อย่าทำตัวเด่น จะเป็นภัย
เก่งจริงเหรอ แค่โชคดีหรือเปล่า
ตอนเด็กๆ เก่งมาก ทำไมโตมาแล้วไม่ได้พิเศษอะไรเลยล่ะ
ไม่ว่าจะเป็นคำพูดจากสังคมภายนอกหรือเกิดจากความสงสัยภายในตัวเอง แต่ถ้อยคำเหล่านี้อาจฝังรากลึกลงไปในใจจนค่อยๆ ก่อตัวเป็นความกลัวประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ‘การกลัวความสำเร็จ’ (Fear of Success)
ถ้าตั้งใจลงมือทำอะไรสักอย่าง ใครกันจะอยากก้าวพลาด ใครกันจะอยากให้ผลลัพธ์ที่ออกมาคือความล้มเหลว การไขว่คว้าหาความสำเร็จเป็นเรื่องสมเหตุสมผลมากกว่า ทว่าบนโลกอันไม่แน่นอนใบนี้ กลับมีสิ่งที่ฟังดูย้อนแย้งอย่าง ‘การกลัวความสำเร็จ’ อยู่ โดยบางครั้งเราก็อาจรู้ตัว หรือความกลัวนี้อาจซ่อนอยู่อย่างเงียบเชียบภายในใจเราก็เป็นได้
การกลัวความสำเร็จ คืออะไร?
การกลัวความสำเร็จ หรือ Fear of Success ไม่ใช่ความกลัวที่เกิดจากตัว ‘ความสำเร็จ’ โดยตรง แต่เกิดจากความกลัว ‘ผลลัพธ์’ ทางลบ หรือเรื่องแย่ๆ ที่อาจจะมาคู่กับความสำเร็จ เราจึงผูกโยงความสำเร็จไว้กับภาพอันแสนเจ็บปวดจนรู้สึกไม่อยากไขว่คว้ามันอีกต่อไป
ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุด้วยกัน บางครั้งอาจเกิดจากความไม่มั่นคงภายในใจ (insecure) เช่น ความรู้สึกว่างเปล่า เพราะเมื่อสำเร็จแล้วไม่มีอะไรให้ไขว่คว้า หรืออาจจะเป็นเพราะ ‘Imposter Syndrome’ ที่ทำให้คิดว่าเราไม่เก่ง ไม่สมควรจะได้รับสิ่งนี้ เลยกดดันว่าครั้งต่อไปจะไม่สามารถทำให้สำเร็จได้อีก หรือกลัวว่าถ้ามีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้นมา แล้วจะไม่สามารถแบกรับได้ไหว
ใน งานวิจัย ที่ใช้ Fear of Success Scale วัดความกลัวความสำเร็จพบว่า คนที่ได้คะแนนความกลัวประเภทนี้สูงๆ มักจะระบุสาเหตุว่าความสำเร็จมาจากปัจจัยภายนอก (external factors) บ่อยๆ เช่น โชคช่วย จังหวะเหมาะเจาะ โอกาสดี มีคนนั้นคนนี้คอยช่วยเหลือ ซึ่งจะต่างจากความถ่อมตัว เพราะเป็นความรู้สึกถึงขั้น ‘ด้อยค่า’ ความสามารถของตัวเอง ไม่เชื่อว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากความพยายามของตัวเอง
นอกจากนี้ การกลัวความสำเร็จอาจจะเกิดพร้อมๆ กับอาการบางอย่าง เช่น โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์รุนแรง (PTSD) โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder: GAD) เพราะความสำเร็จมักมาพร้อมกับการอยู่ท่ามกลางสปอตไลต์ที่มีสายตาของผู้คนจับจ้องมากกว่าปกติ เลยทำให้คนที่มีอาการเหล่านี้รู้สึกวิตกกังวลมากขึ้นและพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ดังกล่าว
แต่นอกจากปัจจัยภายในแล้ว อีกสาเหตุสำคัญคือ ‘ปัจจัยทางสังคม’ ที่กดดันให้ความสำเร็จเป็นเรื่องน่ากลัว เริ่มมาตั้งแต่ประสบการณ์ในวัยเด็ก บางคนอาจมีเรื่องฝังใจ เช่น ทำอะไรสำเร็จแล้วถูกต่อว่า ไม่ได้รับการยอมรับ หรืออาจจะเห็นภาพตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จแล้วต้อง ‘แลก’ มาด้วยอะไรบางอย่างที่เจ็บปวด หรือแลกกับสิ่งที่เราไม่อยากสูญเสียไป บ้างก็อาจจะอยู่ท่ามกลางสภาพสังคมที่ ‘กดดัน’ ให้เราทำอะไรเหมือนๆ กัน ไม่โดดเด่นกว่าคนอื่นๆ ถ้าเล่าให้เห็นภาพคงจะเป็นค่านิยมอย่าง ‘อย่าทำตัวเด่น จะเป็นภัย’ ‘อย่าเก่งเกินหน้าเกินตา’ หรือบางสังคมไม่ยอมรับความสำเร็จของผู้หญิง (นักวิจัยเรียกว่ากลัวแบบนี้ว่า backlash avoidance)
ดังนั้นสังคมที่กีดกันให้ความสำเร็จมีไว้สำหรับ ‘คนบางกลุ่ม’ จึงกดดันให้เรารู้สึกว่า ถ้าทำอะไรได้ดีแล้วจะเกินหน้าเกินตาคนนั้น หรือทำให้คนนี้ไม่พอใจ มิหนำซ้ำอาจตามมาด้วยบทลงโทษทางสังคมบางอย่าง เราเลยต้องหาวิธี ‘อยู่ให้เป็น’ ด้วยการเป็นคนธรรมดาๆ แม้ว่าจะอยากก้าวไปข้างหน้าแค่ไหนก็ตาม
การกลัวความสำเร็จเลยเป็นเหมือนกำแพงที่ขวางไม่ให้เราได้ในสิ่งที่อยากทำ เดินบนเส้นทางที่อยากจะไป ราวกับถูกจำกัดอิสรภาพ ผลลัพธ์ที่ตามมาเลยการทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ล้มเลิกอะไรบางอย่างไปกลางคัน ปล่อยโอกาสที่เราสมควรจะได้รับ ขาดแรงจูงใจที่จะทำสิ่งใหม่ๆ จนความมั่นใจเริ่มถูกกัดกร่อน ตามมาด้วยปัญหาสุขภาพใจที่บั่นทอนการใช้ชีวิต
สังเกตตัวเองและก้าวข้ามอย่างไร?
ฟังดูแล้วผลลัพธ์ของการกลัวความสำเร็จมีความคล้ายคลึงกับการกลัวความล้มเหลวอยู่ไม่น้อย ดังนั้นเราอาจจะต้องย้อนกลับมาสังเกตอีกทีว่า ความกลัวของเรามีสาเหตุมาจากอะไร ซึ่งสัญญาณเบื้องต้นที่บ่งบอกว่าเรากำลังกลัวความสำเร็จ คือการ ‘เชื่อมโยง’ ความสำเร็จกับผลลัพธ์เชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกแปลกแยก ไม่ได้รับการยอมรับ การเป็นจุดสนใจและถูกจับจ้อง ถูกนินทา กังวลว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงและซับซ้อนจนรับมือไม่ไหว กลัวความรับผิดชอบใหม่ๆ ที่เกิดจากความสำเร็จของตัวเอง
การรับรู้ว่า ‘เรากำลังกลัวอะไรกันแน่’ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราค่อยๆ ปรับความคิดของตัวเองได้ เพราะขั้นตอนแรกของการก้าวข้ามคือ ‘การยอมรับ’ ว่าความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นกับเราจริงๆ และเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เพราะเราเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์ความรู้สึกทั้งทางบวกและทางลบ
ขั้นต่อมาคือการลองนึกภาพความสำเร็จคู่กับผลลัพธ์ในรูปแบบอื่นๆ บ้าง โดยในเว็บไซต์ healthline แนะนำว่า ถ้าอยากโฟกัสได้ดียิ่งขึ้น เราอาจจะลองเขียนออกมาเป็นข้อๆ โดยเขียนทั้ง ‘ผลลัพธ์ที่ดี’ เพื่อให้รู้ว่าความสำเร็จนั้นมีความหมายยังไงกับเราบ้าง และเขียนถึง ‘ผลเสีย’ ของความสำเร็จพร้อม ‘วิธีการรับมือ’ กับผลเสียเหล่านั้น เหมือนกับสร้างแผนสำรองไว้ในใจเพื่อให้เรารู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่า เราจะสามารถรับมือได้ ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นแบบไหนก็ตาม
แต่จริงๆ แล้วจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะเราต่างมีคุณค่าในตัวเองไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ดังนั้นแก่นสำคัญของเรื่องนี้ คงเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เราได้ลองผิดลองถูก ไม่ต้องกังวลว่าจะล้มเหลว ไม่ต้องกลัวผลลัพธ์ที่ตามมาหลังจากคว้าความสำเร็จ โดยพื้นที่นั้นควรจะมีทั้งภายในใจไปจนถึงผู้คนและสังคมรอบตัวเรา
แต่ถ้าวันนี้ โลกยังไม่ใจดีกับเราเท่าไร อย่างน้อยๆ ก็หวังว่าภายในใจ เราได้สร้างพื้นที่ปลอดภัยและใจดีกับตัวเองในทุกๆ ก้าวนะ
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Manita Boonyong
Proofreader: Runchana Siripraphasuk