ช่วงเวลาแห่งการหยุดยาว หลายคนถอดปลั๊กสิ่งต่างๆ รวมไปถึงปลั๊กในตัวเอง เพื่อเดินทางกลับไปสู่ ‘บ้าน’
แต่ ‘ทางกลับบ้าน’ ช่วงเทศกาลนั้นก็แสนยาวนานและต้องเต็มไปด้วยความอดทน แต่ด้วยความสำคัญของ ‘บ้าน’ ก็เป็นสิ่งที่ใครหลายคนยินดีจะอดทนใช้เวลาอยู่บนท้องถนนอย่างยาวนาน
พอดีกัน คงด้วยวันนี้เป็นวันที่ชีวิตจำนวนมากไปท่วมไปอยู่บนท้องถนน ท่านนายกของเราเลยออกมาบอกว่า ‘ถนนดีขึ้นทำให้ตายมากขึ้น เพราะไม่รักษากฎจราจร และดื่มสุรา’ อืม ในทัศนะของท่านก็คงประมาณว่า เพราะถนนได้รับการพัฒนา รถเลยวิ่งได้เร็วขึ้น พอวิ่งเร็วขึ้นก็เลยเกิดอุบัติเหตุ – แต่ที่ท่านพูดบางส่วนก็เป็นแนวทางที่ดีแหละ เรื่องการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ดี ถ้าขนส่งมวลชนดี มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพและเพียงพอ คนก็ไม่ต้องพึ่งพาการเดินทางที่เสี่ยงภัยและแสนยากเข็ญ
จริงๆ ก็ไม่เชิงเนอะ เพราะอย่างน้อยที่สุดโลกก็พัฒนาขึ้น เกิดพื้นที่เมือง พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่อยู่อาศัยขึ้น ถนนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทอดเชื่อมพื้นที่ต่างๆ เข้าด้วยกัน อย่างชาวเมือง ชาวออฟฟิศที่กำลังบ่ายหน้ากลับบ้านตอนนี้ก็เกิดจากความจำเป็นที่จะต้องจาก ‘บ้าน’ เพื่อเข้าไปทำงานในเมืองอันเป็นพื้นที่ที่ความเจริญทั้งหลายกระจุกตัวอยู่
กลับบ้าน? เมื่อเราต่างมีทั้งบ้านที่เปี่ยมความหมายให้กลับไป
พอถึงสมัยใหม่ ถนนทุกสายมุ่งสู่เมือง ใจกลางเมืองกลายเป็นแหล่งของความเจริญ เป็นย่านการค้า ย่านธุรกิจ เป็นแหล่งการศึกษา เราต่างก็ต้องบ่ายหน้าออกจากบ้านเพื่อมาใช้ชีวิตอยู่ในเมือง
ในภาษาไทย ถึงจะมีแค่คำว่าบ้านในการนิยามพื้นที่ที่เราใช้อยู่อาศัย ใช้นอน เป็นพื้นที่ทางกายภาพให้พักใจ แต่โดยนัยของ ‘บ้าน’ มันจะคล้ายๆ กับในภาษาอังกฤษที่มีคำว่า house และ home ที่ให้นัยต่างกันนิดหน่อย ระหว่างบ้าน ที่เป็นแค่พื้นที่ทางกายภาพ เป็นสิ่งปลูกสร้างก่ออิฐถือปูน ใช้บังแดดบังฝันและหลับนอน
แต่แน่ล่ะ สำหรับเรา บ้าน ย่อมมีความหมายมากกว่านั้น สิ่งที่เราทุกคนมีต่อบ้าน คือความรู้สึกผูกพัน (sense of belonging) คือเรามีความรู้สึกพิเศษเชื่อมโยงกับพื้นที่บ้าน เป็นพื้นที่ที่ตัวตนของเราหล่อหลอมขึ้นมา เป็นที่ๆ เรามีรากเหง้า มีอดีต มีเรื่องราว มีความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นทำให้ความหมายของพื้นที่บ้านมีความพิเศษขึ้น ไม่ได้เป็นแค่สิ่งปลูกสร้างธรรมดาๆ แต่อย่างเดียว
ถึงแม้ในบริเวณพื้นที่เมืองเช่นกรุงเทพ เราจะมีย่านพักอาศัยอันเป็นย่านที่มีหมู่บ้านจำนวนมาก แล้วเชื่อมต่อเพื่อเข้าไปทำงานในเมืองในแต่ละวัน ดังนั้นพื้นที่บ้านในเมืองที่อยู่กันแต่ละวันเลยมี ‘ความเป็นบ้าน’ น้อยกว่าบ้านที่เป็นบ้านเกิด- หรือบ้านที่เราเติบโตขึ้นมา
พลังของความรู้สึก belong ต่อบ้าน จึงเป็นแรงขับเคลื่อนให้ผู้คนสละเวลาและพลังงานจำนวนมากในการเดินทางฝ่าผู้คนมหาศาลในมหกรรมวันกลับบ้าน
ถนนในฐานะหนทางกลับบ้าน
หลายคนอาจจะกำลังอ่านงานชิ้นนี้โดยที่ตัวเองก็กำลังอยู่บนท้องถนน
ถนน อันเป็นเหมือนจุดเชื่อมต่อและจุดเปลี่ยนผ่าน ในการนำพาเราจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง
ลองนึกถึง road movie ตัวหนังมักพูดถึง ‘เรื่องราว’ การผจญภัยที่ทำผ่านการขับรถออกไปตามถนนสายหลัก ก่อนที่จะไปพบเจอเรื่องราวต่างๆ หนังแนว road movie จริงๆ แล้วก็เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับจินตนาการของมนุษย์ ที่เล่าเรื่องของตัวเองเป็นเสมือนการเดินทาง
พูดง่ายๆ คือถ้าเรามองว่าชีวิตคือการเดินทาง และชีวิตของเราจริงๆ ก็ต้องเดินทางผ่านถนนหลายๆ สาย จุดเริ่มของหนังหรือเรื่องราวชีวิตก็อาจจะเริ่มจากการใช้ถนนสายหลักเดินทางเข้าสู่เมือง และในช่วงวันหยุดยาวของปี ก็ถือเป็นเรื่องราวช่วงคลี่คลาย ที่เราๆ ได้กลับไปสู่ที่ๆ เราจากมา
การเดินทางไป จึงแตกต่างจากการเดินทางกลับ ที่อย่างแรกเราเดินทางไปสู่หนทางและปลายทางที่เราไม่รู้ ส่วนขากลับบ้านนั้นเราค่อนข้างแน่ใจได้ว่า เรากำลังกลับไปสู่อะไร
สุดท้าย ถนนอาจจะเป็นพื้นที่ที่คับคั่ง แออัด และอาจนำไปสู่อันตรายได้โดยเฉพาะในช่วงหน้าเทศกาล แต่ก็ต้องอย่าลืมว่า ความจำเป็นเป็นสิ่งที่พัดพาผู้คนเข้าสู่เมือง ผู้คนที่ไม่มีความรู้สึก belong ต่อพื้นที่เมืองที่ตัวเองอยู่ สุดท้ายจากการเข้าสู่เมืองอันเป็นเหมือนบทเริ่มต้นของการเดินทางชีวิต เรื่องราวการเดินทางออกจากบ้านก็ต้องดำเนินไปสู่การย้อนกลับไปสู่ที่ๆ อดีตและความรู้สึกของพวกเขาได้ฝังรากเอาไว้
กลับไปสู่ ‘บ้าน’ ในท้ายที่สุด
ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ