หลายสิบปีก่อนชีวิตลูกจ้างในเพลงลำบากยังไง ทุกวันนี้ชีวิตแรงงานในเพลงก็ยังลำบากเหมือนเดิม ?
ข้อความข้างต้นคือคำถามที่ผุดขึ้นในใจ ทันทีที่เครื่องฟังเพลงดันสุ่มเปิดเพลง ‘ผู้อยู่เบื้องหลัง’ เพลงที่เล่าถึงความลำบากของแรงงานผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างปัจจัย 4 ขับร้องโดย ไมค์ ภิรมย์พร ขวัญใจผู้ใช้แรงงานและศิลปินลูกทุ่งชื่อดัง
นอกจากดนตรีและเสียงเพราะๆ ของไมค์ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เพลงดังกล่าวปล่อยออกมาตั้งแต่ปี 2539 (ราว 26 ปีก่อน) แต่ดูเหมือนจะยังใช้อธิบายสังคมไทยในปัจจุบันได้อย่างน่าประหลาด แหงละ ทุกวันนี้เราก็ไม่รู้ว่าคนทำงานที่สรรค์สร้างบ้านเมืองคือใคร มีหน้าตาและพื้นเพแบบไหน หรือมองไม่เห็นทุกกระบวนการทำงานว่าเป็นอย่างไร
ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราไม่รู้ว่าเสื้อผ้าที่สวมใส่ผลิตขึ้นแบบไหน กระทั่งบทความที่กำลังอ่านถูกเขียนขึ้นมาอย่างไร ไหนจะเพลง ‘ละครชีวิต’ ที่ปล่อยออกมาในปีเดียวกัน ที่ก็ร้องถึงชีวิตคนตกงานบ่อยจนแทบไม่มีเงินซื้ออาหาร
แต่เพลงในอดีตก็อาจอธิบายครอบคลุมแค่สภาพสังคมในอดีต? เมื่อแย้งตัวเองแบบนั้น เราจึงทดลองค้นหาเพลงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตแรงงาน ก่อนจะเจอว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 (4 เดือนที่แล้ว) เพิ่งจะมีเพลง ‘เสาหลักของบ้าน แรงงานของนาย’ ที่ เบียร์ พร้อมพงษ์ ยังขับร้องถึงชีวิตยากๆ ของแรงงานและความกดดันจากเจ้านายอยู่เลย
…แปลว่าคุณภาพชีวิตแรงงานไทยอาจไม่พัฒนาขึ้นมากนัก?
การสร้างงานวรรณกรรมมักเกิดจากการเอาสภาพสังคมรอบตัวมาเป็นสารตั้งต้นในการผลิต อีกสถานะของวรรณกรรมจึงกลายเครื่องสะท้อนสภาพสังคมนั้น ซึ่งเพลงก็ถือเป็นหนึ่งในงานวรรณกรรมเช่นกัน ดังนั้น หากงานวิชาการอธิบายว่างานวรรณกรรมคือกระจกสะท้อนสังคมได้ฉันใด เพลงลูกทุ่งเหล่านี้คงเป็นหลักฐานสะท้อนชีวิตที่ตรากตรำลำบากของแรงงานได้ฉันนั้น
ขณะเดียวกัน มีนักวิชาการที่อธิบายว่า เพลงลูกทุ่งช่วยสะท้อนสภาพของคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์ทางสังคม และตอบสนองความต้องการด้านจิตใจของผู้ใช้แรงงาน ดังนั้น เนื้อหาในเพลงส่วนใหญ่จึงสะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดของคนยากไร้ในสังคม และถ้อยคำที่ปรากฎในเพลงจึงแสดงถึงความจริงใจและแฝงไว้ด้วยข้อเท็จจริง
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีเพลงลูกทุ่งที่เล่าถึงความลำบากของแรงงานอย่างไรบ้าง The MATTER ชวนสำรวจปัญหาคนใช้แรงงานจากเพลงลูกทุ่งไปด้วยกัน
(ปล. ฟังเพลย์ลิสต์นี้ผ่าน spotify กันได้ที่: https://open.spotify.com/playlist/7ieC1jdYFiHIg1ZMXUjoOl?si=63811868975746d9)
1. ผู้อยู่เบื้องหลัง – ไมค์ ภิรมย์พร (2539)
“ตึกนี้สูงใหญ่มือไผเล่าสร้าง ทั่วทุกเส้นทาง ไผสร้างไผเฮ็ดถนน นั่งนอนซำบาย ฮู้บ่ไผหนอทุกข์ทน กรำแดด กรำฝน แบกขนนั่นแม่นผู้ใด (แบกของนั่นใครกัน)” นี่คือวรรคแรกและวรรคทองของเพลงผู้อยู่เบื้องหลัง เพลงที่เล่าถึงชีวิตแรงงานกรรมกรผู้สร้างเมือง สร้างตึกสูง สร้างถนน ผลิตเสื้อผ้า ปลูกข้าว ยันดูแลความสะอาด เรียกได้ว่ารับจบเกือบครบทุกงานใช้แรง
คีย์เวิร์ดสำคัญคือการเล่าถึงชีวิตแรงงานในฐานะ ‘ผู้อยู่เบื้องหลัง’ ที่แทบไม่มีตัวตนในสายตาใครหลายคน เพลงตั้งคำถามกับเราว่า รู้ไหมใครสร้างตึกสูง? รู้ไหมใครปลูกข้าว? รู้ไหมใครผลิตเสื้อผ้า? รู้ไหมใครสร้างสรรค์สังคมขึ้นมา? ก็แรงงานไงจะใครอีก!
นี่จึงอาจสะท้อนได้ว่า สังคมกำลังมองแรงงานเป็นแค่ ‘เครื่องมือในการผลิต’ แต่ไม่ได้รับรู้ถึงกระบวนการผลิต ไม่รับรู้ว่าสินค้าและบริการถูกสร้างมูลค่าขึ้นมาอย่างไร หรือลำบากขนาดไหน
นอกจากชีวิตที่ถูกมองเป็นแค่เครื่องมือการผลิตแล้ว เพลงยังสะท้อนถึงปัญหาที่ใครหลายคนอาจเคยเจอในที่ทำงานด้วย เช่น การทำงานหนักแต่ไม่มีใครชื่นชมเมื่อทำสำเร็จ หรือการทำงานที่ต้องตากแดดตากฝน เป็นต้น
ฟังกันได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=Gcezg55Ihbg
2. ละครชีวิต – ไมค์ ภิรมย์พร (2539)
“หมดแรงอ่อนล้า นี่แหละหนาคนจน สู้และดิ้นรน บางครั้งก็โดนผู้คนลวงล่อ ตกงานบ่อยครั้ง เงินซื้อข้าวยังไม่พอ มันท้อมันตรมเพียงใด ช้ำใจ ปวดร้าว” อีกหนึ่งเพลงเล่าชีวิตจากปี 2539
ขณะที่ใครบางคนอาจสุขใจกับการกินไข่ต้มคลุกน้ำปลา คนทำงานบางคนอาจมีเงินไม่พอซื้อข้าวด้วยซ้ำ บทเพลงข้างต้นสะท้อนให้เห็นความลำบากทุกข์ยากของผู้คนที่ต้อง ‘สู้และดิ้นรน’ จนหมดแรง หนำซ้ำยังต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงในชีวิต ต้องมาเสี่ยงตกงาน หรือไม่มีเงินพอซื้ออาหาร
ดูเหมือนว่าปัญหาใหญ่ของแรงงาน คือ ความจนและสภาวะมีเงินไม่พอใช้ เพราะนอกจากท่อนด้านบน ท่อนอื่นที่ปรากฎในเพลงนี้ — “ใช้แรงแลกเงินเช้าค่ำ แต่มันต้องช้ำ ทำมาหาได้ไม่พอ” — ก็เป็นอีกท่อนที่สะท้อนถึงการมีเงินไม่พอใช้ แม้จะทำงานหนักแลกเงินตั้งแต่เช้าจรดค่ำ คล้ายกับเป็นเสียงเรียกร้องต่ออัตราค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ฟังกันได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=bJ8NF4SLhb8
3. ดอกหญ้าในป่าปูน – ต่าย อรทัย (2545)
“เอาแรงเป็นทุน สู้งานเงินเดือนต่ำต่ำ เก็บเงินเข้าเรียนภาคค่ำ ก่อความหวังบนทางเปื้อนฝุ่น” แม้จะเข้าสู่ปี 2545 แล้ว แต่ดูเหมือนว่าเพลงเล่าชีวิตแรงงานจะยังคงตัดพ้อเรื่องค่าแรงอยู่เลย
เพลงนี้เล่าถึงชีวิตหญิงสาววัยจบมัธยมปลายที่ต้องจากบ้านเกิดไปทำงานในป่าปูนเมืองใหญ่ แทบทุกวรรคของเพลงนี้เล่าเรื่องราวของชีวิตแรงงานพลัดถิ่นได้ดีทีเดียว ไม่ว่าจะการจากบ้านมาทำงานด้วยต้นทุนที่ไม่สูงนัก เช่น มีเพียงกางเกงยีนส์เก่าๆ เสื้อผ้าราคาถูกๆ และกระเป๋า 1 ใบ แต่ก็ไม่พ้นจะต้องมาเป็นลูกจ้างค่าแรงต่ำ ใช้แรงเป็นต้นทุนทำงาน เพื่อถีบตัวเองเข้าหาวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้นกว่าเดิม
อันที่จริง ดอกหญ้าในป่าปูนสะท้อนให้เห็นเหมือนกันว่า สังคมเรานั้นไม่มีทางเลือกให้กลุ่มคนการศึกษาไม่สูงมากนัก จนบีบบังคับให้พวกเขาต้องทำงานใช้แรงเพื่อแลกเงินตรา รวมถึงความเจริญที่กระจุกตัวแค่ในเมืองใหญ่ จนทำให้ผู้คนมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มที่ไร้วุฒิการศึกษา ต้องดั้นด้นมาทำงานในเมือง
ฟังกันได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=kGHBFvG5R1Q
4. กรรมกรแก้มแดง – ต่าย อรทัย (2548)
ชื่อเพลงอาจดูน่ารัก แต่เนื้อหาเพลงนี้เล่าถึงกรรมกรสาวที่ขายแรงงานในฐานะพนักงานบริการลูกค้า (นางเอกมิวสิควีดิโอเป็นพนักงานร้านอาหารในห้าง) จึงต้องแต่งหน้าแต่งตัวให้ดูสุภาพและสวยงามเหมาะสมกับตำแหน่ง
แม้ตำแหน่งที่ทำจะได้แต่งตัวงามๆ แต่งหน้าสวยๆ แต่เพลงก็เล่าว่างานที่ทำก็ยังเป็นงานใช้แรงงานและเงินเดือนต่ำ จึงเป็นอีกเพลงที่สะท้อนปัญหาค่าแรงไม่เพียงพอ …ปลายปี 40 แล้วนะ แต่ดูเหมือนเงินค่าแรงจะยังเป็นปัญหายอดฮิตของผู้ใช้แรงงาน
ท่อนที่น่าสนใจมากจากเพลงนี้ คือ “แอบร้องไห้ในห้องน้ำ เมื่อโดนคำย่ำใจขื่นขม คนจนล่ะบ่มีสิทธิ์จ่ม ซ่อนอารมณ์หลังรอยยิ้มงาม” เผื่อใครงง บริบทคือการที่แรงงานบ่นเป็นนัยๆ ว่าเมื่อโดนคนพูดแย่ๆ ใส่ก็ต้องแอบไปร้องไห้ในห้องน้ำ ไม่มีสิทธิบ่น และต้องซ่อนอารมณ์โศกเศร้าหลังรอยยิ้มงามๆ ซึ่งก็ชวนตั้งข้อสังเกตว่า แรงงานอาจไม่มีสิทธิที่จะซื่อสัตย์ต่ออารมณ์ตัวเองในเวลาทำงาน
การแอบร้องไห้ในห้องน้ำ คงไม่เศร้าเท่ากันที่ต้องกดอารมณ์ของตัวเองไว้ใต้รอยยิ้มเพราะอาชีพพนักงานบริการ แรงงานมักถูกคาดหวังให้ใช้อารมณ์และบุคลิกในการทำงานเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับนายจ้าง สถานะของแรงงานบาทประเภทจึงไม่เพียงแค่ถูกใช้งานทางกาย แต่ต้องถูกใช้งานทางอารมณ์ด้วย เช่น พนักงานเสิร์ฟที่ต้องยิ้มแย้มตลอดเวลาเพื่อสร้างบรรยากาศรื่นรมย์ เป็นต้น
ฟังกันได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=5zcwosryQBQ
5. เขียนฝันไว้ข้างฝา – รัชนก ศรีโลพันธุ์ (2549)
“เช่าห้องโทรมซุกนอน เพื่อลดทอนรายจ่าย จะเก็บเงินพันสักใบ ต้องใช้เวลาหลายเดือน” เนื้อเพลงก็ตรงไปตรงมา สะท้อนว่า ชีวิตลูกจ้างพลัดถิ่นต้องเผชิญกับรายได้ที่ไม่เพียงพอและคุณภาพที่อยู่อาศัยที่ย่ำแย่
หากไม่ทันสังเกต เราเดินทางมาถึงเพลงที่ 5 ซึ่งปล่อยออกมาเมื่อปี 2549 ห่างจากเพลงแรกที่หยิบมาเล่า (เพลงผู้อยู่เบื้องหลัง) ถึง 10 ปีเต็ม ตลกร้ายที่เพลงยังคงเล่าเรื่องความจนและเงินค่าแรงอยู่เหมือนเดิม
อีกประเด็นปัญหาสำคัญที่อยากชวนมองนอกจากค่าแรง คือ ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยซึ่งไม่มีคุณภาพ ชัดเจนว่าเมื่อเงินเดือนน้อย ทางเลือกด้านที่อยู่อาศัยก็จะลดลง ซึ่งการอยู่ในที่พักที่ไม่ได้มาตรฐานเพียงพอย่อมส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาวะและความปลอดภัย
ทั้งนี้ เพลงเล่าด้วยว่า งานที่ได้ทำไม่ตรงกับที่เรียนจบมา แต่ก็ต้องรีบคว้างานไว้ก่อนเพราะลำบาก จะเห็นได้ว่าตัวละครในเพลงก็ขวนขวายหาความรู้มาแล้ว แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างจึงเลือกงานไม่ได้นัก
การจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อาจเริ่มที่ตัวแรงงานฝ่ายเดียวไม่ได้ และการ “เขียนติดฝาห้องว่าต้องสู้ไหว” คงจะเป็นวิธีเดียวที่เพลงนี้ใช้ปลอบประโลมตัวเอง
ฟังกันได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=rz7Ts82cXZM
6. ถนนค้นฝัน – ตั๊กแตน ชลดา (2550)
เข้าสู่เพลงจากปี 2550 อย่างเป็นทางการด้วยเพลงถนนค้นฝัน เพลงที่ท่อนฮุกร้องว่า “ยืนบนถนนคนสู้เพื่อฝันลำพัง คว้างดังเศษฟางที่ถูกลมพัดมาไกล จากเช้าจรดเย็นต้องเป็นคนมีเจ้านาย เลิกงานค่อยมีลมหายใจเป็นของตัวเอง”
เพลงเล่าแกมตัดพ้อว่า จากเช้าจรดเย็นต้องเป็นคนมีเจ้านาย พอเลิกงานถึงค่อยมีลมหายใจเป็นของตัวเอง เชื่อว่านี่เป็นปัญหาที่คนทำงานทุกคนต้องเคยรู้สึกเหมือนกันบ้างแหละ ระหว่างทำงาน เราแทบไม่มีโอกาสได้ควบคุมอะไรเท่าไหร่นัก แน่ละ ก็ต้องทำงาน ต้องประชุม หรือต้องจัดการอะไรก็แล้วแต่ตามที่ได้รับมอบหมายจากองค์กร เลิกงานเท่านั้นจึงจะเป็นช่วงเวลาที่เราเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองที่แท้จริง
นี่คงเป็นเรื่องยากที่ใครจะหนีได้ แต่ก็อยากชวนตั้งคำถามเช่นกันว่า ชีวิตแบบนี้คือชีวิตที่ดีสำหรับเราหรือไม่?
ฟังกันได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=1UX2z_0nvZ0
7. คนบ้านเดียวกัน – ไผ่ พงศธร (2551)
ฟังเผินๆ คงนึกว่าเป็นเพลงม่วนๆ สนุกๆ ธรรมดา แต่เพลงนี้คืออีกหนึ่งเพลงปลอบใจแรงงานพลัดถิ่นผู้เข้ามาทำงานในเมืองที่ต้องกับเผชิญปัญหาหนี้และปัญหาการถูกกดค่าแรง
ทั้งท่อนที่ร้องว่า “น้องตั๊กแตนเข้ามาเป็น สาวโรงงานเย็บผ้า แรงที่ใช้กับเงินที่ได้ ยังบ่เคยคุ้มค่า” และท่อน “นักเรียนมอปลายจากภาคอีสาน กลายเป็นแรงงานถูกกดราคา” ต่างสะท้อนให้เห็นชีวิตแรงงานที่ถูกกดค่าแรง ทำงานหนักแต่ได้เงินน้อย ปัญหาเดิมที่เพลงลูกทุ่งเคยเล่าตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา มากกว่าการสะท้อนความผูกพันธ์ของการเป็น ‘คนบ้านเดียวกัน’ เพลงนี้จึงสื่อสารและแสดงออกซึ่งความเข้าอกเข้าใจคนหัวอกเดียวกันที่ต้องหิ้วกระเป๋าจากบ้านมาเผชิญปัญหาจากการทำงานในเมือง เพราะแค่มองตากันก็เข้าใจว่าเหนื่อยและหนักแค่ไหน
ทั้งนี้ คนบ้านเดียวกันยังสะท้อนให้เห็นคลื่นการโยกย้ายของแรงงานที่เข้ามาในเมืองหลวง เพลงเล่าถึงชีวิตคน 3 คนที่มาหาเงินใน กทม. เพราะเหตุผลทางการเงิน เช่น “อ้ายทิดเคนเข้ามาเป็นคนขับแท็กซี่ จากร้อยเอ็ดเฮ็ดนา (ทำนา) ได้ เอาไปใช้แต่หนี้” ที่ทั้งช่วยให้เราเห็นปัญหาความยากจนอันบีบคั้นให้คนต้องเข้ามาทำงานในเมือง และปัญหาการพัฒนาแบบกระจุกตัวที่ทำในนอกกรุงเทพฯ แทบไม่มีงานให้ทำ
สถานการณ์เช่นนี้ยังคงซ้ำรอยกับเหตุการณ์ในหลายสิบปีก่อนหน้านั้น ยิ่งกว่านั้น หากเอาเพลงจากปี 2551 มาเทียบกับปัจจุบันอาจไม่เห็นความแตกต่างจากเดิมนัก เพราะคนทำงานรุ่นใหม่หลายคนยังต้องจากบ้านเกิดมาเช่าห้องทำงานในกรุงเทพฯ เพราะภูมิลำเนาไม่มีงานอะไรให้ทำ
ฟังกันได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=wv-G-kM9pUs
8. ดอกนีออนบานค่ำ – ตั๊กแตน ชลดา (2551)
“เป็นลูกจ้างตังค์น้อย ลำบากเท่าใดบ่ยั่น (ไม่กลัว) ดึกๆ ดื่นๆ ยังยืนสู้งาน เหนื่อยก็โทรหากันเนาะเราคนภาคค่ำ” อีกหนึ่งเพลงจังหวะสนุกๆ แต่เรื่องเล่าที่แฝงมาในเพลงกลับไม่ได้สนุกด้วย
ปี 2551 เพลงก็ยังคงเล่าถึงปัญหาค่าแรงน้อย พ่วงมาด้วยประเด็นการทำงานกะดึกผ่านการพูดถึงชีวิตแรงงานที่ต้องทำงานตอนกลางคืน ทั้งงานเสิร์ฟร้านอาหารกลางคืน ทำโอทีในโรงงาน และทำงานเซเว่น
โรงพยาบาลรามาธิบดีให้ข้อมูลไว้ว่า การทำงานเป็นกะสร้างผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะคนทำงานกะดึกที่อาจเผชิญกับอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลียจากเวลานอนที่แปลกไป นอกจากนี้ การทำงานกลางคืนนำมาสู่ความเสี่ยงทางสุขภาพอื่นๆ ด้วย เช่น ร่างกายขาดวิตามิน D ปัญหาการนอน ฮอร์โมนทำงานได้ไม่เต็มที่ เป็นต้น
จริงอยู่ที่เพลงอาจบอกว่าไม่กลัวที่จะต้องทำงานกลางคืน (คงเพราะความจนน่ากลัวกว่า?) แต่ก็ต้องยอมรับว่า แรงงานภาคค่ำมีความเสี่ยงทางสุขภาพที่ต้องเผชิญ ยังไม่รวมชีวิตทำงานแบบที่ไม่มี work life balance เพราะเพลงเล่าถึงการทำงานเกินเวลา (โอที) เพื่อเก็บเงิน ซึ่งการทำงานหนักเกินไปก็ส่งผลต่อสุขภาพเช่นกัน
ฟังกันได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=lFmsQbSKH-o
9. บ่มีสิทธิ์เหนื่อย – ไหมไทย ใจตะวัน (2553)
“จึงต้องเต็มที่กับชีวิตรายวัน งานหนักบ่ย่าน (ไม่กลัว) ย่าน (กลัว) แต่งานบ่มี ดีบ่ดี ก็ต้องทนสู้ไป” เพลงจังหวะสุดมันส์ชวนโยก แต่เล่าชีวิตแรงงานได้เจ็บแสบ
เพลงนี้สะท้อนชีวิตแรงงานรายวันที่ไม่กลัวงานหนักแต่กลัวไม่มีงานทำมากกว่า จึงต้องอดทนกับงานไม่ว่าสภาพจะดีหรือไม่ดีก็ตาม เป็นที่มาของเนื้อเพลงที่ร้องว่า “หนักครับพี่ แต่บ่มีสิทธิ์เหนื่อย” กลายเป็นอีกเพลงที่เล่าถึงปัญหาความไม่มั่นคงในการทำงานของลูกจ้างรายวัน
นอกจากนี้ เพลงยังสอดแทรกประเด็นทางการเมืองไว้อย่างน่าสนใจ (ดูจากปีที่ปล่อย ก็เป็นปีเดียวกับที่มีการชุมนุมทางการเมืองอย่างเข้มข้น) เพราะมีท่อนที่ร้องว่า “มีสิทธิ์เลือกตั้งก็สี่ปีต่อหน แต่มีสิทธิ์เลือกจนตลอดชีพครับพี่” และ “หนักครับพี่ แต่บ่มีสิทธิ์เมื่อย ชีวิตเปื่อยๆ ของราษฎรมือเปล่า เหมือนฟ้าตัดขาดบ่ยอมนับญาติกับเรา เดินแต่ละก้าวบ่พ้นเงาความจน” ไม่รู้เหมือนกันว่า ‘ฟ้า’ ที่ไหมไทยร้องนั้นหมายถึงอะไร
ฟังกันได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=-VVSaC8oT38
10. เสาหลักของบ้าน แรงงานของนาย – เบียร์ พร้อมพงษ์ (2565)
“อาจเฮ็ดหยังไปบ่ถืกใจหลายอย่าง ประสาลูกจ้างกระจอก กระจอกครับนาย ความบ่เก่งกระทบงาน ผมก็เข้าใจ คำว่าไล่ออกกะอย่าสิเว้าดู๋หลาย อีหลีครับนาย ได้ฟังแล้วผมมันกดดัน” เดินทางมาจนถึงเพลงจากยุคปัจจุบันอันเล่าถึงชีวิตแรงงานที่โดนเจ้านายด่า
โอโห จนปี 2565 แล้ว แรงงานยังต้องเผชิญปัญหาในการทำงานอยู่เลย แม้ประเด็นหลักอาจจะไม่ใช่เรื่องค่าแรงไม่พอ (แต่ก็มีบ่นว่าเป็นแค่แรงงานค่าแรงหลักร้อยนะ) แต่เนื้อหาก็สะท้อนถึงชีวิตยากๆ ของแรงงานที่ต้องเผชิญแรงกดดันจากเจ้านาย เสี่ยงต่อการโดนไล่ออก และมีชีวิตการทำงานที่ไม่มั่นคงเอาเสียเลย
ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานเมื่อถูกไล่ออก เนื้อหาโดยคร่าวระบุว่า เจ้านายจะต้องแจ้งล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร หรือต้องจ่ายเงินให้หากจ้างออกแบบไม่ทันตั้งตัว และต้องจ่ายค่าชดเชยด้วยกรณีที่ลูกจ้างไม่ผิดสัญญาบริษัท แต่เพลงที่ตัดพ้อนายจ้างถึงการไล่ออกอาจเป็นหลักฐานหนึ่งที่สะท้อนว่า กฎหมายเหล่านี้อาจมีปัญหาในการปฏิบัติใช้จริง
นอกจากนี้ เพลงยังสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างที่ดูเหมือนว่านายจ้างมีอิทธิพลเหนือกว่าคนทำงานจนน่าตกใจ ทั้งเนื้อหาของเพลงที่พินอบพิเทาต่อเจ้านาย เนื้อหาที่โทษตัวเองว่า ‘กระจอก’ ไม่มีความรู้หรือใบปริญญาเลยทำพลาด และเนื้อหาที่เล่าว่าเจ้านายมักพูดคำว่า ‘ไล่ออก’ อยู่บ่อยครั้ง
ฟังกันได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=nRtbDSdicgA
แน่นอนว่าศิลปะเหล่านี้อธิบายชีวิตแรงงานทั้งหมดทุกคนบนโลกไม่ได้ แต่บทเพลงได้ทำงานอย่างแข็งขันในการบอกเล่าและสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม หากดูช่วงเวลาที่เพลงปล่อยออกมาก็จะพบว่า ตั้งแต่ปี 2539 ถึง 2565 มีอย่างน้อย 10 เพลงที่เล่าถึงสรรพปัญหาและความยากลำบากของชีวิตแรงงาน ชวนอนุมานว่ากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ชีวิตแรงงานอาจยังไม่ดีขึ้นเท่าไหร่นัก หรือง่ายๆ ก็คือ เคยลำบากอย่างไร ทุกวันนี้ก็อาจจะลำบากอยู่อย่างนั้น
ประหลาดชะมัดที่เพลงเหล่านี้เชื่อมโยงกับคนทำงานอย่างเราจนน่าตกใจ แม้จะผ่านมาเป็นสิบปี หรือจะเพิ่งปล่อยเมื่อไม่กี่เดือนก่อนก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก
การศึกษาภาพสะท้อนสังคมจากบทเพลงของ สลา คุณวุฒิ ที่ขับร้องโดย ไมค์ ภิรมย์พร
ลักษณะความยากจนของคนอีสานที่ปรากฎในบทเพลงลูกทุ่งของศิลปิน ไมค์ ภิรมย์พร
Literature as a Reflection of the Society
Horgan, Amelia. Lost in Work: Escaping Capitalism. London: Pluto Press, 2021.