เราจะคาดหวังให้เด็กมีอนาคตที่สดใสได้อย่างไร หากไม่ช่วยเหลือพวกเขาในยามวิกฤต?
เมื่อการเรียนออนไลน์ที่ยาวนานเกินไป ทำให้สภาพร่างกายและจิตใจของเด็กๆ เหนื่อยล้า ยิ่งกว่านั้น ช่วงเวลาที่พวกเขาควรจะได้เล่นสนุก มีความสุขอย่างเต็มที่ ก็ถูกลบให้หายไป จากการรับมือกับ COVID-19 ที่ล้มเหลวของภาครัฐ และความช่วยเหลือที่ไปไม่ถึงเด็กๆ
ประเด็นนี้ ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องขึ้นมาว่า “ขอหยุดเรียน 1 ปีได้ไหม?” ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็ออกมาตอบว่า คงเป็นเรื่องยากที่จะให้นักเรียนได้หยุดเรียนกัน 1 ปี แม้จะเข้าใจดีว่า ในช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์นี้ พวกเขาเจอกับความท้อแท้มากเพียงใดก็ตาม
คำถามที่ตามมาก็คือ เหล่านักเรียนควรได้รับอะไรบ้าง ในช่วงวิกฤตนี้ เมื่อการหยุดเรียน 1 ปี เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่จะให้เรียนกันแบบนี้ต่อไปก็ฝืนเต็มกลืนแล้ว เราขอชวนทุกคนมาร่วมกันหาคำตอบว่า ถ้าอย่างนั้นแล้ว สิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งช่วยเหลือเด็กๆ ในยามวิกฤตนี้ มีอะไรบ้าง?
การพักผ่อนคือสิ่งจำเป็น
ตื่นเช้า เข้าเรียน กินข้าว เข้าเรียน ทำการบ้าน นอน
กิจวัตรประจำวันที่เหล่านักเรียนต้องเผชิญในช่วงเรียนออนไลน์ พร้อมกับเสียงบ่นว่า ชีวิตวัยรุ่นที่ควรได้เล่นสนุก มีความสุขกับผองเพื่อน ต้องมาอับเฉาอยู่แต่ในห้อง แถมพอโรงเรียนกับบ้านไม่ได้แยกจากกันอย่างเด็ดขาดแล้ว เส้นแบ่งเวลาพักของพวกเขาก็เลือนรางตามไปด้วย
ใช้สมองติดต่อกันนานๆ ในรอบวันนั้น สร้างผลกระทบในเชิงลบทั้งต่อร่างกายและจิตใจของทุกคนอย่างมาก เด็กหลายคนตกอยู่ในภาวะเครียด ยิ่งกว่านั้น ผู้ใหญ่หลายคนก็ยังมีทัศนคติว่า ความเครียดในวัยเด็ก ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรไปเสียอย่างนั้น
สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวไว้ว่า ทั่วโลกมีการศึกษาเรื่องผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ พบข้อมูลที่ตรงกันคือ ถ้าเด็กต้องเรียนออนไลน์ จะเกิดความถดถอยทางการศึกษาประมาณ 20-50%
ขณะเดียวกัน ก็มีผลสำรวจจากองค์การยูนิเซฟที่ระบุว่า ในกลุ่มเด็กและเยาวชนกว่า 7 ใน 10 คน กล่าวว่าวิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ทำให้พวกเขาเครียด วิตกกังวลและเบื่อหน่าย นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนเกินครึ่งยังรู้สึกกังวลด้านการเรียน การสอบ และโอกาสในการศึกษาต่อ เนื่องจากการปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลานาน
“เรียนออนไลน์ต่างจากที่เรียนในห้องมาก มันปวดตามากๆ แล้วก็ไม่ได้เจอเพื่อนเลย เรียนก็ไม่รู้เรื่อง” เสียงบ่นจาก ใบม่อน (นามสมมติ) นักเรียนหญิงชั้น ม.1 จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ต้องเรียนออนไลน์มานานนับเดือน
โรงเรียนของใบม่อน มีนโยบายลดเวลาเรียนออนไลน์เหลือ 40 นาทีจาก 55 นาที เพื่อให้เด็กได้พักสายตา แต่เด็กหญิงกลับเล่าว่า สุดท้ายแล้ว ครูก็ปล่อยคาบเรียนตามเวลาเดิม ขณะเดียวกัน แม้จะปรับมาให้เรียนออนไลน์แล้ว แต่เธอก็ยังต้องเรียนหนังสือ 7-8 วิชาต่อวันอยู่ดี
ไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้น เราลองไปสำรวจในกลุ่มพูดคุยของเหล่าพ่อแม่ พบว่า หลายคนกังวลอย่างมากที่ลูกๆ ต้องเรียนออนไลน์ เพราะมองว่า เด็กจะไม่ได้รับการเรียนอย่างเต็มประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ก็เห็นว่าเด็กๆ ต้องเหนื่อยล้าอย่างมากกับการเรียนออนไลน์
มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ตั้งโพสต์ถามในกลุ่มว่า “ลูกวัย 5 ขวบ โรงเรียนยังไม่มีวี่แววเปิด เรียนออนไลน์เสียน้ำตาทั้งแม่และลูกทุกวันเพราะเครียดมาก ไลน์กลุ่มโรงเรียนบางทีก็เป็นตัวกดดันลูกและตัวเรา ถ้าตอนนี้เราจะเอาลูกออกมาจากระบบโรงเรียนอนุบาล 2 จะเป็นแม่ที่แย่ไหม”
ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ปกครองอีกคนหนึ่งที่โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กว่า ตัดสินใจให้ลูกได้หยุดเรียนไป เนื่องจากมีภาวะเครียดมาก และไม่อยากจ่ายด้วยสุขภาพจิตของครอบครัว แต่พอกลับมาเรียนอีกครั้ง พบว่า ครูสั่งงานเยอะมากๆ ราวกับยังเปิดเทอมตามปกติ
ผู้ปกครองรายนี้จึงตัดสินใจว่า จะไม่ให้ลูกตามงานย้อนหลังเด็ดขาด เพราะแค่นี้เด็กก็เครียดมากพอแล้ว และสิ่งที่โรงเรียนกำลังทำอยู่นั้น ไม่ได้คำนึงถึงหลักการเรียนรู้ สุขภาพจิต และความสุขทุกข์ของเด็กเลย
ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของพักผ่อนในวัยเรียน ซึ่งกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ก็เป็นหนึ่งในไม่กี่โรงเรียนที่เข้าใจถึงความสำคัญของการพักผ่อน ด้วยการประกาศงดการเรียนการสอนออนไลน์ 5 วัน หลังจากเริ่มเรียนออนไลน์กันมา 2 เดือนกว่า นับตั้งแต่ที่ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงอีกครั้ง โดยการหยุดเรียนนี้ เป็นไปเพื่อให้นักเรียนได้ผ่อนคลายจากความเครียด และได้ใช้เวลาพัฒนาด้านอื่นนอกเหนือจากการเรียน
วศวิศว์ ปุณณะสุขขีรมณ์ ครูหัวหน้าฝ่ายวิชาการมัธยมศึกษา โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่า การหยุดเรียนนั้น เป็นไปเพื่อให้นักเรียน ครู และผู้ปกครองได้ผ่อนคลายจากความเครียดของการเรียนออนไลน์ เพราะที่ผ่านมา ไม่ได้มีแต่นักเรียนเท่านั้นที่เครียด ครูและผู้ปกครองเองก็เครียดเหมือนกัน
“ครูบางคนที่ไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยีก็ต้องปรับตัวเยอะ ครูที่คุ้นชินก็ต้องไปช่วยเป็นเมนเทอร์ให้ ผู้ปกครองเองก็กลัวว่าลูกจะปล่อยเกียร์ว่างในการเรียน ต้องทำงานไป ดูลูกไปด้วย เด็กเองต้องเรียนอยู่ในห้องเดียวกับผู้ปกครอง จากที่เคยมีเพื่อนนั่งอยู่ข้างๆ ก็เครียดอีก มันตึงกันทั้งสามฝ่าย เลยคิดว่าเราควรพักเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ผ่อนคลายลง”
ครูวศวิศว์ ยังเล่าด้วยว่า ในจดหมายที่ส่งให้นักเรียนและผู้ปกครองจะระบุอย่างชัดเจนว่า ในช่วงเวลาหยุดเรียนนี้ ขอให้ผู้ปกครองผ่อนปรน ให้นักเรียนได้พักผ่อนตัวเองอย่างเต็มที่ แล้วไปพัฒนาทางด้านอื่นบ้าง ซึ่งหมายความว่า นักเรียนสามารถพักไปเล่นเกม เล่นกีฬา หรือทำอะไรก็ได้ เพื่อให้เวลากลับมาเรียนอีกครั้ง พวกเขาจะได้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
ลดงาน ลดเวลาเรียน ยกเลิกการสอบ
“เรียนออนไลน์แล้วงานเยอะกว่าเรียนปกติ ตอนเรียนออนไลน์มีงานทุกคาบ มีการบ้านตลอด มีต้องหาข้อมูลเพิ่มจากที่เรียนในคาบอีก แต่ตอนเรียนปกติที่โรงเรียนไม่ได้มีงานทุกคาบ มีแค่บางคาบ บางวันก็ไม่มี”
เสียงจาก ดิว (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ม.6 ที่ต้องมาเรียนออนไลน์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เขาเล่าให้ฟังว่า การเรียนออนไลน์บั่นทอนจิตใจเขาอย่างมาก ทำให้เคว้ง รู้สึกเบื่อ บางทีก็เรียนไม่รู้เรื่อง พอครูถามว่า ไม่เข้าใจตรงไหน เขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องถามอะไร
ดิวเล่าอีกว่า การเรียนออนไลน์ในช่วงที่ต้องเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น มีผลกับการเตรียมตัวสอบมาก บางทีเขาก็รู้สึกกดดัน และไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรต่อดี
เราถามดิวว่า อยากให้โรงเรียนหรือครูช่วยเหลืออะไรบ้าง ดิวก็ตอบกลับมาว่า “ลดงานกับเวลาเรียนให้หน่อย”
การลดงาน ลดการบ้าน ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ยกตัวอย่างกรณีของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยที่ปรับลดสัดส่วนเวลาเรียนของเด็กใหม่ หลังจากประเมินกันแล้วว่า คงยังไม่ได้กลับมาเรียนในห้องเรียนอย่างเต็มรูปแบบแน่ๆ
ครูวศวิศว์ เล่าว่า โรงเรียนได้เรียนรู้จากการเรียนออนไลน์เมื่อปีก่อนแล้ว มาครั้งนี้เลยคุยกันว่า ควรจะกำหนดเป็นนโยบาย แต่ถ้าให้รื้อใหม่คงไม่ทัน เลยจำเป็นต้องเดินหน้าตามแผนเดิม แต่ปรับลดบางส่วนแทน
สิ่งที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยปรับลดในครั้งนี้ อย่างแรก ก็คือการกำหนดเวลาเรียน ใน 40 นาที จะให้ครูแบ่งเวลาออกเป็น ช่วงแรก 10 นาที สร้างบรรยากาศในการเรียนก่อน เช่น เช็คชื่อ พูดคุยเรื่องทั่วไป แล้วจึงเริ่มเรียนเป็นเวลา 25 นาที จากนั้น ในช่วง 5 นาทีสุดท้ายครูจะต้องออกจากคลาส ห้ามสอนเกินเวลา เพื่อให้ 5 นาทีนี้เป็นรอยต่อในคาบถัดไป ให้เด็กได้พัก เข้าห้องน้ำ ยืดเส้นยืดสาย
อย่างที่สอง คือการปรับเกณฑ์การให้คะแนน จากเดิมที่จะให้ครูแต่ละคน ดีไซน์การสอนกันตามสมควร แต่เมื่อต้องปรับมาเรียนออนไลน์ ก็ต้องกำหนดเป็นนโยบายใหม่ ซึ่งครูวศวิศว์เล่าว่า ปกติที่โรงเรียนจะไม่มีสอบกลางภาคอยู่แล้ว แต่ในครั้งนี้ต้องยกเลิกการสอบปลายภาคไปด้วย เพราะรูปแบบการเรียนที่เปลี่ยนไป
วิธีการแบ่งคะแนนในการประเมิน จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ
- ส่วนที่ 1 คะแนนเข้าชั้นเรียน โดยคุณครูจะใช้ Microsoft teams เป็นแพลตฟอร์มในการเรียนการสอน มีการเช็คชื่อนักเรียนที่เข้าเรียนก่อนและหลัง คิดเป็นคะแนน 20% ของเทอม
- ส่วนที่ 2 คะแนนการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน เช่น การถาม-ตอบ เล่นเกม หรือกิจกรรมที่ครูออกแบบให้นักเรียนสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้นๆ คิดเป็นคะแนน 20% ของเทอม
- ส่วนที่ 3 งานในห้องเรียน อาจจะเป็นแบบฝึกหัด การสอบย่อย หรือการจับกลุ่มเพื่ออภิปรายหัวข้อที่ครูมอบหมายให้มา ทำงานร่วมกันในห้อง แล้วครูก็จะติดตามภาระงานตรงนี้ คิดเป็นคะแนน 20%
- ส่วนที่ 4 การบ้านและงาน ซึ่งเป็นภาระที่ไม่จบภายในคลาส จึงกำหนดว่า หากครูวิชาใดจะให้การบ้านเด็ก ต้องคำนวณเนื้อหาและระยะเวลาที่ใช้ทำการบ้านไว้แล้วว่า จะต้องไม่เกิน 20 นาที ต่อหนึ่งรายวิชา คิดเป็นคะแนน 20% เช่นกัน
คะแนนทั้งหมดนี้ จะรวมกันได้ 80 คะแนน ซึ่งครูวศวิศว์เล่าว่า ตามแผนที่วางกันไว้ กำหนดว่า ถ้านักเรียนสามารถกลับมาเรียนที่โรงเรียนได้ภายในครึ่งเทอมหลัง ก็จะให้มีสอบไฟนอล แต่ถ้ามีเหตุอันควรที่จะระงับการสอบปลายภาค ก็จะขยายฐานคะแนน 80 ให้กลายเป็น 100คะแนน ด้วยการคูณ 1.25 แล้วตัดเกรดได้
และด้วยสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่ดีขึ้นเสียที เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยก็ได้ออกประกาศยกเลิกการสอบปลายภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ทุกระดับชั้น โดยระบุว่า โรงเรียนเข้าใจดีต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ว่าสร้างความตึงเครียดให้กับนักเรียน ผู้ปกครอง ตลอดจนคุณครูผู้สอนด้วย และได้ประเมินอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า หากยังจัดให้มีการสอบปลายภาคเรียนที่ 1 จะยิ่ง สร้างความเครียดให้ทุกภาคส่วนมากขึ้นไปอีก
“เราวางแผนมาตั้งแต่พฤษภาคมแล้ว ที่ประกาศไปนั้น ก็เป็นการยืนยันว่า เราไม่มีการสอบปลายภาคในภาคเรียนนี้”
แต่ก็มีหลายคนที่ยังมองว่า หากไม่ให้เด็กสอบ แล้วจะวัดผลการเรียนรู้ของเด็กได้จริงๆ เหรอ ซึ่งครูวศวิศว์มองว่า ประเทศไทยยึดติดกับการสอบมาตลอด แต่จริงๆ แล้ว การประเมินผลนักเรียนไม่ได้อยู่ที่การสอบอย่างเดียว การสอบเป็นวิธีการที่ง่ายสุด สะดวกสุด แต่การประเมินผลการเรียนรู้สามารถทำได้หลากหลายวิธีมาก
“กรุงเทพคริสเตียนฯ เน้นย้ำกับครูผู้สอนเสมอว่า คุณจะต้องหาวิธีการประเมินการสอนที่หลากหลายให้กับนักเรียน อย่ายึดติดอยู่กับการสอบเพียงอย่างเดียว เพราะว่าการสอบมันไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง ยิ่งในสภาวะแบบนี้ ไม่ว่าเราจะออกแบบการสอบได้อย่างรัดกุมขนาดไหนก็ตาม มันก็ยังมีจุดรั่วที่จะทำให้การสอบมันเป็นไปด้วยความยุติธรรมไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในเมื่อเราทำให้ถึงจุดนั้นไม่ได้ เราจะดันทุรังไปทำไม ในเมื่อเรามีเครื่องมือ เรามีวิธีการอื่นๆ อีกหลากหลายที่จะประเมินผลการเรียนของนักเรียนได้”
คุณครูยกตัวอย่างกรณีของวันแม่ที่ผ่านมา โรงเรียนได้ปล่อยคลิปการเรียนดนตรีของนักเรียนในชุมนุมดนตรี ซึ่งพวกเขาสามารถเล่นดนตรีมาผสมเป็นเพลงได้ มีนักร้อง มีเครื่องดนตรีหลายๆ ประเภทที่อยู่ในบ้านตัวเอง แล้วโรงเรียนก็มีสายการเรียนดุริยางคศิลป์สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่จะมีสอนในเรื่องของการ produce เพลง คลิปงานโรงเรียนนี้ พิสูจน์ให้เห็นว่า เด็กนำความรู้จากการเรียนไปใช้ได้จริงจนออกมาเป็นผลงานนี้ นี่คือผลการเรียนรู้ที่มองเห็นได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้การสอบมาวัดผลเลย
“ผมคิดว่า นี่เป็นทัศนคติที่คนไทยจะต้องปรับ อย่าไปยึดติดกับกระดาษ กับการสอบ มันมีวิธีการอีกหลากหลายมากๆ ที่จะประเมินผลการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งเด็กแฮปปี้ ครูก็แฮปปี้ แฮปปี้กันทั้งสองฝ่าย แล้วมันไม่ได้สร้างความเครียดให้ใครเลย นั่นแหละคือวัตถุประสงค์ของการเรียน เราเรียนด้วยความสุข ไม่ต้องมานั่งเครียดกับการสอบด้วยกระดาษ
“ความสุขต้องมาก่อน แล้วความรู้จะตามมา ถ้าความสุขมาปุ๊บ เขาอยู่ในสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข มันจะมีแรงผลักดันบางอย่างที่ทำให้เขาต่อยอดความรู้นั้นไปได้ นั่นแหละคือเป้าหมายหลักของการเรียนรู้ ถ้าสร้างให้นักเรียนสนุกและสุขกับการเรียนได้ มันคือเรื่องสำคัญมากกว่าคอนเทนต์”
จากประเด็นทั้งหมดนี้ คำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำไมโรงเรียน ถึงยังให้งาน การบ้าน ที่มหาศาลกับนักเรียนอยู่ดี ทำไมการพักถึงไม่เคยเป็นเรื่องใหญ่สำหรับพวกเขาเลย
อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การให้งานกับนักเรียนเยอะๆ สะท้อนว่า ครูในโรงเรียนกลัวว่าจะสอนได้ไม่ครบตามหลักสูตร เพราะกลไกกำกับติดตามเขาเข้มงวดในการให้ทำรายงานว่า สอนได้ครบตามตัวชี้วัดที่กำหนดในหลักสูตรหรือเปล่า ทั้งๆ ที่โรงเรียนมีสิทธิออกแบบหลักสูตรด้วยตัวเอง ตาม พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับปัจจุบันอยู่แล้ว
อ.อรรถพลมองว่า ถ้าโรงเรียนไม่มีความเข้มแข็งเชิงวิชาการ ครูวิชาการไม่เข้มแข็ง ผอ.เองก็เต้นไปตามจังหวะของการเมือง มันก็ทำให้โรงเรียนเต็มไปด้วยความกลัว ซึ่งคุณครูเองก็ไม่ได้อยากอัดเนื้อหาให้เด็ก แต่จากการต้องมานั่งตามเช็กว่า สอนได้ครบตามตัวชี้วัดหรือเปล่า ใบงานมีไหม มีร่องรอยหลักฐานหรือเปล่า มันเลยกลายเป็นเรื่องยากที่จะต้องสอนให้ครบตามตัวชี้วัด
“แต่คิดว่า 2 เดือนผ่านมาแล้ว ครูเขาเริ่มคุยกันมากขึ้นว่าแบบนี้มันไม่ไหวกับครูและเด็ก กลายเป็นทุกคาบต้องมีใบงานหมด เด็กก็ไม่ทำส่ง พอตามๆ ไปก็จะเริ่มรู้ว่าเด็กเขาหลุดจากบทเรียนไปแล้วเพราะงานมันเยอะมาก”
อ.อรรถพลเล่าว่า ก่อนหน้านี้ เพจ ‘อะไรอะไรก็ครู’ ได้ตั้งแบบสำรวจถามความเห็นว่า ครูได้ปรับตารางเรียนกันอย่างไรบ้าง ก็พบว่า บางโรงเรียนปรับลดคาบสอนาออนไลน์ให้เหลือแค่ 30 นาที และมีช่วงให้เด็กพักมีช่วงให้เด็กพัก 15 นาที เพื่อไม่ให้นักเรียนเครียดเกินไป ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ ก็เป็นกลุ่มที่เด็กมีความพร้อมออนไลน์ได้ทั้งวัน
บางที่ก็ให้เด็กเรียน 4 วิชาต่อวัน ส่วนที่เหลือให้เป็นการเรียนด้วยตัวเองที่บ้าน หรือโรงเรียนประถมบางแห่ง ก็ปรับให้เรียนวันละ 2วิชา แบ่งครึ่งเช้า-บ่าย
“ต่อให้ออนไลน์ได้ก็ไม่ควรออนไลน์ทั้งวัน ตอนนี้คิดว่า ในโรงเรียนครูเขาได้นั่งคุยกันแล้ว ทำให้พื้นที่อิสรภาพในการตัดสินใจตรงนี้กลับมาแล้ว ครูทำได้ ออกนอกกรอบได้ แล้วที่ตลกคือ ส่วนกลางก็ประกาศอยู่ทุกวันว่าให้ทุกอย่างเป็นเรื่องการตัดสินใจที่โรงเรียน แต่ตอนนี้ข้อต่อระหว่างส่วนกลางกับโรงเรียน ยังมีเขตอยู่ แล้วก็มีการตรวจราชการกันอยู่
“เราอยู่กับวัฒนธรรมข้าราชการที่อยู่ด้วยความกลัวมานานเกินไป โรงเรียนจึงไม่มั่นใจอะไรเลยว่า ตัวเองจะออกนอกกรอบได้”
อ.อรรถพล ยังกล่าวเสริมถึงกรณีที่มีการสำรวจเรื่องซิม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งส่วนกลางออกคำสั่งให้โรงเรียนสำรวจมาแล้ว 2 รอบ ทั้งยังมีปัญหาอีกยิบย่อยระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับ กสทช. ทำให้เด็กต้องรอนานตามไปด้วย ทั้งที่เวลาเป็นของมีค่าสำหรับเด็กเสมอ
อย่าลืมวัคซีนสำหรับเด็ก
ถึงที่สุดแล้ว เด็กก็ต้องกลับเรียนกันที่โรงเรียนเหมือนอย่างที่เคยเป็นกัน ดังนั้นแล้ว คำถามที่ตามมาก็คือ จะทำยังไงให้เด็กกลับไปเรียนในโรงเรียนได้อีก ในช่วงที่ COVID-19 ระบาดหนัก
คำตอบเดียวกันกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การให้ผู้ใหญ่ได้ออกจากบ้านอีกครั้ง นั่นคือ ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคด้วยวัคซีน
แต่วัคซีนในเด็กก็ยังเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงน้อยมากในไทย เพราะแม้แต่กลุ่มเสี่ยง ผู้สูงวัยหลายคนในประเทศ ก็ยังไม่ได้วัคซีนดีๆ กันด้วยซ้ำ แล้วเด็กจะเข้าถึงวัคซีนได้อย่างไร ยิ่งกว่านั้น โรค COVID-19 ทำอะไรกับเด็กๆ ไม่ได้จริงเหรอ?
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ตอนนี้ เรายังพบผู้ป่วยติดเชื้อรายวันจำนวนมาก และมีแนวโน้มการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ก็พบว่าติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมนี้ ไปถึง 7,787 คน และมีจำนวนการติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์ที่สอง เพิ่มขึ้นเป็น 8,733 คน คิดเป็น 12% ของกลุ่มวัยเรียน
และถ้านับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน -14 สิงหาคมนี้ มีเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี จำนวน 41,832 คน ที่ติด COVID-19 แล้ว คิดเป็น 0.8% ซึ่งในจำนวนนี้ มีเด็กและวัยรุ่นที่เสียชีวิตไป 8 คน นั่นแปลว่า กลุ่มนักเรียนเอง ก็เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังการติด COVID-19 เพิ่มมากขึ้น
ยิ่งกว่านั้น ไม่ใช่แค่ความเสี่ยงในการติดโรค COVID-19 เท่านั้น ที่ต้องถูกนำมาคำนวณในการจัดสรรวัคซีนให้เด็ก แต่เรื่องของเวลาชีวิตที่เหล่านักเรียนต้องงดเว้นจากการไปโรงเรียน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนว่า การจัดสรรวัคซีนให้เด็กนั้น เป็นเรื่องสำคัญขนาดไหน
หลายประเทศก็เร่งฉีดวัคซีน COVID-19 ให้เด็กกันแล้ว อย่างที่สหรัฐฯ ก็ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปีแล้ว ทำให้ตอนนี้มีกลุ่มเด็กที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้วอย่างน้อย 2.5 ล้านคน จากเด็กวัยนี้ทั้งหมด 17 ล้านคน เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปที่อนุมัติให้ฉีดวัคซีนชนิด mRNA ในกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปีแล้ว
ล่าสุด สหรัฐฯ คาดว่าจะอนุมัติให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ไปจนถึงอายุ 6 เดือนเข้ารับวัคซีนได้ ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งทั้งวัคซีน Pfizer และ Moderna ก็ได้เริ่มทดลองในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาแล้ว คาดว่าจะเผยผลการทดลองของเด็กกลุ่มอายุ 5-11ปี ออกมาในเดือนกันยายนนี้ และในกลุ่มอายุ 2-5 ปี ก็จะตามมาหลังจากนั้น ส่วนผลของกลุ่มอายุ 6 เดือน – 2 ปี จะปล่อยออกมาในช่วงเดือนตุลาคม- พฤศจิกายนนี้
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่มีโรคประจําตัวที่เสี่ยงว่า หากติดโรค COVID-19 แล้ว อาการจะรุนแรง เช่น โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ กลุ่มโรคพันธุกรรม มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาท มีพัฒนาการช้า สามารถเข้ารับวัคซีนชนิด mRNA ที่มีใช้ในขณะนี้ก่อนได้ ส่วนกลุ่มเด็กที่ร่างกายแข็งแรงดีนั้น ต้องรอไปก่อน เพราะจำนวนวัคซีนยังมีอยู่จำกัด
นี่คือเหตุผลที่เราจำเป็นต้องนำเข้าวัคซีน mRNA มาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนรวมถึงกลุ่มเด็ก ได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ หลากหลาย และมีตัวเลือกให้กับชีวิตมากขึ้น ซึ่งการมาของวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและผ่านการใช้ในกลุ่มเด็กแล้วนั้น จะช่วยให้นักเรียนได้กลับไปใช้ชีวิตตามอย่างที่ควรเป็นกันอีกครั้ง
ทั้งการแก้ปัญหาในห้องเรียน อย่างการลดจำนวนงาน ลดการบ้าน ปรับเวลาเรียน ยกเลิกการสอบ ไปจนถึงการจัดสรรวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอจะฉีดให้กับกลุ่มนักเรียนนั้น ล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อไม่ให้ช่วงเวลาที่เด็กๆ จะได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ต้องสูญเสียไปมากกว่าที่เป็นอยู่
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก