เราต่างมีคุณแม่เป็นของตัวเอง แต่คุณแม่ของเราอาจจะไม่ได้เหมือนกับภาพของคุณแม่ในโฆษณานมผงเท่าไหร่ แม่เราบางทีก็แสนดุ ไม่ได้ดูอารี อบอุ่น และโอบกอดเราอยู่ตลอดเวลา แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่าจะอย่างไร เธอก็เป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่งคนหนึ่งที่เลี้ยงดูฟูมฟักเรามาได้จนทุกวันนี้ เราต่างมีเรื่องราวและภาพของแม่ในแบบของตัวเอง ความแตกต่างในรายละเอียดของแม่ๆ ทั้งหลายนี่แหละ ที่ทำให้แม่ของเราเป็นที่รักและอยู่ในหัวใจของเราเสมอมา
เนื่องในโอกาส 12 สิงหา ‘วันแม่’ ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้ง The MATTER จึงชวนมาทำความรู้จักกับเหล่าแม่ๆ จากหนังสือ แม้อาจไม่ใช่คุณแม่ดีเด่นอย่างที่เราจินตนาการไว้ แต่พวกเธอต่างก็มีลักษณะเฉพาะตัว มีเรื่องราว มีความน่ารักในแบบของตัวเอง สุดท้ายเมื่อได้ทำความรู้จักคุณแม่ๆ ในจินตนาการแล้ว ก็อาจชวนให้นึกเชื่อมโยงกลับไปถึงคุณแม่ตัวจริงอันเป็นที่รักของเราก็ได้
Mrs. Bennet – Pride and Prejudice (1831)
พูดเรื่องครอบครัวทีไร งานชิ้นนี้ของเจน ออสเตนก็โผล่มาทุกที แต่อย่าเพิ่งเบื่อ เพราะแน่ล่ะว่าเจนเป็นนักเขียนหญิงที่มีสายตาและวิธีการเล่าเรื่องที่ละเอียดคมคาย เรื่องราวในครอบครัวจึงเป็นจุดเด่นในงานของเจนเสมอ
คุณนายเบนเนตถือเป็นคุณแม่จากโลกวรรณกรรมที่ชวนให้นึกถึงคนหนึ่ง ครอบครัวเบนเนตมีลูกสาวอยู่ถึงห้าคน นี่จึงถือว่าเป็นความรับผิดชอบใหญ่หลวงที่จะต้องหาสามีดีๆ ให้ลูกสาวให้ได้ คุณนายเบนเน็ตในฐานะแม่เลยเป็นคนที่… ก็อาจจะเจ้ากี้เจ้าการไปหน่อย ชอบพูดว่าลูกสาวแรงๆ ให้อายต่อหน้าธารกำนัลบ้าง แต่ด้วยความเป็นแม่อะนะ ถ้ามองจากแรงจูงใจ เธอก็คงอยากให้ลูกสาวของเธอได้ดีแหละ
อ่านถึงตรงนี้หลายคนก็อาจจะ อุ๊ย! แม่เรารึเปล่า คือหวังดีก็เข้าใจ แต่ก็ไม่ต้องบ่นในที่สาธารณะหรือต่อหน้าแฟนเราได้ม๊ายยย
Margaret March – Little Women (1868)
เรามักมีหนังหรือวรรณกรรมที่มีแกนกลางเป็นเรื่องครอบครัว และนี่คือเรื่องของพี่น้องผู้หญิงสี่คนที่ใช้ชีวิตอยู่กับแม่ Little Women (ฉบับภาษาไทยชื่อ ‘สี่ดรุณี’) ถือว่าเป็นหนึ่งในนวนิยายระดับไอคอนที่พูดเรื่องความรักความอบอุ่นในครอบครัว เขียนโดยลุยซา เมย์ อัลคอตต์ (Louisa May Alcott) นักเขียนชาวอเมริกัน
เรื่องนี้มีฉากหลังเป็นช่วงกลางเมืองสหรัฐ มาร์กาเรต มาร์ช หรือหม่ามี๊ เธอต้องรับที่หน้าหลักในการดูแลบ้านและลูกสาวทั้งสี่ในขณะที่สามีไม่อยู่ สิ่งที่เธอทำคือการเลี้ยงดูสั่งสอนลูกสาวทั้งสี่ด้วยความรัก ความอบอุ่น เพื่อให้ลูกๆ ของเธอสามารถเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงและฉลาดเฉลียวได้ในที่สุด
Suyuan Woo – The Joy Luck Club (1989)
ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาวถือเป็นแกนสำคัญในงานเขียนของเอมี ตัน (Amy Tan) นักเขียนหญิงอเมริกันเชื้อสายจีนที่ชอบเล่าถึงความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่าง ‘คนรุ่นแม่’ ที่เติบโตและซึมซับวัฒนธรรมจีนโบราณเอาไว้ กับคนรุ่นลูกที่เริ่มกลายเป็นคนอเมริกันในโลกสมัยใหม่
The Joy Luck Club ถือเป็นนวนิยายที่มีชื่อเสียงที่สุดชิ้นหนึ่งของเธอ ในเรื่องพูดถึงคู่แม่ลูกเชื้อสายจีนในอเมริกาสี่คู่ โดยเล่าเนื้อหาผ่านวงเล่นไพ่นอกกระจอก
Suyuan Woo เป็นคุณแม่ที่ก่อตั้งวงไพ่นี้ ซึ่งจริงๆ ในเรื่องคุณแม่ทั้งสี่ล้วนเป็นคุณแม่ที่แข็งแกร่ง เป็นผู้ที่ต้องเผชิญหน้ากับความแตกต่างทางวัฒนธรรม ลองนึกภาพเหล่าแม่ๆ ที่หอบข้าวของมาสู่ดินแดนใหม่ พวกเธอต่างเป็นผู้หญิงที่มีเรื่องราว และผ่านการเสียสละสูญเสียมาอย่างมากมาย สิ่งที่สตรีจากแผ่นดินใหญ่เหล่านี้ทำคือการส่งผ่านเรื่องราวและบ่มเพาะรากเหง้าประวัติศาสตร์ของพวกเธอไปยังลูกหลานของเธอ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย
Cersei Lannister – A Game of Thrones (1996)
เธอคือ ‘คุณแม่’ ในระดับแม่ของอาณาจักร …ว่าไปก็ไม่แน่ใจว่าจะจัดเซอร์ซี แลนนิสเตอร์เป็นแม่ที่ดีหรือแม่ตัวร้ายได้เสียทีเดียว แต่ทุกวันนี้ถ้าพูดถึงแม่ที่โด่งดังและเป็นที่จดจำจากหนังสือ ยังไงก็ต้องมีคุณแม่ผู้ร้ายกาจท่านนี้ติดโผมาด้วย ถ้าเรามองว่าตัวละครทุกตัวในเกมออฟโทรนส์ต่างก็มี ‘วาระ’ หรือแรงจูงใจของตัวเอง สำหรับการทำเรื่องร้ายๆ เช่น การฆ่า การทรมาน การคดโกงต่างๆ
แรงจูงใจสำคัญของเซอร์ซีก็น่าจะอยู่ที่ ‘ความเป็นแม่’ ที่ต้องการจะปกป้องลูกๆ ของเธอ ในเกมของอำนาจและราชบัลลังก์ การรักษาอำนาจที่มั่นคงสมบูรณ์ไว้ก็คงจะเป็นวิธีการที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นหลักประกันความปลอดภัยของลูกๆ ของเธอ ถ้ามองในแง่นี้ ในฐานะแม่ที่ต้องปกป้องและสามารถทำทุกอย่างเพื่อลูกได้ การลงมือต่างๆ ของเธอก็อาจจะรับได้ขึ้นมาบ้าง
อ้อ! นี่พูดถึงแค่ภาพรวมเนอะ ขอความกรุณางดสปอยล์กันด้วยล่ะ!
Molly Weasley – Harry Potter (1997)
คุณแม่แสนน่ารัก ที่ดูคล้ายกับแม่ที่เราพบได้ในชีวิตจริง มอลลี่ วีสลีย์ คุณแม่แห่งครอบครัววีสลีย์ถือว่าเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่รับบทหนักในฐานะแม่ ลองจินตนาการถึงครอบครัวฐานะปานกลางที่ต้องดูแลความอยู่รอดและเลี้ยงดูลูกๆ จำนวน 7 คน
การเป็นแม่บ้านก็ว่าเหนื่อยแล้ว ยังต้องควงไม้กายสิทธิ์ไปออกรบกับเหล่าศัตรูตัวร้ายทั้งหลายอีก มอลลี่ถือเป็นคุณแม่ที่ดูจริงมากๆ เธอแข็งแกร่งทั้งต่อภาระและการที่เธอสามารถลุกขึ้นเอาตัวเองเข้าสู้เพื่อปกป้องสวัสดิภาพของครอบครัวที่เธอรัก แม่ก็คือแม่จริงๆ ทั้งโอบอ้อมและดุดัน คทาก็แกว่งมือก็ไกว
แม่ – เรื่องของน้ำพุ (2517)
ในโลกของนักเขียนและวรรณกรรมไทย สุวรรณี สุคนธาเป็นหนึ่งในแม่ที่อยู่ในความทรงจำของเรา เรื่องของน้ำพุและพระจันทร์สีน้ำเงินเป็นเรื่องที่เขียนขึ้นจากชีวิตจริง จากเรื่องราวของแม่ที่เล่าเรื่องราวและความรู้สึกของสูญเสียลูกชายวัยเพียง 18 ปี ได้อย่างละเอียดลออและละเอียดอ่อน
สิ่งที่เราสัมผัสได้จากแม่ในเรื่องนี้คือ เธอไม่ได้เป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบ เธอคือแม่ผู้โอบกอดความสูญเสีย และยอมรับว่าเธอเองก็กำลังเรียนรู้และกำลังผิดพลาด เธอเป็นเพียงผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังเรียนรู้และร้าวรานไปกับความผิดพลาดและการจากไปของลูกชาย
ในหนังสือตอนหนึ่งปรากฏข้อความว่า ‘นี่เป็นความผิดของแม่คนเดียว ไม่ใช่ของใครเลย และบัดนี้แม่ก็รับกรรมอันนั้นแล้ว หลับให้สบายเถอะนะน้ำพุ ระหว่างเราแม่ลูกไม่ต้องพูดกันถึงชาตินี้ หรือชาติหน้าหรอก น้ำพุอยู่ในหัวใจของแม่ตลอดเวลาอยู่แล้ว’
งานเขียนของสุวรรณีถือได้ว่าเป็นงานเขียนที่แสดงออกถึงพลังของผู้หญิงและความศิลปินได้เป็นอย่างดี การเล่าเรื่องเต็มไปด้วยรายละเอียดราวภาพวาด ภาษาที่ตรงไปตรงมาแต่เต็มไปด้วยความรู้สึก ทั้งหมดนี้ทำให้เมื่อเราอ่านงานชิ้นนี้ เราจึงเหมือนกำลังสูญเสียคนที่น่ารักแสนเยาว์วัยคนหนึ่ง
มธุสร – ล่า (2520)
เรื่อง ‘ล่า’ ที่เพิ่งจะเป็นกระแสและกำลังจะกลับมาเป็นละครรีเมกอีกครั้ง ในมิติของการเป็นแม่ ‘มธุสร’ จากปลายปากกาของทมยันตีก็ถือว่าเป็นแม่ที่พิเศษและน่าจดจำคนหนึ่ง โดยทั่วไปแล้วบทบาทแม่ในละครและความคาดหวังของสังคมมักจะเป็นภาพที่อบอุ่น ดูแลบริบาลครอบครัวด้วยความโอบอ้อม แต่แม่อย่างมธุสร เมื่อเธอและถูกกระทำย่ำยี สิ่งที่เธอทำคือการลุกขึ้นและเปลี่ยนแปลงสถานะจากการเป็นผู้ถูกล่าเป็นผู้ล่า ความเป็นแม่จึงมีสองด้านเสมอ ด้านหนึ่งอ่อนโยน อีกด้านหนึ่งเต็มไปด้วยเขี้ยวเล็บ