เครียด งานหนัก อกหัก บ้านจน ในจุดที่คนเรามองหาที่พึ่งทางใจหรือไกด์สักคนในการใช้ชีวิต ‘ไลฟ์โค้ช’ จึงเปรียบเสมือนแสงสว่างที่นำทางไปสู่ความสำเร็จ แต่ความสำเร็จที่ว่ามักถูกวิพากษ์และตั้งคำถามอย่างกว้างขวางว่า ไลฟ์โค้ชจะทำให้เราประสบความสำเร็จได้จริงหรือ? แล้วจำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องพึ่งพาไลฟ์โค้ช?
เมื่อเดินเข้าไปในร้านหนังสือ บนชั้น best seller หรือ recommended มักจะประกอบไปด้วยหนังสือ ‘how to’ หรือหนังสือ ‘เคล็ดลับพัฒนาตนเอง’ อย่างต่ำ 2-3 เล่ม เส้นทางสู่ความสำเร็จเหล่านี้มักถูกกลั่นกรองและตีพิมพ์ออกมาจากความคิดและประสบการณ์ของผู้ที่หลายคนเรียกว่า ‘ไลฟ์โค้ช’ คนที่ต้องการปลุกแรงบันดาลใจและสร้างพลังให้กับผู้คน ผ่านการใช้คำพูดเชิงบวกและการหยิบยื่นแนวทางความสำเร็จที่พวกเขาได้รวบรวมเอาไว้ให้แบบเสร็จสรรพ
The MATTER ได้เชิญอาจารย์ธีรภัทร รื่นศิริ อาจารย์วิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มานั่งพูดคุยถึงที่ไปที่มาของปรากฏการณ์ไลฟ์โค้ช หลักการโน้มน้าวใจของพวกเขา และทิศทางในอนาคตของอาชีพนี้
ในมุมมองด้านปรัชญาเข้าใจอาชีพ ‘ไลฟ์โค้ช’ ว่าอย่างไร?
ผมนิยามอย่างนี้นะ ไลฟ์โค้ชก็คือคนที่พยายามโน้มน้าวให้คนอื่นมีมุมมองหรือพฤติกรรมแบบเดียวกับตนเอง โดยอ้างว่ามันจะนำไปสู่ชีวิตที่ดี คือมันมีความเข้าใจแบบอื่นๆ อีกเยอะเลย บางคนอาจจะมองว่าไลฟ์โค้ชเป็นภัยสังคม เพราะให้ความเข้าใจชีวิตที่บิดเบี้ยว หรือผลักให้ไปเป็นเรื่องส่วนตัว ว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวเป็นเรื่องของตัวคุณเอง รัฐไม่ควรเข้าไปแทรกแซง สังคมไม่ต้องเข้าไปแทรกแซง ในขณะที่สุดขั้วอีกพวกหนึ่งมองว่าไลฟ์โค้ชคือคนที่มอบชีวิตให้กับเขา เป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตที่ดีให้กับเขา ซึ่งนิยามของผม ผมอยากจะเปิดพื้นที่ให้ไลฟ์โค้ชมีได้หลายประเภท ไม่โดนตัดสินไปก่อน เหมือนเราอยากจะศึกษาว่าชาที่มาทำชานมไข่มุกเป็นชาที่ดีมั้ย เราก็จะต้องบอกก่อนว่า สิ่งที่ผลิตจากพืชตระกูลนี้คือชา แล้วค่อยมาดูคุณภาพของมันทีหลัง ไม่ใช่บอกว่ามันเป็นของไม่ดีเลยเอามาใส่นมกับไข่มุกไง
คิดว่าปัจจัยอะไรในสังคมที่ทำให้เกิดอาชีพไลฟ์โค้ชขึ้นมา?
คือผมคิดว่าจริงๆ แล้วการเกิดขึ้นของไลฟ์โค้ชเนี่ยมันง่ายมากเลย มีเงื่อนไขแค่สองข้อเอง หนึ่ง คนเราต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น และสอง เชื่อมั่นว่าคนเราสามารถพัฒนาชีวิตไปมากกว่านี้ได้ อ้าว ถ้าแค่นั้นคนเราก็เชื่อกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วไม่ใช่หรอ? ก็ใช่ จริงๆ ไลฟ์โค้ชมันเป็นของเก่ามากเลยนะ พวกงานวรรณศิลป์ คู่มือ หนังสือปรัชญา ความเชื่อทางปรัชญา ทั้งหลายล้วนเป็นไลฟ์โค้ช
ก่อนที่จะมีคำว่าไลฟ์โค้ช มันจะมีคำว่า ‘เซลฟ์เฮลพ์’ (self-help) อาจจะเคยได้ยิน จริงๆ คำว่าเซลฟ์เฮลพ์เป็นชื่อหนังสือตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ย้อนไปก่อนหน้านั้นอีก ในยุคหลายร้อยปีก่อนมันก็มีหนังสือคู่มือเลี้ยงเด็ก ปรัชญาการเลี้ยงเด็กอย่าง ‘เอมิล’ (Emile, or On Education) คุณอาจจะเคยได้ยิน มันเป็นหนังสือที่เขียนว่าถ้าคุณอยากจะเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กดีและประสบความสำเร็จ คุณต้องเลี้ยงลูกยังไง เหมือนหนังสือ how to ในสมัยนี้
แล้วอะไรที่ทำให้หลายคนผันตัวเองมาเป็นไลฟ์โค้ช?
ผมคิดว่าจริงๆ มันก็คือ demand กับ supply ง่ายๆ มันมี demand ของทางตลาดใช่มั้ยครับว่า “ฉันอยากจะได้คนมาให้คำแนะนำฉัน” แต่ทำไมมันไม่มี supply ผมจะพูดในเรื่องที่ดูเหมือนนอกเรื่องมากๆ แต่จริงๆ อยู่ในเรื่อง คุณรู้มั้ยว่าทำไมถึงมีหอพักอยู่ในมหาวิทยาลัย? ทำไมไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องของเมืองจัดการ ก็เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาต้องพักกับนักศึกษา เมื่อก่อนเขาเชื่อกันว่าคุณจะจบมหาวิทยาลัยได้ คุณจะต้องพักอยู่กับอาจารย์ที่ปรึกษาของคุณอยู่เป็นปีๆ ให้อาจารย์แนะนำ เป็นตัวอย่างที่ดี ไกด์ทั้งเรื่องส่วนตัว การเรียน ปัญหาความรักอะไรพวกนั้น เวลาที่ใครเขาด่าว่าไม่มีการศึกษา จริงๆ เขาด่าถึงอาจารย์ว่า “เฮ้ย ปล่อยให้ลูกศิษย์ทำตัวแบบนี้ได้ไง”
แต่ต่อมา มันมีการแข่งขันกันสูงในสถาบัน ในระดับชาติ การที่คุณจะพัฒนาอาจารย์ให้เป็นคนที่รู้หลายๆ เรื่องแล้วให้คำแนะนำเด็กเนี่ย มันสู้ชาวบ้านเขาไม่ได้ ถ้าเราแข่งขันในสถาบัน วิธีการที่เวิร์กกว่าคืออะไร คือการให้แต่ละคนเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งนี่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ พอเราพยายามที่จะทำให้ทุกคนเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น คุณเป็นนักคณิตศาสตร์ คุณรู้เรื่องคณิตศาสตร์ดีมากๆ เลย แต่คุณอาจจะไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์ แล้วใครล่ะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชีวิต? มันไม่มีใครกล้าอ้างว่า ฉันน่ะชำนาญเรื่องชีวิตมากกว่าคนอื่น แม้แต่สาขาที่ใกล้เคียงมากอย่างปรัชญาหรือจิตวิทยายังไม่กล้าอ้างเลย อย่างจิตวิทยาเขาอ้างว่าเขาเชี่ยวชาญด้านความคิด แต่ความคิดมันก็ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตใช่มั้ย หรือปรัชญาก็จะบอกว่า เราเชี่ยวชาญด้านการรวบยอดความคิด เรื่องคอนเซปต์ แต่ต่อให้เป็นคอนเซปต์ใหญ่แค่ไหน ความรักหรือครอบครัวอะไรพวกนี้ มันก็ไม่ใช่ชีวิตทั้งชีวิต
มันจึงไม่มีใครกล้าอ้างว่าฉันคือผู้เชี่ยวชาญชีวิต
ถ้างั้นทำยังไงดีล่ะ? อุดมคติคือแต่ละคนต้องพยายามเชี่ยวชาญในเรื่องของตัวเอง แล้วก็ให้แต่ละคนมาพยายามปะติดปะต่อในเรื่องที่ผู้ชำนาญการเขาค้นคว้ามาเข้าด้วยกัน แต่มันไม่มีคนทำ ไลฟ์โค้ชเอาจริงๆ ก็มักจะรู้แค่อะไรแคบๆ อย่างเช่น จบจิตวิทยาการปรึกษามา เขาก็จะเป็นผู้ชำนาญการด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต แต่คนเราไม่ได้มีแค่เรื่องจิต มันมีเรื่องอื่นในชีวิตด้วย ต่อให้สุขภาพจิตคุณแข็งแรงยังไง แต่คุณล้มเหลวทางการเงิน คุณก็รู้สึกว่าไม่ถูกต้อง มันใช้ไม่ได้ ดังนั้นก็เลยมีแค่ไลฟ์โค้ชที่พยายามมาให้คำตอบที่เขาให้คำตอบกันมาตลอด ซึ่งก็คือพวกผู้รู้ในสังคม พวกครูอาจารย์ กับอีกอย่างหนึ่งในฐานะที่เป็นอาจารย์ การเป็นครูเนี่ยมันเติมเต็มชีวิตดีนะ คุณได้มีส่วนสำคัญในชีวิตของคนบางคน การตื่นมาแต่ละวันมันมากกว่าการที่แค่เอาชีวิตรอดไปวันๆ เพราะงั้นไลฟ์โค้ชมันจึงเมกเซนส์มากๆ เลยในเชิงว่ามันมี demand มากๆ แต่มันไม่มี supply และการที่ supply มันทำให้ชีวิตเรารู้สึกดีขึ้นด้วยก็คือ win-win ทั้งคู่
อาชีพไลฟ์โค้ชก็ดูเหมือนจะเป็นอาชีพที่เติมเต็มส่วนที่ขาดให้กับใครหลายคน แต่ทำไมบางคนถึงดูจะหมั่นไส้อาชีพนี้?
อย่างที่ผมบอกไป ในเมื่อมันเป็นยุคที่ไม่มีใครกล้าอ้างว่าชำนาญชีวิต แต่ไลฟ์โค้ชอ้างว่าตัวเองชำนาญชีวิต จึงไม่แปลกเลยว่าทำไมเราถึงรู้สึกหมั่นไส้เขา เพราะว่ากระทั่งคนที่เก่งมากๆ ในโลกนี้เนี่ย สมมติจบปริญญาเอกด้านปรัชญา มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ไปเป็นเจ้าแห่งการตลาดในวอลล์สตรีท มีสามีหน้าตาดี มีลูกน่ารัก ก็ยังไม่กล้าอ้างเลยว่าเขาชำนาญชีวิต บางทีเขาอาจจะทะเลาะกับพ่อแม่ทุกวันก็ได้ ในยุคแบบนี้การที่คุณพรีเซนต์ว่าฉันเข้าใจชีวิต ชีวิตของฉันมันสมบูรณ์แล้ว มันเลยน่าหมั่นไส้มาก
อะไรที่ทำให้ไลฟ์โค้ชหรือหนังสือพัฒนาตนเองยังคงอยู่ได้?
อย่างที่ผมเกริ่นไปข้างต้นแล้ว ข้อมูลมันเยอะมาก มันมีผู้ชำนาญการในโลกนี้ที่ค้นคว้าเรื่องที่เรานึกไม่ถึงเต็มไปหมดเลย แต่คนไม่รู้ว่าจะจัดการข้อมูลมหาศาลพวกนี้ยังไง…จริงมั้ย? แค่คุณจะเข้าไปนั่งอ่านมันก็ยากแล้ว อย่างเมื่อประมาณสามสี่ปีก่อน มีอาจารย์ท่านหนึ่งโพสต์ในเฟซบุ๊กว่าเขาเพิ่งไปเจอบรรณาธิการของหนังสือเล่มนึงของสำนักพิมพ์เคมบริดจ์ เป็นหนังสือของนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงเมื่อ 200 กว่าปีก่อน แล้วเขาก็บอกว่า มีงานชิ้นสำคัญที่คนศึกษาเรื่องนี้ควรอ่าน 1,000 กว่าชิ้น แค่เรื่องนักคิดคนนี้คนเดียวมีเรื่องที่คุณควรจะอ่าน 1,000 กว่าชิ้นแล้ว นี่ขนาดมันแค่สาขาที่แคบมากๆ สาขาเดียว คุณต้องอ่านทั้งหมดนี้ เป็นไปไม่ได้ หรือต่อให้คุณอ่าน ทุ่มเททั้งชีวิต อยากจะศึกษาหลายๆ สาขา ทำความเข้าใจเอามาประกอบกัน มันก็เอาไปประยุกต์ใช้กับชีวิตยากอยู่ดี เพราะชีวิตของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ไลฟ์โค้ชก็เลยจะเป็นพวกที่ช่วยจัดระเบียบในเรื่องพวกนี้ โดยการให้คำตอบที่ชัดเจน แต่อย่างที่ผมบอกไป เขาก็เป็นผู้ชำนาญการแคบๆ หลายครั้งการจัดระเบียบของเขาเลยเป็นการจัดระเบียบโดยอคติ แล้วเราจะได้คำตอบที่ดีจริงๆ เหรอ? สมมติให้คนเป็นหมอมาบอกว่าอะไรเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิต หมออาจจะบอกว่าเรื่องสุขภาพ แต่ถ้าให้คนเรียนด้านบริการธุรกิจก็อาจจะได้คำตอบว่าเงิน เพราะเงินซื้อสุขภาพได้ คำตอบต่างกัน มันถูกทั้งคู่แหละ แต่มันถูกจากมุมแคบๆ อันนี้
แบบนี้ไลฟ์โค้ชก็ไม่ต่างอะไรจากลัทธิหรือศาสนาที่ชี้นำผู้คนหรือเปล่า?
ผมคิดว่าจริงๆ เราต้องตระหนักก่อนว่าไลฟ์โค้ชมีหลากหลายกลุ่ม มีความเป็นลัทธิมากน้อยต่างกันไป ไลฟ์โค้ชที่เราให้การยกย่องและยอมรับจะเป็นไลฟ์โค้ชที่ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง หรือต่อให้มั่นใจในตัวเองก็ให้เหตุผลในการมั่นใจนั้น แต่ไลฟ์โค้ชอีกแบบคือเชื่อมั่นในตัวเองสูง แต่ไม่มีเหตุผลมารองรับ เป็นไลฟ์โค้ชเผด็จการ ไม่ให้เหตุผลที่ละเอียดถี่ถ้วนหรือมีทิศทาง มันก็เลยเกิดเป็นเผด็จการ ดังนั้น พอมีเผด็จการทางความคิด เราจึงเรียกพวกนี้ว่าลัทธิ พวกล้างสมอง ครอบงำ
แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้วรรณศิลป์ในการถ่ายทอด เขาไม่แสดงความมั่นใจในตัวเองด้วยซ้ำไป เพราะสิ่งที่เขาทำ เขาแค่ยกกรณีตัวอย่างหรือเล่าเหตุการณ์บางอย่างขึ้นมา เช่น เวลาที่เขาบอกว่าคุณควรกตัญญู เขาก็แค่เขียนเกี่ยวกับตัวละครที่เขาเชื่อว่ามันสะท้อนเรื่องความกตัญญู คนจึงพร้อมใจที่จะด่าเขาว่า “ไม่จริงหรอก กตัญญูมันไม่ได้หน้าตาแบบนั้น” เพราะเขาเขียนทั้งหมดจากจินตนาการ เราเลยเคารพคนที่ผ่านด่านเหล่านั้นมาได้ เพราะเขาคือคนที่เขียนเรื่องจากจินตนาการ คนที่บอกว่าอย่าเชื่อฉันนะเพราะทั้งหมดฉันคิดขึ้นเอง แต่ลองคิดตามว่าที่ฉันแต่งน่ะ มันสมเหตุสมผลมั้ย แล้วพอคนในสังคมมองว่า “เออ มันสมเหตุสมผลว่ะ” คนคนนี้เลยเป็นไลฟ์โค้ชที่เจ๋ง
คือจริงๆ การชี้นำหรือการให้คำแนะนำมันไม่มีปัญหาอะไรเลย
อย่างเวลาเรามีปัญหาเราไปนั่งกับเพื่อน เพื่อนก็ให้คำแนะนำเรา ทั้งที่เพื่อนเรามันก็ไม่ได้แก่ไปกว่าเราหรอก ซึ่งมันก็สะท้อนชัดเจนเลยว่าจงฟังที่คำแนะนำ อย่าเชื่อที่ตัวบุคคล มันเลยเวิร์ก หรือบางทีเราไปฟังใครบางคนที่เราไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่เขาให้เหตุผลประกอบ เราก็เคารพในเหตุผลของเขา
การที่คนเลือกหันไปพึ่งพาไลฟ์โค้ชในการใช้ชีวิตจะไปกระทบอะไรต่อโครงสร้างสังคมหรือไม่?
ผมคิดว่าไม่ใช่ปัญหาจากปัญหาไลฟ์โค้ช แต่เป็นปัญหาจากไลฟ์โค้ชที่ไม่ดี อย่างแรกคือเป็นไลฟ์โค้ชที่ไม่ทำการบ้าน เพราะว่าถ้าคุณทำการบ้าน เบื้องต้นเลยคุณไปศึกษางานเศรษฐศาสตร์ในยุคปัจจุบัน ไม่รู้ว่ามีเยอะขนาดไหน แต่ส่วนใหญ่เขาจะมองว่ามันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ไม่ใช่ว่าคุณจะเป็นยากจนมาจากที่ไหนก็ได้แล้วคุณจะมาประสบความสำเร็จในชีวิตเลย โอเค มันอาจจะเป็นไปได้ แต่โอกาสมันไม่เท่ากัน
แต่พอคุณเป็นไลฟ์โค้ช คุณบอกว่าทั้งหมดมันเป็นเรื่องของคุณคนเดียว แปลว่าคุณไม่ทำการบ้าน ไลฟ์โค้ชเขาทำเสมือนว่าเรื่องพวกนี้มันไม่เคยมีอยู่ เพราะมันไม่ตรงกับอุดมการณ์ของเขา คนพวกนี้อาจจะไม่ได้ทำอะไรมากกว่าไปอ่านหนังสือมาสักสองสามเล่มแล้วมาเล่า อันนี้มันสะท้อนชัดเจนเลยว่าเขาไม่ได้ทำการบ้าน คือถ้าเขาทำการบ้านเขาต้องมีแหล่งอ้างอิงที่ดีจำนวนมากที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นยอมรับ แต่พอเขาไม่ทำแบบนั้น เขาแค่พูดจากคอมมอนเซนส์ประกอบกับหนังสือไม่กี่เล่ม มันก็กลายเป็นว่าไลฟ์โค้ชบางกลุ่มสนับสนุนให้คุณไม่ตั้งคำถาม ไม่สนใจกับคอมมอนเซนส์อะไรพวกนี้
คือสุดท้ายแล้วการศึกษามันควรจะเป็นการขัดเกลาคอมมอนเซนส์หรือสามัญสำนึก เช่น เวลาหมอวินิจฉัยโรคกับเราวินิจฉัยโรค มันคือการกระทำเดียวกัน แต่การกระทำของหมอคือมันคือการกระทำของผู้ที่ขัดเกลาคอมมอนเซนส์ด้านนี้มาแล้ว เช่น เพื่อนผมปวดหัว ผมก็บอก อะ…เอายาพาราเซตามอนไปกิน เพราะผมมีความรู้แค่นั้น แล้วคอมมอนเซนส์ของผมคือปวดหัวเท่ากับยาพาราเซตามอน แต่พอเวลาที่คุณเป็นหมอ คุณถูกฝึกมาให้ถามคำถามอย่างมีทิศทาง คุณก็จะถามว่า ปวดแบบไหน คุณมีความถี่ถ้วน นั่งลิสต์โรคในหัว นี่คือสิ่งที่การศึกษาทำ แต่สิ่งที่ไลฟ์โค้ชพยายามจะทำ หลายๆ ครั้งมันไม่ใช่การขัดเกลาคอมมอนเซนส์ มันเป็นการพูดคอมมอนเซนส์ของไลฟ์โค้ชเพื่อให้คุณเปลี่ยนคอมมอนเซนส์เฉยๆ หรือบางทีก็เพื่อยืนยันว่าคอมมอนเซนส์ของคุณมันถูกต้องอยู่แล้ว ถ้าเกิดว่าคนอ่านไลฟ์โค้ชแล้วไม่เกิดการขัดเกลาขึ้น แปลว่าสิ่งที่เขาพูดมันไม่ได้พัฒนาอะไรสักอย่างของผู้ฟังรึเปล่า
อะไรที่ทำให้คนเลือกที่จะเชื่อในตัวไลฟ์โค้ช?
ผมคิดว่าน่าจะสองส่วนรวมกัน ส่วนแรก ก็คือ การศึกษาของไทยสอนคอมมอนเซนส์บางอย่างกับเราในเชิงที่ว่า ความสำเร็จเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล เรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องของคนคนนี้ทำอะไร เพื่ออะไร อย่างเวลาเรียนประวัติศาสตร์ คุณก็เรียนว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เราเรียนเรื่องราชวงศ์ ขุนพล นักการทูต เราไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองของเกลือ น้ำปลา ปลาทู เวลาที่เราเรียนวิทยาศาสตร์ มันจะเหมือนมีการแบ่งเป็นสองท่อน ท่อนแรกคือ การเกริ่นเบาๆ ว่าคนนู้นคนนี้ค้นพบเรื่องนู้นเรื่องนี้ เสร็จแล้วก็ไปสอนพวกสมการ คำศัพท์ แต่เราไม่ค่อยสอนกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ มันก็มีบ้างแต่ไม่ใช่ประเด็นหลัก หรือเวลาสอนวิชาวรรณคดี เราก็สอนเรื่องอัจฉริยะบุคคล เช่น สุนทรภู่ เจ้าฟ้ากุ้ง ที่แต่งบทกวีบางอย่างขึ้นมาและให้คุณพยายามซาบซึ้งกับบทกวีนั้นด้วยการท่องหรือทำความเข้าใจอะไรบางอย่าง แต่เราไม่ค่อยสอนจากมุมว่า ทำไมบทกวีเหล่านี้ถึงเป็นที่นิยม พอการศึกษาขัดเกลาให้คุณสนใจแต่ตัวบุคคลพิเศษ คนไทยจึงไม่ถูกฝึกให้มองปัจจัยที่ส่งเสริมคนคนนั้นเลย พอเป็นแบบนั้นเวลาที่นักเศรษฐศาสตร์ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงว่าคุณเป็นอัจฉริยะบุคคลแล้วจบนะ แต่มีปัจจัยอื่นๆ มากมายมาประกอบ คนเราพอเจอเรื่องไม่คุ้นหู หลายๆ ครั้งเราจะตัดมันทิ้ง เพราะมันฟังดูพิลึกจึงยากที่จะเชื่อถือ
ส่วนที่สองที่อาจจะเกี่ยวข้อง คือ เรื่องเล่าของไลฟ์โค้ชมันสนุกกว่าเรื่องเล่าของนักวิชาการ พูดกันง่ายๆ เลยก็คือ นักวิชาการส่วนใหญ่เล่าเรื่องไม่สนุก แม้เตรียมตัวก็เล่าไม่สนุก มันถึงมีคนอยากจะหลับในห้องเรียน การที่คุณจะเป็นไลฟ์โค้ชสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คุณต้องเล่าเรื่องให้สนุก สำคัญมากกว่าคุณประสบความสำเร็จจริงหรือเปล่าด้วยซ้ำไป แต่เวลาสอบเข้าอาจารย์ มันวัดแค่ความรู้ในวิชานั้นๆ ซึ่งถูกต้องแล้ว แต่ถ้าเรื่องเล่าสองเรื่องน่าเชื่อถือไม่ต่างกันมากนักในสายตาคนทั่วไป และเรื่องหนึ่งสนุก แต่อีกเรื่องไม่สนุก คุณจะเลือกฟังทางไหน? คุณก็ฟังเรื่องสนุก และพอมันสนุก คุณก็เอาไปเล่าต่อ ผมมั่นใจเลยว่าถ้าเล่าเรื่องได้ดีและสนุก คุณจะเอาไปเล่าต่อ ผมว่าสองปัจจัยนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรื่องเล่าของไลฟ์โค้ชน่าเชื่อถือและได้รับความนิยมสูง
นอกจากนี้มันก็มีเรื่องที่ว่าเขาเรียกร้องอะไรจากคุณด้วย ซึ่งไลฟ์โค้ชเรียกร้องอะไรจากคุณน้อยมาก ในขณะที่อาจารย์เรียกร้องสูงมากเลย ถ้าคุณอยากจะเรียนปรัชญากับผม ผมเรียกร้องให้คุณเป็นนักปรัชญา เพราะหน้าที่หลักของผมไม่ใช่การทำให้คุณเชื่อผม แต่มันคือการทำให้คุณเป็นนักปรัชญาเหมือนที่ผมเป็น ผมก็จะเรียกร้องให้คุณไปอ่านหนังสือมานะ ไปคิดเรื่องนี้มานะ เดี๋ยวอาทิตย์หน้าเราจะมาคุยกันเรื่องนี้ แล้วพอคุณแสดงจุดยืนของคุณ มันก็เป็นหน้าที่ของผมและเพื่อนๆ ในการพยายามที่จะหาว่ามันมีจุดแข็งและจุดอ่อนอย่างไรบ้างเพื่อช่วยกันให้คุณพัฒนา มันเหนื่อยมาก มันเรียกร้องสูงมาก และเอกสารปรัชญาส่วนใหญ่ก็เป็นภาษาอังกฤษ ในขณะที่ไลฟ์โค้ชเนี่ย การเรียกร้องค่อนข้างต่ำ เขาไม่ได้เรียกร้องให้คุณกลายเป็นไลฟ์โค้ชเหมือนเขา เขาแค่ต้องการให้คุณเชื่อเขา เป้าหมายมันต่ำมาก คุณจึงไม่จำเป็นต้องเหนื่อยมากในการโน้มน้าวอีกฝ่าย ในการกระตุ้นอีกฝ่าย
คุณนึกภาพง่าย ๆ ระหว่างนาย ก. ที่พยายามทำให้คนเชื่อว่า ออกกำลังกายสามวันต่อสัปดาห์ดีต่อชีวิต กับคนที่พยายามจะบังคับให้คนออกกำลังกายสามวันต่อสัปดาห์ คนที่โน้มน้าวเฉยๆ ก็จะทำงานง่ายกว่า เพราะคนที่พยายามจะดึงคุณเข้ายิมเนี่ยก็จะถามคุณเลยว่า เข้ายิมบ้างหรือเปล่า แล้วคุณก็จะรู้สึกผิด แต่นั่นมันเป็นหน้าที่ของนักวิชาการ ผมเปรียบเทียบบ่อยมากว่า มหาวิทยาลัยคล้ายฟิตเนส คุณสมัครสมาชิก แต่คุณไม่มา มันก็ไม่เกิดอะไรขึ้นกับชีวิต คุณอยากจะมีซิกแพ็กแต่คุณไม่มา คุณก็ไม่ได้ซิกแพ็ก คุณต้องลงแรงเอง แต่คุณก็คงไม่อยากนั่งคุยกับเทรนเนอร์ของคุณหรอก
ไลฟ์โค้ชส่วนใหญ่มักจะเน้นไปที่ทางลัดสู่ความสำเร็จ ทางลัดเหล่านี้มันดีหรือไม่ดี?
คือทางลัดมันมีได้หลายแบบ อาจจะเป็น “ผมเคยลองมาแล้วหลายแบบ แต่ทางนี้เร็วที่สุด” หรือบางทีทางลัดหมายถึงว่า “สมัยผมเคยเจอเรื่องแบบนี้ แล้วผมก็หาวิธีแก้ได้แล้ว” แต่มันมีอีกทางลัดหนึ่ง ทางลัดในเชิงว่า “คุณไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือเปลี่ยนแปลงสังคม คุณสามารถกระโจนจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้เลย”
ถ้าเราเปรียบเทียบกับคณิตศาสตร์ เส้นตรงคือทางที่สั้นที่สุดจากจุด ก. ไปจุด ข. สามารถพูดได้ว่าบางคนไม่รู้ระยะทางที่สั้นที่สุด เดินอ้อมไปอ้อมมาแล้วมีคนมาบอกว่า นี่ไม่ใช่ทางที่สั้นที่สุด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้งคือ คุณไม่จำเป็นต้องไประยะทางที่สั้นที่สุดหรอก คุณสามารถไปจากจุด ก. ไปโผล่จุด ข. ได้เลย โดยไม่ต้องผ่านเส้นทางระหว่างนั้น ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นไปได้แปลว่ามันเกิดปรากฏการณ์ในรูปแบบว่า ไลฟ์โค้ชคนนั้นเองเขาอยู่จุด ข. ใกล้กว่าที่เขาคิด สมมติ คุณบอกว่าคุณอยากเปิดธุรกิจแต่ที่บ้านไม่สนับสนุน คุณเลยไปเข้าห้องพระของที่บ้าน แปลว่าคุณไม่ใช่คนธรรมดาแล้วนะ คุณขโมยพระไปขายได้สามล้านบาท แล้วคุณบอกว่าคุณเป็นคนหนุ่มสาวธรรมดาสามารถทำธุรกิจได้ แต่คุณไม่ใช่ คุณมีเงินสามล้านบาทเข้ากระเป๋า แปลว่าคุณไม่ได้อยู่ในจุด ก. แล้ว คุณอยู่ใกล้จุด ข. มากกว่าที่คุณอ้าง แต่คุณไปบอกคนอื่นว่าขั้นที่หนึ่งเข้าห้องพระที่บ้าน ขั้นที่สองขโมยพระที่บ้านมาขาย ขั้นสามตั้งธุรกิจ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้สำหรับบางคน
ในฐานะอาจารย์ คิดว่ามหาวิทยาลัยควรบรรจุหลักสูตรที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตนอกเหนือจากวิชาจิตวิทยา หรือปรัชญาขั้นพื้นฐานให้กับนิสิตนักศึกษาหรือไม่?
เป็นคำถามที่ดีมาก ผมเคยเสนอผู้บริหารว่าถ้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยากจะแสดงจิตวิญญาณของตัวเอง ก็มาเปิดวิชาเผด็จการและประชาธิปไตยเลยว่า เผด็จการเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีกระบวนการเรียกร้องอะไรบ้าง หรืออาจจะเชิญคนที่อยู่ในกระบวนการมาอธิบายก็ได้ว่า มันล้มเหลวได้อย่างไร หรือถ้าเกิดว่าต้องการมากกว่านั้น ก็เชิญตัวเผด็จการมาบรรยายเองเลย
ทำไมเราต้องทำอะไรแบบนั้น?
เพราะมันไม่มีคนที่ชำนาญพอที่จะมาบอกทุกคนได้ว่าคุณควรใช้ชีวิตอย่างไร อาจจะใช้กรณีตัวอย่างที่ผมพูดไปเมื่อครู่ให้คนที่เรียนได้รู้ว่า มันเป็นแค่ตอนนั้นนะ และตอนนี้อาจจะไม่เหมือนกันแล้วก็ได้ โดยอาจจะใช้คำอธิบายบางอย่างเพื่อให้เห็นว่ามันเคยมีคนทำแบบนี้แล้วล้มเหลว มีคนเคยทำแบบนี้แล้วประสบความสำเร็จ
หรืออีกแนวทางหนึ่งคือ ให้เครื่องมือที่นามธรรมมากๆ ไป เครื่องมือมีประโยชน์มาก ผมเปรียบเทียบง่ายๆ สมมติเรามีส้มอยู่ 36 ลูก แล้วเรานั่งอยู่ 4 คน เราจะแบ่งส้มให้คนละกี่ลูก คุณก็อาจจะตอบง่ายๆ ว่า แบ่งให้คนละ 9 ลูก โดยใช้การหารเลขเอา แต่สมมติว่าคุณไม่หาร เพราะการหารเป็นการสร้างนามธรรมบางอย่างขึ้นมา คุณไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ส้มแล้ว คุณกำลังเอา 36 ไปหารด้วย 4 จึงเป็น 9 ถ้าเป็นรูปธรรมมากๆ หน่อย คุณก็อาจจะแบ่งส้มให้ทีละคนและวนไปเรื่อยๆ จนครบทุกคน ซึ่งเครื่องมือมันมีประโยชน์ มันทำให้เห็นแล้วว่าทุกอย่างง่ายขึ้น รวดเร็ว สะดวกขึ้น แต่ปัญหาคือ หลายๆ ครั้ง ผู้เรียนไม่สามารถนำเครื่องมือที่นามธรรมเหล่านี้มาใช้ในชีวิตจริงได้ เพราะฉะนั้น แม้การเปิดสอนเรื่องนี้จะเป็นสิ่งที่ดี แต่มันต้องทำการบ้านมาดีจริงๆ นะว่า คุณจะสอนเด็กอย่างไร มันไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อเกินไปเลยที่จะสอนเด็กได้
มันมีวารสารวิชาการและงานวิจัยในเรื่องนี้แล้ว เอาแค่สาขาผมก็ได้ ซึ่งก็คือสาขาปรัชญา มีวารสารเกี่ยวกับการสอน เท่าที่ผมรู้จักมีอยู่สองเล่ม และก็มีกลุ่มนักวิจัยที่จะหาวิธีการสอนปรัชญากับเด็กให้ดีขึ้น แต่อาจารย์ที่จะสอนต้องทำการบ้านมา ต้องรู้วิธีทำให้เด็กเห็นภาพได้ว่าสิ่งที่ตัวเองสอนอยู่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขาอย่างไร เพราะที่ผมพูดไปตอนต้น แต่ละคนเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่แคบมากๆ มันก็ยังตอบคำถามกลุ่มเดิมว่า งั้นเราจะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร? อย่างแพทยศาสตร์ก็พยายามทำเรื่องสุขภาพ เศรษฐศาสตร์พยายามจะทำเรื่องเศรษฐกิจ ปรัชญาทำเรื่องความคิด แต่พอมันทำเรื่องแคบมากๆ ในบางครั้ง มันยากมากที่จะเชื่อมโยงกลับมาสู่ชีวิตที่ดี เช่น อย่างเราเรียนประวัติศาสตร์ เราก็ลืมไปแล้วว่าเราเรียนประวัติศาสตร์อันนี้ไปทำไม ทำไมเราต้องรู้ว่ามันเคยมีการเซ็นสนธิสัญญานี้ แต่สุดท้ายเราเรียนประวัติศาสตร์เพราะว่าเราเชื่อมั่นในพลังของการเล่าเรื่องและการทำความเข้าใจอดีตของตนเอง
ผมจึงเกรงว่าถ้าเราสอนวิชาพวกการใช้ชีวิต มันจะทำให้เราลืมไปว่า วิชานี้มีรากมาจากอะไร และกลายเป็นว่าสอนอะไรก็ไม่รู้ไปทั่วเลย เช่น ผมยกตัวอย่างมั่วๆ นะ การสอนลีลาศ ทำไมเด็กจะต้องรู้เรื่องการสอนลีลาศ ก็เพราะมันเป็นการเข้าสังคมไง แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่เต้นลีลาศกันแล้วหรือเปล่า? ดังนั้น ถ้าคุณจะสอนเต้นให้เด็กมหาวิทยาลัย ก็ควรจะสอนวิธีการเต้นในผับในบาร์หรือเปล่า? แต่เพราะคุณลืมไปแล้วไง ตอนแรกคุณอยากสอนเรื่องการใช้ชีวิต ซึ่งก็น่าจะเกี่ยวกับการเข้าสังคมด้วยส่วนหนึ่ง การเข้าสังคมก็คงจะมีพวกกิจกรรมสันทนาการอย่างร้องเพลง เต้นรำ งั้นก็สอนเต้นลีลาศแล้วกัน แต่ลีลาศเกี่ยวอะไรกับการใช้ชีวิต?
คิดว่าในอนาคตอาชีพไลฟ์โค้ชจะเป็นอย่างไรต่อ?
ผมว่าจริงๆ แล้วมันจะบูมมากขึ้นนะ แต่มันจะบูมมากขึ้นแบบเปลี่ยนไป ทำไมผมถึงคิดเช่นนั้น? หนึ่ง พูดจากแวดวงมหาวิทยาลัย ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยพยายามจะผลักดันการบูรณาการสูง สมมติคุณเรียนจิตวิทยา เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม แล้วก็เรียนบริหารธุรกิจไปพร้อมๆ กัน คนพวกนี้ดูมีความพร้อมที่จะเป็นไลฟ์โค้ชค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคนที่เรียนแค่การบริหารธุรกิจอย่างเดียว เขาก็จะอ้างได้ง่ายขึ้นว่า เขามีความรู้กว้างขวาง
สอง ผมคิดว่าเทคโนโลยีจะเอื้อให้เกิดไลฟ์โค้ชในรูปแบบใหม่ๆ ได้ในอนาคต ผมลองจินตนาการเล่นว่า ต่อมามันอาจจะมีการใช้ big data ในการดูว่าคุณเป็นคนแบบไหน แล้วมีไลฟ์โค้ชแบบไหนที่เหมาะกับคุณ แล้วก็เชื่อมโยงคุณกับไลฟ์โค้ชที่ไม่เป็นที่รู้จักก็ได้ เพราะฉะนั้น มันไม่จำเป็นต้องเป็นไลฟ์โค้ชที่ดังแค่ไม่กี่คนในประเทศ อย่างเช่นเฟซบุ๊กที่มีอัลกอริธึ่มบอกว่าคุณไลก์เพจแบบนี้เหมือนกัน ภูมิหลังคุณเป็นแบบนี้เหมือนกัน แต่นี่ผมคิดว่า มันสะท้อนอันหนึ่งซึ่งเป็นความหวังและข้อเตือนใจเอาไว้ อาชีพไลฟ์โค้ชสุดท้ายแล้วทำงานใต้กฎการตลาดเหมือนกับอาชีพอื่นๆ ในโลกใบนี้ มันเป็นอำนาจของเราที่จะกระตุ้นและเรียกร้องไลฟ์โค้ชว่า ฉันอยากได้ไลฟ์โค้ชที่ทำการบ้านมาดี ไลฟ์โค้ชที่มีเหตุผลประกอบและสามารถปกป้องจุดยืนของตัวเองด้วยเหตุผลต่อหน้าฝูงชนว่าทำไมการทำตามที่เขาบอกถึงดีกว่า หรือเราจะปล่อยให้คนที่ไม่ได้เก่งหรือมีประสบการณ์อะไรมาคอยบงการชีวิตเรา
‘coach’ ดั้งเดิมมันหมายถึง ‘รถม้า’ มันเป็นสแลงในมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด จึงหมายถึงการที่คุณเป็นคนที่แบกและเข็นให้เด็กๆ ได้เรียนจบ แต่เวลาที่เราพูดถึงรถม้าหรือบริการรถแท็กซี่ทั้งหลาย ใครเป็นคนบอกเส้นทาง? มันคือผู้ใช้ แต่ในปัจจุบัน เราปล่อยให้โค้ชมาบอกเส้นทาง มาบอกว่าเป้าหมายคืออะไร
คำว่าโค้ชเป็นคำที่ดีมากๆ โค้ชคือมืออาชีพหรืออดีตมืออาชีพที่ได้รับการยกย่อง เขาไปยืนอยู่ที่ที่หนึ่งและก็บอกคนว่า ถ้าคุณอยากเป็นแบบฉัน ฉันจะสอน เช่น คุณเป็นโค้ชฟุตบอล คุณก็บอกคนว่า ถ้าอยากเป็นนักฟุตบอลเก่งๆ และชื่นชมผลงานของฉัน มา! เดี๋ยวจะสอนให้ แต่ปัจจุบันสิ่งที่ไลฟ์โค้ชหลายๆ คนทำคือบอกว่า “อยากจะประสบความสำเร็จใช่ไหม? จงมามีชีวิตแบบฉันสิ”
แน่นอนว่าการมีใครสักคนมาคอยเป็นไกด์นำทางจะทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้นหลายเท่าตัว แต่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราให้คล้ายกับคนอื่นได้แบบ 100% การเชื่อมั่นในตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หากตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอดีและไม่ฝืนกับวิถีชีวิตเดิมมากจนเกินไป ก็อาจจะทำให้อย่างน้อยชีวิตก็ได้มีการ ‘พัฒนา’ ไปในทิศทางที่ดีมากขึ้น