1
เพื่อนคนหนึ่งบ่นให้ฟังว่า มีฟรีแลนซ์ที่รับงานไปทำ แต่ยังทำงานไม่ทันเสร็จ ก็เขียนกลับมาบอกว่าขอไม่ทำต่อแล้ว โดยให้เหตุผลที่ไม่เปิดโอกาสให้ต่อรองได้เลยว่า “ผมเป็นโรคซึมเศร้าครับ”
เขาเล่ามาด้วยว่า เป็นโรคซึมเศร้าแบบไหนอย่างไร ไปรักษาตัวที่ไหนอย่างไร แม้จะไม่มีใบรับรองแพทย์ส่งมาให้ แต่ก็ดูน่าเชื่อถือดีไม่น้อยว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้าแบบ Clinical Depression จริงๆ
แต่แล้วอีกไม่นานนัก เพื่อนก็เห็นว่า ฟรีแลนซ์คนที่ว่าโพสต์รูปในโซเชียลมีเดีย เป็นการไปเที่ยวสนุกสนานกับเพื่อนที่ต่างจังหวัด เขาจึงเขียนทักฟรีแลนซ์คนนั้นไป ซึ่งฟรีแลนซ์ก็คล้ายรู้ตัว รีบอธิบายกลับมาทันทีว่าเขาจำเป็นต้องไปเที่ยวในฐานะที่มันเป็นการ ‘รักษา’ อย่างหนึ่ง คือพาตัวเองออกไปยังสถานที่แปลกใหม่ และต้องอยู่กับเพื่อนๆ ด้วย ไม่อยู่คนเดียว
เพื่อนเข้าใจดี เพราะเขามีคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้าด้วยเหมือนกัน แต่กระนั้นเขาก็ทำใจไม่ได้กับการที่อยู่ๆ คนที่รับงานไปแล้ว สัญญากันแล้วว่าจะต้องส่งงาน แต่จู่ๆ ก็ผละงานไปด้วยเหตุผลนี้ แม้ฟังดูน่าเห็นใจ แม้ต่อให้เข้าใจได้ แต่ก็ทำให้ตัวเพื่อนเองต้องเป็นฝ่าย ‘เสีย’ ในแทบทุกเรื่อง ทั้งเสียงาน เสียชื่อเสียงกับลูกค้าที่ส่งงานต่อไม่ได้ และต้องจัดหาคนมาทำงานใหม่โดยด่วน จึงต้องจ่ายค่าตัวแพงกว่าปกติ
เขาถามผมว่า – ในกรณีแบบนี้, เราควรทำอย่างไรดี?
2
จูดี้ ไวส์ (Judi Wise) เขียนไว้ในนิตยสาร Corporate Wellness Magazine (ดูได้ที่นี่ www.corporatewellnessmagazine.com) บอกว่าอาการป่วยทางจิตหรือ Mental Illness นั้น ทำให้เกิดการสูญเสียในบริษัทต่างๆ ทั่วโลก คิดเป็นมูลค่ามากกว่า แปดหมื่นล้านเรียญต่อปี โดยในจำนวนนี้มีทั้งที่เป็นโรคจิตเภท มีอาการไบโพลาร์ และท่ีสำคัญท่ีสุดก็คือโรคซึมเศร้า
ในอเมริกา ในบรรดาผู้ที่มีอาการป่วยทางจิตทั้งหลาย (คือจิตเภท ไบโพลาร์ และซึมเศร้า) นั้น, กลุ่มคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะเป็นกลุ่มคนที่ ‘ยังทำงาน’ อยู่มากที่สุด คือคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะทำงานมากถึง 70% ในขณะที่คนที่ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์และยังทำงานอยู่มีเพียง 1% เท่านั้น
อีกบทความหนึ่ง (ดูที่นี่ www.hrzone.com) บอกว่าคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้น ประมาณว่ามีมากถึงราวหนึ่งในสิบคนของประชากรโลก ณ ขณะเวลาใดๆ ก็ตาม
ข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลก (ดูได้ที่นี่ www.who.int) ก็บอกด้วยว่า โรคซึมเศร้าเป็นอาการผิดปกติทางจิตที่พบได้บ่อยมาก ประมาณว่ามีคนเป็นโรคซึมเศร้าทั่วโลกกว่า 300 ล้านคน โดยมีอยู่ในทุกเพศทุกวัย
เวลาพูดถึงโรคซึมเศร้า หลายคนจะคิดถึงการฆ่าตัวตาย เพราะโรคนี้กับการฆ่าตัวตายมีความสัมพันธ์กันอย่างเห็นได้ชัดเจน ที่น่าสนใจก็คือ ถ้าเราไปดูตัวเลขของ American Bureau of Labor Statistics หรือ BLS (ไปดูข้อมูลนี้ได้ในวารสาร Monthyly Labor Review www.bls.gov) ว่าด้วยอัตราการฆ่าตัวตายของคนทำงานในอเมริกา (เรียกว่า Workplace Suicide ซึ่งหมายถึงทั้งฆ่าตัวตายในที่ทำงานและเป็นการฆ่าตัวตายด้วยสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน) เราจะพบตัวเลขที่น่าประหลาดใจอย่างหนึ่ง
อัตราการฆ่าตัวตายเนื่องจากงานนั้น ในช่วงปี 1992 มาถึงราวๆ ปี 2003 ค่อนข้างคงที่ แต่ลดลงอยู่ช่วงหนึ่งคือช่วงปี 2003 ถึง 2007 ทว่าหลังจากนั้น มันกลับผงกหัวขึ้นแบบชัน (Sharply Increased) ในช่วงปี 2007 ถึง 2012 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นไปอีกเรื่อยๆ พูดง่ายๆ ก็คือ ตอนแรกการฆ่าตัวตายก็เริ่มลดลงแล้ว แต่เพราะเหตุผลกลใดไม่รู้ ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นมาก
สถิติที่ออกมา ทำให้หลายคนคิดว่า เอ…เป็นไปได้ไหมที่ปี 2007 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จะทำให้เกิดการฆ่าตัวตายเพราะความเครียดพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
ในเรื่องนี้ คริสทีน มูทิเยร์ (Christine Moutier) ซึ่งเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของ American Foundation for Suicide Prevention บอกว่าเอาเข้าจริงแล้ว เหตุผลในการฆ่าตัวตายนั้นซับซ้อนมาก ตามประวัติศาสตร์แล้ว อัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำก็จริงอยู่ แต่นั่นไม่น่าใช้ปัจจัยเดียวที่ทำให้สถิติการฆ่าตัวตายในช่วงหลังๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นแล้ว สถิติการฆ่าตัวตายก็ยังไม่ได้ลดลง เธอบอกว่าน่าจะมีปัจจัยเสี่ยงมากมายหลายอย่างที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น และเรื่องหนึ่งก็น่าจะเป็น ‘สุขภาวะ’ ทางจิตนี่แหละ
แน่นอน – พอฟังแบบนี้ หลายคนย่อมพุ่งเป้าไปที่โรคซึมเศร้า เพราะคิดว่าโรคซึมเศร้ากับการฆ่าตัวตายนั้นสัมพันธ์กัน แล้วหลายคนก็อาจเริ่มสงสัยว่า งานแบบไหน ‘ทำให้’ คนเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่ากัน
ต้องบอกคุณก่อนนะครับ ว่าผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่างานแบบไหน ‘ทำให้’ คนเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ แต่มีการศึกษาที่พูดถึงอัตราคนเป็นโรคซึมเศร้าในงานอาชีพแต่ละอย่าง ซึ่งก็ต้องออกตัวแรงเบรคเอี๊ยดกันเอาไว้ก่อนนะครับ ว่าเขาไม่ได้ศึกษาว่างานแบบไหน ‘ทำให้’ คนซึมเศร้านะครับ เขาแค่ดูความสัมพันธ์ของงานกับโรคนี้เท่านั้น
งานนี้ (ดูได้ที่นี่ link.springer.com) ออกมาในปี 2014 ตีพิมพ์ในวารสาร Social Psychiatry and Psychiatric Epistemology เป็นงานที่จำกัดพอสมควรนะครับ เพราะถึงจะใช้ข้อมูลของคนตั้ง 214,000 คน แต่ก็เป็นคนที่อยู่ในรัฐเพนซิลเวเนียทั้งหมด โดยศึกษาการงานทั้งหมด 55 อาชีพหรืออุตสาหกรรมด้วยกัน เขาพบว่า อาชีพที่มีอัตราคนเป็นโรคซึมเศร้ามากที่สุด อาชีพคนขับรถเมล์หรือบรรทุก คือ 16.2% ส่วนอาชีพที่มีคนเป็นโรคซึมเศร้าน้อยที่สุด คืออาชีพที่เกี่ยวกับสันทนาการและความสนุกสนาน เช่น การกีฬา ฟิตเนส หรือศิลปะการแสดง คือมีคนเป็นโรคซึมเศร้าราว 6.9% เท่านั้นเอง
การศึกษาคนที่เป็นโรคซึมเศร้าในอาชีพหรืออุตสาหกรรมต่างๆ น้ันสำคัญ เพราะโรคซึมเศร้าทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล โดยความเสียหายที่ว่าเกิดขึ้นแบบเดียวกับที่เพื่อนของผมต้องพานพบประสบเจอนั่นแหละครับ คือมันทำให้ ‘ผลิตภาพ’ หรือ Productivity โดยรวมของงานลดลง
คำถามถัดมาก็คือ แล้วงานประเภทที่มีอัตราผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเยอะๆ นั้น เป็นงานที่มีลักษณะร่วมอะไรบ้างไหม ผู้วิจัยบอกว่า งานแบบนี้มักจะมีลักษณะร่วมสองอย่าง อย่างหนึ่งก็คือ ‘ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าหรือสาธารณะบ่อยครั้งและเป็นปฏิสัมพันธ์ที่ยากหรืออาจสร้างปัญหาได้มากๆ’ รวมทั้ง ‘มีการใช้กิจกรรมทางร่างกายต่ำ’
เขาบอกว่า คนที่ทำงานที่ฟังดูน่าเบื่อหน่ายหดหู่ เช่น คนงานเหมือง กลับมีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้าน้อย ทั้งนี้ก็เพราะไม่ต้องไปมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน แถมยังได้ใช้แรงงานด้วย งานประเภทที่มีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้าน้อยยังมีคนงานก่อสร้างถนน คนงานถลุงแร่ รวมไปถึงคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมการบิน (ที่แม้จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคน แต่ก็มีกิจกรรมทางร่างกายสูง) ส่วนงานที่มีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้ามาก คือกลุ่มคนที่ทำงานด้าน HR, คนทำงานร้านอาหาร, คนทำงานด้านการศึกษา, วิศวกร, คนทำงานด้านสาธารณสุข และกระทั่งคนงานซ่อมรถยนต์ ส่วนคนขับรถเมล์หรือรถบรรทุกที่มีอัตราซึมเศร้าอันดับหนึ่ง ก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนบนท้องถนน หรือถ้าเป็นรถเมล์ก็รวมถึงคนในรถด้วย ที่น่าสังเกตก็คือ แม้จะเป็นงานที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น แต่ไม่ใช่ปฏิสัมพันธ์ในเชิงลึกแบบมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ทว่าเป็นการ ‘ให้บริการ’ กับคนอื่นๆ ที่มีลักษณะผิวเผินมากกว่า
3
ที่ว่ามาทั้งหมด คือความพยายามในการสำรวจโรคซึมเศร้ากับโลกของการทำงาน ที่ไล่เลยไปถึงการฆ่าตัวตาย ซึ่งอาจทำให้เราพอเห็นภาพกว้างๆ ว่า ณ ขณะนี้ ‘โรคซึมเศร้า’ กำลังค่อยๆ กลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาอย่างไร
โรคซึมเศร้าไม่เหมือนโรคอื่นๆ เพราะมันดูไม่ออก และคงมีน้อยคนมาก ที่จะแจ้งกับนายจ้างตั้งแต่ต้นว่าตัวเองมีอาการป่วยทางจิตแบบนี้ เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ได้งาน แต่เมื่อได้รับงานมาแล้ว ถ้าปฏิบัติงานไม่สำเร็จลุล่วงก็จะทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวงานได้
เราต้องยอมรับว่า ในโลกหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา สังคมทั้งหลายได้ ‘แยก’ ระหว่าง ‘พื้นที่ส่วนตัว’ กับ ‘พื้นที่สาธารณะ’ หรือ ‘โลกส่วนตัว’ กับ ‘โลกของการทำงาน’ ออกจากกันอย่างค่อนข้างเด็ดขาด ลัทธิทำงานมืออาชีพ (Professionalism) สอนให้เราจดจ่อมุ่งมั่นอยู่กับการทำงาน โดยต้องทิ้งปัจจัยส่วนตัวอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อการทำงานออกไป ซึ่งในหลายด้านมันก็ลดทอนความเป็นมนุษย์ของเราลง จนต้องเกิดการต่อสู้กลับในรูปของสหภาพแรงงาน หรือการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงาน เพื่อให้แรงงานไม่กลายเป็นแค่สัตว์เศรษฐกิจ หรือเป็นแค่ทรัพยากรในการผลักดันให้เกิดผลิตภาพและสร้าง GDP ให้ประเทศ โดยไม่เหลือความเป็นมนุษย์อยู่อีก เราจึงมีการ ‘ลา’ ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เวลาคนทำงานไปใช้ชีวิตส่วนตัว เช่น ลาพักร้อน ลาคลอด ลาป่วย ฯลฯ การมีโอกาสได้ใช้เวลาส่วนตัวเพื่อพักจากการทำงานนี้ ในที่สุดก็ย้อนกลับมาตอบแทนจักรกลแห่งเศรษฐกิจ ด้วยการทำให้ผลิตภาพในการทำงานสูงขึ้น
คนจำนวนมากสามารถแยกแยะได้ว่าจะเล่นบทบาทไหนในพื้นที่ไหน เช่น รับบทบาทเป็นแม่ของลูกเมื่ออยู่ที่บ้าน แต่เมื่ออยู่ที่ที่ทำงาน ก็ต้องทำงานแข็งขันจริงจังโดยไม่ได้คิดถึงความเป็นแม่ พูดอีกอย่างหนึ่งคือทิ้งความเป็นแม่ของตัวเองเอาไว้ที่ประตูห้องทำงาน กระทั่งผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางโรคที่ยังอยากทำงานอยู่ ก็สามารถแข็งขืนฝืนใจไปทำงานได้ เพราะสภาวะต่างๆ เหล่านั้น เป็นสภาวะที่เกิดกับ ‘ภายนอก’ คือร่างกายของเราเท่านั้น ไม่ได้เกิดกับ ‘ภายใน’ หรือสภาวะทางจิต แต่อาการซึมเศร้าไม่ใช่อย่างนั้น
มันไม่ใช่สภาวะ ‘ภายนอก’ ล้วนๆ การ ‘สกัด’ โรคซึมเศร้าออกจากตัวเองเพื่อรักษาจึงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย และในหลายราย โรคซึมเศร้าก็กลายกลืนจนเป็น ‘อัตลักษณ์’ อย่างหนึ่งของคนคนนั้นไปด้วย ยิ่งในปัจจุบันผู้คนสามารถเปิดเผยตัวเองว่าเป็นโรคซึมเศร้า ก็ยิ่งทำให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้ารวมกลุ่มกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า และมีแนวโน้มจะสร้าง ‘อัตลักษณ์ร่วม’ บางอย่างขึ้นมาเพื่อประกาศให้โลกรู้ – โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดีย
จริงอยู่ว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวนมากที่รู้ตัวดีว่าตัวเองป่วยและอยากหายป่วย จึงพยายามดูแลรักษาตัวเอง พาตัวเองไปพบแพทย์ กินยา และทำทุกวิถีทางเพื่อจะกลับมาอีกครั้ง แต่กระนั้นก็มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอีกจำนวนมากที่แม้รู้ว่าตัวเองป่วย แต่ไม่ได้อยากหายจากอาการป่วย ไม่รู้สึกอยากรักษาตัวใดๆ ทั้งสิ้น เพราะพวกเขาถูกโรคซึมเศร้ากลืนกินจนหม่นมัวอยู่ในโลกที่เป็นสีเทาสิ้นหวัง ไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรทั้งสิ้น
แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ มีคนอีกไม่น้อยที่มีอาการของ ‘โรคอยากซึมเศร้า’ (wannabe depressed) อยู่ด้วย
ผมเคยเขียนถึง ‘โรคอยากซึมเศร้า’ เอาไว้ โดยนำเนื้อหามาจาก The Atlantic ที่เคยรายงานถึงเด็กสาวคนหนึ่งที่ยอมรับว่าตัวเธอเองเป็นพวก wannabe depressed (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ www.theatlantic.com) คือเป็นโรค ‘อยากซึมเศร้า’ ซึ่งในยุคสมัยที่ดูเหมือนว่าใครๆ ก็เป็นโรคซึมเศร้านั้น เรามีโอกาสที่จะได้เสพหรืออ่านอะไรที่ชวนให้เกิดอารมณ์มืดหม่นได้มากมายไม่รู้จบ
เด็กสาวคนนี้มีนามสมมติว่า-ลอรา เธอเสิร์ชใน Tumblr แล้วพบว่ามีเรื่องราวกับรูปภาพของผู้คนจำนวนมากที่บอกว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า คนเหล่านี้เขียนเล่าเรื่องราว ถ่ายภาพ และเขียนคำพูดสั้นๆ ประเภท-ขอให้ฉันหายตัวไปเลยได้ไหม, เธอทำร้ายฉันได้ แต่ฉันทำร้ายตัวเองไม่ได้หรือ, คนที่ฆ่าตัวตายไม่ได้ยุติชีวิตหรอก พวกเขาแค่ยุติความเจ็บปวดเท่านั้น และอื่นๆ อีกหลายอย่าง
แรกทีเดียว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีผลกับเธอมากนัก แต่น่าแปลก-ที่เมื่อเธออ่านมันซ้ำๆ เธอก็เกิดอารมณ์ความรู้สึกอย่างหนึ่งขึ้นมา
เธออยากซึมเศร้า!
ลอราพบว่าคนที่เป็นเหมือนเธอไม่ได้มีคนเดียว แต่มีคนจำนวนมากที่เป็นแบบนี้ และรวมตัวกันสื่อสาร ก่อตัวขึ้นมากระทั่งกลายเป็น ‘สังคม’ แบบหนึ่ง ลอราบอกว่า เอาเข้าจริง คนที่เป็น ‘โรคอยากซึมเศร้า’ ไม่รู้ตัวจริงๆ หรอกว่าพวกเขาเป็นโรคซึมเศร้าแบบที่เรียกว่า Clinical Depression คือเป็น ‘โรค’ นี้จริงๆ หรือแค่ ‘อยาก’ เป็นโรคนั้นเท่านั้น จิตแพทย์หลายคนบอกว่า เนื่องจากข้อมูลข่าวสารท่วมท้น หลายคนจึงคิดว่าตัวเองเป็นเหมือนสิ่งที่ตัวเองอ่านพบ หรือพูดสั้นๆ ก็คือ มีอาการ ‘มโน’ ไปเอง ยิ่งในโลกออนไลน์มี Self Test ต่างๆ เช่น บททดสอบว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้าไหม เป็นไบโพลาร์หรือเปล่า หรือมีตัวตนแบบไหน โดยมักจะเป็นแบบสอบถามที่ ‘ถูกทำให้ง่ายเกินไป’ (over-simplified) หลายครั้งพอทำแบบสอบถามเหล่านี้นิดๆหน่อยๆ บางคนก็ ‘ปักใจ’ เชื่อว่าตัวเองต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ไปเลย
หลายคนคิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าเวลาที่หากุญแจบ้านไม่เจอ ทะเลาะกับพ่อแม่ ทะเลาะกับแฟน หรือแม้กระทั่ง ‘ทำงานไม่เสร็จ’
เพื่อน (ซึ่งต้องย้ำว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย – คือเสีย, จากลูกจ้างที่เป็นโรคซึมเศร้านะครับ) ถามผมว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ฟรีแลนซ์คนนั้น ‘ซึมเศร้า – เลยทำให้ทำงานไม่เสร็จ’ หรือว่าแท้จริงแล้ว (เขาบอกอย่างเคียดแค้นว่า) ไอ้บ้านั่นมัน ‘ทำงานไม่เสร็จ – แล้วก็เลยซึมเศร้า (ที่ทำงานไม่เสร็จ)’ กันแน่?
แล้วในโลกปัจจุบัน ที่ผู้คนมีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น ไม่ว่าจะซึมเศร้าจริงหรือ wannabe depressed เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเท่หรืออะไรก็ตาม – เพื่อนถาม, เราควรจะทำอย่างไรกันดี ถ้ามีการสัมภาษณ์กันก่อนรับงาน แล้วไม่ให้งานคนคนนั้นทำเพราะรู้ว่าเขาป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จะไม่ถูกหาว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรอกหรือ? แต่ถ้าหากให้คนคนนั้นทำงานทั้งที่รู้ว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้า แล้วเกิดกรณีทิ้งงานจนเกิดความเสียหายขึ้นมา เขาจะไปเรียกร้องค่าเสียหายนั้นจากใคร จากพระเจ้าผู้สร้างโรคซึมเศร้าขึ้นมากระนั้นหรือ?
บทความหนึ่งใน The Sydney Morning Herald (ดูที่นี่ www.smh.com.au) ไปถามคำถามนี้กับเบอร์นี มิตเชล (Bernie Mitchell) ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กคนหนึ่ง มิตเชลเป็นนายจ้าง แต่ในเวลาเดียวกัน เขาก็เป็นผู้ป่วยไบโพลาร์ด้วย
มิตเชลให้คำตอบสั้นๆ ว่า เขาจะจ้างคนที่มีปัญหาความผิดปกติทางจิต ตราบเท่าที่คนคนนั้นสามารถจัดการกับตัวเองได้อย่างมีความรับผิดชอบ (เขาบอกว่า “as long as it is managed responsibly”)
แต่ในบทความเดียวกัน นายจ้างอีกคนหนึ่ง คือ เมลิสา เจนกินส์ (Melissa Jenkins) (ซึ่งเป็นนามแฝง) กลับบอกว่าเธอไม่เห็นด้วย เพราะไม่ใช่ว่านายจ้างทุกคนจะมีทักษะและต้นทุนมากพอในการต้องไปรับมือกับอาการป่วยทางจิตของคนเหล่านี้ เธอบอกว่าถ้ารู้ว่าใครมีอาการป่วยเหล่าน้ี เธอไม่แม้แต่จะพิจารณาให้อยู่ในรายชื่อสัมภาษณ์ด้วยซ้ำ ยิ่งถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก เธอเห็นว่านายจ้างมีความท้าทายต่างๆ รุมเร้ามากมายอยู่แล้ว จึงยิ่งต้องเห็นใจนายจ้าง แต่ถ้าบริษัทใหญ่ๆ จะมีแผนก HR คอยดูแลประคับประคองคนเหล่านี้ก็เป็นเรื่องของบริษัทใหญ่ๆ แต่ธุรกิจเล็กๆ ไม่ควรจำเป็นต้องหาภาระนี้มาใส่ตัวเพิ่มอีก
นายจ้างบางคนเปรียบเทียบผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากับผู้พิการทางกายอื่นๆ โดยบอกว่าผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าไม่เหมือนผู้พิการทางกาย เพราะผู้พิการทางกายสามารถ ‘ตั้งใจ’ ทำงานได้แม้ร่างกายไม่ครบสมบูรณ์ แต่การป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอาจทำให้กระทั่งการ ‘ตั้งใจ’ จะทำงาน – ก็ยังเป็นไปไม่ได้ ผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจึงก่อปัญหามากกว่า
ถ้าเสิร์ชในอินเทอร์เน็ต เราจะพบคำแนะนำมากมายจากผู้รู้ด้าน HR ที่แนะนำว่าต้องดูแลรับมือกับพนักงานที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างไร แต่กระนั้นก็ไม่ได้ตอบคำถามหรือไม่อาจฟันธงลงไปได้แน่ชัด ว่าโดยทั่วไปแล้วควรปฏิบัติกับผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอย่างไรดี
4
ปัญหาโรคซึมเศร้า ทำให้เราเห็นการปะทะกันของพรมแดนอำนาจหลายชุด เช่นอำนาจของลัทธิทำงานแบบมืออาชีพหรือ Professionalism ที่มีรากย้อนกลับไปถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจนมากำกับกดดันมนุษย์, การแบ่งแยกพื้นที่ระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะที่สร้างความเครียดให้ผู้คน, อำนาจของวาทกรรมทางการแพทย์ที่คอยกำหนดอาการป่วยหรือไม่ป่วยของมนุษย์, อำนาจทางศีลธรรมและอำนาจทางวัฒนธรรมที่กำกับให้เราแต่ละคนต้องแสดงท่าทีแบบไหนอย่างไรต่อปัญหานี้ รวมไปถึงอำนาจทางเศรษฐกิจที่กำกับให้เรานึกถึงท่าทีอีกแบบหนึ่งยามปฏิบัติต่อปัญหาเดียวกัน
โรคซึมเศร้ากับการทำงาน จึงเป็นสนามประลองของอำนาจหลายชุดที่เข้ามาปะทะกันอย่างเงียบเชียบ แต่นับวันจะยิ่งรุนแรง ขัดแย้ง และซับซ้อนย้อนแย้งในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ นี่จึงเป็นสถานการณ์ที่ท้าทาย – และน่าขบคิดใคร่ครวญกับมันอย่างจริงจัง
เพราะ ‘โรคซึมเศร้า’ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ – ไม่ว่าจะในมิติไหนก็ตาม!