ประชาชนพกปืนได้ไหม หรือไม่ควรให้ใครได้ถือครองปืนเลย?
ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อเกิดอาชญากรรมที่เกี่ยวกับปืน อย่างในกรณีของกราดยิงหนองบัวลำภู ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 36 ราย (ไม่รวมผู้ก่อเหตุ) ก็ทำให้คำกล่าวนี้กลับมาอีกครั้ง
จริงๆ แล้วคำกล่าวว่า “คนดีที่มีปืน” เริ่มมาจากประเทศที่เราได้ยินข่าวกราดยิงอยู่บ่อยครั้ง นั่นคือ สหรัฐอเมริกา และข้อดีเบทนี้ก็ขยายใหญ่ไปถึงการดีเบทในรัฐสภาเพื่อกำหนดนโยบายของประเทศ ทั้งยังแผ่ไปถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ เราจึงอยากพาไปสำรวจที่มาของวลีดังกล่าว และชวนไปดูข้อถกเถียงต่างๆ ในเรื่องของการครอบครองปืน
วลี ‘คนดีที่มีปืน’ มาจากไหน
“สิ่งที่จะช่วยหยุดคนร้ายที่มีปืนได้ ก็คือคนดีที่มีปืน”
คำกล่าวสุดโด่งดังของ เวย์น ลาปิแอร์ (Wayne LaPierre) รองประธานสมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ (NRA) ของสหรัฐฯ ที่ออกมาเพียง 1 สัปดาห์หลังเหตุกราดยิงครั้งใหญ่ของประเทศ เมื่อชายคนหนึ่งแบกปืนเข้าไปกราดยิงในโรงเรียนประถมแซนดี้ฮุค เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2012
นับจากนั้น ไม่ว่าเมื่อไรก็ตามที่เรื่องของการควบคุม จำกัด หรือแบนการเข้าถึงปืนถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง กลุ่มผู้สนับสนุนให้ยังคงมีสิทธิในการครอบครองปืนก็จะยกเอาวลีนี้มาพูดอยู่เสมอในทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะในสังคมสหรัฐฯ ที่เชื่อมั่นในสิทธิ์ของการครอบครองปืนอย่างเหนี่ยวแน่น เนื่องจากรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ของสหรัฐฯ ระบุเอาไว้ว่า ประชาชนมีสิทธิในการมีอาวุธ
แล้วกลุ่ม NRA คือใคร ทำไมถึงมีอิทธิพลขนาดที่ว่า ลั่นวาจาแล้วถูกนำมาใช้ซ้ำๆ อยู่เสมอ?
NRA เป็นสมาคมที่ริเริ่มในปี 1871 โดยทหารผ่านศึกในสงครามกลางเมืองสหรัฐ 2 คน เดิมทีก็เป็นองค์กรที่มีขึ้นเพื่อกิจกรรมสันทนาการ การกีฬายิงปืน แต่ในปี 1975 NRA ก็ก่อตั้งหน่วยงานที่มีชื่อว่า ‘Institute for Legislative Action’ เพื่อโน้มน้าวนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล จากนั้น อีก 2 ปีถัดมาก็ก่อจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการทางการเมือง (PAC) เพื่อจัดหาเงินทุนให้กับสมาชิกสภานิติบัญญัติ
นับตั้งแต่นั้นมา NRA ก็กลายเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลในสหรัฐฯ ด้วยความเป็นกลุ่มที่สนับสนุนงบประมาณจำนวนมากให้กับสมาชิกสภาคองเกรส และยังมีสมาชิกแทรกซึมอยู่ในแทบจะทุกองค์กรที่มีบทบาทในการตัดสินใจและดำเนินนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ของประเทศ
NRA ยังให้เงินสนับสนุนแก่พรรคการเมืองที่มีแนวทางสอดคล้องกับตนเอง อย่างพรรครีพับลิกัน ซึ่งเมื่อครั้งเลือกตั้งใหญ่ของประเทศในปี 2016 NRA ก็ได้ให้เงินสนับสนุนการหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ไปถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.9 พันล้านบาท ขณะที่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2020 ก็ทุ่มเงินในทำแคมเปญเลือกตั้งเข้าข้างฝั่งทรัมป์ด้วยจำนวนเงิน 16.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 620 ล้านบาท
ถึงตรงนี้ต้องกระซิบกันหน่อยว่า นี่เป็นเพียงยอดบริจาคให้ฝ่ายนิติบัญญัติที่มีบันทึกไว้เท่านั้น ส่วนเงินจำนวนมหาศาลจะถูกใช้ไปที่อื่นผ่าน PAC และเงินบริจาคที่เป็นอิสระ ถือเป็นเงินที่ยากต่อการติดตาม
ส่วนในเรื่องของนโยบายที่เกี่ยวกับปืนนั้น ก็มีรายงานว่า NRA จะจ่ายเงินเพื่ออิทธิกับนโยบายด้านนี้ทุกๆ ปี ในจำนวนเงิน 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 114 ล้านบาท
ที่เล่ามานี้ก็เพื่อให้เข้าใจถึงความยิ่งใหญ่ของสมาคมที่ทรงอิทธิพล ซึ่งความยิ่งใหญ่ของสมาคมนี้ เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า ทำไมคำกล่าวของรองประธานบริหาร ถึงกลายเป็นวลีที่มอบเหตุผลในการสนับสนุนปืนให้กับคนจำนวนมากได้
คนดีที่มีปืนของ NRA กับอิทธิพลในต่างประเทศ
ไม่ใช่แค่ในประเทศตนเองเท่านั้น NRA ยังส่งอิทธิพลต่อไปยังประเทศอื่นๆ อีกมากมาย อย่างเมื่อครั้งที่เกิดกราดยิงในแทสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 1996 ทำให้รัฐบาลออสเตรเลียในขณะนั้นเร่งออกกฎหมายแบนการขายและนำเข้าปืนไรเฟิลและปืนลูกซองอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติทั้งหมด รวมถึงออกนโยบายซื้อปืนคืนจากประชาชนเพื่อนำกลับมาทำลาย และออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ปืนเถื่อน เพื่อให้ปืนเหล่านั้นกลับมาสู่ภาครัฐด้วย
แต่ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่รัฐบาลพยายามออกกฎหมายนี้ ก็มีรายงานข่าวสืบสวนที่เผยแพร่ออกมาว่า กลุ่ม NRA หนุนหลังผู้สนับสนุนสิทธิเสรีปืนในออสเตรเลีย อย่างพรรคชาตินิยม One Nation โดยบอกว่า “พวกที่ต้องการให้แก้กฎหมายกำลังพรากสิทธิในการครอบครองปืนไปจากประชาชน และถือเป็นพวกแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง”
แม้ว่ากฎหมายปืนจะได้รับการแก้ไขในออสเตรเลีย แต่ NRA ก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่ประเทศนี้ อิทธิพลของกลุ่ม NRA ยังแพร่ไปยังนิวซีแลนด์ เมื่อครั้งที่เกิดเหตุกราดยิงในมัสยิด เมืองไครสต์เชิร์ชเมื่อปี 2019 โดยออกแถลงการณ์ระบุว่า นโยบายแบนปืนของจาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์นั้น เป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘เผด็จการ’
ประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากกลุ่ม NRA หนักหน่วงอีกแห่งคือ บราซิล ซึ่งในปี 2005 มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากปืนถึง 36,000 ราย ทำให้เกิดการทำประชามติว่าจะแบนการซื้อขายปืนและกระสุนให้กับประชาชนหรือไม่
ในช่วงเวลาที่ต้องลงประชามตินี้ โฆษณาของกลุ่ม NRA ก็ออกฉายในบราซิล โดยใช้คำพูดว่า “พวกเขาพูดเรื่องปลดอาวุธปืน แต่ลืมบอกกับอาชญากร พวกเขาอยากพรากปืนดีๆ ไป แต่เหลือปืนเลวๆ ทิ้งไว้ จะไม่จบดีแน่นอน” รวมถึงข้อความที่ว่า “การปลดอาวุธปืนจากประชาชนไม่ใช่ทางแก้ โหวตต่อต้านการห้ามครอบครองปืน”
ผลสำรวจก่อนลงประชามติ ประชาชนกว่า 60% เห็นด้วยกับกฎหมายแบนปืนและกระสุน แต่ผลสุดท้ายของการลงประชามติ ปรากฏว่า บราซิลไม่ผ่านกฎหมายควบคุมปืนด้วยคะแนนเสียง 36:64
แม็กซิโกเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบนี้ด้วย ข้อมูลจากรายการ Patriot Act ระบุว่า ปืนกว่า 70% ของทั้งหมดในเม็กซิโก ช่วงปี 2009-2014 นำเข้ามาจากสหรัฐฯ
ซึ่งตรงจุดนี้ NRA เองก็มีส่วนจากการเข้าไปมีบทบาทกับนโยบายควบคุมปืนในสภาของสหรัฐฯ อย่างที่เล่าไปข้างต้น ทำให้ NRA สามารถออกมาตรการทำให้กฎหมายติดตามปืนเป็นไปได้ยากขึ้น และยกเลิกการบันทึกประวัติการส่งต่อปืนด้วย ดังนั้นการติดตามปืนจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้น พร้อมกันนี้ วิกฤตผู้อพยพก็ทำให้ NRA ออกมากล่าวว่า “ผู้อพยพมาพร้อมความรุนแรง ดังนั้น เราต้องมีปืน”
คนดีที่มีปืน ช่วยป้องกันความรุนแรงได้ไหม?
การมีปืนไว้ป้องกันตัว คือวิธีช่วยเหลือตัวเองที่ดีที่สุด – คำกล่าวที่ได้ยินบ่อยๆ จากฝ่ายที่ต้องการให้เสรีอาวุธปืน
ลองคิดภาพว่า หากผู้ก่อเหตุถือปืนเข้าไปกราดยิงในพื้นที่หนึ่งที่ก็มีคนพกปืนอยู่ด้วย การกราดยิงนั้นจะยุติลงได้ไหม?
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุกราดยิงในซูเปอร์มาร์เก็ตในบัฟฟาโล นครนิวยอร์ก ในที่เกิดเหตุนั้นมี แอร์รอน เซลเตอร์ (Aaron Salter) พนักงานรักษาความปลอดภัยที่มีอาวุธติดตัว และเคยเป็นตำรวจมาก่อนอยู่ด้วย เขาควักปืนออกมา หมายยิงผู้ก่อเหตุเพื่อปกป้องชีวิตอื่นที่เหลือ กระสุนหนึ่งนัดพุ่งเข้าใส่ตัวผู้ก่อเหตุ ‘ที่สวมเสื้อเกราะกันกระสุน’ ผู้ก่อเหตุหันมายิงเซลเตอร์เสียชีวิต พร้อมกับเหยื่อที่เหลืออีก 9 คน
ไม่เพียงเหตุการณ์นี้เท่านั้น ในการกราดยิงอื่นๆ ของสหรัฐฯ อย่างในกรณีโรงเรียนประถมแซนดี้ฮุค ก็มีผู้ที่ถือปืนอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย หรือเหตุกราดยิงกลางคอนเสิร์ตที่ลาสเวกัสในปี 2017 ตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย
เจ้าหน้าที่ติดอาวุธยังล้มเหลวในการหยุดมือปืนในโรงเรียน อย่างเมื่อปี 2018 มือปืนสังหารผู้คน 10 คนที่โรงเรียนมัธยมซานตาเฟ ในรัฐเท็กซัส แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่สองคนอยู่ในที่เกิดเหตุ โดยอีกคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากการพยายามหยุดมือปืน
แต่ก็มีกรณีของผู้มีปืนยิงผู้ก่อเหตุได้ อย่างเหตุการณ์ที่ไนต์คลับในเดือนมิถุนายน 2016 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดอาวุธยิงมือปืน ยุติเหตุกราดยิงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 49 ราย ซึ่งแม้ว่าเขาจะได้รับการยกย่องว่าเป็นฮีโร่ในตอนแรก แต่สมาชิกในครอบครัวของเหยื่อบางรายก็ฟ้องร้องเขา โดยอ้างว่าเขาอยู่นอกอาคารเพื่อปกป้องตัวเอง
อย่างไรก็ดี ถ้าพูดถึงกลุ่มคนที่มีปืนแล้วอยู่ในที่เกิดเหตุ จะไม่พูดถึงเหตุกราดยิงที่โรงเรียนประถมร็อบ เมืองอูวัลเด รัฐเท็กซัส ซึ่งตำรวจท้องถิ่นรอนานกว่า 1 ชั่วโมง ก่อนที่ทีมยุทธวิธีตระเวนชายแดนของสหรัฐฯ จะมาถึงและบุกเข้าไปในห้องเรียนที่มือปืนอยู่ ซึ่งสตีเฟน แมคครอว์ (Steven McCraw) หัวหน้าแผนกความปลอดภัยสาธารณะของรัฐเท็กซัส กล่าวว่า “การรอคือ การตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง” และเหตุการณ์นี้ทำให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ต้องสอบสวนความประพฤติของตำรวจท้องที่ทั้งหมด
“บางครั้งการมีปืนก็มีประโยชน์ แต่หลายครั้งมันกลับทำให้เรื่องแย่ลง แม้ว่าจะมี ‘คนเลว’ อย่างชัดเจน [ในสถานการณ์นั้นๆ]” เดวิน เฮเมนเวย์ (David Hemenway) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการควบคุมการบาดเจ็บของฮาร์วาร์ดและศูนย์ป้องกันความรุนแรงเยาวชนฮาร์วาร์ด
เฮเมนเวย์มองว่าผู้ก่อเหตุกราดยิงมีแนวโน้มที่จะติดอาวุธกึ่งอัตโนมัติและแม็กกาซีนความจุสูง ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถยิงได้หลายสิบนัด บางคนเช่นผู้ก่อเหตุในบัฟฟาโลก็สวมชุดเกราะเช่นกันป้องกันตัวด้วยเช่นกัน (ในไทยคนทั่วไปซื้อชุดเกราะไม่ได้หรอกนะ)
นอกจากนี้ ยังมีงานศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี 2015 ที่วิเคราะห์ข้อมูลในช่วงปี 2007-2011 พบว่า จากอาชญากรรมที่มีผู้เสียหายมากกว่า 14,000 คดี มีเพียง 1% เท่านั้น ที่มีการนำปืนมาใช้ในการป้องกันตัว โดยศูนย์วิจัยการควบคุมการบาดเจ็บของฮาร์วาร์ด (Harvard Injury Control Research Center) ยังพบว่าการใช้ปืนป้องกันตัวเองนั้น “เป็นเรื่องยากและไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการบาดเจ็บ มากกว่าการป้องกันรูปแบบอื่นๆ”
แต่อีกฝั่งหนึ่ง หลายคนก็มองว่า ‘ปืน’ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ฆ่าคนได้ด้วยตัวของมันเอง มันต้องมีคนเหนี่ยวไกสิ ดังนั้นแล้ว ‘คน’ ต่างหากที่เป็นคนฆ่ากัน ไม่ใช่ปืนอย่างที่ฝั่งแบนปืนอ้างอยู่เสมอ ยิ่งกว่านั้น การแบนปืนก็ไม่ได้การันตีว่าสังคมจะปลอดภัยขึ้น แต่ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่เป็นอาวุธได้อีก เช่น มีด เป็นต้น
แต่จุดนี้ ก็มีข้อดีเบทจากหลายคนที่มองว่า อาวุธอื่นๆ โดยเฉพาะมีดที่มักถูกยกตัวอย่างขึ้นมาบ่อยๆ มีลักษณะการใช้ที่ต้องเข้าประชิดตัว ต่างจากปืนที่ยิงได้จากในระยะไกล และทำได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีคนเสียชีวิตเยอะจากอาวุธปืน
ยิ่งกว่านั้น ทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากปืนคือการตัดปัญหาออกไป โดยไม่ต้องไปรอให้เกิดเหตุที่ไหนเสียก่อนหรือเปล่า?
อ้างอิงจาก