ครัวซองต์ร้านดังที่ใครๆ ก็ต่อคิวกัน เรายังไม่ได้ไปเสียที คาเฟ่ชิคๆ กับมุมถ่ายรูปยอดฮิตก็เหมือนกัน ยังไม่ได้มีรูปกับเขาบ้างเลย ไถนิวส์ฟีดบนโซเชียลมีเดียไปก็ชวนให้เกิดคำถามกับตัวเองอยู่เสมอ ทำไมเราพลาดอะไรไปเยอะจังเลย เราไม่ได้ทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ เหมือนกับคนอื่นเขาเลย จนต้องลุกขึ้นมาวิ่งตามแล้วพาให้เราเหนื่อยไปเองในที่สุด อะไรมาก็กลัวไม่ทันเขา กลัวไม่มี ไม่เหมือนเขา อาการแบบนี้ไม่ได้ถูกปัดไปที่ ‘ความอิจฉา’ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น มาดูกันว่ามันคืออะไรกันแน่
FOMO ที่ย่อมาจาก ‘fear of missing out’ ถ้าจะให้นิยามสั้นๆ ฉับไว มันคือ ความกลัวที่จะพลาดอะไรไป โดยส่วนมากจะหมายถึง กระแสทั่วไปที่คนอื่นเข้าถึงแล้ว แต่เรายัง โอกาสบางอย่างที่คนอื่นได้กันถ้วนหน้า แต่เรากลับไม่ได้ จนเกิดความวิตกเสมอเมื่อมีอะไรใหม่ๆ เข้ามากระแส ว่ามันตกเทรนด์ไปหรือยังนะ ถ้าเราขึ้นขบวนนี้จะยังทันหรือเปล่า จนเกิดความเครียดกับตัวเอง และอาจส่งผลกระทบถึง self-esteem ด้วยเช่นกัน
โดย FOMO อาจหมายถึง กลัวพลาดแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ อย่าง Clubhouse ไม่ได้ไปกินครัวซองต์ร้านดังที่ใครๆ ก็ต่อคิว ไม่ได้เช็กอินกับมุมถ่ายรูปยอดฮิตลงอินสตราแกรมของตัวเอง ไปจนถึงเรื่องราวง่ายๆ ในชีวิตอย่างการที่เราพลาดปาร์ตี้กับกลุ่มเพื่อนไปสักงาน แล้วก็ได้แต่นั่งคิดว่า ตรงนั้นเป็นไงมั่งนะ? จะสนุกกันแค่ไหน? เราจะถูกพูดถึงในงานหรือเปล่า? ก็ล้วนเป็นอาการ FOMO เช่นกัน
แม้จะดูเหมือนคนเราโดนจี้จุดต่อม FOMO จากโซเชียลมีเดียที่ใครๆ ต่างหยิบยื่นเอาภาพชีวิตดีๆ ไลฟ์สไตล์เก๋ๆ มาให้ผู้อื่นได้รับรู้ (ซึ่งไม่ได้ผิดอะไร) แต่ FOMO นี้มีมาแต่ก่อนกาล มีตั้งแต่มนุษย์เรารู้จักความอิจฉาตาร้อน ป้าข้างบ้านอวดลูกอีกแล้ว รถสุดเท่ของพี่ที่ทำงาน ทำให้ใครๆ ก็ต้องเหลียวมอง ก็ถือเป็น FOMO แต่คำๆ นี้ถูกบัญญัติขึ้นมาในปี ค.ศ.1996 โดย ดร.แดน เฮอร์แมน (Dr. Dan Herman) โดยในตอนนั้น เป็นการวิจัยเพื่อกลยุทธ์การตลาด แต่ก็ทำให้เราได้นิยามของ ‘fear of missing out’ มาใช้
แต่เมื่อถึงยุคที่โซเชียลมีเดียเบ่งบาน แพลตฟอร์มต่างๆ ที่ถูกสร้างมาตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในหลากหลายรูปแบบ ดูเหมือนว่า FOMO นั้นจะเบ่งบานตามมาด้วย งานวิจัยจาก Carleton University และ McGill University ถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2018 ได้ทดลองเรื่องนี้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 โดยให้พวกเขาเขียนไดอารี่ในแต่ละวันจากลิงก์ที่ส่งไปให้บนสมาร์ตโฟน เป็นเวลา 7 วัน
พบว่าผู้เข้าร่วมการทดลอง มักจะเกิดอาการ FOMO ในช่วงสุดสัปดาห์ โดยเฉพาะกับคนที่มีภาระส่วนตัว อย่างการเรียนหรือการทำงาน มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการ FOMO มากกว่าคนอื่น จนส่งผลกระทบทำให้เกิดความเครียดและอาการนอนไม่หลับ นั่นอาจเป็นเพราะคนที่มาภาระส่วนตัว อาจจะพลาดการพักผ่อนและอิสระในการใช้ชีวิต พอถึงเวลาสุดสัปดาห์ที่ควรเป็นเวลาพักผ่อน กลับไม่ได้ใช้ชีวิตแบบคนอื่น อาจทำให้พวกเขารู้สึก ‘พลาด’ อะไรบางอย่างไป
และงานวิจัยเรื่อง ‘Fear of missing out (FOMO): overview, theoretical underpinnings, and literature review on relations with severity of negative affectivity and problematic technology use’ ที่ถูกตีพิมพ์บน Brazilian Journal of Psychiatry ก็พูดถึงจำนวนครั้งของการเช็กโซเชียลมีเดียบนสมาร์ตโฟนเช่นกัน ว่ายิ่งเราเช็กมากเท่าไหร่ยิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการ FOMO มากเท่านั้น โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศหรืออายุ
จะว่าไป FOMO มันก็คาบเกี่ยวอยู่กับความพึงพอใจในชีวิตของเราเช่นกัน ถ้าหากเรารับรู้ว่าเราไม่ได้มีหรือพลาดอะไรไป แต่ถ้าหากเราไม่ได้รู้สึกว่าต้องมีสิ่งนั้น แค่รับรู้ว่าเราพลาดสิ่งนั้นแล้วนะ แต่ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะรู้สึกพึงพอใจกับชีวิตที่มีอยู่ตอนนี้แล้วจริงๆ (แบบไม่ใช่องุ่นเปรี้ยว) อาจเป็นภูมิคุ้มกันอาการ FOMO ได้ดีทีเดียว และ self-esteem น่าจะเป็นส่วนผสมสำคัญที่จะช่วยให้เรามีความพึงพอใจในตนเองและชีวิตได้ดี ถึงอย่างนั้นความพอใจในชีวิตตัวเอง ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในการนั่งทำใจห้านาทีหลังจากเห็นภาพเพื่อนๆ ไปปาร์ตี้ร้าน rooftop สุดหรู
มาดูกันว่า หากเราเป็นอีกคนที่มีอาการ FOMO นี้ แล้วรู้สึกว่ามันเริ่มจะสร้างความเครียด ส่งผลกระทบกับจิตใจของเรา เราจะลดมันลงหรือหลีกเลี่ยงมันได้อย่างไรบ้าง
เบี่ยงเบนความสนใจไปที่สิ่งอื่น
หากเราเห็นคนอื่นทำนู่นนี่แล้วมันช่างห่อเหี่ยวใจ เราเองก็อย่าลืมออกไปหาอะไรทำบ้าง ไม่ใช่แค่กิจกรรมนอกบ้านเพียงอย่างเดียว ลองหางานอดิเรกที่เราเพลิดเพลินกับมัน คอยเปลี่ยนจุดสนใจของเราจากกิจกรรมของคนอื่น มาเป็นเรื่องของเราบ้างดีกว่า อาจจะถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากเกินไปด้วย
แต่ถ้าหากเรารู้สึกว่า ปกติแล้วเราก็ไม่ได้ใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากขนาดนั้น แต่เราก็ยังรู้สึกทุกครั้งที่ต้องเห็น บนโซเชียลมีเดียเป็นเหมือนทะเลคอนเทนต์ที่มีสารพัดเรื่องราวให้เราได้เลือก โปรดเลือกสิ่งที่เราชอบ ซ่อนสิ่งที่ไม่สบายใจ (เขาทำฟังก์ชั่นนี้มาให้ใช้ อย่าได้มี hard feeling กับมันเลย) แล้วไปโฟกัสกับคอนเทนต์ที่เราสบายใจกับมันสักพักก่อนจะดีกว่า
สานสัมพันธ์ความเพื่อนบนโลกจริง
เพราะในชีวิตจริง คนเราจะมีมุมที่หลากหลายและเป็นคนจริงๆ มากกว่าการเป็นคนแสนเพอร์เฟ็กต์ ที่อะไรๆ ในชีวิตก็ดูดีไปเสียหมด หากสิ่งนั้นทำให้เราไม่สบายใจ
ลองออกไปสัมผัสความสัมพันธ์กับผู้คนจริงๆ ที่พวกเขาจะหัวเราะ ร้องไห้ มีวันที่เป็นคนแสนเพอร์เฟ็กต์ มีวันที่อกรักแล้วร้องไห้เหมียนหมา มีวันที่เป็นคนซุ่มซ่ามแล้วหัวเราะให้กับความเปิ่นของตัวเอง ใช้ชีวิตกับพวกเขาโดยที่เราเองไม่ต้องรู้สึกว่าเขามีอะไรมากกว่า เราพลาดอะไรไป เพราะเราต่างได้มองเห็นกันในมุมมองที่หลากหลายมากกว่า
ถึงอย่างนั้น เพื่อนไม่ผิดอะไรที่จะลงรูปชีวิตในด้านดีๆ บนโซเชียลมีเดียหากเราเกิดความไม่สบายใจขึ้นมาก อย่าปล่อยให้มันกัดกินเราเอง จนพาลให้เรารู้สึกไม่ดีกับผู้ที่นำกระแสเราไปหนึ่งก้าว แล้วทำให้เรารู้สึกว่าเราพลาดสิ่งนั้นไป ความรู้สึกที่อาจส่งผลกับสภาพจิตใจของเรา คือ สิ่งที่เราควรจัดการกับมัน อย่าลืมรักและพึงพอใจในตัวเองให้มากๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก