ความสนุกของพิธีเปิดปารีสโอลิมปิก 2024 คือการจัดพิธีเปิดโดยใช้พื้นที่กลางเมือง โดยเฉพาะพื้นที่ริมแม่น้ำแซนเป็นส่วนสำคัญในการเล่าเรื่องราวของกรุงปารีส ปารีสจึงกลายเป็นโรงละครโรงใหญ่ ซึ่งบางส่วนฉายภาพอิทธิพลของฝรั่งเศสที่มีต่อโลกสมัยใหม่ และอาจก้าวข้ามไปถึงการเป็นส่วนหนึ่งในความก้าวหน้าของมนุษยชาติ
เมื่อเราชมพิธีเปิดจนถึงบทสดุดีแห่งความรักจากหอไอเฟล กระถางคบเพลิงที่ลอยขึ้นด้วยบอลลูนที่สวนตุยเลอรี ทั้งหมดนั้นฉายภาพ “การเป็นเมืองแห่งความรักและเมืองแห่งแสงสว่าง” ซึ่งเป็นตัวตนสำคัญของกรุงปารีส โดยความเป็นดินแดนแห่งโลกสมัยใหม่อาจไม่ได้พูดถึงแค่ปารีส แต่คือการเป็นส่วนหนึ่งในชัยชนะของมนุษยชาติ ในความก้าวหน้า และในการเชื่อมต่อกันบนโลกใบนี้ เหมือนกับโอลิมปิกที่ไร้พรมแดน
จากบริบทของพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ พิธีเปิดจึงค่อนข้างใช้ชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์และบททางวรรณกรรม มาปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องราวขนาดใหญ่ ที่สะท้อนถึงทั้งจิตวิญญาณของฝรั่งเศส และการข้ามพรมแดนของงานกีฬาของมวลมนุษยชาติ เพื่อตีความและทำความเข้าใจจิ๊กซอว์ต่างๆ จากงาน รวมถึงบางพื้นที่ เช่น พิพิธภัณฑ์ออร์แซที่ตัวละครทะลุมิติไปและเปิดตัวเหล่ามินเนียน ไปจนถึงกลุ่มอาคาร ภาพบอลลูน และเรือดำน้ำ The MATTER จึงชวนผู้อ่านท่องไปยังตัวบทวรรณกรรม และเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ถูกเล่าใหม่ในพิธีเปิดที่เพิ่งจบไป ว่ามันสื่อถึงอะไร แล้วนำไปสู่อะไรกัน
L’amour est un oiseau rebelle
ปารีสเป็นเมืองแห่งความรัก แต่ความรักของปารีสที่ถูกเล่านั้นสัมพันธ์กับบริบททางประวัติศาสตร์ เช่น ช่วงก่อนเข้าการปฏิวัติฝรั่งเศส เราจะเห็นภาพการสานสัมพันธ์กันในพื้นที่หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส โดยมีหนังสือชื่อ Bel-Ami ของกีย์ เดอ โมปัสซังต์ (Guy de Maupassant) ในจังหวะที่แสดงภาพจากวรรณกรรม Les Misérables มีการผสมผสานดนตรีเมทัลและโอเปร่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นฝรั่งเศส ความรักจึงดูจะเป็นรากฐานของอิสรภาพในการรักและความหลากหลาย ที่เป็นหัวใจหนึ่งของงานโอลิมปิกในครั้งนี้
หลังจากพระนางมารี อังตัวเน็ตต์หิ้วหัว และร้องเพลงของคณะปฏิวัติ ตัวละครหญิงลอยเรือเข้ามา ก่อนจะร้องเพลง L’amour est un oiseau rebelle จากโอเปร่าเรื่อง Carmen ซึ่งเนื้อหาพูดถึงความรักที่มันควบคุมไม่ได้เหมือนกับนก ความเป็นเมืองแห่งความรักของปารีสจึงถูกแสดงออกตั้งแต่ต้น จนถึงบทส่งท้ายในเพลงสดุดีความรักของเอดิต ปียัฟ (Édith Piaf) อนึ่งเรือที่ลอยเข้ามาหลังพระนางมารี อังตัวเน็ตต์ ก็มาจากตราประจำเมืองของกรุงปารีส ซึ่งสลักคำขวัญว่า ‘แม้นจะสั่นไหวแต่ไม่ล่มลง’ (Fluctuat nec mergitur)
Simone de Beauvoir
ไฮไลต์เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมที่น่าตื่นเต้นคือ การเชิดชูสตรีผู้มีคุณูปการกับสังคมฝรั่งเศส 10 คน ในพิธีจะเป็นรูปปั้นสีทองที่ผุดขึ้นมาจากแม่น้ำ รวมสุภาพสตรีผู้มีคุณูปการจากหลายยุคหลายสมัย เช่น คริสติน เดอ พิซาน (Christine de Pizan) นักเขียนสตรีจากศตวรรษที่ 6 เรื่อยมาจนถึงเจน บาเรต์ (Jeanne Barret) สุภาพสตรีนักเดินทางที่ถือว่าเป็นผู้หญิงคนแรกที่เดินทางรอบโลกสำเร็จ อลิซ มีลียาต์ (Alice Milliat) นักกีฬาหญิงที่ทำให้ผู้หญิงเข้าร่วมแข่งโอลิมปิกได้ และหนึ่งในผู้ที่ได้รับการกล่าวถึงคือ ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) หนึ่งในนักทฤษฎีต้นธารของสตรีนิยม
Musée d’Orsay
ช่วงการปรากฏตัวของแก๊งมินเนียนเป็นช่วงที่ผู้คนชื่นชอบ จังหวะสำคัญของการย้อนเวลา ตัวสถานที่ค่อนข้างมีนัยสำคัญ อาคารที่ใช้คือ พิพิธภัณฑ์ออร์แซ นาฬิกาเรือนใหญ่ รวมถึงหนังเรื่องแรกที่เป็นรถไฟ สัมพันธ์กับพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวที่แรกเริ่มเป็นสถานีรถไฟ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่องานเอ็กโปในปี 1900 ตัวอาคารล้ำสมัยทั้งจากสถาปัตยกรรมและโดมกระจก เป็นสถานีที่ที่รถไฟใช้ระบบไฟฟ้า ทำให้สร้างโดมกระจกได้เพราะไม่มีควันจากไอน้ำ สถานีรถไฟและพื้นที่สาธารณะนี้จึงท่ีล้ำสมัยที่สุดในยุคนั้น มีรถไฟฟ้า มีสายพานลำเลียงกระเป๋า ไปจนถึงมีลิฟต์
ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์ออร์แซยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาคารยุคสมัยใหม่ของปารีส เป็นพื้นที่ที่สัมพันธ์กับงานเอ็กโปซึ่งใช้ในการจัดงาน รวมถึงเล่าเรื่องในครั้งนี้ด้วย เริ่มตั้งแต่หอไอเฟล สะพานปงอาแล็กซ็องดร์-ทรัว (Pont Alexandre-III) อาคารกร็องปาแล (Grand Palais) โดยสถาปัตยกรรมจะมีความคล้ายกัน คือจะแสดงนวัตกรรมเหล็กและกระจก
L’arrivée d’un train à La Ciotat
ความเท่ของการเชื่อมโยงพิพิธภัณฑ์ออร์แซ คือจังหวะย้อนเวลาแล้วมีรถไฟจากหนังขาวดำพุ่งออกมา ตัวรถไฟนี้มาจากเรื่อง L’arrivée d’un train à La Ciotat หนังสั้นที่ถือว่าเป็นหนังเรื่องแรกของโลกจากพี่น้องลูมิแยร์ ออกุสต์ ลูมิแยร์ (Auguste Lumière) และหลุยส์ลูมิแยร์(Louis Lumière) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การชมภาพยนตร์และศิลปะนี้ ถือว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์หนึ่งที่พลิกโลกอย่างสำคัญ
Le Voyage dans la Lune
จังหวะที่ตัวละครล่องลอยในมิติเวลา บนห้วงอวกาศมีดวงจันทร์ที่ตาบวมข้างหนึ่ง ซึ่งจริงๆ เป็นยานอวกาศที่ปักลงบนดวงตาของดวงจันทร์พอดี ภาพดวงจันทร์นี้เป็นอีกสุดยอดไอคอนศิลปะร่วมสมัย มาจากหนังที่ชื่อว่า Le Voyage dans la Lune หรือ A Trip to the Moon ออกฉายในปี 1902 หนังเรื่องนี้มีความสำคัญทั้งกับวงการภาพยนตร์ที่ถ่ายทำและใช้สเปเชียลเอฟเฟกต์ ซึ่งตัวเรื่องเองก็มีความไซไฟ ใช้ศิลปะภาพยนตร์ที่พาเราท่องไปยังดินแดนเหนือจริง โดยพาเราไปยังดาวดวงอื่นหรือโลกอื่นได้
Le Tour du monde en quatre-vingts jours
ช่วงก่อนมินเนียนปรากฏ ถือเป็นช่วงสำหรับคนรักศิลปะและวรรณกรรม ภาพบอลลูนที่ลอยขึ้นมาจากวรรณกรรมเรื่อง Le Tour du monde en quatre-vingts jours หรือที่เรารู้จักในชื่อ 80 วันรอบโลก วรรณกรรมสำคัญที่เขียนขึ้นในปี 1872 ว่าด้วยการเดินทางด้วยรถไฟ บอลลูน เรือ ไปรอบโลกตามเส้นตายที่กำหนด วรรณกรรมเรื่องนี้มีอิทธิพลต่อโลกวรรณกรรมมาก จนกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญต่อหนัง ซีรีส์ เกม สวนสนุกและอื่นๆ ทั้งนี้ตัวเรื่องยังให้ภาพความเชื่อมต่อกันของโลกใบนี้ เพราะการเดินทางไปดินแดนต่างๆ นอกจาก 80 วันรอบโลกแล้ว เรือดำน้ำที่มินเนียนขับยังล้อกับนวนิยายเรื่องใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์ จากผู้เขียนเดียวกันคือ จูลส์ เวิร์น (Jules Verne)
Le Petit Prince
จังหวะน่ารักๆ ในช่วงพิธีเปิดค่อนข้างอ้างอิงกับความรุ่มรวยและเรื่องราวของฝรั่งเศส ทั้งในแง่วรรณกรรมและการเดินทางเชื่อมต่อกับโลก จากรถไฟถึงเครื่องบิน และแน่นอนว่าตัวละครที่ปรากฏรออยู่ที่ดาวอื่นๆ คือ เจ้าชายน้อย แรงบันดาลใจสำคัญของโลกใบนี้ โดยตัวเจ้าชายน้อยเองก็พูดถึงการเดินทางไปยังดวงดาวต่างๆ รวมถึงเครื่องบินที่โผล่มาแวบๆ น่าจะสื่อถึงผู้เขียนคืออองตวน เดอ แซงเต็กซูเปรี (Antoine de Saint-Exupéry) นักเขียนผู้เป็นนักบินที่หายสาบสูญไปในระหว่างทำการลาดตระเวน
Eiffel Tower and City of Light
หอไอเฟลถือเป็นหมุดหมายแห่งความเป็นสมัยใหม่ และเป็นสัญลักษณ์สำคัญของปารีสในยุคสมัยใหม่เป็นต้นมา โดยตัวหอไอเฟลถูกสร้างขึ้นเพื่องานเอ็กโปในปี 1889 และเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการจัดงานในปี 1990 การเปิดตัวหอไอเฟลในงาน ระหว่างงานหอไอเฟลจะมีการประดับและฉายไฟในยามค่ำคืน ในงานช่วงปี 1889 จะใช้ตะเกียงแก๊สและฉายแสง 3 สีคือ น้ำเงิน แดง ขาว ต่อมาในงานปี 1990 มีการประดับด้วยโคมไฟฟ้าบนหอไอเฟลนับพันดวง เมืองทั้งเมืองปกคลุมไปด้วยหลอดไฟฟ้าจำนวนมหาศาล ในช่วงนี้ปารีสจึงกลายเป็นเมืองแห่งแสงสว่างอย่างแท้จริง ภาพเขียนหอไอเฟลในงานเอ็กโปเป็นภาพเดียวกันที่งานพิธีเปิดโอลิมปิกจำลองภาพสำคัญกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
First Hydrogen Balloon Flight at Tuileries
ภาพส่งท้ายที่ถือเป็นฟินาเล่ของงาน คือการจุดกระถางคบเพลิงที่สวนตุยเลอรี นอกจากความเล่นใหญ่ที่ให้กระถางคบเพลิงกลายเป็นบอลลูนลอยขึ้นไปบนฟ้า จนทำให้ทั้งกรุงปารีสกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานกีฬาของเมืองในครั้งนี้ด้วยแล้ว บอลลูนที่ลอยขึ้นบนสวนตุยเลอรีนี้ ยังเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว โดยเล่นซ้ำภาพประวัติศาสตร์ซึ่งสัมพันธ์กับนวัตกรรมของมนุษยชาติ อย่างการทดลองบอลลูนและการบินด้วยบอลลูนไฮโดรเจนเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ธันวาคม ปี 1783 การลอยขึ้นของบอลลูนไฮโดรเจนนับเป็นหมุดหมายสำคัญของมนุษยชาติ ซึ่งมาจากการทดลองของฌัก ชาร์ล (Jacques Charles) และพี่น้องโรแบร์ แอนน์-จีน โรแบร์ (Anne-Jean Robert) และนิโคลัส-หลุยส์ โรแบร์ (Nicolas-Louis Robert) ตัวบอลลูนลอยไปตามแผนด้วยเวลา 2 ชั่วโมง จนไปสิ้นสุดที่ Nesles-la-Vallée เขตเมืองซึ่งอยู่นอกกรุงปารีสไป 31 ไมล์