เรื่องราวเกี่ยวกับสนามหลวงกำลังหวนกลับมาเป็นที่สนใจอีกหน ถ้าจะเขียนบอกเล่าถึงพื้นที่แห่งนี้คงเป็นอะไรน่าติดตามกระมัง แม้สนามหลวงดูเหมือนแหล่งที่ใครๆ รู้จักคุ้นเคยกันดี ยึดโยงทั้งอดีตและปัจจุบันของผู้คนจำนวนไม่น้อย ต่อให้พวกเขาไม่เคยมาแวะเยือนแต่ก็ย่อมมิแคล้วเคยแว่วยินชื่อแน่ๆ หากสนามหลวงซึ่งผ่านความแปรผันมานานเนิ่นยังมีแง่มุมอีกหลากหลายที่มิค่อยได้รับการนำเสนอเท่าไหร่นัก ยิ่งเฉพาะการฉายภาพชีวิตคนกับสนามหลวง มองเผินๆ อาจแลเห็นความเคลื่อนไหวอันปกติ กระนั้น ผมใคร่ทดลองเชิญชวนคุณผู้อ่านร่วมฉุกนึกความทรงจำให้แจ่มชัดขึ้น โดยหยิบยกตัวอย่างบางกรณีที่น่าตื่นตามารำลึกไว้
เดิมที สนามหลวงคือท้องทุ่งเรียกขานว่า ‘ทุ่งพระเมรุ’ เนื่องจากเป็นที่ตั้งพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูงมาแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้นล่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ท้องทุ่งพระเมรุได้กลายเป็นนาปลูกข้าวเพื่อให้แขกบ้านแขกเมืองผู้เข้ามาเยือนกรุงเทพมหานครประจักษ์แก่สายตาต่อความอุดมสมบูรณ์ของประเทศสยาม
พ.ศ. 2398 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีการออกประกาศว่าด้วยท้องสนามหลวงแลท้องสนามไชย กำหนดให้เรียกชื่อ ‘ทุ่งพระเมรุ’ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมงคลเสียใหม่เป็น ‘ท้องสนามหลวง’ ผู้ใดเผลอเรียกชื่อเดิมก็อาจถูกจับปรับไหมได้
นี่แหละครับ จุดเริ่มต้นที่ทำให้เราๆ ท่านๆ เรียก ‘สนามหลวง’ กันตราบเดี๋ยวนี้
สนามหลวงหมดสภาพทุ่งนาและหนองบึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพราะมีการพัฒนารูปโฉมใหม่ให้เป็นท้องสนามราบเรียบ ขยายอาณาเขตสนามหลวงให้กว้างขวางออกไปจากเดิม (ที่สิ้นสุดแค่ถนนพระจันทร์ในปัจจุบัน) มีการปลูกต้นมะขามรายล้อมรอบด้าน มีการตกแต่งประดับประดา จนสามารถใช้เป็นสถานที่จัดงานพิธี งานมหกรรมและกิจกรรมต่างๆ หลังจากนั้นก็มีการสร้างตึกอาคารต่างๆ รายล้อมจนกลายมาเป็นเมือง รวมถึงได้ปรากฏชีวิตคนทยอยเข้ามาผูกพันในท้องสนามหลวงเรื่อยมา
ชาวบ้านจับกบทุ่งพระเมรุ
“แสนอดแสนจน เหมือนดังคนตกนรก ยามมืดมนฝนตก เที่ยวหยกๆถกเขมร ถือข้องออกไปส่องกบ จับกบยังทุ่งพระเมรุ เปื้อนทั้งเลนทั้งตม เหม็นขมเหม็นคาว
จับทั้งเจ้าอ่างท้องขึง จับเจ้าอึ่งท้องเขียว จับเจ้าเบี้ยวเจ้าปู จับเจ้าหนูท้องขาว จับกบที่ขามันเหยียด จับเอาเขียดที่ขามันยาว จับเอามาให้สิ้น เอามาต้มกินกับเหล้า”
หากฟังเพลงไทยเดิม ‘ลาวแพน’ คงรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาเนื้อความท่อนดังยกมาข้างต้น ซึ่งแสดงภาพวิถีชีวิตของชาวบ้านกับท้องสนามหลวงในยุคที่ยังเป็นทุ่งนาและยังเรียกขานติดปากว่า “ทุ่งพระเมรุ” แน่นอน ห้วงเวลาในบทเพลงน่าจะตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ตอนนั้น พอฝนตกหรือฤดูน้ำหลาก ท้องทุ่งพระเมรุจะเต็มไปด้วยน้ำเจิ่งนองเป็นหนองเป็นบึง ชาวบ้านจะออกมาหาสัตว์จับสัตว์ไปประกอบอาหารเลี้ยงชีพ (อย่างในเพลง ‘ลาวแพน’ ก็คือชาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมาจับกบจับเขียด)
ภาพสนามหลวงแบบที่ว่ามา คงหาดูมิได้แล้วในปัจจุบัน !
สโมสรน้ำเค็มศึกษาจัดแข่งม้า
กลุ่มคนหนึ่งที่เคยมีบทบาทจัดกิจกรรมในท้องสนามหลวง ได้แก่สมาชิกแห่ง ‘สโมสรน้ำเค็มศึกษา’ ซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ไปศึกษาวิชาความรู้ ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อหวนกลับคืนสู่สยามจึงรวมตัวก่อตั้งสโมสรขึ้น ประธานสโมสรคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา
ยุคนั้น คำว่า ‘น้ำเค็ม’ ใช้เรียกกลุ่มคนที่เคยเดินทางไปเมืองนอกหรือต่างประเทศมาแล้ว นั่นเพราะการไปต่างประเทศจะต้องเดินทางรอนแรมไปกับเรือเดินสมุทรกลางท้องทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำเค็ม
ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติจากประพาสยุโรปครั้งแรก ปลายปี พ.ศ. 2440 มีการจัดงานมหกรรมที่สนามหลวง และสมาชิกแห่งสโมสรน้ำเค็มศึกษาได้จัดให้มีการแข่งม้าหน้าพระที่นั่งในสนามหลวง ถือเป็นการจัดแข่งม้าครั้งแรกของประเทศสยาม ซึ่งรับรูปแบบการแข่งขันมาจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี สมัยนั้นยังไม่มีใครเลี้ยงม้าเพื่อการแข่งขัน จึงต้องไปคัดเลือกม้าลากรถมาร่วมแข่งแทน
ที่จริง ย้อนไปในปี พ.ศ. 2425 เคยมีการจัดงานฉลองสมโภชพระนครครบรอบ 100 ปี ซึ่ง นับเป็นงานมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ สนามหลวงได้รับการบูรณะประดับตกแต่ง มีขบวนช้างม้าขบวนแห่แหนครึกโครม ทั้งยังเป็นพื้นที่จัดงานแสดงสินค้าแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก หรือ ‘นาเชนแนล เอกซฮิบิเชน’ (National Exhibition) ระหว่างวันที่ 26 เมษายน ถึงวันที่ 1 มิถุนายน ทำให้มีคนนำข้าวของแปลกๆ และสินค้าต่างๆ เข้ามาร่วมจัดแสดง ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ กระทั่งชาวบ้านทั่วไป เฉกเช่นคนหนึ่งคือ ก.ศ.ร. กุหลาบ ก็นำหนังสือของตนมาร่วมแสดงในงานเช่นกัน งานเขียนชิ้นหนึ่งที่ผมคิดว่านำเอาการจัดงาน ‘นาเชนแนล เอกซฮิบิเชน’ ในปี พ.ศ. 2425 มาวิเคราะห์ได้อย่างน่าครุ่นคิดได้แก่หนังสือ สยามมหกรรม การเมืองวัฒนธรรมกับการช่วงชิงความเป็นสาธารณะ ผลงานของปรีดี หงษ์สต้น
อ้อ นอกเหนือจากสนามแข่งม้า ถัดต่อมาสนามหลวงยังเคยเป็นสนามกอล์ฟ สนามแข่งรถยนต์ด้วย
ยุทธภูมิบุปผชาติ
ต้นทศวรรษ 2440 บริเวณท้องสนามหลวงยังเคยจัดกิจกรรมหนึ่งที่เรียกว่า ‘ยุทธภูมิบุปผชาติ’ หรือสงครามบุปผชาติ สืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2442 สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถซึ่งไปเรียนวิชาการทหารที่รัสเซียเสด็จกลับมายังประเทศสยามเป็นการชั่วคราว จึงมีการจัดงานรับเสด็จเมื่อวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม ร.ศ. 118 ในงานนี้ได้ประดับประดาสนามหลวงงดงามวิจิตรพิสดาร พร้อมทั้งตกแต่งจักรยานสองล้อด้วยดอกไม้ แล้วให้เล่นขี่จักรยานขว้างปากระดาษสายรุ้งกัน เป็นการทำสงครามดอกไม้ที่รับอิทธิพลมากจากงานเทศกาลคล้ายๆ กันในทวีปยุโรป อีกทั้งยังมีการประกวดขบวนรถบุปผชาติ ว่ากันว่า การเกิดขึ้นของกิจกรรมนี้ยังส่งผลให้การขี่จักรยานค่อยๆทบทวีความนิยมในสังคมไทย
ไฮด์ปาร์ค
เอ่ยถึงท้องสนามหลวงแล้ว ถ้าไม่กล่าวถึง ‘ไฮด์ปาร์ค’ คงจะมิได้หรอก นั่นเพราะเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่คึกคักอันเริ่มต้นอุบัติขึ้นจากท้องสนามหลวง
ต้องบอกว่าสนามหลวงเป็นพื้นที่อันเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมทางการเมืองเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงนับตั้งแต่ทศวรรษ 2470 หรืองานฉลองรัฐธรรมนูญ งานฉลองสันติภาพ ก็จะมาจัดกิจกรรมเชิงมหรสพทั้งโขน งิ้ว ลิเก หนังตะลุงและการแสดงแบบตะวันตกรวมไว้ที่นี่
สำหรับกิจกรรมที่เป็น ‘เสน่ห์’ ของสนามหลวงในยุคหนึ่งเลยก็คือ ‘ไฮด์ปาร์ค’ สืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2498 จอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะได้ไปทัศนาจรต่างประเทศรอบโลกด้วยการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา และเมื่อกลับคืนมายังเมืองไทยก็ได้นำเอาบรรยากาศประชาธิปไตยแบบที่เห็นในอังกฤษเข้ามา โดยเปิดให้ประชาชนปราศรัยแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีต่อสาธารณชนได้ที่สนามหลวง เรียกกันว่า ‘ไฮด์ปาร์ค’ มีที่มาจากชื่อของสวนสาธารณะ Hyde Park ในกรุงลอนดอนซึ่งคนมักไปชุมนุมปราศรัยทางการเมือง
การไฮด์ปาร์คครั้งแรกสุดในเมืองไทยเกิดขึ้นเมื่อบ่ายเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2498 คนแรกสุดที่ขึ้นกล่าวไฮด์ปาร์กคือนายทองอยู่ พุฒพัฒน์ สมาชิกสภาจังหวัดธนบุรี เขาเคยเป็น ส.ส. คนแรกของฝั่งธนในการเลือกตั้งครั้งแรกของไทยเมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 วันนั้น นายทองอยู่ได้เปิดฉากพูดโจมตีตำราเรียนแบบเบสิคของกระทรวงศึกษาธิการ มีทั้งผู้เห็นด้วยสนับสนุนนายทองอยู่ และผู้คัดค้านอย่างร้อยโทจงกล ไกรฤกษ์
ถัดจากนั้น มีคนมาไฮด์ปาร์คที่สนามหลวงบ่อยๆ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์จนกลายเป็นกระแสนิยมไม่เบา มิหนำซ้ำยังแพร่กระจายไปสู่ต่างจังหวัด เช่นเพชรบุรีที่ถือว่าเป็นจังหวัดแรกนอกกรุงเทพฯ ที่มีเวทีไฮปาร์ค โดยจัดที่โรงลิเกอำเภอบ้านแหลม อภิปรายเรื่องปัญหาการกักกันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี
บุคคลผู้ขึ้นกล่าวไฮปาร์คเวทีสนามหลวงมิได้จำกัดเฉพาะนักการเมือง นักคิดปัญญาชน หรือดาวไฮปาร์คขาประจำ แต่ใครๆ ก็มีสิทธิ์ขึ้นพูดอภิปรายปัญหาได้ ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ทั้งพระองค์เจ้า (เช่น พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ก็เคยขึ้นกล่าว) หมอดู กรรมกรสามล้อ แม่ค้าหาบเร่ และชาวบ้านที่ผ่านมาฟัง บางรายไม่เพียงพูด แต่ยังแสดงท่าทางนานา เช่น รำดาบ ทำพิธีบูชายัญ และอีกสารพัด
ท้องสนามหลวงขณะนั้นจึงเสมือนสภาแห่งประชาชน
ไฮด์ปาร์คยังไปปรากฏในงานวรรณกรรมช่วงปลายทศวรรษ 2490 อยู่หลายชิ้น แทบมิน่าเชื่อว่ากระทั่งในวรรณกรรมนำเสนอเรื่องเพศโจ่งแจ้งเยี่ยง ‘หนังสือปกขาว’ ก็ยังพบการผูกเรื่องให้ตัวละครฝ่ายชายและตัวละครฝ่ายหญิงไปนั่งฟังไฮด์ปาร์คที่สนามหลวง แล้วจู่ๆ ความคิดเห็นทางการเมืองของทั้งสองสอดคล้องกัน จึงเริ่มเจรจาเกี้ยวพาราสีพลอดรักกัน และชวนกันไปประกอบกิจกรรมทางเพศ
อย่างไรก็ดี กิจกรรมไฮด์ปาร์คดำเนินมาได้ราวๆ แรมปี ก็มีอันต้องยกเลิกไปจากสนามหลวง เพราะมีการกล่าวโจมตีรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามหนักหน่วง ทว่าจิตวิญญาณการพูดอย่างเสรีต่อสาธารชนของคนไทยที่เริ่มริมาจากสนามหลวงก็มิได้จางหายไป
พ่อค้าแม่ขาย
ผมเองเกิดไม่ทันยุคที่มีตลาดนัดสนามหลวง (ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยทศวรรษ 2490) เพราะตลาดนัดได้ย้ายไปอยู่ที่สวนจตุจักรแล้ว แต่ผมก็เคยไปตลาดนัดสนามหลวงเนืองๆ ในต่างจังหวัด
คุณผู้อ่านอย่าเพิ่งงุนงงนะครับ ที่ผมบอกว่าตลาดนัดสนามหลวงในต่างจังหวัดนั้น จริงๆ ก็น่าเป็นอิทธิพลมาจากการเคยมีตลาดนัดสนามหลวงในกรุงเทพฯ นั่นล่ะ แม้ปัจจุบันจะไม่มีอยู่แล้ว แต่คำนี้ก็ยังถูกใช้กันเพื่อจะสื่อความหมายถึงตลาดนัดใหญ่ๆ
หรืออย่างการขายหนังสือเก่าๆ ซึ่งเดิมแหล่งขายอยู่ที่ตลาดนัดสนามหลวง จนทำให้คนชอบอ่านหนังสือรุ่นเก่าๆ เช่น สุชาติ สวัสดิ์ศรี ถึงกับตั้งนามแฝงของตนว่า ‘สิงห์สนามหลวง’ แต่ทุกวันนี้ พอคนรุ่นผมที่เพิ่งอายุ 30 ไปหาซื้อหนังสือเก่าๆ คนขายบางรายก็ยังเรียกหนังสือที่ตนขายเกี่ยวพันกับสนามหลวง แม้ร้านของพวกเขาอาจจะอยู่รังสิตก็ตามเถอะ
สำหรับพ่อค้าแม่ขายที่ผมทันได้สัมผัสกับตัวเองตั้งแต่ตอนเป็นเด็กๆ เป็นวัยรุ่นแล้วผ่านมาเยือนสนามหลวง กระทั่งช่วงเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ต้องเดินผ่านบ่อยๆ ก็มีอยู่หลายแนวที่ยังประทับในความทรงจำวัยเยาวชนของผม เช่น คนหาบไข่ปิ้งขาย คนเดินเร่ขายจำพวกถั่วข้าวโพดเพื่อให้เราซื้อไปเลี้ยงนกพิราบ และคนเดินหอบเสื่อมาให้เราเช่าเพื่อจะได้ไปปูนั่งบนพรมหญ้า เป็นต้น เท่าที่สังเกต ส่วนใหญ่พ่อค้าแม่ขายเหล่านี้น่าจะเป็นชาวต่างจังหวัด แต่พวกเขาก็คลุกคลีกับสนามหลวงอย่างแน่นแฟ้น
ที่สาธยายมา เป็นไม่กี่เรื่องในประดาเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับสนามหลวงที่ผมเคยอ่านพบหรือเผชิญประสบการณ์ ซึ่งยังค้างคาดวงจิตและยังมิเลือนหนีไปจากความคิด แต่อย่างน้อยคงพอจะสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งระดับเจ้านาย ข้าราชการ ชาวบ้าน คนกรุง คนต่างจังหวัดกับสนามหลวงได้บ้างพอประมาณ นี่ยิ่งยืนยันได้ว่าสนามหลวงประหนึ่งจุดนัดพบกันระหว่างคนหลากหลายวิถีชีวิตนับแต่อดีตจวบปัจจุบัน และคราใดย่างกรายผ่านทางสนามหลวง บางที เราอาจนึกเห็นภาพเหล่านี้โลดแล่นราวภาพยนตร์จากวันวาน
เอกสารอ้างอิง
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย 2475 – 2500. กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และ
มนุษยศาสตร์, 2544
ถวิล มนัสน้อม และ สุจิตต์ วงษ์เทศ. เหตุเกิดที่สนามหลวง. กรุงเทพฯ: กราฟิคอาร์ต, 2523
ปรีดี หงษ์สต้น. สยามมหกรรม การเมืองวัฒนธรรมกับการช่วงชิงความเป็นสาธารณะ.กรุงเทพฯ: มติ
ชน, 2562
ลาวัณย์ โชตามระ.แก้วชิงดวง. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา, 2527
ลาวัณย์ โชตามระ. เล่าเรื่องของไทย. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, 2509
สำนักงานการโยธา กรุงเทพมหานคร. จดหมายเหตุการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่พระโรงกลางแจ้งท้อง
สนามหลวง พุทธศักราช 2554. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2554
ส.พลายน้อย. เล่าเรื่องบางกอก. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: รวมสาส์น, 2525