เคยรู้สึกงงๆ เหมือนกันมั้ย? เวลาเจอปัญหาหรือความขัดแย้งใดๆ ความผิดกลับตกมาอยู่ที่เราคนเดียว ทั้งที่คิดแล้วคิดอีก คิดจนหัวจะระเบิด ก็ได้ความว่าเรื่องนี้เราไม่ผิดอะไรเลยสักนิด แต่เอ๊ะ ก็เขาบอกมาแบบนั้น ทั้งหมดเป็นความผิดเรา เพราะเรา เราคนเดียว หรือจะเป็นอย่างที่เขาว่าจริงๆ นะ?
ยุคนี้หลายคนน่าจะรู้จักคำว่า Gaslighting กันมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการ ‘ปั่น’ ให้อีกฝ่ายเกิดความสงสัย หรือแคลงใจในการกระทำ คำพูด มุมมอง ความทรงจำ หรือการตัดสินใจของตัวเอง จนรู้สึกว่าความผิดทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเพราะตัวเขาคนเดียว ทั้งที่ความจริงอาจไม่ใช่อย่างนั้น หรือกล่าวได้ว่า gaslighting เป็นจิตวิทยาอันแยบยลที่หลายคนมักใช้ทำร้ายกันทางอ้อม และเพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากความผิดที่ก่อเอาไว้ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น เราจับได้ว่าแฟนแอบไปมีกิ๊ก เลยเดินไปถามหาความจริงจากปากเขา แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ “ไม่มีอะไรสักหน่อย เธอคิดมากไปเองหรือเปล่า?” “แล้วเธอรู้ได้ยังไง? เธอมาค้นมือถือเราใช่มั้ย? แบบนั้นมันผิดนะ” หรือ “ก็เธอทำตัวงี่เง่าแบบนี้ไง เราเลยมีคนอื่น” พอจะจับคอนเซ็ปต์คร่าวๆ กันได้หรือยัง? สุดท้ายแล้ว นอกจากเขาไม่ยอมรับความผิดที่เกิดขึ้น ยังทิ้งความสับสนไว้ในหัวเรามากมาย พลางโทษตัวเองว่าเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นความผิดเราจริงๆ นั่นแหละ
แต่การปั่นในลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในความสัมพันธ์เชิงโรแมนติก มิตรภาพ หรือครอบครัวด้วยกันเองเท่านั้น เพราะบางครั้งในโลกของการทำงาน ก็อาจมีบ้างที่เราจะเกิดรู้สึกคล้ายเหตุการณ์ข้างบน เช่น “ที่เราทำมันไม่มากพอหรือเปล่านะ?” “เราทำอะไรก็ผิดไปหมดเลยหรอ?” หรือ “เราคงไม่มีความสามารถพอจะทำงานที่นี่แน่ๆ” โดยที่ความเป็นจริงเราอาจทำได้ดีแล้วก็ตาม
ฉันไม่ดีพอหรือเขาบอกมา?
เมื่อ gaslighting เกิดขึ้นในที่ทำงาน ความสงสัย ความสับสน หรือความแคลงใจที่อยู่ในตัวของคนโดนปั่น จึงมาในลักษณะของการตั้งคำถามกับ ‘คุณค่าในตัวเอง’ (self-worth) เพราะโลกของการทำงานเป็นโลกที่ท้าทายคุณค่าและความสามารถในตัวบุคคลอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีเหตุการณ์ใดที่ทำให้บุคคลนั้นสงสัยในการเป็นตัวเอง (self-doubt) เมื่อไหร่ คุณค่าข้างในที่เคยมีย่อมสั่นคลอนเป็นธรรมดา เราอาจรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรก็ผิดไปหมด ไร้ซึ่งความสามารถ สู้คนอื่นไม่ได้ หรือกลายเป็นตัวประหลาดที่ไม่เหมาะจะทำงานที่นี่
“gaslighting เป็นคำที่ใช้อธิบายรูปแบบของการจัดการอารมณ์หรือจิตใจของผู้อื่น โดยทำให้ผู้นั้นสงสัยในการตัดสินใจหรือสติสัมปชัญญะของตัวเอง เราสามารถเห็นการกระทำเชิง gaslighting ได้ในที่ทำงาน โดยที่เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าอาจทำให้เราคิดว่า งานของพวกเขากำลังโดนบิดเบือนหรือถูกทำลายโดยเราคนเดียว
“ซึ่งบ่อยครั้ง gaslighting ในที่ทำงาน มักเป็นผลจากการใช้อำนาจเหนือกว่าของบุคคลหนึ่ง เพื่อเล่นงานอีกบุคคลหนึ่ง หรือเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง” มาเรีย คอร์โดวิกซ์ (Maria Kordowicz) อาจารย์ด้านจิตวิทยาธุรกิจ อธิบาย
แล้วเราจะรู้สึกถึงสิ่งเหล่านี้ได้เมื่อไหร่? gaslighting ในที่ทำงานนั้นเกิดได้จากเหตุการณ์และหลายเทคนิค เช่น
- หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานบอกว่าสิ่งที่เราทำไม่ถูกต้อง แม้ว่าเราจะทำในสิ่งที่เขาบรีฟเป๊ะๆ ก็ตาม
- ไม่ได้ผลตอบรับในเชิงบวกจากพวกเขาร่วมงานเลย
- พวกเขาสร้างเรื่องเล่าที่ไม่ยุติธรรมเกี่ยวกับตัวเรา เช่น เราทำงานด้วยยากหรือยังทำงานไม่หนักพอ
- พวกเขาบอกว่าสิ่งที่เราจำมานั้นผิด หรือบางสิ่งบางอย่างไม่ได้เกิดขึ้นจริงอย่างที่เราคิด
- วันครบกำหนดหรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายไม่ได้ถูกสื่อสารมาถึงเรา ทำให้เรารู้สึกไม่สำคัญหรือเป็นคนที่ไม่ได้อยู่ระบบ
- พวกเขาจับผิดสิ่งที่เราทำอยู่บ่อยๆ
- พวกเขาโกหกเราอย่างโจ่งแจ้ง หรือปฏิเสธว่าเคยพูดบางสิ่งบางอย่างกับเรา
- เราไม่สามารถแจ้งข้อกังวลกับใครได้
- ความคิดเห็นของเราไม่ได้รับการยอมรับ หรือการมีส่วนร่วมของเรามักจะถูกเพิกเฉย
- ไม่เคยได้รับเครดิตสำหรับงานของตัวเอง เว้นแต่ว่างานนั้นมีปัญหา คนที่ได้รับผิดชอบกลับเป็นเราคนเดียว
- พวกเขายอมรับไอเดียเรา แต่แล้วก็มาปฏิเสธทีหลัง โดยบอกว่างานนี้พวกเขาก็กำลังทำอยู่เหมือนกัน แล้วก็เอาเครดิตที่ควรจะเป็นของเราไป
โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ หากเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษ ก่อให้เกิดความไม่สบายใจและความไม่ไว้วางใจในที่ทำงาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ควรจะมุ่งส่งเสริมหรือสนับสนุนกันและกันมากที่สุด
สูญเสียความมั่นใจ ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดเรา
“เพราะ gaslighting เป็นรูปแบบของการทำร้ายและการละเมิดอย่างหนึ่ง ทำให้ผู้ที่เผชิญกับการกระทำนี้ อาจรู้สึกวิตกกังวลและสับสนเกี่ยวกับความสามารถและประสิทธิภาพของตัวเอง ในบริบทของการทำงาน gaslighting อาจส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟ (burnout) ได้ เพราะภาวะนี้เกิดจากความเหนื่อยล้าทางจิตใจ ที่สะสมความเครียดและความต่อเนื่องจากการทำงานที่มากเกินไป” มาเรียกล่าว หรือผู้ที่เผชิญกับ gaslighting อาจมีลักษณะความคิด ความรู้สึก และความสงสัย ดังนี้
- เกิดความสงสัยในความเชี่ยวชาญ ความสามารถ หรือทักษะของตัวเอง
- รู้สึกว่าความมั่นใจในตัวเองเริ่มลดลงเรื่อยๆ
- สัมผัสได้ถึงภาวะหมดไฟ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
- รู้สึกว่าทำอะไรก็ไม่ถูกต้องสักอย่าง
- รู้สึกหมดหวังที่จะทำให้คนๆ นั้นพอใจ
- รู้สึกว่าตัวเองยังทำได้ไม่มากพอ
- เริ่มถามตัวเองว่าเรากำลังเสียสติ หรือมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับตัวเองหรือเปล่า
เมื่อเกิดความรู้สึกไม่พึงประสงค์ เช่น ความเศร้า ความเครียด ความกังวล ความเหนื่อยล้า หมดอารมณ์หรือหมดใจที่การทำงาน ก็มีแนวโน้มว่าพนักงานคนนั้นอาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการของบริษัทได้เหมือนเมื่อก่อน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลอาจลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนในที่สุดอาจถึงขั้นลาออกจากบริษัท เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะสมและไม่รู้จะทำงานอยู่ที่นี่ต่อไปอีกทำไม
หลุดจากวังวนที่คนอื่นสร้างขึ้น
พอเป็นเรื่องของบริษัท หากมีอะไรมากระทบการทำงานหรือสภาพจิตใจของเรา เชื่อว่าหลายคนพยายามหาทางออกที่ประนีประนอมที่สุดอยู่แล้ว เช่น ทักไปเคลียร์ปัญหาแบบสุภาพและตัวต่อตัว เพื่อไม่ให้กลายเป็นเรื่องใหญ่โต บาดหมาง หรือเป็นจุดสนใจมากเกินไป เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น มีแนวโน้มว่าเราอาจถูกคว่ำบาตรจากคนในบริษัทด้วยกันเอง
แต่หากเราลองแล้วไม่ได้ผล ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ หรือปัญหานั้นนำไปสู่ความไม่ยุติธรรมเมื่อไหร่ เราควรจะจัดการกับมันอย่างจริงจังและรวดเร็วที่สุด ทั้งนี้ ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง และรักษาสุขภาพใจที่ถูกทำลายจากเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง
โดยเริ่มแรก เราควรสังเกตให้ได้ก่อนว่าปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น เป็นเพราะตัวเราเองหรือเพราะคนอื่นกันแน่ ทำความเข้าใจกับปัญหานั้นอย่างเป็นกลาง ไม่เข้าข้างหรือโทษตัวเองมากเกินไป หรือมองหาหลักฐานต่างๆ ที่เป็นรูปธรรม เพราะมันจะช่วยยืนยันความจริงจนทำให้เราเลิกสงสัยในคุณค่าของตัวเองได้เอง
เมื่อแน่ใจแล้วว่า ปัญหานั้นเกิดจากคนอื่นที่พยายามทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง ก็ไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไรที่จะยอมรับว่าสถานการณ์หรือเพื่อนร่วมงานขณะนั้นกำลังเป็นพิษกับจิตใจเราอยู่ เป็นเรื่องดีเสียอีก เพราะเราจะได้ไม่ลาออกจากงานที่เรารักโดยใช่เหตุ และจะได้เดินหน้าหาความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง โดยมาเรียแนะนำว่า
“ฝ่ายทรัพยากรบุคคลมีหน้าที่สนับสนุนการทำงานของเราให้ราบรื่นในทุกวันๆ ไปหาพวกเขาเพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว แทนที่ความรับผิดชอบนั้นจะเป็นของบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งคนๆ นั้นมีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการทำงานมากพออยู่แล้ว นอกจากนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรควรจะสำรวจพฤติกรรมของพนักงานโดยตรง หรือสามารถระบุได้ว่าพนักงานของตัวเองดำเนินการหรือปฏิบัติงานตามวินัยที่กำหนดไว้”
และอีกคำแนะนำที่อยากฝากไว้ก็คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว เราอาจคิดวนอยู่กับความสามารถหรือคุณค่าในตัวเองซ้ำๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่การพูดคุยหรือขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ครอบครัว หรือคนรอบข้างที่ไว้ใจได้ จะช่วยให้เราหลุดออกจากวังวนนั้นได้ง่ายและเร็วขึ้น เพราะการที่คนนอกเข้ามาช่วยมองภาพรวมของปัญหา อาจทำให้เราได้สติหรือเห็นปัญหาตรงหน้าชัดขึ้น ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดจากตัวเราจริงๆ หรือเป็นสิ่งที่คนอื่นกำลังปั่นหัวเราอยู่ก็ตาม
gaslighting เป็นปัญหาที่มีแทบทุกบริษัท และน้อยครั้งที่พนักงานจะมองเห็นถึงต้นตอของความสับสนที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจทำให้บริษัทต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพจำนวนมากไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น การสร้างบรรยากาศที่ดีหรือ ‘พื้นที่สบายใจ’ เพื่อให้พนักงานกล้าที่จะแลกเปลี่ยนความรู้สึกกันอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา จึงเป็นเรื่องที่บริษัทควรตระหนักและสนับสนุนไม่แพ้เรื่องอื่นๆ เลย
การสังเกตถึง gaslighting ในที่ทำงาน ก็เพื่อที่จะได้วางความทุกข์บางอย่างลงไปบ้าง เพราะสาเหตุที่ทำให้เราขาดความมั่นใจหรือไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง บางครั้งก็มาจากการที่คนอื่นพยายามทำให้เราคิดแบบนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ในโลกของการทำงาน เราก็ยังต้องหมั่นพัฒนาตัวเองและตรวจเช็กความถูกต้องอยู่เสมอ เพื่อที่จะตอบตัวเองได้อย่างมั่นใจว่า “เราทำเต็มที่และดีที่สุดแล้วนะ”
อ้างอิงข้อมูลจาก