ยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดใหญ่เพิ่มสูงขึ้นโดยไม่มีทีท่าว่าจะทุเลา ตรงกันข้ามกับร้านรวงและธุรกิจต่างๆ ที่ต้องปิดตัวลงจนบางตา ขณะนี้ไม่สามารถให้คำตอบได้แล้วว่า ระหว่างพิษเศรษฐกิจกับ COVID-19 อะไรน่ากลัวกว่ากัน แต่ที่แน่เสียยิ่งกว่าแช่แป้งก็คือ ความเครียดและความสิ้นหวังจะเข้ามาเคาะประตูถึงหน้าบ้านของเรา ไม่ช้าก็เร็ว
หันมองไปทางไหนทุกอย่างก็ดูมัวหมองไม่สดใสเหมือนแต่ก่อน ได้ยินเสียงถอนหายใจหลุดรอดออกมาเรื่อยๆ แม้ไม่ได้ตั้งใจ ตอนนี้เราต่างสูญเสียบางอย่างในชีวิตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สุขภาพกาย สุขภาพใจ เวลา โอกาส คนรัก ทรัพย์สิน เงินทอง หน้าที่การงาน รวมๆ แล้วมันคือ ‘ความสิ้นหวัง’ ที่ซ่อนอยู่ในแต่ละวินาทีที่ชีวิตดำเนินต่อไปเรื่อยๆ
แต่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ มองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ การตอบสนองเพื่อเอาตัวรอดที่ดีที่สุดอาจเป็น ‘การปรับมุมมองใหม่’ ให้ไม่ทุกข์ทรมานมากเกินไป จึงเป็นเหตุผลที่หลายคนพยายามมองหาโอกาสที่ซ่อนอยู่ในวิกฤต มองหาข้อดีต่างๆ ท่ามกลางความฉิบหายที่เกิดขึ้น ทำอะไรก็ได้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจออกไปจากความทุกข์ บ้างก็เปลี่ยนมันให้เป็นกลายเรื่องน่าขัน เพราะกลไกการรับมือหรือ Coping Mechanisms เหล่านี้ จะช่วยให้เราปรับตัวและอยู่รอดเมื่อเผชิญหน้ากับปัญหา
ยิ่งมีความสุข ยิ่งรู้สึกผิด
จำได้มั้ยว่าช่วงแรกที่เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ เราปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง หลายคนหากิจกรรมแก้เบื่อทำระหว่างกักตัว เช่น เล่น TikTok ทำอาหาร แต่งบ้านใหม่ ปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย บางคนพยายามมองหาข้อดีของการได้ทำงานที่บ้าน คิดว่าโรคระบาดถือเป็นโอกาสในการได้ใช้เวลากับคนในครอบครัวมากขึ้น หรือได้กลับมาโฟกัสกับความสุขเล็กๆ น้อยๆ รอบตัวที่เคยมองข้ามไป ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เพราะทุกคนมีการเยียวยาจิตใจที่แตกต่างกันไปอยู่แล้ว
แต่โรคระบาดยังคงลากยาวมาเรื่อยๆ ระลอก 2 ก็แล้ว ระลอก 3 ก็แล้ว ไม่อะไรดีขึ้นเลยสักนิด การทำงานของรัฐบาลก็มีแต่จะพาถอยหลังลงคลองโอ่งอ่าง ไหนจะการสั่งซื้อวัคซีน ไหนจะการสั่งล็อกดาวน์อีกครั้งแต่ไม่มีการตรวจเชิงรุก ไหนจะเพิกเฉยต่อการเยียวยาผู้ประกอบการต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย ทำให้เราเริ่มเห็นภาพชัดขึ้นว่าจริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรเลยที่เรียกว่าเป็นโอกาสหรือข้อดีในตอนนี้ ทุกอย่างคือวิกฤต ซึ่งเราทุกคนกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตไปด้วยกัน แต่การที่เราเผชิญหน้ากับวิกฤตน้อยกว่าคนอื่นๆ หรือได้รับผลกระทบทางอ้อม ยังพอมีงานให้เกาะเอาไว้ มีเงินซื้อข้าวกิน มีบ้านให้อาศัย สามารถต่ออายุเน็ตฟลิกซ์ไปได้อีกหลายเดือนหลายปี พอจะสร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้ตัวเองได้ในแต่ละวัน Coping Mechanisms ยังคงทำงานได้เป็นอย่างดี เพื่อให้เอาตัวรอดจากความสิ้นหวังนี้ไปได้ ดูเหมือนจะเป็นความโชคดีเมื่อเทียบกับใครอีกหลายคน แต่ความโชคดีที่ว่ากลับทำให้เรารู้สึกผิดขึ้นมาเสียอย่างนั้น
เราเรียกความรู้สึกนี้ว่า Happiness Guilt หรือความรู้สึกผิดที่จะมีความสุข เกิดจากการที่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ล่มหัวจมท้ายไปกับคนอื่นๆ รู้สึกว่าเรายังมีความทุกข์ทรมานไม่มากพอ หรือรู้สึกว่าการมีความสุขทำให้เรากลายเป็นคนไม่ดี จึงทำให้เราไม่กล้าที่จะยิ้ม หัวเราะ หรือมองว่าอะไรดีๆ ที่เราได้รับในแต่ละวันเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว แต่ถ้าเป็นในช่วงโรคระบาดใหญ่ก็จะมีอีกคำหนึ่งก็คือ Survivor Guilt ซึ่งมาจากความรู้สึกผิดที่เรากลายเป็นผู้รอดชีวิต ท่ามกลางความสูญเสียของผู้อื่น รู้สึกผิดที่เราได้รับผลกระทบไม่เท่ากับคนอื่นๆ หรือ not feeling impacted enough เช่น ไม่ได้ปิดกิจการ ไม่ได้สูญเสียคนในครอบครัว ไม่ได้โดนไล่ออกจากงาน หรือพลาดโอกาสบางอย่างในชีวิตไป
โดยความทุกข์ทางอารมณ์นี้จะเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในที่ทำงาน อ้างอิงจาก จอห์น แฮคสตัน (John Hackston) หัวหน้าฝ่ายผู้นำทางความคิดที่บริษัท Myers-Briggs เนื่องจากโรคระบาดใหญ่ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องลดจำนวนพนักงานลง ส่งผลให้พนักงานที่ยังคงเหลือรอดเกิดความรู้สึกผิด เนื่องจากตัวเองไม่ได้รับผลกระทบเหมือนคนอื่นๆ เพราะการถูกเลิกจ้างนั้นหมายถึง การสูญเสียซึ่งรายได้ที่ต้องนำไปจุนเจือตัวเองหรือครอบครัว การต้องเสียเวลาหางานใหม่ที่นับเป็นความเสี่ยงในช่วงนี้ โดยความรู้สึกผิดของการกลายเป็นผู้อยู่รอด อาจทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆ ตั้งแต่ความโกรธ ความอับอาย ไปจนถึงความรู้สึกไร้ค่า และเมื่ออารมณ์ของเราไม่ได้รับการประมวลผลอย่างเหมาะสม จึงอาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจตามมา อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหรือภาวะวิตกกังวลได้
หากสงสัยว่าทำไมเราถึงต้อง ‘ร่วมรู้สึก’ ไปกับคนอื่นๆ ทั้งที่เราไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากมายจากสถานการณ์ตอนนี้ ต้องบอกก่อนว่าความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกที่เข้าใจได้ เพราะเมื่อเราอาศัยอยู่ในสังคม เราจะมี Collective Trauma หรือ ‘บาดแผลร่วมกับคนในสังคม’ ที่ไม่ว่าจะเกิดภัยภิบัติ ก่อการร้าย การเหยียดเชื้อชาติ หรือความไม่ยุติกรรม เราจะร่วมรู้สึกไปกับกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยไม่รู้ตัว นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราไม่สามารถมีความสุขได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่มองเห็นคนอื่นกำลังเดือดร้อนหรือประสบกับความทุกข์ยาก หรือการที่เราไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย มีชีวิตที่ราบรื่น อยู่ดีกินดี ไม่ต้องดิ้นรนหาทางออกมากนัก ทำให้เรารู้สึกเหมือนว่ากำลังทำอะไรผิดต่อคนเหล่านั้นอยู่
มีเมตตาต่อตัวเองบ้าง ขณะที่ทุกอย่างโหดร้ายเกินไป
“เรากำลังมีความสุขเกินไปหรือเปล่า?” หลายคนอาจตั้งคำถามแบบนี้ ในขณะที่กำลังดูซีรีส์ เล่นเกม ช้อปปิ้งออนไลน์ ติ่งดารา ร้องรำทำเพลง อัดคลิปลงโซเชียลมีเดีย หรือแชร์มีมหมาแมว ในขณะที่หน้าฟีดเฟซบุ๊กเต็มไปด้วยข่าวร้าย ความเศร้า และความโกรธของผู้คนที่มีต่อสถานการณ์ไม่ปกติ จนในที่สุดก็เริ่มระแวงขึ้นมาว่า “ความสุขของเราในขณะนี้ กำลังทำให้ใครไม่สบายใจอยู่หรือเปล่า?”
ความคิดหรือความรู้สึกที่มาจาก Survivor Guilt ถือเป็นกับดักอย่างหนึ่งที่ปิดกั้นเราจากการได้ใช้ชีวิตในอย่างที่ควรจะเป็น เหมือนกำลังกินข้าวอยู่แล้วมีคนเดินมาบอกว่า “จะกินอะไรเยอะแยะ ลองนึกถึงคนที่ไม่มีจะกินบ้างสิ” แน่นอนว่าการอดข้าวหรือกินข้าวน้อยลง อาจทำให้เราเข้าใจความรู้สึกหิวโหยนั้นได้มากขึ้น แต่ถ้าถามว่าการกระทำนี้จะช่วยเหลือคนอื่นให้มีข้าวกินเยอะขึ้นได้ยังไง ก็ดูจะหาความเชื่อมโยงไม่ได้เลย รู้เพียงแค่ว่าเรายังคงต้องกินข้าวเพื่อต่อชีวิตในทุกๆ วัน และเราสามารถเลือกกินอะไรก็ได้ตามที่เราพึงพอใจหรือมีกำลังซื้อมากพอ นั่นคือการใช้ชีวิตในอย่างที่ควรจะเป็น
แม้เราจะช่วยอะไรได้ไม่มากนัก แต่อย่างน้อยการได้รู้ว่าเรากำลังมีอภิสิทธิ์หรือสิทธิพิเศษ (Privilege) อะไรบางอย่าง ที่ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้ราบรื่นกว่าคนอื่นๆ สามารถมีแก็ปเล็กๆ ให้ได้ปิดเครื่องด่า พักจากความวุ่นวายไปทำอะไรที่จรรโลงใจ หรือเคยตั้งคำถามกับตัวเองมั้ยว่า ทำไมเราถึงยังคงนอนดูซีรีส์ได้จนจบเรื่อง โดยไม่ต้องดิ้นรนยื่นใบสมัครงาน ทำไมเรายังคงสั่งอาหารจากแอปฯ ที่ชาร์จราคาสูงลิ่ว ในขณะที่มีคนทักไปขอข้าวที่เหลือจากการรีวิวของอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งการหาคำตอบเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือเรื่องน่าอายอะไร เพราะนั่นทำให้เรารู้ว่าเงื่อนไขของเราและของคนอื่นแตกต่างกันยังไงบ้าง เราไม่สามารถเปรียบเทียบชีวิตใครกับใครได้ และทำให้เราระมัดระวังในการ ‘ยัดเยียด’ ทางออกของตัวเองให้กับคนอื่นมากขึ้นด้วย
หรือสิทธิพิเศษที่ว่านี้ก็อาจก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น และพอจะช่วยลดความรู้สึกผิดในใจลงได้บ้าง โดยเรามีสิทธิพิเศษในด้านไหนก็ช่วยเหลือผู้อื่นในด้านนั้น เช่น ถ้าการเงินไม่ขัดข้องก็ช่วยบริจาคให้กับคนที่ลำบาก ถ้ามีเวลาเหลือเฟือก็อาจลงอาสาสมัครโครงการต่างๆ หรือถ้ามีเครือข่ายสายสัมพันธ์ทางอาชีพที่กว้างขวาง การแนะนำให้ตัวให้ใครรู้จักกับใครจนเกิดโอกาสในหน้าที่การงาน ก็จะช่วยเปลี่ยนชีวิตคนๆ หนึ่งไปได้ ลองทำในสิ่งที่สามารถทำได้ และเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม เพราะการเลือกตัดความสุขของตัวเองออกไปทั้งหมด หรือพยายามลดความสุขตัวเองลงเพื่อให้ทุกข์ทรมานเท่ากับคนอื่น แบบนั้นไม่ใช่ทางออกที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายใดสักเท่าไหร่ หรือกล่าวคือ ไม่มีใครรับรู้ว่าเรากำลังทุกข์ทรมานใจ นอกจากตัวของเราเอง
นอกจากนี้ การมีเมตตาต่อตัวเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เมื่อมีความสุขเข้ามาในชีวิตหรือมีโอกาสที่จะได้ทำอะไรสนุกๆ ที่ไม่อยู่บนความทุกข์ร้อนของใคร เราควรโอบอุ้มเอาไว้ด้วยความยินดี เพราะการกดความรู้สึกเชิงบวกส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพจิต เช่นเดียวกับการกดความรู้สึกเชิงลบ พยายามอย่าเฆี่ยนตีตัวเองด้วยความรู้สึกผิดบ่อยๆ และปล่อยให้ตัวเองได้เก็บเกี่ยวช่วงเวลาเหล่านั้นให้เต็มที่บ้าง เพราะลำพังแค่สถานการณ์หรือสภาพสังคมตอนนี้ก็ย่ำแย่พอแล้ว เดินออกจากบ้านก็เจอฟุตปาธผุพัง เกือบถูกรถมอเตอร์ไซค์ที่ขับสวนเลนมาเฉี่ยวชน ร้านอาหารโปรดที่ไปบ่อยๆ ก็เริ่มปิดตัวลงเรื่อยๆ ถ้าเราไม่มีความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในพื้นที่ของตัวเอง ก็คงไม่รู้จะไปหาความสุขได้จากที่ไหนแล้ว
การมีความสุขอย่างจริงใจ ได้ทำอะไรที่ชื่นชอบเพื่อความผ่อนคลาย พักจากการเปิดเครื่องด่าหรือความโกรธบ้าง ไม่ได้แปลว่าเรากำลังเพิกเฉยต่อปัญหา เพียงแต่เราแค่ต้องการช่วงเวลาเล็กๆ ให้กับตัวเองบ้างก็เท่านั้น โดยที่ข้างในเรายังตระหนักถึงความบอบช้ำและความไม่ปกติรอบตัวได้อยู่ เพราะการที่เราได้พักผ่อนทางจิตใจก็เหมือนการรักษาสุขภาพทั่วๆ ไป เช่นเดียวกับการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือเว้นระยะห่างทางสังคม การจะผ่านวิกฤตในขณะนี้ไปได้ไม่ใช่เพียงแค่ร่างกายต้องพร้อม แต่ต้องอาศัยสุขภาพจิตใจที่แข็งแรงด้วย
หากสังเกตว่าตัวเองยากที่จะมีความสุขในช่วงนี้ ลองพูดคุยกับคนรอบข้างที่ไว้ใจได้ เพื่อแชร์ความกังวลที่มีอยู่ในใจ หรือเพื่อให้เขาช่วยสะท้อนว่าความสุขของเราไม่ได้พรากบางอย่างจากใครไปอย่างที่คิด เพียงแต่ที่ผ่านมาเราอาจมี negative self-talk หรือการพร่ำบอกตัวเองบ่อยๆ ว่าเราไม่สมควรได้รับความสุข ซึ่งจริงๆ ทุกคนสามารถมีความสุขได้ในแบบของตัวเอง เช่นเดียวกันกับความรู้สึกผิด เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่จำเป็นต้องซ่อนหรือทำเป็นมองไม่เห็น ลองเอาความรู้สึกนั้นออกมาทำความรู้จักว่าคืออะไร เกิดขึ้นได้ยังไง เราหรือใครที่ทำให้เกิดขึ้น หรือการที่เราไม่มีความสุขจะช่วยลดความรู้สึกผิดลงได้จริงหรือไม่ แล้วมีวิธีอื่นมั้ยที่จะทำให้เราสบายใจ แทนที่จะมานั่งกดความสุขของตัวเองเอาไว้แบบนี้
เพราะการมีความสุขไม่ใช่ zero-sum game หรือเกมที่มีผู้แพ้-ชนะ อาจจะจริงที่เราไม่สามารถช่วยเหลือผู้คนที่กำลังประสบความยากลำบากได้มากนัก แต่การปฏิเสธช่วงเวลาแห่งความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่เข้ามาในชีวิต ก็ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ต่อใครเช่นเดียวกัน ลองเมตตากับตัวเองดูบ้างก็ได้ ยิ้ม หัวเราะ และมีความสุขบ้างก็ได้ ถือซะว่าเป็นการแวะเติมเชื้อเพลิง เพื่อใช้ต่อสู้กับความบัดซบที่กำลังรออยู่ข้างหน้าอีกมากมาย
อ้างอิงข้อมูลจาก