ทำไมความรู้สึกของการเดินคนเดียวตอนกลางคืน การได้รับสายตาของคนไม่รู้จัก และการมีปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่นของแต่ละเพศถึงต่างกัน? และทำไมเราถึงเห็นความ ‘ระวังตัว’ จากผู้หญิงต่อผู้ชายอย่างสม่ำเสมอ
‘ยังไม่ได้ทำอะไรแต่ทำไมถึงเลิกหวาดระแวงไม่ได้?’ เป็นคำถามที่หลายๆ คนอาจถาม ทั้งกับตัวเอง หรือกับคนที่รู้สึกระแวดระวังต่อสถานการณ์รอบตัวของพวกเขาแม้ยังไม่เกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง
บางครั้งความหวาดระแวงเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่บุคคลคนหนึ่งทำอะไร บางครั้งความหวาดระแวงอาจมาจากรอยแผลในอดีตที่ไม่หายขาด และบางครั้งแผลนั้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับเราโดยตรง แต่กับคนที่คล้ายกับเรา ความระวังรูปแบบนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Hypervigilance’
Hypervigilance คือการระวังตัวในสภาพแวดล้อมตัวเองอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากการประเมินความเสี่ยงสูงกว่าที่เป็น ตกใจง่าย และหลีกเลี่ยงทุกสิ่งที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยง การระมัดระวังตัวอาจฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในความเป็นจริงการระมัดระวังระดับนี้สามารถส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
ในงานวิจัยชื่อ ‘Neural Hyper Hypervigilance in Trauma-exposed Women’ โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ยูน ซึงยอน (Yoon SeungYeon) กล่าวว่าคนที่ตกอยู่ในภาวะนี้อาจขาดสมาธิกับสิ่งอื่นรอบตัวได้ นั่นหมายความว่าในขณะที่บุคคลนี้ระวังตัวมากกว่าใครแล้ว อาการดังกล่าวทำให้เขาป้องกันตัวอย่างมีประสิทธิภาพได้น้อยกว่าคนอื่นไปพร้อมๆ กัน
Hypervigilance เกิดขึ้นได้จากโรค PTSD ที่เกิดจากการประสบเหตุการณ์กระทบจิตใจในอดีต อาจจะจากการผ่านประสบการณ์ความรุนแรง ความกลัว ความอันตรายอย่างหนัก โดยอาจได้รับหรือไม่ได้รับการรักษาทางจิตภายหลังจากนั้น และในงานวิจัยกล่าวอีกว่าผู้ที่พบอาการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องประสบเข้ากับเหตุการณ์เหล่านั้นโดยตรง แต่อาจเกิดจากการรู้ถึงเหตุการณ์เหล่านั้น ทั้งจากการเป็นพยานในเหตุการณ์หรือจากการติดตามข้อมูล และทั้งจากคนที่รู้จักหรือไม่รู้จักก็ได้
รอยแผลในใจที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ร่วมหรือการเรียนรู้เกี่ยวกับประสบการณ์เหล่านั้นมีชื่อเรียกว่า Collective Trauma ที่มักเกิดขึ้นเมื่อผู้คนจำนวนมากผ่านเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงสภาพสังคมและวัฒนธรรม เช่น สงครามโลกครั้งที่ 2 , 9/11 และล่าสุดคือโรคระบาดโควิด-19
นอกจากนั้นมันอาจเป็นเรื่องราว ที่คนจำนวนมากเจอพร้อมๆ กัน อย่างเช่น มูฟเมนต์ #MeToo ที่เผยให้เห็นความเจ็บปวดของคนหมู่มากนั้นมีจุดเริ่มต้นที่ไม่ห่างกันมาก และความตระหนักรู้ในขนาดของปัญหาความรุนแรงทางเพศจากมูฟเมนต์นี้นำไปสู่สังคมที่ตื่นรู้เรื่องเพศมากขึ้นอาจนับมันเป็นความเจ็บปวดร่วม และการเริ่มรักษารอยแผลร่วมกันของคนในมูฟเมนต์เลยก็ว่าได้
ในรายงานชื่อ ‘ความรุนแรงทางเพศ: บทสะท้อนความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ’โดย สุขุมา อรุณจิต คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เล่าถึงรากเหง้าของปัญหาความรุนแรงทางเพศในไทยนั้นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ตั้งแต่วัฒนธรรมที่มองข้ามความผิดผู้ชายและกล่าวโทษผู้หญิง การมองเพศหญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ และความไม่เท่าเทียมเชิงอำนาจของเพศชายและหญิงทำให้ตีตราค่าของผู้หญิงต่ำกว่าผู้ชาย มีการอ้างอิงถึงสถิติว่า “ในประเทศไทยพบว่าทุกวันมีเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นกับเด็กและสตรีไม่น้อยกว่า 7 คนต่อวัน ถึงแม้สถิติที่เข้าแจ้งความกับตำรวจจะสูงแล้ว แต่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ยังระบุว่าความรุนแรงทางเพศในไทยไม่ได้มีการรายงานไว้เป็นจำนวนมาก”
จากสถิติดังกล่าวสามารถตีความอย่างตรงตัวว่าผู้หญิงจำนวนมากในสังคมไทยประสบเข้ากับความรุนแรงทางเพศ และจำนวนเหล่านั้นมากกว่าที่สถิติกล่าวถึง เช่นนั้นแล้วไม่น่าเป็นการกล่าวเกินจริงที่จะบอกว่าในจำนวนที่สูงขนาดนี้ ความเป็นไปได้ที่ผู้หญิงสักคนจะเรียนรู้ถึงเหตุการณ์เหล่านั้นทั้งจากการเล่าสู่กันฟัง การรู้จัก หรือการติดตามข่าว ก็มีโอกาสที่พวกเขาจะตกอยู่ในกลุ่มผู้มีอาการ Hypervigilance ที่เกิดขึ้นจากความเจ็บปวดร่วมในการล่วงละเมิดทางเพศ
แต่ต้องทำยังเราเราจึงจะหลุดพ้นจาก Hypervigilance ได้?
หากมองในแง่การรักษา สิ่งที่จะรักษาคนที่ประสบกับอาการ Hypervigilance ขนาดหนักจำต้องเข้ารับการบำบัดและใช้ยาเพื่อรักษาให้หายเท่านั้น และแม้ว่าเราจะสามารถลดอาการของ Collective Trauma ได้จากการลดการรับข่าวสาร งดการใช้โซเชียลมีเดีย และสื่อสารกับมนุษย์มากขึ้น เมื่อจะพูดถึงการแก้ไขที่แท้จริง สิ่งที่ต้องการการรักษาไม่ใช้ตัวคน แต่เป็นสังคมใช่หรือไม่?
การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ผ่านการรักษาอาการนั้นเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ เพราะเมื่อบาดแผลร่วมของสังคมนั้นยังดำรงอยู่ กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศหรือปัญหาใดก็ตามก็ต้องส่งต่อวิธีการป้องกันและความหวาดระแวงเหล่านั้นให้กับคนรุ่นต่อไป ให้เกิดวัฏจักรของความระแวงที่ไม่รู้จบ
หากอ้างอิงไปถึงรายงานโดยสุขุมา อรุณจิต เมื่อข้างต้นอีกครั้ง เธอมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศว่า “ไม่ใช่การที่ผู้หญิงต้องรู้จักลุกขึ้นมาปกป้องตนเองได้เท่านั้น แต่ต้องลงลึกไปถึงการแก้ปัญหาที่รากเหง้าของโครงสร้างทางสังคมที่ต้องร่วมถอนรากถอนโคนทางวัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อ ที่ก่อให้เกิดปัญหา รวมถึงปรับฐานคิดให้สมาชิกทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยได้เรียนรู้ในการเคารพ ให้เกียรติ ยกย่องซึ่งกันและกัน” โดยเธอเสนอให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทั้งจากการปรับความเชื่อตั้งแต่สถาบันครอบครัว ไปจนสถาบันสื่อมวลชน
อ้างอิงข้อมูลจาก