คนเราจะเป็นติ่ง หรือแฟนคลับใครซักคนไปได้ถึงอายุเท่าไหร่?
คำถามนี้เกิดขึ้นกับเรา เมื่อวันหนึ่งได้มีโอกาสไปงานเฟสติวัลคอนเสิร์ต และได้พบเจอกับแฟนคลับรุ่นคุณป้าอายุช่วง 40-70 ปีมากมายที่รอเข้าร่วมคอนเสิร์ต อี ชานวอน นักร้องเพลงทร็อตชาย (สไตล์เพลงลูกทุ่งของเกาหลี) ซึ่งเหล่าแฟนคลับคุณป้านั้นต่างก็สวมชุดสีพีช สีประจำของอี ชานวอน ถือป้ายเชียร์ แท่งไฟ ต่อแถวถ่ายรูปกับสแตนดี้ศิลปิน และทำทุกอย่างเหมือนแฟนคลับติ่งเกาหลี K-pop วงอื่นๆ แต่สิ่งที่แตกต่างกันคงเป็นเพียงแค่ช่วงวัย
วัฒนธรรมอาจุมม่า หรืออาจอชี่แฟนด้อม (ภาษาเกาหลีคือ ป้า และลุง) ไม่ได้มีแค่กับแฟนคลับของอี ชานวอนเท่านั้น แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมอาจุมม่าแฟนด้อมเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในเกาหลี โดยเฉพาะกับนักร้องทร็อต ทำให้เหล่าคนแก่ แก่ลงกันได้เพียงแค่ร่างกาย แต่จิตใจกลับมากระชุ่มกระชวยเป็นหนุ่มสาว หันมาเรียนรู้วัฒนธรรมการเป็นติ่ง มาเป็นแฟนเกิร์ล และสนับสนุนศิลปินที่รักอย่างสุดใจ
อาจุมม่า อาจอชี่แฟนด้อม
หลายคนอาจจะจินตนาการตัวเองในวัยเลข 7 ว่า จะอยู่บ้านเลี้ยงหลาน เกษียณจากงานออกมาพักผ่อน แต่ในวัย 71 ปี ของคิม อิมคยอง เธอกลายมาเป็นแฟนเกิร์ลของอิม ยองอุง อีกหนึ่งศิลปินเพลงทร็อต บัลลาด ที่โด่งดังสุดๆ ในเกาหลีใต้ และเรียกได้ว่ามีอาจุมม่าแฟนด้อมที่ใหญ่ และทรงพลังที่สุด
อาจุมม่าคิม เหมือนแฟนเกิร์ลคนอื่นๆ เธอสะสมของสะสมของศิลปินที่เธอรัก อพาร์ทเมนต์ 3 ห้องในกรุงโซล ห้องหนึ่งในนั้น กลายเป็นพื้นที่สำหรับไอดอลของเธอ ที่ตกแต่งทั้งโปสเตอร์ สินค้า แท่งไฟ และในวันว่างๆ เธอยังสตรีมเพลงของอิม ยองอุงในช่องทางออนไลน์ เพื่อให้เพลงของเขาได้อยู่ในชาร์ตเพลงด้วย ไม่เพียงแค่ตัวเธอเอง คุณคิมยังบอกว่า เพื่อนๆ ของเธอยังพูดคุยเรื่องของอิม ยองอุง และเขาได้กลายมาเป็นหัวข้อสนทนาส่วนใหญ่ของพวกเธอด้วย โดยเธอให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ของเกาหลี The Korea Herald ว่า “ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ฉันไม่เคยชอบใครมากขนาดนี้เลย”
นอกจากผลงานเพลงแล้ว อิม ยองอุงยังโด่งดัง เป็นพรีเซนเตอร์สินค้า และบริการหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ ธนาคาร ซึ่งแน่นอนว่า แฟนๆ ของอิม ก็ต้องสนับสนุนบริการที่เขาเป็นพรีเซนเตอร์ด้วย คุณลุงลี วัย 59 และภรรยา ได้มาต่อแถวหน้าธนาคารฮานา ในโซล แม้จะเป็นเวลาเช้าตรู่ในช่วงหน้าหนาว “ฉันมาที่นี่กับภรรยาเพื่อรับการ์ดรูปถ่ายของอิม ยองอุง” ลี วัย 59 ปี กล่าว พร้อมเสริมว่าพวกเขาจะเปิดบัญชีออมทรัพย์อีกบัญชี เพื่อรับของที่ระลึกของนักร้อง
คลิปรีแอคศิลปิน แกะกล่องอัลบั้ม ที่เหล่าติ่งรุ่นอื่นๆ ทำ ติ่งรุ่นเก๋าเหล่านี้ ก็ทำอะไรแบบนี้ไม่แพ้กัน รยู โฮจิน วัย 65 ปี เจ้าของช่อง 젊은할배 59TV (แปลได้ว่า คุณปู่ยังหนุ่ม 59TV) ช่องซึ่งมีผู้ติดตามถึง 2.2 แสนคน ได้อัปโหลดวิดีโอมากมายที่เกี่ยวกับอิม ยองอุง ไปจนถึงวิธีการเป็นติ่งต่างๆ ไม่ว่าจะวิธีการโหวตรายการเพลงทางทีวีแบบเรียลไทม์ วิธีจองตั๋วคอนเสิร์ตให้ประสบความสำเร็จ ไปจนถึงข้อมูลเกี่ยวกับตารางงานของอิมให้แฟนๆ ได้ติดตามได้ด้วย นอกจากแฟนรุ่นสูงวัย ที่ต้องเรียนรู้วัฒนธรรมติ่งแล้ว บางครั้งสิ่งนี้ก็กลายมาเป็นกิจกรรมในครอบครัว ที่ลูกหลานต้องมาช่วยด้วยพ่อแม่ปู่ย่าเรียนรู้วัฒนธรรมติ่ง เหมือนอย่างนักแสดงสาว ปาร์ค โบยอง ไลฟ์เล่าเรื่องราวที่เธอต้องแข่งขัน กดบัตรคอนเสิร์ตอิม ยองอุง ให้พ่อแม่ด้วย
นอกจากนักร้องชายแล้ว นักร้องเพลงทร็อตหญิงเอง ก็มีแฟนคลับรุ่นลุง หรืออาจอชี่เช่นกัน ซงจงชุน ในวัย 50 เป็นแฟนคลับของนักร้องทร็อตหญิง ซง กาอิน เขาเล่าว่า เพลงของซงราวกับช่วยรักษาจิตวิญญาณที่แตกสลายของเขา เพราะมีเพลงหนึ่งพูดถึงบ้านเกิดที่สูญหาญ ทำให้เขานึกถึงบ้านเกิดจากมา เขาจึงไม่ลังเลที่จะสนับสนุนเธอ ในบ้านของเขายังมีรูปถ่ายขนาดยักษ์ของซง สินค้าสีชมพูอันเป็นสีประจำของเธอ รวมไปถึงของสะสมตั้งแต่ผ้ากันเปื้อนไปจนถึงหมอนอิงที่มีรูปถ่ายของนักร้องสาว
“เราแก่แล้ว และพวกเราหลายคนในวัย 50 ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ เราจึงไม่ต้องคิดที่จะใช้จ่าย แต่ถ้าคุณเป็นแฟนคลับไอดอล (K-pop) คุณต้องทำงานพาร์ทไทม์เพื่อซื้อบัตรคอนเสิร์ต”
ซองเป็นหัวหน้าแฟนคลับของซงกาอิน ที่ชื่อว่า AGAIN ซึ่งมีสมาชิก 57,000 คน ใน 6 ภูมิภาค กลุ่มแฟนคลับยังไกด์บุ๊ก วิธีการสมัครรับข้อมูลเว็บไซต์สตรีมมิ่ง และมิวสิกวิดีโอของเธอ
นอกจากป้าๆ ลุงๆ ที่เรายกตัวอย่างมาเล่าแล้ว ยังเป็นเรื่องง่ายที่ในเกาหลี ตามร้านอาหาร ร้านทำผม หรือร้านขายของ จะพบซาจังนิม (เถ้าแก่เจ้าของร้าน) ที่เป็นแฟนคลับอิม ยองอุง หรือนักร้องเพลงทร็อต และติดภาพโปสเตอร์ ลายเซ็น แสดงความรักตามกำแพงของร้านอย่างเห็นได้ชัดเลย
เพลงทร็อต คอนเสิร์ต และการเป็นติ่ง ที่เยียวยาจิตใจและร่างกายของติ่งสูงวัย
ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลก เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัย เกาหลีเองก็เป็นประเทศหนึ่งที่พบเจอกับปัญหาเช่นนี้ ตามชนบท ชานเมือง คนแก่หลานคนอาศัยลำพัง สูญเสียสามีหรือภรรยาที่เป็นคู่ครอง ใช้ชีวิตอยู่อย่างเศร้าซึม แต่หลายๆ คนก็ออกจากความเศร้า เหงา และโดดเดี่ยวเหล่านี้ได้ ด้วยการฟังเพลง ร้องเพลง เข้าชมรมเพลงทร็อต และกลายเป็นติ่ง
มุน ฮเยจิน วัย 42 คุณแม่ที่ใช้เวลาในตลอดช่วงวัยเลข 3 ของตนกับการเลี้ยงลูก ตอนนี้เมื่อลูกๆ เริ่มโต และใช้ชีวิตของตัวเอง เธอรู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่าอยู่ข้างใน จนได้พบกับอิม ยองอุง และเริ่มลงทะเบียนเป็นสมาชิกในแฟนคาเฟ่ หลังจากนั้น เธอเริ่มเขียนเกี่ยวกับอิมยองอุงบนป้ายแบนเนอร์งานบริจาค และนั่นคือตอนที่เธอรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ รู้สึกสบายใจ แม้แต่สามีของเธอเองก็ยังรู้สึกขอบคุณแฟนด้อมของอิม ยองอุง เพราะเขาเห็นว่า ภรรยาของเขามีความสุขมากขึ้นนับตั้งแต่เธอมาเป็นส่วนหนึ่งของแฟนด้อม
นอกจากกิจกรรมติ่งอื่นๆ ที่เหมือนกับแฟนคลับไอดอลเคป๊อปแล้ว ด้อมอาจุมม่านี้ ยังทำกิจกรรมอย่างบริจาค และส่งของขวัญในนามศิลปินเหมือนกันด้วย เพราะวัย 40-70 ปีนี้ พวกเขาจึงเป็นกลุ่มแฟนคลับที่มีรายได้ และงานที่มั่นคง พวกเขาก็มักส่งของขวัญอย่าง ฟู้ดทรัก ไปยังสถานที่ที่ศิลปินมีถ่ายทำ ออกงาน หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมอาสาสมัครต่างๆ เช่น ทำกิมจิ บริจาคให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เป็นอาสาสมัครในบ้านพักคนชรา เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นภายใต้ชื่อแฟนคลับ ทำให้พวกเขาได้พบเพื่อนรุ่นเดียวกัน และทำกิจกรรมพร้อมๆ กับการเป็นติ่งด้วย
กิจกรรมอย่างคอนเสิร์ต ยังแตกต่างจากคอนเสิร์ตไอดอลเคป๊อปทั่วๆ ไป เพราะมีเซอร์วิสที่หลากหลาย เพื่อคนสูงวัย ทำให้พวกเขาได้เอนจอยกับการไปคอนเสิร์ตแบบไม่ลำบาก อย่างในคอนเสิร์ตของอิมยองอุง ก็มีจอใหญ่ๆ ทั่วทั้งฮอลล์คอนเสิร์ต เพื่อให้แฟนสูงวัย เห็นหน้าศิลปินคนโปรดชัดๆ การมีบริการห้องน้ำที่มากกว่าปกติ เพื่อแฟนคลับจะได้ไม่ต้องต่อคิวรอนาน และมีไปจนถึงสตาฟที่ให้คุณยายขี่คอขึ้นไปที่ที่นั่งในฮอลล์คอนเสิร์ตด้วย
นอกจากกิจกรรมแฟนด้อมที่ปลุกหัวใจแฟนๆ แล้ว เนื้อเพลง อารมณ์เพลง ก็ยังทัชใจคนสูงอายุ เพราะในเกาหลีใต้เพลงเคป๊อปกลายเป็นเพลงกระแสหลัก คนสูงวัยเหล่านี้ก็รู้สึกว่ายากที่จะหาเพลงที่พวกเขามีอารมณ์ร่วมได้ จนกระแสของเพลงทร็อตกลับมาโด่งดังอีกครั้ง
“ประเทศของเรากำลังเข้าสู่วัยชรา แต่ก็ยากที่จะหาเพลงที่สร้างความเห็นอกเห็นใจให้กับผู้สูงอายุ เพราะเพลงนี้เน้นไปที่ไอดอลมากเกินไป” ปาร์ค อูจุง สมาชิก Age of Hero แฟนคลับของอิม ยองอุงกล่าว “แต่เมื่อฟังยองอุง ฉันพบว่าเสียงของเขาไพเราะและปลอบโยน”
ศาสตราจารย์ซน มินจอง ศาสตราจารย์ด้านดนตรี ที่มหาวิทยาลัยการศึกษาแห่งชาติเกาหลี ผู้ศึกษาแนวเพลงทร็อตมากว่า 20 ปี ก็กล่าวว่า แฟนคลับกลุ่มผู้สูงอายุได้รับการปลอบใจจากเพลงทร็อต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก เช่น เมื่อเผชิญกับวิกฤติการเงินในเอเชียในปี 1997-1998 “ลักษณะสำคัญของเพลงทร็อตคือ ดนตรีนำความทรงจำร่วมกันเกี่ยวกับครอบครัวและความสูญเสียที่ผู้คนต้องเผชิญในชีวิตกลับมา” ทั้งความเศร้าโศกและความปรารถนาที่อิมมอบให้ผ่านเพลงของเขาสะท้อนใจแฟนๆ รุ่นเก่าๆ เพราะพวกเขาเชื่อว่าเขาเข้าใจชีวิตที่ถูกพันธนาการ
ศาสตราจารย์ซนยังชี้ให้เห็นว่าแฟนเพลงวัยกลางคนและวัยสูงอายุไม่ใช่ผู้ฟังทางเดียว ที่เลือกฟังเพลงอะไรก็ตามที่เล่นในทีวีหรือวิทยุอีกต่อไป “ตอนนี้พวกเขาสามารถใช้แพลตฟอร์มสื่อต่างๆ เพื่อสร้างวัฒนธรรมของตนเองได้” เธอกล่าว
นักวิจารณ์เพลง ชา อูจิน ยังพูดถึงด้อมอาจุมม่า อาจอชี่ว่า “ในขณะที่วัยรุ่นสร้างวัฒนธรรมแฟนเคป๊อป พ่อแม่และปู่ย่าตายายของพวกเขาได้เรียนรู้มากมายจากพวกเขาเกี่ยวกับวิธีสนับสนุนศิลปินและสร้างชุมชน” แต่ถึงอย่างนั้น อิม ยองอุน ก็ยังทำเพลแนวอื่นๆ ในอัลบั้ม เพื่อขยายฐานแฟนคลับไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วย “จึงเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจที่จะได้เห็นดนตรีในเกาหลี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ระหว่างรุ่นต่างๆ”
แต่ไม่เพียงแค่จิตใจ แต่การเป็นติ่ง ยังส่งผลต่อเรื่องการรักษาสุขภาพ และร่างกายของแฟนคลับรุ่นสูงวัยด้วย เพราะจากไอดอล ที่บอกให้แฟนคลับในวัยเรียนตั้งใจเรียน จนกลายเป็นแรงผลักดันของหลายๆ คน ศิลปินเหล่านี้ ยังมักบอกกับแฟนคลับรุ่นนี้ ให้รักษาสุขภาพ และตรวจสุขภาพเป็นประจำ จนเป็นผลที่เห็นได้จริงด้วย
ในคอนเสิร์ตของอิม ยองอุง เขาได้อ่านจดหมายจากแฟนคลับที่เล่าว่า เธอค้นพบมะเร็งตั้งแต่เนิ่นๆ และรักษาหายขาด เพราะไปตรวจสุขภาพตามที่ยองอุงพูด “ขอบคุณคุณฮีโร่ ฉันได้ตรวจสุขภาพและได้รับการรักษาหลังจากการวินิจฉัยมะเร็งในระยะแรก ยาที่ฉันมักจะกินกับการส่องกล้องตรวจลําไส้ใหญ่นั้นน่าขยะแขยงและยากมาก จนอยากหลีกเลี่ยงทุกครั้ง แต่คราวนี้คุณฮีโร่บอกให้ฉันตรวจสุขภาพ ดังนั้นยาที่น่าขยะแขยงจึงรู้สึกเหมือนน้ำผึ้ง และตรวจสุขภาพเสร็จอย่างสบาย” เธอเล่าในจดหมาย
“ขอบคุณคุณ ฉันได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งระยะแรก และฉันได้รับการรักษา ฉันซาบซึ้งและรักคุณจริงๆ” แฟนคลับกล่าว เมื่ออ่านจดหมาย ยองอุงเองก็บอกว่าเขาดีใจจริงๆ ที่แฟนคลับของเขาพบมะเร็งในช่วงแรก และรักษาจนหายขาดได้ ซึ่งไม่ใช่กับแค่แฟนคลับรายนี้ แต่อิม ยองอุง มักเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสุขภาพ และไปตรวจสุขภาพกับเหล่าแฟนๆ ของเขา จนมีรายงานว่า อัตราการตรวจสุขภาพเพิ่มขึ้นมา
นอกจากนี้ ยังมีชาเลนจ์ที่แฟนๆ ทำกันขึ้นมา อย่างชาเลนจ์ ‘นาคอนแนชาง’ ซึ่งย่อมาจากคำว่า ฉันดูแลสุขภาพของฉัน ที่เหล่าแฟนๆ จะเข้ารับการตรวจสุขภาพ และออกกําลังกายตามคําขอของนักร้องหนุ่มด้วย
และสำหรับเรื่องนี้ ลูกๆ หลานๆ เองก็ต่างออกมาขอบคุณอิม ยองอุง เพราะพ่อแม่ และปู่ย่าตายายของพวกเขา มักไม่ฟังเมื่อลูกหลานขอให้ไปโรงพยาบาล แต่เมื่อเป็นนักร้องคนโปรดพูดนั้น ทำให้พวกเหล่าคนสูงวัยยอมทำตามด้วยความรักอย่างง่ายดาย
อ้างอิงจาก