำไมชอบทำงานนี้ เพื่อเรียนรู้ความสนใจของพวกเขาเพิ่มเติมก็ดีนะ
“มีแฟนหรือยัง? เมื่อไหร่จะแต่งงาน? จะได้อุ้มหลานมั้ย?”
ลูกหลานบางคนโดนถามประโยคนี้ไป ทำเอาน้ำในปากแทบพุ่งออกทางจมูก ก็นะ แฟนไม่ได้หาเจอง่ายๆ ตามร้านสะดวกซื้อ หรือแม้จะไปพึ่งมูเตลูกี่ร้อยที่ก็ไม่เจอสักที บอกแต่ว่าเนื้อคู่จะเป็นคนต่างชาติ ที่อาจจะหมายถึงชาติหน้ามากกว่า ทำให้เวลาโดนถามว่า เมื่อไหร่จะมีแฟน? จึงยากที่จะให้คำตอบ มิหนำซ้ำ ยังรู้สึกแย่กว่าเดิมที่เหมือนเป็นการตอกย้ำว่าชีวิตฉันช่างอาภัพรัก ในขณะที่บางคนก็ไม่ได้จะแคร์เรื่องการมีแฟนเลยด้วยซ้ำ แค่อยากใช้ชีวิตคนเดียว ไม่ต้องมีคนมายุ่งเกี่ยวให้เหนื่อยใจ เพราะลำพังใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันก็ยากแล้ว
และไม่ใช่แค่คนโสดที่เบื่อคำถามนี้ แม้แต่คนมีแฟนก็มักจะถูกถามว่า เมื่อไหร่จะแต่งงาน? และต่อให้แต่งงานแล้วก็เจอคำถาม เมื่อไหร่จะมีลูก? ต่อไปไม่จบสิ้น แต่คนถามก็คงจะแปลกใจหากพบว่าคนรุ่นใหม่ไม่อยากแต่งงานหรือไม่อยากมีลูก เพราะหลายคนมองว่าทั้งสองอย่างไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของการมีชีวิตคู่ การแต่งงานอาจไม่ใช่ตัววัดความมั่นคงเสมอไป แถมยังมีค่าใช้จ่ายเยอะอีก หรือบางทีการจัดงานแต่งงานในยุคสมัยนี้ก็อาจจะจัดเล็กๆ แบบ micro wedding ที่มีแค่คนรู้จักเท่านั้น ซึ่งการจัดแบบนี้แปลว่าเขาให้ความสำคัญกับคนสำคัญเท่านั้นจริงๆ ซึ่งก็เป็นโมเมนต์ที่อบอุ่นนะ
และต่อให้ญาติผู้ใหญ่จะอยากอุ้มหลาน เหลน โหลน แค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าสภาพแวดล้อม สภาพสังคม หรือตัวพวกเขาเองยังไม่พร้อม การรอไปก่อนก็อาจจะดีกับทุกฝ่ายที่สุด เพราะงั้นอย่าเพิ่งเร่งรัดหรือกดดันกันเลยนะ
“ไปทำอะไรมา? ดูคล้ำขึ้นนะ? อ้วนขึ้นหรือเปล่า?”
เมื่อก่อนการทักเรื่องรูปร่างหน้าตาอาจเป็นวิธีชวนคุยหรือสร้างบทสนทนาเวลาเจอกัน เช่น ไปทำอะไรมา? ทำไมอ้วนขึ้น? สิวเยอะจัง ไม่ค่อยดูแลตัวเองหรอ? แต่อะไรเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรกลับมามากที่สุด ทั้งตัวคนถามและคนที่ถูกถามเอง เหมือนแค่เอาไว้เช็กสกิลการสังเกตของญาติผู้ใหญ่เฉยๆ เพราะจริงๆ ทุกคนต่างรู้ดีว่าร่างกายของตัวเองเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง จากการส่องกระจกอยู่ทุกวี่ทุกวัน เรารู้ดีว่าช่วงนี้น้ำหนักขึ้น สิวขึ้น คล้ำขึ้น โทรมลง แบบที่ไม่ต้องทักต้องถามกันก็รู้
อีกทั้งสมัยนี้ ความพึงพอใจในร่างกายตัวเอง หรือ Body Positivity ก็กำลังเป็นประเด็นที่ทั่วโลกพยายามผลักดัน มีการจุดประกายให้ทุกคนรู้จักรักในสิ่งที่ตัวเองเป็น เพราะเรื่อง มาตรฐานความสวย (Beauty Standard) ที่มีมานานในสังคมเราก็เห็นว่าเปลี่ยนแปลงไปตลอด ขอแค่ดูแลร่างกายให้สุขภาพดี แข็งแรงก็เพียงพอ ฉะนั้นแล้ว การทักเรื่องรูปร่างหน้าตาอาจจะไม่ได่จำเป็นในบทสนทนาในวันรวมญาติปีนี้ แต่ถ้าอยากแสดงความเป็นห่วง ลองชวนคุยเรื่องอื่นดูไหม เช่น ช่วงนี้มีความสุขไหม เครียดอะไรหรือเปล่า หรือเหนื่อยไหม แค่นี้ก็ได้ใจลูกหลานแล้ว
“อายุเท่านี้ยังไม่มีบ้านมีรถอีกหรอ?”
ในยุคก่อน เป้าหมายชีวิตของหลายคนอาจดูเป็นแพตเทิร์นคล้ายๆ กัน นั่นก็คือ เรียนจบ ทำงาน แต่งงาน มีลูก มีบ้าน มีรถยนต์ มีเงินเก็บเท่านั้นเท่านี้ ถึงจะเรียกได้ว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ แต่ยุคนี้เป้าหมายหรือคุณค่าชีวิตแตกต่างออกไป และสามารถตีความหลากหลาย นอกเหนือไปจากการมีบ้าน มีรถ มีครอบครัว บางคนอาจต้องการใช้เงินไปกับการท่องเที่ยว ลงทุนในธุรกิจที่ตัวเองสนใจ สะสมของที่ตัวเองรัก หรือตามดูคอนเสิร์ตศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ โดยไม่มีใครมากำหนดได้ว่าอะไรคือถูกหรือผิด ทำให้วลี “อายุเท่านี้ควรมี__” อาจใช้ไม่ได้กับคนรุ่นใหม่เสมอไป
เมื่อถามคำถามนี้กับลูกๆ หลานๆ คำตอบที่ได้กลับมาอาจไม่ถูกใจเรานัก ในฐานะผู้ที่อาบน้ำร้อนมาก่อนก็อดเป็นห่วงไม่ได้ แต่เชื่อเถอะว่าเราทำได้มากสุดคือคอยมองอยู่ห่างๆ และส่งกำลังใจให้เรื่อยๆ เพราะคนที่จะใช้ชีวิตของพวกเขาหลังจากนี้ไปอีกหลายสิบปีคือตัวพวกเขาเอง ให้พวกเขาได้เลือกเส้นทางข้างหน้า เรียนรู้จากความผิดพลาด จนกระทั่งสามารถยืนหยัดด้วยตัวของตัวเองได้ น่าจะเป็นการเติบโตที่มั่นคงที่สุดแล้วล่ะนะ
สุดท้าย ไม่ได้หมายความว่าญาติผู้ใหญ่จะถามไถ่อะไรไม่ได้เลย วันรวมญาติทั้งทีก็ควรที่จะอัพเดตชีวิตกันหน่อย เพียงแต่ไม่อยากให้ทำลายบรรยากาศที่สุขสันต์ด้วยการตัดสิน หรือมองบางอย่างด้วยอคติจากช่องว่างระหว่างวัย เปลี่ยนมาเป็นทำความเข้าใจและเรียนรู้มุมมองกันและกันดีกว่านะ