วิกฤต COVID-19 ทั้งปีก่อนและปีนี้ น่าจะทำให้หลายๆ คนได้สัมผัสกับคนที่ประกอบอาชีพหนึ่งมากขึ้น คือเหล่า ‘ไรเดอร์’ จากแพล็ตฟอร์มเดลิเวอรี่ต่างๆ ไม่ว่าจะจากแบรนด์สีชมพู สีเขียวเข้ม สีเขียวอ่อน สีม่วง สีแดง ฯลฯ
เพราะมาตรการ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ ทำให้เราต้องอาศัยนักขับเหล่านี้ นำสิ่งของ/อาหารที่ต้องการ จากผู้ส่งมาถึงมือผู้รับ โดยที่ไม่ต้องออกจากบ้าน
ที่ผ่านมา เราอาจได้เห็นข่าวไรเดอร์รวมตัวกันต่อรอง เรียกร้องอะไรบางอย่าง จากบริษัทเจ้าของแพล็ตฟอร์มกันอยู่บ่อยครั้ง
แล้วเราเคยรู้กันไหว่า ผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ เขามีชีวิตความเป็นอยู่ มีข้อเรียกร้อง มีความต้องการอะไรกันบ้าง ?
สัปดาห์ก่อน Rocket Media Lab เปิดเผยผลสำรวจชีวิตความเป็น1อยู่ของไรเดอร์ที่ทำงานกับแพล็ตฟอร์มส่งอาหาร (food delivery) จำนวน 1,136 คน ทั้งใน กทม.และปริมณฑล รวมไปถึงในจังหวัดอื่นๆ ทั้ง ศรีสะเกษ เชียงใหม่ พิษณุโลก สงขลา และทางออนไลน์ โดยสำรวจระหว่างเดือนมีนาคม – กรกฎาคม พ.ศ.2564
ซึ่งข้อมูลที่ออกมาน่าสนใจดี ทำให้เห็นชีวิตของคนในอาชีพนี้มากขึ้น เราจึงขออนุญาตหยิบมาถ่ายทอดต่อให้ได้อ่านกัน
- กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ เป็นไรเดอร์ส่งอาหารให้กับแพล็ตฟอร์มต่างๆ ดังต่อไปนี้ ฟู้ดแพนด้า 37.50% แกร็บฟู้ด 25.79% ไลน์แมน 25.62% โกเจ็ก 4.4% โรบินฮู้ด 2.38% อื่นๆ เช่น แอนท์เดลิเวอรี่ ลาลามูฟ หรือไรเดอร์ที่ทำงานมากกว่าหนึ่งแพลตฟอร์ม 1.42% และผู้ที่ไม่ระบุแพลตฟอร์มในแบบสอบถาม 2.89%
- เกิน 80% ของไรเดอร์ที่สำรวจเป็นผู้ชาย โดยช่วงอายุที่มาทำงานนี้มากที่สุด ได้แก่ระหว่างอายุ 23-30 ปี ตามมาด้วย 31-40 ปี และ 18-22 ปี เมื่อถามถึงระดับการศึกษา เกินครึ่งจบระดับมัธยมศึกษา ตามมาด้วย ป.ตรี
- ที่น่าสนใจคือ กว่า 60% ตอบว่าทำงานไรเดอร์ส่งอาหารเป็น ‘อาชีพหลัก’ ซึ่งมากกว่า 37% ทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง (ระยะเวลาทำงานแทบไม่ต่างจากพนักงานบริษัท) โดย 2/3 ต้องวิ่งมากกว่าวันละ 10 รอบ
- เมื่อถามถึงรายได้ เกือบครึ่งมีรายได้จากการเป็นไรเดอร์ส่งอาหารอยู่ที่ระหว่าง 10,001 – 15,000 บาท/เดือน (48.77%) ตามมาด้วยระหว่าง 15,001 – 20,000 บาท/เดือน (27.69%) และ 20,001 – 30,000 บาท/เดือน (10.76%)
- โดยเมื่อถามว่า รายได้จากอาชีพนี้เพียงพอหรือไม่ มีไรเดอร์ส่งอาหารกลุ่มตัวอย่างแค่ราว 15% เท่านั้นที่บอกว่า มีพอใช้และเหลือเก็บ
- ถามว่าทำงานอาชีพนี้เพื่อเลี้ยงคนกี่ปาก? ราว 1/3 ที่ตอบว่า ทำงานเลี้ยงตัวเองอย่างเดียว ที่เหลือตอบว่า ต้องเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว ระหว่าง 1-2 คน (38.41%) 3-4 คน (23.00%) และ 5 คนขึ้นไป (5.29%)
- ไรเดอร์ส่งอาหารเกิน 93% ตอบว่า เคยประสบอุบัติเหตุระหว่างทำงาน
- ถามถึงความต้องการ 5 อันดับแรก ได้แก่ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อประสบอุบัติเหตุ (26.06%) เปลี่ยนสถานะให้เป็นลูกจ้างแทนการเป็นพาร์ตเนอร์ (16.19%) ประกันสุขภาพ (13.38%) ประกันรายได้ขั้นต่ำต่อวัน (12.06% และประกันอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะอยู่ในเวลางานหรือไม่ (9.42%)
- สำหรับประกันสุขภาพ ที่ไรเดอร์ส่งอาหารที่ร่วมตอบแบบสอบถามให้ข้อมูล มีหลากหลายทั้งบัตรทอง ม.33 ม.39 ซื้อประกันเอง และอื่นๆ
- คำถามสุดท้าย หากมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานจะเข้าร่วมหรือไม่ 64.94% ตอบว่าต้องการเข้าร่วม และอยากให้มีกฎหมายกำกับแพล็ตฟอร์มหรือไม่ 66.22% ตอบว่าอยากให้มี
– ไปดูสรุปผลการสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของไรเดอร์ส่งอาหารโดย Rocket Media Lab ทั้งหมดได้ที่: https://rocketmedialab.co/rider