ความตายเป็นหนึ่งในเรื่องที่ยากที่สุดที่มนุษย์จะทำความเข้าใจได้
ตลอดการมีอยู่ของมนุษย์ ไม่ว่าชีวิตที่จะดีจะร้าย เราก็ยังคงใช้ชีวิตกันต่อไป การคิดภาพหลังการมีอยู่นั้นแทบเป็นเรื่องไกลตัว และนอกจากความยากแล้ว การคิดถึงมันก็สามารถสร้างความกลัวให้แก่เราได้ เพราะหนึ่งในรูปแบบความกลัวที่เก่าแก่ที่สุด คือความกลัวในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ—ความตาย
ไม่กี่สิ่งที่เราพอจะทำได้เพื่อสร้างความเข้าใจและลดแรงกระแทกของคอนเซ็ปต์ที่ยิ่งใหญ่และน่าสะพรึงกลัวของความตาย คือการจินตนาการและเล่าเรื่องของความตายนั่นเอง และแต่ละวัฒนธรรมก็มีตัวแทนของความตายในเรื่องเล่า โครงกระดูถือเคียวสวมชุดคลุมดำเป็นรูปแบบตัวแทนความตายที่เราคุ้นเคย หรือว่าจะเป็นมัจจุราชตัวสีแดง ตัดสินการกระทำดีชั่วของเราเพื่อเลือกว่าวิญญาณของเราจะไปที่ไหนต่อ แต่ละวัฒนธรรมมีตัวแทนของความตายแตกต่างกันออกไป
และแม้ว่าเราจะอินกับวัฒนธรรมของเรามากน้อยขนาดไหน ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัฒนธรรมและเรื่องเล่าที่สะท้อนออกก็เป็นเหมือนตัวแทนมุมมองของมนุษย์กลุ่มนั้นๆ เสมอ และเช่นเดียวกัน วิถีชีวิตของเจ้าของวัฒนธรรมนำไปสู่การก่อร่างและเปลี่ยนแปลงมันต่อๆ ไปด้วย ฉะนั้นถ้าเราตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงมองความตายอย่างนี้ ทำไมสังคมเราคิดแบบนี้ ทำไมชีวิตและมุมมองต่อโลกของเราต่างกันออกไปตามท้องที่ที่เราเกิด อาศัย และเติบโต—ความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในคำตอบสำคัญ
เมื่อมองไปยังตัวแทนความตายของแต่ละวัฒนธรรม เราอาจเห็นได้ว่าแต่ละที่มองเห็นความตายด้วยมุมมองอะไร
ธานาทอส (Thanatos), ปกรณัมกรีก
‘ความตายคือการหลับใหลอันยาวนาน’ เราอาจได้ยินอะไรประมาณว่าความตายและการหลับใหลเป็นพี่น้องกัน ในกรณีของชาวกรีกโบราณความเชื่อนั้นถูกวาดออกมาอย่างเป็นตัวเป็นตนผ่าน ธานาทอส (Thanatos) ตัวแทนของความตายในปกรณัมกรีก
ลูกของนิกซ์ (Nyx) เทพีแห่งค่ำคืน และเป็นพี่ชายของฮิปนอส (Hypnos) ตัวแทนของการหลับใหล บางเรื่องราวเช่นในอิเลียด โดยโฮเมอร์ (Homer) เล่าว่าทั้งคู่เป็นฝาแฝดกัน ธานาทอสมีหน้าที่พาวิญญาณของมนุษย์จากโลกไปยังยมโลก (Underworld) โดยบนภาพวาดบนแจกันนำเสนอว่าทั้งฮิปนอสและธานาทอสเป็นผู้อุ้มวิญญาณของคนคนนั้นออกจากร่างไปด้วยกัน
ในวรรณกรรม ธานาทอสมักถูกเกลียดชังทั้งจากมนุษย์และพระเจ้า ธานาทอสมักถูกวาดให้เป็นชายแก่หนวดเฟิ้ม เพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างเขาและฮิปนอส แสดงถึงความหมายว่าความตายเป็นพี่ของการนอนหลับ แต่จากรูปปั้นของธานาทอสในวิหารแห่งอาร์เทมิส เขาถูกปั้นให้มีหน้าตาอ่อนวัยลงและมีสายตาที่อ่อนโยนมากขึ้น จึงเป็นที่สันนิษฐานกันว่าตัวแทนของความตายถูกลดความน่าเกรงขามลงเมื่อเวลาผ่านไปเพื่อเปลี่ยนมุมมองต่อความตายให้สงบมากขึ้น
กริมรีเปอร์ (Grim Reaper), ยุโรป
ความพิเศษของกริมรีเปอร์คือจุดกำเนิดของมันเกี่ยวข้องกับยุคสมัย พอๆ กันกับมุมมองของความตาย เพราะในขณะที่ปัจจุบันเราคุ้นเคยกับโครงกระดูก ใส่ฮู้ดดำ ถือเคียว ว่ามันคือตัวแทนของความตาย รีเปอร์สไตล์ยุโรปที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีนั้นเกิดขึ้นในสมัยที่ความตายเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นมาจากกาฬโรค (The Black Death)
ก่อนหน้าที่จะเกิดกาฬฏรคระบาด แต่ละวัฒนธรรมในยุโรปมีตัวแทนความตายเป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1347-1353 กาฬโรคระบาดที่ยุโรป ยุโรปตะวันออก และแอฟริกาเหนือ นั่นคือการระบาดครั้งแรกที่ค่าชีวิตคนไปราวๆ 75-200 ล้านคน ไม่แปลกเลยหากในระยะเวลานั้นภาพของโรคระบาดและภาพใหญ่ที่เป็นภาพแทนของความตายจะทับซ้อนกัน เพราะในห้วงเวลานั้นมันแทบจะไม่ต่างกัน กาฬโรคดูเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่หายไปไหน
และตามธรรมชาติของโรคระบาด อีก 300 ปีถัดมากาฬโรคกลับมาใหม่ เราเห็นภาพแกะสลักลายไม้ของโครงกระดูกยืนอยู่เหนือลอนดอน หรือเมื่อมันกลับมาอีกครั้งในอีก 300 ปีถัดมา หนังสือพิมพ์ของฝรั่งเศสก็ใช้ภาพแทนของกริมรีเปอร์เป็นตัวแทนของโรคนี้ ฉะนั้นเช่นเดียวกันกับกาฬโรคที่เป็นจุดเริ่มต้น ภาพแทนความตายของกริมรีเปอร์คือความตายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้มากกว่าอะไร
ซานตา มัวร์เต (Santa Muerte), ตำนานพื้นบ้านเม็กซิโก
เมื่อเราพูดถึงความตายรามักนึกถึงความกลัวที่มนุษย์มีต่อมัน แต่ทำไมกันหนึ่งในสิ่งที่คนนับถือกันมากที่สุดในเม็กซิโกคือตัวแทนของความตาย?
โดยดั้งเดิมตั้งแต่สมัยจักรวรรดิแอซเท็ก ชนพื้นมืองของเม็กซิโกนับถือเทพเจ้าของความตายมาตั้งแต่ต้น แม้แต่เมื่อเจ้าอาณานิคมสเปนเข้ามาและพาศาสนาและวัฒนธรรมของตัวเองมาพร้อมกัน การบูชาความตายนั้นไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ว่าเมื่อวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไป ผสมผสานเข้าหากัน หน้าตาของความเชื่อย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย แต่ในกรณีนี้ยังเหลือเค้าเดิมอยู่มาก
ยมทูตไม่ได้มีเพียงแต่ผู้ชาย ชาวเม็กซิกันจำนวนมากมองว่า Santa Muerte คือเทพีแห่งความตาย อาจจะจากภาษาสเปนที่คำว่า Muerte หรือความตายนั้นเป็นคำนามเพศหญิง หรืออาจจะจากรากของความเชื่อพื้นเมืองแอซเท็กที่นับถือ Mictēcacihuātl เป็นเทพธิดาแห่งความตาย
การออกแบบของเธอนั้นคือเธอเป็นโครงกระดูก สวมผ้าคลุมสีแดง สวมเครื่องประดับจำนวนมาก พร้อมดอกไม้เต็มตัว มือหนึ่งถือเคียวไว้ใช้ตัดสิ่งลบๆ ของชีวิตออกก่อนไปยังโลกหลังความตาย อีกมือถือลูกโลก แสดงออกถึงอำนาจของความตายเหนือเราทุกคน ชัดเจนว่ารูปลักษณ์นี้ได้รับอิทธิพลมาจากยมทูตของทางยุโรปอย่างมาก แต่ความแตกต่างนั้นมาจากผู้ที่นับถือเธอ เพราะต่างจากยมทูตจากวัฒนธรรมอื่นๆ เธอคือตัวแทนความตายของสาธารณชน
Santa แปลว่านักบุญ แต่หากจะพูดกันในทางเทคนิกแล้ว Santa Muerte นั้นไม่ถูกนับรวมกับนักบุญในคริสต์ศาสนา สำหรับชาวคริสต์แล้วเธอเป็นเทพสำหรับพวกนอกรีดและกีดกันเธอออกไป นั่นทำให้ผู้นับถือ Santa Muerte มักประกอบด้วยคนในชุมชน LGBTQ+ อาชญากร หรือคนทั่วไปใดๆ ก็ตามที่รู้สึกว่าเขาไม่เป็นส่วนหนึ่งของศาสนา หลังมีการบูชาอย่างเปิดเผยเมื่อปี ค.ศ.2001 ผู้นับถือของเธอพุ่งทะยานราว 10-20 ล้านคน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเป็นลัทธิทางศาสนาที่เติบโตที่สุดในอเมริกา
ชอซึงซาจา (Jeosung Saja), ปกรณัมเกาหลี
จะตายในวังหรือในบ้าน บนเตียงนอนหรือในสนามรบ ด้วยเหตุธรรมชาติหรือไม่ อย่างโดดเดี่ยวหรือรายล้อมไปด้วยคนรัก ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นยังไง สิ่งเดียวที่แน่นอนคือความตายมาถึงสำหรับทุกคนโดยไม่เลือกว่าเราจะเป็นใคร แต่วิธีที่คนเกาหลีมองความแน่นอนนี้ค่อนข้างมีอารมณ์ขันเล็กๆ อยู่
ในขณะที่บางวัฒนธรรมมองความตายว่าน่าเกรงขาม บางวัฒนธรรมมองว่าอบอุ่น ปกรณัมเกาหลีมองความตายว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยพวกเขาใช้ตัวแทนความตายเป็นข้าราชการเคร่งระเบียบนิสัยแข็งทื่อ ชอซึงซาจา แปลความหมายว่าทูตแห่งนรก ซาจาใส่ชุดข้าราชการโชซอนสีดำ พร้อมหมวก ‘คัด’ ใบใหญ่ เขามาพร้อมสมุดบัญชีคนตายและหากเรียกชื่อใครสามครั้ง คนคนนั้นต้องไปยังโลกหลังความตายกับเขา
หากมองผ่านเลนส์พุทธศาสนา เกาหลีและประเทศเอเชียจำนวนมากแบ่งปันตัวแทนความตายองค์เดียวกัน แต่ชอซึงซาจานั้นเป็นตัวแทนความตายที่มาจากปรกณัมและตำนานจากวรรณกรรมเกาหลี ในเพลงพื้นบ้านมากกว่ามาจากความเชื่อทางศาสนา และน่าสนใจที่ในปัจจุบันตำนานนั้นๆ ก็ยังถูกต่อขยายผ่านวัฒนธรรมร่วมสมัยอยู่บ่อยครั้ง เช่น ในซีรี่ส์ Goblin: The Lonely & Great God อีดงอุค นักแสดงชายชื่อดังก็รับบทชอซึงซาจา และแม้จะเปลี่ยนจากชุดข้าราชการเป็นสูท หมวกสีดำใบโตก็ยังอยู่
พญายมราช, ศาสนาฮินดูและพุทธ
พระยม พญายมราช ยมราชา ราชาเอ็นมะ เหยียนโหลวหวาง ฯลฯ ไม่ว่าจะมาในชื่อ ตัวแทนความตายในวัฒนธรรมเอเชียจำนวนมากคือเทพองค์เดียวกัน เรียกในภาษาสันสกฤตว่า ยามา หรือ ยม
เริ่มมาจากเทพเจ้าแห่งความตายศาสนาฮินดู บุตรของพระอาทิตย์ ผู้ดูแลวัฏสงสาร และแม้ว่าจะมีจุดเริ่มต้นเดียวกัน ในวัฒนธรรมอื่นๆ พระยมมีหน้าตาและเรื่องแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่นในจีนทางลัทธิมหายานเชื่อว่าพญายมเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ทางลัทธิเต๋าเชื่อว่าพระยมมี 10 องค์และเป็นราชาแห่งนรก บางความเชื่อเชื่อว่าเป็นชื่อตำแหน่ง
แต่แม้ว่าจะมีความหลากหลายทางเรื่องเล่า สิ่งที่มักไม่ต่างกันออกไปมากนักคือหน้าที่ที่พญายมทำ นั่นคือเป็นผู้ตัดสินว่าวิญญาณที่มายืนอยู่หน้าประตูนรกตายแล้วจะไปไหนนั่นเอง หน้าที่ที่สะท้อนออกมาในการออกแบบภายในภาพวาดของจีนที่วาดพญายมใส่ชุดผู้พิพากษา โดยการพิพากษานั้นเชื่อมต่อกับกรรมดีและกรรมชั่ว คอนเซ็ปต์ที่อยู่คู่กับศาสนาพุทธทุกนิกาย
แตกต่างจากวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ตัวแทนความตายนั้นจะมาในรูปของยมทูต แม้บางความเชื่อเอเชียจะมีผู้ที่ทำหน้าทีเดียวกัน ยมทูตของทางฮินดูเป็นเพียงสัตว์ประหลาดที่ไม่แสดงออกถึงความหมายอะไร แต่ตัวแทนความตายทางวัฒนธรรมเอเชียคือผู้พิพากษาสุดท้าย คือการตีความดูราวกับว่ามองว่าความตายเป็นข้อเตือนใจให้ใช้ชีวิตอย่างดีและอยู่ในลู่ทางมากที่สุดอย่างนั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก