คงพูดได้เต็มปากแล้วว่า โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่ผู้ใช้งานสามารถสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งกันและกันได้ แม้จะเป็นเพียงพื้นที่เสมือนซึ่งมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากพื้นที่ทางสังคมแบบเดิม แต่ก็มีข้อดีที่พื้นที่ทางสังคมแบบเดิมไม่มีหลายอย่าง ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือทำให้ผู้ใช้งานสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น สร้างเครือข่ายทางสังคมได้ง่ายขึ้นแม้กับคนที่ไม่เคยรู้จักไม่เคยเห็นหน้าในชีวิตจริง สร้างชุมชนของคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน เป็นช่องทางในการติดตามข่าวสาร
โซเชียลมีเดียยังทำให้เราสามารถปฏิสัมพันธ์กันได้ตลอดเวลา เป็นเครื่องมือสร้างทุนทางสังคม เติมเต็มความพอใจและความรู้สึกชื่นชมในตัวเอง ตัวเลขจำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า เราเห็นและได้รับประโยชน์จากการใช้งานบ้างไม่มากก็น้อย ไม่อย่างนั้นจำนวนผู้ใช้คงจะไม่เพิ่มขึ้น ในการเพิ่มขึ้นของสถิติในภาพรวม ความจริงมีผู้ใช้จำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจเลิกใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ น่าสนใจว่าโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ มักเปิดเผยแค่ข้อมูลจำนวนผู้ใช้ที่มากขึ้นเท่าไหร่ ไม่มีแพลตฟอร์มไหนเลยที่ออกเผยข้อมูลว่าว่ามีคนเลิกใช้ไปเท่าไหร่และด้วยเหตุผลอะไรบ้าง
คนไทยใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มไหนกันบ้าง
ข้อมูลเปรียบเทียบผู้ใช้งานย้อนหลังหนึ่งปี จาก Statcounter พบว่า เฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มที่คนไทยใช้มากที่สุดในบรรดาโซเชียลมีเดีย แม้ในช่วงหลังตัวเลขทางสถิติจะชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวไทยลดลง ขณะที่ทวิตเตอร์ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าโซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์มจะมีคุณลักษณะที่เป็นที่พึงพอใจของแต่ละกลุ่มคนแตกต่างกันออกไป ทวิตเตอร์เป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่บางแพลตฟอร์มอย่าง Google+ ก็มีคนใช้น้อยมายจนแทบจะสูญพันธุ์
ถึงข้อมูลชุดนี้ของ Statcounter จะชวนสงสัยและดูขัดใจอยู่บ้างในบางประเด็น เช่น จำนวนผู้ใช้อินสตาแกรมที่ดูจะน้อยไปจากความเป็นจริง แต่สิ่งที่สามารถสรุปได้จากข้อมูลชุดนี้ก็คือการใช้โซเชียลมีเดียมีพลวัต มีคนเลิกใช้ หรืออาจจะ ย้ายเข้า-ย้ายออก จากแพลตฟอร์มหนึ่งไปอีกแพลตฟอร์มหนึ่งอยู่โดยตลอด
คนเลิกใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดในบรรดาโซเชียลมีเดีย
ข้อมูลจาก Hootsuite บอกว่าสถิติจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กมีมากที่สุดเทียบกับบรรดาโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่นประมาณ 2,300 ล้านบัญชี รองลงมาคือ YouTube 1,900 ล้านบัญชี ตามด้วย WhatsApp 1,500 บัญชี ส่วนแพลตฟอร์มยอดนิยมในบ้านเราอย่างอินสตาแกรมมีผู้ใช้ทั่วโลก 1,000 ล้านบัญชี ทวิตเตอร์มีผู้ใช้ 326 ล้านบัญชี
ในขณะเดียวกันผลการศึกษาของ Brandwatch ซึ่งพยายามทำการสำรวจเปรียบเทียบอัตราส่วนผู้ที่เลิกใช้โซเชียลมีเดีย ระหว่างเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ปี ค.ศ.2018 ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลโดยการติดตาม (track) ผู้ที่กล่าวถึง (mention) การเลิกใช้โซเชียลมีเดีย พบว่าเฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้เลิกใช้มากที่สุด 59% ตามมาด้วย ทวิตเตอร์ 21%
Brandwatch ทำการวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้คนเลิกใช้เฟซบุ๊กและพบว่า มีกระแสการเลิกใช้หลังจากมีผู้เลิกใช้เฟซบุ๊กจำนวนหนึ่งโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ว่า พวกเขามีสุขภาพจิตดีขึ้นพอไม่ได้ใช้เฟซบุ๊ก เพราะเฟซบุ๊กทำให้เห็นเรื่องราวของผู้ใช้งานอื่นและทำให้เกิดการเปรียบเทียบทางสังคมจนนำไปสู่ความรู้สึกหดหู่ หรือเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า (อ่านเรื่อง Social comparison ความทุกข์จากการเปรียบเทียบกันบนโซเชียลมีเดียได้ ที่นี่)
ส่วนผู้ใช้งานจำนวนหนึ่งให้เหตุผลว่า เลิกใช้เฟซบุ๊กเพราะไม่อยากตกเป็นเครื่องมือของ fake news เพราะรู้ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐถูกทำให้บิดเบือนไปด้วย fake news และโฆษณาชวนเชื่อที่แพร่กระจายบนเฟซบุ๊กในช่วงหาเสียง
เหตุผลอื่นที่คนเลิกใช้โซเชียลมีเดียยังมีอีกเยอะ เช่น อยากมีเวลาให้ตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น เลิกใช้เพราะกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ไม่ต้องการให้แพลตฟอร์มนำข้อมูลไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า ไม่ต้องการให้คนในครอบครัวรู้เรื่องส่วนตัวของตนเอง ไม่ต้องการให้คนอื่นรับรู้ชีวิตส่วนตัว และทัศนคติส่วนตัวในบางเรื่อง เช่น เรื่องการเมือง ซึ่งอาจให้คุณให้โทษในชีวิตจริงได้ ไม่ต้องการถูกสอดส่องโดยหัวหน้างานหรือฝ่ายบุคคล รวมไปถึงผู้ที่สร้างโลกหลายใบสับรางรถไฟหลายขบวน เพราะเป็นคนเจ้าชู้มีคนรักพร้อมกันหลายคน
แต่ยังไงก็ตาม รายงานของ Brandwatch ไม่ได้ระบุว่าบรรดาผู้คนที่เลิกใช้โซเชียลมีเดียนั้น เลิกใช้โดยสิ้นเชิงในทุกแพลตฟอร์ม หรือเพียงแค่เลิกใช้บางแพลตฟอร์มแต่ย้ายหรือยังคงใช้แพลตฟอร์มอื่นอยู่
ทำไมคนส่วนมากถึงเลิกใช้โซเชียลมีเดียไม่ได้
อันที่จริงเราสามารถแบ่งผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก คือคนที่เลิกไม่ได้เพราะไม่เคยคิดว่าจะเลิก คนกลุ่มนี้ไม่คิดว่าการใช้โซเชียลมีเดียเป็นปัญหา มีความสุขกับการใช้เวลาไปกับโซเชียลมีเดีย สิ่งแรกที่ทำหลังการตื่นนอนคือการหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาไถดูหน้าฟีด ว่ามีข่าวสารหรือดราม่าใดที่พวกจะกระโจนเข้าไปมีส่วนร่วมได้ไหม ตลอดทั้งวันพวกเขาจะใช้เวลาที่มี ระหว่างเดินทางไปทำงาน ระหว่างทำงาน ระหว่างประชุม ระหว่างกินข้าว ระหว่างเข้าห้องน้ำ เมื่อใดที่สบโอกาส แม้มีเวลาเพียงน้อยนิด ก็จะใช้เวลาไปกับการท่องโลกเสมือนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ พวกเขามีความสุขที่จะโพสต์สเตตัส โพสต์รูปตัวเอง และรอดูว่าเพื่อนๆ ในเครือข่ายจะตอบสนองยังไง แล้วยังมีความสุขที่ได้หยอกล้อ แซะ นินทา และตามดูกิจกรรมซึ่งรวมไปถึงคนที่พวกเขาไม่ชอบหน้า จวบจนนาทีสุดท้ายก่อนเข้านอน โดยที่ไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาอะไร คนกลุ่มนี้ติดการใช้โซเชียลมีเดียด้วยหลายเหตุผลซึ่งผมเคยเขียนถึงในบทความก่อนๆ ว่าอาจเป็นเพราะต้องการใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างตัวตน สร้างความทรงจำที่ดีให้ตัวเอง สร้างภาพจำที่อาจจะไม่เป็นจริงให้ผู้อื่น สร้างต้นทุนทางสังคมและต้นทุนทางวัฒนธรรม
คนกลุ่มที่สอง คือกลุ่มคนที่รู้สึกว่าการใช้โซเชียลมีเดียส่งผลกระทบบางอย่าง หรืออาจจะหลายอย่างต่อชีวิตของ พวกเขามีความต้องการที่จะเลิกใช้ แต่ไม่สามารถหักดิบเลิกใช้โซเชียลได้สักกที ทีนี้ผมเลยลองพิจารณาแล้วขออนุญาตเสนอว่า สาเหตุที่ผู้ใช้ที่อยากเลิกไม่สามารถเลิกได้ อาจมีสาเหตุจาก
โซเชียลมีเดียกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ – โซเชียลมีเดียพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นวัฒนธรรม กลายเป็นสิ่งที่กำกับวิถีชีวิตของผู้ใช้ไปแล้ว ผู้ใช้งานพึ่งพาโซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวันมากขึ้น ตั้งแต่การหาข้อมูลพื้นฐานทั่วไปเกี่ยวกับของสิ่งต่างๆ ไปจนถึงขั้นเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของผู้ใช้ ‘วัฒนธรรมการรับรู้ข่าวสาร’ ของผู้ใช้เปลี่ยนแปลงไป การรับรู้ข่าวสารแบบเดิม ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร เปลี่ยนไปอยู่บนโซเชียลมีเดียทั้งหมด ผู้ใช้งานจำนวนมากในตอนนี้พึ่งพาโซเชียลมีเดียเป็นแหล่งเข้าถึงข่าวสารเพียงช่องทางเดียว ‘วัฒนธรรมบันเทิง’ ความบันเทิงต่างๆ ทั้งในรูปแบบภาพยนตร์ ละคร เพลง การแข่งขันกีฬา ถูกย้ายมาอยู่บนโซเชียลมีเดียทั้งหมด สามารถดูแบบ live และยังสามารถชมย้อนหลังได้
จำเป็นต้องใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการทำงาน – โซเชียลมีเดียถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำงาน การนัดหมาย การประชุม การทำงานกลุ่ม และเป็นส่วนหนึ่งของการแจ้งข้อมูลข่าวสารเฉพาะกลุ่ม ปัจจุบันโซเชียลมีเดียกลายเป็นช่องทางในการสั่งงาน ส่งงาน และทวงงาน ผู้ใช้งานถูกบังคับให้ต้องมีโซเชียลมีเดียไว้ใช้เพื่อการทำงาน ปัจจุบันมีใครบ้างไม่ใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารเรื่องงาน ลองนับดูก็ได้ว่าแต่ละคนมีกรุ๊ปไลน์ หรือ เฟซบุ๊กแมสเซนเจอร์กรุ๊ปคนละกี่กรุ๊ป ขณะที่เขียนบทความมาถึงตรงนี้ ผมลองกลับมานั่งนับเฉพาะที่ยังแอ็กทีฟอยู่ก็มีตั้ง 49 กรุ๊ป! ข้อดีคือความสะดวก แต่ข้อเสียคือ เมื่อสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลา เส้นแบ่งชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวก็ถูกทำให้พร่าเลือน ดึกดื่นเที่ยงคืนหรือวันหยุดก็ยังคงถูกเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานชักชวนพูดคุยแต่เรื่องงาน
โซเชียลมีเดียเป็นตลาด – โซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์มมีสภาพเป็นตลาดให้ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ บางแพลตฟอร์มมีคุณสมบัติเด่นในการโปรโมตสินค้า บางแพลตฟอร์มมีฟีเจอร์ตลาดในตัวเอง ทุกวันนี้ผู้ใช้งานจำนวนมากใช้โซเชียลมีเดียในการหาข้อมูลสินค้าและบริการ อ่านรีวิว จนนำไปสู่การซื้อสินค้า เกิดคำให้ใช้เรียกการทำธุรกิจบนโซเชียลมีเดียว่า “โซเชียลคอมเมิร์ซ” ซึ่งกำลังเข้ามามีบทบาททดแทน อี-คอมเมิร์ซ หรือ เอ็ม-คอมเมิร์ซ ในแบบเดิม บทบาทการเป็นตลาดของโซเชียลมีเดียกลายเป็นบทบาทที่เจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์ม เช่นเฟซบุ๊กที่เน้นมากที่สุด เพราะโมเดลธุรกิจหรือการหารายได้ของแพลตฟอร์มขึ้นอยู่กับการทำการโฆษณาเป็นสำคัญ ไม่ได้มีส่วนแบ่งรายได้จากการซื้อขายที่เกิดขึ้นเหมือนแพลตฟอร์มที่เป็นส่วนหนึ่งของ ‘เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม’ ที่มีโมเดลธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่งคือ ส่วนแบ่งรายได้จากการจับคู่สินค้าและบริการระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายหรือผู้ให้บริการ อย่างแพลตฟอร์ม Grab หรือ Airbnb
โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ – อย่างที่บอกไปแล้วว่า โมเดลธุรกิจหรือการหารายได้ของบางแพลตฟอร์มขึ้นอยู่กับการโฆษณาสินค้าและประชาสัมพันธ์เป็นหลัก พอมีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เจ้าของธุรกิจจะอาศัยช่องทางโซเชียลมีเดียในการทำการโฆษณาสินค้าและบริการ หรือกิจกรรมต่างๆ ผ่านการสร้างกลุ่มหรือแฟนเพจ ทั้งแบบที่เป็น organic คือไม่เสียค่าใช้จ่าย และในแบบที่จ่ายเงินให้แพลตฟอร์มเพื่อแลกกับการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วในวงกว้าง ปัจจุบันบางธุรกิจหรือผู้จัดกิจกรรมพึ่งพาช่องทางโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ข้อจำกัดคือถ้าไม่มีบัญชีผู้ใช้ก็ไม่สามารถใช้งานประชาสัมพันธ์สินค้าหรือกิจกรรมได้ จึงมีผู้ใช้จำนวนหนึ่งที่ยังคงใช้งานโซเชียลมีเดียเพียงเพราะต้องการใช้งานการโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือเพียงแค่ติดตามข้อมูลสินค้าหรือกิจกรรมที่สนใจ เพื่อไม่ให้พลาดกิจกรรมที่ตนสนใจ
กลัวตกกระแสดราม่าประจำวัน – แม้จะฟังดูเป็นเรื่องตลก แต่มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังในโลกวิชาการต่างประเทศ โดยเฉพาะในสาขาสังคมวิทยาและจิตวิทยา และถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเพราะอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและอาการป่วยทางจิตได้ อาการดังกล่าวถูกเรียกว่า Fear of Missing Out หรือ FoMO หากเราไม่ใช้งานโซเชียลมีเดียเราจะไม่รู้ว่ามีกระแสสังคมใดบ้างในแต่ละวัน มี meme อะไรที่กำลังฮิต ดาราคนไหนกำลังเป็นคู่จิ้นกับใคร หนุ่มหัวร้อนคนไหนเกรี้ยวกราดด่าทอคู่กรณีเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ไปจนถึงเรื่องใกล้ตัวอย่าง เพื่อนคนไหนจะแต่งงาน หรือกำลังจะคลอดลูก คนที่มีอาการ FoMO ต้องการเห็นความเป็นไปของสังคมเพื่อที่จะได้คุยกับคนรอบข้างรู้เรื่อง และรู้สึกกระวนกระวายหรือกังวลใจหากไม่ได้ใช้งานโซเชียลมีเดีย
ข้อมูลเชิงสถิติบ่งบอกว่ามีการใช้เวลาอยู่บนโซเชียลมีเดียมากขึ้นแสดงว่าโซเชียลมีเดียกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไม่มากก็น้อย งานศึกษาเรื่องผลกระทบจากการใช้โซเชียลมีเดียก็มีจำนวนมากขึ้นจนปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้งานโซเชียลมีเดียส่งผลกระทบต่อตัวเราและคนรอบข้าง รวมถึงสังคมในภาพรวม ดังนั้นไม่ว่าตัวเราจะจัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบสนุกสนานกับการใช้งาน หรือคำนึงว่าการใช้โซเชียลมีเดียมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตจนอยากเลิกใช้แต่ก็ไม่สามารถทำได้ด้วยเหตุผลใดเหตุผล
ยังไงก็ตามก็อย่าลืมความจริงที่ว่า การใช้งานโซเชียลมีเดียมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ไม่ใช่ของฟรี และถูกพัฒนาบนพื้นฐานของการทำกำไรในเชิงธุรกิจด้วยนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
- www.th.statcounter.com
- Hootsuite
- www.brandwatch.com
- www.psychologytoday.com