เคยรู้สึกเขินๆ หรือไปไม่ถูกเวลามีคนจ้างงานแล้วให้เรตราคาไม่ถูกไหม?
เราต้องคิดค่าแรงของเราเป็นตัวเลขจากอะไรบ้าง? ไอ้ความเหนื่อยนี้นี่มันกี่บาท? พอไปส่องราคาตามกลุ่มหางานก็ยิ่งมีคำถามเพิ่มอีก อาจจะคิดว่า แล้วเราประสบการณ์พอจะคิดราคาเท่าเขารึยัง? หรือถ้าคิดต่ำกว่านี้จะเป็นการกดราคาตัวเองรึเปล่า?
หรือจะให้มองในมุมของคนจ้างงานที่ไม่เคยทำงานส่วนนั้นก็อาจคิดว่า เรตนี้ที่เราให้มันจะต่ำไปหรือเปล่า? หรือว่าปกติ? หรือสูงไป? แล้วทำไมมันสูงเท่านี้? ความรู้สึกกระอักกระอ่วนระหว่างการถามราคาไม่เคยหายไปไม่ว่าเราจะมีประสบการณ์มากเท่าไร
The MATTER เลยถือโอกาสถามมุมมอง 5 คนจาก 5 อาชีพว่าเขาใช้แนวคิดอะไรบ้างในการการคิดเรตราคางานแต่ละชิ้นของพวกเขา
ปาล์ม, ตัดต่อ, 24 ปี
งานตัดต่อวิดีโอหรือภาพยนตร์เป็นงานเบื้องหลังที่สำคัญแต่มักโดนมองข้ามในหลายๆ ครั้งหากไม่ได้รู้จักกระบวนการ เพราะโดยมากจุดมุ่งหมายในการตัดต่อคือการจัดเรียงทุกอย่างให้ผู้ชมมองไม่เห็นตัวมันเอง ซึ่งการจะไปให้ถึงจุดนั้นอาจต้องผ่านการเรียนรู้ทั้งจากการศึกษาในสถาบันหรือศึกษาด้วยตัวเอง หรือประสบการณ์ ทุกอย่างล้วนเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่าย
“หลักๆ เลยคือ สุขภาพ ทั้งกายและใจ เวลาคนมาจ้างงานเรารวมออกมาเป็นเรตแล้ว จริงๆ มันรวมค่าบิลโรงพยาบาลด้วยนะ ชีวิตฟรีแลนซ์พอไม่มีประกันสังคม หรือไม่มีสวัสดิการอื่นๆ ก็ต้องออกค่าหมอเอง ซึ่งโคตรจะแพงเลย เราเคยมีช่วงหนึ่งที่พอเงินที่รอวางบิลมาสองเดือนออกปุ๊บ ก็เอาไปจ่ายค่าปรึกษานักจิตบำบัดปั๊บ ถ้าไม่ลงบิลค่าบ้าน ก็ลงบิลค่าหมอ วนๆ กัน” ปาล์มตอบ
แม้จะเป็นเวลาไม่กี่นาทีหรือวินาทีที่เราเห็นบนจอ ขั้นตอนการคิดและดึงเอาทุกอย่างที่ตัวเองสั่งสมออกมาใช้นั้นนานกว่าที่เห็นและบางครั้งก็หลายดราฟต์มาก ซึ่งการทำงานที่หนักหนาเหล่านั้นสามารถส่งผลถึงร่างกายและจิตใจของผู้ทำได้อย่างมากด้วย
นางสาว ก., นักเขียน, 26 ปี
“คนจะคิดว่างานเขียนมันไม่เห็นต้องใช้อะไรมาก ใช้แค่แลปท็อปก็พอ แต่แม้กระทั่งแลปท็อปเองก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากกระบอกไม้ไผ่ ข้อมูลที่สั่งสมในสมองมันเกิดจากประสบการณ์ ทุกอย่างมันมีกระบวนการทางความคิด จัดสรรและเรียบเรียงออกมาให้อ่านง่าย” นางสาว ก. (นามสมมติ) ตอบ
ใครๆ ก็มีคอมพิวเตอร์ ใครๆ ก็มีโปรแกรม Word ใครๆ ก็มีอินเทอร์เน็ต แล้วงานเขียนจะเอาอะไรมาแพง? ในความเป็นจริงแล้วการเขียนงานไม่ได้มีแค่ค่าอุปกรณ์เท่านั้น นอกจากนั้นหากเป็นงานเขียนบางประเภทแล้ว ความเข้าใจในประเด็นอย่างถี่ถ้วนนั้นจะเป็นอย่างมาก
“ยิ่งถ้าคอนเทนต์มันโหดและเสี่ยงต่อการเป็นประเด็นมากอย่างเรื่องการเมือง เพศ ศาสนา ต่อให้อ่านหนังสือตั้งแต่อายุสามขวบยาวมาถึงอายุยี่สิบปลายๆ มันก็ยังต้องอัพเดตข้อมูลเพิ่มตลอดเวลา แถมพอรวบรวมข้อมูลจะเขียนเป็นเรื่องหนึ่งได้แล้วก็ต้องมาเรียบเรียงให้คนอ่านเข้าใจง่ายอีก เพราะถ้าเกิดเขียนให้คนอ่านเข้าใจไม่ได้หรือเข้าใจผิดก็ประเด็นก็เตรียมซวยทัวร์ลงยกแก๊งได้เลย” นางสาว ก. ตอบ
เจม, ตากล้อง, 26 ปี
“ราคาแต่ละงานต่างออกไปเพราะความยาก จำนวนภาพที่ต้องส่ง creative input อุปกรณ์ ลูกทีม สถานที่ ไม่เท่ากัน…หรือค่าเดินทางกรณีไปถ่ายต่างจังหวัดถ้างานสเกลใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายในการออกกองเพิ่มอีกตามสเกลงานและวัตถุประสงค์ของการเอารูปไปใช้” เมื่อโอกาสแตกต่างกันออกไป การถ่ายรูปก็ต้องเปลี่ยนไปเช่นกัน การเตรียมงานและวิธีการทำงานก็เปลี่ยนไปด้วย หากงานที่อาศัยการเก็บความรู้สึกและโมเมนต์อันอบอุ่นเช่น งานแต่ง ตากล้องจะเดินเข้าไปถ่ายด้วยวิธีการของการถ่ายบัตรประชาชนก็ไม่ได้ถูกไหม?
นอกจากนั้นขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะให้รูปออกไปสู่สายตาลูกค้าก็สำคัญไม่แพ้ตอนถ่าย “คนมองไม่เห็นพวกค่าแต่งรูป ยิ่งงานต้องการความเรียบร้อยสูงจะยิ่งใช้เวลาและทักษะมากขึ้น” เขาตอบ
ภรรยา No.1 ของมินยุนกิ, กราฟิก, 27 ปี
“ลูกค้าเห็นเราทำเร็วทำดีก็คิดว่าง่าย แบบ แค่นี้เอง ราคานี้แล้วเหรอ? แต่จริงๆ คือเราทำบ่อยมากจนมันง่ายสำหรับเรา” เธอตอบเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานกราฟิกเป็นส่วนหนึ่งของราคา ยิ่งในปัจจุบันที่มีงานประเภท minimalist โผล่ขึ้นมาบ่อยครั้ง คำถามประมาณนี้ก็มักตามมาเยอะด้วย
นอกจากนั้นความเติบโตในอาชีพเองก็เป็นปัจจัยสำคัญในการคิดและปรับเรตราคา “เราคำนึงในความคุ้มค่าในทุกแง่ทั้งเวลา สุขภาพร่างกายและใจ แต่พูดกันตามตรง แรกๆ เราก็ตั้งเรตงานจากความต้องการงานนะ แต่หลังๆ พอรายได้เริ่มคงที่ก็จะมีความปีกกล้าขาแข็ง เริ่มคิดเรตที่ไม่เหนื่อยกับตัวเองแล้ว จะให้ความสำคัญกับความเหนื่อยตัวเองไว้ก่อนมากที่สุด” เธอตอบ
เป้, นักวาด, 26 ปี
“มีตัวละครขนาดเล็กราคา $25, Full-body $80 ละก็ Custom character $100 แต่ลองเอามาโปรโมตในตลาดของไทยดูบ้างแล้ว แต่ราคานี้เลยไม่ค่อยมีจ้างเท่าไหร่นอกจากจะชื่นชอบและอยากได้งานของเราจริงๆ เลยขยับไปตลาดทางต่างประเทศมากกว่า” คือข้อสังเกตที่เป้มีต่อตลาดการวาดงานของเขา
การตีค่างานศิลปะอาจดูมีหลักไม่ตายตัว แต่จริงๆ แล้วในมุมมองของเป้สิ่งที่ต้องคำนึงถึงแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ “จริงอยู่งานศิลปะมันตีราคาตีเป็นมูลค่ายาก แต่มันก็ยังมีต้องคิดค่าแรงในการทำ ค่าไอเดีย ค่าดีไซน์ รวมไปถึงบางคนที่เขาลงทุนไปกับอุปกรณ์หรือคอร์สเรียนที่เป็นต้นทุนที่กว่าเราจะมาถึงจุดนี้ได้อยู่ ศิลปะมันมีมูลค่ามากมายในตัวอยู่ที่คนจะเห็นค่าของมัน แล้วก็ยังมีค่าต้นทุนที่เราเสียไปเพื่อให้เกิดเป็นชิ้นงานชิ้นนั้นๆ อยู่ด้วย” เขาตอบ