ในวันที่ทุกคนต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสิ้นเชิง รวมเอาทุกกิจวัตรมาไว้ที่บ้าน การสร้างบรรยากาศในบ้านให้เป็นวิมาน เพราะต้องอยู่กับมันตลอดเวลา กระแสการแต่งบ้านด้วยตัวเองจึงกลับมาบูมอีกครั้ง และหนึ่งในนั้นคือการปลูกต้นไม้ในบ้าน จนเกิดคำคุ้นหูอย่าง ‘Houseplant’ ให้ได้ยินกันบ่อยๆ (จนถึงตอนนี้ราคาของมันก็ดีดขึ้นไปแบบไม่มีที่ท่าจะกลับมาอีกแล้ว)
แต่ทว่าต้นไม้ในร่มนั้นไม่ได้เพิ่งมีเมื่อตอนที่เราต้องนั่งทอดหุ่ยอยู่บ้าน แต่มันมีมานาน นานเท่าที่เราจะย้อนไปได้อย่างอาณาจักรเมโสโปเตเมีย ในสวนลอยบาบิโลน สวนที่สวยงามดั่งสวรรค์ เป็นดั่งวิมานกลางทะเลทราย ต้นปาล์มใหญ่สลับซับซ้อนอยู่กับสิ่งปลูกสร้างที่เป็นหิน เรียงขึ้นเป็นชั้นๆ มีระบบชลประทาน คอยหล่อเลี้ยงชีวิตพืชพรรณนานา และสร้างเป็นน้ำตกในอาคาร จนกลายเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ
เมื่อพระนาง Amytis แห่งกรุง Media (เมืองทางตะวันตกตอนเหนือของประเทศอิหร่านในปัจจุบัน) พระสนมของ พระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์ที่ 2 (Nebuchadnezzar II) แห่งกรุงบาบิโลน (ตั้งอยู่ในประเทศอิรักในปัจจุบัน) เกิดคิดถึงวิวทิวทัศน์ของบ้านเกิดอย่างสุดคะนึง ทั้งพันธุ์ไม้และภูเขาที่เคยคุ้นตา วิมานท่ามกลางทะเลทรายจึงต้องถูกสร้างขึ้นมา
อาคารหินสลับซับซ้อนหลายชั้น ที่มีรูปทรางคล้ายสิ่งปลูกสร้างในยุคนั้นที่เรียกว่า ‘Ziggurat’ ถูกประดับไปด้วยต้นปาล์มขนาดใหญ่ตามระเบียง มีการใช้ดินแปะไปที่ผนังให้หนามากพอที่จะปลูกต้นไม้และดอกไม้ได้ (ฟีลเดียวกับสวนแขนผนังตามระเบียงคอนโด) แต่ต้นไม้ไม่อาจอยู่ได้ด้วยตัวเอง จึงเกิดระบบชลประทานที่ใช้ในอาคารที่หยิบยืมเอาน้ำจากแม่น้ำยูเฟรติส (Euphrates) ใกล้ๆ นั้น มาจัดสรรหมุนเวียนผ่านกังหันน้ำและถังเก็บน้ำบนอาคาร แบ่งเป็นที่ใช้หล่อเลี้ยงเหล่าพืชพรรณและประดับประดาเป็นน้ำตกหมุนเวียนด้วย
ความยิ่งใหญ่ด้วยวิทยาการและความสุนทรีย์นี้ ทำให้สวนลอยบาบิโลนที่สวยดั่งภาพวาด ได้มาเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ แม้จะถูกยกย่องทั้งในด้านความสวยงามและวิทยาการล้ำๆ ถ้าเทียบกับการทำชลประทานเมื่อหกร้อยปีก่อนคริสต์กาล แต่เรากลับไม่พบซากอารยธรรมใดๆ ที่บ่งบอกว่านี่คือร่องรอยของสวนลอยบาบิโลนนั้นเลย วิมานกลางทะเลทรายนี้ จึงถูกตั้งคำถามมากมายถึงการมีอยู่ของมัน ว่ามันอาจจะไม่ได้ตั้งอยู่ที่บาบิโลนจริงๆ อาจหมายถึงสวนอื่นๆ หรือแม้แต่ไม่มีอยู่จริงตั้งแต่แรก
ดร.สเตฟานี่ ดอลเลย์ (Dr. Stephanie Dalley) จาก Oxford University ผู้ศึกษาเกี่ยวกับ Ancient Near East และใช้เวลากว่าสองทศวรรษ ศึกษาเกี่ยวกับสอนลอยแห่งนี้ ได้พบหลักฐานที่เชื่อว่าแสดงถึงการมีอยู่จริงของสวนที่แสนมหัศจรรย์ และเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงไม่เคยเจอร่องรอยอารยะธรรม ซากปรักหักพังของสวนนี้เลย นั่นเพราะมันไม่ได้สร้างที่บาบิโลนแต่แรกยังไงล่ะ!
จากการศึกษาอักษรรูปลิ่มโบราณ (cuneiform) พบว่า สวนที่ว่านั้นถูกสร้างไกลออกไปทางตอนเหนือของบาบิโลน ในเมืองนิเนเวห์ (Nineveh) เมืองหลวงของอาณาจักรอัสซีเรีย (Assyria) และถูกสร้างโดยพระเจ้าเชนนัคคาริบ (Sennacherib) ต่างหากล่ะ ทำไมถึงเชื่อแบบนั้น?
จากการแปลบันทึกโบราณ ในยุคของพระเจ้าเชนนัคคาริบ มีการบรรยายถึงพระราชวังที่หาใครเทียบมิได้ และยังเป็นที่มหัศจรรย์แก่ชาวประชาด้วย และที่สำคัญมีการกล่าวถึงอุปกรณคล้ายเครื่องสูบน้ำจากทองแดง เชื่อว่าเป็นอุปกรณที่ใช้ในระบบชลประทานที่ใช้หล่อเลี้ยงต้นไม้ให้เขียวขจีนั่นเอง (และคาดว่าเป็นต้นแบบของ Archimedes’ screw ด้วย)
และนั่นอาจยังไม่ใช่ข้อสรุปของเรื่องนี้ ยังมีทฤษฎีจากนักโบราณคดีอีกมากมายให้เราได้ศึกษา historical mirage อาจนำพาเราไปไกลเกินความเป็นจริง หรือเชื่อว่ามันไม่มีอยู่เอาเสียดื้อๆ โดยเฉพาะที่ตั้งที่แท้จริงของสวนแห่งความเพลิดเพลินใจ ที่เริ่มปลูก Houseplant แบบ before it was cool ทำให้เรากังขาว่าแท้จริงมันควรเป็นสวนลอยของที่แห่งใดกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก