ปี 2560 เป็นอีกปี ที่ ‘คดีความ’ สำคัญหลายคดีมีความเคลื่อนไหวอย่างน่าสนใจ บางคดีเกิดใหม่คืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนคดีเก่าๆ ก็มาถึงบทสรุป แต่กลับมี ‘บางคดี’ ที่พอเวลาผ่านไป ข่าวคราวกลับค่อยๆ เงียบหายไปกับสายลม
The MATTER จึงขอรวบรวมคดีที่สูญหายหรือเราอยากรู้ข่าวคราว ไว้ในโพสต์ๆ นี้ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รู้ว่า อย่างน้อยๆ ก็ยังมีเราที่สนใจและติดตามอยู่ จนกว่าคดีเหล่านั้นจะถึงบทสรุป จนกว่าผู้กระทำผิดจะถูกลงโทษ หรือจนกว่าความยุติธรรมจะปรากฎ
เราจะยังไม่ ‘ลืม’ คดีเหล่านี้ไปง่ายๆ
(1) บอส อยู่วิทยา หนีคดีชนตำรวจตาย
เป็นคดีที่ช่วยตอกย้ำวลี ‘คุกมีไว้ขังคนจน’ เมื่อทายาทกระทิงแดง วรยุทธ อยู่วิทยา (บอส) หลบหนีสายตาเจ้าหน้าที่หนีออกนอกประเทศ ไม่มารับผิดในคดีขับรถชนตำรวจจราจรเสียชีวิต เมื่อปี 2555 โดยตำรวจถูกกล่าวหาทำสำนวนคดีนี้ล่าช้า จนข้อหาอื่นๆ หมดอายุความ เหลือเพียงข้อหาเดียว คือขับรถชนคนตายทำให้มีผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ ยังเลื่อนนัดพบอัยการถึง 7 ครั้ง จนมาหลบหนีไม่มาในครั้งที่แปด วันที่ 24 เม.ย.2560 นำไปสู่การออกหมายจับ
แถมการส่งเอกสารให้ตำรวจสากลเพื่อออกหมายจับแดง หรือ red notice ของตำรวจไทยก็ยังล่าช้าอีก อ้างว่าใช้เวลาแปลเอกสารตั้งครึ่งปี
ที่สุด ป.ป.ช. จึงเข้ามาตรวจสอบว่ามีใครละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยเหลือวรยุทธหรือไม่
(2) ทหารวิสามัญฯ ชัยภูมิ ป่าแส
เป็น ‘คดีปริศนา’ ที่ผู้เกี่ยวข้องให้ข้อมูลไปคนละทาง แต่สั่นสะเทือนไปถึงสถาบันกองทัพ
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560 เมื่อ ชัยภูมิ ป่าแส (จะอุ๊) นักกิจกรรมชาวลาหู่ อายุ 21 ปี ถูกทหารประจำด่านตรวจถาวรบ้านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ยิงวิสามัญจนเสียชีวิต โดยอ้างว่าชัยภูมิไม่ยอมให้ตรวจค้นยาเสพติด มีอาวุธ และพยายามต่อสู้ แต่พยานที่เห็นเหตุการณ์กลับบอกว่า ชัยภูมิให้ความร่วมมือค่อนข้างดี แต่ถูกซ้อม และถูกยิงหลังพยายามวิ่งหนี
หนึ่งในพยานหลักฐานสำคัญที่จะคลี่คลายปริศนานี้คือภาพจากกล้อง CCTV แต่ทางกองทัพไม่ยอมเปิดให้สาธารณชนได้พิจารณา อ้างว่า “ภาพในกล้องไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด” และแม้ปัจจุบันศาลจังหวัดเขียงใหม่จะเริ่มไต่สวนการตายของชัยภูมิแล้ว ทว่าก็ยังไม่มีภาพจากกล้อง CCTV ดังกล่าวมาเปิดให้กับญาติๆ ของผู้เสียชีวิตได้ดูแต่อย่างใด
ปลายทางคดีนี้จะเป็นอย่างไร ต้องติดตามตาไม่กระพริบ และอย่าหน่ายที่จะทวงถามความคืบหน้า
(3) ทุจริตจัดซื้อ GT 200
แม้วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กูรูด้านกฎหมาย จะไม่อยากให้เรียกคดีนี้ว่าเป็นการเสีย ‘ค่าโง่’ ให้เปลี่ยนเป็น ‘ค่าซื้อความรู้ที่แพงไปหน่อย’ แทน แต่การที่หน่วยงานราชการต่างๆ โดยเฉพาะกองทัพ จัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดเก๊ ถึง 1,400เครื่อง สูญเงินไปกว่า 1.1 พันล้านบาท โดยหลักแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องมีคนรับผิดชอบ ถูกไหม
อย่างไรก็ตาม ในการไต่สวนเพื่อเอาผิดทหารราว 40 นาย โดย ป.ป.ช. คดีกลับไม่มีความคืบหน้ามากนัก แม้ผู้เกี่ยวข้องบางคนจะเคยออกมาให้ข่าวว่าคดีใกล้จะได้ข้อสรุปแล้ว แต่ล่าสุด กลับทำได้เพียงแปลเอกสารคำพิพากษาที่ศาลอังกฤษลงโทษผู้ขายเท่านั้น
กับเงินหลักพันล้านบาทที่ต้องเสียไปฟรีๆ น่าสนใจว่าท้ายสุด ป.ป.ช.จะหาใครมารับผิดชอบได้หรือไม่
(4) เรือเหาะ ที่เหาะไม่ได้
สตง. เคยลั่นวาจาไว้ว่า ภายในเดือน ต.ค. 2560 จะเปิดเผยผลการตรวจสอบว่า ในการจัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์ของกองทัพบก มูลค่า 350 ล้านบาท ซึ่งตลอด 8 ปีแทบไม่ได้ใช้งาน ว่า “มีความคุ้มค่าทางงบประมาณหรือไม่” แต่บัดนี้เวลาก็ผ่านเส้นตายมาเนิ่นนานแล้ว ยังไม่มีการแถลงจาก สตง. แต่อย่างใด
การจัดซื้อเรือเหาะนี้ถูกท้วงมาแต่แรก ทั้งมีราคาที่สูงเกินจริง (มีการเอาไปเทียบกับการจัดซื้อเรือเหาะอื่นที่มีราคาเพียง 30-50 ล้านบาทเท่านั้น) และไม่เหมาะสมกับภารกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ ยังบินได้แค่ 1 ใน 3 ของสเปกเท่านั้น
อุปสรรคสำคัญในการคลี่คลายคดีนี้ก็คือ ป.ป.ช.เคยมีมติยกคำร้องไปแล้ว
ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ก็ระบุว่า หากจะตรวจสอบ ต้องตรวจสอบทั้งหมดว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง “เพราะผมไม่ใช่ผู้พิจารณาโดยตรง”
(5) กลุ่มพันธมิตรฯ ยึดสนามบิน
เป็นหนึ่งในคดีสำคัญช่วงวิกฤตการเมืองที่มีการแบ่งสีเสื้อ คือกรณีกลุ่ม ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ ยึดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ เพื่อขับไล่รัฐบาล ระหว่างเดือน พ.ย. – ธ.ค. 2551 ซึ่งแม้คดีแพ่งจะจบสิ้นแล้ว โดยศาลตัดสินให้แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ 13 คน อาทิ สนธิ ลิ้มทองกุล, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, พิภพ ธงไชย, สุริยะใส กตะศิลา ฯลฯ ร่วมกันชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากการยึดสนามบินดังกล่าว เป็นเงินกว่า 522 ล้านบาท
แต่ในส่วนของคดีอาญา ปัจจุบัน ยังแทบไม่ได้สืบพยานเลย เนื่องจากจำเลยทั้ง 97 คน เดินทางมาที่ศาลไม่พร้อมกัน โดยครั้งล่าสุด พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ป่วยรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ศิริราช ทำให้ศาลเลื่อนนัดสืบพยานไปเป็นกลางปี 2561 แทน
ไม่รู้เหมือนกันว่า เมื่อไรคดีนี้จะไต่สวนพยานจบ จนมีคำพิพากษาได้ และอย่าลืมว่านี่แค่ศาลชั้นต้นเท่านั้น ต่อให้มีความผิดก็ยังสามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้อีก
(6) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หายตัว
คดีนี้ไม่ได้หาย มีคำพิพากษาแล้วด้วย แต่ตัวจำเลยกลับหายไป ไม่มารับโทษ!
25 ส.ค.2560 คนไทยทั้งประเทศกลั้นหายใจรอฟังผลการพิจารณาหนี่งในคดีสำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์-คดีจำนำข้าว แต่นางเอกของเรื่อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับไม่มาปรากฎตัวซะอย่างนั้น โดยมีข้อมูลว่าเธอได้หนีออกนอกประเทศหลายวันก่อนจะถึงวันดีเดย์
แต่ท่าทีของผู้มีอำนาจหลังรู้ว่ายิ่งลักษณ์หนี แทนที่จะกระตืนรือร้นตามหา หลายคนดูคล้ายโล่งอก จากมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า มีการ ‘ปล่อยให้หนี’ หรือไม่
ที่สุด ศาลฎีกาฯอ่านคำพิพากษาลับหลัง ให้จำคุกเธอ 5 ปี ฐานปล่อยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และมีกระแสข่าวว่ายิ่งลักษณ์พยายามยื่นลี้ภัยในต่างแดนเช่นเดียวกับพี่ชาย
Illustration by Namsai Supavong