ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คิดว่าหลายๆ ท่านคงได้อ่านหรือดูข่าวเรื่องคดี GT200 เจ้ากรรมที่อยู่ในมือ ปปช. กันไปบ้างแล้วนะครับ แต่หากใครยังไม่ได้อ่าน ก็สรุปให้ฟังแบบคร่าวๆ ได้ว่า ปปช. บอกว่าการทำคดี GT200 นั้นต้องขอเวลาอีกหน่อย เพราะเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในการประเมินมูลค่า เนื่องจากสำหรับหลายคนแล้วมันมีมูลค่าทางจิตใจ เหมือนกับการห้อยพระเครื่องนั่นแหละครับ ฉะนั้นจะบอกว่ามันเป็นอุปกรณ์ที่ไร้ค่าเลยก็ทำได้ยาก ขอเวลาไปประเมินให้ดีๆ มั่นใจก่อนนะจ๊ะ ประมาณนี้
เห็นพี่ๆ ปปช. พูดมาแบบนี้ ผมเลยอยากจะชวนมาพูดคุยเรื่องหนึ่งครับนั่นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘การประเมินคุณค่า (หรือราคา) เชิงสัมพัทธ์’ หรือ Relative valuation ครับ โดยปกติแล้ว เวลาพูดถึง Relative Valuation คนมักจะมองถึงแนวคิดในทางการเงิน (Financial concept) ซึ่งเป็นแนวคิดในการเปรียบเทียบราคาของของสินทรัพย์กับมูลค่าทางการตลาดของสินทรัพย์ลักษณะเดียวกัน โดยจะมีการกลวิธีของทางภาคการเงินเขา (Individual Equitiesบ้าง Equity Indexesบ้าง) ผมเองไม่ได้จะนำเสนอแนวคิดเรื่องการประเมินคุณค่า/ราคาจากฐานคิดของฝั่งการเงินนี้ ด้วยความที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในทางด้านนี้ครับ (แค่อยากบอกให้ทราบไว้ก่อนว่า เวลาพูดถึงแนวคิดนี้ สิ่งแรกที่คนทั่วไปจะนึกถึงจะเป็นแนวคิดของฝั่งการเงินเค้าล่ะ) แต่ผมจะขอเน้นการอภิปรายไปที่ฝั่งของด้านสังคมศาสตร์แทนนะครับ
ไอ้ Relative valuation นี้อาจจะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิธีคิดแบบสำนักสัมพัทธ์นิยม (Relativism) หรือจะมองว่าเป็นเหง้ารากสำคัญของวิธีคิดทางสังคมศาสตร์เลยก็ได้ครับ เพราะการให้คุณค่าหรือการให้ราคาในทางสังคมศาสตร์นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องออกมาในรูปของตัวเลขราคาแต่อย่างเดียว ในหลายๆ ครั้งมันก็อยู่ในรูปของคุณค่าทางจิตใจที่ประเมินได้ยากลำบากมาก อย่างที่พี่ๆ ปปช. ว่าไว้ อย่างสมมติให้เราประเมินคุณค่าหรือมูลค่าของ พ่อแม่เรา พี่น้องเรา หรือเมียผัวลูกของเรา ก็คงจะไม่ได้ประเมินออกมาเป็นราคาได้แบบทางฝั่งโลกการเงินเค้า และนี่เองครับคือสิ่งที่ผมจะพูดถึงในวันนี้
สัมพัทธ์นิยมนั้น ว่าแบบลวกๆ ก็คือ แนวคิดที่มองว่าทุกๆ สิ่ง ทุกๆ อย่างมีความสัมพัทธ์ หรือการประเมินที่อิงกับความสัมพันธ์ของตัวมันเองกับสิ่งรอบข้างด้วยเสมอ (รวมถึงตัวเราเองด้วย) เพราะฉะนั้นการประเมินสิ่งเดียวกันภายใต้บริบทหรือสิ่งรายล้อมมันที่ต่างกัน ก็ส่งผลต่อความสามารถและผลลัพธ์ในการประเมินต่างๆ ด้วย อย่างการขับรถเร็ว 60 กม. ต่อชั่วโมง บนทางด่วน กับในซอยแคบ ความเร็วที่เท่ากันเป๊ะเลยนี้ ในสองพื้นที่ ย่อมให้ความรู้สึกหรือคุณค่าต่อการประเมินความเร็วนั้นที่แตกต่างกัน 6 กม./ชั่วโมง บนทางด่วนย่อมให้ความรู้สึกช้า อืดอาด และอาจโดนรถคันหลังด่าแม่เอาได้ ขณะที่ขับความเร็วเท่ากันในซอยแคบกลับกลายเป็นความเร็วที่มากเสียเหลือเกิน ปานมุ่งจะไล่สังหารใครก็มิปาน
แต่ที่ผมบอกว่า สามารถมองเป็นรากฐานของวิธีคิดในทางสังคมศาสตร์เลยก็ได้ เพราะมันเป็นตัวสร้าง ‘จุดแบ่งสำคัญ’ ระหว่างความเป็นโลกสังคมศาสตร์ กับวิทยาศาสตร์ครับ
สิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญมากที่แบ่งโลกสังคมศาสตร์ออกจากวิทยาศาสตร์ในระดับรากฐานเลยคือเรื่องของ ‘นิยาม’ ครับ จริงอยู่ว่านิยามในทางวิทยาศาสตร์นั้นสามารถถูกท้าทายได้ตลอดเวลา จากแนวคิดทฤษฎีใหม่ๆ จากผลการทดลองที่มาล้มล้างของเดิม จากการคำนวนที่บ่งชี้ความผิดพลาดที่เป็นมาและกำลังเป็นไป กระนั้นโดยทั่วไปแล้วนิยามในโลกวิทยาศาสตร์ใน ‘ณ จุดเวลาหนึ่ง’ จะมีนิยามหนึ่งที่ถือครองคุณค่าสูงสุดในทางคำอธิบายอยู่ ในขณะที่ในโลกสังคมศาสตร์นั้นแม้แต่ ณ จุดใดจุดหนึ่งของเวลา ก็ไม่มีสิ่งที่เรียกว่านิยามที่ชัดเจนสูงสุด มันคือโลกของความพร่าเลือนทางนิยามตลอดเวลาและเกิดการสู้รบตบตีในทางนิยามเสมอมา
ในแง่อื่นๆ นั้น ความแตกต่างของสังคมศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ยังดูไม่ได้แยกขาดหรือต่างกันมากนักในระดับเดียวกันกับเรื่องนิยามนี้ อย่างเรื่องระเบียบวิธีการวิจัยต่างๆ โลกสังคมศาสตร์เองนั้นก็รับระเบียบวิธีคิดของโลกวิทยาศาสตร์ศาสตร์เข้ามาแล้วเสียมากตั้งแต่ยุคแห่งการรู้แจ้ง หรือ Enlightenment Age เป็นอย่างน้อย หรือทฤษฎีในทางวิทยาศาสตร์เอง ในปัจจุบันก็ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในโลกสังคมศาสตร์ไม่น้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องควอนตั้มฟิสิกส์ หรือเรื่องสภาวะเอกฐาน (Singularity) ไม่ต้องนับไปถึงแนวคิดเรื่อง Organic state ที่มองรัฐโดยเปรียบเทียบกับสิ่งมีชีวิตที่เป็นแนวคิดทรงอิทธิพลมานานเนิ่นนาน โดยมองกลุ่มประชากรของรัฐในการทำหน้าที่ที่ชัดเจนของตนเสมือนอวัยวะในร่างกาย ที่เห็นได้อย่างน้อยๆ ตั้งแต่ในงานของโธมัส ฮอบบส์ (Thomas Hobbes) ไปยันนักคิดสาย Constructivism ชื่อดังอย่างอเล็กซานเดอร์ เวนดต์ (Alexander Wendt) ในงานของที่ชื่อ State as a person in international relations
หากสรุปแบบรวบยอด โดยแทนที่คำว่า ‘นิยาม’ (definition) ด้วยคำว่า ‘ความจริงแท้’ (truth) แล้ว เราอาจจะเปรียบเทียบความต่างของศาสนา วิทยาศาสตร์ และโลกสังคมศาสตร์ออกมาได้ว่า Religion has the absolute truth in every moment of time. Science has as absolute truth at each moment in time. Social science has no absolute truth at any moment of time. ประมาณนี้น่ะครับ
ความต่างในระดับนิยามที่ว่านี้เองมันเกิดขึ้นจากเรื่องของ Relative valuation ในทางสังคมศาสตร์นี่ล่ะครับ ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพน่าจะเร็วกว่าครับว่ามันทำงานอย่างไร อย่างสมมติว่าผมถามว่ามนุษย์คืออะไร? หรือใคร/อะไรบ้างที่ถูกนับว่าเป็นมนุษย์? คำถามที่ว่านี้คือคำถามในเชิงนิยามครับ
หากผู้ตอบอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ ก็อาจจะสามารถตอบผมได้ในทันทีว่า มนุษย์คือ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าโฮโมเซเปียนเซเปียนลินส์ อยู่ในตระกูลไพรเมตแบบหนึ่ง ร่างกายมีเกลียวดีเอ็นเอกี่คู่ มีโครโมโซมเท่าไหร่ ร่างกายประกอบด้วยน้ำกี่เปอร์เซ็นต์ คาร์บอนกี่เปอร์เซ็นต์ บลาๆๆๆ นี่แหละคือมนุษย์
แต่ในทางสังคมศาสตร์ หากให้ตอบแบบเผินๆ เลย ก็อาจจะตอบว่าคนที่เกิดมาในฐานะมนุษย์ แต่คำว่าฐานะมนุษย์คืออะไรกันเล่า? เฉพาะคนที่มีลักษณะทางชีวภาพเป็นมนุษย์เท่านั้นหรือ แล้วหุ่นยนต์ที่ได้รับการรับรองสิทธิในฐานะมนุษย์เล่า? หรือมนุษย์ซึ่งอาจจะถูกถ่ายโอนลักษณะให้ไปสู่สภาพกึ่งจักรกล (Cyborg) เล่า? ว่าง่ายๆ ก็คือ ฐานะมนุษย์นั้นมันเกิดจากการให้คุณค่าความเป็นมนุษย์เข้าไปด้วยในสิ่งนั้นๆ หรือเปล่า?
แล้วเช่นนั้นคุณค่าของความเป็นคนคืออะไร?
หาก กรณี A มีคนคนหนึ่งบุกเข้าบ้านของคุณ นอกจากจะขโมยทรัพย์สินไปมากมายแล้ว ยังได้ข่มขืนและฆ่าภรรยากับลูกสาวของคุณด้วย กับในกรณี B มีน้องหมาตัวหนึ่งที่คุณเลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก ดูแลประคยประหงมราวกับลูก ราวกับเป็น ‘คน’ ในครอบครัวคนหนึ่งเลย …คำถามที่ตามมาคือ คุณให้ค่าความเป็นคนกับ ‘โจร’ ในกรณี A หรือ ‘น้องหมา’ ในกรณี B มากกว่ากัน (ท่านไม่จำเป็นต้องตอบก็ได้นะครับคิดตามก็พอ) แล้วถามกลับอีกครั้งว่า “มนุษย์คืออะไร?” ผมคิดว่า ณ จุดนี้คำตอบน่าจะไขว้เขวหรือพร่าเลือนลงแล้ว และนั่นแหละครับคือความไม่ชัดเจนในเชิงนิยามในโลกสังคมศาสตร์ ซึ่งมันเกิดจาก ‘การประเมินคุณค่าเชิงสัมพัทธ์’ หรือ Relative valuation ของมนุษย์เราในสังคม ว่าเรากำลังประเมินคุณค่าของสิ่งๆ นั้นเทียบเคียงอยู่กับอะไร
อย่างกรณีในเคส A และ B นั้นเรากำลังประเมินมูลค่า/คุณค่าโดยเทียบเคียงกับอย่างน้อย 2 สิ่ง คือ (1) คุณค่าหลักที่เป็นที่ยอมรับในสังคมนั้นๆ (เช่น การขโมย, การฆ่า, การข่มขืน เป็นเรื่องที่แย่ เป็นเรื่องที่เลวทราม ไม่ควรเกิดขึ้น หรือยอมรับได้) กับสิ่งเปรียบเทียบประการที่ (2) ก็คือคุณค่าที่สัมพันธ์กับความรู้สึกส่วนตัวของเราเอง เช่น หากกรณีที่เกิดขึ้น เป็นมนุษย์คนอื่น เราเองก็อาจจะมีความรู้ร่วมในเหตุการณ์น้อยกว่า และอาจจะสร้างระยะห่างในการประเมินเพื่อให้เป็นไปตามหลักวิชาได้มากกว่า เมื่อเทียบกับกรณีที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดกับเรา อย่างลูกสาว หรือภรรยา ในทำนองเดียวกัน ความรู้สึกของเราที่มีต่อน้องหมา ก็อาจจะเฉพาะเจาะจงเฉพาะกับน้องหมาตัวนั้นที่เราเลี้ยงดูหมา แต่หากพูดถึงหมาจรจัดขี้เรื้อนข้างถนนแล้ว เราก็ไม่ได้รู้สึกแบบเดียวกัน เป็นต้น
ในแง่นี้ Relative valuation จึงเป็นปัจจัยที่สร้างความซับซ้อนและหลายครั้งอาจย้อนแย้งในระบบวิธีคิดของตัวมนุษย์ได้ เราอาจบอกได้ว่าภายในตัว Relative valuation นี้มันมีชุดเหตุผลของตัวมันเองเป็นการเฉพาะอยู่ แต่พร้อมๆ กันไป ในทางภาพรวมแล้ว มันก็สร้างความไม่เป็นเหตุเป็นผล ความไม่สอดคล้องกันในทางภาพรวมของระบบคิดใหญ่ของมนุษย์ได้ ว่าอีกแบบก็คือ มนุษย์เราไม่ได้มีความคงเส้นคงวา (Consistency) ในทางความคิดอย่างที่นักปราชญ์นักคิดยุครู้แจ้ง ‘คาดหวัง’ จากเรา ส่วนหนึ่งก็เพราะไอ้ Relative valuation นี้เองครับ
เพราะฉะนั้นมนุษย์เราคนหนึ่ง จึงสามารถยืนยันปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงการทำร้ายร่างกาย พร้อมๆ ไปกับการอยากกระโดดถีบปากบิ๊กตู่ หรือตบหน้าบิ๊กป้อม กระทั่งผ่าหมากอภิสิทธิ์ขึ้นมาได้ ทั้งๆ ที่ 2 พฤติกรรมนี้วางอยู่บนคนละขั้วในเชิงฐานคิดเลย แต่เพราะบิ๊กตู่ บิ๊กป้อม หรืออภิสิทธิ์ ได้สร้างเงื่อนไขที่ทำให้ตัวเองถูกนำมาวางใน “ตำแหน่งแห่งที่สำหรับการเปรียบเทียบเพื่อประเมินคุณค่า” ที่แตกต่างไปจากมนุษย์คนอื่นๆ ทั่วไปในสายตาเรานั่นเองครับ เราไม่ได้ประเมินคนสามคนนี้ ด้วยสายตาและสิ่งเปรียบเทียบชุดเดียวกันกับคนอื่นๆ ทั่วไปอีกต่อไป อย่างน้อยก็ในใจเรา
ด้วยเหตุผลกลการทั้งหมดที่ไล่เรียงมานี้เอง ผมพยายามจะบอกว่า จริงๆ แล้วไอ้ที่ ปปช. พูดออกมาว่า “มันประเมินคุณค่าได้ยาก เพราะทหารที่ใช้ก็รู้สึกปลอดภัยจากมัน เหมือนการห้อยพระเครื่อง” นั้นมันก็ไม่ได้ไร้เหตุผล หรือที่มาที่ไปในทางความคิดเลยเสียทีเดียว มันมีฐานที่อธิบายได้ครับ และผมคิดว่ามันคงจะไม่ผิดด้วยหากที่เรากำลังพูดกันอยู่นี้วางอยู่บนฐานของการซื้อขาย การประเมิน การใช้งานโดยปัจเจกชนคนใดคนหนึ่ง หรือโดยทหารผู้ใช้งานคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม ปปช. นี่ย่อมาจาก “สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” น่ะครับ นั่นแปลว่าหน้าที่ของท่านไม่ใช่การคิดแทนใครหรือแทนปัจเจกคนชนคนใดคนหนึ่ง แต่อยู่ที่การพิจารณาหรือประเมินในระดับ ‘รัฐ’ ครับ และคำถามก่อนเลยก็คือ รัฐจัดซื้อไอ้เครื่อง GT200 นี้มาเพื่ออะไร? มาเพื่อหาระเบิด หรือเพื่อคุ้มครองจิตใจทหารแบบพระเครื่อง? หากซื้อมาเพื่อหาระเบิด แล้วเครื่องไม่สามารถใช้หาระเบิดได้ ยังไงๆ ก็ต้องบอกว่าผิดครับ แต่ถ้าสั่งซื้อกันมาเพื่อทำให้คนไปหาระเบิดสบายใจ หาระเบิดเจอหรือไม่ก็ช่างมัน หรืออย่างน้อยหากเหยียบกับระเบิดเข้าก็ได้ลาโลกด้วยจิตใจสงบสุขคติแล้ว กรณีนี้ก็อาจจะพิจารณาดังที่ท่านๆ ปปช. ว่ามาได้
ผมเขียนมาเพื่อจะอธิบายให้ชัดเท่านั้นแหละครับว่า ไอ้ Relative valuation นี้มันเกิดขึ้นได้ในระดับบุคคล หรือกระทั่งระดับชุมชน ที่มีแนวโน้มในการประเมินคุณค่าในเรื่องใดเรื่องหนึ่งใกล้เคียงกัน อยู่ในทิศทางแบบเดียวๆ กัน แต่เมื่อท่านกำลังทำงานในระดับรัฐแล้ว ท่านจะมาใช้วิธีคิดแบบเดียวกันนี้ไม่ได้ ไม่งั้นก็คงเป็นเพียงความปลิ้นปล้อนพลิกลิ้นน่ะครับ เพราะในรัฐนั้นเราจำเป็นต้องมีมาตรฐานกลางที่ ‘ไม่ไหวติงต่อการประเมินคุณค่าเชิงสัมพัทธ์ของปัจเจกใดๆ’ เพราะการประเมินคุณค่าเชิงสัมพัทธ์ที่ว่านี้ของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกัน แม้จะไปในทิศทางเดียวกันก็ยังมีระดับมากน้อยที่ต่างกันได้ (ชอบหรือเกลียดไม่เท่ากัน เป็นต้น) ฉะนั้นการจะมาอ้างคำอธิบายเรื่อง Relative valuation เพื่อจะมาเป็นเหตุผลข้ออ้างหรือมาตรฐานกลางในระดับรัฐนั้น มันจึงเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว และไร้ยางอายอย่างมากครับ สำนึกเสียทีเถิด หรือว่าใจคอไม่คิดจะมีจรรยาบรรณขึ้นบ้างเลย?
สุดท้ายผมอยากฝากแต่เพียงว่า การพยายามหาคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลให้กับเรื่องหรือความคิดที่แทบจะหาความเป็นเหตุเป็นผลแทบไม่ได้ของพวกท่านนั้น มันเหนื่อยมันยากกว่าการวิพากษ์คนจากฐานคิดที่มีเหตุผลมากอยู่นะครับ ฉะนั้นจะคิดอะไรก็ช่วยอาศัยกำลังสมองกันหน่อยก็ดี จะด่าจะวิจารณ์ก็จะได้ไม่ต้องมาตลบแตลงหาวิธีคิดเพื่อตอบโจทย์ฐานคิดที่ไม่เหมือนจะได้คิดมานักของพวกท่านๆ น่ะครับ