สำหรับเด็กบางคน กว่าจะได้อยู่กับแม่หรือครอบครัวอีกที ก็คงเติบโตจนกลายเป็นผู้ใหญ่แล้ว ในช่วงวันแม่แห่งชาติ สถานศึกษาหลายแห่งมักจัดกิจกรรมวันแม่ด้วยการเชิญผู้ปกครอง มาให้นักเรียนแสดงความรัก
แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีคนบางกลุ่มที่ในชีวิตของพวกเขา แทบจะไม่ได้ใช้เวลากับแม่ ไม่ค่อยได้พบ ไปจนถึงอาจจะไม่ได้เจอกันอีกแล้ว นี่คือเรื่องราวของเด็กๆ ใน ‘มูลนิธิบ้านพระพร’ สถานรับเลี้ยงเด็กๆ ที่พ่อแม่อยู่ในเรือนจำ
เราเข้ามาในบ้านพระพรในเย็นวันหนึ่ง เด็กๆ เพิ่งเลิกเรียน กลับมาจากโรงเรียน วิ่งเล่น เตะบอลด้วยกัน ในกลุ่มเด็กๆ เล็กๆ ปีนป่ายกันในสนามเด็กเล่นอย่างสนุกสนาน
ที่ตรงนั้นเรานั่งคุยกับ ‘พี่เล็ก’ พี่เลี้ยงเด็กในมูลนิธิบ้านพระพร ซึ่งเธอเล่าว่าตอนนี้ ที่นี่ดูแลเด็กๆ กว่า 50 คน มีทั้งเด็กเล็ก และเด็กโตไล่เลี่ยกันไป
“ตอนนี้บ้านพระพรมีเด็กๆ 56 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กวัย 1 ขวบ – 10 ขวบ ถ้าโตกว่า 10 ขวบ เราจะถือว่าเขาเป็นเยาวชน พ่อแม่ของเด็กๆ บางส่วนก็ยังอยู่ในคุก แต่ส่วนใหญ่พ้นโทษออกมาแล้ว ก็ยังส่งเด็กๆ มาอยู่ที่นี่ และบางคนก็มาเยี่ยมเด็กๆ บ้าง”
พี่เล็กเล่าว่า เด็กๆ ที่นี่ก็คือเด็กด้อยโอกาส ที่พ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูได้ จึงมาฝากที่นี่ รวมถึงลูกผู้ต้องขังที่พ่อแม่โดนจับแล้วลูกอยู่ข้างนอก หรือแม้แต่เด็กที่เป็นลูกติดผู้ต้องขัง หมายความว่าแม่โดนจับและติดคุกขณะที่กำลังตั้งท้อง แล้วก็ไปคลอดในเรือนจำ ติดผู้ต้องขังเข้าไป
“สำหรับลูกผู้ต้องขัง เราจะมีกฎหมายอยู่ว่า สามารถอยู่ในคุกกับแม่ได้ถึง 1 ขวบ ถ้าอายุเกิน 1 ขวบ ก็ต้องติดต่อญาติ ให้ญาติมารับ กรณีนี้ก็คือ ถ้าเด็กไม่มีญาติมารับ เรือนจำก็จะติดต่อเรามา ให้เรามารับหรือมาส่งที่นี่ เด็กๆ อยู่ที่นี่ ตอนนี้มีเด็กต่ำกว่า 1 ขวบแค่คนเดียว คือ 9 เดือน เพราะเขาออกมาพร้อมกับแม่เขา แม่พ้นโทษออกมา แล้วให้มาอยู่ที่นี่ เราไม่สามารถรับต่ำกว่า 1 ขวบได้ เพราะต้องมีคนดูแลใกล้ชิด”
เราถามพี่เล็กว่า เด็กๆ รู้ไหมว่าพ่อแม่เขาอยู่ที่ไหน ที่นี่บอกกับพวกเขาอย่างไร ?
“ถ้าพ่อแม่อยู่ในเรือนจำ เรามีการพาไปเยี่ยมในนั้น ถ้าไม่ติดอะไร เราพาเขาไปเยี่ยมทุกเดือน เขาก็จะรับรู้ว่าแม่เขาอยู่ข้างใน เพราะทำความผิด ถึงต้องโดนจับ เราก็ต้องพูดกับเขาตรงๆ เพราะเขาต้องเจอกัน เราต้องให้สายสัมพันธ์ตรงนั้นยังคงอยู่ด้วย แม่ที่อยู่ในนั้นเขาก็รอคอย เดือนนึงลูกไปเยี่ยมทีนึงเขาก็ดีใจมาก
“ที่นี่ก็มีเด็กลูกครึ่งด้วย ทั้งไนจีเรีย เกาหลี พม่า กัมพูชา คือแม่คนไทยของเขาติดคุก และส่วนใหญ่ถ้าแม่ติด พ่อจะทิ้งกลับประเทศทั้งนั้นเลย บางคนแม่ออกมาแล้ว ก็กลับเข้าไปอีกแล้ว เพราะถ้าไม่มีหลักตั้งตัว บางคนเข้าไปครั้งนึง มีลูกออกมาคนนึง พอกลับเข้าไป ก็มีลูกออกมาอีกคนนึงก็มีเหมือนกัน และพวกเขาก็เป็นพี่น้องที่ที่นี่ดูแลอยู่ทั้งคู่เลย
“จริงๆ ที่นี่ 70% แม่ออกมาหมดแล้ว แต่ว่าฝากไว้ก่อน บ้านพระพรมีเด็กเข้ามา ออกไปเรื่อยๆ แต่ออกไปจะน้อยกว่า หรือเรียกได้ว่าพ่อแม่ที่ออกจากคุกแล้ว จะมารับกลับออกไปน้อยมาก
“ผู้ต้องขัง พอออกมาจากเรือนจำแล้ว การเริ่มต้นใหม่ค่อนข้างยาก ทั้งการทำงาน การหาที่อยู่ บางทีพวกเขากลับบ้านไป บ้านก็ไม่รับแล้ว ซึ่งที่นี่เราก็มีผู้ใหญ่ด้วย ในกรณีที่พ่อแม่ไม่รับ เขาก็จะมาอยู่ที่นี่ เรียกว่าตอนนี้ เราก็มี 3 รุ่นเลย ทั้งเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่”
แม่ผู้เป็นอดีตผู้ต้องขัง สู่แม่ที่เป็นพี่เลี้ยงเด็กๆ
เราคุยเรื่องเด็กๆ ไปโดยที่มีเด็กๆ วิ่งเล่นรอบๆ ตัวเราไปด้วย พี่เล็กได้เล่าเรื่องชีวิตของตัวเองให้เราฟัง ว่านอกจากทำงานเลี้ยงดูเด็กๆ ที่พ่อแม่ติดคุก หรือเคยรับโทษแล้ว พี่เล็กเองก็เป็นอดีตผู้ต้องขังคนหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งมีประสบการณ์คลอดลูกในเรือนจำด้วย
“พี่ก็เป็นอดีตผู้ต้องขัง พี่ก็มาอยู่บ้านพระพรกับลูกเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว ตอนนี้ลูกคนโตของพี่อายุจะ 10 ขวบแล้ว ซึ่งในตอนนั้นที่เราติดอยู่ เราติดลูกเข้าไปตอนเขาอายุ 2 เดือน เราก็คลอดลูกในนั้น
“ในเรือนจำ ถ้าถึงกำหนดคลอดเขาพาเราออกมาคลอดที่โรงพยาบาล เรือนจำใกล้โรงพยาบาลไหนก็ไปคลอดที่นั่น เราอยู่ที่เรือนจำกลาง เขาก็พาไปคลอดที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เขาให้นอนโรงพยาบาลแค่คืนเดียว คลอดเสร็จก็กลับมาในเรือนจำเลย เพราะเขากลัวว่าเราจะหนี
“แรกคลอดเสร็จเขาก็มีของเหมือนของช่วยเลี้ยงเด็กให้เรา ต่อจากนั้นเราก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง เขาจะเน้นให้เด็กกินนมแม่ตลอด 6 เดือน ต้องกินนมแม่เท่านั้น จะไม่มีแจกเลย หลังจากนั้นถึงจะให้เด็กได้กินนมผง ขนาดเราว่าเลี้ยงลูกข้างนอกลำบาก เลี้ยงข้างในเราก็ลำบากมาก เรื่องน้ำ หรือว่าทั้งนม ทั้งแพมเพิร์สเขาไม่ได้มีแจกให้เรา เราต้องดิ้นรนหาเอง ถ้าใครมีญาติ ญาติก็เอามาให้ ถ้าไม่มีก็ต้องรับจ้าง หาเงินมาซื้อให้ได้”
ในตอนนั้น พี่เล็กไม่ได้เป็นคนเดียวที่เลี้ยงลูกในเรือนจำ แต่มีผู้ต้องขังที่คลอดลูกพร้อมๆ กันหลายคน และมีคนท้องที่ถูกจำคุกเข้าไปใหม่เรื่อยๆ ด้วย
“มีแม่ที่ติดลูกเข้าไปคลอดเยอะ มีเข้ามาใหม่เรื่อยๆ เลยด้วย ตอนนั้นมีคุณแม่ที่คลอดลูกวัยเดียวกันในคุกเป็นกลุ่มที่มีจำนวนพอสมควร คนที่รอคลอดก็มีกว่า 60 คน แม่ลูกอ่อนก็อีกกว่า 60 คน คุกนี่มีคนเข้าทุกวันเลยนะ คนท้องเองก็มีเข้ามาเรื่อยๆ เลยที่เรือนจำกลาง
“เรือนจำ เขาจะจัดห้องเด็กแม่ลูกอ่อนอีกห้องนึงเลย ไม่ได้มีผู้ต้องขังคนอื่นด้วย มีห้องเด็กอ่อน เลี้ยงเด็กตอนกลางวันแยก แต่พอตอนกลางคืน เด็กๆ ก็จะมานอนนอนรวมกันกับผู้ต้องขังคนอื่น และก็มีสถานพยาบาลในเรือนจำ มีการคัดกรอง ซักประวัติ ถ้าเป็นคนท้องก็จะตรวจเลือด ตรวจอะไรตามขั้นตอน เหมือนข้างนอก และก็ส่งตรวจตอนฝากครรภ์”
พี่เล็กเล่าว่า ระยะพ้นโทษของเธอหมดพร้อมๆ กับกฎหมายที่ลูกต้องออกจากเรือนจำเมื่อครบ 1 ปีพอดี ทำให้ได้ออกมาด้วยกัน และมาเริ่มชีวิตใหม่ที่บ้านพระพร ในฐานะพี่เลี้ยงเด็ก
“พี่ได้รับความช่วยเหลือจากที่นี่ ตอนนั้น เราเข้าไปในคุกตอนลูก 2 เดือน แล้วก็จำคุก 2 ปี เราพ้นโทษออกมากับลูก ตอนเขาอายุได้ 1 ขวบ 2 เดือน จริงๆ เขาต้องออกมาตอนขวบนึง แต่พี่เหลือโทษอยู่อีกแค่ 2 เดือน เขาก็เลยอนุโลมให้ ทำให้ได้ออกมาพร้อมกัน พอออกมาเราก็ไม่รู้จะไปเริ่มใหม่ที่ไหน เราก็เลยตัดสินใจมาอยู่ที่นี่ นับว่าเป็นเคสแรกๆ เลยด้วยที่มาอยู่
“ตอนแรกอาจารย์ที่นี่เขารับแต่ผู้ใหญ่ก่อน คนที่ออกมาแล้วไม่มีที่อยู่ ก็มาอาศัยอยู่ที่นี่ แล้วเด็กๆ ก็เริ่มมา พอเด็กมา เรารู้สึกว่าพระเจ้าใช้เราให้ทำงานที่นี่ เพราะเรารู้ว่าชีวิตที่อยู่ข้างในคุกเป็นยังไง เราเข้าใจ เพราะเราเคยอยู่ พระเจ้าจึงใช้เรา จริงๆ ที่นี่เป็นมูลนิธิคริสเตียน แต่เขาไม่ได้เน้นว่าให้เราต้องเชื่อพระเจ้า เขาเน้นให้เราสร้างชีวิตใหม่ ตอนแรกเราก็คิดว่าเขาจะบังคับเรา แต่ก็ไม่ เราก็ได้ยินคำพยาน เราเห็นชีวิตคนอื่นที่เปลี่ยนได้ เริ่มท้าทาย จนเราตัดสินใจเชื่อ และก็อยู่ที่นี่มาจนถึงทุกวันนี้”
บ้านพระพร สถานที่ที่ดูแลเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่
บ้านพระพร ไม่ได้ทำงานกับแค่เด็กๆ แต่ก่อนหน้านี้ ได้ทำงานกับผู้ต้องขังที่พ้นโทษก่อน รวมถึงเยาวชน หลังจากนั้นถึงได้หันมาทำงานกับเด็กๆ ซึ่งก็คือการรับเลี้ยง
“เราเริ่มรับเด็กเพราะว่า มีคนเขียนจดหมายเข้ามาหาอาจารย์ซึ่งเป็นประธานมูลนิธิว่า เขาโดนจับ แล้วลูกเขาอยู่ข้างนอก ไม่มีคนดูแล ไม่รู้จะอยู่ยังไงด้วย เขาขอให้เราไปช่วยตามหาลูกเขา จากบริเวณแถวๆ ที่เขาบอก เราก็ไปตามจนเจอ ไปถามหา แล้วเราก็รับมา ตอนนี้พ่อน้อง มารับตัวเขารับกลับไปแล้ว หลังจากนั้นก็เลยเริ่มรับเด็กมาเลี้ยงดู และเรือนจำก็เลยเริ่มมาประสานงานกับที่นี่ บวกกับ ตอนนั้นมีบ้านสถานรับเลี้ยงเด็ก ที่รับเลี้ยงเด็กอยู่ 5 คน แล้วอยู่ดีๆ เขาปิดทำการ พอเราทำงานอยู่ในเรือนจำอยู่แล้ว เขาเลยถามว่าเราโอเคที่จะดูแลเด็กไหม เด็ก 5 คนนั้นก็ยังคงอยู่ที่นี่ด้วย”
ที่นี่ เด็กๆ ไม่ได้แค่มาอยู่อาศัย แต่ยังมีการส่งไปโรงเรียนตามวัยของเด็กๆ ด้วย ซึ่งพี่เล็กก็ได้เห็นเด็กหลายคนโตกันไปจนเรียนจบบ้าง
“เราก็ส่งไปโรงเรียน พออายุ 2 ขวบครึ่ง เราส่งไปศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พอ 4 ขวบก็เข้าอนุบาล โตขึ้นไปถึงมัธยม เช้าเราไปส่ง เย็นเราก็ไปรับเขากลับมา”
แล้วก็มีระยะเวลา เด็กเราจะให้เขาเรียนจบ ม.6 ถ้าแม่ยังไม่มา เราก็ให้เรียนต่อไป เลี้ยงเขาต่อ แล้วเราส่งเสริมให้ทำงาน อาจารย์ที่นี่จะถามเด็กว่า เด็กต้องการอะไรต่อไป เรียนต่อก็คือเรียนต่อ บางคนอยากทำงานก็คุยกันว่าให้ทำอะไร เรามีสอนวิชาชีพเยอะที่นี่ ทั้งเกษตร เบเกอรี่ ช่างตัดผม กีต้าร์
“เราอยู่มาเกือบ 8 ปี ก็ได้เห็นเด็กบางคนตั้งแต่เล็กจนโต เด็กก็โตกันเป็นลำดับๆ บางคนก็มีจบปริญญาไป ก็ไปใช้ชีวิตของเขาเอง กลับมาเยี่ยมน้องบ้าง”
“มีเยาวชนจากสถานพินิจ เด็กที่สถานพินิจปล่อยตัว และเขาไม่มีบ้านกลับ บางคนเป็นเด็กกำพร้า ทำความผิด พอพ้นโทษ สถานพินิจก็จะโทรมาหาเราว่า มารับเด็กหน่อยได้ไหม ที่ไม่มีบ้านกลับ อีกกลุ่มนึงคือมาจากศาล ศาลสั่ง ศาลไม่อยากให้เข้าสถานพินิจก็จะให้มาอยู่บ้านพระพร เพื่อเรียนหนังสือ หาวิชาชีพติดตัว
“หรือเวลามีอะไรศาลก็จะติดต่อที่นี่ที่เดียว อย่างตอนที่มีอภัยโทษมา คนก็จะเข้ามาเยอะ คนที่ไม่เชื่อพระเจ้าก็มี ก็อยู่กันไป เราก็ยังสนับสนุนกัน
“เด็กที่นี่ก็ซน เราก็ดูแลเขาได้ตามกำลัง ส่วนมากเราใช้ความรักของพระเจ้า เราได้รับความรักจากพระเจ้ามา เราก็มาถ่ายทอดให้เขา ถ้าเราไม่มีพระเจ้า เราคิดว่าเราก็ทำงานแบบนี้ไม่ได้ ต้องใช้ความอดทนมาก ไม่ว่าเด็กเล็กเด็กโต ก็อยู่กับเราทั้งวันทั้งคืน เรากอดเด็กคนนึง เด็กอีก 10 คนก็อยากให้เรากอด
“ตั้งแต่อยู่ที่นี่มา บางคนตั้งตัวได้แล้ว กลับมารับลูก แต่สุดท้ายก็ขอกลับมาส่งอีก เขามองว่าที่นี่ดีสำหรับลูกเขาแล้ว มีมาทั้ง 3 พี่น้อง ผู้ชายทั้ง 3 คนเลยก็มี แต่ก็จะมีที่มาเยี่ยมลูกบ้าง หรือบางคนพ้นโทษแล้วก็หายไปเลยก็มี แต่แบบที่มาเยี่ยมก็ยังเยอะกว่า เราไม่มีการผูกมัดอะไรเขาเลย เขายินดีให้เขามารับกลับไปเมื่อเขาพร้อมจริงๆ”
ระหว่างที่เรากำลังนั่งคุย ก็มีเสียงเด็กๆ ฝึกร้องเพลง ‘เรียงความเรื่องแม่’ ซึ่งพี่เล็กได้บอกเราว่า เด็กๆ ฝึกร้องเพลงไว้ เพื่อโชว์เป็นการตอบแทน เวลามีแขกจากภายนอกมาเยี่ยม
“เราฝึกไว้ เผื่อมีกิจกรรมของเด็ก ถ้าแขกมาเยี่ยมเรา เราก็ร้องเพลงโชว์เพื่อเป็นการตอบแทนแขก ถ้ามีเทศกาลไหน เราก็จะซ้อมเพลงเทศกาลนั้นไว้ เพราะเวลาเรามีแขกมา เราไม่รู้จะตอบแทนแขกยังไง อย่างน้อยเราก็เอาเสียงเพลงตอบแทนพวกเขา”