เมื่อเยอรมนีมี Oktoberfest ญี่ปุ่นมี Fuji Rock Festival อเมริกามี Coachella เราจะมีเป็นของตัวเอง และก้าวไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่?
เร็วๆ นี้เพิ่งมีการผลักดันนโยบาย Festival Economy หรือการสร้างมรดกทางเศรษฐกิจด้วยงานเทศกาล หวังให้เป็นแรงขับทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทยในยุคหลัง COVID-19
ภายใต้นโยบาย ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญคือ ศิลปวัฒนธรรม, ครีเอทีฟไลฟ์สไตล์, เอนเตอร์เทนเมนต์ และกีฬามวลชน
เป้าหมายคือการสร้างอีเวนต์ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับ 4 ส่วนนี้ และมีเมกะอีเวนต์ใหญ่ที่มีชื่อเสียง ดึงคนต่างชาติมาร่วมงานในระดับที่สามารถเป็นอีเวนต์ส่งออกลิขสิทธิ์ได้ภายใน 5-6 ปีข้างหน้า
แต่กว่าจะถึงจุดนั้น ตอนนี้เราอยู่ตรงไหน ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง เรามีความสามารถมากพอไหม
The MATTER ไปคุยกับองค์กรผู้รับผิดชอบ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ และภาคเอกชนในส่วนของดนตรี มาเล่าสู่กันฟัง ให้พอได้ตื่นเต้นกัน!
เมกะอีเวนต์ ฝันใหญ่ต้องไปให้ถึง
“ถึงจุดหนึ่งเราก็เกิดคำถามว่าทำไมต้องจ่ายเงินไปดึงลิขสิทธิ์ต่างประเทศมาจัดงาน เสียเงินหลายร้อยล้าน สู้มาคุยในพื้นที่และสร้างงานเฟสติวัลของเมืองที่มีอยู่แล้ว พัฒนาให้ดีขึ้น ยกระดับ และต่อไปจะสามารถเอกพอร์ตงานแบบนี้ไปต่างประเทศได้”
นิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการสายงานธุรกิจของทีเส็บ เล่าถึงเป้าหมายที่เมกะสุดๆ ให้เราฟัง
แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้ เธอก็ยอมรับว่ายาก และมีหลายเรื่องที่ต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ สถานที่ การเดินทาง ตลอดจนการสร้างคอมมูนิตี้ศิลปินท้องถิ่น และการทำให้งานเทศกาลเป็นเรื่องของทุกคน
“แม้ว่าจะใช้เวลาแค่ไหน แต่ก็เป็นมิชชั่นที่เราต้องทำ” เธอย้ำ “ตอนนี้เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเจเนอเรชัน แต่ก่อนมันเป็นรุ่นที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดเบบี้บูมเมอร์ กับเจนเอ็กซ์ แต่ตอนนี้เจนวายและเจนซีก็จะมองในมุมที่แตกต่างกันไป แล้วภาพรวมการใช้ชีวิตก็แตกต่างกันไป เราก็รู้ว่าเมื่อประเด็นปัญหาเป็นแบบนี้เราก็ต้องสร้าง ecosystem ใหม่” เพราะคนเจเนอเรชันที่เธอพูดถึง คือคนที่โอบรับงานเทศกาลที่ป๊อปขึ้น และให้คุณค่ากับมันเป็นอย่างดี
นิชาภาอธิบายต่อว่า เป้าหมายใหญ่ในการสร้าง ecosystem ใหม่ แบ่งเป็น 2 ส่วน
คือ หนึ่ง ตั้งใจที่จะเอาเฟสติวัลทั้งในประเทศและต่างประเทศมาลง เพื่อให้เป็นเศรษฐกิจใหม่ประเทศ เอางานไปลงในพื้นที่ไหน เงินก็ลงไปพื้นที่นั้น
และสอง การสร้างเมกะอีเวนต์ขึ้นเองไม่ว่าจะพื้นที่หรือเซคเตอร์ไหน สร้างศิลปินท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นนักปั้น นักดนตรี หรือนักวิ่ง ผลักดันที่จะให้ศิลปินท้องถิ่นเจริญเติบโต และดึงศิลปินต่างประเทศเข้ามาแลกเปลี่ยน สร้างศิลปินเป็นรุ่นๆ ไป เกิดความยั่งยืนในการจัดเทศกาลที่เป็นของเราเองตามที่ฝัน
เทศกาลดนตรีที่หล่อเลี้ยงศิลปินท้องถิ่นให้ยืนบนลำแข้ง
ข้ามฝั่งไปคุยกับเอกชนกันบ้าง ว่าพวกเขาคิดเห็นอย่างไรกับนโยบายนี้
เราได้นั่งคุยกับ พาย – ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี ผู้ร่วมก่อตั้งฟังใจ และผู้จัดงาน Bangkok Music City ซึ่งเป็นหนึ่งในเซคเตอร์ที่ทางทีเส็บผลักดันอยากให้เกิดเป็นเมกะอีเวนต์
กับความฝันของเขา ที่อยากจะสร้างเทศกาลดนตรีที่ทำให้ศิลปินอินดี้ หรือศิลปินอิสระมีพื้นที่ทำงาน และระบบที่จะเลี้ยงตัวเองได้ด้วยอาชีพสายดนตรี
งาน Bangkok Music City เป็นงานที่ต้องการผลักดันให้กรุงเทพเป็นเมืองดนตรี เป็นที่ๆ เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยเสียงดนตรี และเป็นเมืองที่เกิดการท่องเที่ยวเชิงดนตรีขึ้นมา
เขายกตัวอย่าง เมืองออสติน รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองที่ได้ชื่อเล่นว่า ‘Live Music Capital of the World’ หรือเมืองหลวงดนตรีสดของโลก ที่มีดนตรีสดเล่นอยู่ทุกหนแห่ง และมี ‘South by Southwest’ (SXSW) เป็นเทศกาลประจำปีระดับโลกความยาว 10 วัน
“Bangkok Music City เกิดจากการอยากเลียนแบบ South by Southwest ซึ่งเกิดขึ้นตอน ค.ศ.1987 เพราะก่อนหน้านั้น 2 ปี เขามีการเปลี่ยนกฎการดื่มแอลกอฮอล์ จากอายุ 18 เป็น อายุ 21
แล้วเมืองนั้นเป็นเมืองหลวงของรัฐเท็กซัสก็จริง แต่ประชากรคือนักศึกษา ซึ่งพอกฎเปลี่ยนพวกเขาก็ไปเที่ยวไม่ได้ ก็ไม่มีเงินไปตกนักดนตรีท้องถิ่น เกิดการตกงาน ก็มีกลุ่มคน 4 คนคิดจะทำโชว์เคส ดึง buyer จากนิวยอร์ก แอลเอ ซึ่งเปนศูนย์กลางของดนตรี มาดู แล้วพาวงพวกนี้ออกไปเล่นที่อื่น ทั่วประเทศ คราวนี้มันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนวงจากต่างรัฐก็มาเล่น และทั่วโลกก็มาเล่นเพื่อตีตลาดอเมริกาและทั่วโลกส่วนอื่น”
ในปี ค.ศ.2010 การท่องเที่ยวเชิงดนตรีสามารถนำรายได้เข้าสู่เมืองออสตินถึง 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ แถมยังมีรายได้จากการเก็บภาษีถึง 38 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ทั้งคนท้องถิ่น ได้ทั้งรัฐ
หลักๆ งานเทศกาลแบบนี้ คืองานที่เปิดพื้นที่ให้ศิลปินโชว์ของ ให้โปรดิวเซอร์จากต่างถิ่นมาชม สร้างคอนเน็กชัน และดึงตัวไปเล่นที่อื่น และนี่คือภาพที่เขาอยากให้กรุงเทพฯ เป็น และขยายสู่ที่อื่นๆ ด้วย เพื่อให้นักดนตรีท้องถิ่นอยู่ได้ด้วยตัวเอง
“มันกระตุ้นให้ศิลปินต่างเมืองอยากมาเล่นที่นี่ ศิลปินที่นี่ก็มีโอกาสได้ทัวร์ไปที่อื่นด้วย”
เปลี่ยนมายด์เซ็ตเป็นเรื่องใหญ่ พอๆ กับเปลี่ยนใจคน
“ผมเคยเป็นนักดนตรีอินดี้มาก่อน เราเจอปัญหาว่าเราทำเพลงที่ดังและมีแฟนระดับหนึ่ง แต่รายได้ก็ไม่พอจะเลี้ยงตัวเอง รายได้ไม่เพียงพอจะจ่ายสตูดิโอ แม้แต่วงที่ดังกว่าเราเอง ก็ยังหารายได้ไม่พอ” ปิยะพงษ์แชร์ความเจ็บปวดร่วมของชาวดนตรีให้ฟัง
“พอผมจัดสินใจไปเรียน MBA ที่บอสตัน เราก็อยากคิด business model ที่วงดนตรีอย่างเราอยู่ได้ แต่ก็พบว่าประเทศไทยไม่สามารถเป็นแบบเขา (South by Southwest) ได้ เพราะเราไม่มี ecosystem ที่ดีพอจะรองรับในเวลานั้น และในเวลานี้ก็ยังเป็นอยู่”
นอกจากเชิงโครงสร้างแล้ว ในด้านทัศนคติก็ยังมีด่านที่ต้องก้าวข้าม เขามองว่าคนไทยยังมีความยึดติดกับคติเก่าว่า เต้นกินรำกิน หรือดนตรีมันควรจะเป็นของฟรี
“วงอินดี้ มีน้อยมาก จำนวนคนที่เป็นแฟนเพลงอินดี้ก็น้อย และราคามาตรฐานของตลาดก็ถูกเซ็ตโดยบริษัทที่ใหญ่กว่ามากๆ”
คำถามคือจะเปลี่ยน ecosystem นี้ได้อย่างไร? เขามองว่า ถ้าเงินในระบบหมุนเวียนไม่เพียงพอ เพราะการบริโภคภายในไม่เพียงพอ ต้องดึงเงินจากแหล่งเงินใหม่เช่น นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ถ้าเขาสนใจประเทศไทยว่าเขาเป็นประเทศท่องเที่ยวทางดนตรีได้ เขาก็บินมาจับจ่ายใช้สอย เขาไม่ได้สนใจว่าเพลงไทยแบบไหนป๊อปไม่ป๊อป เขาเสพอินดี้ได้
และสองคือ การเปลี่ยนมายด์เซตคน ทั้งคนทั่วไปและนักดนตรี ซึ่งต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจว่าวงไทยก็สามารถไปต่างประเทศได้นะ ด้วยการแลกเปลี่ยนกับต่างชาติทั้งคนและการบริหารจัดการ
“ปัญหาตอนนี้คือคนไทยมองศิลปะกับเงินแยกกัน ยังไม่มองว่าศิลปะคือธุรกิจ และวงดนตรีก็ควรจะมองตัวเองเป็นผู้ประกอบการ”
“ถ้าเราสามารถทำให้ดนตรีมีมูลค่าในสายตาของคนได้มากยิ่งขึ้น เขายินยอมจะจ่ายมากยิ่งขึ้น เราก็มีสิทธิได้กำไรแล้วโดยเทศกาลดนตรีไม่ต้องมีสปอนเซอร์”
ศิลปะควรเป็นปัจจัยสี่ เป็นยาทางใจ
ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าศิลปะยังไม่เข้าถึงคนทุกชนชั้นในประเทศนี้ เพราะเป็นอย่างนั้น คนทั่วไปเลยยังรู้สึกว่าศิลปะไม่ใช่ของมีราคา
ข้อนี้ นิชาภาและปิยะพงษ์ เห็นตรงกัน และความพยายามหนึ่งของทั้งสองฝ่าย คือการทำให้งานครีเอทีฟ เป็นของคนทุกคนได้อย่างแท้จริง ซึ่งมันอาจจะเป็นหนทางที่อีกยาวไกลในอนาคต
ปิยะพงษ์แชร์ว่า ดนตรีควรจะถูกมองเป็นปัจจัยสี่ เป็นยา ชีวิตมีความสุขเราก็ฟังเพลง มีความเศร้าเราก็ฟังเพลง เพลงจะอยู่ในทุกจังหวะชีวิต จะอยู่ในทุกคอนเทนต์ ไม่ว่าภาพยนตร์ พอดแคสต์ ยูทูป
“ถ้าเรามองว่า ดนตรีมันเกี่ยวกับสุขภาพจิต และถ้าจุดประสงค์ของประเทศคือการพัฒนาบุคคลากรให้มีสุขภาพจิตที่ดี เพื่อให้เกิดผลผลิตที่ดี เศรษฐกิจที่ดีขึ้นได้ รัฐควรมุ่งที่จะมุ่งพัฒนาประชากร ถ้ามีการศึกษาว่าดนตรีศิลปะมันช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจเท่าไหร่ รัฐจะรู้ว่าควรลงทุนศิลปะกับประชากรตัวเองแค่ไหน อย่างที่อังกฤษบอกว่า การลงทุน 1 ปอนด์ในการส่งออกดนตรี ทำให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจประเทศ 8 ปอนด์”
ส่วนนิชาภาเชื่อว่า การทำงานของรัฐที่มีกลไกและเครื่องมือ ร่วมกับฝ่ายเอกชนที่ถือคอนเทนต์อยู่ในมือ จะค่อยๆ สร้างความเข้าใจของคนในสังคมไปพร้อมกัน
“ในฐานะเราเป็นเจ้าของคอนเทนต์ และคนสร้าง ecosystem เป็นหน้าที่เราในการสร้างสิ่งที่ดีและถูกต้อง และส่งเสริมให้เกิดวินัยที่ถูกต้อง เมื่อเราสร้างผลลัพธ์ที่ถูกต้อง ก็จะเกิดอินฟลูเอนเซอร์ในพื้นที่ เราอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนมายด์เซ็ตทุกคนได้ แต่เราสามารถดีไซน์แคมเปญ สร้างอินฟลูเอนเซอร์ได้ในแต่ละเจเนอเรชัน และส่งมอบเป็นทอดๆ ไป”