ไม่เห็นผลของการกระทำ ไม่มีแรงจะฝัน ไม่มีเงินจะย้ายประเทศ ไม่เห็นทางออก เรารู้สึกแบบนี้อยู่คนเดียวรึเปล่า?
แม้ว่าเราหลายๆ คนจะเริ่มชินชากับบรรยากาศตึงเครียดและขมุกขมัวของการใช้ชีวิตไปแล้ว เมื่อมีเหตุการณ์ที่จู่โจมไปยังความมั่นคงในการใช้ชีวิตของเรา ไม่ว่ามันจะจบลงหรือไม่ มันทิ้งสารตกค้างเอาไว้ในใจของเราเสมอ และสิ่งที่เหลืออยู่นั้นไม่ได้อยู่แค่กับเราแค่คนเดียว แต่คนที่ผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นเกือบทุกคน
เราเรียกบาดแผลเหล่านั้นว่าบาดแผลทางใจร่วมของสังคมหรือ collective trauma “หมายความถึงปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ที่ก่อบาดแผลฝังใจต่อทั้งสังคม มันไม่ใช่เพียงการสะท้อนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ หรือการไล่เรียงว่าเกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มคน แต่มันคือภาพจำร่วมของคนกลุ่มนั้นต่อโศกนาฏกรรม และเช่นเดียวกับความทรงจำทุกรูปแบบ มันไม่ใช่เพียงการระลึกถึงเรื่องที่เคยเกิดขึ้น แต่เป็นกระบวนการก่อร่างบาดแผลเหล่านั้นซ้ำเพื่อทำความเข้าใจมัน” กิลาด เฮิร์ชเบอร์เกอร์ (Gilad Hirschberger) นักวิจัยชาวอิสราเอลเขียนในบทนำงานวิจัยของเขา Collective Trauma and the Social Construct of meaning
ในงานวิจัยชิ้นนี้เขาหาจุดเชื่อมโยงระหว่างความเจ็บปวดร่วมของคนกลุ่มหนึ่งๆ และผลของมันต่อโครงสร้างทางสังคม เขาตั้งข้อสังเกตว่าโดยมากแล้วข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้มักเป็นผลทางสุขภาพและจิตวิทยา แต่ในงานวิจัยนี้เขาค้นพบว่าบาดแผลร่วมนี้สามารถนำไปสู่การสร้างความชอบธรรมในพฤติกรรมรุนแรงต่อคนนอกได้ ด้วยเหตุผลของการป้องกันตัวเองจากบาดแผลใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นผลกระทบของ collective trauma นั้นลงรากลึกไปกว่าเพียงผิวเผิน
หากให้ยกตัวอย่าง ผลของความเจ็บปวดร่วมในเหตุการณ์ 9/11 นั้นนอกจากจะมีผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์และการปรับแปลงนโยบายแล้ว ผลของมันยังอยู่ยาวมาจนทุกวันนี้ในรูปแบบของความหวาดกลัวชาวต่างชาติ (xenophobia) ของชาวตะวันตก หรือการมีภาพจำร่วมกันของคนบางเชื้อชาติและศาสนาที่เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
และหากพูดถึงปัจจุบัน ในเวลาไม่กี่ปีนี้มีหลากหลายเรื่องเหลือเกินที่สามารถสร้างบาดแผลใหญ่ทิ้งรอยนานไว้ให้กับเรา และเมื่อแผลเก่ายังไม่หายแล้วแผลใหม่เข้ามา มันอาจนำไปสู่ความเจ็บปวดที่ทวีคูณขึ้นไป ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ‘Cascading collective trauma’
ในบทความ Whatever does not kill us: Cumulative lifetime adversity, vulnerability, and resilience ตีพิมพ์ลงบนวารสาร Journal of Personality and Social Psychology โดย American Psychological Association (APA) พบความเชื่อมโยงว่าผลของการทับถมของบาดแผลร่วมจำนวนมากต่อกันสามารถทำให้การบรรเทาแผลต่อๆ ไปยากขึ้นเรื่อยๆ หมายความว่าแม้ความเจ็บปวดต่างแหล่งที่มานั้นลักษณะไม่เหมือนกัน แผลที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกับการสร้างแผลใหม่บนแผลเก่าที่ยังไม่หายมากกว่า
โรคระบาดที่ไม่มีท่าทีว่าจะหายไปในเร็วๆ นี้ แต่ตั้งแต่โรคระบาดที่ไม่มีท่าทีจะหายไปในเร็วๆ นี้ บรรยากาศทางการเมืองที่หดหู่ ภาพการสลายการชุมนุม สภาพเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ฯลฯ ในเวลาราวๆ 2-3 ปีที่ผ่านมาสำหรับคนจำนวนมากกำลังตกอยู่ภายใต้ Cascading collective trauma จากปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข และไม่เห็นท่าทีจะได้รับการแก้ไข หรือบางเรื่องที่หายออกไปจากความสนใจของผู้ที่มีอำนาจแก้ไขเรื่องเหล่านั้น นำไปสู่ความรู้สึกของการหาทางออกไม่เจอ
แม้ว่า collective trauma จะไม่เหมือนกันตามแต่ละคน แต่โดยรวมแล้วมันสามารถทิ้งภาวะเช่น PTSD และความวิตกกังวลเอาไว้ในคนหมู่มากได้ ในการวิจัยโดย Centers for Disease Control and Prevention (CDC) พบว่าตั้งแต่กลางปี ค.ศ.2019 ถึงกลางปี ค.ศ.2020 มีเปอร์เซ็นต์ของผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ผู้ใช้แอลกอฮอล์และสารเสพติด และคนฆ่าตัวตายสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ช่วงดังกล่าวคือคาบเส้นระหว่างการเริ่มต้นของโรคระบาด COVID-19 และการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ที่นำไปสู่การเคลื่อนไหว Black Lives Matter
ความรุนแรงของบาดแผลร่วมนั้นมากอยู่แล้ว แต่หลายๆ ครั้งสิ่งที่ทำให้มันหนักหนาขึ้นคือวิธีการที่แต่ละคนอยู่ร่วมกับมัน ในบางกรณีเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบดังกล่าวขึ้น สิ่งที่ผู้คนหลายคนทำคือการติดตามข่าวสารที่หล่อเลี้ยงบาดแผลเหล่านั้นแบบไม่หยุดหย่อน ตัวอย่างเช่นการดูวิดีโอสลายการชุมนุมซ้ำในหลายๆ มุม และการติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นบนไทม์ไลน์ตลอดเวลา การกระทำที่มีชื่อเรียกว่า Doom Scrolling
หรือจากงานวิจัยข้างต้น จำนวนผู้ใช้ผู้ใช้แอลกอฮอล์และสารเสพติดที่สูงขึ้นเป็นสัญญาณว่าหลายๆ ครัวเรือนกำลังประสบกับความเครียดในระดับสูงกว่าปกติและพวกเขาพยายามหาทางออกให้โลกของความเป็นจริงนั้นไม่โหดร้ายเกินไปนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ในบางกรณีมันอาจนำไปสู่ความเครียดรูปแบบอื่นได้ หากบุคคลประสบความเครียดมากจนต้องเพิ่มบริมาณการใช้สารเหล่านั้น อาจนำไปสู่การเสพติด ปัญหาทางการเงิน หรือปัญหาทางกฎหมาย
แต่นั่นไม่ใช่การกล่าวโทษคนที่ตกอยู่ในภาวะเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย มนุษย์ทุกคนมีวิธีการอยู่ร่วมกับปัญหาที่แตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ โจทย์ที่ผู้มีอำนาจในการหยิบยื่นวิธีอยู่ร่วมกับปัญหาต้องแก้ให้ได้คือทำยังไงไม่ให้วิธีเหล่านั้นนำไปสู่บาดแผลใหม่ในตัวบุคคล เพราะในครั้งหนึ่งแคมเปญรณรงค์ที่พยายามทำหน้าที่สร้างความรู้สึกผิดเกี่ยวกับความจนและการกินเหล้าของภาครัฐนั้นก็ไม่ได้ผล แถมยังเพิ่มภาพจำแง่ลบต่อชนชั้นแรงงานมากกว่าจะช่วยให้พวกเขาออกจากจุดจุดนั้น
หนึ่งสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือการให้ความสนใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีโดยผู้ที่มีอำนาจจัดการ เพื่อให้การเผชิญหน้าต่อปัญหาของคนในสังคมไม่นำไปสู่ปัญหาที่ตามมา แต่ที่สำคัญที่สุดคือการแก้ไขปัญหาระบบที่นำไปสู่บาดแผลเหล่านั้นขึ้นแต่แรกให้หายไปอย่างรวดเร็วที่สุด อาจจะการกามาตรการการเยียวยาผู้คนให้มากที่สุด หรือการเกิดรับฟังความเห็นของประชาชนโดยไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ จะเกิดขึ้นได้ อย่างน้อยผู้มีอำนาจต้องการแก้ไขมันก่อนตั้งแต่ต้น
วิธีการแก้ไขปัญหา cascading collective trauma อย่างแท้จริงนั้นอาจไม่ใช่การหยิบยื่นการอยู่กับปัจจุบันเพียงอย่างเดียว แต่เป็นแนวทางการแก้ไขไม่ให้มันเกิดซ้ำในอนาคต
อ้างอิงข้อมูลจาก