เฝ้ารอดาราที่ชอบถึงที่พัก
วิ่งไล่ตามเซเลปอย่างดุเดือด
ตามติดผลงานอย่างไม่เลิกรา
รวมตัวกันไปทำของที่คนที่พวกเขาชื่นชอบอาจจะไม่เห็นด้วยซ้ำ
เรื่องราวแบบนี้อาจเป็นมุมมองที่สังคมมีต่อ ‘ติ่ง’ เป็นติ่งแล้วแตกต่างกับแฟนคลับอย่างไร ตอนนี้ติ่งเขาใช้ชีวิตกันแบบที่สังคมส่วนใหญ่ตั้งแง่กันหรือเปล่า ลองไปดูคำตอบกัน
รากเหง้าของคำว่า ‘แฟน’ ‘แฟนคลับ’ และ ‘ติ่ง’
รศ. ดร. กาญจนา แก้วเทพ เคยบอกเล่าผ่านรายการ วัฒนธรรมชุบแป้งทอด เกี่ยวกับคำว่า แฟน หรือ Fan นั้นมาจากภาษาอังกฤษ อันเป็นตัวย่อมาจากคำว่า Fanatic ที่แปลว่า บ้าคลั่ง, คลั่งไคล้ (ซึ่งรากศัพท์ของคำมาจากภาษาละตินอีกที) เดิมทีใช้กับกลุ่มคนที่มีความเชื่อทางศาสนาอย่างมากเหลือ ก่อนจะมาใช้นิยามกับกลุ่มการเมือง แล้วมายังกลุ่มศิลปินดารานักร้องในที่สุด
คำว่า แฟน นั้น รศ. ดร. กาญจนา อธิบายไว้ว่าจะเป็นการรักชอบศิลปินของคนเดี่ยวๆ เป็นการส่วนตัว ส่วนคำว่า แฟนคลับ จะเป็นการรวมกันของกลุ่มแฟน ซึ่งเหตุการณ์นี้มาเกิดในช่วงศตวรรษที่ 19-20 ที่สื่อสิ่งพิมพ์แบบหนังสือพิมพ์ได้รับความนิยมมากขึ้นและมีการส่งจดหมายไปคุยกันมากขึ้น จนกลุ่มแฟนๆ สามารถติดต่อกันได้ และการรวมตัวกันจัดกิจกรรมก็เริ่มต้นขึ้น
ยิ่งนานวันเทคโนโลยีพัฒนา กลุ่มแฟนคลับของผลงานบางเรื่องสามารถติดต่อกันได้โดยง่าย ผู้ผลิตสินค้าก็ทำสินค้าที่หลากหลาย จนสุดท้ายจากการรวมกลุ่มของคนที่ชอบสิ่งเดียวกันก็ไปไกลจนกลายเป็นธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ได้ อาทิ Star Wars ที่เดิมเป็นแค่หนังอวกาศที่คนทำยังคิดว่าไม่น่าจะบูมมาก ก็กลายเป็นความคลั่งไคล้ระดับที่ปัจจุบันมีแฟนๆ ที่รอชมกันอยู่ทั่วโลก
ส่วนคำว่า ‘ติ่ง’ ถ้าเอาตามความหมายที่เราพูดถึงในวันนี้คงยังไม่โดนบัญญัติลงพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน ที่พอหาได้เป็น Urbandictionary ที่อธิบายถึงคำว่า ‘ติ่งเกาหลี’ ที่อธิบายไว้อย่างเผ็ดร้อนตามข้อความด้านล่างนี้
“พวกที่คลั่งไคล้ศิลปินหรือดาราเกาหลีเกินหน้าเกินตา รวมไปถึงพวกที่ปกป้องประเทศเกาหลีชนิดที่ว่าใครจะมาว่าอะไรที่เป็นของเกาหลีมันไม่ดีอย่างนู้นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ มักมีพฤติกรรมสุดโต่ง ชอบดูถูกไทย (และประเทศอื่นที่ไม่ใช่เกาหลี) เหมารวมว่าอะไรๆ ก็ของเกาหลีหมด ตรรกะวิบัติ สันดานแย่มาก ชอบป่วนเว็บบอร์ด ก่อดราม่า บอกว่าถ้าไม่ชอบเกาหลีก็อย่ามาใช้ไอ้นู่นไอ้นี่ไอ้นั่น นับได้ว่าตัวอยู่ไทย แต่ใจอยู่เกาหลีเลยทีเดียว”
ถึงจะใช้คำค่อนข้างดุเดือด แต่ถ้าเทียบลักษณะพฤติกรรมโดยคร่าวแล้ว ก็พอจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะ แฟน แฟนคลับ หรือติ่ง ก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในภาวะใกล้กัน คือชอบอะไรบางสิ่งบางอย่างแบบคลั่งไคล้ ถ้าพูดเร็วๆ สภาพของแฟนคลับกับติ่งก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก อาจเป็นแค่การเรียกกลุ่มแฟนคลับกลุ่มใหมjที่สังคมยังไม่คุ้นเสียมากกว่า
ทั้งนี้ถ้าย้อนกลับไปที่ รศ. ดร. กาญจนา ท่านก็ได้ยกคำศัพท์ ‘Aficionados’ อันเป็นศัพท์สเปน ที่แปลว่า ‘ผู้ที่คลั่งไคล้อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอย่างมาก’ ซึ่งก็สอดคล้องกับคำว่า ‘ติ่ง’ ในสภาพสังคมปัจจุบันนี้ หรือถ้าพูดอีกแง่ก็ไม่ต่างจากคำว่า ‘แม่ยก’ ที่ติดตามและรับรู้เรื่องของดารานักร้องคนดังคนไหนที่พวกเขาชื่นชอบกัน ส่วนการจะเปย์เงินหนักๆ หรือจะติดตามนักร้องไปทุกที่ ก็ขึ้นอยู่กับว่า ติ่ง หรือ แม่ยก คนไหนจะพร้อมทุ่มแรงของตนลงไปในด้านใดเสียมากกว่า
ลองคุยมุมมองชีวิตกับเหล่า ‘ติ่ง’
รายการวัฒนธรรมชุบแป้งทอดเคยระบุไว้ว่า การเป็นแฟนคลับ หรือ ติ่ง ควรจะมีคุณสมบัติหลายประการประกอบด้วย ติดตามข้อมูลเบื้องหน้าเบื้องหลังของดาราศิลปินที่ชื่นชอบ เอาข้อมูลมาตีความเมาท์มอยเป็นเรื่องแล้วแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มติ่งกันเอง (หลายครั้งจิ้นกันถูกทางด้วยนะ) มีของสะสมเกี่ยวข้องหรือแต่งตัวตามสไตล์ดาราศิลปินที่ปลื้ม ติดตามดาราศิลปินเท่าที่โอกาสอำนวยพร้อมออพชั่นเสริมบ้างอย่างป้ายไฟ กลายเป็นผู้ผลิตสื่อ คนทำข่าว คนทำของชำร่วย แต่งฟิค คนคิดโปรเจกต์ ฯลฯ และสุดท้ายคือสามารถกลับไปบอกผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าได้ว่า ของที่ทำออกมายังมีปัญหาอย่างไร
วันนี้เราได้มีโอกาสสนทนากับสามคนที่เข้าข่ายติ่ง ที่มีคุณสมบัติข้างบนทุกข้อหรือขาดไปสักข้อหนึ่ง ว่าพวกเขามีมุมมองการใช้ชีวิตกันอย่างไรบ้าง
คนแรกที่เราแวะไปทักทายคือ น. ปัจจุบันทำงานเป็นผู้สร้างเนื้อหาบนโลกออนไลน์ เธอเป็นติ่งนักร้องตะวันตกอยู่หลายกลุ่ม แชร์ข่าวก็ไม่น้อย แต่งฟิคนักร้องที่ชอบก็เคยทำ เธอบอกกับเราการใช้ชีวิตแบบติ่งของเธอก็มีคนไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงชอบวงที่ติ่งขนาดนั้น ซึ่งนั่นก็ทำให้เธอเข้าใจว่าต้องเก็บอาการบ้างเพื่อรักษาบาลานซ์ชีวิตปกติกับความติ่งของเธอ ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังสติหลุดได้หากช่วงนั้นศิลปินที่เธอติ่งและรอคอยมาอัพเดทผลงานอย่างกะทันหัน แม้ว่าจะเป็นเวลางานเธอก็อาจจะมากรี๊ดกร๊าดกันในทวิตเตอร์ก่อนที่เธอจะเข้าโหมดมีสติทำงานต่อ
ข้อเสียอีกข้อที่เธอบอกเราก็คือการเสียเงินค่าคอนเสิร์ต เพราะช่วงหลังวงดนตรีหลายวงมาเปิดการแสดงกันรัวๆ ส่วนเรื่องเครื่องแต่งกายนั้นเธอเซฟเงินด้วยการหาผ่านตลาดวินเทจมากกว่าเลยไม่ค่อยเปลืองเงิน ส่วนผลพลอยได้จากการติ่งของ น. ก็คือได้เรื่องภาษาอังกฤษมาด้วย
ท่านที่สองที่ให้เกียรติมาพูดคุยกันแบบสั้นๆ ก็คือ ว. โปรแกรมเมอร์หนุ่ม ที่ติ่งวงเกาหลีอยู่หลายวง เขาบอกเราว่า ตัวเองใช้ชีวิตส่วนตัวกลมกลืนไปกับความติ่ง ด้วยความที่ว่าเป็นคนที่ฟังเพลง K-Pop อยู่แล้ว เมื่อวงที่เขาติ่งอยู่ยังไม่ได้ออกผลงานใหม่ออกมา ก็ถือโอกาสช่วงนั้นฟังเพลงของวงอื่นๆ แทน ประกอบกับคนรอบตัวเป็นคนฟังเพลงทั้งแนว K-Pop และเพลงอื่นๆ ทำให้ไม่ค่อยมีคนมาต่อว่าเท่าไหร่ ส่วนการไล่ติ่งถึงตัวอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเท่าไหร่นัก เพราะแค่นักร้องที่ชอบเดินทางมาหาถึงต่างบ้านต่างเมือง ว. ก็รู้สึกพึงพอใจมากแล้ว
อีกหนึ่งท่านที่มาตอบชิทแชทกับเรา จ. พนักงานบริษัทต่างชาติ แฟนคลับวง J-Pop ที่นอกจากจะติดตามวงเกิร์ลกรุ๊ปที่เธอชอบอย่างเหนียวแน่น เธอยังเคยเดินทางไปสัมผัสความติ่งถึงประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว เธอบอกกับเราว่าตัวเธออาจจะยังรักษาบาลานซ์ชีวิตธรรมดากับชีวิตติ่งได้ไม่ดีนัก ถึงที่บ้านกับเพื่อนๆ จะเข้าใจดีว่าเธอติ่งอะไร ส่วนเรื่องการทำงานกับเวลาส่วนตัวก็ค่อนข้างเด็ดขาด มีผิดพลาดไปบ้างอย่างเรื่องความรักที่เคยมีปัญหากับแฟนที่เห็นว่าเธอติ่งมากไปจนทำให้เกิดการระหองระแหงขึ้น “ถ้าแยกแยะว่าคนไหนคุยเรื่องติ่งได้ หรือไม่ได้ ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร และอะไรที่มากไปก็ไม่ดีหรอกค่ะ” เธอบอกกับเราเช่นนี้
เราถามทั้งสามคนว่า ถ้าหากคนอื่นมาถามว่า “ทำไมถึงไม่เอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่มีสาระ” ทุกคนตอบกลับมาในทางเดียวกันว่า การติ่งไม่ใช่ชีวิตทั้งหมดของพวกเขา ในเวลาส่วนอื่นพวกเขาก็ยังทำงาน กินข้าว คบหาเพื่อนฝูง หวานแหววกับคนรัก ดังนั้นพวกเขาคงไม่คิดจะตอบโต้อะไรกับคนที่สอบถามในเชิงหาเรื่อง (ท่านหนึ่งบอกกับเราว่า ปลงแล้วกับคนที่มองอะไรผิวเผินเช่นนี้)
แต่ถ้าเป็นการสอบถามในเชิงข้อมูล ทุกคนก็พร้อมจะอธิบายความชอบให้ฟังแบบไม่ปิดบัง เหมือนกับที่พวกเขามาเสวนากับ The MATTER ในวันนี้
แล้วทำไมติ่งถึงดูมีเรื่องเยอะ ?
หลายท่านอาจจะเห็นตามข่าวต่างๆ เช่น ติ่งนักร้องที่มาเปิดตัวห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ในเมืองไทยแสดงความไม่พอใจต่อพิธีกรในงานเปิดตัว กับอีกข่าวที่ติ่งนักร้องวงหนึ่งไม่โอเคกับการที่มีนักร้องไทยมาก็อปปี้เพลง หรือล่าสุดที่มีข่าวดาราชื่อดังคนหนึ่งแอบมีครอบครัวแล้ว เรื่องเหล่านี้บางเรื่องอาจจะดูใหญ่จริงจัง แต่ในขณะบางเรื่องนั้นก็อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นอะไรมากสำหรับหลายๆ คน แต่ทำไมถึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับติ่ง?
ก็ต้องกลับไปดูคุณสมบัติของติ่งที่ค่อนข้างจะติดตามข้อมูลของสิ่งที่พวกเขาชอบอยากหนักหน่วง ถึงขั้นที่สามารถบอกคนผลิตสินค้าได้ว่าทำของชิ้นไหนมาดีหรือไม่ดีพอ ดังนั้นพวกเขาจึงเข้าใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มากกว่าคนที่ไม่ได้ติดตาม และบางครั้งก็เข้าใจว่าการกระทำบางอย่างไม่เหมาะสมกับดาราศิลปินเหล่านั้น (อย่างการเรียกคนต่างชาติด้วยคำที่เหยียดเชื้อชาติ หรือ ดาราต่างชาติอาจจะไม่สามารถทำกิจกรรมบางอย่างแบบที่ดาราไทยทำได้ด้วยเหตุที่วัฒนธรรมแตกต่างกัน) ด้วยเหตุที่ติ่งรู้เรื่องพวกนี้มากกว่า พวกเขาจึงขอเรียกร้องสิทธิให้กับดาราศิลปินที่อาจจะเรียกร้องสิทธิเหล่านั้นด้วยตัวเองไม่ได้ และหลายครั้งการเรียกร้องในเรื่องที่ชาวไทยไม่คุ้นเคยก็ทำให้มันกลายเป็นข่าวที่น่าสนใจสำหรับคนที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน
ในแง่กลับกัน บางครั้งก็อาจเห็นติ่งจำนวนหนึ่งที่อาจออกตัวแรงหรือเรียกร้องจนถูกมองว่าเกินเลย แต่ส่วนใหญ่เท่าที่เราทราบ กลุ่มติ่ง แฟนคลับ แม่ยก ก็มักจะเคลียร์กันเองภายในก่อน แต่ถ้าเป็นเรื่องราวใหญ่โตกันจริงๆ ก็มักจะจบลงตามสมควร มากกว่าที่จะเป็นเรื่องทะเลาะกันไม่จบแบบที่หลายคนคิดว่ากลุ่มคนคลั่งไคล้มักจะเป็นกัน
จะเห็นได้ว่าภาพลักษณ์ของติ่งหรือแฟนคลับในยุคนี้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้เป็นเด็กน้อยแบบที่หลายคนเคยเข้าใจกันอีกแล้ว เพราะตอนนี้ติ่งส่วนมากล้วนตั้งใจกับสิ่งที่ตัวเองทำในชีวิตปกติมากขึ้น ทำงานหนักบ้าง เรียกหนักบ้าง ดูแลครอบครัวบ้าง ก่อนที่จะใช้เวลาว่างที่เหมาะสมในการระเบิดความคลั่งไคล้กันตามสมควรเป็นการผ่อนคลายจากเหตุการณ์อื่นๆ ในชีวิต
เพราะแต่ละคนย่อมมีสิ่งที่ชอบแตกต่างกันไป การไปดูถูกความชอบของใครคงไม่ใช่เรื่องดีเหมือนกัน ไม่ว่าจะเรื่องก็ต้องใช้เวลาให้พอเหมาะพอควรนะครับทุกๆ ท่าน
อ้างอิงข้อมูลจาก
วัฒนธรรมชุบแป้งทอด ตอน แรงติ่ง