..ข่าวคราวเงียบหายไป 12-13 ปี นึกว่าไปได้ดี โอ้ GT200 น้องยังมาใช้งบ..
นึกว่าเรื่องจบไปสักทศวรรษได้แล้ว จู่ๆ GT200 หรือเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดลวงโลก ก็กลายเป็นข่าวอีกรอบ แถมยังเป็นข่าวเกี่ยวกับการใช้งบประมาณเจ็ดหลัก เมื่อจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรว่า กองทัพบก (ทบ.) ได้ตั้งงบ 7.57 ล้านบาท เพื่อนำแท่งพลาสติกเปล่าๆ พร้อมเสาอากาศนี้ ไปผ่าพิสูจน์ ‘ทุกเครื่อง’ โดยอ้างว่าจะนำไปใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล
ทั้งที่เคยมีการพิสูจน์ประสิทธิภาพไปเมื่อปี 2553 โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่ผลออกมาว่า มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากการ ‘เดาสุ่ม’ คือชี้ระเบิดถูกต้องเพียง 4 ครั้ง จากทั้งหมด 20 ครั้ง กระทั่งรัฐบาลขณะนั้นสั่งให้ยุติการจัดซื้อและใช้งาน
สำนักข่าวระดับโลกอย่างบีบีซีก็เคยทำสกู๊ปผ่าเครื่องให้ดูจะๆ ว่า ไม่มีอะไรอยู่ในนั้นเลย การ์ดที่อ้างว่าใช้ตรวจสสารต่างๆ ก็เป็นกระดาษเปล่าๆ
ต่อมา ผู้ขายในอังกฤษก็ถูกสั่งจำคุกในข้อหาฉ้อโกงอีกต่างหาก
ชวนให้สงสัยว่า เหตุใด GT200 ถึงยังไม่ตาย และ ทบ.จะใช้เงินหลายล้านบาท ไปตรวจสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่าปลอมไปทำไม แถมยังให้ทำทุกเครื่อง
จะอ้างว่าสู้คดีในศาล ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการสุ่มเทสต์บางเครื่อง และนำไปใช้สู้คดี จนชนะทั้งในศาลอาญาและศาลปกครองมาหมดแล้ว
จะอ้างว่าอัยการสูงสุด (อสส.) แนะนำ ก็เป็นเรื่องจริง แต่แนะนำไว้ตั้งแต่ปี 2560 ผ่านมาหลายปี ทำไมถึงเพิ่งขยับตัว
ทั้งนี้ ระหว่างปี 2548 – 2552 หน่วยงานของรัฐไทย 15 แห่ง ซื้อ GT200 และอุปกรณ์คล้ายกันชื่อ Alpha6 รวมกัน 1,398 เครื่อง คิดเป็นเงินกว่า 1,134 ล้านบาท
หากนับเฉพาะ GT200 ทั้งหมด 836 เครื่อง ทบ. เป็นหน่วยงานของรัฐไทยที่จัดซื้อเยอะที่สุด คิดเป็น 90% ของทั้งหมด
ทั้งหมดเป็น ‘ไม้ล้างป่าช้า’ เป็นแท่งพลาสติกเปล่าๆ ไม่มีวงจรไฟฟ้า ไม่มีแหล่งพลังงาน – แต่กว่าจะได้พิสูจน์ว่า มันทำงานได้จริงหรือไม่ ก็ต้องสู้กันผ่านวิวาทะต่างๆ นานนับปี ระหว่าง ‘คำถามทางวิทยาศาสตร์’ กับ ‘ความเชื่อ-ประสบการณ์ใช้งาน’
เป็น “ค่าโง่” ที่ใครบางคนพยายามแก้คำให้ฟังดูดีขึ้น (ซึ่งไม่เลย) ว่าเป็น “ค่าซื้อความรู้..ที่แพงไปหน่อย”
พอเรื่อง GT200 กลับมาคืนชีพอีกครั้ง อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นชื่อแรกๆ ที่เรานึกถึง
บ่ายวันเดียวกับที่โฆษก ทบ. ออกมายอมรับว่าจะคืนเงินภาษีที่เหลือใช้ไปกับการตรวจสอบ GT200 กว่า 2-3 ล้านบาท (จากทั้งหมด 7.57 ล้านบาท) กลับเข้าคลัง หลังพบว่าไม่มีความจำเป็นแล้ว เรานัดหมายกับคนที่ครั้งหนึ่ง เคยถูกสื่อเรียกอย่างกว้างๆ ว่า ‘อาจารย์จุฬาฯ’
จากนักวิชาการที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก เหตุใดถึงกล้าออกมาตั้งคำถามกับหน่วยงานรัฐทรงอิทธิพล เช่น กองทัพ
ก่อนจะมีชื่อเสียงในเวลาต่อมา ในฐานะผู้ตรวจสอบปรากฎการณ์ทางวิทยาศาสตร์และข่าวปลอมเกี่ยวกับ pseudoscience ทั้งหลาย
The MATTER ขอชวนทุกคน ไปย้อน ‘ตำนาน GT200’ กับ อ.เจษฎากันว่า หน่วยงานรัฐไทยถูกหลอกให้ซื้ออุปกรณ์ลวงโลกเป็นเงินรวมกันถึงพันกว่าล้านได้อย่างไร
เหตุผลที่ GT200 กลับมาเป็นข่าวอีก เกิดจากอะไร อยากให้ อ.เจษฎาช่วยสรุป
เป็นความดีของ ส.ส.ก้าวไกล (จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์) ที่งัดประเด็นนี้ขึ้นมา แม้สังคมโดยรวมไม่มีใครติดตามเรื่อง GT200 แล้ว แต่ผมก็ยังติดตามอยู่เป็นระยะ เพราะมีการฟ้องคดีในศาล ใน ป.ป.ช. ใน DSI (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) และผมโดนเรียกไปให้ปากคำอยู่เรื่อยๆ แม้กระทั่งขึ้นศาลก็ยังถูกเรียกไปเป็นพยานด้วย จึงคิดว่าตัวเองเป็นคนที่รู้เรื่องนี้ค่อนข้างมาก
แต่เคสล่าสุด ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย ถ้า ส.ส.ก้าวไกลไม่เปิดขึ้นมา และเท่าที่ได้คุยกับเขา เขาก็ไม่ได้ตั้งใจดูเรื่องนี้ แต่ดูร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแบบไล่ๆ ดู และด้วยความโชคดี แกใช้คำว่า “ถ้ากระพริบตาก็คงไม่เห็น” เพราะมันสะดุด มีชื่อ GT200 โผล่มาใครๆ ก็รู้จัก คุณจิรัฎฐ์บอกว่า ได้ติดตามเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยพิสูจน์เครื่อง ปี 2552-2553 ก็เลยหยิบขึ้นมา ก็เลยเป็นประเด็นน่าสนใจ
ประเด็นหลักคือปีงบประมาณก่อน ไม่มีโครงการประเภทนี้เลยทำไมเอาเงินไปใช้ได้ และปีงบประมาณต่อๆ ไป จะมีโครงการแบบนี้ขึ้นมาหรือเปล่า ซึ่งนี่คือประเด็นหลักที่เขาอภิปรายในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 วาระแรก เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2565 แต่ประเด็นรองคือ คือนี่เป็น ‘งบตรวจสอบเครื่อง’ คนก็ถามว่าจะตรวจสอบอะไรกัน มันจบไปแล้วไม่ใช่เหรอ หรืออย่างผมก็อยู่ในกระบวนการยุติธรรมแล้ว ก็รู้ว่ามันฟ้องศาลไปแล้วไม่ใช่เหรอ ยังต้องตรวจสอบอะไรอีก
จึงเกิดคำถามว่า 1.ทำไมต้องตรวจสอบอะไรอีก 2.ทำไมต้องตรวจสอบ ‘ทุกเครื่อง’ อันนี้คือคำถามใหญ่ที่สังคมติดใจ พอมีตัวเลขออกมา ค่าตรวจเครื่องละ 10,000 บาท อันนี้ผมไม่ติดใจ เพราะรู้ว่าเวลาตรวจมันต้องทำอะไรบ้าง แต่พอบอกว่า คูณ 757 เครื่อง เท่ากับ 7.57 ล้านบาท ก็เอ๊ะ ทำไปทำไม เพราะอย่างที่เล่าว่า คดีก่อนหน้าเราก็ใช้แค่ตัวอย่างที่สุ่มมา ‘บางเครื่อง’ เท่านั้น จากทุกหน่วยงานที่มีอยู่ ไม่ใช่แค่กองทัพบกเท่านั้น ก็เอาตรงนี้ไปส่งฟ้อง ดำเนินคดีได้ ดีเอสไอกับอัยการก็ฟ้องที่ศาลอาญาจนชนะผู้นำเข้าด้วยข้อมูลชุดนั้น หรือ ป.ป.ช.ที่แม้จะดำเนินการอยู่นานมาก แต่สุดท้ายก็ชี้มูลความผิดไปกว่า 20 คดี มีผู้เกี่ยวข้องนับร้อยด้วยข้อมูลชุดเดียวกัน
มันก็เลยเกิดคำถามว่า แล้วผมก็นำมาโพสต์ มันเลยกระตุ้นให้คนที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้สุดท้ายต้องออกมาพูด แต่ยิ่งพูดยิ่งพันตัว ยิ่งพูดยิ่งน่าสนใจ จนถึงวันนี้คำตอบก็ยังไม่เคลียร์ 100% ว่าเพราะอะไร แต่อย่างน้อยๆ ก็เป็นอีกครั้งที่เราช่วยเซฟเงินให้กับประเทศชาติ แม้บางคนอาจบอกว่าไม่กี่ล้านบาทเอง แต่มันเป็นไม่กี่ล้านบาทที่ใช้อย่างไม่เหมาะสม
หลังจาก ส.ส.ก้าวไกลอภิปรายในสภา สื่อมวลชนหยิบมาทำข่าว อาจารย์โพสต์ลงเฟซบุ๊ก คนจากกลาโหม กองทัพบก อัยการ และ PTEC (ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์) รวมถึง สวทช. ที่รับจ้างตรวจสอบ เรียกว่าผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดออกมาชี้แจงแล้ว ทำไมอาจารย์ยังบอกว่า ยังมีบางข้อสงสัยที่ไม่เคลียร์
คือการชี้แจงแต่ละส่วนยังไม่ค่อย 100% พอยิ่งเอามาเรียงกัน มันก็ยิ่งทำให้เห็นเรื่องที่ขัดกันอยู่ เช่น โฆษกกระทรวงกลาโหมบอกว่าที่ตรวจ GT200 ทุกเครื่องก็อ้างว่าทาง อสส.สั่งให้ทำ แต่เราก็อยู่ร่วมในกระบวนการยุติธรรม ก็ไม่เคยเห็นนะที่จะต้องใช้ข้อมูลทุกเครื่อง ต่อมาพอ สวทช.ก็ออกแถลงการณ์บอกว่าของเราทำได้ถูก ทำเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ แต่คำชี้แจงนี้มันไม่ตอบคำถามผมเลยนะ คำถามคือในฐานะฝ่ายวิชาการควรจะบอกเขาไปว่า มันไม่ต้องตรวจ มันตรวจเสร็จไปแล้ว คุณจะรับงานเขาทำไม
พอต่อมาเริ่มชัดขึ้น รองโฆษก อสส.ออกมาชี้แจง และโฆษก ทบ.ชี้แจง ข้อมูลก็เริ่มชัดขึ้น คือคำแนะนำของ อสส.ให้ ทบ.ตรวจสอบ GT200 ทุกเครื่องเป็นเรื่องจริง แต่มันตั้งแต่ปี 2560 ย้อนกลับไปตอนที่เริ่มมีคำถามตั้งแต่ปี 2552 ก็มีคำถามเรื่องการใช้งานว่าใช้ได้จริงไหม ผู้เกี่ยวข้องก็ส่งไปให้ PTEC ของ สวทช. ตรวจสอบ ซึ่งเขาได้รับโจทย์มาว่า ต้องตรวจสอบ ‘โดยไม่มีการผ่าแกะเครื่องหรือเอ็กซ์เรย์’ ทั้งที่จริงๆ พล.อ.ปฐมพงษ์ (เกษรศุกร์ อดีตประธานที่ปรึกษากองบัญชาการกองทัพบก) ก็เคยแกะโชว์ให้คุณจอมขวัญ (หลาวเพ็ชร์ พิธีกรรายการข่าวชื่อดัง) ดูว่า มันไม่มีอะไรข้างใน ทั้งประเทศรับรู้แล้ว โอเค พอให้ PTEC ตรวจสอบ มันก็ไปสู่การทดสอบที่อลังการตอนปี 2555 และมีการสรุปปี 2557 ซึ่งข้อมูลชุดนั้นเอามาใช้ทุกศาล แล้วก็ชนะ
แต่ผมคิดว่า ที่ อสส.ให้ ทบ.ตรวจสอบเมื่อปี 2560 คืออารมณ์ขนาดนั้น เขาน่าจะยังคิดว่า ‘บางเครื่องมันใช้ได้’ ยังมีคนในกองทัพเชื่อว่า มันมีของจริง-ของปลอม มันต้องเคยทำงานได้สิ มันเลยนำมาสู่การตรวจทุกเครื่องทั้ง 757 เครื่อง แต่เป็นแค่คำแนะนำ ตอนนั้นก็มีการโต้แย้งเรื่องอายุความ ศาลปกครองกลางบอกว่าหมดอายุความแล้ว แต่ศาลปกครองสูงสุดบอกว่ายังไม่หมดสามารถยื่นฟ้องได้ กว่าจะยื่นฟ้องจริงๆ ก็คือปี 2564 และก็ใช้ข้อมูลชุดเดิมนั่นแหละ
พอรองโฆษก อสส.เล่า ก็ยอมรับว่าเป็นคำแนะนำจริงๆ ให้ตรวจทุกเครื่อง เมื่อปี 2560 แต่ก็มาเน้นว่า ”แต่ตอนนี้คดีจบไปแล้ว” คือวันที่ 1 ก.ย.2564 ศาลปกครองกลางตัดสินให้ ทบ.ชนะคดี ให้เอกชนจ่ายเงินคืนกลับมาทั้งหมด อ้าว จบแล้วไม่ต้องทำอะไรเพิ่มสิ แต่คำสั่งที่ ทบ.จะจ้าง สวทช.มาตรวจสอบทุกเครื่องมันปลาย ก.ย.2564 คดีจบแล้ว ปลายเดือนยังมาจ้างต่อ นั่นคือการจ้างล็อตแรก 320 เครื่อง แล้วหลังจากนั้น ต้นปี 2565 ก็ยังไปจ้างให้ สทวช.ตรวจอีกล็อต 437 เครื่อง ซึ่งรองโฆษก อสส. เน้นว่า ทางเอกชนถอนอุทธรณ์แล้ว คดีถึงที่สุด ฉะนั้นการมาอ้างว่า ต้องตรวจสอบ GT200 ทุกเครื่องเพื่อใข้ในศาลปกครองจึงไม่มีความจำเป็นอีก ทำให้โฆษก ทบ.ออกมาบอกว่า เดี๋ยวรอเอกสารจาก อสส.ละกัน จะเลิกจ้างก็ได้ แต่คงได้เงินคืน 2-3 ล้านบาท เพราะล็อตสองมันจ้างเสร็จไปแล้ว และเริ่มทำแล้ว
และข้อมูลที่ไม่ตรงกันอีก คือ ผอ.PTEC ออกมาพูดว่า เขาแย้ง ทบ.ไปแล้วเรื่องตรวจสอบทุกเครื่อง แต่ทางนู้นก็จะเอา จึงต้องทำตาม เพราะเป็นคำสั่งมา อันนี้ก็พอฟังขึ้น แต่ที่มันฟังแล้วเอ๊ะ คือบอกว่า ครั้งนี้ก็ยังห้ามผ่า GT200 อยู่ ซึ่งไม่ตรงกับข้อความในเอกสารจัดซื้อจัดจ้างที่บอกว่า ให้ผ่าเครื่องพิสูจน์ด้วย แล้วจริงๆ มันไม่มีหลักฐานอะไรในโลกนี้ที่บอกว่า ใน GT200 มันพอมีอะไรซ่อนอยู่บ้าง
เนี่ยคำถามมันเลยไม่จบ เพื่ออะไรกันแน่ ทำไมคุณต้องทำอะไรแบบนี้
และเวลาไปต่อสู้คดีในศาล ทั้งที่ผมตามอ่านข้อมูลกับไปเป็นพยาน ก็พบว่า ทางเอกชนที่นำเข้าไม่เคยต่อสู้ว่า GT200 ที่เขาขายมีบางเครื่องใช้ได้ เขาไม่เคยสู้ประเด็นนี้ แต่สิ่งที่เขาสู้ 1.คดีมันหมดอายุความแล้ว 2.เขาก็ถูกหลอกเหมือนกัน เพราะหน้าที่เขาคือ ถ้า ทบ.หรือหน่วยงานไหนก็ตามอยากได้เครื่องมือแบบนี้ๆ มีสเปกแบบนี้ หน้าที่ของเขาคือไปหามาขายต่อ เขาไม่มีเจตนาจะหลอกลวงหน่วยงานต่างๆ แต่ไม่เคยต่อสู้ว่า เครื่องมันเคยใช้ได้นะ ผมกับเจ้าหน้าที่ PTEC ไปเป็นพยาน ศาลก็เห็นภาพว่าเครื่องมันใช้ไม่ได้นะ แล้วใครล่ะที่อยากจะรู้ว่า เครื่องไหนที่มันใช้ได้ ผมก็โพสต์แซวว่า ก็ต้องมีแต่ผู้ใช้ เพราะถ้าผู้ขายติดใจ เขาจะต้องเป็นคนจ่ายเงินตรวจทุกเครื่อง ถ้ายังคิดว่ามันใช้ได้ จ่ายแค่ 7 ล้านบาท อาจจะฟลุ๊กใช้ได้เครื่องนึง อาจจะชนะคดีเลยก็ได้ คำถามคือแล้วรัฐ โดย ทบ.จะจ่ายเงินทำไม นั่นแปลว่าคุณยังเชื่อใช่ไหมว่ามีบางเครื่องใช้ได้
การใช้งบเพื่อตรวจสอบ GT200 ทุกเครื่อง มันก็เลยคิดได้ 2 ทาง 1.ประมาทเลินเล่อจริงๆ แหละ อสส.ก็แนะนำมา ก็ตั้งงบมาตรวจทุกเครื่องเตรียมตัวไป หรือ 2.มีอะไรที่ซับซ้อนกว่านี้หรือเปล่า หรือจริงๆ คุณหาทางจำหน่ายเครื่อง เพราะในเอกสารจัดซื้อจัดจ้างบอกว่าให้แกะเครื่องด้วย ถ้าแกะแปลว่าพังแล้ว ต่อไปก็ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบเครื่องนี้ คือมันเป็นครุภัณฑ์ที่จะทิ้งไปส่งๆ ไม่ได้ ต้องมีเหตุผล แต่ถ้าทุกเครื่องโดนทดสอบแล้ว ยังไงก็ใช้ไม่ได้ นี่มันเป็นแผนจำหน่ายเครื่องทิ้งหรือเปล่า
สุดท้าย เรื่องนี้คงจะจบแบบมึนๆ กันไป เพราะเขาก็ถอยได้ถูกทาง เพราะถ้าเขาไม่คืนเงิน ไม่เลิก ไม่อะไร คนก็คงจะจี้ต่อไป แต่เขาก็ยอมว่า โอเค เลิกก็ได้ สุดท้ายก็คงจะเงียบไปเอง
แต่มันก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า มันมีช่องโหว่ของงบประมาณอยู่เยอะมาก และโชคดีที่นี่เป็นเรื่องที่คนจะรู้จักกัน ชื่อเครื่องมันทำให้คนสะดุด ถ้าเป็นเรื่องกระสุน โน่นนี่นั่น คนก็อาจจะปล่อยวางมากกว่านี้ ผมว่าเป็นอุทาหรณ์ที่ดี
ใน 2 สมมุติฐานที่อาจารย์ตั้งไว้เกี่ยวกับการตรวจสอบ GT200 รอบล่าสุด คือใช้งบแบบไม่ประหยัดกับให้มีการจำหน่ายเครื่อง ให้น้ำหนักกับเรื่องใดมากกว่ากัน
ผมพยายามมองโลกในแง่ดีเสมอ ตั้งแต่เข้าไปยุ่งกับเรื่องนี้ตั้งแต่แรก ที่มีคนบอกว่าเป็นการคอร์รัปชั่นในการจัดซื้อ แต่ผมก็บอกว่า ไม่หรอก คงมีคนที่เชื่อจริงๆ ว่าเครื่องมันใช้ได้ แล้วพอลูกน้องเชื่อว่าใช้ได้ เจ้านายก็ดีใจสั่งเพิ่มมาอีก แต่พอใช้ๆ ไป ดูแล้วไม่เวิร์กนะ มีนักวิชาการมาวิจารณ์ แต่เจ้านายสั่งมาก็ต้องใช้ไป มันก็วนๆ อยู่อย่างนี้
อย่างคราวนี้ก็ยังมองโลกในแง่ดีว่า เออ เจตนาดี ให้ทำอะไรก็ทำ แต่มันมีอะไรให้คาใจอยู่ เช่น อสส.แนะนำตั้งแต่ปี 2560 เพิ่งมาทำปี 2564 และเห็นอยู่ว่าไม่ต้องตรวจทุกเครื่องก็ชนะมาตลอด ทำไมยังต้องทำอยู่ ทำไปเพื่ออะไร ก็หวังจะเป็นตามนี้มากกว่า แต่ก็ยังไม่ทิ้งข้อสงสัยอื่นๆ
เช่น ต้องผ่าพิสูจน์ทุกเครื่อง เพื่อจำหน่ายเครื่อง ไปช่วยเหลือ ‘ใคร’ หรือเปล่า
นั่นแหละครับ จริงๆ ผมก็เป็นคนเปิดเรื่องนี้ เพราะผมก็มีคนในเครือข่ายที่ติดตามเรื่องราวในกองทัพ เขาก็ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการทำเพื่อจำหน่ายเครื่องหรือเปล่า ผมก็เออจริงด้วย มันก็เป็นไปได้ ไม่งั้นจะตรวจสอบทุกเครื่องทำไม เพราะอย่างที่บอกว่า ครุภัณฑ์ในทางราชการจะทิ้งง่ายๆ ไม่ได้ ต้องมีเหตุผล
คือต้องเห็นภาพอย่างหนึ่ง กองทัพจนถึงวันนี้ ยังไม่เคยยอมรับอย่างเป็นทางการว่า GT200 มันใช้ไม่ได้ โดยส่วนตัวผมเอง เขาก็ยังไม่เคยขอโทษหรือขอบคุณผมเลยสักคำ เขาก็ใช้ภาษาของเขาคือ ‘เครื่องที่มีประสิทธิภาพต่ำ’ คือโดนหลอกขายมา อย่างที่เคยพิสูจน์เมื่อปี 2553 พิสูจน์ 20 ครั้ง หากเจอแค่ 4 ครั้ง เขาก็บอกว่าเพราะประสิทธิภาพมันต่ำไง
หาเจอตั้ง 4 รอบ
แต่เขาไม่มองว่ามันฟลุ๊กไง
โยนเหรียญหัวก้อยยังมีโอกาสมากกว่า
ใช่ ก็เลยไม่รู้ว่า พยายามทำอะไรกันแน่ แต่คุณสมบัติ (บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด) ยังบอกว่า มันไม่ตายซะทีนะ ขนาดเงียบไปนาน ยังหาเรื่องให้กลับมาใช้เงินได้ คือถ้ามันคืนชีพมาเป็นข่าวว่า จะเอาไปทิ้งแล้ว คงไม่มีใครว่าอะไร แต่คืนชีพมาแบบใช้เงินด้วย เรายังต้องเสียภาษีให้มันอยู่อีกเหรอ
อยากย้อนไปปี 2552-2553 ที่ อ.เจษฎาเริ่มออกมาตั้งคำถามกับ GT200 ต้องเจอกับอะไรบ้าง
คือถ้าใครตามเหตุการณ์ช่วงนั้นบ้างก็จะพบว่ามันมีรายละเอียดมากกว่าที่เห็นกันตอนนี้ สงสัยว่าเครื่องใช้ไม่ได้เหรอ งั้นมาแกะดูกันดีกว่า ..แต่มันเป็นการโต้เถียงกันค่อนข้างนาน เรามีเครื่องแบบนี้เข้าประเทศมาก่อนหน้านั้นหลายปีแล้ว แล้วก็มีข่าวดังๆ เช่น ไฟไหม้ที่ซานติก้าผับ (ปี 2552) มีคนจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เอาเครื่องนี้ไปเดินๆ แล้วบอกว่า ห้องมุมนี้มีสารเสพติดอยู่ เราก็หู..รู้ได้ยังไง แต่ก็ยังไม่ได้คิดอะไรมาก คิดว่าเครื่องมือวิทยาศาสตร์ทั่วๆ ไปมันก็สามารถทำได้ หรือมีเหตุการณ์ที่กลุ่มพันธมิตรฯ ไปประท้วงข้างอาคารรัฐสภาเดิม (ปี 2551) มีการยิงแก๊สน้ำตากันแล้วมีคนเสียชีวิต ก็มีเจ้าหน้าที่ถือเครื่องนี้ไปเดิน น่าจะเป็นครั้งแรกที่คนเห็นเครื่องนี้ตอนกลางวัน แปลกดี เครื่องอะไรมีเสาอากาศ แล้วก็บอกได้ว่า ตรงไหนมีหรือไม่มีระเบิด ซึ่งในมุมของเรา แม้จะอยู่ในสายวิทยาศาสตร์ก็จริง แต่ไม่ได้ตามสายกองทัพมา ก็คิดว่าคงเป็นเครื่องมือสมัยใหม่มั้งที่คนเรียกว่า nano-nose หรือจมูกอิเล็กทรอนิกส์ มีเซนเซอร์ตรวจจับอะไรก็ว่าไป
แล้วหลังจากนั้นก็เห็นมากขึ้น กับการใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือต้องบอกว่า เครื่องแบบนี้มีทั่วประเทศ ตรวจหายาเสพติด ตรวจวัตถุระเบิด ฯลฯ แต่เนื่องจากตัวมันค่อนข้างใหญ่ ก็จะเห็นการลาดตระเวนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้บ่อยๆ คนก็คุ้นเคยมากขึ้น แต่ก็ตั้งคำถามมากขึ้น
แต่วันที่เราเห็นเป็นข่าว และเริ่มแปลกใจ คือมันมีการใช้งานที่ผิดพลาดมากขึ้น เช่น มีเหตุวางระเบิดจักรยานยนต์ที่เอา GT200 ไปตรวจ แล้วบอกว่าไม่มี แล้วก็ตูมเลย คนก็ถามว่ามันพลาดใช่ไหม แต่สิ่งที่ทำให้ทุกคนชะงัก คือคำตอบที่ผู้เกี่ยวข้องให้ตอนนั้นคือ “เพราะเจ้าหน้าที่ของเรานอนหลับไม่เพียงพอ” สะดุ้งเลย
ความดีต้องยกให้เว็บบอร์ดพันทิป โดยเฉพาะห้องหว้ากอ ที่มีคนรวบรวมข้อมูล ตอนนั้นผมยังไม่เข้าไปเล่นเลย แต่เขาเถียงมาก่อนหน้านั้นแล้วว่า เครื่องแบบนี้ก็เคยมีขายในประเทศอื่นๆ นะ เช่น ในสหรัฐอเมริกาเคยมีการเอาไปใช้หายาเสพติดตามโรงเรียน FBI เอาไปทดสอบก็พบว่ามันใช้ไม่ได้ แล้วบริษัทพวกนี้คงหนีไปเรื่อยๆ มั้ง ที่ ณ วันนั้นยังมีเว็บไซต์ในเมืองไทยอยู่เลย มีสเปกให้อ่านดู จนมีบริษัทที่อังกฤษ และด้วยความเป็นเว็บบอร์ด ก็มีทหารจริงๆ เข้ามาบอกว่า มันน่าจะใช้ไม่ได้จริงๆ หลังจากเขาลองเล่น เปลี่ยนการ์ด ไปซ่อนของ แล้วมันหาไม่เจอ
จนวันหนึ่งลูกศิษย์ผมก็ขนเอกสารมาคุยกับผม เขาบอกว่า จริงๆ เอาเอกสารไปคุยกับผู้ใหญ่มาเยอะ ปรากฎว่าไม่มีคนสนใจเลย แถมยังด่าซ้ำด้วยว่าไปยุ่งอะไรกับทหาร ผมอ่านไปแปบเดียวก็พบว่า เราโดนหลอกแน่ๆ ชัดเจนเลยว่านี่มัน dowsing rod (ไม้หาตาน้ำ) นี่เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เราพยายามแคมเปญ 4-5 เดือนก่อนจะเริ่มเป็นข่าว ก็พยายามติดต่อคุณอังคณา นีละไพจิตร ที่เป็นกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนและภาคใต้ของสภา มันก็เห็นการขยายภาพมากขึ้นว่า จริงๆ คนสงสัยเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ไม่มีใครรู้ว่ามันคืออะไร
ก็มีโอกาสได้ไปนำเสนอในกรรมาธิการของสภา แต่ลักษณะคือพูดไปก็หาย คุณรู้ดีอะไรกับเรื่องนี้ มีคนจากกองทัพมานั่งอยู่ด้วยก็เถียง คนจากสายวิศวะก็มานั่งเถียงแทน ความโชคดีคือนักข่าวบีบีซีเล่นสกู๊ปพอดี ปลายๆ ปี 2552 มันเกิดเคสคล้ายๆ กันที่อิรัก คือที่เขาบอกว่า มันหลอกกันทั้งโลก จริงๆ มันหลอกอยู่ไม่กี่ประเทศหรอก พวกประเทศด้อยพัฒนาที่ยังมีปัญหาแก้ไม่ได้ เช่น การวางระเบิด คือกองทัพอิรักซื้อเครื่องพวกนี้เข้ามาใช้เยอะมากเพื่อหาระเบิด แล้วก็สงสัยว่าทำไมยังระเบิดในกรุงแบกแดดทุกวัน ทั้งที่เครื่องพวกนี้ตั้งด่านอยู่ ซึ่งนักข่าวบีบีซีก็ตรงไปตรงมา คือเอาไปเข้าห้องแล็บ แล้วมาแกะก็พบว่า เห้ย ไม่มีอะไร พอเป็นข่าวปุ๊บก็ดังทั่วโลกเลย นักข่าวก็ถามฝั่งไทยเราบ้าง ผมจำได้เลยว่ารองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงตอนนั้น คือคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) ซึ่งเขาก็เถียงแทนว่า คนละรุ่นกัน ของเราดีกว่า ที่ขำคือคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ นายกฯ ขณะนั้น) ก็บอกว่า งั้นเดี๋ยวเราไปเอาเครื่องที่ใส่แบตเตอรี่มาด้วยละกัน เครื่องนี้มันไม่ใส่แบตเตอรี่มันเลยไม่แม่น อาจจะด้วยความที่เชื่อข้อมูลที่กองทัพรายงานขึ้นมา
ผมก็เลยติดต่อไปทางบีบีซี สมัยนั้นยังใช้อีเมลว่า ในไทยก็มีปัญหากับเครื่องของอีกเจ้านึง คุณเคยตรวจสอบไหม เขาก็ตอบมาว่า เขาก็เคยถ่ายไว้เหมือนกัน แต่มันไม่ใช่โจทย์ของเขา เพราะโจทย์เขาคือที่อิรัก แต่เขาก็ใจดีช่วยทำตอนที่สองให้ แล้วแกะ GT200 ให้ดูเลย คือเป๊ะเลย มันไม่มีอะไรอยู่ข้างใน ก็เลยกลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมา แล้วก็เริ่มเป็นวิวาทะหนักขึ้น และสื่อหลายๆ เจ้าก็เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเครือเนชั่นหรือช่องสาม พล.อ.ปฐมพงษ์ก็อุตส่าห์ไปหาเครื่องมา เพราะเพื่อนท่านนำเข้าเหมือนกัน
แล้วผมโชคดีได้คุยกับคุณอภิสิทธิ์โดยตรง ก็เลยจัดทดสอบให้โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ สมัยที่คุณหญิงกัลยา (โสภณพนิช) เป็นรัฐมนตรีว่าการ แต่ว่าจะถึงขั้นตอนนั้นได้ก็โดนมาเยอะ ทั้งภายใน-ภายนอก ภายนอกก็แน่นอน คุณเป็นใครออกมาวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ ในพันทิปยังบอกว่า ผมเป็น CIA ต้องการจะทำลายกองทัพไทย แต่ที่หนักคือภายในจุฬาฯ เอง คุณเป็นอาจารย์สายชีวะวิทยาไปยุ่งอะไรเกี่ยวกับการตรวจระเบิด ถ้ามีเรื่องอะไร ไม่ช่วยนะ เป็นเรื่องของคุณเองนะ
นี่คนในจุฬาฯ พูดเอง
ในจุฬาฯ เลย ก็เล่นกันค่อนข้างหนัก โดนเรียกสอบสวนในหลายๆ เลเวล ความเครียดอยู่ตรงนั้น
แต่เป้าหมายผมกับเพื่อนๆ ในทีมก็คือ ทำยังไงก็ได้ ไหนๆ ก็ขึ้นหลังเสือแล้ว จะโดนด่ายังไงก็ตาม ขอให้จัดทดสอบสักครั้งเถอะ ถ้าจัดทดสอบก็จบ คือที่ผ่านมา เขาพยายามจะยื้อ เวลาไปประชุมร่วมกับเสนาธิการทหารก็จะโดนแขวะตลอด มาแข่งหาระเบิดกันบ้างไหม หรือให้ระวังนะจะมีคนไปวางระเบิดหน้าบ้านอาจารย์ สารพัดอย่าง บริษัทก็โทรมาขู่ว่าจะฟ้องร้องนะ
แต่ผลสุดท้ายวันที่มันพิสูจน์ได้ มันกลับหน้ามือเป็นหลังมือเลย เห็นชัดมากว่าข่าวมันพลิกเลย คือข่าวก่อนหน้านั้น ก็จะตั้งข้อสงสัยกันเยอะ ตอนนั้นยังไม่มีคนรู้จักผมเท่าไร จะเรียกว่า ‘อาจารย์จุฬาฯ’ ตลอด แต่พอพิสูจน์เสร็จปุ๊บ ก็มาด่า GT200 เละเทะ สู้หมาดมยังไม่ได้เลย ที่ขำคือฝั่งกองทัพ ที่เขาเชื่อเรื่องพวกนี้มาก ไม่ใช่เพราะใช้เครื่องนี้อยู่ แต่มีนักวิชาการฝั่งเขา เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเลยนะ แล้วชื่อดังด้วย เป็นอาจารย์ฟิสิกส์คนหนึ่ง อาจารย์เคมีคนหนึ่ง ที่ยืนยันว่า เครื่องมันใช้ได้ด้วยฟิสิกส์ควอนตัมขั้นสูง ถึงไม่มีอะไรข้างใน มันก็อยู่เป็น nanoparticle ในพลาสติก ก็ไปเรื่อยเปื่อยของแก นั่นคือปัญหาของวงการวิชาการ
แล้ว สวทช.ยุคนั้นก็อ้ำอึ้ง คือสมมุติถ้าผมเป็นผู้บริหาร สวทช. ก็ทุบโต๊ะบอกว่า มันใช้ไม่ได้ครับ จบ แต่นี่อ้ำอึ้งบอกว่า มันใช้ได้
คิดว่า เป็นเพราะอะไร
ทุกคนกลัวกองทัพ ลองย้อนกลับไปเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ขณะนั้นยังไม่ค่อยมีคนตั้งข้อสงสัยกับกองทัพ แอนตี้กองทัพ เทียบกับปัจจุบันมันมีมากขึ้น มันมีแต่บรรยากาศของการร่วมใจเพื่อจะผ่านวิกฤตในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปให้ได้ มันก็มีคนแบบ พูดชื่อได้มั้ง พญ.คุณหญิงพรทิพย์ (โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ขณะนั้น) เป็นแบ็กอัพให้กับ GT200
คือมันเต็มไปด้วยคนที่ต้องช่วยเหลือกันเยอะ ระดับผู้บริหารก็มากระซิบข้างหูว่า อาจารย์ ผมรู้ว่ามันคืออะไร แต่เราต้องช่วยๆ กัน ผมก็บอกว่า ก็พูดไปคำเดียวสิว่า มันใช้ไม่ได้ หรือเลขานุการของคุญหญิงกัลยาก็โทรมาคุยว่า อาจารย์ผมก็เข้าใจนะว่ามันใช้ไม่ได้ ผมเรียนวิศวะมา คุณหญิงกัลยาก็เรียนฟิสิกส์นิวเคลียร์มา
คือทุกคนหา ‘ทางลง’ ไม่เจอ มันขึ้นไปแล้ว หาทางลงไม่เจอ ดังนั้นถ้าเนียนๆ ไปว่าใช้ได้ ก็น่าจะไม่มีอะไร
แต่มันเกิดการต่อสู้ นำไปสู่การทดสอบ แล้วเท่าที่ผมทราบมา เขาคาดว่าจะได้ผลมากกว่านี้
วิธีทดสอบทำยังไง อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าให้เห็นภาพ
มันคือการทำห้องขึ้นมาห้องหนึ่ง แล้วเราเรียกว่า double blind test คือคนหากับคนซ่อนต้องไม่เจอกันเลย ไม่งั้นจะมีการเตี๊ยมกันหรือส่งสัญญาณกัน เขาเคยจัดโชว์ทีหนึ่งที่ค่ายทหารที่ จ.ราชบุรี แล้วหาของเจอ แต่เราไม่รู้ว่า ที่หาเจอเพราะเตี๊ยมกันหรือเปล่า หรือคุณเดินๆ ไปแล้วนักข่าวเฮฮา ก็รู้แล้วว่าถ้าสิทธิมีสิทธิที่จะถูก คือเครื่องนี้มันบังคับได้ จะให้ชี้ซ้ายชี้ขวา
เวลาทำ double blind test ก็คือให้อยู่กับคนละห้อง แล้วจะหากัน 20 รอบ ใน 4 กล่อง ที่จะมีการสุ่มว่าจะวางระเบิดที่ไหน แล้วมีระเบิดจริง-ระเบิดปลอมที่ทรงเดียวกันหมดเลย วางเสร็จก็ให้มาหา ซึ่งคนวางก็ไม่รู้ว่าเขาหายังไงด้วย เป็นวิธีการ ‘ตาบอด 2 ทิศ’ ซึ่งเป็นวิธีการที่สหรัฐฯ ใช้มาก่อน FBI ใช้ตอนที่มีคนมาหลอกขายเครื่องของเขา ฉะนั้น ใน 20 ครั้ง ถ้าเราใช้หลักการสถิติกามั่ว เชื่อไหมว่า ต่อให้มั่วก็มีโอกาสถูก 12-13 ครั้ง แต่ถ้าจะมั่วถูก 17-18 ครั้ง มันไม่ใช่แล้ว แปลว่าเครื่องนี้จะใช้ได้ผลจริงๆ
ตอนนั้นก็ลุ้นอยู่ว่า ถ้าหาเจอสัก 10 ครั้ง ผมตายแน่เลย และผมเข้าใจว่า ตอนที่เขาทำเสร็จ ก่อนจะเปิดผลออกมา เขาบอกเลยว่า ได้ 18 ครั้งแน่ๆ พอออกมาได้ 4 ครั้ง ในห้องประชุม ที่คนอยู่เป็นร้อย ก็ช็อกกันหมดเลย โทรรายงานผลกันระนาว ผมก็ขำอยู่คนเดียว นี่คือความดีของกระทรวงวิทยาศาสตร์และ สวทช. ที่ช่วยออกแบบการทดสอบที่คุณเถียงไม่ได้ แต่วันนั้นเขาก็ยังเถียงว่า มันมีความผิดพลาด เจ้าหน้าที่เริ่มเหนื่อยแล้ว มันมีการปนเปื้อนหรือเปล่า แต่ลองนึกนะ แค่การทดลองทางวิทยาศาสตร์แม้แต่ของเด็กประถมก็ยังต้องมีการควบคุมตัวแปรต่างๆ อย่างดี ตอนแรก เขาบอกว่าจะให้ไปหาระเบิดกันที่ภาคใต้ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าหาไม่เจอ มันจะมีข้ออ้างสารพัดเลย แต่พอเป็นห้องที่ควบคุมทุกอย่างแล้ว มันต้องชัวร์
ฉะนั้นจริงๆ สำหรับผม มันจบตั้งแต่วันนั้นแล้ว แม้กระทั่งนักวิชาการที่ผมบอกเมื่อกี้ว่าอยู่ฝั่งเขา พอผลออกมา เขาก็บอกเลยว่า นี่คือความดีของ อ.เจษฎา เป็นผลต่อวงการวิทยาศาสตร์ไทย โอ้โห เร็วมาก
แล้วจริงๆ มันยังไม่จบ เพราะผมเข้าใจว่า หลังจากนั้นทางกองทัพก็พยายามไปฝึกซ้อม 2-3 รอบ แล้วมี ผบ.ทบ.ตอนนั้น คือ พล.อ.อนุพงษ์ (เผ่าจินดา) มาดู แต่ก็ทำได้ไม่ตามเป้า แต่เขาก็ยังพยายามอ้างเรื่องของจริงของปลอม นำไปสู่การทดลองในแล็บอีก ซึ่งเมืองนอกไม่มีนะ มีแต่ประเทศไทยที่ทำแบบนี้ เมืองนอกเขาแกะ ไม่เจออะไร ก็ฟ้องศาลเลย
ก็กลับไปสู่คำถามว่า ความยากในยุคนั้นคือการทำความเข้าใจกับสังคม การที่สังคมไทยเป็นสังคมที่เชื่อต่างกัน เชื่อคนที่ดังกว่า ระหว่างกองทัพกับใครก็ไม่รู้ แล้วใช้กระแสกดดันเชิงลบต่อเรา ไม่ใช่เป็นวิชาการต่อวิชาการ
กรณีนี้ เจตจำนงทางการเมือง (political will) ของผู้นำสำคัญแค่ไหน อย่างตอนนั้นถ้าคุณอภิสิทธิ์ไม่เปิดทาง จะได้ทดสอบ GT200 ไหม
โชคดีที่ความขัดแย้งทางการเมืองขณะนั้นมันยังต่ำอยู่ แม้คุณอภิสิทธิ์เขามาก็จะมีคนเสื้อแดงมาประท้วงแล้ว แต่ยังไม่ใช่ช่วงพีกที่มีเรื่องราวกัน และไม่ได้มีภาพว่า ผมถูกทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกฯ) จ้างมา คือมันมีข้อกล่าวหานี้นะ แต่ยังไม่แรง ไม่มีภาพว่าเราเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่เป็นใครก็ไม่รู้ แล้วก็มีคนบอกว่า กรณีนี้อาจารย์ตีแต่เรื่องวิชาการนะ จริงๆ ตอนนั้นนักข่าวไม่ได้สนใจเครื่องนี้ด้วยซ้ำ แต่ใช้ GT200 เป็นตัวเบิกทางไปเล่นเรื่องเรือเหาะแทน ผมก็เลยพยายามพูดซ้ำๆ ว่า มันไม่ใช่เครื่องมือวิทยาศาสตร์ๆๆ เราต้องพิสูจน์ด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์
และอีกความโชคดีคือภรรยาคุณอภิสิทธิ์เป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ คณะผมพอดี แล้วมีรุ่นน้องผมไปเล่าให้ฟังว่า ผมมีปัญหา โดนร้องเรียนในคณะ แกก็ไปคุยกับคุณอภิสิทธิ์ก็เลยอยากรู้ว่าเรื่องอะไรกันแน่ คุณอภิสิทธิ์ก็เลยโทรมา คุยกันไม่ถึงสิบนาที แกก็เก็ตทุกอย่างว่าเรื่องเกิดอะไรขึ้น แล้วก็ใช้คำว่า “ต้องหาทางลงให้ได้” เพราะเรื่องมันไปเกี่ยวกับกองทัพ พันกันยุ่งเหยิง และไปพันกับคนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว
ถ้าวันนั้น บรรยากาศเป็นการต่อสู้รัฐบาลกับฝ่ายค้าน มันก็คงไม่จบเร็ว แต่พอเป็นเรื่องทางวิชาการ มันก็เลยจบง่าย
แต่หลังจากคุณอภิสิทธิ์แถลงข่าวที่ทำเนียบว่า GT200 มันใช้ไม่ได้หลังการทดสอบ ปรากฎว่าอีกวันหนึ่ง กองทัพก็ออกมาแถลงข่าวตอบโต้ผ่านโทรทัศน์ว่า จากประสบการณ์ผู้ปฏิบัติงานมันก็ยังใช้ได้นะ
พล.อ.อนุพงษ์เขากลัวเสียหน้า เพราะเขาพยายามวางภาพว่าต้องดี ขาวสะอาด แล้ววิธีการก็คือเอาเด็กมา เอานายสิบที่เคยใช้เครื่องมาพูด ผมก็ดูอยู่ ก็เห็นใจซึ่งกันและกัน ในสถานการณ์ช่วงนั้นเราก็ไม่ได้ตั้งใจทำลายกองทัพ เพราะผมมองว่า สถาบันการศึกษาหรือสถาบันการศึกษามันต้องอยู่ต่อ จะมีอันใดอันหนึ่งล้มไปไม่ได้ แต่ในวันนั้นก็จะมีคนพูดว่า อาจารย์มาทำเรื่องนี้ไม่สงสัยทหารผู้น้อยเหรอ เขาขาดที่ยึดเหนี่ยว มันกลายเป็นว่าที่เขากล้าออกไปเดินลาดตระเวณได้เพราะมี GT200 อยู่กับมือ ตอนนั้นเขาใช้คำว่า มีดีกว่าไม่มี ผมก็พยายามบอกว่า ไม่ใช่ คุณเอาของไม่ดีไปใช้ มันไม่เซฟชีวิตเขา
พอผลออกมา ก็มีคล้ายๆ ปฏิบัติการ IO ในยุคนั้นมาโจมตีว่า พอเครื่องโดนเก็บไป ผู้ก่อเหตุในภาคใต้ก็ออกมาระเบิดใหญ่เลย ผมก็บอกว่า อ้าว มันไม่ใช่ความผิดผม คุณก็ต้องไปหาวิธีการสิ ก็ใช้เวลาเป็นปี กว่าที่เจ้าหน้าที่จะเริ่มคลายศรัทธาใน GT200 แล้วบรรยากาศก็ค่อยๆ เงียบไป แล้วเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมากขึ้น
อย่างเคส GT200 ถ้าหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ของไทย เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์หรือ สวทช.เอง มี ‘กระดูกสันหลัง’ หรือความกล้าหาญมากกว่านี้ มันจะจบเร็วกว่านี้ไหม ไม่ต้องให้ อ.เจษฎาเป็นคนออกหน้า
ผมก็พูดอย่างนั้นตั้งแต่แรกๆ อย่างที่บอกว่า เครื่องมันดู simple มาเลย แล้วข้อมูลมันชัด คือสเปกมันมีให้อ่านบนเน็ตเลยว่า GT200 มันหนัก 2 ขีด คือเครื่องมือวิทยาศาสตร์อะไรมันจะเบาขนาดนั้นได้ คือผมชอบเอาสไลด์นี้ไปสอนเด็กมัธยม พร้อมชี้ให้เห็นว่า แม้แต่พวกคุณก็ต้องรู้สึกแปลกๆ ใช่ไหม มันเบามาก ไม่ต้องใส่แบตเตอรี่ก็ทำงานได้ มันหาของไกลๆ ได้ มันอ้างว่าใช้ไฟฟ้าจากตัวคน คุณรวมไฟฟ้าที่มือตัวเองได้ยังไง แถมตัวมันยังเป็นพลาสติก คุณจะส่งไฟฟ้าผ่านพลาสติกได้ยังไง มันมีประเด็นอะไรให้เห็นเยอะมากเลยว่า แค่ใช้ common sense ก็รู้เลยว่ามันใช้ไม่ได้
ตั้งแต่ผมไปเล่าให้คณะกรรมาธิการของสภาฟัง ก็น่าจะจบ ทุกคนน่าจะอ๋อ แล้วก็ขอให้หยุดใช้ แต่ไม่แฮะ บางคนก็บอกว่า มันเป็นไปได้ เขาใช้มาแล้ว คือสังคมไทยมันเข้าสู่โหมดที่ศัพท์วิทยาศาสตร์เรียกว่า pseudoscience หรือวิทยาศาสตร์เทียม วิทยาศาสตร์ลวงโลก แต่มันเป็นตัวอย่างที่ชัดมากเรื่องคนเชื่อสิ่งที่พูดตามๆ กันว่ามันใช้ได้ ซึ่ง pseudoscience ก็เอาไปอธิบายได้อีกสารพัดเรื่อง เรื่องอาหารเสริม เรื่องไสยศาสตร์ นี่ก็แบบเดียวกันคือคุณไม่ได้มองที่หลักการเลยใช้ไหม คุณมองแค่ว่าคนบอกว่ามันใช้ได้ ด้วยคำพูดทางวิทยาศาสตร์เท่ๆ เช่น ควอมตัม ฟิสิกส์
ผมก็เอาไปสอนเรื่อย เรื่อง pseudoscience ว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นในประเทศที่วิทยาศาสตร์ยังไม่ก้าวหน้า
ซึ่งไม่ได้หมายถึงเครื่องมือที่เราซื้อ มือถือรุ่นใหม่ การได้รางวัลระดับโลก ไม่ใช่ แต่หมายถึง ‘ตรรกะทางวิทยาศาสตร์’ เห้ย ตรรกะมันหายไปนะ ใช้การเชื่อตามๆ กัน การที่ไม่ยอมเปิดให้ตั้งคำถาม แต่พอมีคนตั้งคำถาม ก็บอกว่า เห้ย ทำไมมาสร้างความเสียหาย คุณเป็นใคร ถ้าคุณชัวร์ๆ ว่ามันใช้ได้จริง คุณก็เปิดเลย ใครอยากทดสอบมาได้เลย ถ้าเราเป็นประเทศที่ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ แต่ของเราจากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ค่อยยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
มันเป็นเรื่องของอำนาจด้วยหรือเปล่า เพราะหน่วยงานที่ซื้อ GT200 เกิน 90% ก็คือ ทบ.
ผมกำลังปวดหัวว่า ณ วันนั้น แม้กระทั่งสายวิทยาศาสตร์เองก็ยังเชื่อว่ามันใช้งานได้ นี่เป็นเรื่องที่ประหลาดที่สุดแล้ว อย่างที่บอกว่า มีนักวิชาการบางคนก็มาแก้ต่างให้ คือบริษัทเองก็ไม่รู้หรอกว่ามันทำงานยังไง ก็พยายามหาตำรามาอ้าง
สมัยก่อนจะมีหน่วยงานให้ทุนระดับชาติชื่อ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) เคยมีการจัดประชุม แล้วนำ GT200 ไปบนเวที แล้วบอกว่ามันหายระเบิดได้ อยากจะให้นักวิทยาศาสตร์ช่วยทำวิจัยเพื่อ reverse engineering เราจะได้ประหยัดงบประมาณ เห้ย (เสียงดัง) แสดงว่าคุณเชื่อ แล้วจะให้งบวิจัยด้วย ทั้งที่มันเป็น black box ไม่รู้ว่าข้างในมีอะไร แต่เชื่อว่าทำงานได้ เพราะราคาตัวละเป็นล้าน แล้วอยากหาอะไรก็ใส่การ์ดเข้าไป
เนี่ย มันเป็นปัญหาคือคนในแวดวงวิทยาศาสตร์เองก็ขาดความมั่นใจในตัวเองว่ามันใช้งานไม่ได้ เขาก็ไม่กล้าจะพูดเต็มปาก และอย่างที่ว่าคือพวกเขากระดูกสันหลังไม่แข็ง อย่างผมอาจจะเรียกว่าโชคดี คือตอนนั้นยังอยู่ในวัยหรือวุฒิภาวะที่ทำอะไรบางอย่างได้ ถ้าเป็นเด็กเลยก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ผมเป็น ผศ. อยู่ระดับกลางๆ ผมเข้าใจว่าพวกอาจารย์รุ่นใหญ่ไปเลยก็ไม่อยากจะเปลืองตัว ถ้า สวทช.พูดว่ามันใช้ไม่ได้ ก็จบ หรือกระทรวงวิทยาศาสตร์บอกว่าใช้ไม่ได้ ก็จบ แต่ทุกคนมัวแต่อย่างเนี้ย ไม่มั่นใจๆ ไม่อยากให้ใครเสียหน้า
แต่ถ้าวันนี้ มันคงเป็นอีกแบบ เพราะบรรยากาศมันเปลี่ยนไป
อาจารย์เชื่อว่าเรื่องนี้มีคอร์รัปชั่นไหม
การจัดซื้อจัดจ้างอะไรก็ตาม โดยเฉพาะในกรอบของกองทัพ มันก็มีช่องทางให้ได้เบี้ยบ้ายรายทางอยู่แล้ว ถามว่าจะมีไหม ก็อาจจะเป็นไปได้ เช่น เรื่องของราคา ต้นทุนของ GT200 แค่แท่งพลาสติกกับเสาอากาศ เต็มที่ก็ไม่เกินหลักร้อย แล้วอย่างที่ ป.ป.ช.ชี้มูลไปคือ หน่วยงานซื้อเข้ามาตั้งเยอะแยะทำไมราคาไม่ลดลงเลย มีราคาตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักล้าน แถมยังมีค่าอื่นๆ เช่น ค่าจัดอบรม เชิญฝรั่งมา เปิดโรงแรมให้อยู่ 5 วัน เลยมีคำถามว่า เอะ ต้นทุนมันเท่าไร
แต่ถ้าเรามองในโลกความจริงของการจัดซื้ออาวุธ GT200 มันแค่เศษเงิน สเกลมันเล็กมาก เทียบกับการซื้อเครื่องบิน 1 ลำ สมมุติคุณได้คอมมิชชั่น 10% เครื่องบินหนึ่งลำซื้อมา 1,000 ล้านบาท ก็ได้ซัก 100 ล้านบาท เทียบกับเจ้านี่ คุณได้หลักไม่เท่าไรเอง และโดยส่วนตัวที่เข้าไปคุยกับทหารผู้ใหญ่หลายๆ คน ก็เห็นความปรารถนาดีของเขา ที่อยากให้ลูกน้องมีเครื่องมือที่ใช้งานได้ แล้วบริษัทเองก็เข้ามาเพื่อทำกำไร อย่างบริษัทที่เป็นข่าว รายได้หลักเขาคือขายเครื่องบินนะ เขาขายเครื่องบินกริพเพ่น
เรื่อง GT200 นี่เล็กมาก
เป็นทุกขลาภของเขาเลยนะ เพราะกำไรเศษเสี้ยวเองถ้าเทียบกับเครื่องบิน
ผมจึงเชื่อว่ามีแหละ แต่เชื่อว่า (ถอนหายใจ) เป็นความสะเพร่าแล้วกัน เป็นความประมาท ไม่คิดให้รอบคอบของการใช้งบประมาณ
จากเคส GT200 และอีกหลายๆ เคสหลังจากนั้น มันช่วยทลายปัญหาเรื่องวิทยาศาสตร์ลวงโลก หรือ pseudoscience ในสังคมไทยมากน้อยแค่ไหน
ตั้งแต่ผมเป็นอาจารย์มา 20 ปี ผมเองเป็นนักเรียนทุน เรียนสายวิทยาศาสตร์มาตลอด ความฝันเราก็อยากจะให้สังคมไทยรักวิทยาศาสตร์ ชอบวิทยาศาสตร์ พึ่งพาวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาประเทศได้ แต่ตั้งแต่เป็นอาจารย์มา ก็ยังรู้สึกว่าไม่เท่าไรนะ ประเทศไทยก็ยังธรรมดาๆ เรายังมีเรื่องไสยศาสตร์ คนไทยไม่ชอบเรียนวิทยาศาสตร์
แต่ก็ต้องเห็นภาพว่าในยุคนั้น สื่อยังไม่ค่อยมี ย้อนกลับไปยุคนั้น สื่อหลักๆ ก็มีแค่ทีวี ช่อง 3 5 7 9 ทั่วๆ ไป ทีวีดาวเทียมเริ่มมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ค่อยมีอะไร มันไม่เหมือนยุคนี้ ที่มีสื่อเต็มไปหมด หรือคุณสร้างคอนเทนต์เองก็ได้ มันก็เลยไปไกลมากขึ้น
แต่พอมีเคส GT200 มันเปิดโลกไปไกลกว่านั้นว่า เห้ย คนไทยไม่ชอบเรียนวิทยาศาสตร์ ข่าววิทยาศาสตร์ทั่วโลกมีอะไรน่าตื่นเต้นตั้งเยอะแยะ แต่เราไม่ค่อยสนใจกันเลย พอมีเคส GT200 ถึงได้มาทบทวนกันว่า มันหนักกว่าที่คิดแน่ เพราะตรรกะทางวิทยาศาสตร์มันหายไป เรื่องการตั้งคำถาม
คือวิทยาศาสตร์มันต่างจากศาสนาตรงนี้ ศาสนาคือการเชื่อตามเรื่องเดิมที่ถ่ายทอดมาเรื่อยๆ แต่วิทยาศาสตร์หน้าที่คือเถียงว่าที่เชื่อมามันอาจจะไม่จริงนะ ใครล้มทฤษฎีเก่าได้คือชนะ มันไม่จำเป็นต้องเชื่อตามๆ มา
แต่การเรียนในไทยมันน่าเบื่อ ใครเรียนสายวิทยาศาสตร์ก็จะรู้ว่า เราเรียนแบบท่องๆ จำกันมา บางทฤษฎีก็ล้าสมัยไปแล้ว ก็ยังไม่เปลี่ยน ซึ่งการตั้งคำถาม ผมเคยเรียนในเมืองนอกมา ก็จะรู้ว่าเป็นเรื่องปกติมาก แต่พอมีเคส GT200 กลายเป็นว่า เห้ย เราห้ามตั้งคำถาม อันนี้คือตรรกะมีปัญหาแล้ว คุณเชื่อตามๆ กันมา ทั้งที่เป็น pseudoscience พอจบเหตุการณ์นั้นก็เลยปวารณาตัวเองว่าน่าจะทำอะไรได้มากขึ้น แล้วพอไปลองสังเกตุดูถึงรู้ว่า วิทยาศาสตร์ลวงโลกหลายอย่างรอบๆ ตัว มันวนอยู่กับเรื่องพวกนี้หมดเลย ข้าวของต่างๆ ที่ขายกันอยู่
ผมจำได้ว่า หลังเกิดเคส GT200 ผ่านไป 1-2 ปี ก็มีโรงเรียนที่ จ.ชลบุรีแห่งหนึ่ง เขาอ้างว่าสอนให้เด็กมีพลังจิตได้ โอ้ย สุดยอดมากเลย ยังจำชื่อได้เลยว่าชื่อ Power Mind Camp ดังมาก กระทั่งได้ไปออกรายการคุณไตรภพ (ลิมปพัทธ์ พิธีกรรายการวาไรตี้ชื่อดังในขณะนั้น) เขาอ้างว่า สามารถปิดตาแล้วอ่านหนังสือได้ คนก็ตื่นเต้นกันใหญ่ ดาราก็ส่งลูกไปเรียน ที่ขำที่สุดคือลูก รมว.วิทยาศาสตร์ขณะนั้นก็ไปเรียน เป็นแคมป์แค่ 2 วัน เสียเงินหลักหมื่น แล้วจะออกมามีพลังจิตได้ แต่สุดท้ายก็พบว่าเป็น pseudoscience เราก็เห็นแล้วว่า จริงๆ มันเป็นมายากลแหละ เป็นการแอบมอง คือผ้าปิดตามันจะมีช่องเล็กๆ แต่เด็กโดยหลอกไงว่า ฝึกจิตกระทั่งมองเห็น แต่จริงๆ มันคือช่อง
ก็เลยคิดว่า เออ สังคมไทยมันมีอะไรแปลกๆ เยอะนะ แล้วเราโตมากับห้องหว้ากอในเว็บบอร์ดพันทิป ก็เลยพบว่า การใช้คอมพิวเตอร์ถามตอบกันมาช่วยได้เยอะนะ แล้วก็พบว่า forward mail ต่างๆ ที่แชร์กันในเวลานั้น เกิน 90% แทบจะเรื่องปลอมทั้งนั้นเลย
โลกก็เปลี่ยนเร็วมาก มีทีวีดิจิทัล เริ่มมี social network ก็คิดว่า เราช่วยพวกนี้ได้นะ มันก็มีเคสต่างๆ ให้เล่นเยอะเลย เราสามารถแพร่องค์ความรู้ให้คนได้มากขึ้นเยอะว่า ที่คุณเชื่อตามๆ กัน อ่านจากโซเชียลฯ แล้วแชร์ ผมก็มาเบรกว่า ที่ส่งต่อกันมันผิดนะ ก็หน้าแตกกันไป
จริงๆ คนไม่ค่อยจำชื่อผมจาก GT200 เท่าไรหรอก แค่รู้ว่าเป็น อ.จุฬาฯ แต่คนจะเริ่มจำได้จากการตอบในพันทิป พอเล่นเฟซบุ๊กเป็น ก็เริ่มคุ้นมากขึ้น แล้วสื่อเอง พอมีทีวีดิจิทัล เขาก็พยายามหาคอนเทนต์ ก็ไล่หาจากโซเชียลฯ คนก็คุ้นชื่อเรามากขึ้น รวมถึงการเมืองมันก็เปลี่ยนด้วย มีการโต้เถียงกันให้คนฉุกคิดเยอะขึ้น แล้วเจเนอเรชั่นมันก็เปลี่ยนด้วย มันก็สอดคล้องกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่กลับมากระตุ้นให้เราฉุกคิดมากขึ้น
คิดว่าสถานการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ในสังคมไทยดีขึ้น
ผมคิดว่าดีขึ้น แม้จะมีพยายามทำบางอย่างเพื่อดึงกลับไปแบบเดิมด้วย เช่น ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็พยายามทำบางอย่างให้คนกลับไป ‘เชื่อตามกัน’ แต่มันก็มีฝ่ายเสรีนิยมที่พยายามฉีกไปไกลกว่าที่เราคิดมาก เช่น เรื่องชุดลูกเสือ ทำไมต้องใส่ หรือกระทั่งวิชาลูกเสือ ทำไมต้องเรียน มันก็อยู่ในบรรยากาศที่สนุกขึ้นในการโต้เถียง แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ถึงขั้นเหมือนในต่างประเทศ
คนรุ่นใหม่ใช้โซเชียลฯ ต่างๆ หาข้อมูลได้เก่งขึ้น ตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ มากขึ้น แต่ก็ยังเชื่อพวกมูเตลู อ.เจษฎามองสิ่งเหล่านี้อย่างไร
ผมไม่ค่อยแปลกใจ มันเป็นเรื่องของมนุษย์ตั้งแต่กี่หมื่นปีมาแล้ว ที่ต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ กลับข้างกัน ผมเป็นพวกไม่นับถือศาสนา ไม่ยึดกับศาสนาอะไรเป็นพิเศษ และคนใกล้ตัวผมทั้งหลายก็เป็นสายวิทยาศาสตร์มากๆ แต่ถึงเวลาก็ไปบนบานศาลกล่าวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเขาอ้างแบบนี้ว่า ทุกอย่างที่เป็นเชิงเทคนิคเขาทำไปหมดแล้ว สิ่งที่ยังขาดก็คือดวง เราต้องหามาเสริมด้วย ก็เออ เราก็ไม่เคยคิดมุมนี้มาก่อน
คนทุกคนมีสิทธิในการเลือกถือศาสนาใดๆ ก็ได้ หรือจะเชื่อศรัทธาอะไรก็ได้ แค่อย่าให้มันมาครอบงำตัวคุณหรือสังคมมากเกินไป เราดูญี่ปุ่น ดูตะวันตก ก็มีความเชื่อเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้เสียหายอะไร
เหตุที่ pseudoscience หรือที่ยุคหลังๆ เรียกว่า fake news ยังกระจายอยู่ในสังคมไทย มาจากปัจจัยอะไร
fake news เหล่านี้ มันถูกสร้างมาโดยอิงจากช่องว่างในจิตใจของเราอยู่แล้ว มีอะไรบ้าง ‘ความกลัว’ กับ ‘ความอยาก’ ความกลัว เช่น ถ้าทำแบบนี้จะเป็นมะเร็ง คุณก็พร้อมจะเชื่อ เพราะกลัวเป็นมะเร็งกันอยู่แล้ว และแชร์ให้คนที่รักด้วย ความอยากก็เช่น ถ้าทำสิ่งนี้ๆ จะรวยขึ้น จะแข็งแรงขึ้น คือถ้าเราอยู่นิ่งๆ สิ่งเหล่านี้จะไม่มากระทบอะไรเราเลย ยิ่งถ้าเป็นพวกชอบวิพากษ์วิจารณ์ ก็จะมานั่งดูว่ามันจริงหรือไม่จริง แต่คนทั่วไปเขาไม่มานั่งเสียเวลาแบบนี้ อ่านดูแล้วก็ โอ้ จริงๆๆ รีบส่งต่อ อันนี้คือธรรมชาติ
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ โซเชียลฯ มันทำให้เรายิ่งหลงกับ fake news มากกว่าเดิม แพล็ตฟอร์มอื่นไม่รู้ แต่ผมเล่นเฟซบุ๊กเป็นหลัก หน้าจอก็จะเห็นแต่สิ่งที่ติดตาม มันก็จะเกิด echo chamber วนๆ อยู่ ยิ่งเราบอกว่า ไม่ชอบสิ่งที่เพื่อนคนนี้พูด อันเฟรนด์ไป วงข่าวสารของคุณก็จะยิ่งแคบลงๆ ก็จะยิ่งโดนหล่อหลอมให้เป็นทางใดทางหนึ่ง ความเปิดกว้างก็จะยิ่งน้อยลง โชคดีที่มีคนพยายามทำอะไรเพื่อตอบโต้กับ fake news มากขึ้น สื่อเองก็ทำรายการ เช่น ชัวร์ก่อนแชร์ มีเพจ fact check ต่างๆ มากขึ้น แต่คนก็ยังหลงเหลือ fake news อยู่เยอะ เพราะมันตรงกับจริตของเรา
คำถามสุดท้าย อ.เจษฎาคิดว่า กรณี GT200 ทิ้งอะไรไว้ให้กับสังคมไทย
มองในแง่บวก คือการที่ภาคประชาชนสามารถตรวจสอบกองทัพ สามารถตรวจสอบเรื่องที่เราไม่เคยคิดว่าจะตรวจสอบได้
แน่นอนว่า ในปัจจุบันคนจะมองไปไกลกว่ากองทัพแล้ว แต่ในอดีต ศาสนาห้ามตรวจสอบ กองทัพห้ามตรวจสอบ อีกหลายๆ สถาบันห้ามตรวจสอบ แต่มันเปิดประเด็นให้เห็นว่า เรื่องพวกนี้ถ้าเราทิ้งไว้เฉยๆ มันอาจจะเกิดความผิดพลาดขึ้น ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ ถ้าเปิดให้ช่วยกันตรวจสอบ มันก็จะหาทางแก้ข้อผิดพลาดนั้นได้ ถ้าใจกว้างพอนะ
กองทัพเองจริงๆ ควรจะขอบคุณผม (ยิ้ม) หรือคนที่มายุ่งเรื่องนี้ทั้งหมด เพราะช่วยให้เลิกการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องที่มีปัญหาได้ ซึ่งยังมีอีกเยอะแยะ ทั้งเรือเหาะ รถเกราะยูเครน เรือดำน้ำ เครื่องบินรบ F-35 โดรน ฯลฯ ทุกอย่าง ถ้ามันเป็นสังคมที่เปิดกว้าง เป็นมุมบวก เห้ย เรามาช่วยกันได้นะ แต่ถ้ามองในกรอบของคุณเอง ให้ตายคุณก็ไม่รู้ตัวหรอกว่ามันใช้ไม่ได้
อีกเรื่องหนึ่ง คือสังคมมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ใช้ตรรกะทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น มีการตั้งคำถาม ไม่โต้เถียงด้วยตรรกะวิบัติ เช่น คุณเป็นอาจารย์ชีววิทยา ไม่รู้เรื่องการตรวจระเบิดหรอก ไม่ใช่ ถ้าเราได้ฝึกกันมากขึ้น ในอดีตคนไทย ไม่ชอบการโต้เถียง เทียบกับเมืองนอกที่ดีเบตกันตลอดเวลา จบแล้วก็จบ ไม่มาโกรธกัน หากเราได้มีโอกาสมาอภิปรายด้วยข้อมูล ตัวเลข และหาทางออกร่วมกัน
สังคมก็จะเจริญขึ้น พัฒนาขึ้น