ถ้าถามว่างานอดิเรกของเราคืออะไร บางทีเราก็อาจตอบไม่ได้ เมื่องานราษฎร์งานหลวงล้อมหน้าล้อมหลังกันขนาดนี้ จะเอาเวลาไหนไปนั่งชิลรดน้ำต้นไม้ยามเช้า ในเมื่อต้องรีบไปตอกบัตรเข้างานให้ทันแปดโมง
ถึงงานอดิเรกจะเป็นสิ่งที่เราโยนทิ้งไปได้อย่างง่ายได้ในช่วงที่ชีวิตเราวุ่นวายเกินกว่าจะทำอะไร แต่ที่จริงๆ แล้ว เราควรให้ความสำคัญกับงานอดิเรกมากพอๆ กับงานหลักเลยนะ
งานอดิเรกส่งผลกับใจเราอย่างไร?
งานอดิเรกมีพลังในการเยียวยาใจ ถึงขนาดที่ว่ามันถูกใช้ถูกใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการบำบัดผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นการฟังดนตรี สร้างสรรค์งานศิลปะ หรือการทำอาหารก็มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นได้ โดยมีงานศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychotherapy and Psychosomatics ที่พบว่างานอดิเรกส่งผลดีกับสุขภาพจิตในวัยผู้ใหญ่ที่กำลังประสบปัญหาเรื่องภาวะซึมเศร้า เมื่อพวกเขาได้ทำงานอดิเรก พวกเขาจะรู้สึกผ่อนคลายขึ้น มีชีวิตชีวามากขึ้น และรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจมากขึ้นด้วย
เพราะงานอดิเรกนั้นส่งผลกับระบบการให้รางวัลของสมอง เมื่อเราได้ทำงานอดิเรกที่เรารู้สึกสนุกไปกับมัน สารเคมีในสมองจะถูกหลั่งออกมา อย่างโดปามีนที่ช่วยทำให้เรารู้สึกดี รู้สึกพึงพอใจ ที่จะทำให้เรารู้สึกอยากทำงานอดิเรกนี้อีกครั้ง
การเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างอาจเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อเราเริ่มทำและรู้สึกดีกับมันแล้ว ระบบการให้รางวัลจะคอยช่วยส่งเสริมให้เราอยากทำต่อเอง อย่างคนที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน แค่คิดถึงการลุกขึ้นมาขยับตัวก็เหนื่อยแล้ว แต่ถ้าได้ลองเริ่มต้นเต้นตามคลิปออกกำลังกายจนจบสักคลิป ก็จะรู้สึกดีขึ้นได้ เพราะสารเคมีจากสมองที่หลั่งออกมา ชนิดที่ว่าลืมไปเลยว่าก่อนหน้านี้เคยงอแงไม่อยากลุกมาขยับ และถึงแม้จะเหนื่อยแค่ไหน เราก็จะรู้สึกอยากออกกำลังกายอีกครั้งในวันพรุ่งนี้
นอกจากเราจะรู้สึกดีกับตัวเองและอยากทำต่อไปแล้ว งานอดิเรกยังส่งผลกับสุขภาพของเราอีกด้วย มีงานศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Society of Behavioral Medicine ชี้ให้เห็นว่า คนที่สามารถแบ่งเวลาให้กับกิจกรรมยามว่างได้ จะมีอารมณ์ด้านลบน้อยลง และมีความเครียดน้อยลง งานวิจัยยังพบอีกว่า อัตราการเต้นของหัวใจของลดลงได้ เมื่อได้ลงมือทำงานอดิเรก
งานอดิเรกอะไรบ้างที่น่าลอง
ทำอาหาร ถ้ารู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ลองเข้าครัว ทำอาหารหรือทำขนมสักหน่อย มีการศึกษาในปี ค.ศ.2017 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Health Education & Behavior Journal พูดถึงการทำอาหารว่าเป็นกิจกรรมที่ดีที่จะใช้ในการรักษาและฟื้นฟู นักบำบัดและผู้ให้คำปรึกษาหลายคนก็เลือกใช้การทำอาหารเป็นกิจกรรมที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต เพราะการทำอาหารตามสูตรนั้นช่วยให้เราเห็นคุณค่าในตัวเอง และปัดเป่าความคิดลบในหัวทิ้งไปได้ นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องของการใช้ชีวิต เมื่อเราทำอาหาร เราจะแคร์เรื่องสิ่งที่เรากินเข้าไปมากขึ้น ทำให้พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นด้วย
ปลูกต้นไม้ ถ้ารู้สึกว่าความเป็นเพอร์เฟ็กต์ชั่นนิสต์ของตัวเองเริ่มรบกวนใจ ถ้างานไม่เป๊ะจะไม่ส่งจนเลยเดดไลน์ งานอดิเรกที่น่าทำคือการปลูกต้นไม้ ซึ่ง Joe Lamp’l นักจัดสวนมืออาชีพได้ให้คำแนะนำไว้ว่าการปลูกต้นไม้จะช่วยให้เราลดความเป็นเพอร์เฟ็กต์ชั่นนิสต์ลงได้ เพราะไม่ว่าเราจะวางแผนออกแบบสวนของเราเป๊ะแค่ไหน มันก็ยังมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อยู่มากมาย และเราก็ต้องทำใจยอมรับความไม่เพอร์เฟ็กต์เหล่านั้น
การเขียนบันทึก มีเรื่องราวในหัวเต็มไปหมด แต่ไม่รู้จะบอกกับใคร มีงานวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่าการเขียนบันทึกเรื่องราวที่ดีที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ช่วยทำให้อารมณ์ของเราสมดุลขึ้น อาจเริ่มด้วยการเขียนแบบง่ายที่สุดคือการเขียน 3 เรื่องที่ทำให้รู้สึกดีหรือรู้สึกอยากขอบคุณในวันนี้ เพราะเวลาที่เรารู้สึกขอบคุณกับบางสิ่ง สมองจะหลั่งโดปามีน และ เซโรโทนินออกมา ทำให้เรารู้สึกมีความสุขและเบาใจลง
เล่นดนตรี เคยเล่นดนตรีในวัยเด็กหรือเปล่า วันนี้ลองหยิบเครื่องดนตรีกลับมาเล่นอีกครั้งก็ได้ มีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการเล่นดนตรีสามารถช่วยในเรื่องของความจำได้ ด้วยการเปรียบเทียบระหว่างนักดนตรีที่มีประสบการณ์การเล่นดนตรีอย่างต่อเนื่องมาอย่างน้อย 10 ปี กับคนที่ไม่เล่นดนตรี พบว่ากลุ่มนักดนตรีมีความจำที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นการจดจำสิ่งรอบตัว ร้านอาหาร หรือชื่อคนรอบตัว
อ่านหนังสือ เล่นบอร์ดเกม การจมอยู่ในห้วงจินตนาการ ลับคมคิดกับหนังสือและบอร์ดเกม นอกจากจะส่งผลกับกระบวนการความคิดของเราแล้ว ยังส่งผลดีกับสมองในแง่สุขภาพด้วย เพราะมีงานวิจัยรายงานไว้ว่าช่วยป้องกันการสมองเสื่อมในระยะยาว จากการเปรียบเทียบคนที่ทำกิจกรรมเหล่านี้เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน มีความเสี่ยงต่อการสมองเสื่อมน้อยกว่าคนที่ไม่ทำกิจกรรมเหล่านี้เลย หรือทำแต่ทำน้อยกว่า 30 นาทีต่อวัน
จัดข้าวของในบ้าน Caroline Given นักจิตบำบัดกล่าวไว้ว่า งานอดิเรกที่ใช้แรงกายจะช่วยให้เรากำจัดความคิดฟุ้งซ่านที่หนักใจออกไปได้ ถ้ารู้สึกว่าการปลูกต้นไม้หรือการออกกำลังกายนั้นใช้แรงกายมากไป อาจเริ่มจากการจัดห้อง จัดตู้เสื้อผ้า หรือจัดโต๊ะทำงานก่อน เพราะการจัดข้าวของจะช่วยให้เรามีสมาธิกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และคิดฟุ้งซ่านน้อยลง
อยากมีงานอดิเรกนะ แต่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน
ถ้าเริ่มอยากหางานอดิเรกให้ตัวเองแล้ว แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไงดี เราเข้าใจ ก้าวแรกมักยากเสมอ ก้าวแรกในการเริ่มหาแรงบันดาลใจคือการอยู่กับตัวเอง และถามตัวเองว่า ‘เรามีอะไรที่อยากทำมาตลอดไหมนะ’ ลองคุยกับตัวเองถึงเรื่องที่อยากทำ บางครั้งหน้าที่การงานทำให้เราอาจลืมไปแล้วว่าเคยอยากวาดภาพ หรือช่วงหนึ่งในชีวิตเคยชอบตัวละครในอนิเมะตัวหนึ่งมากจนอยากเรียนคาราเต้ให้เตะได้เท่ได้เหมือนเขา
ถ้ายังคิดไม่ออกก็สามารถมองย้อนกลับไปในวัยเด็ก ว่าตอนเด็กเราเคยมีงานอดิเรกอะไรบ้าง ตอนนั้นเราทำอะไรแล้วมีความสุขนะ เรียนเต้น เล่นดนตรี หรือทำงานศิลปะ ตอนนั้นเราจับกลุ่มกับเพื่อนไปเล่นบาสหรือเปล่า หรือชอบการแสดงกันนะ บางครั้งเราก็สามารถหยิบเอากิจกรรมในวัยเด็กมาสานต่อเป็นงานอดิเรกในวันที่เราเติบโตขึ้นได้เหมือนกัน
หรือเราอาจจะหาคำใบ้จากสิ่งที่เราชอบทำ (ยกเว้นการนอนไว้หนึ่งนะ) ว่าเรามีความสุขกับการทำอะไรบ้าง สิ่งนั้นอาจจะต่อยอดไปสู่งานอดิเรกได้จริง มันอาจจะไม่ต้องจริงจังมากก็ได้ เป็นเพียงสิ่งที่เราทำแล้วช่วยให้ลืมความกังวลหรืออะไรก็ตามที่เข้ามารบกวนใจ ทำแล้วรู้สึกผ่อนคลาย ไม่รู้สึกว่าเหมือนกำลังทำงานอยู่
ถ้ายังไม่มีงานอดิเรกก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ลองค้นหาตัวเองไปจนกว่าจะพบคำตอบที่ใช่ก็ได้
ข้อมูลอ้างอิงจาก
Illustration by Manita Boonyong