“เป็นเด็ก ม.6 ต้องอดทน”
แม้หนทางสู่ความสำเร็จในชีวิตจะไม่มีสูตรตายตัว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘มหาวิทยาลัย’ ก็เป็นอีกหนึ่งอิฐก้อนสำคัญที่ช่วยวางรากฐานอันแข็งแกร่งในอนาคต ดังนั้น ในทุกฤดูกาลสอบ เราจะเห็นนักเรียน ม.6 เคร่งเครียดกับการเตรียมตัวเพื่อลงชิงชัยในสนามประลองการศึกษา โดยมีสิ่งมีค่าอย่างอนาคต และความฝันเป็นเดิมพัน
หากย้อนกลับไปในช่วง 60 กว่าปีที่ผ่านมา ไทยเปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยไปแล้ว 5 ครั้ง ไล่ตั้งแต่ ระบบ Entrance Ver.1, ระบบ Entrance Ver.2, ระบบ Admission Ver.1, ระบบ Admission Ver.2 จนมาถึงระบบล่าสุดคือ TCAS ซึ่งถูกเคลมว่าออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่ระบบการสอบเข้าเก่าของไทยทิ้งไว้
(ดูประวัติศาสตร์การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทยได้ที่ : https://thematter.co/quick-bite/thai-education-system/57485 )
แต่เหตุไฉน 5 ปีที่ผ่านมา ที่มีการใช้ระบบนี้ กลับมีกระแสดราม่า จนเกิดแฮชแท็กวิจารณ์กันแทบทุกปี? The MATTER จะพาไปย้อนดูปัญหาและดราม่าต่างๆ ตั้งแต่เริ่มใช้ระบบการสอบแบบบูรณาการนี้ในปี 2561 จนถึงปัจจุบันว่า สรุป TCAS ตอบโจทย์การสอบเข้าของเด็กไทยอย่างที่ถูกเคลมจริงหรือไม่
รู้จัก ‘TCAS’ ระบบที่ออกแบบมาเพื่อ…? (จงเติมคำในช่องว่าง 10 คะแนน)
ก่อนที่จะไปดูปัญหา เรามาเริ่มที่การทำความรู้จักระบบ TCAS สั้นๆ กันซักนิดก่อนว่า TCAS นั้นย่อมาจาก Thai University Central Admission System เป็นระบบการสอบที่จะเปิดรอบคัดเลือกทั้งหมด 5 รอบได้แก่
รอบที่ 1 : รอบ Portfolio ไม่มีการสอบข้อเขียน
รอบที่ 2 : การรับแบบโควตาที่มีการสอบปฏิบัติและข้อเขียน
รอบที่ 3 : การรับตรงร่วมกัน (รวมทั้ง กสพท.) **รอบสำคัญ**
รอบที่ 4 : การรับแบบ Admission
รอบที่ 5 : การรับตรงแบบอิสระ (รอบเก็บตก)
ส่วนคะแนนที่ใช้ยื่นในแต่ละรอบก็จะประกอบไปด้วย GAT/ PAT, O-NET, 9 วิชาสามัญ, กสพท. และวิชาเฉพาะของแต่ละมหาวิทยาลัย นอกจากนี้บางรอบจะมีการพิจารณา Portfolio และเกรดเฉลี่ยสะสม เพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และข้อกำหนดของสาขาวิชาต่างๆ
***หมายเหตุ : รายละเอียดการสอบ TCAS ข้างต้น เป็นรายละเอียดของปี 2561 ไม่สามารถนำมาอ้างอิงกับปีอื่นๆ ได้***
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ระบบ TCAS ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 2561 ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ผู้ออกแบบระบบเปิดเผยว่า TCAS จะเพิ่มโอกาสความเท่าเทียมในการเข้ามหาวิทยาลัย ลดปัญหาการกันสิทธิ์ (กั๊กที่) และแก้ปัญหาวิ่งรอกสอบ เพราะระบบใหม่จะจัดสอบหลังเด็ก ม.6 จบการศึกษาแล้ว
เมื่อรู้จักระบบ TCAS กันคร่าวๆ แล้ว หลังจากนี้เรามาตะลุยจักรวาล (ปัญหา) ของสุดยอดระบบเข้ามหาวิทยาลัยของ ทปอ.กันว่าในแต่ละปี เด็ก ม.6 รุ่นต่างๆ ต้องฝ่าด่านอะไรกันบ้าง กว่าได้เข้าไปเป็นนิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย
TCAS 2561
ทปอ.ได้แถลงประกาศใช้ระบบ TCAS อย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 โดยให้มีผลกับนักเรียนปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป เท่ากับว่า นักเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ มีเวลาเตรียมตัวสำหรับระบบใหม่นี้ประมาณครึ่งปี ก่อนลงสู่สนามจริง ด้วยระยะเวลาที่ค่อนข้างกระชั้นชิด ทั้งฝั่งผู้จัดสอบ และผู้สอบ จึงไม่น่าแปลกใจที่การจัดสอบ TCAS รอบแรก จะเต็มไปด้วยปัญหา จนถูกวิจารณ์ว่า ควรมีการทดสอบระบบนี้ก่อนพิจารณาใช้จริง ไม่ใช่ให้นักเรียน 61 ทั้งรุ่นเป็นหนูทดลองระบบ
สืบเนื่องจากปัญหาความไม่พร้อม ส่งผลให้วันลงทะเบียนสอบคัดเลือกรอบ 3 ซึ่งเป็นรอบใหญ่สุด เกิดเหตุการณ์ที่คนไทยคุ้นเคยกันอย่างดี นั่นคือ ‘ระบบล่ม’ นักเรียนจำนวนมากไม่สามารถลงทะเบียนสอบได้ จน ทปอ.ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการขยายเวลาลงทะเบียนและชำระเงิน เพื่อไม่ให้เด็กตกขบวนสอบ
มหากาพย์ปัญหาการสอบ TCAS รุ่นหนึ่งยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะหลังการสอบ TCAS รอบ 3 จบลงปัญหาใหญ่ก็ผุดขึ้นมาอีกครั้ง นั่นคือ ‘การกั๊กที่’ สืบเนื่องจากการสอบในรอบ 3 นั้น ได้ให้ กสพท. หรือรับตรงของกลุ่มแพทย์มาเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกอันดับมหาวิทยาลัย 4 อันดับ และให้นักเรียนสอบติดได้ทุกอันดับ หมายความว่านักเรียน 1 สามารถสอบติดได้สูงสุด 4 อันดับในรอบเดียว อีกทั้งยังไม่มีนโยบายเรียกสำรองด้วย
หลังประกาศผลและยืนยันสิทธิ์ จึงเกิดปัญหาที่ว่างและเด็กที่คะแนนสูง(ตามมาตรฐาน) สอบไม่ติด เพราะกลุ่มนักเรียนที่คะแนนสูงมาก อย่างนักเรียนแพทย์ได้ที่นั่งเหล่านี้ไป แม้สุดท้ายจะสละสิทธิ์ แต่ด้วยระบบที่ไม่มีการเรียกตัวสำรอง ที่นั่งเหล่านั้นจึงถูกปล่อยว่างเปล่า ปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดเหตุการณ์โกลาหลในหมู่เด็กนักเรียนและผู้ปกครอง จนมีการทำแคมเปญล่ารายชื่อเพื่อรักษาสิทธิ์ชาว TCAS3 ผ่านเว็บไซต์ change.org เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกมาแก้ปัญหานี้
ก่อนภายหลัง ทปอ.จะแก้ปัญหาด้วยการเปิดการคัดเลือกพิเศษรอบ 3/2 โดยให้เด็กที่ติดในรอบแรก ยืนยันสิทธิ์คณะที่สอบติดเพียง 1 อันดับ และจะถือว่าสละสิทธิ์คณะอื่นๆ รวมถึงสละสิทธิ์ในการสอบคัดเลือกรอบ 3/2 และหลังจากนี้ด้วย ส่วนเด็กที่สอบไม่ติดทั้ง 4 คณะในรอบแรก หรือสละสิทธิ์ทุกคณะในรอบแรก ก็มาลุ้นต่อในรอบ 3/2 ได้
แม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่กะทันหันสุดๆ แต่ท้ายที่สุดสมรภูมิการสอบ TCAS ครั้งแรกก็ผ่านไปได้ ซึ่งประสบการณ์ในครั้งนี้ทำให้ ทปอ.ออกมาแถลงยอมรับผิดในข้อผิดพลาดและให้สัญญาว่าจะแก้ไขปัญหานี้ในการสอบครั้งต่อๆ ไป
TCAS 2562
หลังจากได้บทเรียนจาก TCAS 2561 มาแล้ว ดูเหมือน ทปอ.จะไปทำการบ้านมามากขึ้น โดยในปีที่ 2 นี้ มีการปรับรอบ 3 ซึ่งเป็นรอบที่มีปัญหาในครั้งที่แล้วให้นักเรียนเลือกคณะได้ 6 อันดับ (ยังรวม กสพท.เหมือนเดิม) แต่จะมีสิทธิ์ติดเพียง 1 อันดับ (อันดับแรก) และสละสิทธิ์ได้เพียง 1 ครั้ง เพื่อแก้ปัญหาการกั๊กที่ แต่ท้ายที่สุดก็ยังแก้ไม่ได้อย่างเด็ดขาด
เพราะยังเกิดปัญหากั๊กที่กันในรอบ 1 และรอบ 2 เพราะระบบไม่ได้จำกัดจำนวนสาขา นักเรียนสามารถสมัครได้มากเท่าที่ต้องการ แต่สุดท้ายเลือกได้เพียง 1 สาขา ทำให้ในปี 2562 ระบบสอบเข้า TCAS รอบที่ 1-5 มีจำนวนที่นั่งเหลือมากกว่า 2 แสนที่นั่ง
นอกจากปัญหานี้แล้ว เด็กบางส่วนยังเจอปัญหาระบบขัดข้องในเว็บไซต์ประกาศผลรอบ 3 นักเรียนบางกลุ่มเข้าระบบไม่ได้ หรือไม่สามารถเข้าตรวจผลสอบได้ ซึ่ง ทปอ.ออกมาชี้แจงว่าระบบไม่ได้ล่ม แต่ ทปอ.ได้เข้าไปอัพเดตข้อมูลในช่วงเวลาเดียวกับที่ผู้สมัครใช้งาน จึงส่งผลกระทบให้ผู้สมัครบางรายใช้งานระบบไม่ได้
TCAS 2563
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี 2563 เป็นช่วงที่ COVID-19 ระบาดใหม่ๆ และเริ่มมารุนแรงขึ้นในเดือนเมษายน ช่วงเดียวกับที่ฤดูกาลสอบ TCAS ประจำปีเริ่มต้นขึ้น ซึ่งในปีนั้น ระบบการสอบไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากเท่าไหร่นัก เพียงแค่ยกเลิกสัมภาษณ์รอบรับตรง และรอบแอดฯ เพื่อป้องกันการระบาดจากการรวมกลุ่ม
แต่บรรยากาศปีนั้นกลับเดือดดาลไม่แพ้ปี 2561 หลังเกิดความผิดพลาดครั้งใหญ่ นั่นคือการประกาศคะแนนพลาด ที่เกือบนำมาสู่การฟ้องร้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)
จุดเริ่มต้นของปัญหาคือระบบคำนวณคะแนน PAT 7 ในการสอบรอบ 3 นั้นเกิดความผิดพลาด ส่งผลให้นักเรียนคะแนนสูงไม่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าศึกษาในคณะวารสารศาสตร์ มธ. ขณะที่นักเรียนบางกลุ่มที่คะแนนต่ำกว่ากลับได้สิทธิ์นั้นไป ทำให้เกิดการตั้งคำถามในสังคมว่า เกิดความผิดพลาดใหญ่เช่นขึ้นกับระบบการศึกษาระดับประเทศของไทยได้อย่างไร?
แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นักเรียนที่ควรจะมีสิทธิ์เข้าศึกษาในคณะที่ใฝ่ฝันเกิดความรู้สึกไม่ยุติธรรมและกังวลใจ ซึ่งหลังจากรับรู้ปัญหา มธ.และ ทปอ.ก็ได้เร่งหารือเพื่อเยียวยาทุกฝ่าย ก่อนจะได้ข้อสรุปว่าให้นักเรียนที่ได้คะแนนสูงกว่าผู้มีสิทธิ์ปัจจุบันมีสิทธิ์เข้าศึกษาทั้งหมด โดยไม่ตัดสิทธิ์นักเรียนที่คะแนนลดหลั่นลงมาเพื่อแสดงความรับผิดชอบ และป้องกันเหตุฟ้องร้อง ซึ่งถ้าเกินขึ้นเปอร์เซ็นต์ที่เด็กจะชนะนั้นมีสูงมาก
นอกจากปัญหาใหญ่นี้แล้ว นักเรียนรุ่น 63 ก็ยังเจอปัญหายิบย่อยลงมาคือ ระบบขัดข้อง นักเรียนสมัครสอบคัดเลือกรอบ 3 ไม่ได้ ซึ่งหลังจากนั้น ทปอ.ได้ประกาศปิดระบบชั่วคราวเพื่ออัพเดตฐานข้อมูลหลักสูตร และคุณสมบัติผู้สมัคร
TCAS 2564
ปี 2564 เป็นปีที่ระเบียบการสอบ TCAS มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้ง และส่วนหลักๆ ที่ถูกปรับก็ยังเป็นรอบ 3 เหมือนเดิม โดยในปีนี้ ทปอ.เห็นชอบให้ลดการสอบลงเหลือ 4 รอบ ให้ยื่นคะแนนรอบ 3 และรอบ 4 เป็นรวมกัน และเลือกคณะได้สูงสุด 10 อันดับ อีกทั้งยังมีการยกเอาระบบเรียกสำรองกลับมาใช้เพื่อกันเหนียวให้เด็กๆ ส่วนการประกาศผลการคัดเลือก จะประกาศแยกกันระหว่างรอบ 3 และ 4 เท่ากับว่ายังประกาศผล 5 รอบเหมือนเดิม
ไม่เพียงแต่ปรับวิธีการยื่นคะแนน ปี 2564 ยังมีการปรับโครงสร้างข้อสอบ โดยยกเลิกการสอบ 2 วิชาในหมวดสามัญคือ คณิตศาสตร์ 2 และวิทยาศาสตร์ทั่วไป และให้ไปใช้คะแนนจากวิชาเดียวกันในหมวด O-Net ยื่นสอบแทน
หลังจากเช็กลิสต์การเปลี่ยนแปลงไปคร่าวๆ แล้ว มาย้อนดูเหตุดราม่าสอบ TCAS ของเด็ก 64 กันบ้าง ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่เด็กนักเรียนชั้น ม.6 และอีกหลายๆ ชั้นเดือดดาลมากที่สุดจนถึงขั้นมีการยื่นฟ้องศาลกันเลยทีเดียว
ช่วงปลายเดือนมีนาคมปี 2564 ผู้คนทั่วประเทศต่างจมอยู่กับความเครียดจากการระวังตัวและกักตัว แต่สำหรับเด็กนักเรียนชั้น ม.6 รุ่นนั้นที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนมาอยู่ในออนไลน์ ต้องเจอปัญหาสะสมจากการได้รับความรู้ไม่เต็มที่ ขาดสมาธิ ความไม่พร้อมด้วยอุปกรณ์ต่างๆ
ไม่เพียงเท่านั้น เด็ก 64 ยังต้องเจอเผชิญกับตารางสอบที่แน่นเอี๊ยดที่มากสุดถึง 30 วิชาในเวลาเพียงไม่ถึง 1 เดือน (ตามไปดูตารางสอบสุดโหดของเด็ก 64 เต็มๆ ได้ที่ : https://thematter.co/quick-bite/exam-schedule-dek64/138109 ) นอกจากนี้ตารางสอบบางตัวยังชนวันสำคัญต่างๆ เช่น วันสอบของนักเรียน กศน.
ด้วยเหตุผลนี้ กลุ่มนักเรียนจึงเรียกร้องให้ ทปอ.พิจารณาเลื่อนวันสอบ เพื่อให้นักเรียนมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น แต่ ดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ ตัวแทนจาก ทปอ.ได้ออกมาแถลงว่า ที่ประชุมมีมติไม่เลื่อนสอบตามคำร้องขอดังกล่าว เนื่องจากการเลื่อนสอบจะส่งผลกระทบไปถึงกำหนดการอื่นๆ อีกทั้งการจัดสอบครั้งนี้ได้ประกาศกำหนดการล่วงหน้ามานานกว่า 7 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานเพียงพอสำหรับการเตรียมตัว แล้วยังบอกอีกว่า การตัดสินใจใดๆ นั้นต้องพิจารณาอย่างเท่าเทียมถึงผู้สมัครทุกคน ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
แม้ ทปอ.จะปฏิเสธข้อเสนอเลื่อนสอบ แต่กลุ่มนักเรียนก็ยังไม่ล้มเลิก และเดินหน้าทำแคมเปญล่ารายชื่อเพื่อยื่นหนังสือถึงศาลปกครองกลาง เรียกร้องให้ไต่สวนฉุกเฉิน และยุติการสอบไว้ก่อนจนกว่าจะหาข้อสรุปที่เห็นชอบทั้งสองฝ่ายได้ แต่ท้ายที่สุดศาลปกครองก็ตัดสินยกคำร้อง โดยระบุว่าคำขอของผู้ฟ้องไม่เข้าเงื่อนไขที่จะขอให้ศาลทุเลา เด็กรุ่น 64 จึงต้องก้มหน้าก้มตาสอบตามกำหนดการเดิมต่อไปโดยไม่มีทางเลือก
TCAS 2565
สำหรับการสอบในปีล่าสุดนี้ มีการปรับรอบสอบคัดเลือกเหลือ 4 รอบ โดยยกเลิกรอบแอดฯ และมีการนำวิชาคณิตศาสตร์ 2 และวิทยาศาสตร์ทั่วไปในหมวดวิชาสามัญกลับมาสอบอีกครั้ง เนื่องจากยกเลิกการสอบ O-Net ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดที่โดนวิจารณ์กันมาตั้งแต่เริ่มประกาศเกณฑ์ใหม่ๆ เพราะระเบียบในแต่ละปีไม่มีความแน่นอน
นอกจากนี้ หลายคนยังออกมาพูดถึงเกณฑ์การเปลี่ยนระบบการสอบใดๆ ที่ตามปกติต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี เพื่อให้นักเรียนมีเวลาเตรียมตัว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ซึ่งผู้ช่วยเลขานุการ ทปอ. ออกมาอธิบายว่า ตามปกติการสอบในรองรับตรงจะใช้คะแนนเกรดเฉลี่ย 20% มาพิจารณาร่วม จึงต้องประกาศล่วงหน้าเพื่อให้เด็กมีเวลาสะสมเกรด
แต่ในกรณียกเลิกสอบ O-Net เป็นเพียงการสอบขั้นพื้นฐานที่ ทปอ.เอามาถ่วงเกรดเฉลี่ยของแต่ละโรงเรียนให้มีความสมดุลกัน ดังนั้นเมื่อกระทรวงศึกษาธิการยกเลิกสอบ O-Net ทปอ.จึงยกเลิกคะแนนดังกล่าวโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าได้
คำตอบดังกล่าวทำเอาหลายคนตั้งคำถามว่า “อย่างนี้ก็ได้หรอ?”
กลับมาที่ประเด็นดราม่าสดๆ ร้อนๆ ที่เด็ก 65 ต้องเจอ คือการตอบคำถามของ ทปอ.ในการจัดสอบ TCAS ในช่วงนี้ที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า โยนภาระต่างๆ ให้กับนักเรียนมากจนเกิดแฮชแท็ก #แบนทปอ
แม้จะเข้าสู่ปีที่ 5 แต่กฎเกณฑ์และระเบียบการสอบเข้าต่างๆ ของ TCAS ก็ยังไม่นิ่ง เด็กนักเรียนต้องคอยมาอัพเดตใหม่กันปีต่อปี ส่วนปัญหาเก่าเรื้อรังอย่างระบบขัดข้องก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข หน้ำซ้ำยังมีปัญหาใหม่ๆ โผล่ขึ้นมากวนใจอยู่เรื่อย จนดูเหมือนว่าสนามสอบของนักเรียนไม่ใช่แค่ลานประลองความรู้สู้กับข้อสอบ แต่ยังต้องคอยไฟท์กับระบบที่ดูจะมีปัญหาไม่จบไม่สิ้น
อ้างอิงจาก
https://mgronline.com/qol/detail/9610000045691
https://mgronline.com/daily/detail/9610000054065
https://www.bbc.com/thai/thailand-52588235
https://www.dek-d.com/tcas/55928/
https://thematter.co/brief/138415/138415
https://www.bangkokbiznews.com/social/926146
https://www.matichon.co.th/education/news_2492866
https://d.dailynews.co.th/education/769682/
https://www.bangkokbiznews.com/social/820153
Illustration by Waragorn Keeranan