เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวคราวเกี่ยวกับหมออินเทิร์นโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดบึงกาฬที่ทยอยลาออก จนเกิดการตั้งคำถามจากสังคมว่า “เกิดอะไรขึ้น” เพราะว่าการที่แพทย์ลาออก นับเป็นหายนะของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะในต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกล
เพื่อคลี่คลายข้อสงสัย เพื่อนำไปสู่การชะลอปัญหานี้ The MATTER จึงคุยกับ นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สมาชิกวุฒิสภา ถึงสถานการณ์ของบุคลากรสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะหมอว่าเพราะเหตุใดถึงทยอยลาออก พร้อมทั้งถามถึงวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
ภาพรวมของบุคลากรสาธารณสุขไทยตอนนี้เป็นอย่างไร

นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย
จริงๆ แล้วบุคลากรในสาธารณสุขของเรามันประกอบไปด้วยหมอ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร ผู้ช่วยเหลือคนไข้ ผู้ช่วยพยาบาล แม้แต่คนคนเข็นเปล อันนี้ผมขออนุญาตรวมไปเลยทีเดียว แต่ว่าผมจะค่อนข้างชินกับแพทย์มากกว่า เพราะฉะนั้นผมขออนุญาตพูดว่าเป็นหมอ แต่มันสะท้อนได้ทุกบุคลากรว่ามันขาดแคลน ขาดแคลนทั้งประเทศ
แล้วก็ที่สำคัญก็คือว่าพวกเราทำงานกันหนัก หนักมากเลย หนักแบบบ่นดังก็ไม่ได้ เหตุผลที่บ่นดังไม่ได้เพราะอะไร เพราะคนก็จะบอกว่าคุณเลือกมาเองนี่ ใช่ไหม คุณเลือกมาเอง คุณต้องเสียสละนะ
ถ้าเราไปพูดเรื่องเงินทองปั๊บ ว่าเงินไม่ออก เงินเดือนไม่ออก เราก็จะโดนสังคมว่าอยู่ดี “โอ๊ย หมอ พยาบาล เงินเดือนมากอยู่แล้ว” อะไรอย่างนี้เป็นต้น แต่จริงๆ ก่อนเราจะเข้าสู่ปัญหาทั้งหมด ผมอยากให้มองบุคลากรทางการแพทย์ ทุกหน่วยงานว่าเป็นคนเหมือนกัน คนเหล่านี้มีพ่อ มีแม่ บางคนมีครอบครัวแล้วก็มีลูกที่ต้องดูแล เขาก็ต้องมีเวลาส่วนตัวของเขาไปดูแลคนเหล่านี้ด้วย เพราะฉะนั้นปัจจัยทุกอย่างเขาจะเหมือนคนอื่นหมดแหละ ไม่ว่าเขาจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือไม่ใช่
ทีนี้ปัญหาคืองานมันหนัก ทำไมถึงหนัก ตัวเลขที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ จากองค์การอนามัยโลกบอกว่า หมอ 1 คน จะต้องดูแลคนประมาณ 1,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่พอใช้ได้ คือไม่ดูเหนื่อยจนเกินไป ทีนี้ในประเทศไทย เรามีหมออยู่ประมาณ นับกลมๆ 70,000 คน เรามีประชากรไทย ตีกลมๆ 70 ล้านคน
พอเราเอามาหารสัดส่วน เออถูกนะ หมอ 1 คน ประชากร 1,000 คน เป๊ะเลย แสดงว่า “โอ้ ถ้าอย่างนั้นก็ถูกต้องแล้วสิ” ประเทศไทยเรา ตัวเลขเหล่านี้เหมาะสมอยู่แล้ว ซึ่งจริงๆ จะบอกว่าไม่ใช่ ตัวเลขตัวนี้เป็นตัวเลขหลอก เหตุผลเพราะว่าถ้าเรานับแพทย์ 1 คนต่อประชากรในกรุงเทพฯ มันจะตกประมาณ 1 ต่อ 600 ในขณะที่ถ้าเรานับที่บึงกาฬ มันจะตก 1 ต่อ 6,000
เห็นไหมว่าสัดส่วนมันไม่จริงไง มันไม่ใช่ 1 ต่อ 1,000 นอกนั้นยังไม่พอ สังเกตไหมว่าเวลาที่เราไปโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ เราก็ต่อคิวอยู่ดี แน่นด้วย ทั้งๆ ที่บอก “อ้าว หมอ 1 ต่อ 600 ทำไม ทำไมยังแน่น ยังแปลกๆ นะ” ผมจะบอกอย่างนี้ครับว่า นั่นก็เป็นตัวเลขหลอกอีก เพราะหมอกระจายอยู่ในโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลรัฐอาจจะมีหมออยู่สัก 60% ในขณะที่เอกชน 40% แต่จำนวนคน 80% หาหมอโรงพยาบาลรัฐ
เหตุใดแพทย์ถึงทยอยลาออก โดยเฉพาะหมออินเทิร์นต่างจังหวัด

นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย
ปัญหาความหนักของแพทย์เกิดทุกที่แหละ แต่บึงกาฬเป็นโมเดลล่าสุด คือที่บึงกาฬมีเหตุผลอยู่หลากหลายเลยที่ว่าทำไมบุคลากรทางการแพทย์ไม่อยากไป โดยโลเคชั่นของบึงกาฬเป็นจังหวัดเกิดใหม่
สมมติว่าผมเป็นหมอทั่วๆ ไป เรียนที่กรุงเทพฯ ที่ถือเป็น center ของประเทศไทย แต่ต้องไปใช้ทุนบึงกาฬ เราจะใช้เวลาขับรถจากกรุงเทพฯ ไปที่โรงพยาบาลบึงกาฬ ผมเข้าใจว่า 8 ชั่วโมงนะ แล้วถ้าไปเครื่องบินก็ต้องไปลงที่อุดรธานี แล้วก็ขับรถไปบึงกาฬอีกราว 2 ชั่วโมง เห็นว่าการเดินทางไปถึงยากละ เพราะฉะนั้นบึงกาฬควรจะมีอะไรที่ดึงดูดเป็น Positive Reinforcement
สมมติว่าหมอบึงกาฬอยากจะไปดูหนังสักเรื่องหนึ่ง จะไปโรงหนัง ผมได้ยินมาว่าน้องเขา (หมออินเทิร์น) พูดว่าโรงหนังที่ใกล้บึงกาฬที่สุด ห่างไปชั่วโมงครึ่ง เพราะฉะนั้นผมจึงบอกว่าบึงกาฬ หรือจังหวัดและที่อื่นๆ ด้วย เช่น แม่สอด ควรจะมีอะไรที่มันดึงดูด
ผมได้รับทราบมาว่าบึงกาฬไม่มีหมอศัลยกรรมทั่วไป เพราะฉะนั้นคนไข้ที่ต้องผ่าตัดที่เป็นศัลยกรรมทั่วไป ก็รวมอุบัติเหตุด้วย ไส้ติ่งอักเสบ รวมไปหมดอย่างเงี้ย หมออินเทิร์นจำเป็นต้อง refer แต่เขาไม่รู้จะ consult ใคร หมออินเทิร์นต้องรับผิดชอบเอง พอเกิดปัญหานี้ขึ้นหมอเหล่านี้ก็มีความเสี่ยง
ปัจจัยนอกจากเรื่องงานหนัก การ refer ยาก เดินทางยากแล้ว อีกอย่างที่ผมว่าสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องของผลตอบแทนที่เหมาะสม ที่เป็นไปตามข้อตกลง แพทย์และพยาบาลทุกคน เราจะได้เงินเดือน ซึ่งอันนี้เอามาจากส่วนกลาง นอกจากนั้นแล้ว เรายังมีค่าเวร พตส.บางคนได้พื้นที่ห่างไกล เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้ารัฐออกให้ตรงตามเวลา
ผมว่ามันก็เป็นขวัญกำลังใจ ปัญหาที่ว่าเงินทองไม่ออกตรงตามเวลา โดยเฉพาะในส่วนของ OT พตส. และเงิน P4P ต่างๆ ผมคิดว่ามันไม่ใช่จำนวนเยอะ แต่มันเสียขวัญนะ ถ้าเราไปทำงานแล้วเราได้รับการรับปากว่า “เดี๋ยวคุณทำตรงนี้ คุณได้ OT” แต่ปรากฏว่าเงินตรงเนี้ย มันไม่ออก อย่างนี้มันก็เสียขวัญกำลังใจเหมือนกัน นอกจากนั้นแล้วก็เกี่ยวข้องกับเรื่องของความก้าวหน้า
หมอเราต้องการอะไรละ เราก็ต้องการเรียนต่อ เราต้องการเป็นผู้แพทย์เฉพาะทาง เราต้องการ C4 ขั้นของราชการที่เติบโตไปได้ไหลลื่น คุณใช้ทุน 1 ปี หรือ 2 ปี คุณมีโอกาสไปเรียนต่อเฉพาะทางได้ ผมว่าโมเดลเหล่านี้จะดึงดูดคน แล้วโมเดลอย่างนี้สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ในจังหวัดที่มีปัญหาก็ได้
นอกจากนี้ ผมคิดว่าสภาพแวดล้อม สังคมในโรงพยาบาล ความสัมพันธ์ของบุคคลบุคลากร ผมมองว่ามีส่วนมาก ตามคำกล่าว คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก แม้ไปอยู่ในที่ที่ลำบาก แต่ถ้ามีพี่ใจดี พี่ support การทำงาน ประสานงานต่างๆ ไม่มีปัญหาเลย ผมคิดว่ามันอยู่ง่ายนะ มันอยู่ง่ายกว่า เพราะฉะนั้นสังคมในโรงพยาบาล ในสังคมของแพทย์ สังคมของเภสัชกร พยาบาล ผมเชื่อว่าเป็นอะไรที่สามารถที่จะดึงดูดคนได้เหมือนกัน
ดังนั้นแก้ให้ได้จริงๆ อย่างไรจริง อาจจะเรียงแบบ 1 2 3 4 5 เพราะว่าเหมือนที่ได้ยินมาคือ คุณหมอที่มีปัญหาคือ หมออินเทิร์น หมอที่อยู่ในโรงพยาบาลรัฐ ที่เขาแบ่งงานเยอะ แต่หากพูดถึงวิธีการแก้ปัญหาที่ใช้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม
มองว่าการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมควรทำอย่างไรบ้าง

นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย
อันดับแรกเลย คนที่จะแก้ปัญหา ควรจะต้องมีความจริงใจ และก็ไปรับรู้ปัญหาจริงๆ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน นักการเมืองก็เป็นรัฐมนตรีใช่ไหม เพราะฉะนั้นถามว่านักการเมือง ผมไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ดี เพียงแต่ว่าท่านอาจจะไม่เคยเป็นแพทย์มาก่อน เพราะฉะนั้นท่านไม่รู้ปัญหาแน่ๆ อยู่แล้ว
และท่านจะรับฟังรายงานจากใครละก็จากแพทย์อาวุโสที่อยู่รายรอบท่าน ซึ่งแน่นอนแพทย์อาวุโสก็ไม่ได้ดูคนไข้มานานแล้ว อาจจะลืมชีวิตสมัยนั้นไปแล้ว หรือสมัยก่อนเป็นคนละเจเนอเรชั่น สมัยก่อนก็จะบอกว่า “เฮ้ย ทำไมเราทำได้ คุณทำไม่ได้” ใช้กับคนน้องสมัยนี้ไม่ได้แล้วนะ อย่าพูดแบบนี้เด็ดขาด เราใช้ไม่ได้แล้ว
เพราะฉะนั้นท่านก็จะบอกว่าไม่มีปัญหา พอบอกไม่มีปัญหาปั๊บ ปัญหามันก็เลยไม่ได้รับการแก้ไขไง แต่ถ้าท่านรู้ปัญหา สมมติว่าท่านรัฐมนตรีหรือท่านรัฐมนตรีช่วยรู้ปัญหา ผมว่าปัญหานี้แก้ง่ายเพราะท่านลองไปฟังปัญหาหน้างานจริงๆ ฟังจากน้องๆ จริงๆ อย่าไปจัดฉากมา หรือฟังจากเราก็ได้ ฟังเถอะ นี่คือปัญหาจริงๆ ครับ มีความจริงใจ รู้ปัญหาจริงๆ
ผมขอยกตัวอย่างให้ฟัง เช่นผมเคยตั้งกระทู้ถึงท่านรัฐมนตรี ท่านบอกว่า “หมอทำงานหนัก 72 ชั่วโมง แต่หมอมีห้องพัก หมอสามารถที่จะเดินไปนอนได้” อันเนี้ยเป็นการตอบแบบไม่รู้ปัญหา เพราะอะไร หากลองถือโทรศัพท์ไว้ 72 ชั่วโมง ซึ่งมันจะดังกี่โมงก็ได้ ความรู้สึกเราอะ มันได้พักไหม 15 นาทีข้างหน้าก็ตามได้ ชั่วโมงหน้าเราอาจจะโดนไปผ่าตัดก็ได้นะ เราจะไปผ่าตัดคนไข้ อีก 2 ชั่วโมงอาจจะถูกปลุกไปดูคนไข้ฉุกเฉิน เพราะฉะนั้นคนที่ถือโทรศัพท์ มันไม่มีความสุข
72 ชั่วโมงก็คือ 72 ชั่วโมงนะ บางคนบอกว่า “เอ๊ย ไปนอน นอนได้ครับ 3 ชั่วโมง” ถ้าพูดอย่างนี้แปลว่าไม่เคยอยู่เวร เพราะคนอยู่เวรเขารู้ว่ามันไม่จริง เพราะฉะนั้นต้องรับรู้ ต้องรับฟัง ต้องเข้าใจปัญหาก่อน ส่วนปัญหาผมว่ามันมีทางแก้อยู่หลายอย่าง
อย่างแรก คนต้องการอะไร คนต้องการเวลา ต้องการเงินทองที่พอเหมาะพอสม ต้องการมีความสุขกับชีวิตของเขามี Work-Life Balance เพราะฉะนั้นเวรต้องลดลงก่อน อย่าให้เขาอยู่เวรติดต่อกันต่อเนื่อง อย่าบอก 72 ชั่วโมง บอกว่าคุณได้พักอย่าไปพูด จำกัดไปเลยว่าแพทย์อยู่ได้กี่ชั่วโมง แล้วคุณต้องเบรก มีระบบของอเมริกา Residence Training ของเขา ฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน เขามีกำหนดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ ถ้าคุณอยู่ในโรงพยาบาลเกินชั่วโมงที่กำหนด และกล้องวงจรปิดจับคุณได้ คุณมีปัญหานะ
หมอต้องออกจากโรงพยาบาลไปพักผ่อน เพราะหมดศักยภาพแล้ว เอาจริง ๆ คนมันหมดศักยภาพแล้ว คุณต้องออกไปพักอย่างนี้เป็นต้น จำกัดเวลาทำงาน รวมพยาบาลด้วยนะ อันนี้ผมพูดแทนเจ้าหน้าที่ท่านอื่นด้วย
อย่างที่สองคือเงินทอง เราแค่ต้องการในส่วนที่เราควรได้เท่านั้นเอง แล้วเราก็ต้องเอาเงินนี้ไปดูแลชีวิตและครอบครัวของเราเหมือนกัน ออกให้ตรงเวลา อย่าให้ตกเบิก ปัจจุบันมีหลายโรงพยาบาลตกเบิกมหาศาล โดยเฉพาะ OT, พตส., P4P หรือ ฉ.11 พวกนี้ตกเบิก
ออกเข้าให้ตรงเวลา ไม่รู้ท่านจะไปหาเงินจากไหนมาแหละ ถ้างบประมาณไม่พอ ท่านก็ต้องตั้งงบประมาณ กำลังจะตั้งงบประมาณปี 2569 ตั้งเพิ่มเข้ามา เพราะรู้อยู่แล้วว่ามันไม่พอ
หากยังปล่อยให้ปัญหาบุคลากรทางแพทย์ลาออกดำเนินต่อไป?

นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย
หากปล่อยปัญหานี้ดำเนินต่อไป บุคลากรทางแพทย์จะออกจากระบบไปมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าหมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ หากตัดสินใจที่จะไปเข้าเอกชน มีงานศึกษาว่ารายได้พวกเขาเปลี่ยนแปลงทันที 6 เท่า สมมติว่าเขาอยู่ที่รัฐบาลได้ 50,000 บาท ถ้าเขาไปอยู่เอกชนในสถานะเดียวกัน งานเขาเบาขึ้นแต่รายได้เขามากขึ้น 6 เท่า 300,000 บาท เพราะฉะนั้นตัดสินใจง่ายที่จะออกจากระบบ
ถามว่าทำไมไม่ตัดสินใจออกละ ก็เพราะว่าเขายังมีจิตใจไง ที่รู้สึกว่าอยากจะบริการ อยากจะช่วยเหลือคนอื่นอยู่ เพราะฉะนั้นอย่าทำให้น้ำใจอันนี้มันหายไปจากบุคลากรทางการแพทย์
ถ้าหากว่าเราปล่อยปัญหานี้ไปเรื่อยๆ จะเกิดหายนะกับวงการสาธารณสุข ซึ่งจริงๆ แล้วปัญหานี้มันเกิดขึ้นตั้งแต่รุ่นๆ ก่อนผมแล้วละ รุ่นผมก็รู้ว่ามันมีปัญหา แล้วเราก็ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขอย่างดี แต่ถ้าปัญหานี้ยังคงดำเนินต่อไป แล้วไม่ได้รับการแก้ไข ผมเชื่อว่าคนที่เดือดร้อนที่สุดคือประชาชน เพราะตอนนี้มีบึงกาฬโมเดล
เราไม่รู้เลยนะว่าเดือนหน้าปีหน้า จะเกิดโมเดลแบบนี้ที่ไหนอีก เพราะน้องๆ เขาไม่ต้องทน เขาไม่เหมือน Baby Boomer อย่างท่านรองอธิบดี อธิบดี ปลัดกระทรวง ไม่ใช่แล้วนะ ท่านมองปัญหาอย่างนี้ไม่ได้แล้ว เพราะเขาไม่ต้องทนครับ เขา Work-Life Balance เพราะฉะนั้น ปัญหานี้ต้องได้รับการดูแลอย่างจริงจัง จริงใจ
เราเข้าไปรับรู้ปัญหา และต้องแก้ไขโดยเร็ว ไม่อย่างนั้นอาจจะเจอโรงพยาบาลปิดตอน 2 ทุ่มก็ได้ในอนาคต ไม่มีหมอ ถ้าถึงตอนนั้นรถชนกันตอน 3 ทุ่ม ไม่มีหมอดู ต้องรอตอนเช้า ไม่ก็ต้องเสียเงินเข้าเอกชน เพราะว่าหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ลาออกจากโรงพยาบาล อย่าให้เกิดเหตุการณ์นั้นเลยในประเทศไทย ดูแลหมอ พยาบาล เท่ากับดูแลประชาชน