One is not born, but rather become, a woman
- Simone de Beauvoir
ผู้หญิง ไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิง แต่กลายมาเป็นผู้หญิง
- ซีโมน เดอ โบวัวร์
นิทานกับความฝันของเด็กหญิง
บางที เราอาจจะรู้สึกว่า ‘นิทาน’ หรือการ์ตูน มันเป็นแค่เรื่องของเด็กๆ โดยไอ้ในนัยของคำว่า ‘เด็กๆ’ เลยแฝง ‘ความไม่สลักสำคัญ’ ไว้ (พูดอย่างชิคๆ คือมันไม่ Matter อะ)
แล้ว…ถ้าเราจะพูดถึงความฝันล่ะ Matter มั้ย? หรือถ้าพูดถึงตัวตน หรือจินตนาการเกี่ยวกับตัวเองล่ะ Matter รึเปล่า
แล้วเฟมินิสต์ ที่ฟังดูเหมือนว่า ทุกวันนี้ชายหญิงก็เท่าเทียมกันดีแล้ว มีแต่จะค่อนแคะกันซะอีกว่าบางทีก็เรียกร้องอะไรกันมากไป เช่น เรียกร้องที่นั่งบน BTS ด้วยการถ่ายรูปมาลงพันทิปกันบ่อยๆ ไหนบอกว่าเท่าเทียมไง เวลาเกณฑ์ทหารทำไมเกณฑ์แต่ผู้ชาย ในนัยประมาณนี้มันเลยเหมือนว่าสิทธิสตรีเป็นเรื่องที่เกินความเท่าเทียมไปแล้ว ก็เลยสรุปแบบลวกๆ ไปเลยได้ว่า ชายหญิงมีความเท่าเทียมกันแล้วนี่ไง ที่เหลือคือเรื่องจุกจิก เป็นความล้นเกิน คำว่าเฟมินิสต์เลยดูอ่อนกำลังลง ไม่ค่อยมีใครอยากเป็นเฟมินิสต์อีกแล้ว เวลาพูดเรื่องสิทธิสตรีหรือความเท่าเทียมก็จะมีความรู้สึกเชยนิดๆ ติดมาด้วย
กลับไปที่ประโยคงงๆ ของคุณป้า ซีโมน เดอ โบวัวร์ ถึงจะฟังดูงง แต่จริงๆ แล้วเป็นประโยคที่สำคัญมากๆ โดยเฉพาะในกระแสของเฟมินิสต์ คือคุณป้าเขียนประโยคนี้ไว้ในหนังสือชื่อ The Second Sex (1949) ซึ่งเน้นว่าผู้หญิงเป็นเพียงเพศลำดับที่ 2 และไอ้ที่บอกว่า ‘กลายมาเป็นผู้หญิง’ ก็หมายถึงการเป็น ‘เพศหญิง’ มันไม่ใช่แค่เรื่องทางกายภาพอย่างเดียว แต่ผู้หญิงถูกสังคมคาดหวัง บังคับ และกะเกณฑ์ให้กลายมาเป็นผู้หญิงอย่างที่เป็นกันอยู่
ความฝันที่ถูกวาดไว้อย่างสวยงาม ยิ่งใหญ่ เด็กหญิงทั้งหลายได้ฝันและวาดภาพตัวเองในความฝันนั้นตาม จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กหญิง ‘กลายมาเป็น’ ผู้หญิง
สำหรับเด็กหญิงน้อยๆ จะมีฝันอะไรชัดเจนและสวยงามเกินเจ้าหญิงดิสนีย์และเรื่องราวแสนหวานของคุณเธอทั้งหลายอีกล่ะ
เมื่อเจ้าหญิงดิสนีย์เปลี่ยนไป ด้วยพลังเพื่อนหญิงพลังหญิง
ลองนึกภาพคุณลักษณะและบทบาทของเจ้าหญิงในนิทาน ปลายทางของนิทานที่มักสิ้นสุดลงด้วยคำว่าแล้วทั้งคู่ก็มีความสุขไปตราบชั่วนิรันดร์ ซึ่งไอ้ความสุขชั่วนิรันดร์มันก็คือการที่เจ้าหญิงได้ลงเอยกับเจ้าชาย เหมือนกับละครไทยที่ปลายทางคือการที่นางเอกได้แต่งงานกับพระเอก และมีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ไปจนตาย (เรื่องจริงมีที่ไหน)
ดังนั้น ความฝันที่โบราณที่สุดและยังสถิตอยู่ในสังคมไทย คือความคาดหวังว่าเมื่อไหร่จะแต่งงาน เพราะการแต่งงานคือสัญลักษณ์ของชีวิตที่สมบูรณ์แบบ สาวโสดทั้งหลายเลยต้องปวดหัวกับการตอบคำถามน่าเจ็บปวดใจ และรวมไปถึงความพยายามอันสูญเปล่าในการไขว่คว้าหาเจ้าชายมาเติมเต็มให้กับชีวิตที่เว้าแหว่ง
ดิสนีย์เองก็ถูกโจมตีอย่างหนักจากนักวิจารณ์สายเฟมินิสต์ ที่วิพากษ์วิจารณ์การนำเสนอภาพของเจ้าหญิงที่ทำให้เกิดอคติทางเพศให้กับเด็กๆ The Guardian รายงานเกี่ยวกับเจ้าหญิงดิสนีย์ที่แกร่งขึ้นว่าเกิดจากการปรับตัวของดิสนีย์เอง ทั้งจากการที่บุคลากรในดิสนีย์เองที่มีความคิดก้าวหน้า และการปรับตัวตามคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ เช่น บทความ What’s Wrong With Cinderella? ที่โวยความแหววและความบ้าคลั่งอันเป็นบรรทัดฐานของความเป็นเจ้าหญิงที่ดิสนีย์ได้ตั้งไว้
สิ่งที่เจ๋งคือ บุคลากรของดิสนีย์เองที่ให้ความสำคัญกับมิติเชิงวัฒนธรรม และมองเห็นว่าผลิตภัณฑ์ของตนเองสุดท้ายแล้วมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่บริโภคมัน สำนึกในทำนองนี้ดูจะเรียกได้ว่ามีสำนึกต่อสังคมและมีความสำคัญมากกว่าการออกไปปลูกป่าชายเลนแล้วถ่ายรูปติดบนฟิวเจอร์บอร์ดสีสดหรือลงในรายงานเล่มหนา ปกกระดาษอาร์ตมันในรายงานประจำปี
ผลก็คือ เจ้าหญิงดิสนีย์จึงมีพัฒนาการความกล้าแกร่งขึ้นมาตามลำดับ (ดูรายงานเกี่ยวกับกระแสเฟมินิสต์และพัฒนาการของเจ้าหญิง) จากยุค ‘ตัวแม่ทั้ง 3’ คือเจ้าหญิงนิทรา สโนว์ไวท์และซินเดอร์เรลล่า เจ้าหญิงยุคคลาสสิคทีมนี้ถูกวาดให้เป็นผู้หญิ้ง ผู้หญิง ทำอะไรไม่ค่อยได้นอกจากความสวย มีความอ่อนโยน โครงเรื่องคือมักง่อยกินและรอผู้ชายมาช่วย เจ้าหญิงนิทรานี่หนักเลย ตื่นมาอีกทีมีสามีเลย
แฮปปี้ มีความสุข
หลังจากนั้นคือยุคที่เจ้าหญิงเริ่ม ‘มีอะไร’ มากขึ้น เช่น แอร์เรียลเงือกน้อยผมแดงก็มีลักษณะที่หัวดื้อและทำตามใจตัวเอง เบล จาก Beauty and The Beast นอกจากจะสวยแล้วยังฉลาด เป็นตัวของตัวเอง หรือที่ชัดเจนคือมู่หลาน ที่มีความกล้าหาญไม่ต่างจากผู้ชาย แต่เรื่องราวเจ้าหญิงชุดหลังก็ยังผูกติดกับความฝันสุดท้ายที่จะต้องจบลงด้วยการแต่งงาน
ส่วนเจ้าหญิงชุดสุดท้ายที่แสนจะโด่งดังเช่น เอลซ่าจาก Frozen หรือ เมอร์ริดา จาก Brave ที่ไม่ใช่แค่กล้าแกร่งทรงอำนาจ แต่ปลายทาง (ซึ่งก็หมายความว่าคือความสุข) ของเจ้าหญิงทั้งสองไม่ได้พูดถึงความสัมพันธ์กับผู้ชายอีกต่อไป สารในมิติของความสัมพันธ์ของผู้หญิงมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น การพูดถึงความสัมพันธ์ของพี่น้องผู้หญิงของเอลซ่า หรือความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาวใน Brave ภาพของเจ้าหญิงดิสนีย์จึงมีมิติของตัวตนที่เข้มแข็งขึ้น และมีความสัมพันธ์ที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้ชายเป็นศูนย์กลางอีกต่อไป