ตรวจสุขภาพจิต เช็คประวัติ แบนอาวุธ ซื้อปืนคืนจากประชาชน
แม้ว่า ‘ปืน’ จะเป็นอาวุธที่ออกฤทธิ์ได้ ต่อเมื่อถูกเหนี่ยวไก แต่การควบคุมปืนก็เป็นสิ่งที่หลายประเทศให้ความสำคัญ หลังเกิดเหตุการณ์กราดยิงต่างๆ เสมอมา
ขณะเดียวกัน วิธีการควบคุมปืนของแต่ละประเทศล้วนแตกต่างกันออกไป ตามบริบท การเมือง และสภาพสังคม บางประเทศใช้วิธีการละมุนละม่อม บางประเทศใช้วิธีการเร่งรัดเด็ดขาดทันที
กราดยิงหนองบัวลำภู เหตุการณ์ที่สร้างความโศกเศร้าให้ผู้คนทั่วประเทศและประชาคมโลก ทำให้เรื่องของการควบคุมอาวุธปืน ถูกกลับมาตั้งคำถามอีกครั้งในสังคมไทย ยิ่งเหตุการณ์นี้ ไม่ใช่การกราดยิงครั้งแรกของประวัติศาสตร์ไทยแล้วด้วย การแก้ไขและป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐควรทำอย่างยิ่ง
The MATTER ขอพาไปดูนโยบายควบคุมปืนของแต่ละประเทศ เพื่อสำรวจว่า หลังเกิดเหตุกราดยิงแล้ว แต่ละประเทศมีนโยบายอย่างไรกับการควบคุมปืนบ้าง?
นิวซีแลนด์
เพียง 1 วันหลังเกิดเหตุกราดยิง นิวซีแลนด์ก็ออกแอคชั่นทันที
เหตุกราดยิงในมัสยิดในเมืองไครสต์เชิร์ชเมื่อปี 2019 พรากชีวิตผู้คนไป 51 คน และทำให้มีผู้บาดเจ็บ 40 คน ซึ่งถือเป็นการสังหารหมู่ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์นิวซีแลนด์
ข้ามวันหลังเกิดเหตุ จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ก็ออกประกาศว่าจะเดินหน้าผลักดันแก้ไขกฎหมายเพื่อควบคุมปืนให้เข้มงวดยิ่งขึ้น ก่อนจะประกาศรายละเอียดตามมาว่า จะแบนอาวุธกึ่งอัตโนมัติ ปืนไรเฟิลจู่โจมแทบทุกชนิด แม็กกาซีนที่มีความจุสูง รวมถึงชิ้นส่วนใดๆ ก็ตามที่นำมาดัดแปลงใส่ปืนได้ แบบเดียวกับที่ผู้ก่อเหตุใช้ในการกราดยิง
รัฐสภานิวซีแลนด์ยังลงมติอย่างท่วมท้น ด้วยคะแนนเสียง 119:1 ให้ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายเพื่อแบนอาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติและปืนไรเฟิลจู่โจมแทบทุกชนิดทั้งประเทศ
“นิวซีแลนด์มีความผิดปกติตรงที่อาวุธปืนที่มีพลังทำลายล้างได้ขนาดนี้ สามารถหาได้ทั่วไป วันนี้ ความผิดปกตินั้นต้องยุติลง” อาร์เดิร์นกล่าวในวันที่ลงมติแก้กฎหมายปืน
อีกการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือการให้ลงทะเบียนการพกปืนสั้น โดยผู้ครอบครองต้องอัพเดททุกๆ ครั้งที่พวกเขาซื้อหรือขายปืน
“กฎหมายใหม่นี้จะช่วยยุติการที่ปืนไปอยู่ในมือคนที่ไม่เหมาะ มันเป็นการสะท้อนให้เห็นออกมาเป็นครั้งแรกว่าการเป็นเจ้าของอาวุธปืนเป็นสิทธิพิเศษ” สจ๊วต นาช (Stuart Nash) กรมตำรวจนิวซีแลนด์กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขกฎหมายอื่นๆ เช่น การห้ามอาวุธปืนที่มีความเสี่ยงสูงอย่างปืนไรเฟิลสั้นกึ่งอัตโนมัติ เพิ่มความเข้มงวดในกฎสำหรับผู้ค้าปืน และลดระยะเวลาของใบอนุญาตอาวุธปืนจาก 10 ปีเป็น 5 ปี สำหรับผู้ถือใบอนุญาตครั้งแรก ผู้ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือผู้ที่ใบอนุญาตหมดอายุ
ความพยายามของนิวซีแลนด์ในการควบคุมอาวุธปืนได้รับการยกย่องจากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติสนับสนุนการควบคุมอาวุธปืนและนักเคลื่อนไหวต่างพยายามอย่างหนักจัดการกับความรุนแรงที่เกิดจากปืน
เยอรมนี
18 ชีวิตที่เสียไปจากเหตุกราดยิงในเมืองแอร์ฟูร์ท ประเทศเยอรมนี เมื่อปี 2022 ทำให้รัฐบาลคุมเข้มกฎหมายปืนมากขึ้น โดยตามพระราชบัญญัติปืน ระบุว่า คนที่ต้องการครอบครองปืนต้องมีใบอนุญาตครอบครองปืน ในการเป็นเจ้าของหรือซื้อปืนพก และต้องใช้ใบอนุญาตอาวุธ ในการใช้หรือพกปืน ขณะที่เหล่านักล่าสัตว์ไม่ต้องขอใบอนุญาตตัวนี้ แต่ต้องมีใบอนุญาตล่าสัตว์ และจะใช้ปืนได้ในกรณีที่ล่าสัตว์เท่านั้น
โดยที่ใบอนุญาตครอบครองปืนจะทำให้ผู้ที่มีใบสามารถ ‘ขนส่ง’ ได้อย่างเดียวเท่านั้น นั่นหมายความว่า หากคุณจะพกปืนไปในที่สาธารณะ จะต้องไม่มีกระสุนอยู่ในปืน และบรรจุอยู่ในเคสที่ล็อกอยู่เท่านั้น
ยิ่งกว่านั้น ใบอนุญาตให้พกปืนนี้จะออกได้ในบางกรณีเท่านั้น โดยทั่วไปจะให้ในกรณีที่ผู้สมัครสามารถพิสูจน์ได้ว่าเขาหรือเธอตกอยู่ในอันตรายมากกว่าประชาชนทั่วไป และการถือปืนจะทำให้พวกเขาปลอดภัยกว่าเดิม
โดยรวมแล้ว ค่าใช้จ่ายสำหรับการสมัคร รวมถึงการประกันภัยที่จำเป็น จะอยู่ที่ประมาณ 500 ยูโร (ราว 19,000 บาท)
ขณะเดียวกัน ก็มีกฎหมายอาวุธสงครามที่ระบุว่า การพกอาวุธสงครามก็ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายในเยอรมนี (เว้นแต่เป็นอาวุธสงครามที่มีมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 หรือก่อนหน้านั้น) และอาวุธปืนบางประเภทก็ถือว่าเป็นเรื่องผิดภายใต้กฎหมายนี้ด้วย เช่น ปืนลูกซองแบบโยนลำ แต่ก็ไม่ใช่ทุกปืนกึ่งอัตโนมัติ
ใครที่สามารถถือครองปืนในเยอรมนีได้บ้าง
- บุคคลที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป (ถ้าอายุต่ำกว่า 25 แล้วต้องการครอบครองปืนกระบอกแรก จะต้องมีผลตรวจจากจิตแพทย์)
- บุคคลที่สามารถพิสูจน์ ‘ความน่าเชื่อถือ’ และ ‘คุณสมบัติ’
- มีความรู้เฉพาะทางที่จำเป็นต่อการครอบครองปืน
- สามารถแสดง ‘เจตนา’ ในการครอบครองปืนได้
- มีประกันความรับผิดสำหรับการบาดเจ็บส่วนบุคคลและความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างน้อย 1 ล้านยูโร (36 ล้านบาท)
โดยคุณสมบัติที่จะถือว่าไม่เหมาะสมกับการได้ครอบครองปืน เช่น เคยก่อคดีอาชญากรรมมาในรอบ 10 ปี มีพฤติกรรมที่ส่อได้ว่าเขาจะใช้ปืนอย่างประมาท เป็นสมาชิกขององค์กรที่ถูกแบนหรือไม่ถูก ติดแอลกอฮอล์ ยาเสพติด หรือมีอาการป่วยทางจิตไหม
สหราชอาณาจักร
มาตรการครอบครองปืน มีปัญหาอะไรหรือเปล่า? – คำถามที่เกิดขึ้นทันทีหลังเหตุกราดยิงในโรงเรียนประถมดันเบลนที่สกอตแลนด์ เมื่อปี 1996 ทำให้เด็กนักเรียน 16 คน และครู 1 คนเสียชีวิต พร้อมด้วยผู้บาดเจ็บ 15 ราย ก่อนที่ผู้ก่อเหตุจะยิงตัวเองตาม
นี่คือเหตุการณ์กราดยิงครั้งประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนกฎหมายครอบครองปืนในสหราชอาณาจักรไปในทันที
หากไปดูกฎหมายเก่า พระราชบัญญัติอาวุธปืนในปี 1988 ของสหราชอาณาจักร จะระบุว่า ใบอนุญาตครอบครองปืนจะผ่านได้ก็ต่อเมื่อผู้ยื่นขอความประสงค์ครอบครองปืนพกและปืนไรเฟิล มีสถานที่จัดเก็บปืนส่วนตัวที่ปลอดภัย ‘มีลักษณะนิสัยดี’ และสามารถแสดง ‘เหตุผลที่ดี’ ในการครอบครองอาวุธปืนได้ นอกจากนี้ ยังมีการแนะนำให้ขอใบรับรองปืนลูกซองที่เข้มงวดน้อยกว่าแทนด้วย
แต่กฎหมายฉบับเดิมมีช่องโหว่ ดูได้จากกรณีของผู้ก่อเหตุที่ดันเบลนที่เขาสามารถซื้อปืนพกขนาด .22 ครอบครองกระสุนได้ 1,000 นัด และซื้อกระสุนได้อีก 500 นัด ในช่วงเวลาไหนก็ได้ และในใบอนุญาตของเขา เหตุผลที่ดีที่ใช้ในการขอพกปืนก็คือ งานอดิเรกที่ชอบฝึกซ้อมยิงปืนในศูนย์ฝึกซ้อมบริเวณละแวกบ้าน
เหตุการณ์นี้ ทำให้ประชาชนออกแคมเปญที่ชื่อว่า ‘สโนว์ดรอป’ ชื่อเดียวกับดอกไม้ที่จะผลิบานในเดือนที่เกิดเหตุกราดยิง แคมเปญนี้เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการเป็นเจ้าของปืนพก ซึ่งมีผู้ลงนามร่วมแก้ไขถึง 750,000 กว่าคน
แล้วปีถัดมา รัฐบาลสหราชอาณาจักรก็ออกพระราชบัญญัติอาวุธปืน (ฉบับแก้ไข) ปี 1997 ที่สั่งห้ามใช้ปืนพกอย่างสิ้นเชิง
การออกพระราชบัญญัติปี 1997 ไม่ได้ส่งผลให้เห็นอย่างชัดเจนในช่วงแรก สถิติของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าการสั่งห้ามในขั้นต้นส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อความรุนแรงจากอาวุธปืนนอกสกอตแลนด์ ขณะที่อาชญากรรมเกี่ยวกับปืนในอังกฤษและเวลส์เพิ่มขึ้นตลอด โดยมีทั้งสิ้น 24,094 คดีในช่วงปี 2003-2004
แต่ 7 ปีหลังจากนั้น ตัวเลขดังกล่าวลดลง 53% เหลือ 11,227 คดี ซึ่งปีเตอร์ สแควรส์ (Peter Squires) ศาสตราจารย์ด้านอาชญวิทยาและนโยบายสาธารณะกล่าวว่า “ดันเบลนเป็นผู้เปลี่ยนเกมสำหรับการครอบครองปืนในสหราชอาณาจักร หากการตายของเด็กๆ ไม่ได้กระตุ้นสำนึกของประเทศนี้ ก็คงไม่มีอะไรจะเปลี่ยนแปลงได้แล้ว”
ออสเตรเลีย
ในปี 1996 ร้านคาเฟ่ในเมืองแทสมาเนีย ออสเตรเลีย เกิดเหตุกราดยิงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 35 คน และมีผู้บาดเจ็บ 23 คน
เหตุการณ์สังหารหมู่นี้สั่นสะเทือนออสเตรเลียอย่างหนัก ซึ่งจอห์น โฮวาต (John Howard) นายกรัฐมนตรี(ในตอนนั้น) ที่เพิ่งรับตำแหน่งได้ 6 สัปดาห์ใ กล่าวว่า “สิ่งที่ยากที่สุดในการเมืองมักเกี่ยวข้องกับการพรากสิทธิ์และอภิสิทธิ์ไปจากผู้ที่สนับสนุนคุณ”
กฎหมายใหม่ที่เข้มงวดนี้ห้ามการขายและนำเข้าปืนไรเฟิลและปืนลูกซองอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติทั้งหมด พร้อมออกข้อบังคับให้ประชาชนแสดงเหตุผลที่ถูกต้อง และรออีก 28 วันเพื่อซื้ออาวุธปืน
แต่นโยบายที่สำคัญที่สุดเลยก็คือ การซื้อปืนจำนวนมากจากเอกชนกลับคืนมายังภาครัฐ รวมถึงการที่รัฐบาลยึดและทำลายอาวุธปืนเกือบ 700,000 กระบอก ทำให้จำนวนครัวเรือนที่มีปืนลดลงครึ่งหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังออกกฎแบนปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ และปืนลูกซองแบบโยนลำ อาวุธปืนที่ไม่มีใบอนุญาตหลายพันชิ้นถูกส่งมอบกลับคืนรัฐบาลภายใต้โครงการนิรโทษกรรมปืน พร้อมกำหนดให้เจ้าของปืนที่มีใบอนุญาตต้องเข้ารับการอบรมด้านความปลอดภัยก่อน
ไม่เพียงเท่า ยังมีการเพิ่มรายละเอียดปลีกย่อยในกฎหมายอีก เช่น การให้เก็บปืนและกระสุนแยกกันไว้ในพื้นที่ปลอดภัย เพื่อความปลอดภัยด้วย
หลังจากการเปลี่ยนกฎหมาย อัตราส่วนของคดีฆาตกรรมที่เกิดจากปืนในออสเตรเลียก็ลดลง เหลือ 0.15 ต่อประชากร 100,000 คน ในปี 2014 ลดลงจากปี 1996 ที่เคยมีอัตราส่วน 0.54 ต่อประชากร 100,000 คน
แคนาดา
เมื่อเกิดเหตุกราดยิง ก็ต้องกลับมาทบทวน และแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ
แนวคิดนี้ทำให้แคนาดา เป็นหนึ่งในประเทศที่ออกกฎหมายควบคุมปืนหลังเกิดเหตุกราดยิง อย่างเมื่อปี 1989 เกิดเหตุกราดยิงนักศึกษาหญิงที่เรียนคณะวิศวกรรมในมหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษาหญิงเสียชีวิตทั้งสิ้น 14 คน ในห้องเรียน
เหตุการณ์นี้ ทำให้แคนาดาเปลี่ยนกฎให้ผู้พกปืนต้องเข้าคอร์สอบรมความปลอดภัย มีการตรวจประวัติ และเพิ่มโทษสำหรับคดีที่เกิดจากปืน
ขณะที่เมื่อปี 2020 ก็เกิดเหตุกราดยิงในเมืองพอร์ตาพิค ซึ่งยื้อเวลายาวนาน 12 ชั่วโมง มีผู้เสียชีวิต 10 ราย และที่เหตุการณ์สงบลงได้ ก็มาจากการยิงตัวเองเสียชีวิตของผู้ก่อเหตุ ซึ่งหลังเหตุการณ์นี้แคนาดาสั่งแบนปืนและชิ้นส่วนประกอบปืน 1,500 แบบ พร้อมตั้งข้อกำหนดว่า กระสุนควรมีพลังทำลายล้างแค่ไหน
แต่จริงๆ แล้ว แคนาดาก็มีความพยายามในการแก้ไขกฎหมายปืนมาอยู่ตลอด โดยเมื่อปี 1892 มีการออกกฎเป็นครั้งแรก ให้ลงโทษผู้ที่ถือปืนพกโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ขณะที่ปี 1968 ก็มีการจัดประเภทของปืนที่ไม่มีข้อจำกัด จำกัด และห้ามใช้
ส่วนในปี 1977 ก็มีการเปลี่ยนแปลงประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกำหนดให้ผู้ถือปืนต้องมีใบรับรองการจัดหาอาวุธปืนสำหรับปืนไรเฟิลและปืนลูกซอง มีการแนะนำการเก็บบันทึกที่จำเป็นโดยผู้ค้าอาวุธ รวมถึงมีการสั่งห้ามอาวุธปืนอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ ในปี 2021 ก็มีความพยายามในการแก้ไขกฎหมายปืนของแคนาดาอยู่เสมอ โดยมีกฎหมายของรัฐบาลกลางที่เสนอกฎหมายที่รู้จักกันในชื่อ Bill C-21 ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงความเป็นเจ้าของปืนอย่างครอบคลุม รวมถึงการห้ามขายอาวุธปืนที่มีข้อจำกัด อย่างปืนพก รวมถึงการแก้ไขกฎระเบียบเพื่อจำกัดให้แม็กกาซีนปืนยาวได้ทั้งหมดไม่เกินห้ารอบ
การแก้ไขกฎหมายนี้ สร้างผลกระทบต่อเจ้าของปืนและผู้ที่อยู่ในธุรกิจการขายอาวุธปืนในแคนาดาเป็นอย่างยิ่ง
นอร์เวย์
ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศที่ไร้ปืน ถึงจะมีกฎหมายปืนเข้มงวดได้
นอร์เวย์คือกรณีตัวอย่างที่ดีของประเทศที่มีอัตราครอบครองปืนสูงสุดในยุโรป และถือเป็นประเทศที่อัตราส่วนของคนที่ครอบครองสูงติดท็อป 10 ของโลก ด้วยจำนวน 31 กระบอกต่อประชากร 100 คน (เทียบกันแล้ว ไทยมีราว 15 กระบอกต่อ 100 คน)
อธิบายก่อนว่า นอร์เวย์เป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมการล่าสัตว์ หรือเล่นกีฬายิงปืนกันมาแต่ไหนแต่ไร แต่การจัดหาและการจัดเก็บปืนนั้นถูกควบคุมโดยรัฐผ่านกฎหมายควบคุมปืนที่เข้มงวด
แต่หลังจากเหตุก่อการร้ายเมื่อปี 2011 ที่ใช้ปืนกึ่งอัตโนมัติสังหารคนไป 69 คน โดยมากเป็นกลุ่มวัยรุ่น ก็เรียกกระแสแก้ไขกฎหมายในนอร์เวย์ให้แรงขึ้น ซึ่ง 1 ปีถัดมา นอร์เวย์ก็ออกกฎเตรียมแบนปืนกึ่งอัตโนมัติทุกรูปแบบจากกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายกำหนดให้เจ้าของอาวุธเหล่านี้ส่งมอบให้กับรัฐบาล และห้ามขายอาวุธปืนประเภทนี้ในอนาคต
มีการคาดการณ์ว่า ผลจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ถือครองปืน 2,000 คนในประเทศ แต่กฎหมายก็ยังมีข้อยกเว้นให้กับการล่าสัตว์และกีฬายิงปืนอยู่ดี
นอกจากนี้ ยังมีการสั่งให้ตำรวจที่ไม่มีอาวุธ ได้ ‘พกปืน’ เพื่อป้องกันเหตุไว้ด้วย แต่ถึงจะพกได้ ก็ใช่ว่าจะยิงได้ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่อาวุโสก่อน จึงจะสามารถใช้ปืนได้
ดังนั้นแล้ว ยังมีปืนอีกจำนวนมากที่ประชาชนได้รับอนุญาตให้พกได้ โดยต้องมีใบอนุญาต บรรลุนิติภาวะ มีเหตุผลที่ ‘หนักแน่น’ มากพอในการเป็นเจ้าของปืน และต้องเข้าคอร์สอบรมความปลอดภัยด้วย
อ้างอิงจาก