ลมพัดอ่อนๆ พาให้ยอดต้นมะพร้าวไหวปลิว ช่วยคลายร้อนในช่วงสายวันอังคาร ที่ว่างเว้นจากลานร่มผ้าใบและเตียงเปล ของหาดวอนนภา บางแสน พอให้ผู้คนแปรสภาพท้ายพาหนะคู่ใจ พร้อมจับจองปูเสื่อกับครอบครัวและเพื่อนฝูง แต่ใช่ว่าจะปล่อยให้เด็กน้อยได้วิ่งเล่นตามอำเภอใจได้อย่างเดิม ด้วยมีแนวบันไดกันคลื่น 5 ขั้น ขนาดพอก้าวของคนโตเป็นปราการด่านสุดท้าย
เครื่องจักรกลหนักกำลังเดินหน้าเต็มกำลัง บนพื้นที่หน้ากว้างขนาด 12 เมตร หรือ 3 ล็อคการค้าตลอดเดือน ก่อนจะค่อยๆ ขยับขึ้นเหนือต่อไปจนบรรจบกับหาดบางแสน นับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่ชายหาดวอนนภา หรือ หาดวอน ที่มีการปรับภูมิทัศน์และก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งตลอดแนวหาดราว 2 กิโลเมตร
ด้วยโฉมใหม่ของหาดวอนที่มาพร้อมกำแพงติดชายฝั่งทะเล ที่ไม่มีคำจัดกัดความนอกเหนือจาก ‘กำแพงกันคลื่น’ จึงเป็นจุดตั้งต้นของข้อห่วงใยนานาประการ ทั้งทัศนียภาพที่เปลี่ยนไป ความปลอดภัยในการใช้งาน ตลอดถึงหน้าศักยภาพและความเหมาะสมในฐานะกำเเพงกันคลื่นเเบบขั้นบันได เพราะที่ผ่านมานั้นแม้แต่งานวิชาการ ก็ไม่อาจปักธงเลือกข้างเสียทีเดียว คล้ายกับอาศัยเวลาเป็นบทพิสูจน์สมมติฐาน เพียงแต่ทุกการทดลองครั้งก่อนๆ ล้วนแต่ต้องแลกด้วยหลายสิ่งที่ไม่อาจตีมูลค่าได้ทั้งสิ้น
ทว่า ต้องย้ำอีกครั้งว่านี่เป็นโครงการที่ผู้รับผิดชอบทำเรื่องก่อสร้าง ‘เพื่อการพัฒนาพื้นที่ชายหาด’ ไม่ใช่ ‘การก่อสร้างกำแพงกันคลื่น’ ที่มุ่งป้องกันคลื่นเซาะฝั่งเป็นลำดับต้น แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีราคาที่ต้องจ่ายมากน้อยลดลั่นกันไป
หลังกลิ่นคลุ้งของแพลงก์ตอนบลูมโบกมือลาทะเลสีเขียวไม่ถึงสัปดาห์ The MATTER มีโอกาสลงพื้นที่พูดคุยกับบรรดาร้านค้า เหล่าคนหาบเร่ ขายเสื่อปูเตียง ถึงผลลัพธ์ของการปรับเปลี่ยนที่กำลังเกิดขึ้น รวมถึงความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวขาประจำ และขาจร ว่าชื่นชอบหรือไม่ อย่างไร
วิถีคนติดหาด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมุ่งหน้ามายังหาดวอนครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังเพจท้องถิ่น ที่นี่บางแสน เผยโฉมใหม่ของหน้าหาดที่เปลี่ยนไปในช่วงน้ำทะเลขึ้นสูงเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ เพราะแทนที่ผืนน้ำจะบรรจบกับหาดทรายตามปกติ กลับกลายเป็นปะทะแนวขั้นบันได และเหลียวตาต่อไปอีกนิดก็พบเส้นทางเดินแผ่นคอนกรีตขนาดกว้างราว 1 เมตร ที่ติดชิดแนวร้านค้าที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าจับจองกันนำมาซึ่งข้อห่วงกังวลลำดับต้นๆ ในโลกออนไลน์ ว่าภายใต้ความสวยงามนี้ ‘รอเลยตะไคร่ ลื่นหัวแตก’ เราจึงอดไม่ได้ต้องเริ่มต้นด้วยคำถามนี้
“ไม่กี่วันก่อนรถโรงพยาบาลเพิ่งมารับไป” เรื่องตลกร้ายถูกเล่าผ่าน กิ่งแก้ว (นามสมมติ) แม่ค้าที่คอยให้บริการเสื่อปูนั่งหน้าหาดวอน เล่าถึงนักท่องเที่ยวที่ลื่นล้มตรงทางลงบันได จนหัวแตกจนต้องส่งตัวไปรักษาเมื่อไม่กี่วันก่อนนี้เอง
กิ่งแก้ว เล่าว่า ค้าขายบริเวณหน้าหาดแห่งนี้ตั้งแต่ยังไม่มีร้านค้า เป็นเพียงชุมชนประมงที่คนหาปลามาจอดขึ้นเรือ คัดเลือกปลาก่อนที่จะมีคนมารับซื้อ รวมถึงตั้งแผงขายเล็กๆ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนพื้นที่ให้ชาวเลถอยร่นไปชิดหาดฝั่งหนึ่ง ทำให้นั่งท่องเที่ยวเริ่มนิยมมาพักผ่อนมากขึ้น
จึงไม่น่าแปลกใจที่ กิ่งแก้วและบรรดาผู้ทำธุรกิจกางเตียงผ้าใบ และประกอบกิจการขายอาหารจะชื่นชอบการปรับพื้นที่ในครั้งนี้ ด้วยที่ผ่านมา น้ำทะเลที่ซัดขึ้นมากระทบฝั่งโดยเฉพาะหน้ามรสุม ได้พัดพาผืนทรายหน้าหาดให้หายไปทีละน้อย จนกระทบต่อการค้าขาย “ดูสะอาดตา เดี๋ยวกลางคืนพอมีเปิดไฟก็สวย เสียตรงที่เวลาน้ำขึ้น(พื้น)ลื่นนะแบบนี้”
แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะไม่กังวลกับผลกระทบที่เกิดขึ้น จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ เพราะไม่เพียงเป็นผู้สังเกตการณ์ แต่ในฐานะหนึ่งในผู้ดูแลพื้นที่ กิ่งแก้ว เล่าว่า เขาต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ “เจ้าหน้าที่เขาก็ขอความร่วมมือไว้ ให้ช่วยกันขัดช่วยกันดูแลใครอยู่ตรงไหน ลูกค้าจะได้สบาย”
เสียงยืนยันถึงความพอใจของนักท่องเที่ยว ย่อมเป็นผลสำเร็จเบื้องต้นตามที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบคาดหวังไว้ “ดูกว้างขวางหน้านั่งขึ้นเยอะ ก่อนหน้านี้ไม่มีใครมาปูเสื่อแถวนี้หรอก เขาก็ไปกระจุกหน้าหาดบางแสนกันทั้งนั้น เข้าใจคนที่เขาบอกว่าต้องอนุรักษ์นะ แต่ดินที่เซาะก็เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน” สมพล (นามสมมติ) เป็นคนหนึ่งที่ตั้งใจพาแม่ชมทะเล ทั้งที่ท่านทำได้เพียงนั่งชมบนรถวีลแชร์ ให้ความเห็น
ขณะที่ ประสบการณ์ทำประมงพื้นบ้าน และเป็นชาวหาดวอนแต่กำเนิดของ ประวิตร (นามสมมติ) วัย 65 ปี ทำให้เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่บอกเล่าความเปลี่ยนแปลง และให้ความเห็นอย่างน่าสนใจ “แล้วแต่ใจคนนะว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ใช้ไปสักพักค่อยว่ากันอีกที อย่างก่อนหน้านี้มีตาข่ายกันขยะยาวไปถึงแหลม พังแล้วพังเลย”
ความกังวลเรื่องการซ่อมบำรุงที่เคยเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกเช่นนี้เอง ที่ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนว่าพวกเขาพอใจกับการพัฒนาครั้งนี้มากน้อยเพียงใด
คลาดสายตาจากเด็กเล็กไม่ได้ยิ่งกว่าเดิม
บ่ายคล้อยไปยิ่งแดดร่มลมตกมากขึ้นเท่าไหร่ ความคึกคักของหาดวอนก็ค่อยเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวมักมากันเป็นกลุ่มใหญ่ และสิ่งที่สะดุดตาเป็นพิเศษ คือ จำนวนมากมีเด็กน้อยติดสอยห้อยตามมา โดยมีอุปกรณ์ตักทรายเป็นของข้างตัว และหากไม่ได้นำมาเองของเล่นลักษณะนี้ก็มีคนเร่ขายอยู่ไม่ขาด
“ขับรถจากกรุงเทพฯ เลยพาลูกมาเล่นทราย เขาชอบมาก แต่วันนี้คงไม่ได้ลงน้ำ เพราะยังกลัวที่ว่าน้ำเขียวอยู่” วษา (นามสมมติ) แม่ของลูกสาวในวัยอนุบาลคนหนึ่งเล่าให้ฟัง พร้อมให้ความเห็นว่า ถ้าทั้งหาดจะเป็นขั้นบันไดทั้งหมดก็กังวล กลัวลูกจะได้รับอันตราย เช่นเดียวกับ เจ้าของร้านของชำ และให้บริการห้องน้ำ อย่าง สมศักดิ์ (นามสมมติ) ในวัย 67 ปี ก็เป็นคนหนึ่งที่กังวลในประเด็นนี้
“ปกติรถมาจอดปุ๊บเด็กก็วิ่งลงทะเลเลย เขื่อนเก่ามันไม่สูง เด็กก็ยังโดดขึ้นโดดลงได้ เด็กเล็กหน่อยพ่อแม่จับหย่อนข้าม แต่ตอนนี้จังหวะลงถ้าไม่มีคนโตไปดูแลจะลื่น เพราะมันเป็นหินพอโดนน้ำทะเล หรือเมือกแพลงก์ตอนก็ยิ่งลื่น”
ความอันตรายลักษณะเดียวกันนี้มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วหลายกรณี อย่างที่ปีก่อนบริเวณหาดชะอำใต้ จ.เพชรบุรี มีนักท่องเที่ยวชายลื่นที่กำแพงกันคลื่น ซึ่งมีตะไคร่น้ำปกคลุมหนาแน่น จนส่งผลให้กระดูกคอหัก และแพทย์ลงความเห็นให้เป็นผู้พิการ นำมาสู่การต่อสู้เพื่อเรียกร้องการเยียวยา และต้นปีนี้ก็เพิ่งเกิดเหตุการณ์ซ้ำเดิมบริเวณกำแพงกันคลื่นปราณบุรี ที่ซึ่งท่องเที่ยวต่างชาติลื่นล้มจนได้รับบาดเจ็บ จนถูกตั้งคำถามถึงมาตรฐานความปลอดภัย
‘น้ำร้อนน้ำชา’ เติมทรายเต็มหาด
หากใครเคยมีโอกาสไปเยี่ยมชมทะเลบางแสน น่าจะพอจะจินตนาการภาพออกว่า แม้หาดบางแสน และหาดวอนจะอยู่ต่อเนื่องกันแต่ลักษณะทางภูมิศาสตร์มีข้อแตกต่างบางประการ ที่ส่งผลต่อความรุนแรงในฤดูมรสุม กรณีของหาดบางแสนซึ่งเป็นพื้นที่แอ่งกระทะแต่มีเนินทรายหน้าหาดสูง เป็นข้อดีที่เมื่อมีคลื่นปะทะก็ลดความรุนแรงไปได้มาก ซึ่งต่างจากหาดวอนตามคำบอกเล่าของสมศักดิ์
“หน้ามรสุมคลื่นมาแรง ตอนเขื่อนเก่าน้ำตีมาทีถึงยอดมะพร้าว ตีลงมาดินก็ไม่หายหมด พอถึงเวลาวันศุกร์วันเสาร์จะกางร่มกางเตียงทีก็ต้องเอาแบคโฮมาตักดินใส่”
ถึงตอนนี้เชื่อว่า ความจำเป็นที่ต้องลดผลกระทบน้ำทะเลกัดเซาะนับเป็นประเด็นที่ไม่มีใครโต้แย้งแล้ว ทว่า ข้อวิพากษ์ถึงรูปแบบที่เหมาะสมยังคงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงต่อเนื่อง
หาดวอนรับมืออย่างไรแล้วบ้าง? หลายปีมานี้มนุษย์พยายามหากลยุทธ์เอาตัวรอด ด้วยการเลียนแบบธรรมชาติผสมผสานกับโครงสร้างทางวิศวกรรม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง The MATTER ค้นหาแผนงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่มีหาดวอนนภาเป็นหนึ่งพื้นที่ที่อยู่ในแผน ถึง 3 มาตรการ ด้วย 8 รูปแบบ ดังนี้
- มาตรการสีขาว (White measure) ลดผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน อย่างการกำหนดพื้นที่ถอยร่น
- มาตรการสีเขียว (Green measures) รักษาเสถียรภาพชายฝั่ง โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ข้างเคียง เช่น การฟื้นฟูชายหาด ด้วยการถ่ายเททราย และเติมทราย
- มาตรการสีเทา (Gray measures) จะว่าเป็นขั้นสูงสุดก็ได้ โดยใช้ โครงสร้างทางวิศวกรรม ซึ่งใช้กับบริเวณชายฝั่งทะเลเปิด คลื่นขนาดใหญ่ ชายฝั่งมีความลาดชันสูง ทั้งเขื่อนป้องกันตลิ่ง กำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด
ตัวอย่างหนึ่งที่ถูกยกมาพูดถึงบ่อยครั้ง คือ โครงการเติมทรายหาดจอมเทียน ที่ใช้งบประมาณราว 990 ล้าน ด้วยถูกมองว่าจะช่วยแก้ปัญหาและรักษาทัศนียภาพหน้าหาดไว้ได้ แต่ยังคงเผชิญข้อน่าห่วงเรื่องการระบายน้ำ และการดูแลระยะยาว ซึ่งสถานการณ์ของหาดวอนตามคำบอกเล่าของสมศักดิ์
“เติมทรายก็ดี แต่ถามว่าเทศบาลเขาจะมีเวลามาเติมให้เราตลอดเหรอ พูดตามตรงเขามาทีเราก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย พอเห็นเขามาก็วิ่งไปแจ้งมีค่ากาแฟนิดหน่อย เขาก็มาทำให้เราอย่างดี ไม่งั้นคนงานเขาก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ ทำๆ ไปอย่างนั้น ไม่ก็เติมไม่ถึงหน้าร้านเราสักที”
“เทศบาลเขามีงบซ่อมบำรุงอยู่แล้ว แต่จะมาช้ามาเร็วอีกเรื่อง อย่างเสาไฟที่ทำเพิ่ม ผมก็คิดว่าอยู่ได้ไม่เกินปีหรอก เพราะมันอ่อนมาก ยิ่งหน้ามรสุมพอน้ำตีขึ้นมาโดนทุกวันก็คงเอนไปเรื่อย เขาบอกว่าทำแล้วมันเจริญก็ต้องดูกันไป”
วิกฤตน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง
สำหรับจังหวัดชลบุรี มีแนวชายฝั่งทะเลติดอ่าวไทย ยาว 171 กิโลเมตร โดยพื้นที่หนึ่งที่มีการกัดเซาะรุนแรง คือ หมู่ 14 บ้านหาดวอน ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี ราว 5 เมตรต่อปีเลยทีเดียว และหากเจาะจงตำบลแสนสุข ที่มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 12 กิโลเมตร ติดชายหาดบางแสน และชายหาดวอนนภา ก็ต้องเผชิญปัญหาการกัดเซาะราว 4 กิโลเมตร คิดเป็นราว 1 ใน 3 ของหน้าหาดเลยทีเดียว ส่งผลให้ หาดที่จากเดิมมีความกว้างราว 2-3 เมตร จะค่อยๆ แคบลง
อย่างที่ปรากฏในร่างงบประมาณเล่มขาดคาดแดง ของสำนักงบประมาณเมื่อปลายปีก่อน ที่รัฐได้วางแผนใช้จ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) ก็เป็นก้อนเงินที่ไม่น้อย รวมทั้งสิ้น 795,900,000 บาท ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่งานศึกษาออกแบบ ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม งานก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง
กำแพงกันคลื่นมาถูกทางหรือไม่?
ในฐานะหนึ่งในผู้ที่ขับเคลื่อนการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง อย่าง อภิศักดิ์ ทัศนี จาก Beach for life ออกตัวแต่ต้นว่าสนับสนุนการป้องกันพื้นที่ริมชายฝั่งเต็มกำลัง แต่ทั้งหมดต้องผ่านการทบทวนอย่างรอบคอบ เป็นที่มาของข้อสังเกต 2 ประการ คือ
ประการแรก คือ โครงการที่เดินหน้าอยู่บนพื้นที่หาดวอนนภานั้น จัดเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาภายใต้การกำกับของกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงภูมิทัศน์ ทำสวนสาธารณะ เป็นต้น และแยกออกจากโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งอย่างชัดเจน ทว่า กลับมีการสร้างกำแพงกันคลื่นลักษณะแบบขั้นบันไดตามที่ปรากฏ จึงเป็นเหตุผลของคำถามว่า นี่นับเป็นการเลี่ยงบาลีของทางราชการ เพื่อตัดกระบวนการกลั่นกรองก่อนดำเนินการหรือไม่
“ไม่ว่ากำแพงกันคลื่นจะทำจากหินเรียง หินทิ้ง ขั้นบันได ไม้ ปูนลาดเอียง คอนกรีตหล่อ ตุ๊กตาญี่ปุ่น ถ้าวางอยู่บนชายหาดเราเรียกกำแพงกันคลื่นหมด เพราะวัตถุประสงค์คือการป้องกันพื้นที่ด้านหลังไม่ให้ถูกกัดเซาะ”
ประการถัดมา คือ วัตถุประสงค์ของกำแพงกันคลื่นที่มีขึ้น ก็เพื่อลดแรงปะของคลื่นริมตลิ่งชายฝั่ง จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับขั้นตอนศึกษาและออกแบบเป็นพิเศษ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ
“เวลาเราทำกำแพงกันคลื่น เรารู้อยู่ว่าคลื่นจะปะทะตัวกำแพง การเลือกใช้เหล็กและซีเมนต้องแข็งแรงมาก รวมถึงใช้การตอกเสาเข็ม ไม่งั้นโอกาสที่จะชำรุดเสียหายก็ง่าย นี่ยังไม่ได้คิดถึงความลาดชันของขั้นบันได ที่จะทำให้ทรายสะสมตัวหน้ากำแพง และคำนวณให้ระยะคลื่นกระเซ็นอยู่ในเกณฑ์”
ข้อมูลของกรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุเบื้องต้นว่า ขั้นบันไดดังกล่าว เป็นการจัดเรียงกันของหินแกรนิต ก่อนจะใช้เทคโนโลยีในการฉาบปูนเพื่อป้องกันน้ำกัดเซาะ
“คิดคร่าวๆ ว่างบก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ตกที่ 80 ล้านบาทต่อกิโลเมตร เวลาจะซ่อมแต่ละทีก็แพงตาม แล้วอย่างปกติพอผ่านไปราว 2 ปี โครงการก็จะถูกมอบไปที่ท้องถิ่น ภาระการดูแลก็จะอยู่ที่ท้องถิ่น ความคงทนถาวรถึงได้สำคัญมาก”
“หาดวอนเป็นหาดท่องเที่ยวที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าบางแสน หรือพัทยา มีคนไปใช้ประโยชน์เยอะมาก และกำแพงกันคลื่นโดยเฉพาะแบบขั้นบันได มันพิสูจน์กันมาหลายครั้งแล้วว่าไม่เหมาะกับหาดท่องเที่ยว ทั้งลื่นล้มจนหมดสติ ไปจนถึงพิการ” ทั้งหมดจึงเป็นเหตุให้อภิศักดิ์ มองว่า การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขึ้นบันได อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันการกัดเซาะ และพัฒนาพื้นที่ริมชายฝั่งในบริเวณที่มูลค่าการท่องเที่ยวชายหาดสูง อย่างที่เกิดขึ้นบนหาดวอนในตอนนี้