ในออฟฟิศมักจะมีสักคนหนึ่งที่เป็นที่รักของเพื่อนร่วมงาน มีบุคลิกที่เข้ากับใครก็ได้ทั้งนั้น แสนดีเสียจนเรานึกไม่ถึงใครๆ แต่เมื่อคนแสนดีคนนั้นทำผิดพลาด แทนที่เราจะพูดคุย ติชม เขาได้เหมือนเพื่อนร่วมงานคนอื่น เรากลับมีความลำบากใจที่จะต้องติผู้แสนดีคนนี้ ทำไมเราต้องลำบากใจกับการติชมคนที่แสนดีด้วย? เราจะพูดคุยถึงความผิดพลาดของเขายังไงไม่ให้ลำบากใจกันนะ
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจ ‘nice guy’ กันก่อน ส่วนมากพวกเขามักเป็นใจดีเสียจนเราคาดไม่ถึง เป็นคนที่มักจะคุยกับใครๆ ด้วยความยิ้มแย้ม พร้อมช่วยเหลือทุกคน หลีกเลี่ยงการมีปัญหา และพยายามเป็นมิตรกับทุกภาคส่วน
แล้วการเป็น nice guy ก็ไม่ได้เสียหายอะไรนี่ คนแบบนี้ดูเป็นคนพลังบวกในออฟฟิศดีนี่นา แต่ว่าเบื้องหลังของความแสนดีมีความเจ็บปวดแทรกซึมอยู่ด้วยเช่นกัน เพราะความใจดีของเขานั้นผลักดันให้การปฏิเสธเป็นไปได้ยาก ความใจดีที่คอยผลักดันให้เขาดีกับคนรอบข้างอยู่เสมอ กลายเป็นว่า ความรู้สึกของผู้อื่นที่มีต่อตัวเอง สำคัญกว่าความรู้สึกของตัวเอง
รัซ เอเดลแมน (Russ Edelman) ผู้เขียนหนังสือ ‘Nice Guys Can Get the Corner Office: Eight Strategies for Winning in Business Without Being a Jerk’ ได้สัมภาษณ์ CEO กว่าห้าสิบคน ถึงผลกระทบของการเป็น nice guy ในที่ทำงาน พบว่าความใจดีเกินไปจนกระทบงานเนี่ย มักจะเกิดขึ้นกับการตัดสินใจอะไรสักอย่างที่ต้องการความเด็ดขาด พนักงานระดับผู้จัดการหลายคนมักไม่เต็มใจที่จะต้องตัดสินใจอะไร ที่มันส่งผลกระทบถึงคนอื่น เพราะกลัวคนอื่นเจ็บปวดกับการตัดสินใจของเขา และอีกสิ่งที่กระทบถึงงาน พวกเขามักหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า จนมันนำไปสู่การเพิกเฉยต่อปัญหา
นั่นอาจหมายความว่าการเป็นคนใจดีเกินไป จนลืมใจดีกับความรู้สึกของตัวเองนั้น ไม่ได้ส่งผลดีกับงานเท่าไหร่นัก
ใจดีจนตัวเองลำบากใจ เพื่อนร่วมงานเองก็ลำบากใจเช่นกัน
แม้จะเป็นคนใจดี เป็นที่รักของทุกคนแค่ไหน แต่นั่นก็คนละส่วนกับเพอร์ฟอร์แมนซ์ในการทำงาน เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น (ซึ่งก็เกิดขึ้นได้กับทุกคนอยู่แล้ว) เป็นปกติที่เรามักจะไม่อยากยืนตรงข้ามกับผู้เป็นที่รักของทุกคนอยู่แล้ว เราจึงมักจะมีความลำบากใจที่จะต้องพูดถึงความผิดพลาดของคนแสนดีเหล่านี้ เราจะพูดยังไงดีนะ เมื่อเขาใจดีกับทุกคนมาตลอด เราพูดไปจะดูใจร้ายไหมนะ ความลำบากใจมันเริ่มขึ้นจากตรงนี้นี่แหละ
แต่จะละเลย ทำเบลอกับความผิดพลาดไม่ได้ มาดูทางออกที่สบายใจกันทั้งสองฝ่าย เราเองก็ได้พูดแบบไม่ใจร้าย และ nice guy ก็ไม่เจ็บปวดกันเถอะ
เพราะความผิดพลาดเกิดขึ้นได้กับทุกคน
ผิดไม่ได้เป็นเรื่องแย่ ทุกคนที่เคยผิดพลาดย่อมได้เรียนรู้จากความผิดพลาด เพราะใครๆ ก็มีโอกาสผิดพลาดในการทำงานได้ทั้งนั้น ซึ่งเราที่ต้องพูดถึงความผิดพลาด และคนที่ทำผิดพลาดเอง ก็ควรเข้าใจในไอเดียนี้ด้วยเช่นกัน หากเรามองความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็มีโอกาสพลั้งพลาดทั้งนั้น เราจะไม่รู้สึกลำบากใจเมื่อมันเกิดขึ้นกับใครก็ตาม
เอาอารมณ์ความรู้สึกออกไปก่อน
ความใจดีที่เขาแจกจ่ายให้คนในออฟฟิศ (รวมถึงเราด้วย) อาจกลายเป็นเกราะสร้างความน่าสงสารขึ้น เมื่อเราต้องพูดถึงความผิดพลาดของเขา แต่เราเองก็มองข้ามความผิดพลาดนี้ไปเพียงเพราะเขาใจดีกับคนอื่นมาตลอดไม่ได้ ลองถอดฟิลเตอร์ความใจดีของเขาออก มองเขาเป็นเพื่อนร่วมงานเหมือนกับคนอื่น อาจช่วยลดความลำบากใจลงบ้าง
อย่าปล่อยให้เขาหลีกเลี่ยงปัญหา
ชาว nice guy อาจจะไม่ชอบเผชิญหน้ากับปัญหาตรงๆ อาจหลีกเลี่ยงด้วยการยอมรับความผิด ขอโทษขอโพยเสียยกใหญ่ (ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร) แต่ว่าอย่าเพิ่งปล่อยให้คำขอโทษจบทุกอย่างลง ความผิดพลาดในการทำงาน ต้องได้รับการแก้ไขในครั้งนี้และไม่ควรเกิดขึ้นครั้งหน้า มานั่งพูดคุยกันว่าต้นเหตุมันคืออะไร จะแก้ไขได้อย่างไร เพื่อให้เราแน่ใจว่า ทั้งเราและเขามองปัญหาและเข้าใจมันตรงกัน
หากเรามองความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เราอาจจะลำบากใจน้อยลงที่จะพูดถึงความผิดพลาดของใครก็ตาม ไม่ใช่แค่กับ nice guy
อ้างอิงข้อมูล