ในวันที่ถนนกลางกรุงถูกจับจองด้วยกระดูกสันหลังของชาติ เพื่อส่งเสียงถึงปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้กองฟางมายาวนานให้ถึงรัฐบาล ผลพลอยตามมา คือการซ้ำเติมวาทกรรมที่ไม่เคยหายไปอย่าง ‘โง่ จน เจ็บ’ ที่สร้างอิทธิพลต่อการรับรู้ความจนของเกษตรกรไทย
‘เพลงลูกทุ่ง’ จึงกลายเป็นหนึ่งช่องทางสะท้อนประเพณี และวิถีการใช้ชีวิตของคนในสังคมอย่างง่าย ที่มาในรูปแบบความบันเทิง ตามที่ครูเพลงลูกทุ่ง ชลธี ธารทอง กล่าวไว้ว่า “เพลงลูกทุ่งเป็นเสมือนคำบอกเล่าที่มีวิญญาณ มีทั้งสนุก และเศร้าสร้อย” The MATTER ชวนไปดู งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเพลงลูกทุ่งไทยที่ผ่านมา
ไมค์ ภิรมย์พร กับวิถีชีวิตแรงงานใน กทม.
‘จากแดนอีสานบ้านเกิดเมืองนอน มาเล่นละครบทชีวิตหนัก’
เสียงร้องของขวัญใจผู้ใช้แรงงาน อย่างไมค์ ภิรมย์พร ในเพลงละครชีวิต สะท้อนชีวิตของคนชนบทอีสานการศึกษาน้อย ที่เข้ามาทำงานหนักในเมืองหลวง แต่ได้ค่าตอบที่ต่ำ อีกทั้งยังโดนเอารัดเอาเปรียบสารพัด ก่อนที่จะตัดสินใจหันหลังกลับบ้านเกิด ด้วยเชื่อว่า แม้จะจนแต่ก็สามารถมีความสุขกับครอบครัวได้
ตามงานวิจัยชิ้นนี้ มีการถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้คนตามค่านิยมว่า ‘ขยัน อดทน มีมานะนำไปสู่ความสำเร็จ’ พร้อมสอดแทรกขนบธรรมเนียมดั้งเดิม ผ่าน 4 ผลงานเพลง คือ ละครชีวิต ยาใจคนจน เหนื่อยไหมคนดี และนักสู้ ม.3
โดยมักมีจุดร่วมของเรื่องราวความรักของหนุ่มสาว ที่ต้องพยายามพัฒนาตัวเอง ก่อร่างสร้างตัว ทั้งเพื่อให้เท่าเทียมคนรัก และประสบความสำเร็จในอนาคต
หมายเหตุ วิทยานิพนธ์เรื่อง บทบาทเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิตของไมค์ ภิรมย์พร ในการสื่อสารถ่ายทอด วัฒนธรรมและวิถีชนชั้นแรงงาน ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยภาสพล โตหอมบุตร (ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ 2558)
ต่าย อรทัย กับภาพแทนหญิงชนบท
‘โอ้บ้านนาฝนฟ้าไม่อำนวย โชคไม่ช่วยบ้านนาถึงคราระทม’
ท่อนหนึ่งของผลงาน เพลงจากบ้านนาด้วยรัก ของต่าย อรทัย ถือเป็นหนึ่งจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่ทำให้ผู้หญิงชนบทต้องลุกขึ้นสู้ชีวิต คือ ปัญหาภัยแล้ง จนไม่สามารถทำนา หรือปลูกพืชผักได้ เป็นเหตุให้ต้องย้ายถิ่นฐานเข้าเมือง เพื่อรับมือความขัดสนทางเศรษฐกิจ ถ้าหากความแห้งแล้งในชนบทยังไม่หมดไป พวกเธอก็ทำได้เพียงคิดถึงบ้าน
ด้วยได้รับการขนานนามเป็นเจ้าหญิงแห่งวงการเพลงลูกทุ่ง ของต่าย อรทัย จากบทเพลงรักเคล้าน้ำตาอันเป็นเอกลักษณ์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลงานเหล่านั้นจะกลายเป็นภาพแทนของผู้หญิงชนบทไทย ที่มีลักษณะเฉพาะต่างไปจากผู้หญิงในเมือง ทั้งในด้านลักษณะนิสัย การใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ที่ต้องมีการปรับตัว
กว่า 20 ผลงานเพลง ที่ถูกศึกษาผ่านงานวิจัยชิ้นนี้ บอกเล่า ปัญหาทางการเงิน ซึ่งกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หญิงชนบทต้องยอมอยู่ไกลครอบครัว อีกทั้งเล่ารูปแบบการดำเนินชีวิตที่คนอาจไม่ได้นึกถึง อย่างในเพลงมาจากดินที่ว่า ‘เสื้อร้อยเก้าเก้า กระเป๋าหนึ่งใบกับวุฒิ ม.ปลาย ยังจำได้ดี’
หมายเหตุ งานวิจัยเรื่อง ผู้หญิงชนบทในเพลงลูกทุ่งของ ต่าย อรทัย โดยนฤมล พันธุ์ประชา (ม.ราชภัฏสวนสุนันทา 2561)
พุ่มพวง ดวงจันทร์ กับวรรณกรรมเพลงไทยลูกทุ่ง
‘พี่จ๋าพี่ สัญญาปีนี้แล้วไม่มาแต่ง ค่าสินสอดก็ไม่แพง หรือพี่แกล้งให้แก้วรอเรื่อยไป พี่จ๋าพี่แถวย่านบ้านนี้เขาว่าแก้วได้ม่ายขันหมากหรือไร แก้วแสนอับอายเมื่อถูกหญิงชายประจานปีนี้ ข้าวไม่ดีแก้วไม่ว่า แต่อย่าลืมปีหน้าพี่ต้องมาแต่งงาน’
นอกเหนือจากเพลงสนุกจังหวะโจ๊ะๆ ที่ผลักดันให้ พุ่มพวง ดวงจันทร์ คลองใจคนไทย เพลงช้าที่มาพร้อมวาทศิลป์กินใจ ก็ถ่ายทอดสภาพสังคมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะปัญหาความยากจน
อย่างเพลงแก้วรอพี่ ที่ฟังผิวเผิน อาจคล้ายเพลงรักธรรมดา ๆ แต่แท้จริงแล้วด้วยโวหารที่ใช้ ได้พูดถึงบริบทการสู่ขอ ที่พึ่งพิงกำไรจากการทำไร่ไถ่นา ที่เมื่อไม่เป็นตามคาดก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายเพลงของราชินีลูกทุ่ง ที่เล่าถึงสภาพครอบครัวยากจน ซึ่งจำนวนมากประกอบอาชีพการทำเกษตรกรรม ที่ต้องอาศัยฟ้าฝน ซึ่งไม่แน่ไม่นอน รวมถึงผลพวงจากแนวคิดนิยมการมีลูกหลายคน เพื่อจะได้ช่วยทำนาทำไร่
หมายเหตุ วิทยานิพนธ์ เรื่อง การศึกษาเชิงวิเคราะห์การใช้โวหารภาพพจน์ ที่ปรากฏในวรรณกรรมเพลงไทยลูกทุ่ง ศึกษาเฉพาะกรณีของราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ โดยศกุนตลา กะราลัย (ม.เกษตรศาสตร์ 2549)
ครูสลา กับภาพสะท้อนความจน
‘ปีนี้ฟ้าฝนดีคือเก่าสองตายายเฒ่าๆ ทำนาก้มสิบ่ไหว จำต้องใช้เงินหมู่ปักดำ จ้างคนไถคนทำซอยแฮงมีน้อย เฝ้ารอคอยเงินร้อยใช้ไปไม่พอ กู้ ธกส. ก็ยังไม่พอค่าปุ๋ยนาตอน’
คงไม่มีใครไม่รู้จัก สลา คุณวุฒิ ครูเพลงลูกทุ่งอีสานชื่อดังแห่งยุค ซึ่งฝากผลงานผ่านศิลปินเอาไว้มากมาย ซึ่งแทบทั้งหมดสะท้อนสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งด้านวิถีชีวิต เศรษฐกิจ ความเชื่อ ค่านิยม เป็นต้น
อย่างในเพลง แม่พ่อรอน้อง ที่ขับร้องโดยไมค์ ภิรมย์พร ก็พูดถึงปัญหาอมตะ คือ การมีหนี้สิน ที่เล่ากี่ครั้งก็ยังเหมือนเป็นเรื่องใหม่ จากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของไทย ที่ประชาชนต้องประสบปัญหาข้าวของแพง ซึ่งสินค้าเกษตรก็ไม่ยกเว้น
นอกจากปัญหาหนี้สินแล้ว เพลงของครูสลายังถ่ายทอดปัญหาความยากจนเอาไว้มากมาย ไม่เว้นแม้แต่การซื้อสินค้าเงินผ่อน ซึ่งหลายครั้งมาพร้อมความสนุกสนาน จนหลายคนอาจไม่ทันได้สังเกต
หมายเหตุ สารนิพนธ์เรื่อง การศึกษาภาพสะท้อนสังคมชนบทจากบทเพลง ของสลา คุณวุฒิ ที่ขับร้องโดยไมค์ ภิรมย์พร โดยญาณิกา อ้อมณฑา (ม.ศรีนครินทรวิโรฒ 2548)
ประจวบ วงศ์วิชา กับลูกทุ่งชาวใต้
‘พอฝนหลั่งจากฟ้าราตรี เศร้าอีกคืนนี้ คงไม่ได้ตัดยาง ของมันแพงสุดแพงไปทุกกทาง เราคนจนเกิดเป็นคนตัดยาง ใครช่วยได้บ้างราคายางให้ดี รอต้องรอต่อไปๆ’
ที่ผ่านเราต่างคุ้นชินกับวาทกรรมความจนในเพลงลูกทุ่ง ที่มักมีภาพตัวแทนเป็นชาวนา แต่บริบทที่ต่างออกไปอย่างภาคใต้ ‘ชาวสวนยาง’ จึงกลายเป็นหนึ่งอาชีพที่ถูกยกมาบอกเล่าปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ของคนหมู่มาก อย่างที่ปรากฏในเพลงคนสวนยาง ที่ประพันธ์โดย ประจวบ วงศ์วิชา
ชื่อของประจวบ วงศ์วิชา อาจไม่ได้รู้จักกันมาในยุคสมัยนี้ ด้วยเป็นนักประพันธ์เพลงลูกทุ่งรุ่นแรกๆ แต่ต่อมากก็มีชื่อเสียงเป็นวงกว้างในภาคใต้ จากเพลงอย่างเงาะโรงเรียน ก่อนที่จะขยับขยายประพันธ์เพลงให้กับนักร้องลูกทุ่งอื่นๆ ทั้งยอดรัก สลักใจ สันติ ดวงสว่าง
จุดเด่นอย่างหนึ่งในเพลงลูกทุ่งชาวใต้ของประจวบ คือ การสะท้อนวิถีชีวิตผู้คนผ่านหลากอาชีพ ทั้งอาชีพประมง อย่างในเพลงไอ้หนุ่มเรืออวน หรืออาชีพทำนา ในเพลงจดหมายจากราม นอกจากนี้ยังมีการบอกเล่าไปถึงการเมืองการปกครอง ความเชื่อศาสนา อีกด้วย
หมายเหตุ วิทยานิพนธ์ เรื่อง ภาพสะท้อนทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทยภาคใต้ ที่ปรากฏในวรรณกรรมเพลงลูกทุ่งของประจวบ วงศ์วิชา โดยชรินทร์ อินทะสุวรรณ์ (ม.ทักษิณ 2554)
ด้วยการเปลี่ยนแปลงในสังคมทุกหย่อมหญ้า ไม่รู้ว่าในการฟังเพลงลูกทุ่งครั้งต่อๆ ไป ระหว่างเมามันไปกับจังหวะสนุกสนาน หรือซาบซึ้งปานจะขาดใจ คงต้องลองหลับตาดู อาจจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น สังคมในแบบที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน