“เราบอกที่ค่ายว่าเราอยากโกอินเตอร์ ตอนที่พูดคำนี้ไป ก็มองแค่ว่าเราจะต้องก้าวหน้าทางอาชีพ เราอยากจะไปอยู่ตรงนั้น แต่เราก็ลืมคิดไปว่าทักษะเราแค่ไหน ต้องฝึกอีกมากแค่ไหน แล้วต้องเจอกับอะไรบ้าง”
นี่คือคำสารภาพของ ‘นัททิว‘ หรือ ‘ณัฏฐ์ ทิวไผ่งาม’ ผู้ชนะจากเวทีประกวด Academy Fantasia ซีซั่น 5 เมื่อเราเอ่ยถามถึงประสบการณ์ที่เขาได้ไปทำงานในฐานะศิลปินแลกเปลี่ยนที่ประเทศเกาหลีใต้ การได้ไปว่ายวนอยู่ในกระแส K-Pop อันโด่งดัง ได้เห็นเบื้องหลังเวทีหรือ MV ที่เนรมิตขึ้นด้วยโปรดักต์ชั่นขนาดใหญ่ รวมถึงได้ไปเฉียดใกล้กับศิลปินเกาหลีหลายวงที่หลายคนชื่นชอบ ทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ทั้งที่คาดหวังและไม่คาดคิด
The MATTER ชวน ‘นัททิว’ ย้อนกลับไปคุยถึงการทำงานในวงการบันเทิงของเกาหลี สิ่งที่เขาได้พบเจอและเรียนรู้ตลอดเวลาอยู่ที่นั่น มาจนถึงการกลับมาเป็นศิลปินที่ไทย และมุมมองต่อวงการนักร้องของไทยในทุกวันนี้
การทำงานเป็นศิลปินที่ไทยกับเกาหลีมีความแตกต่างอะไรไหม
ถ้าพูดถึงสิ่งที่เราต้องทำมันก็เหมือนเดิมนะ ร้องเพลง อัดเสียง ฝึกซ้อม แล้วก็โชว์ต่างๆ แต่ว่าวิธีการที่ค่ายที่เกาหลีดูแลเราจะค่อนข้างต่าง เราอยู่ที่ไทย เราอาจจะต้องดูแลตัวเอง ขับรถไปไหนมาไหนเอง อยากเรียนอะไรเพิ่มก็ต้องสมัครเรียนเอง อยากจะฟิตหุ่น อยากจะทำหน้าให้ใส เป็นเรื่องที่ศิลปินต้องดูแลตัวเอง ค่ายเพลงแต่ละค่ายจะซัพพอร์ตเราบางช่วง หลังจากนั้นเราต้องเติมเอง ยิ่งเราเติมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสมากเท่านั้น
แต่ที่เกาหลีเขาจัดให้เราทุกอย่าง เรียนร้องเรียนเต้น หรือแม้กระทั่งไปฟิตเนสไปสกินแคร์ เขาลงตารางให้เราเลยว่า จะต้องทำอะไรเวลาไหนบ้าง เวลาไปไหนมาไหนก็จะมีรถรับส่ง เหมือนในซีรีส์เกาหลีน่ะ ที่เห็นว่าเขาจะต้องขึ้นรถคันนึง ที่จะมีคนนั่งไปกับเขาประมาณ 3-4 คน ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ช่างหน้า ช่างผม ดูมีคนรายล้อมเยอะๆ มันอาจจะเป็นภาพที่คนไทยบางคนอาจจะบอกว่าเว่อร์ แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่เขาทำกันเป็นปกตินะ
เหมือนเขาวางลักษณะของอาชีพนี้เป็นแบบนี้ มองว่าสิ่งที่จำเป็นสำหรับนักร้องหรือนักแสดงก็คือหน้าผม และการจัดการเรื่องคิว ก็มีทุกคนที่ดูแลเรื่องเหล่านั้นมาประกบ เขามองเป็นเรื่องปกติ เขาไม่ได้คิดว่าทำแบบนี้คือเป๊ะ เขาเป๊ะโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว
หลายคนมองว่าคนเกาหลีหรือแม้แต่คนต่างชาติเองจะ ‘เครซี่’ ศิลปินเกาหลีมาก จริงๆ แล้วสถานภาพของศิลปินในเกาหลีเป็นยังไง
ต้องเข้าใจว่าอาชีพนี้ของเขามันแตะต้องยากกว่าเราเยอะ นักร้องนักแสดงของไทยนี่ เดี๋ยวเดินห้างก็เจอแล้ว หรือว่าสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า แล้วด้วยความที่คนไทยเป็นไนซ์ๆ เจอคนมาทัก มาขอถ่ายรูป เราก็ยิ้มให้ เข้าถึงได้ง่าย นี่คือสิ่งที่เราเป็น เราถูกสอนมาแบบนี้ ให้เป็นคนไนซ์
จริงๆ คนเกาหลีก็ไนซ์นะ แต่ว่าเข้าถึงยากเพราะบริษัท ที่มีข้อจำกัดสำหรับศิลปินว่าทำอะไรได้มากขนาดไหน ห้ามทำอะไรบ้าง ก็เลยเข้าถึงยาก คนเกาหลีที่เป็นแฟนๆ เห็นคนนี้แต่ในทีวี หล่อมาก ร้องเพลงดีมาก เต้นดีมาก แต่ไม่มีโอกาสได้เจอตัวจริงเลย พอได้เจอตัวจริง เขาเลยรู้สึกว่าอยากเข้าหา อยากถ่ายรูป โห ได้เห็นของจริง เราว่ามันเป็นความเครซี่ที่มีที่มาที่ไป
รวมถึงตัวดารานักร้องเอง เท่าที่เราเห็น ก็ไม่เคยเห็นว่ามีนักร้องเกาหลีคนไหนร้องเพลงไม่ดี เต้นไม่ดี หรือว่ามีนักแสดงคนไหนที่ไม่สามารถเข้าถึงบทบาทได้ ความสามารถเขาก็ถึงขั้นเหมาะสมที่จะมีคนเครซี่และชื่นชมอยู่แล้ว
แล้วการที่ได้ไปอยู่ในสถานะนั้น ทำงานตรงนั้น ต้องเจอกับความกดดันอะไรบ้าง
กดดันมากครับ กดดันสุดๆ ต้องยอมรับว่าที่เมืองไทย เรามาจากเวทีประกวดที่ตัดสินโดยคะแนนโหวต คนดูที่ชอบเรา เขาอาจจะไม่ได้ชอบเพราะนัททิวเป็นคนร้องเพลงเก่งมาก เต้นแข็งแรงมาก แต่เขาชอบความเป็นตัวตนของเรา เขาชอบที่เราเป็นแบบนี้ พูดจาแบบนี้ ตอบคำถามแบบนี้ ร้องเพลงสไตล์นี้ และโหวตให้เรา เพราะฉะนั้นมันก็เหมือนเรามีจุดสตาร์ทที่เกิดมาพร้อมการยอมรับ ทุกคนยอมรับนัททิวแบบนี้ แล้วก็มาเป็นศิลปินต่อ คนเสพเราเพราะเขายอมรับเราแล้ว
แต่พอเราไปอยู่ที่เกาหลี เราไม่ได้มาจากอะไรแบบนี้ คนไม่ได้มารับรู้ว่า อ๋อ นัททิวเป็นคนมุมานะ อุตสาหะ พยายาม เขามารับรู้แค่หน้าเวทีว่าร้องดีไหม เต้นดีหรือเปล่า หน้าตาเป็นยังไง คอนเซ็ปต์เป็นยังไง เพราะฉะนั้นความกดดันมันก็เลยเกิด เรารู้ว่ามันไม่ง่าย เมื่อตอนอยู่ไทยเราก็ไม่ได้บอกว่ามันง่าย แต่เรามีจุดสตาร์ทที่ได้เปรียบ
เรากดดันว่าเราจะต้องผลักดันตัวเองขนาดไหน ต้องซ้อมเยอะขนาดไหน แล้วที่สำคัญมากคือเรื่องภาษาและวัฒนธรรม เพราะเวลาให้สัมภาษณ์เป็นภาษาไทย เราสามารถพูดได้คล่อง แต่พอเป็นภาษาเกาหลี เราไม่สามารถทำแบบนี้ได้ มันก็เป็นความยากอีกว่า ถ้าไปออกรายการสัมภาษณ์บางรายการ ก็ต้องมีล่าม แต่ทางรายการเขาอยากให้นัททิวพูดเอง ก็จะมีความกดดันแบบนี้เกิดขึ้น
อีกเรื่องคือเวลาเราอยู่ที่ไทย เราเรียนอะไรก็แล้วแต่ ครูจะใจดี จะปลอบว่าไหวไหม ไม่ไหวพักก่อนไหม หิวข้าวกินข้าวก่อน แต่ที่เกาหลีธรรมชาติไม่เหมือนกัน เราหิวข้าวหิวน้ำ แต่ถ้ามันเป็นเวลาที่เราควรจะสแตนด์บาย เราก็ไม่สามารถไปบอกว่าขอเวลาเดี๋ยวครับ เราจะต้องจัดการตัวเองตามเวลาให้ได้ มันก็เลยเกิดความกดดัน เพราะเราต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราทำมาตลอดที่เมืองไทย
มีเหตุการณ์อะไรที่รู้สึกว่าเป็นจุดพีคหรือจุดเปลี่ยนสำคัญระหว่างการไปทำงานที่เกาหลีไหม
ไปอยู่ที่นั่นสักพัก เราก็เจอกับความจริงที่ว่า กว่าจะไปถึงจุดที่เราอยากเป็น อยากทำให้ได้ มันเหนื่อยมาก ต้องเรียน ต้องพยายามมาก มีจุดที่เราถามตัวเองเลยนะว่า คิดถูกไหมวะ ไม่ไหวแล้วนะ
แต่มีวันนึงที่ฮึดขึ้นมาได้ เพราะว่าครูสอนร้องเพลงคนนึง เขาสอนนักร้อนมาหลายคนมาก แล้วเขาก็ค่อนข้างโหด วันนั้นจำได้ว่าร้องเท่าไหร่ก็ไม่ดี สำเนียงไม่ได้ ร้องไปนิดนึงเขาก็สั่งให้หยุด ร้องไปอีกนิดเขาก็สั่งให้หยุด เป็นอย่างนี้สักพัก มันกดดันมากจนเราไม่ไหว ร้องไห้โฮในชั้นเรียนนั้นเลย ตอนนั้นทุกอย่างนิ่งหมด แต่นัททิวร้องไห้ ร้องๆๆๆ แล้วก็เดินไปหลบอยู่มุมหนึ่ง
สิ่งที่ครูทำคือเรียกเรามานั่ง แล้วถามว่าร้องไห้ทำไม เราก็บอกว่าเรารู้สึกเจ็บใจที่เราทำไม่ได้ เขาถามเราอีกว่าทำไมถึงอยากร้องเพลงให้ได้ดี เราก็บอกว่าเพราะเรามีความสุขกับมัน แล้วเขาก็บอกว่าแต่ตอนนี้เราไม่มีความสุขนะ อย่ากดดันตัวเองด้วยอะไรแบบนี้ ถ้าเริ่มต้นจากอยากร้องเพลงให้มีความสุข ก็ต้องเริ่มต้นที่ความสุขสิ ต้องเรียนรู้ที่จะมีความสุขกับการพัฒนาตัวเอง
แล้วครูก็ให้เราทำแบบฝึกหัด เป็นแบบฝึกหัดพ่นลมหายใจ หายใจเข้าไปให้เต็มท้อง แล้วก็พ่นลมออกมาพร้อมกับจับเวลา ตอนนั้นเราทำได้ประมาณ 40 วินาทีกว่าๆ ทำอยู่หลายครั้ง สุดท้ายครูก็ตั้งนาฬิกาไว้ แล้วบอกเราว่าให้ทำให้ได้ 50 วินาทีถึงจะสอนต่อ โห ตอนนั้นเราก็กดดันนะ ไม่เคยเรียนร้องเพลงโหดขนาดนี้มาก่อนเลยในชีวิต แต่ตอนนั้นรู้สึกว่าต้องทำให้ได้ เราคิดทุกวิธีเลยนะที่จะทำให้ได้ พอทำไปถึง 40 วินาทีกว่าๆ รู้สึกว่าใกล้ตายแล้วนะ แต่มองนาฬิกาเห็นว่ามันยังไม่แตะเลข 5 เราก็เลยพยายามจนได้ 53 วินาที ครูก็บอกว่า ที่ทำไม่ได้เมื่อก่อน สุดท้ายก็ทำได้ เพราะฉะนั้นที่กำลังเจ็บใจว่าทำไมทำไม่ได้ ก็จะมีวันที่ทำได้แบบนี้แหละ จากนี้ก็บอกตัวเองไว้ตลอดนะว่าเธอเป็น ‘50-second boy’
พอกลับมาที่ไทย เวลามีงานด่วนอีกสองวันให้ไปร้องเพลงนั้นเพลงนี้ เมื่อก่อนจะงอแงว่าจำเนื้อไม่ได้ ซ้อมไม่ทัน เตรียมตัวไม่ไหว แต่หลังกลับมาก็เปลี่ยนเป็นบอกตัวเองว่า เฮ้ย ลอง! แล้วสุดท้ายก็ทำได้ ด้วยความรู้สึกว่า เราทำได้ เราทำได้ เราทำได้ เราก็จะทำได้
สภาวะกดดันแบบนั้นทำให้เราเจอกับภาวะเครียดหรือซึมเศร้าแบบศิลปินหลายๆ คนบ้างไหม
เครียดนะ เครียดกว่าตอนอยู่ที่ไทย เพราะมีอะไรหลายๆ อย่างกดดันมากกว่า และด้วยธรรมชาติของคนไทย มันทำให้การทำงานมันยิ้มต่อได้ ทีมงานกับเรามีความประนีประนอมมากพอจะมาเจอกันตรงกลางได้ แต่ที่เกาหลีเหมือนจะมีเส้นที่ทุกคนต้องทำตาม แล้วถ้าทำไม่ได้ขึ้นมาจะทำยังไง
เราก็บอกไม่ได้นะว่าแต่ละคนเครียดกันในระดับไหน แล้วก็คงไม่ถึงขนาดจะสามารถตบบ่าแล้วบอกว่าเข้าใจมากได้ เพราะเราก็ไม่ได้อยู่กับเขาตรงนั้น เราไม่ได้เห็นมุมแวดล้อมอื่นของเขานอกจากการทำงาน สิ่งที่เราเห็นคือด้านธุรกิจ ด้านบันเทิง แต่เอาเฉพาะแค่มุมนั้นที่เราเจอ เราก็รู้ว่ามันเครียด
คนเกาหลีทุกคนเก่ง การแข่งขันมันสูง เขาเลยรู้สึกว่าเขาจะต้องเก่ง สมมติว่าในวงมี 5 คน เราไม่เก่ง แล้วเพื่อนเราเก่งมาก เวลาเพลงแต่งออกมา ท่อนเด่นก็ไปอยู่กับเพื่อน ท่อนง่ายก็อยู่กับเรา เราก็ต้องพยายามถีบตัวเองให้ดีขึ้น นี่แค่ในวงนะ แล้ววงอื่นอีกล่ะ แล้วจริงๆ ไม่ใช่แค่วงการบันเทิงนะ ไม่ว่าจะเรื่องของธุรกิจหรือกีฬา คนเกาหลีเขาก็แข่งขันกันทั้งนั้น เขาจะต้องเป็นที่สุด เขาต้องเป็นแบบนั้น แล้ววันที่เขาทำไม่ได้ตามความคาดหวังของตัวเองและคนอื่น วันที่เขาจัดการกับสิ่งเหล่านี้ไม่ไหวจริงๆ เขาอาจจะเลือกหนทางแบบที่เราเห็นข่าวกัน มันเป็นไปได้เพราะสภาพแวดล้อมค่อนข้างเข้มงวด
สิ่งที่ชอบที่สุดจากการได้ไปทำงานที่เกาหลีคืออะไร
เราชอบที่ได้เรียน เราไปด้วยความรู้สึกว่าเราอยากได้ประสบการณ์ พอเราไปแล้วเราได้ประสบการณ์จริงๆ เราก็รู้สึกว่าเราได้ในสิ่งที่อยากได้ แล้วคนเกาหลีเขาสอนแบบจะให้เราทำให้ได้ ธรรมชาติคนไทยใจดี กลัวเราเหนื่อย ก็จะออกแนวว่าวันนี้พอแค่นี้ก่อน หรือทำไม่ได้ไม่เป็นไร แต่ที่เกาหลีคือต้องซ้อมต้องฝึกจนทำได้ แล้วในบทบาทของการเรียนรู้ ครูก็จะไม่ช่วยปรับบทเรียนให้มันง่ายนะ แต่เขาจะบอกว่าวิธีการที่เราจะไปถึงจุดนั้นได้คืออะไร ทำแบบนี้ ซ้อมแบบนี้ ทุกวันต้องทำอะไรกี่นาที แล้วมันทำให้เราพัฒนาความสามารถเรา
ตอนนั้นมันอาจจะยากลำบากนะ เราซ้อมเต้นจนเดินขึ้นบันไดไม่ได้ เดินลงบันไดไม่ไหว แต่ผลลัพธ์ที่ได้มันสุดยอด แล้วเวลาเรากลับมาที่เมืองไทย ก็มีคนบอกว่าเราร้องเพลงแข็งแรง เต้นนายแข็งแรงขึ้น หรือทำได้ดีขึ้นในบทบาทยากๆ ของละครเวที เราก็รู้สึกชอบมาก
อีกอย่างที่ชอบคือเรื่องวินัย เขาทำให้เรารู้สึกว่าการมีวินัยไม่ใช่เรื่องดีน่ายกย่อง แต่เป็นเรื่องปกติ
คนไทยเรานะ คนไหนเป็นคนมีวินัยเราจะปรบมือให้ ยกย่องมาก เพราะคนส่วนมากไม่เป็นแบบนี้ แต่พอที่เกาหลีทุกคนข้างๆ เรามีวินัยในการใช้ชีวิตการทำงานร่วมกัน ให้เกียรติคนอื่นว่าเขารอเรานะ พอเรากลับมาที่ไทย ข้อนี้เลยเป็นข้อดีที่ได้ติดตัวมา เราจะบอกตัวเองเสมอว่าการมีวินัยเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ว่าวันนี้เรามีวินัย แล้วเราจะได้รอรับคำชม ถ้าคนจะชมเพราะเรามีวินัยให้เขาชมเราเอง แต่วันนี้เราทำของเราให้ดีไปเถอะ
ถ้าบอกว่าการมีวินัยเป็นเรื่องปกติ ที่เมืองไทยควรจะฝึกให้เกิดวินัยแบบเกาหลีบ้างไหม
ฝึกได้ แต่คิดว่าคงต้องใช้เวลานานมาก ถ้าถามว่าวันนี้เลยได้ไหม ไม่น่าจะได้ ไม่ได้บอกว่าคนไทยเป็นคนนิสัยไม่ดีนะ แต่คนไทยเป็นคนยืดหยุ่น แล้วบางทีคำว่ายืดหยุ่นนี่แหละ ที่ทำให้วินัยมันหย่อน จริงๆ มาเจอกันตรงกลางดีนะ ทุกคนยังมีความยืดหยุ่นในใจ แต่ว่าเรารับผิดชอบตัวเองให้ได้ เพราะเราเคยเจอทั้งมุมที่สบายใจมากแต่ว่าวินัยไม่มี กับมุมที่วินัยเยอะมากแต่รู้สึกตึงเครียด เราว่ามันสุดเกินไปทั้งสองอย่าง ก็เลยมองว่าถ้าเจอกันตรงกลางได้จะดี
ตอนนี้ที่เกาหลี ยังมีพื้นที่ให้ศิลปินไทยได้โกอินเตอร์อยู่ไหม
มีนะ แต่อย่างที่เราไป มันเป็นโปรเจ็กต์ร่วมระหว่างองค์กร ไม่รู้ว่าจะมีองค์กรไหนริเริ่มแบบนี้อีกไหม แต่สมมติว่าวันนี้มีน้องคนหนึ่งบอกว่าอยากไปเดบิวต์เป็นศิลปินที่เกาหลี ต้องทำยังไง มีโอกาสไหม เราก็จะตอบว่ามีนะ มีโอกาส แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนเลยว่ามันจะเหนื่อยมาก
ศิลปินเกาหลีทุกคนให้ความสำคัญกับอาชีพของตัวเองเป็นอันดับหนึ่ง เขาพร้อมจะพลีทุกอย่าง ยอมสละเวลาซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในชีวิต ให้เวลาในชีวิตกับการฝึกฝน โดยไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะดังมากไหม แต่เขาก็ลงเวลาเขาหมดเลย ถ้ายอมรับตรงนี้ได้ ก็ไปได้ เพราะที่เกาหลีก็มีค่ายเพลงที่เขาอยากได้คนที่อยากจะให้เวลาเขา มีรายการออดิชั่นเยอะมาก มันมีหนทางอยู่ แล้วเขาก็ยินดีต้อนรับคนไทย เพราะคนไทยหลายคนก็ทำให้เห็นแล้วว่าไปได้และทำได้
แล้ววงการนักร้องของไทยล่ะเป็นยังไงบ้าง อย่างกระแสไอดอลที่กำลังมาแรงในตอนนี้
เยส! ไอดอล นักร้อง กลับมาแล้ว (หัวเราะ) รู้สึกแฮปปี้ครับ อันนี้พูดจากมุมมองคนที่ทำงานในแวดวงเดียวกัน เราชื่นชมที่น้องๆ ทำให้แวดวงอาชีพนี้บูมขึ้นมา รู้สึกขอบคุณและยินดีกับเขามาก สิ่งที่ชอบสำหรับ BNK48 คือเรารู้สึกว่าผลงานที่ทำออกมามันผ่านกระบวนการคิดมาเยอะมาก ไม่ใช่แค่นักร้องนะ แต่ทั้งโปรดิวเซอร์กับที่คนทำงานโดยรอบ เขาต้องทำงานหนักมาก เราพอรู้ว่าการที่ต้องทำงานกับต่างประเทศมันจะมีเรื่องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์นู่นนี่เยอะมาก แล้วการจะร้องหรือจะเต้นบนเวทีได้ก็ต้องฝึก เพราะฉะนั้นคนที่ทุ่มเทเวลาให้กับการฝึก ให้กับการทำงาน การมีความฝันแล้วทำมันอย่างเต็มที่ แล้ววันนี้ประสบความสำเร็จ มันคือเราเป็นหมอที่รักษาคนไข้หาย เราเป็นครูที่เห็นลูกศิษย์สอบเข้ามหาลัยดีๆ ได้ แล้วเราก็เป็นนักร้องที่มีเพลงดัง มันคือความสำเร็จที่น่าชื่นชมและยินดีด้วยมากๆ
อีกสิ่งที่อยู่คู่กับศิลปินและแฟนคลับคือ ‘วัฒนธรรมการเปย์’ ที่เกิดขึ้น ในฐานะศิลปินมองยังไงกับเรื่องนี้
คิดว่าเป็นเรื่องปกตินะ เรามองว่ามันเป็นธรรมชาติของคน เวลาเราชอบใครสักคน เราก็อยากให้ของขวัญเขา เอาแบบที่ตัดคำว่าศิลปินและแฟนคลับออกไปเลยนะ แล้วมองว่าถ้ามีคนหนึ่งที่เราชอบ เราก็อยากให้ของขวัญเขาเป็นปกติอยู่แล้ว เราว่ามันอาจจะไม่ถึงกับเป็นวัฒนธรรมหรอก แต่เป็นเรื่องที่คนอยากทำให้กันมากกว่า
แต่ถ้าความปกติที่เราทำให้กันมันมากเกินไป ก็ไม่น่าจะส่งผลดีกับตัวคนให้ อย่างตอนเราอยู่ในเวทีประกวด ก็จะมีแฟนคลับกลุ่มที่ยังไม่ได้ทำงาน แต่อยากจะซื้อของขวัญให้ การที่ซื้อของขวัญให้เราเป็นลูกอมเม็ดนึงก็พอแล้วนะสำหรับเรา แต่เราเข้าใจว่าในสังคมเขา อีกคนนึงถือถุงแบรนด์เนมมาให้ เขาก็อาจจะรู้สึกว่าของขวัญที่เขาเตรียมมาให้มันน้อย ซึ่งเขาก็จะต้องจัดการกับความรู้สึกแบบนี้ด้วยตัวเอง ในฐานะศิลปิน เราพูดให้เขาฟังได้ ว่าไม่ต้องขนาดนี้ แต่ตัวเขาเองก็ต้องเรียนรู้นะว่า เฮ้ย มันเยอะไปไหม เพราะสุดท้ายแล้วศิลปินอยากให้คนชื่นชมผลงาน เราไม่ได้อยากได้ของอะไร เราอยากให้เขาชอบเราร้องเพลง ชอบเราแสดงมากกว่า
แล้วนัททิวเคย ‘เปย์’ ใครหรือเปล่า
เมื่อก่อนก็เป็นเยอะ (ยิ้มเขิน) เราถึงบอกว่าเราเข้าใจไง เราเคยชื่นชอบศิลปินรุ่นพี่บางคน เขียนจดหมายหาเขา ไปคอนเสิร์ตก็ทำของขวัญให้เขา เราเลยเข้าใจว่าเวลาเราชื่นชมหรือชอบใคร เราก็อยากจะให้ของขวัญเขา แล้วก็มีช่วงบ้าแทยอนอยู่ช่วงนึง คุยกับเพื่อนที่เป็นแฟนคลับเกิร์ลเจนก็จะยาวมาก แต่เราส่งของขวัญให้เขาไม่ไหว แต่เราเข้าใจเลยนะว่าทำไมเวลาศิลปินต่างประเทศมาเมืองไทย คนถึงไปรอที่สนามบินเยอะขนาดนั้น เพราะเราเองก็เป็น รู้สึกว่าเราไม่เคยเจอเขา เห็นแต่รูปเขา เขามาถึงที่นี่แล้ว ก็อยากจะไปเห็นกับตา จริงๆ เราก็แค่อยากไปให้เขารู้ว่า ชอบนะ
แต่พอเป็นนักร้องก็ไม่ค่อยได้มีโอกาส อย่างแรกเลยคือติดงาน อีกอย่างคือเราเริ่มมองว่าเขาเป็นรุ่นพี่ ความชื่นชอบมันเปลี่ยนไป อารมณ์ติ่งมันก็ยังมีนะ แต่มันอาจจะเป็นเพราะว่าพอเราเป็นคนในวงการปุ๊บ มันเหมือนเราอยู่ในแวดวงเดียวกัน การเข้าถึงพวกเขาเหล่านี้ไม่ยากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว
อีกสิ่งหนึ่งซึ่งทั้งเป็นยาดีและอาวุธร้ายสำหรับศิลปินคือโซเชียลมีเดีย มองเครื่องมือชิ้นนี้ยังไง
เรามองว่าคนที่อยู่หน้าแป้นเหล่านั้นอะ ทำไมใจร้ายจัง! เมื่อก่อนตอนที่ไม่มีโซเชียล ถ้าเราจะด่ากัน เราก็ต้องด่ากันต่อหน้า “นิสัยไม่ดี แย่ ไปทำหน้ามาใช่ไหม แอคติ้งไม่ดี ร้องไห้ไม่ได้” แต่แบบนั้นก็ไม่มีใครกล้า พอมาอยู่หลังคีย์บอร์ด หลังโทรศัพท์ นี่พิมพ์ง่ายเลย แต่ที่เราบอกว่าใจร้ายจังเลย เพราะว่าสิ่งที่เขาทำ เขาใช้เวลาแค่ไม่กี่วินาทีในการพิมพ์และโพสต์ลงไป แต่มันทำร้ายจิตใจคนที่กำลังทุ่มเทมากไปกว่าวินาทีที่เขาใช้เยอะมากนะ เลยรู้สึกว่าทำไมต้องทำร้ายกันขนาดนั้น แต่สุดท้ายแล้วเราก็ห้ามเขาไม่ได้อยู่ดี สิ่งที่เราจัดการได้คือตัวเราเองมากกว่า
เราว่าตอนนี้โซเชียลมันทรงพลังมากจริงๆ มันทำให้คนมีความสุขได้ ทำให้คนอยากตายได้ ทำให้คนรู้สึกอะไรก็ได้ อาจจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องใส่ใจกับมันเยอะๆ หน่อย เมื่อก่อนตอนเด็กๆ เรามีเรียนจริยธรรม แต่ตอนนี้มันอาจจะถึงเวลาแล้วหรือเปล่าที่เราจะต้องมีคลาสเกี่ยวกับโซเชียลโดยตรง หรือกฎหมายโซเชียลอาจจะเป็นกฎหมายพื้นฐานที่คนควรรู้แล้วไหม นอกไปจากสปช. หรือประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เราเรียนๆ กัน