มีอะไรซ่อนอยู่ในเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีผู้หญิงบ้าง? แม้เรื่องราวเกี่ยวกับผีผู้หญิงจะขึ้นชื่อเรื่องความเฮี้ยนสยดสยอง หลายคนอาจจะจดจำความเฮี้ยนของตำนานผีแม่นาคพระโขนง บ้างก็กลัวผีนางรำที่มักมาพร้อมดนตรีไทย หรือไม่ก็ผีแนวผมยาว ชุดขาว สไตล์เดอะริงและจูออน
แต่เรื่องเล่าเกี่ยวกับ ‘ผีผู้หญิง’ เคยถูกมองผ่านมุมวิชาการมาอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นมิติเรื่องเพศ โครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรม ชนชั้นในสังคม ความสัมพันธ์ในชุมชน ตลอดจนขนบเรื่องเล่าของความเชื่อท้องถิ่นที่มีผลต่อการประกอบสร้างตัวตนผีผู้หญิง
วันนี้ด้วยฤกษ์งามยามสยองขวัญวันฮาโลวีน The MATTER ขอพาทุกคนไปสำรวจตัวตนของผีผู้หญิงในแง่มุมต่างๆ ผ่านงานวิชการว่า เราจะสามารถมองเห็นความน่าสนใจอะไรผ่านเรื่องสยองขวัญเหล่านี้ได้บ้าง? เมื่อความน่ากลัวของผีผู้หญิง อาจจะไม่ใช่แค่การหลอกหลอน ควักไส้ควักพุง หากแต่เป็นการพาเราไปเห็นถึงสิ่งที่น่ากลัวในสังคมด้วย นั่นคือโครงสร้างและค่านิยมที่ไม่เป็นธรรมซึ่งส่งผลต่อผู้หญิง
ผีสาวโสดในเกาหลีใต้ : ความเป็นโสดถูกทำให้เป็นเรื่องทุกข์ทรมาน
งานวิจัยชิ้นนี้ชื่อว่า ‘ความเชื่อเรื่องผีสาวโสดเกาหลี : ว่าด้วยการควบคุมสังคมด้วยความกลัวกับความเข้าใจผ่านคติชนวิทยา’ ได้สำรวจความเชื่อเรื่อง ‘ผีสาวโสด’ ในบริบทสังคมเกาหลีใต้ ที่ถูกมองว่าเป็นผีที่มีความอาฆาตพยาบาทมากที่สุด คำถามคือทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? งานวิจัยชวนเราไปสำรวจค่านิยมในสังคมเกาหลี ที่เห็นว่าผู้หญิงที่ไม่แต่งงาน ไม่สมหวังในความรัก คือชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ เนื่องจากสังคมคาดหวังว่าผู้หญิงจะต้องเป็นแม่และเมียเท่านั้น ถึงจะมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ
ดังนั้นเมื่อสาวโสดเสียชีวิตไป ก็ย่อมไม่สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ (ที่ค่านิยมบอกให้ทุกข์) ได้ อย่างไรก็ดี นอกจากมิติเรื่องบทบาททางเพศแล้ว งานวิจัยยังชี้ให้เราเห็นถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปจากสังคมจารีตแบบเดิมๆ ไปสู่สังคมอุตสาหกรรม ที่ผู้คนกลายเป็นปัจเจกที่อิสระจากครอบครัวแบบเดิมๆ มากขึ้น ภาพความน่ากลัวของผีสาวโสดในเกาหลีใต้ก็ค่อยๆ จางลงไปด้วย
อ่านงานศึกษานี้ได้ที่ : https://socanth.tu.ac.th/wp-content/uploads/2022/06/tinnaphop-ed-2022-03-weeraya.pdf
ผีผู้หญิงญี่ปุ่น การแก้แค้นและความรุนแรงในครอบครัว
พูดถึงผีญี่ปุ่นเมื่อไหร่ ชื่อของหนังผีอย่าง The Ring (ริงกุ) และจูออน มักจะเป็นภาพจำลำดับต้นๆ กับผีที่ปีนออกมาจากบ่อน้ำ คลานออกจากมาจากโทรทัศน์ และการซ่อนตัวอยู่ตามมุมต่างๆ ของบ้าน พร้อมกับคำสาปที่แพร่กระจายออกไปทั่วสังคม
งานวิจัยชื่อ ‘การพลิกกลับอำนาจของผู้หญิงในภาพยนตร์ สยองขวัญญี่ปุ่น: กรณีศึกษาซีรีส์ภาพยนตร์ สยองขวัญเรื่อง ริงงุ และ จูอน’ สำรวจตัวตนและโครงสร้างความน่ากลัวของผีผู้หญิงในหนังทั้งสองเรื่อง และพบว่ามันคือภาพสะท้อนของครอบครัวญี่ปุ่นในช่วงทศวรรณที่ 1990 ถึง 2000
งานวิจัยพบว่า ชีวิตของผู้หญิงในทั้งสองเรื่อง มีสถานภาพและบทบาทที่ไม่เพียงแค่ด้อยกว่าผู้ชาย แต่พวกเธอยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความสัมพันธ์ที่ไม่แน้นแฟ้นกับสามี การถูกบังคับกดขี่ให้ทำสิ่งต่างๆ (ในกรณีของภรรยาในเรื่องจูออน) และปัญหาความสัมพันธ์กับพ่อ ที่การกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงโดยพ่อ (ในกรณีของ The Ring)
การกลับมาของผีทั้งสองตนทั้งซาดาโกะและคะยะโกะ จึงเป็นการหลุดพ้นจากสภาพสังคมแบบเดิมในตอนที่พวกเธอยังมีชีวิต และกลับมามีอำนาจเพื่อแก้แค้นผู้คนในโครงสร้างสังคมที่บิดเบี้ยวไป ความน่ากลัวของผีทั้งสองตนจึงไม่ใช่เพียงแค่การหลอกหลอน แต่คือการพยายามพังทลายระเบียบ หรือค่านิยมบางอย่างที่ค้ำจุนสังคมที่ไม่เป็นธรรมไว้
อ่านงานศึกษานี้ได้ที่ : https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jsn/article/download/158784/118671/454982
ผีปอปไทย ความแปลกแยก และเรื่องเล่าแบบปากต่อปาก
การสร้างเรื่องเล่า และการส่งต่อเรื่องเล่าจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนเรื่อยๆ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้างตัวตนของผีผู้หญิงขึ้นมาในสังคมไทย รวมถึงความเชื่อเรื่องผีปอปที่คนไทยมีมายาวนาน
งานวิจัยเรื่อง ‘ความหมายและการด ารงอยู่ของความเชื่อเรื่อง “ผีปอบ” ในบริบทสังคมไทย’ พยายามสำรวจถึงความหมายและการดำรงอยู่ของเรื่องผีปอปในสังคมไทยว่าเป็นอย่างไร
ข้อค้นพบที่ได้ก็คือความเชื่อและตัวตนของผีปอปดำรงอยู่ด้วยการเล่าแบบ ‘ปากต่อปาก’ ตามแต่ประสบการณ์ และความรู้ที่ผู้คนแต่ละชุมชนมีเกี่ยวกับผีปอปมาแต่เดิม โดยเฉพาะเป็นความรู้ที่พวกเขาได้รับมาจากพิธีกรรมต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในชุมชน เช่น พิธีกรรมไล่ผีปอปที่คอยตอกย้ำการดำรงอยู่ของผีในชุมชน
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเรื่อง ‘การศึกษากระบวนการตีตราทางสังคมที่ทำให้บุคคลกลายเป็นผีปอบ’ ที่ชวนให้เราเห็นถึงปัจจัยด้านความกดดันภายในชุมชนที่ทำให้เกิดการชี้เป้าและตีตราคนที่แปลกแยกแตกต่างให้มีฐานะกลายเป็นผีปอป
อ่านงานศึกษานี้ได้ที่ : https://www.tci-thaijo.org/index.php/irdssru/article/download/214235/149108 และ https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jsn/article/download/158784/118671/454982
ผีชนชั้นกลางไทย ที่ถูกเล่าผ่านชนชั้นกลาง
นอกจากเรื่องเพศและปัจจัยเรื่องชนชั้นก็มีสิ่งที่คอยกำกับตัวตนของผีผู้หญิงไทยด้วย การศึกษาเรื่อง ‘ลักษณะการเล่าเรื่องผีผู้หญิงในภาพยนตร์ไทย’ พบข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจว่า อัตลักษณ์ของผีผู้หญิงในภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่นั้น จะเป็นหญิงสาวที่หน้าตาดี ระดับชนชั้นกลาง อายุ 15-40 ปี มีการศึกษาและอาชีพการงานดี มีสังคมที่ดี แต่ถึงอย่างนั้น ปมความเจ็บปวดในชีวิตของผีเหล่านี้คือ ปมเรื่องความรักที่ไม่สมหวังจากผู้ชายที่เป็นต้นเหตุ ทำให้ผู้หญิงต้องกลายเป็นผีที่ต้องการล้างแค้น นอกจากนี้ อัตลักษณ์ของผีชนชั้นกลางไทย ยังเป็นผีที่เสียชีวิตจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่ต้องดิ้นรน และถูกกดดันให้ต้องเสียชีวิต
ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ อำนาจการล้างแค้นของผีผู้หญิงในภาพยนตร์ไทย ยังไม่ได้มีเพียงแค่การกระทำทางตรงเช่น การทำร้ายร่างกาย (เช่นหักคอหรือบีบคอ) แต่ผีผู้หญิงไทยยังสามารถสร้างความกลัวจนทำให้ผู้ที่เคยฆ่าเธอ ยอมเข้ามอบตัวให้ตำรวจจับในฐานะฆาตกรได้อีกด้วย
อ่านงานศึกษานี้ได้ที่ : https://www.bu.ac.th/knowledgecenter/executive_journal/jan_june_17/pdf/aw08.pdf