เมื่อรู้ว่าจะได้ไปสัมภาษณ์ วีรพร นิติประภา ผมตั้งโจทย์กับตัวเองไว้ว่า ‘เราจะไม่คุยกันเรื่องวรรณกรรม’
เหตุผลหลักๆ เพราะตั้งแต่ ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ นวนิยายเรื่องแรกสลักชื่อวีรพรในฐานะนักเขียนน่าจับตา ไปจนถึงวันที่เธอได้รางวัลซีไรต์ จนกระทั่งเมื่อปีกลายที่เข็นผลงานเล่มที่สอง ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ ออกมา ไม่ว่าวีรพรจะไปปรากฏตัวอยู่บนหน้านิตยสาร หรือบนเวทีเสวนา วรรณกรรมกับการเขียนคล้ายจะเป็นหัวข้อสนทนาภาคบังคับไปแล้ว
‘แต่จะสัมภาษณ์เรื่องอะไรถ้าไม่ใช่วรรณกรรม’ ผมถามตัวเองในระหว่างอ่านบทสัมภาษณ์ที่ผ่านมาของเธอ ก่อนจะพบว่า พ้นไปจากเรื่องขีดๆ เขียนๆ แล้ว อีกประเด็นที่ดูจะแลบออกมาให้เห็นผ่านความคิดของวีรพรอย่างสม่ำเสมอ คือเรื่องความขัดแย้งและไม่ลงรอยกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่
ในระหว่างที่เราพูดคุยกันนั้น เธอแทนตัวเองว่าคนรุ่นเก่า เรียกผมว่าเป็นคนรุ่นใหม่ และเพราะเราจะไม่คุยกันเรื่องวรรณกรรม คำสัมภาษณ์ที่คุณจะได้อ่านต่อจากนี้จึงข้นคลั่กด้วยทัศนคติของวีรพร นิติประภา ที่มีต่อคนรุ่นใหม่ เฉียดไปทางเหตุบ้านการเมืองบ้างเป็นพักๆ แต่ก็เพราะมันดันกลายเป็นหัวข้อสนทนาประจำวันภาคบังคับไปแล้วนี่นา จะให้เลี่ยงไม่พูดถึงเหรอ ไม่ดีกว่า มัวแต่เลี่ยงไปเลี่ยงมาเดี๋ยวไม่เหลือเรื่องสนุกคุยกันพอดี
The MATTER : ช่วงนี้คุณดูจะออกสื่อเยอะมาก เดี๋ยวก็ไปเวทีเสวนาเดี๋ยวก็มีสัมภาษณ์ลงนิตยสาร คุณเบื่อหรือยัง
วีรพร : เราไม่คิดอะไรมากนะ อาจเพราะเรากลัวว่าจะเป็นคนหยิ่งซึ่งเราเกลียดอะไรแบบนั้น ทำนองว่าเป็นนักเขียนที่พอมีใครเรียกไปก็ไปยืนหน้างอ ใครขอสัมภาษณ์ก็ไม่ให้สัมภาษณ์ คือเรารู้สึกว่าทุกคนก็มีงานของตัวเองอย่างที่คุณสัมภาษณ์เราอยู่นี่ก็เป็นงานของคุณ ซึ่งตราบเท่าที่สำนักข่าวของคุณคิดว่ายังขายเราได้เขาก็ให้คุณมาสัมภาษณ์เรา มีใครเรียกเราก็ไปเพราะคนอื่นเขาจะได้มีงานทำ แต่ถามว่าเราเองเบื่อมั้ยมันก็ไม่ถึงขนาดว่าเบื่อนะเพราะเราทรีตว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของรางวัลที่ได้มา พอคุณได้รางวัลก็แน่นอนว่าคุณจะต้องอยู่ในจุดสนใจ ซึ่งถ้าคุณทำตัวน่าสนใจหนังสือของคุณก็จะน่าสนใจ และเมื่อหนังสือคุณน่าสนใจหนังสือเล่มอื่นๆ ก็จะพลอยน่าสนใจไปด้วย
โลกนี้มันอยู่กันแบบนี้ แล้วที่เขาเรียกไปมันไม่ได้ยากไง เขาถามมาเราก็ตอบไป ฉลาดบ้างโง่บ้าง ไม่ได้เครียดอะไร ตอบไปตามที่เรารู้สึก หรือถ้าไม่รู้ก็บอกไม่รู้ ง่ายๆ แค่นั้น เราไม่ได้ทำตัวฉลาดเมื่อต้องตอบคำถาม หรือถ้าคนเขาจะเบื่ออ่านเรื่องเราแล้ว พอเขาเปิดมาเจอหน้าเราเขาก็แค่ไม่อ่านก็เท่านั้น ซึ่งพอคนอ่านไม่อ่าน สำนักข่าวต่างๆ เขาก็เลิกถามเราไปเอง ง่ายดีนะ ต้องเข้าใจว่าคุณก็ไม่ได้จะดังตลอดชีวิตหรอก คุณไม่ได้จะเขียนหนังสือดีทุกเล่มเสียเมื่อไหร่ ตอนนี้ใครอยากคุยเรื่องอะไรก็เชิญเลย เพราะเดี๋ยวเขาก็ไม่สนใจคุณแล้ว
The MATTER : นอกจากจะไปปรากฏตัวตามเวทีต่างๆ บ่อยแล้วสังเกตว่าคุณมักจะถูกถามเรื่องปัญหาชีวิตของวัยรุ่นหรือความกังวลใจของคนรุ่นใหม่อยู่บ่อยๆ ซึ่งคุณก็ดูจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ดี มันเป็นเพราะคุณสนใจประเด็นเหล่านี้อยู่แล้วหรือเปล่า
วีรพร : เข้าใจว่าเพราะเราทำงานที่ค่อนข้างจะได้รับการต้อนรับจากคนรุ่นใหม่ แถมเราเสือกเป็นคนแก่ด้วยไง ทุกคนก็เลยเอ๊ะ คนนี้อายุเยอะแล้วแต่สามารถสื่อสารกับคนอีกรุ่นหนึ่งได้ว่ะ เราเลยเจอคำถามแบบนี้ค่อนข้างเยอะ ถามว่าเราสนใจประเด็นเหล่านี้มั้ย สนใจดิ เพราะถ้าไม่สนใจมาตั้งแต่ต้นเราก็คงไม่สามารถทำงานรับกับคนอ่านอายุน้อยได้ ซึ่งก็แปลว่าเราพอจะมีอะไรที่เชื่อมโยงกับพวกเขาได้บ้าง ส่วนหนึ่งอาจเพราะเรามีลูกรุ่นราวคราวเดียวกับคนรุ่นใหม่ด้วย
The MATTER : การเลี้ยงลูกทำให้คุณเข้าใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น
วีรพร : เราไม่รู้หรอกว่าเข้าใจคนรุ่นใหม่ไหม แต่เรียกว่าเราชอบติดตามพวก
เราเองก็พยายามเล่นเฟซบุ๊ก พยายามดูว่าเด็กสมัยนี้เขาคิดกันยังไง มีคนเคยถามว่าทำไมวีรพรไม่เ
แล้วเราพบว่ามันมีความคลุมเ
โลกมันรับมือกับปัญหาได้เสมอ คนในแต่ละช่วงอายุรับมือกับ
ปัญหาของพวกเขาได้เองเสมอ โลกมันพัฒนาไปแบบนั้น
The MATTER : เป็นเพราะมันไม่มี commitment ชัดเจนแล้วด้วยหรือเปล่า
วีรพร : ใช่ มันไม่มีแล้ว โดยเฉพาะเรื่องพรมแดนและวัฒนธรรม ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะอินเทอร์เน็ตด้วยนะที่มันได้ทำลายเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างเชื้อชาติและภูมิศาสตร์ไปแล้ว คุณสามารถคลิกดูได้ทันทีว่าตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้นในปารีส โดยที่คุณไม่รู้สึกอีกแล้วว่าปารีสมันไกลแสนไกลแม้ว่าคุณอาจยังไม่เคยไปเหยียบมันเลยด้วยซ้ำ ซึ่งคนรุ่นเก่าไม่สามารถจะเข้าใจโลกแบบนี้ได้แล้ว เขาจะสงสัยว่าตกลงมันเป็นแฟนกันหรือเปล่าวะ ก็ถามว่าแล้วมึงจะไปรู้ทำไมล่ะ เขาจะเป็นแฟนกันก็ต่อเมื่อจะแต่งงานกัน แต่ว่าเขาจะแต่งงานหรือจะมีลูกกันมั้ยก็ไม่รู้อีก เพราะค่าเรียนเทอมนึงเดี๋ยวนี้ก็ปาไปตั้ง 26,000 แล้ว
The MATTER : คุณคิดว่าสถานะอันคลุมเครือนี้จะไม่ยิ่งทำให้การใช้ชีวิตยุ่งยากขึ้นเหรอ
วีรพร : ความยุ่งยากมันมาจากคนรุ่นเรา รุ่นที่เชื่อว่าจะต้องแต่งงาน ต้องเก็บงานซื้อบ้านซื้อรถ ซึ่งก็เพราะว่าคนรุ่นเราไม่เคยได้ท่องโลกตอนที่อายุน้อยๆ แบบคุณ แล้วจริงๆ ตอนนี้บ้านมันแพงมาก คุณก็ไม่ต้องซื้อบ้านแล้วไง ก็อยู่กับพ่อแม่ไป ซึ่งพอคุณอยู่กับพ่อแม่ สถานภาพของคุณก็คลุมเครือไปโดยปริยาย เพราะว่าคุณไม่สามารถจะแจกแจงกับพวกเขาได้ทุกเรื่องทุกเวลาหรอก หรืออย่างคนรุ่นก่อนๆ อาจยังมีพื้นที่เป็นสัดส่วนของตัวเองบ้าง เช่น พออายุ 30 ก็ซื้อบ้านหลังหนึ่ง แต่ตอนนี้มันไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว สถานที่ทำงานของพวกคุณคือร้านกาแฟ เพราะถ้าอยู่บ้านเดี๋ยวแม่จะมาอยู่ข้างหลังคอยถามโน่นนี่จนในที่สุดคุณก็ต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพราะทนไม่ไหว
ความยุ่งยากมันมาจากคนรุ่นเรา รุ่นที่เชื่อว่าจะต้องแต่งงาน ต้องเก็บงานซื้อบ้านซื้อรถ ซึ่งก็เพราะว่าคนรุ่นเราไม่เคยได้ท่องโลกตอนที่อายุน้อยๆ
The MATTER : ฟังดูเหมือนคนรุ่นใหม่ดีแต่จะเกาะอยู่กับคนอื่นตลอดเวลา แล้วอย่างนี้พวกเขาจะสามารถสร้างที่ยืนของตัวเองได้ยังไง
วีรพร : เราถามจริงๆ นะว่าจะยืนอะไรกันนักหนา เพราะในเมื่อคุณถูกลดพรมแดนลงไปแล้ว ความมั่นคงของคุณก็จะต่างไปจากความมั่นคงที่เราเคยรู้จัก คุณไม่ต้องมีบ้านตอนอายุ 30 แล้วเพราะจ่ายไม่ไหว ซึ่งพอคุณไม่มีบ้าน คุณก็มีเงินเหลือ แล้วถามว่าคุณจะใช้เงินนั้นทำอะไร ก็ท่องเที่ยวไง ฉะนั้นคุณจึงได้เห็นโลกมากขึ้น ซึ่งยิ่งคุณเห็นมากขึ้นเท่าไหร่พรมแดนก็จะยิ่งเลือนรางลงไปเท่านั้น คิดดูสิว่าตอนนี้คุณสามารถไปโน่นมานี่ได้ทันทีเท่าที่เงินในกระเป๋าคุณมี แถมยังอยู่ได้นานเท่าที่เงินที่มีนั้นจะเอื้ออำนวย หรือถ้ามันหมดคุณก็สามารถหางานทำเพื่อให้ได้เงินกลับมาใหม่ คุณไม่จำเป็นต้องอยู่แต่กับที่เพื่อทำงานอีกแล้ว และคุณก็สามารถไปอยู่ในปารีสได้เป็นสัปดาห์แล้วถ้าเงินหมดคุณก็แค่ไปเป็นพนักงานเสิร์ฟสักเจ็ดวัน และแทนที่จะกลับบ้านเลยคุณก็อาจใช้เงินที่ได้มาไปเมืองนีซต่อ แล้วก็ไปหางานที่นีซต่ออีกเจ็ดวัน จากนั้นก็เอาเงินที่ได้ไปเที่ยวที่อื่นต่อได้อีก
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาโลกมันเป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว เพียงแต่เด็กไทยเรายังอยู่ในระบบเดิมๆ ที่ช้ากับ perception ของโลก เรายังมองโลกด้วยพรมแดนของชาติ คำที่เราย้ำอยู่เสมอในหนังสือของเราคือ ‘เส้นประในแผนที่’ ซึ่งมันเป็นแค่สิ่งเดียวเท่านั้นที่คุณสามารถมองเห็นความเป็นชาติได้ เพียงแต่คุณถูกทำให้เชื่อว่ามันคือเรื่องสำคัญ ในขณะที่เด็กทั่วโลกมันสนใจเรื่อง ‘การเป็นประชากรโลก’ ไปแล้ว และจริงๆ คุณก็เป็นประชากรโลกผ่านอินเทอร์เน็ตไปตั้งนานแล้ว เพราะคุณสามารถเข้าถึงทุกที่ได้ตามที่คุณต้องการ
The MATTER : ในทางหนึ่งมันเป็นการ ‘ไม่ยึดติด’ หรือเปล่า
วีรพร : ใช่ แต่คุณก็จะถามอีกว่า แล้วที่ยืนหรือที่ยึดเหนี่ยวล่ะ คุณจะเหนี่ยวอะไรนักหนาในเมื่อมันไม่มีอะไรให้เหนี่ยว ทั้งหมดที่คนรุ่นก่อนเผชิญมันยังเป็น post war อยู่เลย เป็นซากหลงเหลือจากสงครามโลกที่เราต่อสู้เพื่อดินแดนของเรา ปกป้องปฐพีที่เป็นของเรา แต่เดี๋ยวนี้คุณทำอย่างนั้นไม่ได้แล้วเพราะคนมันก็เข้าๆออกๆ คุณเห็นคนจีนอยู่เต็มเชียงใหม่ ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะนักท่องเที่ยวนะ มันมีคนที่ลงหลักปักฐาน พอวีซ่าหมดก็กลับไปต่อใหม่ และไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบแต่โลกมันเป็นแบบนี้ไปตั้งนานแล้ว
คุณจะเหนี่ยวอะไรนักหนาในเมื่อมันไม่มีอะไรให้เหนี่ยว
The MATTER : แล้วอย่างผลผลิตจากโลกเก่า พวกศาสนา หรือความเชื่อที่ยังหล่อหลอมให้คนยึดติดอยู่กับมันล่ะ
วีรพร : เราพบว่ามันต้องเปลี่ยนไปแล้ว แต่จะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นศาสนาอะไรหรือศาสนาแบบไหนด้วย หลายศาสนาก็ยอดตกกันนะ อย่างคริสต์ก็มีคนนับถือน้อยลง พุทธก็มีคนนับถือน้อยลง มันก็แค่เป็นไปตามหลักอุปสงค์-อุปทานนั่นแหละ คือถ้าสิ่งต่างๆ มันตอบโจทย์กับวิถีชีวิตสมัยใหม่มันก็จะอยู่ได้ แต่ถ้ามันไม่ตอบโจทย์นี้แล้วมันก็ต้องไป แค่นั้นเอง
เราเองไม่ได้เป็นพวกโหยหาอดีตขนาดนั้นและเอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยจะเข้าใจพวกอนุรักษ์นิยมสักเท่าไหร่ คิดดูว่าก่อนหน้าที่เราจะมานับถือพุทธ เราก็นับถือผีกันมา ซึ่งพอคุณมานับถือพุทธแล้วมาคิดว่ามันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่ล้มล้างไม่ได้ อ้าว! แล้วตอนที่คุณล้มล้างผีล่ะ ต่อไปเราอาจมีศาสนาใหม่ๆ ก็ได้ แต่ตอนนี้ปัญหาที่น่ากลัวที่สุดคือเราไม่มีศาสนาใหม่มาหลายร้อยปีแล้วนะ ที่มีก็เป็นลัทธิย่อยเท่านั้น แต่ในทางหนึ่งก็อาจเพราะว่าสิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้ตอบโจทย์ของโลกที่มีอินเทอร์เน็ตอีกแล้ว ซึ่งสำหรับเรามันถือเป็นโลกอีกใบหนึ่งเลย มันเป็นคนละโลกกับที่เคยรู้จัก เป็นโลกที่คนแก่ๆ ไม่เข้าใจหรือถึงจะเข้าใจคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตก็เป็นในลักษณะที่ว่ามันเหมือนโทรทัศน์ ซึ่งมันไม่ใช่ไง อินเทอร์เน็ตไม่ได้พาคุณไปเห็นโน่นนี่แบบเดียวกับโทรทัศน์แล้วเพราะมันพาคุณลงไปลึกกว่านั้นมาก ง่ายๆ คือคุณสามารถเป็นสมาชิกองค์กรลับที่ไหนในโลกนี้ก็ได้แล้วผ่านอินเทอร์เน็ต
ก่อนหน้าที่เราจะมานับถือพุทธ เราก็นับถือผีกันมา ซึ่งพอคุณมานับถือพุทธแล้วมาคิดว่ามันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่ล้มล้างไม่ได้ อ้าว!
The MATTER : มันคือการที่คนรุ่นต่างๆ เคลื่อนที่ไม่ทันกัน
วีรพร : ใช่ เพราะคนรุ่นเรานี่แหละที่ยึดรากเอาไว้ว่าเราต้องมีประเทศ มีที่อยู่อาศัย เพราะถ้าเราไม่มีประเทศเราก็ไม่ต้องซื้อบ้าน เราก็ไม่ต้องซื้อคอนโดฯ ซึ่งก็ถูกแล้ว เพราะไอ้คอนโดฯ นี่แหละที่ทำให้คุณอยู่กับที่ไม่ไปไหน หรือจริงๆ ถ้าคิดจะซื้อคอนโดฯ ตอนนี้เราก็สามารถซื้อคอนโดฯ ในเบอร์ลินได้แล้ว เพราะราคามันเท่ากับคอนโดในกรุงเทพฯ เลยนะ แถมราคายังขึ้นเร็วกว่ามากด้วย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในโลกก็ทำกันแบบนั้น คุณอาจซื้อคอนโดฯ ในที่ไกลๆ ที่คุณอยากไป หรือจริงๆ คุณอาจไม่คิดจะครอบครองอะไรแล้วด้วยซ้ำ เพราะคุณก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะอยู่ที่ไหนในอีกสิบปีข้างหน้า ในขณะที่คนรุ่นก่อนจะรู้แน่นอนว่าจะอยู่ที่ไหนเพราะดันซื้อคอนโดฯ ไว้แล้วไง เลยมีภาระต้องผ่อน ไปไหนไม่ได้ก็อยู่กันไปจนผ่อนเสร็จ (หัวเราะ) แล้วก็อาจไม่มีปัญญาจะไปที่ไหนอีกเลยก็ได้ เพราะเอาเงินจ่ายดอกเบี้ยหมดแล้ว คอนโดฯ ราคา 1 ล้านแต่จ่ายไป 1.5 ล้านนั่นคือสิ่งที่คนรุ่นๆ เราเผชิญโดยไม่รู้สึกว่าตัวเองโง่เลยนะ กลับรู้สึกว่าฉลาดและแสวงหาความมั่นคงของชีวิตด้วยซ้ำ แต่คนรุ่นใหม่ฉลาดกว่า แค่ทนอยู่กับพ่อแม่ไปแล้วก็เอาเงินที่ได้ไปเที่ยวหรือค่อยซื้อคอนโดฯ ตอนมีเงินก้อนสักล้านนึงคุณจะได้ไม่ต้องจ่ายในราคา 1.5 ล้าน ซึ่งมันควรจะเป็นอย่างนี้ไง แล้วก่อนหน้านี้ก็เป็นอย่างนั้นคือทำงานเก็บเงินแต่งงาน แต่มาหลังๆ นี้มันเริ่มมีมาร์เก็ตติ้งใหม่ๆ จำพวกผ่อนกันเถิด ซึ่งแบงก์ฟันกำไรปีละ 5,000 ล้านเลยนะ แต่ถ้าเกิดคุณด่วนเข้าโรงพยาบาลวันนี้ขึ้นมา คุณไม่เหลืออะไรเลยนะ
มันบ้ามาก เรื่องนี้บ้ามาก คุณลองไปดูโครงการธุรกิจทุกวันนี้สิแล้วจะพบว่ามันเป็นเรื่องงี่เง่าเอารัดเอาเปรียบอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ ซึ่งมันมาจากคนรุ่นเรานี่แหละ ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ แถมยังภาคภูมิใจในการส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้พวกคุณด้วยนะ อย่างพ่อแม่ส่วนใหญ่ก็จะบอกให้ลูกเก็บเงินซื้อคอนโดฯ ไม่ใช่เที่ยวเล่นไปวันๆ คุณก็เลยต้องทนทำงานอยู่ที่เดิม ไม่กล้าย้ายงาน เพราะมีคอนโดฯ ต้องผ่อน มันเลยไม่มีการเจริญเติบโตทางความคิดแต่อย่างใด แถมยังจมปลักอยู่กับที่ เพราะไอ้คอนโดฯ บ้าๆ นี่ที่มาจากมาร์เก็ตติ้งของธนาคารที่คอยกินดอกเบี้ยคุณ มันน่ากลัวนะ แล้วมันก็เป็นโลกที่น่าสะอิดสะเอียนพอสมควร เราถึงเข้าใจคนรุ่นใหม่ไงว่าทำไมพวกเขาถึงชอบสโลว์ไลฟ์ นั่งดริปกาแฟ ไปเที่ยวญี่ปุ่น
The MATTER : แล้วซึ่งคุณก็ดูเป็นคนรุ่นเก่าที่ดูเข้าใจคนรุ่นใหม่จริงๆ คนหนึ่ง ต้นสายปลายเหตุมันมาจากอะไร
วีรพร : เพราะเรากลัวจะถูกคนรุ่นใหม่ทอดทิ้งน่ะ คือเราไม่ได้มีอีโก้แบบคนรุ่นเราที่ว่ากูรู้ดีกูผ่านโลกมามากกว่า ซึ่งโลกที่มึงผ่านมาน่ะมันคือโลกแย่ๆ ใบหนึ่ง ในขณะที่คนรุ่นใหม่กำลังไปสู่โลกที่ฉลาดกว่า สมเหตุสมผลกว่า โลกที่น่าจะดีกว่า ดังนั้นเราจึงพยายามเข้าใจพวกเขา และหวังว่าคนรุ่นใหม่จะไม่ทิ้งเราไว้ข้างหลังร่วมกับคนแก่คนอื่นๆ (หัวเราะ)
คุณลองไปดูโครงการธุรกิจทุกวันนี้สิแล้วจะพบว่ามันเป็นเรื่องงี่เง่าเอารัดเอาเปรียบอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ ซึ่งมันมาจากคนรุ่นเรานี่แหละ ไม่ใช่คนรุ่นใหม่
The MATTER : มีสิ่งที่คุณรำคาญหรือไม่เข้าใจในคนรุ่นใหม่บ้างไหม
วีรพร : เราไม่ใช้คำว่า รำคาญ แต่เราใช้คำว่า บางทีมันก็มีราคาที่พวกคุณต้องจ่าย ซึ่งเราจะเห็นใจคนรุ่นใหม่มากกว่า การมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องยาก ซึ่งเราพบว่าคนรุ่นเรามันยังมีความหวังว่ะ แต่กับคนรุ่นใหม่ บางครั้งก็มีความหวังน้อยเกินไป คือไม่ใช่มีน้อยถึงขนาดสิ้นหวังนะ แต่เพราะมันไม่มีอะไรเหลือให้เขาหวังมากแล้ว อย่างคนรุ่นเราอาจหวังว่าวันนึงจะเปิดร้านขายของชำแล้วก็จะได้เป็นเซ็นทรัลในวันข้างหน้า แต่ว่าคนรุ่นใหม่มันไม่ฝันอย่างนี้แล้ว เพราะมันถูกผูกขาดไปหมด ดังนั้นคุณจึงไม่คิดจะทำร้านขายของชำ เพราะคุณอยู่กับเซเว่นฯ และคุณก็จะไม่มีวันไปได้ไกลกว่านั้น คุณไม่มีความหวังแล้วว่าสักวันจะมีนั่นมีนี่ ซึ่งคุณก็อาจจัดการกับปัญหาเหล่านั้นด้วยการลดขนาดความฝันลงมาเหลือแค่จักรยานเก๋ๆ สักคันหนึ่ง ในขณะที่คนรุ่นเรายังหวังว่าสักวันจะได้ขับเมอร์เซเดสหรือรถสปอร์ตแพงๆ
The MATTER : แปลว่าการฝันให้ใหญ่มันเป็นไปไม่ได้แล้วงั้นหรือในโลกสมัยใหม่
วีรพร : มันเป็นไปไม่ได้ในยุคของคุณ เพราะทุกอย่างมันแพงจนน่ากลัว แม้แต่การศึกษาก็ยังกลับมาเป็นเรื่องอภิสิทธิ์ มันมีอยู่ช่วงหนึ่งที่การศึกษาเป็นสิ่งที่เข้าถึงคนทุกคนแต่ตอนนี้กว่าจะกู้หนี้ กยศ. มาได้ หรือพอได้แล้วก็อาจไม่คุ้มอีก เพราะสมมติว่าคุณกู้หนี้ไปเรียนต่อ พอคุณเรียนจบ ทำงาน แต่เงินที่ได้มันก็ไม่พอผ่อนหนี้อีกอยู่ดี เพราะมูลค่ามันสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับบ้านหรือคอนโดฯ นั่นแหละที่วันนึงคุณจะเลิกฝันไปเองเพราะคุณไม่มีปัญญา บ้านในกรุงเทพฯ ตอนนี้อย่างต่ำก็ 2 ล้านแล้วนะ ถ้าคุณผ่อนก็มากกว่านั้น ซึ่งพอคำนวณจำนวนปีกับช่วงชีวิตคุณแล้วมันจะเท่ากับว่าคุณต้องทำงานประจำไปจนถึงอายุห้าสิบหกสิบ อย่าว่าแต่จะมีลูกเลย เมียก็ไม่มีปัญญาจะมี อะไรก็ไม่มีปัญญามี พอไปๆ มาๆ คุณก็ทิ้งนั่นทิ้งนี่ไปหมด จนสุดท้ายเลยไม่ค่อยจะเหลือความฝันใหญ่ๆ
เราพบว่าคนรุ่นเรามันยังมีความหวังว่ะ แต่กับคนรุ่นใหม่ บางครั้งก็มีความหวังน้อยเกินไป
The MATTER : ยิ่งพูดก็ยิ่งสิ้นหวังนะ
วีรพร : คุณสิ้นหวังไหมล่ะ คนรุ่นใหม่สิ้นหวังไหมล่ะ เราว่ามันไม่ถึงขนาดสิ้นหวังนะ เพียงแต่มันไม่ได้มีความหวังขนาดใหญ่ๆ ระดับที่คุณจะยอมตายเพื่อมันได้น่ะ สมมติอย่างคุณก็อาจอยากเป็นคอลัมนิสต์ให้กับ The MATTER และที่อื่นๆ อีกสักสองสามที่ ซึ่งแค่นี้คุณก็อาจคิดว่าสบายแล้ว แค่นี้พอ คุณไม่สามารถถึงขั้นว่า สักวันคุณอยากจะตั้ง The MATTER เป็นของตัวเองได้ เพราะกว่าจะถึงตอนนั้นมันก็มีงอกขึ้นมาอีกสิบสำนักข่าว คุณก็อาจต้องเปลี่ยนไปหาความฝันใหม่ๆ
เราไม่แน่ใจนะว่าคนรุ่นใหม่จัดการกับเรื่องนี้ยังไงแต่แน่นอนว่าไม่ได้ฝันหวานอย่างคนรุ่นเรา ซึ่งเอาจริงคนรุ่นเราฝันแล้วแป้กไปก็เยอะ แต่การได้ฝันก็ยังสร้างอะไรบางอย่างที่น่าสนใจขึ้นมา ในขณะที่คนรุ่นใหม่ยังต้องใช้พลังงานและเวลาอีกเยอะมากในการแก้ปัญหาที่คนรุ่นที่แล้วสร้างขึ้น อย่าว่าแต่สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ เลย ปัญหาขยะ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาทรัพยากรไม่เพียงพอ ปัญหาการผูกขาด ปัญหาที่คุณจะไม่สามารถตั้งตัวได้อีกแล้ว เหล่านี้แหละที่คนรุ่นใหม่จะใช้ทั้งช่วงชีวิตหมดไปกับการแก้ไขเยอะมาก
The MATTER : พอพูดอย่างนี้แล้วคุณรู้สึกโชคดีมั้ยที่ไม่ได้เกิดเป็นคนยุคนี้
วีรพร : ในทางหนึ่งนะ แต่อีกทางเราก็เสียใจที่เกิดในเจเนอเรชั่นที่ไม่ได้เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อคนรุ่นถัดไปเลย เราพบว่าคนรุ่นเราน่ะเหี้ย (เน้นเสียง) เพราะไม่ได้เหลืออะไรให้คนรุ่นใหม่เลย เราไม่ได้เกื้อกูลเขา ไม่ได้ช่วยให้โลกน่าอยู่ขึ้น เป็นพวกเอาแต่ได้และผูกขาด แต่ซึ่งเราก็มีความหวังกับคนรุ่นใหม่นะ เราว่าคนรุ่นใหม่น่ะมาถูกทางแล้วกับการนั่งดริปกาแฟไปวันๆ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่คนรุ่นเราเสือกไม่ฝันเว้ย เราว่ามันดีนะ มันเป็นฝันที่สวยสดงดงาม และในทางหนึ่งมันก็ดูไม่มีความกังวล ต่างจากคนรุ่นก่อนจะลุกลี้ลุกลนอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ ของเศรษฐกิจโลก เอาแต่จะวิ่งตามมันไปเรื่อยๆ จนไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูก พ่อแม่ หรือกระทั่งตัวเอง เพราะมัวทุ่มให้กับความฝันโง่ๆ แค่ตัวเลขในแบงก์ ตลาดหุ้น และรถยนต์
The MATTER : จริงๆ แล้วสาเหตุที่ทำให้คุณพยายามทำความเข้าใจคนรุ่นใหม่เป็นเพราะคุณรู้สึกผิดต่อพวกเขาในสิ่งที่คนรุ่นเก่าทำไว้ด้วยหรือเปล่า
วีรพร : เราว่าคนรุ่นเราควรรู้สึกผิดที่คนรุ่นถัดไปมีความฝันที่จำกัดจำเขี่ย นั่นเพราะพวกเขาเหล่านั้นก็คือผลิตผลของคนรุ่นก่อนหน้าในทุกๆ ทางนั่นแหละ แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าพวกคุณจะล่มจมขนาดว่าต้องเสียใจอะไรมาก เราแค่รู้สึกว่าควรจะเกื้อกูลคนรุ่นถัดจากเรามากกว่านี้ พวกคุณควรจะได้อยู่สบายมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้า ซึ่งในทางกลับกันพวกคุณไม่ได้อยู่สบายในแบบนั้น หรือจริงๆ ก็อาจอยู่สบายในอีกแบบหนึ่ง คือต่อให้ไม่มีบ้านกูก็สบายดีได้ ไม่ต้องผ่อน หรือในขณะเดียวกันครอบครัวหนึ่งก็มีลูกแค่สองคน ก็แบ่งบ้านกันได้ง่ายๆ แต่กับคนรุ่นก่อนหน้าที่มีลูกสี่ห้าคนมันแบ่งกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่ก็แค่รอพ่อแม่ตายก็ได้บ้านมาแล้ว แต่พ้นไปจากเรื่องนี้มีอีกเรื่องที่เรารู้สึกผิดกับคนรุ่นใหม่มากๆ คือเรื่องสภาพแวดล้อมที่ถูกถลุงโดยคนรุ่นเรา เรามีระบบอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าออกมามากเกินไปเพียงเพื่อที่มันจะไปตกอยู่ในโกดังต่างๆ แล้วก็หมดอายุไปในสักวัน มันคือความละโมบ มันคือความงี่เง่าของคนรุ่นก่อน
The MATTER : ซึ่งพอปัจจุบันมันเป็นแบบนี้คุณมองว่าอดีตเป็นสิ่งสวยงามกว่าไหม
วีรพร : เราพบว่าด้านหนึ่งมันก็สวย แต่อีกด้านก็ไม่สวย แต่เราว่ามันแยกกันอย่างนี้ไม่ได้ในขณะที่คนรุ่นใหม่ตื่นเต้นกับซีจีสวยๆ ซึ่งมันก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าท้องทะเลใสสะอ้านที่คนรุ่นเราได้เห็นเลย แต่เราก็ไม่เคยได้รู้จักซีจีในยุคก่อน และไม่สามารถเห็นภาพได้อย่างที่คุณเห็นในยุคนี้ จะว่าไปมันก็แปลกดีนะ แต่เราไม่คิดว่าอดีตเป็นเรื่องน่าโหยหาขนาดนั้น ปัญหาของคุณตอนนี้คือจะทำยังไงให้อยู่กับอนาคตได้มากกว่าที่จะมานั่งโหยหาอดีตเสียด้วยซ้ำ เพราะเรื่องที่ต้องจัดการมันแน่นไปเสียหมด คุณจะอยู่กับทะเลที่สกปรกอย่างนี้ได้ยังไง คุณจะต้องทำอะไรกับเรื่อง climate change แล้วน้ำก็กำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ การแสวงหาน้ำสะอาดมันเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าการมานั่งรำลึกอดีตว่าเราเคยมีสิ่งนั้นเราเคยมีสิ่งนี้ ช่างมันเถอะ คุณว่าในอดีตเราเคยมีอะไร มันฟังดูเศร้านะ แต่คุณจะไม่เศร้าหรอกเชื่อเถอะ
หรือจริงๆ สมัยก่อนอาจดีกว่าตรงที่คนตายกันตอนอายุแค่ 40-50 เทียบกับตอนนี้ที่เพิ่มขึ้นเป็น 80-90 คนมันอยู่ยาวขึ้นเรื่อยๆ ไม่พอ ยังไม่มีผลงานหรือการสร้างสรรค์ใหม่ๆ อีก เพียงแค่ใช้ทรัพยากรไปเรื่อยๆ แต่เรื่องที่น่าสนใจคือประชากรโลกกำลังลดลงเรื่อยๆ นะ แปลว่าคุณต้องต่อสู้อีกสักระยะหนึ่ง แค่ 10 หรือ 20 ปีต่อจากนี้เบบี้บูมเมอร์มันก็จะลดจำนวนลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจเกินครึ่งด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นอัตราการลดลงของประชากรในอนาคตนี่แหละจะเป็นตัวตัดสินว่าโลกจะอยู่กันแบบไหน แต่เรารับรองว่ามันจะสบายขึ้นมากแล้ว ซึ่งเจเนอเรชั่นถัดจากคุณก็จะน่าสนใจขึ้นไปอีก
เราว่าคนรุ่นเราควรรู้สึกผิดที่คนรุ่นถัดไปมีความฝันที่จำกัดจำเขี่ย นั่นเพราะพวกเขาเหล่านั้นก็คือผลิตผลของคนรุ่นก่อนหน้า
The MATTER : คุณคิดว่าตัวเองพอจะมองออกหรือยังว่าถ้าเวลานั้นมาถึงโลกจะดำเนินไปยังไง
วีรพร : เรามองไม่ออกนะ แต่เราคิดว่าแบรนด์เนมควรจะเจ๊ง และห้างจะไม่มีเพราะมันก็จะเจ๊ง คอนโดฯ แพงๆ ก็จะเจ๊งเพราะการคมนาคมมันดีขึ้น การสั่งของออนไลน์จะมากขึ้น แล้วคนรุ่นใหม่ไม่สามารถ afford แบรนด์เนมได้ตั้งนานแล้ว เมื่อพวกเขาไม่สามารถ afford มัน พวกเขาก็ไม่ต้องใช้ ฮิปสเตอร์ไม่ได้แต่งแบรนด์เลย เพราะว่ากูไม่มีปัญญาไง เราคิดว่าแบรนด์เนมเป็นเรื่องของคนรุ่นเราที่ซื้อกระเป๋าใบละเป็นหมื่นๆ ประสาท ซื้อแค่เพราะมียี่ห้อติดงั้นเหรอ มันเป็นเรื่องสิ้นคิดมาก (หัวเราะ) แล้วคนมันไม่ได้ทำงานประจำกันเยอะอีกต่อไปแล้วด้วย อย่างครึ่งหนึ่งของธุรกิจบ้านที่เห็นว่าพัง มันไม่ได้พังเพราะตัวมันเองนะ แต่เพราะคนไม่ได้สังกัดงานประจำมากเท่าแต่ก่อน เพราะฉะนั้นเมื่อคุณไม่ได้ทำงานประจำ การผ่อนมันเลยเป็นไปไม่ได้ เพราะแบงก์ไม่ยอมปล่อย ซึ่งพอแบงก์ไม่ปล่อยมันก็เจ๊ง ระบบทุกอย่างมีการจัดการตัวมันเองหมด แต่จริงๆ เราค่อนข้างจะมีความหวังนะ เราไม่ได้คิดว่าสังคมต่ำทราม เด็กรุ่นใหม่อยู่ไม่ได้ พวกเขาจะอยู่ได้ในแบบของเขา
The MATTER : เรียกว่าเราเติบโตอยู่ในยุคของการเปลี่ยนผ่าน
วีรพร : ใช่ คุณกำลังอยู่ในยุคที่น่าสนใจยุคหนึ่ง ในขณะที่ทรัพยากรต่างๆ กำลัง tight สุดๆ เนี่ย เราพบว่าอีกหน่อยคนรุ่นเรามันก็จะตายกันไปหมดแล้ว หลังจากนั้นทรัพยากรเหล่านี้ก็จะกลายเป็นพอดีๆ แล้วคุณก็จะสอนลูกหลานรุ่นใหม่ให้เป็นคนมีคุณภาพมากขึ้นว่าควรจะชั่งน้ำหนักสิ่งต่างๆ จากอะไร แต่แน่นอนว่าไม่ใช่จากความเพ้อเจ้อแบบคนรุ่นก่อนอย่างการซื้อกระเป๋าใบละเป็นแสนเพราะมันมียี่ห้อติดอยู่ เพชรหรือทองเองก็อาจเสื่อมความนิยมในคนรุ่นใหม่จนราคาของสิ่งเหล่านี้ก็จะลดลงไป หรือเรื่องน้ำมันขาดแคลนก็คงไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปเพราะมีพลังงานทดแทนอื่นๆ แต่ปัญหาที่มันยังอยู่คือการต่อสู้กับ climate change ซึ่งเราคิดว่าน่าจะใช้เวลาอีกนาน แต่เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงชั่วคราวหรือมันจะ change forever เลย ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นก็คาดว่าประเทศไทยอาจกลายเป็นทะเลทราย แต่ก็ไม่แน่อีกว่าแอฟริกาอาจเขียวขึ้นก็ได้ ตอนนั้นก็คงจะมีการโยกย้ายครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีก มันน่าสนใจนะแต่เราก็คงอยู่ไม่ทันเห็นแหละ (หัวเราะ)
ฮิปสเตอร์ไม่ได้แต่งแบรนด์เลย เพราะว่ากูไม่มีปัญญาไง เราคิดว่าแบรนด์เนมเป็นเรื่องของคนรุ่นเราที่ซื้อกระเป๋าใบละเป็นหมื่นๆ ประสาท
The MATTER : มันคือพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ?
วีรพร : ใช่ แต่มันมีช่วงหนึ่งตรงนี้เองที่คนแก่ดันมีจำนวนประชากรสูงกว่าเด็ก ซึ่งน่าอึดอัดมาก มันจะเป็นการต่อสู้ทางความคิดระหว่างเจเนอเรชั่นโดยแท้ อย่างกรณี brexit เนี่ยสำหรับเด็กๆ มันไม่มี brexit อยู่แล้วเพราะมันเป็นประชากรโลกไปแล้วเด็กๆ เขาไม่ได้มีความคิดแบบอะนาล็อกนะ ซึ่งเราคิดว่าปัญหามันเกิดการปะทะกันระหว่างความคิดแบบอะนาล็อกกับดิจิทัลนี่แหละ ดิจิทัลคือคุณ operate the whole thing ไปพร้อมกัน ขับเคลื่อนไปทั้งองคาพยพ แต่อะนาล็อกคือคุณต้องอย่างนี้นะ คุณไปหาไอ้นี่นะ แล้วคุณไปหมุนไอ้นี่นะ จากนั้นก็ค่อยๆ สร้าง system ขึ้นมา ซึ่งด้วยระบบคิดแบบนี้มันเลยเกิด brexit ขึ้นไง เราก็แค่ต้องเอาฟันเฟืองนี้ออกไปเพื่อจะขับเคลื่อนทุกสิ่งไปพร้อมๆ กัน
The MATTER : รวมถึงประเทศไทยเองก็ยังติดอยู่กับความคิดอะนาล็อกแบบนี้?
วีรพร : เดี๋ยวมันก็ตาย (หัวเราะ) อย่างที่ทรัมป์ได้ก็เป็นอะนาล็อก แล้วไอ้ที่ว่าจะตั้งกำแพงตรงเม็กซิโกน่ะนั่นก็อะนาล็อกจะตายแล้ว ซึ่งถ้าเป็นดิจิทัลมันคือการเชิญเขาเข้าประเทศมาเลย ถ่ายเทกันให้สบาย อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้หรืองานไม่พอเดี๋ยวมันก็ออกไปเอง หรือไม่ก็เป็นกูเองที่ออกไป มันมีอยู่แค่สองระบบนี่แหละ แต่โลกน่ะถูก operate โดยดิจิทัลไปตั้งนานแล้ว
ปัญหาคือเรายังมีผู้ใหญ่ที่อายุ 60-70 ซึ่งอะนาล็อกเต็มขั้น แล้วพวกเขาก็ไม่มีทางจะเห็นโลกแบบเดียวกับที่พวกคุณเห็นนะ พวกเขายังเห็นทุกอย่างภายใต้พรมแดน ภายใต้ระบบของเรา แต่เราว่าอีกสักสิบปีระบบแบบนี้ก็น่าจะหายไปแล้วเพราะมันไปต่อไม่ได้ มันไม่ compatible เราพูดถึง compatibility ของสิ่งต่างๆ ที่มันอยู่ด้วยกัน ทีนี้ระบบดิจิทัลมันไม่เอื้อต่ออะไรก็ตามแต่ที่มันไม่ compatible เช่นโปรแกรมที่อายุเกินสามปีก็เก่า ดังนั้นคุณจะคาดการณ์ได้เลยว่าหลังจากนี้ต่อไปถ้าอะไรที่ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนโลกนี้ได้มันจะต้องเจ๊งเพราะมันไม่มีที่ว่างอีกแล้ว ระบบของโลกมันจะไม่เอื้อเฟื้อต่อคุณอีกต่อไป ซึ่งเราก็แค่กำลังอยู่ตรงกลางในช่วงเวลาที่ยังมีโปรแกรมตกรุ่นอยู่นี่แหละ
The MATTER : คุณดูเป็นคนที่สามารถอธิบายโลกและชีวิตได้อย่างน่าสนใจ เคยมองว่าตัวเองเป็นนักให้คำแนะนำอะไรแบบนี้ไหม
วีรพร : เรื่องเน่าเราก็เยอะแต่ไม่เล่า (หัวเราะ) ไม่นะเราคิดว่าชีวิตเป็นเรื่องของปัจเจก และเราก็ชังอะไรแบบนั้นพอสมควร ช่วงแรกๆ ที่มีคนเรียกเราไปช่วยอบรมนักเขียนใหม่เราไม่ไปนะ เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นเส้นทางเฉพาะตัวของแต่ละคน แต่หลังๆ เราก็เริ่มรับบ้างแล้วนะ เพราะเราพบว่าการที่ได้ไปเล่าเรื่องเส้นทางเฉพาะตัวว่าเป็นมายังไงมันช่วยให้พวกเขาแสวงหาเส้นทางเฉพาะตัวได้ การไม่เล่าเลยต่างหากจะยิ่งทำให้พวกเขาคิดว่ามันมีสูตรสำเร็จที่วีรพรกั๊กเอาไว้ ซึ่งมันไม่มีไง
ซึ่งเราก็พบว่าเรามีระบบการเรียนรู้และรูปแบบชีวิตที่ชัดเจนอยู่ แต่แล้วคุณก็ต้องคิดว่าคนรุ่นใหม่ไม่เป็นโล้เป็นพายแบบนี้แต่ที่มันไม่เป็นโล้เป็นพายก็เพราะว่ามันไม่ต้องเป็นไง คนรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็นเพราะคุณมีเสรีภาพที่น่าทึ่ง จะไปไหนก็ได้ถ้าคุณไม่มีบ้านหรือคอนโดฯ ก็แค่เช่าเขาอยู่ไป ใครวะสอนว่าคุณต้องมีบ้านเป็นของตัวเอง เช่าเขาเดือนละสามพันไปเรื่อยๆ มันคุ้มกว่ามาก ย้ายที่ไปได้เรื่อยๆ มีเงินเยอะหน่อยก็ไปขยับเช่าห้อง 5,000 พอไม่มีเงินก็กลับมาเช่าห้อง 3,000 ในขณะที่คุณจะต้องจ่ายค่าบ้านเดือนละเป็นหมื่นๆ ไปเรื่อยๆ ที่พอถึงเวลานึงขายไปก็อาจได้ตังค์ใช้ตอนแก่แหละ แต่ถ้าชั่งน้ำหนักเทียบกันระหว่างราคาขายกับดอกเบี้ยเราก็ไม่แน่ใจนะ ก็อาจจะกำไรมั้ง แต่ถ้าเทียบกันแล้วคุณก็อาจไม่ได้ไปเที่ยวไหนอย่างใครเขา ไม่ได้ขี่จักรยานหรืออยู่กับคนที่คุณรัก และจะได้แต่งงานแค่กับผู้หญิงที่พร้อมจะแต่งด้วยถ้าคุณมีบ้าน
เราคิดว่าตัวเลือกของคนรุ่นใหม่มันไม่จำกัดอีกต่อไปแล้ว และพวกคุณก็สามารถเลือกที่จะเป็นแอนตี้ฮีโร่แบบโลแกนในเอ็กซ์เมนได้ คุณสามารถจะเป็นคน fucked up ได้ว่ะ เป็นคนไม่ได้เรื่องได้ว่ะ นี่คือทิศทางของคนรุ่นใหม่ ในขณะที่ทิศทางของคนรุ่นเราคือมึงจะต้องได้เรื่องว่ะ ต้องมีความฝัน มีความหวัง และประสบความสำเร็จในชีวิตว่ะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันก็วัดโดยใครก็ไม่รู้ โดยไม่เคยวัดกับชีวิตคุณเองเลย ทั้งที่จริงๆ การประสบความสำเร็จในชีวิตคุณอาจเป็นแค่การได้ไปเนปาลสักครั้ง ได้เดินท่อมๆ ในโลกที่ไม่ใครรู้จักคุณเลย แต่คุณกลับไม่ได้ทำมัน
คนรุ่นใหม่ไม่เป็นโล้เป็นพาย แต่ที่มันไม่เป็นโล้เป็นพายก็เพราะว่ามันไม่ต้องเป็นไง คนรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็นเพราะคุณมีเสรีภาพที่น่าทึ่ง
The MATTER : ดังนั้นการมีชีวิตที่ fucked up ของคนรุ่นใหม่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดหรือต้องรู้สึกแย่อะไร
วีรพร : เรายืนยันอย่างนั้นนะ ในชีวิตเรามีสิ่งหนึ่งที่เราเสียใจมากๆ คือเวลาที่ได้ยินเรื่องของเด็กผู้หญิงท้องแต่ถูกให้เอาออก ผัวมีเมียน้อยเมียเลยฆ่าตัวตาย หรือเด็กติดยาแล้วถูกไล่ออกจากบ้าน เราจะรู้สึกว่าเฮ้ยเดี๋ยวๆ เรื่องพวกนี้มันไม่ใช่ความล้มเหลวของตัวบุคคลนะ แต่เป็นความล้มเหลวของสังคมต่างหากที่ไม่สามารถเกื้อกูลคนอื่นได้เลย มันไม่ช่วยให้ผู้หญิงคนหนึ่งได้เป็นแม่ ไม่ช่วยให้คนติดยาเลิกยา ไม่ช่วยให้คนได้มีชีวิตอยู่อย่างปกติสุข เราว่าคนเราแบกสังคมอยู่เยอะเกินไป ซึ่งเราก็มักจะบอกคนรุ่นใหม่อยู่เสมอนะเวลาที่ถูกถามเรื่องพวกนี้ว่าชีวิตมันไม่พังหรอกว่ะ แต่เป็นเขาต่างหากที่บอกคุณว่าชีวิตคุณจะพังแล้วคุณก็เริ่มต้นอะไรไม่ได้เลย
The MATTER : เป็นเพราะเราแคร์เสียงของคนอื่นมากเกินไปด้วยไหม
วีรพร : ไม่ใช่แค่แคร์นะ แต่ถูกควบคุมด้วยเสียงของอื่นด้วยซ้ำ สมมติว่าผู้หญิงคนหนึ่งถูกข่มขืน เรื่องมันเลวร้ายอยู่แล้ว แต่คุณไปบอกว่าชีวิตเขาพังแล้วเขาก็ฆ่าตัวตายมันก็เท่านั้น เรื่องมันแย่อยู่แล้วไง แล้วแทนที่จะบอกว่าไม่เป็นไร ซึ่งมันก็เป็นเรื่องยากนะที่จะบอกเด็กผู้หญิงสักคนว่าไม่เป็นไรหรอกถึงจะโดนข่มขืนแต่คุณยังอยู่ครบ 32 อยู่เลย ก็แค่ไปเรียนหนังสือ หาใครสักคนที่รักคุณแล้วก็เริ่มต้นชีวิตใหม่ คือมันเป็นเรื่องยากสำหรับเขาอยู่แล้วนะ อย่างถ้าผู้หญิงคนหนึ่งท้องขึ้นมาในวัยเรียนแล้วคุณไปบอกว่าชีวิตเขาพัง แน่ล่ะว่ามันก็ต้องพังสิ
เดี๋ยวๆ เรื่องพวกนี้มันไม่ใช่ความล้มเหลวของตัวบุคคลนะ แต่เป็นความล้มเหลวของสังคมต่างหากที่ไม่สามารถเกื้อกูลคนอื่นได้เลย
The MATTER : คุณคิดว่าการจะอยู่ในสังคมแบบนี้ให้รอดจำเป็นต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งขนาดไหน
วีรพร : มันไม่ใช่เรื่องของคุณไง มันเป็นเรื่องของสังคมต่างหาก เป็นเรื่องของหน่วยงานต่างๆ ต่างหาก ว่าตอนนี้กำลังทำอะไรกันอยู่ สมัยที่เราเรียนมหาลัยอยู่ที่เมลเบิร์นข้างหน้าห้องเรียนจะมีห้องเลี้ยงเด็กอยู่ แม่เด็กเขาก็แค่เข็นลูกเข้าไปฝากไว้ พอเรียนจบก็พาลูกกลับบ้าน นี่แหละมันคือสิทธิ์ของการได้เป็นแม่ สิทธิ์ของการให้คนอื่นได้มีชีวิตของเขา แต่ที่นี่ยังบอกให้เอาเด็กออกเพราะเดี๋ยวจะเป็นเยี่ยงอย่างกันอยู่เลย แล้วคุณไม่คิดเหรอว่าแม่คนหนึ่งซึ่งคงจะไม่ฉลาดพอเพราะไม่แม้แต่จะคุมกำเนิดด้วยซ้ำ พอมีลูกสักคนขึ้นมาเด็กก็คงจะไม่ได้เรียนหนังสือ ส่วนไอ้พ่อนี่ไม่ต้องห่วงหรอกหายอยู่แล้ว คุณว่าพวกเขาจะเอาชีวิตรอดได้ยังไง ไม่นับเรื่องโอกาสที่จะเข้าถึงชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งแน่นอนว่ามันก็น้อยลงเข้าไปอีกทั้งๆ ที่เขาก็แค่เป็นแม่คนหนึ่ง นี่คือโทษของการกอดรัดฟัดเหวี่ยงงั้นเหรอ โทษของการอยากมีความรักงั้นเหรอ บทลงโทษของสังคมเราทุเรศมาก มันหนักมากนะ หรือในแง่อื่นๆ อย่างพวกป้ายที่เขียนว่าติดยาเสียอนาคต ถ้าเขาติดขึ้นมาคุณก็พาเขาไปเลิกสิมันเป็นส่วนที่รัฐต้องทำ
The MATTER : ซึ่งวาทกรรมเหล่านี้ก็ยังถูกผลิตซ้ำเรื่อยๆ
วีรพร : ใช่แล้ว มันไม่ช่วยอะไรนอกจากทำให้พวกผู้คุมหน่วยงานต่างๆ จะได้หน้าได้ตาแค่นั้นเอง ได้รู้สึกว่าฉันเป็นคนดีมีคุณธรรม แต่จริงๆ แล้วมันอำมหิตมากเลยนะ แค่ถามคำเดียวว่าถ้าเป็นลูกมึงล่ะ คำถามเดียวแค่นั้นคุณจะรู้ว่าอำมหิตแค่ไหน แต่มันก็จะตอบอีกว่าไม่หรอกลูกฉันเลี้ยงมาดีอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งถ้าเป็นลูกคนมีเงินแล้วเกิดท้องในวัยเรียน เขาก็แค่พาไปเอาเด็กออกแล้วส่งไปเรียนเมืองนอกก็จบ ง่ายๆ แต่ถ้าคุณเป็นลูก คุณไม่มีเงินล่ะ แต่คุณอยากจะเรียนหนังสือต่อคุณก็ต้องไปหาหมอเถื่อนเพื่อรีดลูกออก คุณไม่ได้รับโอกาสในการเป็นแม่ด้วยซ้ำ ทำไมเป็นงี้วะ เราอยู่ในสังคมที่คุณธรรมเป็นเรื่องอำมหิต
หรืออย่างเรื่องการไม่ขายถุงยางในห้องน้ำเด็กนี่ก็เป็นปัญหาที่พูดมาเป็นยี่สิบปีได้แล้วมั้ง จำได้ว่าตอนลูกเราอยู่ป.6 เขาเคยมาถามว่าเราควรจะมีถุงยางขายในห้องน้ำไหม เราก็เลยถามกลับว่าแล้วลูกคิดว่าไง เขาก็บอกว่าควรมี เราก็บอกไปว่าเห็นด้วยว่าควรมี แต่สุดท้ายทางโรงเรียนก็ปัดเรื่องนี้ทิ้งไปเพราะบอกว่ามันเป็นการชี้โพรงให้กระรอก ส่งเสริมเด็กมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เราก็บอกว่าแล้วกับเด็กที่เป็นเอดส์ตายนี่ไม่นับเหรอ มันอำมหิตนะ มันอำมหิตที่หน่วยงานพวกนี้สนใจแต่หน้าตาและความมีคุณธรรมของตัวเองมากกว่าตัวเลขการตายและการแพร่ระบาดของโรค มันอำมหิตที่สังคมนี้ปล่อยให้ผู้หญิงกับลูกเลี้ยงดูกันเองโดยไม่มีการศึกษา อย่าว่าแต่การศึกษาเลย อย่างเรื่องเงินช่วยเหลือรัฐก็ต้องให้กับพวกเขาด้วยซ้ำ การที่พยายามจะบอกว่าตัวเองเป็นสังคมดีมีคุณธรรมแล้วปฏิเสธว่าประเทศนี้ขายเซ็กซ์เป็นหลัก สังคมเรามันมีเรื่องมือถือสากปากถือศีลเยอะมาก
นี่คือโทษของการกอดรัดฟัดเหวี่ยงงั้นเหรอ โทษของการอยากมีความรักงั้นเหรอ บทลงโทษของสังคมเราทุเรศมาก
The MATTER : ณ จุดนี้คุณสิ้นหวังกับประเทศไทยหรือยัง
วีรพร : แน่นอน (หัวเราะ) เราสิ้นหวังกับมันมานานแล้ว เรารู้สึกว่ามันเป็นสังคมที่ตรรกะพังพินาศและไม่สนใจแก่นสารเท่ากับเปลือก ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ โครงการอะไรก็แล้วแต่ รัฐบาลสมัยไหนก็แล้วแต่ มันเป็นแค่เรื่องของเปลือก ไม่ใช่เรื่องของแก่นสาร คือถ้ามันเป็นเรื่องของแก่นสารคุณจะตัดสินใจให้มีถุงยางในห้องน้ำไปตั้งนานแล้ว นั่นเพราะมันมีคนตายไง มันมีเด็กที่ติดโรคเอดส์จากความรักครั้งแรกของพวกเขา ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่เรื่องที่ควรจะยอมรับกันได้เลย แต่สังคมเรากลับยอมรับเรื่องนี้ได้มากกว่าเรื่องที่เด็กมีความสัมพันธ์ทางเพศในวัยเรียน ประเทศนี้มีอัตราวัยรุ่นที่ติดเอชไอวีสูงสุดในเอเชียแต่กลับไม่มีใครทำอะไรกับมันเลย เพราะคอยแต่จะกังวลอยู่กับเรื่องชี้โพรงให้กระรอกนี่แหละ กระรอกน่ะมันรู้ว่าโพรงอยู่ที่ไหน แต่คุณก็ยังทำเป็นว่ามันไม่รู้ หรือถ้าเด็กมันจะซื้อถุงยางคุณก็บอกให้ไปซื้อที่เซเว่นฯ จะบ้าเหรอเด็กสิบห้าให้ไปซื้อถุงยางเซเว่นมันอายตายห่า เราจะปกป้องเด็กให้สะอาดผุดผ่องกันไปเพื่ออะไร เพื่อให้เป็นเอดส์ตายงั้นเหรอ ประสาท บ้า ประเทศคนบ้า