เคยลองมองขึ้นไปบนท้องฟ้ายามค่ำคืนแล้วนึกคิดบ้างหรือไม่ว่า ผืนฟ้ากับห้วงอวกาศที่ขยายตัวไปทุกเมื่อชั่วขณะนั้น มนุษย์เราเป็นแค่สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนจุดสีฟ้ากลางผืนผ้าสีนิลก็เท่านั้น เช่นนั้นแล้วชีวิตของคนหนึ่งคนก็เป็นแค่เรื่องกระจ้อยร่อยเสียเหลือเกิน แล้วท่ามกลางห้วงอวกาศอันไกลโพ้นนั้นอาจจะมีสิ่งมีชีวิตทรงภูมิที่เหนือความเข้าใจของเราอยู่ ณ ที่แห่งนั้น …แต่บางทีการทำความเข้าใจเรื่องนั้น อาจจะทำให้คนเหล่านั้นสิ้นสติสมประดีไปเสียทุกราย
ที่เกริ่นมาขั้นต้นนี้ เป็นแนวคิดที่หลายคนอาจจะคุ้นหูคุ้นตาบ้าง เพราะแนวคิดดังกล่าวมีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงต้นของยุค 1900 โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า โฮเวิร์ด ฟิลลิป เลิฟคราฟต์ (Howard Philips Lovecraft) หรือที่หลายคนคุ้นเคยด้วยชื่อย่อว่า H.P. Lovecraft นั่นเอง
บางท่านก็อาจจะทราบว่า ผลงานที่ H.P. Lovecraft สร้างไว้นั้น กลายเป็นแนวทางให้กับผลงานสยองขวัญต่อมาจนถึงยุคปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงแค่ในงานวรรณกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภาพยนตร์, วิดีโอเกม, บอร์ดเกม หรือ สื่อบันเทิงอื่นๆ กระนั้นหลายท่านอาจจะยังไม่คุ้นเคยว่า ชีวิตของนักเขียนท่านนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จเลยในขณะที่มีชีวิต และในยุคที่สื่อบันเทิงมักจะหยิบจับผลงานเก่าๆ มาเล่าเรื่องในยุคใหม่ แต่ทำไมงานของ H.P. Lovecraft กลับไม่ได้ถูกหยิบกลับมาสร้างมากนัก
ระหว่างที่กำลังมีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้ ก็มีข่าวว่าซีรีส์ Lovecraft Country เริ่มออกฉาย สำนักพิมพ์เวลากำลังแปลผลงานของ H.P. Lovecraft เป็นภาษาไทย แล้วก็เป็นจังหวะเดียวกันกับที่มีการเสวนาทั้งแบบออนไลน์และออฟไฟล์เกี่ยวกับเรื่องนี้พอดิบพอดี เราเลยถือโอกาสมาชวนคุยชวนอ่านเกี่ยวเรื่องของ H.P. Lovecraft กัน
จุดเริ่มต้นจากความรักการอ่านและโรคภัยที่ทำร้ายคนใกล้ชิด
ในช่วงต้นของชีวิต H.P. Lovecraft เขาถือกำเนิดในปี ค.ศ.1890 และใช้ชีวิตอยู่เมือง Providence รัฐ Rhodes Island หรือพื้นที่ซึ่งถูกเรียกว่าเขต New England ของอเมริกา ครอบครัวของเลิฟคราฟต์ ถือว่าเป็นผู้ดีเก่าในย่านนั้น แต่ครอบครัวของเด็กชายก็มีปมปัญหาอยู่ไม่มากก็น้อย นับตั้งแต่การที่ วินฟิลด์ สก็อตต์ เลิฟคราฟต์ (Winfield Scott Lovecraft) พ่อของเขา เป็นพ่อค้าที่ต้องเดินทางออกไปทำงานอยู่เป็นประจำ ก่อนจะต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการทางสมองอันเป็นผลพวงจากการติดเชื้อซิฟิลิส วินฟิลด์ถูกกักตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 5 ปี และเสียชีวิตในปี 1898
ด้วยเหตุที่ผู้เป็นพ่ออยู่ในโรงพยาบาลตั้งแต่ลูกชายยังเป็นเด็กเล็ก ทำให้ H.P. Lovecraft ต้องอาศัยอยู่กับป้า และ ตากับยาย ส่วน ซาร่าห์ ซูซาน เลิฟคราฟต์ (Sarah Susan Lovecraft) ผู้เป็นแม่ก็ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพเช่นกัน และในช่วงวัยเด็กที่อาศัยกับครอบครัวฝั่งแม่ ทำให้เด็กชายที่เรียนรู้การเขียนอ่านได้เร็วกว่าเด็กทั่วไปในสมัยนั้น ได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่ตาของเขาเก็บสะสมเอาไว้ ทั้งวรรณกรรมจากยุคคลาสสิค อย่าง พันหนึ่งราตรี , ไปจนถึงวารสารแนววิทยาศาสตร์ หรือ ดาราศาสตร์ และ บันเทิงคดีกอทิก (gothic fiction) ที่เป็นเรื่องเล่าแนวสยองขวัญ/ระทึกขวัญ อย่างผลงานของ เอ็ดการ์ อลัน โพล (Edgar Allan Poe) ซึ่งทั้งหมดกลายเป็นรากฐานให้กับงานเขียนของ H.P. Lovecraft ในภายหลัง ที่มักจะใช้คำเก่าแก่กว่านักเขียนในยุคเดียวกัน ทั้งยังมีกลิ่นอายเชิงวิเคราะห์แบบวิทยาศาสตร์แบบเบาๆ ในผลงานของเขา
อย่างไรก็ตาม ในช่วงวัยเด็ก H.P. Lovecraft ไม่ได้เข้าทำการศึกษาตามระบบปกติอย่างจริงจัง ซึ่งมีผลจากการที่ผู้เป็นแม่มีความประคบประหงมลูกชายคนสำคัญ หนำซ้ำ ณ ช่วงวัยเด็กเล็ก แม่ของเขาอยากได้ลูกสาวก็เลยจับ H.P. Lovecraft มาแต่งตัวในชุดฟร็อค (frock) ทำให้รูปถ่ายวัยเด็กของ H.P. Lovecraft ใส่ชุดเดรสยาวอยู่นั่นเอง และการไม่ได้เข้าเรียนตามระบบการศึกษาปกติทำให้ความรู้ส่วนหนึ่งที่ H.P. Lovecraft เข้าใจนั้นผิดแผกจากยุคสมัยไปเล็กน้อย (โดยที่ไม่เกี่ยวกับความรู้ในยุคนั้นยังไม่ก้าวหน้าเท่าปัจจุบัน)
และในช่วงที่อาศัยอยู่กับตายาย H.P. Lovecraft ก็เริ่มทำการเขียนจดหมายให้กับแม่ของเขาเองในเวลาที่เธออกไปทำงาน ซึ่งนี่ก็กลายเป็นรากเหง้าในการเขียนงานในยุคต่อไปของว่าที่นักเขียนคนนี้เช่นกัน
ถึงแม้ชีวิตจะยุ่งเหยิงอยู่บ้าง H.P. Lovecraft ก็ยังได้รับความรักความสนใจจากแม่อย่างต่อเนื่อง เธอยังซื้อของขวัญที่ส่งเสริมแนวคิดชื่นชมด้านดาราศาสตร์และเคมีมาให้ลูกชาย ส่วนตัวลูกชายที่เริ่มเติบโตขึ้นก็ฉายแววความเป็นนักเขียนด้วยการทำวารสารแบบ hectograph (เทคนิคการทำสำเนาเอกสารด้วยการปั๊มแผ่นกระดาษบนเจลาติน) ให้กับคนที่เขาคุ้นเคย
โศกนาฏกรรมพุ่งเข้าหาชีวิตของ H.P. Lovecraft อีกครั้งในช่วงปี ค.ศ.1904 เมื่อ วิปเปิล วี ฟิลลิป (Whipple V.Phillips) ตาของเขาได้เสียชีวิตและธุรกิจของตาก็ประสบความล้มเหลวทำให้ แม่ของ H.P. Lovecraft ต้องย้ายไปอาศัยอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ และการเสียชีวิตของตา ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของแม่ลูกสกุล Lovecraft อย่างยิ่ง
ในช่วงปี ค.ศ.1908-1913 เป็นช่วงเวลาที่ชื่อของ H.P. Lovecraft ไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์มากนัก แม้ว่าในช่วงปี ค.ศ.1908 จะพอมีบันทึกว่า H.P. Lovecraft เคยเข้าทำการศึกษาที่ Brown University แต่เขาก็ไม่ได้เรียนจนจบ จากปากคำของคนใกล้ชิดของสองแม่ลูกสกุล Lovecraft ได้ความว่า ทั้งคู่ต่างหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม และในช่วงเวลานั้นเอง ซูซานเริ่มผรุสวาทใส่ลูกชายเป็นระยะ ก่อนที่อาการจะพัฒนาว่าเห็นเงาประหลาดในสถานที่ต่างๆ แต่ผู้เป็นลูกก็พยายามปลอมประโลมด้วยวิธีต่างๆ และยังดูแลแม่ของเขาอยู่
และรอยแตกร้าวต่างๆ เหล่านี้ อาจจะเป็นจุดที่ทำให้ H.P. Lovecraft เริ่มเข้าใจถึงการพรรณาเรื่องต่างๆ ที่ผิดแผกจากคนในยุคนั้น
เริ่มผลิตผลงาน เป็นที่จดจำ และโศกนากฎกรรมซ้ำเติมอีกครั้ง
ในช่วงวัยรุ่นที่ H.P. Lovecraft ต้องดูแลทั้งตัวเองและแม่ที่มีแผลในใจ สิ่งหนึ่งที่พอจะสร้างความบันเทิงได้ก็คือการอ่านนิตยสารแนวบันเทิงคดี หรือ Pulp Magazine ซึ่ง H.P. Lovecraft ก็มีความรำคาญนิยายรักของนักเขียนชื่อ เฟรด แจ็กสัน (Fred Jackson) ทำให้เขาเขียนจดหมายไปฉอดนิตยสารที่มีผลงานของนักเขียนคนดังกล่าวว่าไม่มีความสามารถ และการฉอดของ Lovecraft ก็เป็นบทกลอนที่มีจังหวะจะโคนที่น่าสนใจ จนทำให้ เอ็ดเวิร์ด เอฟ. ดาส (Edward F. Daas) ประธานของ United Ameateur Press Associtaoin (UAPA – สมาคมนักข่าวสมัครเล่น) ในช่วงนั้นดึงตัวของ H.P. Lovecraft มาทำงานเสียเลย
การได้งานแบบผิดคาดนี้ ทำให้ H.P. Lovecraft เขียนบอกเล่าเรื่องราวพิสดารที่เขาคุ้นเคย และมีการเขียนบทความวิพากษ์สังคมโดยรอบ ทั้งการใช้ภาษา, ความหวาดกลัวคนอพยพจนดูข้ามเส้นกลายเป็นการเหยียดเชื้อชาติ, รวมไปถึงการวิพากษ์รัฐบาลของอเมริกาที่ไม่เข้าร่วมสงครามครั้งที่หนึ่งด้วย
ในช่วงเวลาที่เข้ามาทำงานกับ UAPA ที่ H.P. Lovecraft ได้ผูกสัมพันธ์กับเพื่อนนักเขียนหลายต่อหลายคนที่ผลักดันให้เขาเอาผลงานนิยายที่เคยแต่งไว้ออกมาตีพิมพ์ และทำการเขียนผลงานเรื่องใหม่ ทำให้มีเรื่องสั้นหลายเรื่องอย่าง ‘The Alchemist’, ‘The Tomb’ , และ ‘Dagon’ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ.1919 เรื่องสั้นดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกที่มีตัวตนของสิ่งมีชีวิตที่เหนือความเข้าใจของมนุษย์อยู่ในตัวเรื่อง ก่อนที่จะมีการแต่งเรื่องราวรอบข้างตามมาเรื่อยๆ ผ่านทั้งการเขียนเรื่องสั้น หรือเป็นการเขียนรายละเอียดในจดหมายที่ H.P. Lovecraft ติดต่อเพื่อนักเขียน ซึ่งภายหลังทั้งเรื่องสั้นเรื่อง Dagon กับจดหมายหลายฉบับ ก็ถูกผนวกรวมเข้าไปอยู่ในจักรวาล Cthulhu Mythos ที่เราจะกล่าวถึงต่อไป
ถึงอย่างนั้นในช่วงที่ H.P. Lovecraft เริ่มทำงานนี่เอง อาการทางจิตของแม่ของ H.P. Lovecraft ก็หนักขึ้น โดยในช่วงแรกย้ายไปอาศัยอยู่กับพี่สาว และเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลในช่วงปี ค.ศ.1919 ก่อนจะเสียชีวิตในโรงพยาบาล และแน่นอนว่ามันสร้างแผลใจขนาดใหญ่ให้กับ H.P. Lovecraft อีกครั้ง จนเขาเขียนจดหมายแสดงออกว่าไม่มีเป้าหมายใดที่เขาจะมีชีวิตต่อไป กระนั้นเองเขาก็ยังคงวนเวียนในสังคมนักข่าวสมัครเล่น ซึ่งนำพาให้เขาก้าวสู่ขั้นต่อไปของชีวิตของนักเขียนหนุ่มคนนี้
ตกหลุมรัก ย้ายถิ่นฐาน สู่การเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่คุ้นเคย
ชีวิตของ H.P. Lovecraft เริ่มมีสีสันที่แตกต่างจากที่เขาคุ้นเคยหลังจากการพบเจอกับ โซเนีย ฮาฟต์ กรีนน์ (Sonia Haft Greene) หญิงสาวจากชนชั้นกลางที่เข้มแข็งและทันสมัยกว่าสาวในยุคเดียวกัน ทั้งยังเป็นสมาชิกของ UAPA ทำให้เธอได้มีโอกาสพบกับนักเขียนหลายๆ คน รวมไปถึง H.P. Lovecraft ด้วย
แม้ว่าโซเนียจะมีเชื้อสายรัสเซียและนับถือศาสนายิว ซึ่งห่างไกลจากวิถีชีวิตของ H.P. Lovecraft ที่อยู่ในเมืองของคนอเมริกาเชื้อสายอังกฤษอย่างมาก แต่ทั้งสองคนก็มาพบพานกันในงานเสวนา ที่กล่าวกันว่าทั้งสองคนเริ่มต้นด้วยการถกกันอย่างร้อนแรงจนดูเหมือนคนที่เหม็นหน้ากัน ก่อนที่นักเขียนทั้งสองคนจะถูกดึงดูดเข้าหากัน เริ่มแนะนำให้เขียนผลงานให้กันและกัน และลงเอยด้วยการแต่งงานของทั้งสองคน
กระนั้นญาติๆ ของทั้งฝั่งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวกลับไม่เห็นพ้องกับความคิดของทั้งสองเท่าไหร่ อย่างฝั่งโซเนียก็มีลูกสาวที่มาจากการแต่งงานครั้งแรกของเธอ ที่ไม่เห็นด้วยอย่างมากกับความคิดของผู้เป็นแม่จนถึงขั้นย้ายของออกจากบ้านและไม่ติดต่อกับแม่อีกเลย ฝั่งป้าของ H.P. Lovecraft เองก็รู้สึกคัดค้านเช่นกัน แต่จุดคัดค้านนั้นทำให้โซเนียชักชวนเลิฟคราฟต์ย้ายไปอยู่ในกรุงนิวยอร์ก ซึ่งฝ่ายหญิงทำงานอยู่และตั้งใจจะใช้กำลังทรัพย์ของเธอจุนเจือชีวิตคู่ที่เริ่มต้นขึ้น
การย้ายไปอยู่ในเมืองใหญ่ ทำให้ H.P. Lovecraft ได้พบพานกับเพื่อนนักเขียนใหม่ๆ ที่เชียร์ให้ชายหนุ่มส่งผลงานไปลงตีพิมพ์ในนิตยสาร Weird Tales ที่ ณ เวลานั้นผู้อ่านยังไม่ค่อยให้ความสนใจผลงานของเขามากนัก และหลังจากนั้น H.P. Lovecraft ก็ยังติดต่อเพื่อนๆ กลุ่มนี้ด้วยการส่งจดหมายบอกเล่าเรื่องราวที่เขาเห็นในฝัน แล้วนำมาเชื่อมโยงเป็นตัวละครที่เกี่ยวดองกันกับเรื่องราวในเรื่องสั้นที่เขาเขียน ซึ่งจดหมายเหล่านี้กลายเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญของ Cthulhu Mythos ในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตามช่วงเวลาหอมหวานในนิวยอร์กนั้นก็อยู่ได้ไม่นาน ในช่วงปี ค.ศ.1924 Sonia Haft Greene เริ่มมีอาการป่วยและร้านค้าของเธอก็ประสบปัญหาจนต้องปิดตัวลง แม้ว่าตัว H.P. Lovecraft จะพยายามทำงานอื่นก็ไม่สามารถเกื้อหนุนรายได้อย่างสมบูรณ์มากนัก
ปัญหาการเงินที่ไม่คาดฝัน นำไปสู่การย้ายถิ่นฐานอีกครั้ง โดยโซเนียตัดสินใจย้ายไปหาโอกาสใหม่ในเมืองอื่น ทำให้เธอต้องเดินทางอยู่เรื่อยๆ ส่วนตัว H.P. Lovecraft ก็โยกย้ายไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับเขต Red Hook ของ เมือง Brooklyn ที่ในยุค 1920 นั้นอุดมไปด้วยคนอพยพจากชาติต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ H.P. Lovecraft ไม่ถูกโฉลกมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และเหมือนโชคชะตาจะกลั่นแกล้ง H.P. Lovecraft เพราะถูกคนในท้องที่ปล้นห้องพักจนเหลือแค่เพียงเสื้อผ้าที่ใส่ติดตัวเป็นสมบัติชิ้นสุดท้าย
ประสบการณ์ตรงที่ไม่พึงประสงค์นี้ทำให้เขาเขียนผลงานอย่าง ‘The Horror Of Red Hook’ กับ ‘He’ ที่บอกเล่าความหวาดกลัวและความไม่เข้าใจต่อคนอพยพที่มักจะก่อเหตุรุนแรงจนไม่จำเป็น ด้วยเหตุการณ์ไม่น่าจดจำนี้ทำให้ H.P. Lovecraft ตัดสินใจติดต่อไปขอความช่วยเหลือยังป้าที่เคยเลี้ยงดูเขาในวัยเด็ก ที่ยินดีจะช่วยเหลือหลานชาย อย่างไรก็ตาม การย้ายกลับไปบ้านเกิดนั้นก็แลกมาด้วยเงื่อนไขที่ว่า H.P. Lovecraft จะต้องไม่ข้องเกี่ยวกับภรรยาของเขาอีก
และการย้ายกลับยังเมือง Providence ทำให้เขาเริ่มวางโครงสร้างผลงานเรื่องต่อไปที่เขาไม่เคยทราบว่ามันจะส่งผลไปถึงผู้เสพสื่อบันเทิงในอนาคตอันไกลโพ้น
คืนสู่ถิ่นกำเนิด จุดเริ่มต้นของงานสร้างชื่อ และช่วงเวลาบั้นปลาย
อาจจะเพราะว่าความปวดร้าวในใจ หรือความกลัวต่อสิ่งที่เขาไม่เข้าใจ H.P. Lovecraft เริ่มประกอบโครงเรื่องที่เขาได้จากความฝัน (ซึ่งเจ้าตัวก็ทำอย่างนี้มาสักพักหนึ่งแล้ว) ผสมเข้ากับสไตล์การเขียนของตัวเขาเอง จนกลายเป็น ‘The Call Of Cthulhu’ เรื่องสั้นที่เป็นการนำเอาเอกสารของตัวละครที่ล่วงลับมาบอกเล่าเกี่ยวกับผู้คนที่บูชา Cthulhu เทพผู้ลึกลับ และสุดท้ายก็ได้เผชิญหน้ากับเทพดังกล่าว แต่โชคดีที่การตัดสินใจอันบ้าบิ่นทำให้มีเรื่องราวมาเล่าต่อกันได้ กระนั้นเมื่อผู้เล่าเรื่องทราบว่าเขารับรู้เรื่องราวของ Cthulhu มากไป เขาจึงตระหนักได้ว่าชีวิตของเขาเองก็น่าจะอยู่ต่อได้อีกไม่นานนัก
แม้ว่าตัว H.P. Lovecraft เองจะรู้สึกว่าผลงานชิ้นนี้ยัง ‘ไม่สุด’ พอ แต่ผลงานก็ได้รับการตอบรับที่ดีหลังจากถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Weird Tales ที่นักเขียนร่วมรุ่นอย่าง โรเบิร์ต อี. โฮวาร์ด (Robert E. Howard) ผู้เขียนนิยายชุด Conan the Barbarian ที่โด่งดังในยุคนั้นยังชื่นชม และทำให้มิตรภาพของนักเขียนทั้งสองคนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วย
หลังจากนั้น H.P. Lovecraft ก็เขียนงานชิ้นใหม่ออกมา อาทิ นิยาย At the Mountains of Madness, นิยาย The Shadow over Innsmouth, นิยาย The Shadow Out of Time และผลงานเรื่องสั้นอื่นๆ อีกหลายเรื่อง เหมือนกับว่าเหตุการณ์ที่เขาเผชิญมาก่อนหน้า กลายเป็นการเปิดสวิตช์ผลิตงานชั้นครูออกมา แม้ว่าผลงานหลายเรื่องจะไม่ได้ตีพิมพ์ในช่วงที่เขายังมีชีวิตก็ตามที
และในช่วงปี ค.ศ.1926 H.P. Lovecraft ก็ได้รับการติดต่อจากยอดนักมายากล แฮร์รี่ โฮดินี (Harry Houdini) ให้ทำหน้าที่เป็นนักเขียนผีเพื่อเล่าเรื่องของ Houdini ในการท้าพิสูจน์เรื่องราวเหนือธรรมชาติ และ H.P. Lovecraft ได้ร่างบทนิยายขนาดยาวไว้ซึ่ง แฮร์รี่เองก็พอใจกับงานชิ้นดังกล่าวและยินดีที่จะจ่ายค่าจ้างให้อย่างดงาม
แต่เหมือนว่าช่วงเวลาที่ดีของ H.P. Lovecraft จะไม่ได้อยู่ได้ยาวนานนัก เพราะแฮร์รี่เสียชีวิตลงอย่างกะทันหันในช่วงปี ค.ศ.1926 และเมื่อเวลาผ่านเลยมาถึงช่วงปี ค.ศ.1932 ป้าของ H.P. Lovecraft เสียชีวิต ทำให้ผู้สนับสนุนเงินทุนคนสำคัญไปอีกคน เขาต้องย้ายที่อยู่ไปอีกครั้งและใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ตัวงานของเขาที่เขียนไว้ในยุคก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้รับความสนใจจากสำนักพิมพ์และผู้อ่านมากนัก
แต่ถึงในภาวะแร้นแค้น H.P. Lovecraft ก็ยังรวบรวมเงินมาเขียนจดหมายเพื่อติดต่อกับเพื่อนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เขายังพอได้เขียนเรื่องราวน่าสนใจในจดหมาย และส่งต่อความรู้ให้กับนักเขียนรุ่นหลังที่เสวนากับเขาอยู่ด้วย แม้ว่า ณ เวลานั้นตัว H.P. Lovecraft จะหยุดการทำงานในฐานะนักเขียนไปแล้วก็ตามที
จนเวลาผ่านมาถึงปี ค.ศ.1936 H.P. Lovecraft พบว่าตัวเขาเองยังพบว่ามีอาการป่วยที่เขาเรียกว่า ‘grippe’ และเริ่มจดบันทึกอาการป่วยนั้น ก่อนที่เขาจะได้รับข่าวร้ายอีกครั้งเมื่อ โรเบิร์ต เพื่อนนักเขียนที่เขาสนิท กระทำการอัตวินิบาตกรรม ทำให้จิตใจของเขาบอบช้ำยิ่งขึ้น และเมื่ออาการป่วยของเขาทรุดลง เขาจึงยินยอมไปพบแพทย์ก่อนจะพบว่า อาการ ‘grippe’ ที่ว่า เป็นอาการของเป็นมะเร็งลำไส้เล็กและหลังจากนั้นไม่นาน H.P. Lovecraft ก็จากโลกนี้ไปในวันที่ 15 มีนาคม ปี ค.ศ.1937 ด้วยอายุเพียง 46 ปี
เพื่อนร่วมวงการ สร้างตำนาน Cthulhu ให้อยู่ยืนยง
การที่ผลงานของ H.P. Lovecraft มีชื่อเสียงเหนือกาลเวลาได้นั้น ต้องยกผลประโยชน์ให้กับเพื่อนในวงการวรรณกรรมคนหนึ่งอย่าง ออกัสต์ เดอร์เลิต (August Derleth) ที่เริ่มรวบรวมผลงานเรื่องสั้นของเพื่อนเก่า ไปเสนอให้กับสำนักพิมพ์ที่อาจจะสนใจ แต่เมื่อเขาพบว่าสำนักพิมพ์ที่มีอยู่ในตลาดนั้นไม่สนใจนิยายของ H.P. Lovecraft เขาจึงก่อตั้งสำนักพิมพ์ Arkham House ในช่วงปี ค.ศ.1939 เพื่อตีพิมพ์ผลงานเหล่านั้นเสียเอง รวมไปถึงต้นฉบับที่ยังไม่เคยถูกตีพิมพ์มาก่อนด้วย
แล้วก็เป็นออกัสต์นี่เองที่นำเอาเรื่องราวในเรื่องสั้นต่างๆ และเรื่องเล่าในจดหมายที่กระจัดกระจายกว่า 100,000 ฉบับ ก่อนจะหยิบจับเชื่อมโยงเรื่องราวที่ข้องเกี่ยวกันมาผูกปมเรื่องไว้ภายใต้คำว่า Cthulhu Mythos และตัวออกัสต์ก็เอาข้อมูลที่กระจัดกระจายมาเขียนเป็นเรื่องสั้น จนทำให้ตำนานของเหล่า Great Old Ones / Great One / Outer God มีจำนวนเพิ่มพูนมากยิ่งๆ ขึ้น และทำให้งานแนว Lovecraftian Horror หรืองานแนวสยองขวัญจากสิ่งที่ทรงอิทธิพลระดับห้วงจักรวาล ที่มนุษย์ไม่อาจทำความเข้าใจหรือต้านทานการมีอยู่ของสิ่งเหล่านั้นเป็นที่รู้จักในที่สุด
อีกหน้าที่หนึ่งที่ออกัสต์ทำสำเร็จก็คือการผลักดันให้มีการแปลนิยายของ H.P. Lovecraft เป็นภาษาอื่น ทำให้ผลงานของนักเขียนผู้ล่วงลับกลายเป็นงานที่มีฐานแฟนนักอ่านเพิ่มพูนขึ้น และรายได้ส่วนหนึ่งก็ทำให้สำนักพิมพ์ Arkham House สามารถกลับมาตีพิมพ์ผลงานของ H.P. Lovecraft อีกครั้งในช่วงปี ค.ศ.1970 ซึ่งในเวลาดังกล่าว นิยายแนว Weird Fiction อย่างที่ H.P. Lovecraft เขียน กลายเป็นของที่ต้องตาต้องใจคนเสพสื่อบันเทิงแล้ว
และเมื่อผลงานทั้งหมดของ H.P. Lovecraft เข้าสู่พื้นที่สาธารณสมบัติ ก็ทำให้การพูดถึงผลงานที่มีความพิสดารอยู่ในที กระจายสู่วางกว้างได้ยิ่งขึ้นว่าเดิม
จากตำนาน สู่ผู้คนในยุคปัจจุบัน และปัญหาในการดัดแปลงให้โดนใจ
อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่เริ่มต้น งานของ H.P. Lovecraft เดินทางผ่านห้วงเวลามาถึงปัจจุบัน และส่งผลต่อผู้สร้างสรรค์ผลงานเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะในวงการวรรณกรรม ที่มีนักเขียนหลายต่อหลายคนรับเอาแนวคิด Lovecraftian ไม่ว่าจะเป็นการรับช่วงไปต่อยอดแบบตรงๆ หรือการเอาสไตล์เล่าเรื่องแบบ Cosmic Horror ไปใช้ต่อโดยไม่อิงเรื่องราวฝั่ง Cthulhu Mythos ก็ตาม
ตัวอย่างนักเขียนนิยายชื่อดังในปัจจุบัน ที่รับแนวคิดของมาตรงๆ ก็คือ สตีเฟน คิง (Stephen King) ที่เคยกล่าวว่า ‘Lovecraft เปิดหนทางให้กับผม’ หรือเห็นจากตัวละครหลายตัวที่มีความเป็น Lovecraftian ในตัวอย่างเช่น ตัวละคร Pennywise จากเรื่อง It / จอร์จ อาร์ อาร์ มาร์ติน (George R.R. Martin) เอง ก็เป็นักเขียนนิยายอีกคนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลโดยตรง แต่จะเห็นชัดเจนในนิยาย A Song Of Ice And Fire ที่มีเหล่าทวยเทพหลายตนและวิธีการเล่าเรื่องที่ยกมาจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับเหล่า Great Old One ของ H.P. Lovecraft / นีล เกลแมน (Neil Gaiman) ที่ขึ้นชื่อว่าเล่าเรื่องพิสดารมากมาย ก็ชื่นชมความมุ่งมั่นในการเขียนเรื่องราวแปลกประหลาดของ H.P. Lovecraft และตัวนีลเองก็ถึงขั้นเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับ Cthulu ที่สามารถอ่านได้ในเว็บไซต์ทางการของเขา
ฝั่งหนังสือการ์ตูน นอกจากงานแนวกราฟิกโนเวล ที่วาดภาพประกอบนิยายให้เห็นเป็นภาพชัดเจนแล้ว นักวาดการ์ตูนสยองขวัญหลายคนก็กล่าวว่ามีแรงบันดาลใจมาจาก H.P. Lovecraft อย่างเช่น จุนจิ อิโต (Junji Ito) นักเขียนมังงะสยองขวัญชื่อดังจากญี่ปุ่นก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าผลงานของเขาอย่าง ก้นหอยมรณะ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก H.P. Lovecraft ที่ค่อยๆ ทำให้เห็นว่าก้นหอยค่อยๆ ผลักคนให้เข้าสู่ความสยองที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หรือนักเขียนมังงะอีกคนอย่าง ทานาเบะ โกอุ (Tanabe Gou) ก็มุ่งมั่นในการเขียนมังงะจากนิยายของ H.P. Lovecraft มามากกวา 5 เรื่องแล้ว
ฟากงานดนตรีเองก็มีผลงานหลายชิ้นที่ได้รับอิทธิจากงานของ Lovecraft เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นวงร็อคไซเคเดลลิก H. P. Lovecraft ที่ตัววงโลดแล่นอยู่ในวงการช่วงปี ค.ศ.1967-1969 ก็ยกเอาทั้งชื่อและแต่งเพลงให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับผลงานของ H.P. Lovecraft / วงดนตรีแนวร็อคเมทัลหลายๆ วงก็มักจะเอาเรื่องราวของ Lovecraft มาแต่งเป็นบทเพลง อาทิ เพลง Behind The Wall Of Sleep ของวง Black Sabbath ก็หยิบยกเอาเรื่องสั้นของ H.P. Lovecraft มาเล่าใหม่ในแบบเมทัล, วง Metallica มีเพลงบรรเลงที่ใช้ชื่อ The Call of Ktulu (แต่ได้รับแรงบันดาลใจจากนิยาย The Shadow Over Innsmouth) และมีอีกหลายเพลงที่ให้บรรยากาศ Lovecraftian เป็นอาทิ
วิดีโอเกมและบอร์ดเกม จำนวนมากก็ได้รับอิทธิพลจาก H.P. Lovecraft ไม่ว่าจะเป็นเกมที่ดัดแปลงมาจากนิยายโดยตรงอย่าง Call Of Cthulhu เกมที่ได้รับแรงบันดาลใจแบบตรงๆ อย่าง The Sinking City, Sunless Sea เกมที่ได้ใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบ Lovecraft แต่ไม่ได้อิงเนื้อหาจากนิยายของ Lovecraft อย่าง Bloodborne, Darkwood ฯลฯ
ฝั่งภาพยนตร์ เองก็ไม่น้อยหน้าไปกว่าวงการอื่นๆ เพราะมีงานที่ดัดแปลงจากนิยายไปสู่จอเงินโดยตรง อย่างภาพยนตร์ The Dunwich Horror ที่ออกฉายในปี ค.ศ.1970 ภาพยนตร์ Color Out Of Space ที่ออกฉายในปี ค.ศ.2019 โดยมีการปรับยุคสมัยเป็นยุคปัจจุบัน แต่ยังคงเนื้อหาดั้งเดิมไว้ และได้ นิโคลัส เคส (Nicholas Cage) มารับบทนำ
และในภาพยนตร์อีกหลายเรื่องก็รับเอาแรงบันดาลใจบางส่วนไปใช้ในการสร้างภาพยนตร์ อย่างเช่น ภาพยนตร์ Apocalypse Trilogy ของผู้กำกับ จอห์น คาเพนเตอร์ (John Carpenter) ที่ประกอบไปด้วย The Thing, Prince Of Darkness และ In The Mouth Of Madness ต่างหยิบยกองค์ประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งจากนิยายของ H.P. Lovecraft ไปใช้ในภาพยนตร์ ภาพยนตร์ชุด Evil Dead หยิบเอาตำรา Necronomicon มาใช้เป็นอุปกรณ์หลักในการผลักดันเนื้อเรื่อง เป็นต้น
และถ้าตีความแบบหลุดไปไกลมาจากต้นฉบับอยู่มาก แต่ก็ยังมีเค้าโครงเดิมให้เห็นอยู่ ก็ต้องยกให้ฝั่งประเทศญี่ปุ่นที่สามารถหยิบจับเอาเหล่าเทพจากห้วงอวกาศจาก Cthulhu Mythos มาตีความใหม่ในผลงานไลท์โนเวล Haiyore! Nyaruko-san ที่ทำให้ Nyarlathotep กลายเป็นสาวน้อยน่ารักคอยป่วนผู้คนและทำให้คนที่อยู่ใกล้ตัวขาดสติไปแทบจะทุกเมื่อ หรือในเกมสำหรับสมาร์ทโฟนอย่าง Fate/Grand Order ก็มีตัวละคร Abigail Williams ที่ถูกตีความว่าเป็นผู้มีความเชื่อมโยงกับ Yog-Sothoth หนึ่งใน Outer God จาก Cthulhu Mythos
แต่ถึงจะมีการดัดแปลงอยู่บ่อยครั้ง ก็มีเสียงทักท้วงจากแฟนคลับของ H.P. Lovecraft ที่บอกกล่าวว่า งานหลายชิ้น โดยเฉพาะในฝั่งภาพยนตร์กับซีรีส์คนแสดงนั้น มีการดัดแปลงที่ ‘ไม่ถึงแก่น’ เท่าใดนัก หรือ ถ้ามีงานที่พอจะมองได้ว่า ‘เข้าถึง’ ความเป็น Lovecraft ก็มักจะทำรายได้แค่แบบงั้นๆ ปัญหาเหล่านั้น ถูกวิเคราะห์จากหลายมุมมองมที่สรุปแนวคิดว่าการเล่าเรื่องราวของ H.P. Lovecraft มักจะเล่าฉากความน่ากลัวที่ ‘ยากจะอธิบายเป็นคำพูด’ ได้ ในเมื่อไม่สามารถสนำเสนอได้โดยง่าย จึงเป็นการยากที่จะสร้างตัวตนให้มาอยู่ในจอภาพยนตร์ได้
ในทางกลับกัน ภาพยนตร์ที่สามารถทำการเล่าเรื่องได้ดี (อย่างเช่น The Thing) กลับทำรายได้ไม่ดีนักในการฉายรอบปกติ ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจากการตีความภาพให้มีตัวตนชัดเจนก็อาจจะมีความขยะแขยงมากเกินไปจนทำให้เจาะกลุ่มคนดูได้ไม่มากเท่าไหร่
ถึงแม้ว่าการดัดแปลงภาพยนตร์หรือซีรีส์คนแสดงอาจจะต้องหาลู่ทางกันอีกสักนิด ที่จะนำเสนอความขนลุกขนพองของ H.P. Lovecraft ได้อย่างสมศักดิ์ศรีอย่างที่แฟนหนังสือรอคอยกัน เพราะแม้แต่ กีเยร์โม เดล โตโร (Guillermo del Toro) ผู้กำกับหนังสยองขวัญเองตัวพ่อเองก็ยังไม่สามารถหาแนวทางดัดแปลง At the Mountains of Madness แบบที่ตัวของเขากับนายทุนพึงพอใจได้
แต่ที่เราพูดได้อย่างหนึ่งก็คือ ความน่ากลัวต่อห้วงอวกาศที่ H.P. Lovecraft ทิ้งเอาไว้นั้น จะยังคงฉายเงาแห่งความกลัวให้กับผู้คนต่อไปอีกหลายยุคสมัยอย่างแน่แท้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Biographics – H.P. Lovecraft: A Titan of Terror
TED-Ed – Titan of terror: the dark imagination of H.P. Lovecraft – Silvia Moreno-García
Screended – Why Cosmic Horror is Hard To Make
เรื่องเล่าจากข้างใต้ผืนฟ้าที่ไร้แสง