ยิ่งรู้สึกกดดันให้ต้องมีความสุข กลับทำให้ยิ่งทุกข์และกังวล
เคยรู้สึกไหมว่าสังคมกดดันให้เราต้องเป็นคนแฮปปี้ ร่าเริง สดใส หากคุณรู้สึกว่าคุณต้องดูมีความสุขตลอดเวลา เป็นไปได้ว่าคุณไม่มีความสุขเท่าไหร่ 🙁
ในปีค.ศ. 2017 Brock Bastian และคณะสร้างการทดลองเกี่ยวกับความรู้สึกเพื่อหาว่า ‘ความคาดหวังของสังคมเกี่ยวกับการแสวงหาความสุขมีผลกับคนอย่างไร?’ โดยเฉพาะเวลาที่พบกับความผิดพลาด
ในการศึกษาแรก ให้นักศึกษาจำนวน 116 คนเข้าร่วมการทดลอง โดยตั้งใจให้ทุกคนต้องประสบกับความล้มเหลว ผ่านการลองทำแบบทดสอบสลับตัวอักษร (anagram) ที่ส่วนมากถูกออกแบบมาให้ไม่สามารถหาคำตอบได้ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็น 3 กลุ่มได้แก่
- กลุ่มที่ 1 ได้รับคำบอกเล่าว่าพวกเขาจะล้มเหลว เตรียมใจไว้ได้เลย
- กลุ่มที่ 2 ได้เข้าไปอยู่ใน ‘ห้องแห่งความสุข’ ซึ่งบนผนังติดโปสเตอร์คำขวัญแรงบันดาลใจ และโพสต์อิทให้กำลังใจเต็มไปหมด
- กลุ่มที่ 3 อยู่ในห้องปกติ เป็นตัวแปรควบคุม
หลังจากทำแบบทดสอบเสร็จ กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดต้องทำแบบทดสอบวัดความกังวล เพื่อดูว่าพวกเขาเป็นอย่างไรที่ทำแบบทดสอบไม่สำเร็จ กลุ่มตัวอย่างในห้องแห่งความสุข ซึ่งเต็มไปด้วยโปสเตอร์สร้างแรงจูงใจ กลับรู้สึกแย่และกังวลมากกว่า ความคาดหวังของสังคมที่หวังว่ากลุ่มตัวอย่างต้องมีความสุข ยิ่งทำให้พวกเขาคิดมาก เมื่อล้มเหลว
การถูกกดดันด้วยคติและคำขวัญแห่งความสุขทำให้เราทุกข์ยิ่งกว่า สังคมเชิดชูความสุขมากแค่ไหน กลุ่มตัวอย่างยิ่งรู้สึกแย่ที่ทำไม่สำเร็จ ส่วนอีกชุดทดลองพบว่า เมื่อคนตอบคำถามออนไลน์ กลุ่มตัวอย่างที่คิดว่าสังคมคาดหวังให้พวกเขาต้องร่าเริงสดใส และไม่เศร้า กลับพบประสบการณ์ความเครียด กังวล และซึมเศร้าบ่อยกว่า
โลกแบบไหนกันที่เราถูกคาดหวังจะต้องมีแต่ความสุข ไม่มีความหม่นหมอง สิ้นหวัง อย่าให้โลกต้องกดดันเราให้รู้สึกปฏิเสธความเสียใจ และไม่ยอมรับความล้มเหลว เพื่อที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้
ลัทธิแห่งความสุขในที่ทำงานอาจทำให้เราเป็นบ้ามากกว่าสนุก
ในซีรีส์ตลกกึ่งประชดเรื่อง IT Crowd ซีซั่นแรก มีฉาก Denholm Reynholm เจ้านายผู้หวังดีกดดันให้พนักงานทุกคนเข้าฟังสัมมนาเพื่อกำจัดความเครียดให้หมดไป! แต่ความน่าหัวร่อของเรื่องคือ เขาขู่ว่าจะไล่พนักงานออก หากจบวันแล้วพนักงานยังมีความรู้สึกเครียดหลงเหลืออยู่! ต้องอยู่ในโลกแบบไหนที่ห้ามมีความเครียด เพราะมันบังคับกันไม่ได้ ยอมรับเสียเถอะว่าความเครียดคือส่วนหนึ่งของงาน และไม่มีทางกำจัดไปได้หมดจด
หยิบเรื่อง IT Crowd มาเล่าก็เพราะว่า มีหนังสือ Wellness Syndrome เล่าถึงกรณีศึกษาที่พยายามสร้างลัทธิแห่งความสุขขึ้นมาในที่ทำงาน แต่อาจทำให้พนักงานเหนื่อยหน่าย บริษัททั้งหลายอยากทำให้ทุกคนตื่นเช้ามาทำงาน จึงเกิดนิมิตว่าต้องทำให้ที่ทำงานสนุกสนานที่สุด เกิดกิจกรรมในออฟฟิศที่เหมือนบ้านรับน้อง ทุกคนต้องไปสังสรรค์ เล่นเกมด้วยกัน ด้วยความเชื่อว่าพนักงานที่มีสุขนั้นจะให้ผลตอบแทนที่ดี จนเกิดอาชีพใหม่ขึ้นมาคือ Funsultant คืออาชีพที่ปรึกษาด้านการเพิ่มความสนุกรื่นเริงในที่ทำงาน การมีความสุขในที่ทำงานเป็นสิ่งที่ดีแต่ไม่ควรมีใครถูกบังคับให้มีความสุข หรือร่วมบางกิจกรรมที่เขาไม่อิน เพราะทุกคนมีวิถีสู่ความสุขต่างกัน
ก่อนจะหาการละเล่นหรือสร้างสถานบันเทิงในที่ทำงาน ลองมองดูว่าความสุขจากการทำงานอาจจะเกิดจากบรรยากาศการทำงานที่ไม่เป็นพิษ มีเพื่อนร่วมงานที่สร้างความสบายใจ เนื้องานที่สำคัญ ก้าวหน้า และการที่พนักงานรู้สึกว่างานตัวเองมีคุณค่า มีความหมาย และมีเป้าหมายในชีวิตและการทำงาน
บริษัทควรจะทำให้พนักงานมีเวลาไปให้ครอบครัวและกลับบ้านไปใช้ชีวิตที่พอใจตามที่เขาต้องการ มีเวลาสนุกสนานนอกเวลา มากกว่าพยายามจะเป็นสวนสนุก เป็นบ้าน หรือครอบครัวเสียเอง
ความเศร้าอาจทำให้เราสังเกตและคิดรอบคอบ
ในงานทดลองจิตวิทยาจากออสเตเรียชื่อ On being happy and gullible: Mood effects on skepticism and the detection of deception ยังพบว่าคนมีความสุขมักถูกหลอกได้ง่ายกว่า โดยคนที่มีอารมณ์โกรธเคืองมักจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าในการต่อรอง คนที่มีความสุขมักไม่สังเกตเมื่อโดนหลอกลวง โดนทุจริต หรือโดนเอาเปรียบ ก็พวกเขากำลังมีความสุขอยู่นี่นะ คงน่าเสียดายหากอารมณ์ของเราทำให้เราสงสัยน้อยลงและเชื่ออะไรได้ง่ายเกินไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือชุดอคติทีชื่อว่า correspondence bias ซึ่งทำให้เราตัดสินใจสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งจากลักษณะหรือนิสัยของเขามากเกินไป เช่น คนที่ดูเป็นคนดีต้องไม่หลอกลวงแน่ๆ คนที่ดูเป็นคนโกงต้องโกงเสมอ ทั้งๆ ที่เราควรตัดสินจากการกระทำและสถานการณ์มากกว่าผูกติดความดีความชอบหรือความผิดไว้กับบุคคลตามลักษณะนิสัยที่เราเชื่อว่าเขาเป็น
งานวิจัยในปีค.ศ. 2017 จากสหราชอาณาจักร ยังพบอีกว่า คนที่กำลังเศร้ามีความสามารถดีกว่าในการระบุใบหน้า (Face Recognition) เพราะพวกเขาจะมองตาน้อยกว่าคนที่กำลังอารมณ์ดี แต่สังเกตลักษณะบุคคลและเครื่องหน้าโดยรวมมากกว่า ทำให้พวกเขาจดจำคนอื่นได้ เป็นไปได้ว่าความสุขทำให้เราโฟกัสที่ตัวเองจนไม่ได้สังเกตคนอื่นและสิ่งแวดล้อมรอบตัว คนที่กำลังกังวลจะสังเกตและสนใจสิ่งแวดล้อม พวกเขาระมัดระวังและสแกนดูรอบๆ เผื่อว่าเจอด้านลบ อีกงานวิจัยพบว่าคนเศร้าจะไม่ตัดสินใจผ่าน stereotype พวกเขารอบคอบ ใส่ใจ และพวกเขาไม่ตกเป็นเหยื่อของอคติจากการเหมารวมคนอื่นที่อยู่นอกกลุ่ม
การโฟกัสอยู่กับการหาความสุขอาจทำให้เราไม่ได้รับประสบการณ์ความเป็นมนุษย์อย่างอิ่มเอม
ไม่ได้ต้องการจะโน้มน้าวให้ทุกคนกลายคนโศก อมทุกข์ เศร้าหมองหรือขุ่นเคืองโกรธแค้นตลอดเวลา แต่อยากบอกว่าเราไม่ควรยอมให้ใครมากดดันให้เราต้องร่าเริงมีความสุขตลอดเวลา เพราะมันเป็นไปไม่ได้
แต่หากวันใดที่คุณรู้สึกแย่ จงสำรวจประสบการณ์และความรู้สึกนั้นให้ดี ลองหาว่าสิ่งใดที่ทำให้เราเป็นทุกข์ และสิ่งใดคือปัญหา การไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นทุกข์และความเป็นมนุษย์ของเราอาจนำมาซึ่งความทุกข์ยิ่งกว่า
ความทุกข์ทำให้เราเห็นสิ่งใหม่ และสัมผัสประสบการณ์ความเป็นมนุษย์ ทุกอารมณ์ของชีวิตก็มีข้อดีข้อเสียที่ต่างกัน ความเบื่อหน่ายอาจทำให้เกิดนวัตกรรม ความโกรธแค้นอาจนำมามาซึ่งการเรียกร้องความยุติธรรม และความเศร้าก็อาจสร้างแรงบันดาลใจในศิลปะ บทกวีได้เหมือนกัน
ขอสารภาพว่าวันที่ดีที่สุดในชีวิตวันหนึ่งคือวันที่ยายของเราตาย ไม่ใช่เพราะเราดีใจที่ยายตาย เราเสียใจมาก แต่วันนั้นคือวันที่รู้สึกถึงความตาย ความรู้สึกผิด ความเสียดายที่เราช่วยอะไรไม่ได้ ไม่มีใครหนีจากกฎของความตายได้พ้น ในวันนั้นเรารู้สึกเงียบงัน เบาหวิว และสงบนิ่งที่สุดในชีวิต เราได้สัมผัสความรู้สึกใหม่ที่เราไม่เคยมีมาก่อน และทำให้เรารู้สึกเหมือนได้สัมผัสความเป็นมนุษย์อย่างละเอียดละเมียดที่สุด ความทุกข์ทำให้เราได้เรียนรู้ และความเศร้าทำให้เราสังเกตตัวเองและสิ่งรอบตัวอย่างตั้งใจ
‘ความสุข’ คือจุดหมายหลักของชีวิตจริงหรือ?
หากถามว่าชีวิตคืออะไร? หลายคนอาจจะตอบว่าคือการมีความสุขทุกวัน หรือการแสวงหาความสุข
แต่เมื่อเราส่องดูผู้คนที่เสพติดสารเสพติดขั้นหนัก ยาเสพติดทำผู้เสพยาเกิดความสุขขั้นสุดยอด ความสุขเหล่านั้นเกิดได้ยากในสภาวะชีวิตประจำวัน ยาเสพติดบางชนิดพวกเขารู้สึกดีแบบที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน และพวกเขาต้องเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาติดกับดักของกลไกสร้างความสุขของสมอง พวกเขาเสพติดความสุขอันเกิดจากสารเคมี พวกเขาตกเป็นเหยื่อของโดปามีน
หนังสือ Against Happiness ชวนให้เรากลับมาสรรเสริญ melancholy หรือความงดงามแห่งความเศร้าและความขมขื่นของชีวิต อนึ่ง ไม่ใช่ต้องการ romanticize โรคซึมเศร้าหรือการฆ่าตัวตายให้สวยงามเกินความจริง แต่เขาอยากให้เรายอมรับความหลากหลายของอารมณ์ในชีวิต อย่าตกอยู่ในห้วงที่ต้องแสวงหาความสุขตลอดเวลา แต่มาสัมผัสความทุกข์และระลึกถึงความตายหรือความหม่นหมองในชีวิตเสียบ้าง หนังสือเล่มนี้หยิบนักปรัชญาและนักเขียนหลายคนที่สร้างงานผ่านห้วงแห่งความทุกข์และความไม่มั่นใจ เช่น Emily Dickinson, Frederich Nietzche, Sylvia Plath, John Keats หรือ Herman Melville ทุกคนล้วนผ่านช่วงชีวิตอันขื่นขม อย่าหมกมุ่นอยู่กับการหาความสุขตลอดเวลา
หากชีวิตนั้นควรค่าแก่การมีความสุขตลอดเวลา ทำไมความเศร้าถึงมีประโยชน์กับการอยู่รอดของมนุษย์ ความเศร้านั้นทำให้มนุษย์ใกล้ชิดกันมากขึ้น การแสดงออกว่าเราเศร้าไม่ควรเป็นสิ่งที่แสดงถึงความล้มเหลวหรืออ่อนแอ อย่ารู้สึกผิดที่เราไม่มีความสุขหรือรู้สึกล้มเหลว เราควรได้รับสิทธิ์จะเศร้าและรู้สึกแย่เมื่อเราเจอสิ่งที่ทำให้เราเศร้า
โลกนี้มีปัญหามากมายที่เราควรรู้ เรื่องยากๆ ที่ไม่สนุก หรือความท้าทายของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในสังคม การเมือง หรือเศรษฐกิจ มีเนื้อหาเรื่องราวมากมายที่น่าเบื่อ มีความผิดพลาดและข่าวร้ายเกิดขึ้นทุกวัน
ใช่ เราสมควรได้รับความสุขในชีวิต แต่เราก็สมควรได้รับรู้ความจริง ซึ่งข้อเท็จจริงที่บางครั้งก็สวยงามและบางครั้งก็โหดเหี้ยม มนุษย์สมควรได้โศกเศร้าอาลัยในโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ สมควรหวั่นวิตกกังวลวิกฤติการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น สมควรได้รู้สึกเสียดายและเสียใจในความผิดที่เรากระทำลงไป สมควรจะร้องไห้เมื่อพบการลาจากหรือความสูญเสีย สมควรได้โกรธเคืองเมื่อได้รับความไม่เป็นธรรม สมควรจะเบื่อหน่ายและไม่พอใจหากพบกับสิ่งที่ล้าหลังหรือปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข สมควรได้สงสัยในความไม่ชอบมาพากลและคนที่หลอกลวงเรา
ความสุขอาจไม่ใช่ยอดภูเขาที่เราต้องฝ่าฟันดั้นด้นปีนตะกายไปสู่ ชีวิตเราหลากหลายด้วยความรู้สึกมากมายทั้งบวกและลบ จงไปสัมผัสและประสบให้เห็น
ยอมรับให้ได้ว่าเราคือมนุษย์ หาประโยชน์จากอารมณ์ร้าย ดื่มดำสัมผัสช่วงเวลาที่โศกเศร้า มีอารมณ์ลบบ้างก็ไม่เป็นไร
อย่าให้ใครต้องมากดดัน กวดขัน หลอกลวงให้เรามีความสุขตลอดเวลาเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Against Happiness: In Praise of Melancholy by Eric G. Wilson
- Does a Culture of Happiness Increase Rumination Over Failure?
- On being happy and gullible: Mood effects on skepticism and the detection of deception: Joseph P. Forgas, Rebekah East
- Explaining Sad People’s Memory Advantage for Face
- Funsultant
- Why being in a bad mood may actually be good for you
- Affective Influences on Stereotyping and Intergroup Relations Affective Influences on Stereotyping and Intergroup Relation