‘กำแพงกันคลื่น หรือ Death of the Beach?’ นับเป็นข้อครหาที่ร้ายแรงกลางโต๊ะเสวนาวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีข้อพิพาทของพื้นที่ริมชายฝั่งในหลากพื้นที่เป็นเหตุผลสนับสนุน เพราะดูเหมือนความปรารถนาที่จะแก้ไขน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง กำลังแซะพื้นที่ผืนทรายใต้ฝ่าเท้าให้น้อยลงไปเต็มที
แนวบันไดหินแกรนิต 5 ขั้น ขนาดก้าวคนโต ค่อยๆ เปลี่ยนโฉมหาดวอนนภา จ.ชลบุรี ไปทีละน้อย จนกว่าบรรจบฝั่งใต้ของหาดบางแสนทางยาวราว 2 กิโลเมตร กำลังขยายประเด็นคำถามเดิมให้ชัดเจนและกว้างขวางขึ้น เมื่อครั้งปรากฏกำแพงคอนกรีตขนานชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี ว่าตกลงเรามาถูกทางแล้วหรือไม่
ย้อนไปต้นปีก่อน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติให้บันได-กำแพง-เขื่อน ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ในทุกโครงการ กลับมาทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่ขึ้นชื่อว่าไทยแท้ก็มีช่องให้มุดต่อได้เสมอ อย่างการเลี่ยงบาลีไปทำโครงการปรับภูมิทัศน์ชายหาดแทนก็มีให้เห็น
อย่างไรก็ดี คำสั่งนี้ไม่ได้มีผลย้อนหลังถึงโครงการที่จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ไปแล้ว ซึ่งรัฐก็ไม่มีแผนจะเปิดหน้างานใหม่ ทว่าเรื่องตลกร้ายที่ Beach for life เคยตั้งข้อสังเกต คือ ในปี 2558-2566 ที่รอดพ้นจาก EIA มีการกระจายงบ 8,400 ล้านบาท ลงไปในกว่า 125 โครงการ
10 ปีเต็มของคำสั้นๆ ที่ถูกตัดออก เกินพอที่จะเปลี่ยนความคิดผู้คนจนแบ่งออกเป็นสองฝั่ง ฟากหนึ่งมองว่าไม่มีวิธีการใดจะป้องกัน และลดแรงปะทะจากคลื่นได้ดีไปกว่ากำแพงกันคลื่น ขณะที่อีกฟากเห็นแย้ง ว่าวิธีนี้กำลังทำลายระบบนิเวศชายฝั่งไปทีละน้อย และกระทบกับชีวิตผู้คนอย่างเลี่ยงไม่ได้
เช่นนี้แล้ว The MATTER จึงรวบรวมสิ่งปลูกสร้างที่ตรงตามนิยามของ ‘กำแพงกันคลื่น’ บางกรณี ว่าไปเปิดประเด็นถกเถียงอะไร และเปลี่ยนแปลงวิถีผู้คนโดยรอบอย่างไรบ้าง
อันตรายทันตาเห็น
ด้วยเป้าประสงค์ของกำแพงกันคลื่น ที่ใช้วิธีลดพลังงานคลื่นด้วยการสะท้อนคลื่นบางส่วนกลับก่อนที่จะปะทะฝั่ง เพื่อป้องกันการกัดเซาะพื้นที่หลังแนวกัน ทำให้ในขั้นตอนออกแบบจำต้องคำนึงถึงความแข็งแรงทนทานเป็นที่ตั้ง นั่นถึงเป็นที่มาให้โครงสร้างแข็ง (Hard Structure) ยังคงเป็นที่นิยมในหลายประเทศ
เช่นเดียวกับในไทย ที่มีการสร้างกำแพงกันคลื่นในหลายรูปแบบ ทั้งแบบกระสอบทราย (Sandbag) แนวหินทิ้ง (Riprap) ที่นำหินเล็กหรือใหญ่ตามที่หาได้ มาวางเรียงโดยมีตาข่ายมาหุ้มอีกชั้น หรือเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง (Offshore Breakwater) ก็ถูกใช้ในหาดที่มีพื้นที่เว้าเป็นช่วงๆ เป็นต้น
ความนิยมของโครงสร้างทางทะเลแบบแข็งนี่เอง นำมาซึ่งข้อคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ว่าอาจไม่ได้เหมาะสมกับชายหาดที่มีการใช้พื้นที่ของผู้คนสูง หรือเรียกง่ายๆ ว่านิยมในหมู่นักท่องเที่ยว ซึ่งก็มีตัวอย่างปรากฏให้เห็นในหลายครั้ง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณ หาดชะอำใต้ จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 นับเป็นกรณีหนึ่ง ที่นักท่องเที่ยวชาย อายุ 55 ปี เกิดลื่นล้มจนศีรษะกระแทกกับกำแพงกันคลื่นริมชายหาด แม้จะได้รับการช่วยเหลือทันที แต่ทีมแพทย์ก็ลงความเห็นให้กลายเป็นผู้พิการเนื่องจากกระดูกคอหักในเวลาต่อมา โดยครอบครัวเล่าว่าช่วงเวลาเกิดเหตุเป็นตอนพลบค่ำ และไม่มีไฟส่องสว่างเพียงพอ ทำให้ไม่ทันสังเกตเห็นตะไคร่น้ำปกคลุมหนาตลอดแนวกำแพง
ช่วงเวลาถัดมาในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ก็เกิดเหตุบริเวณกำแพงกันคลื่นหาดปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติลื่นล้มจนสลบ เพราะตามแนวเขื่อนที่ระดับน้ำทะเลมาถึง ปกคลุมไปด้วยสาหร่ายไส้ไก่ ซึ่งมองผิวเผินล่อตาให้นักท่องเที่ยวเก็บภาพเป็นที่ระลึก จนอบต.ปากน้ำปราณ ต้องติดป้ายเตือน
ไม่ต่างกับหาดวอนนภา จ.ชลบุรี ที่ The MATTER มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจแนวบันไดกันคลื่นไม่นานมานี้ ก็ได้รับคำยืนยันจากพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่ ว่ามีนักท่องเที่ยวลื่นล้มจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลมาแล้ว ทั้งที่โครงการดังกล่าวเพิ่งก่อสร้างสำเร็จไปไม่ถึงครึ่ง
และสิ่งที่น่าตลก แม้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดต่างที่ต่างวาระกัน แต่คำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบกลับตรงกันอย่างไม่ได้นัดหมาย รวมถึงยังใช้วิธีขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ขัดตะไคร่น้ำ และปักป้ายเป็นพื้นท่ีอันตรายให้ระมัดระวัง
ทั้งนี้ ไม่รู้ว่าจะยังนับว่าเป็นโชคได้หรือไม่ ที่อุบัติเหตุลักษณะนี้ยังไม่ได้นำไปสู่ความสูญเสียถึงชีวิต แต่ก็ใช่จะมีใครการันตีได้ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต
ผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์
ตามที่ทราบกันดี ว่าโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ไม่เพียงแต่ใช้งบประมาณสูงเพื่อให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ แต่ยังต้องอาศัยข้อมูลในการวางแผนโครงการอย่างรอบด้าน เนื่องจากมีผลต่อเนื่องในหลายมิติ ทั้งภูมิทัศน์ วิถีชีวิตผู้คนริมฝั่ง ตลอดถึงระบบนิเวศน์ทางทะเล จึงทำให้ขั้นตอนก่อนการก่อสร้างมีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เพื่อเลี่ยงคำวิจารณ์ในกรณีที่ผลลัพธ์เป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ เกิดการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงและรวดเร็วขึ้น
อย่างที่เป็นแฮชแท็กใหญ่ในโซเชียลในปี 2563 #SAVEหาดม่วงงาม ซึ่งหาดม่วงงาม จ.สงขลา ซึ่งมีหน้าหาดยาว 3 กิโลเมตรโดยประมาณ ต่อมามีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ แต่กลับถูกคลื่นกัดเซาะเพิ่มขึ้น จนมีผลการประเมินทางวิชาการชี้ว่า ภายใน 5 – 10 ปี อาจเกิดการกัดเซาะที่รุนแรงขึ้นกว้างถึง 100 เมตรจากเดิม อีกทั้งการก่อสร้างอื่นๆ ตามโครงการยังเป็นผลให้คลื่นสะท้อนเอาทรายหน้าหาดหายไปอีกด้วย
กรณีคล้ายคลึงกันยังเกิดกับหาดทรายแก้ว จ.สงขลา ที่ก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเแบบลาดเอียงขึ้น เมื่อการก่อสร้างดำเนินไปในระยะต้นๆ กลับพบการกัดเซาะที่รุนแรงขึ้นในตำแหน่งอื่น จนต้องใช้วิธีถมหินทิ้งในบริเวณนั้น
เช่นเดียวกับ โครงการกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดอ่าวน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตลอดแนว 1.1 กิโลเมตร หลังสร้างสำเร็จเพียงปีเดียวก็เกิดชำรุด ทั้งนี้ นักนิเวศวิทยาทางทะเล ม.สงขลานครินทร์ เคยเรียกร้องให้ทบทวนโครงการ ด้วยชี้ให้เห็นผลกระทบว่า ในช่วงมรสุม คลื่นจะทวีความรุนแรงและสูงขึ้นกว่า 7 เท่า และทำให้ทรายบริเวณนั้นถูกกัดเซาะรุนแรงขึ้น
ผลลัพธ์ที่ไม่ใช่ตามที่คาดหมายเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่จะเกิดคำถามร่วมกันว่า การป้องกันการกัดเซาะในพื้นที่หนึ่งกำลังเปิดบาดแผลใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียงหรือไม่ และบางโครงการก็ตั้งต้นมาจากวัตถุประสงค์เพื่อปรับภูมิทัศน์ของหาดริมฝั่ง จึงอาจยังไม่ได้ศึกษาผลอาจตามมาอย่างละเอียด
ข้อพิพาทที่นำไปสู่การฟ้องร้อง
เมื่อปัญหาเกิดขึ้น หลายกรณีนำไปสู่การฟ้องร้อง โดยประชาชนจากการกระทำของรัฐที่ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง และชื่อของหาดสะกอม จ.สงขลา เป็นกรณีที่ถูกจดจำแม้จะเกิดขึ้นมานับสิบปีแล้ว เพราะเป็นตัวอย่างการใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญในการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในปี 2551
สำหรับ กำแพงกันคลื่นบนหาดสะกอม เป็นโครงการซ่อมบำรุงเขื่อนกันคลื่นปากร่องน้ำสะกอม ผลที่ตามมา คือ ชายหาดที่กัดเซาะชายฝั่งอยู่แล้ว กลับถูกกัดเซาะหนักกว่าเดิมตลอดแนว 1 กิโลเมตร และในบางจุดยังตัดเป็นหน้าผาลึกกว่า 8 เมตร จนกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมงริมหาด
แม้คดีดังกล่าวจนถึงปัจจุบันนี้ ยังคงค้างอยู่ในศาลไม่ได้รับการพิพากษาให้ถึงที่สุด แต่ความเสียหายของชุมชนริ่มฝั่งกลับไม่เคยชะลอตาม ทว่า การต่อสู้ของประชาชนในครั้งนั้นก็อาจเป็นหนึ่งแรงผลักดันให้ชุมชนอื่นๆ ขยับตัว
หนึ่งในนั้น คือ โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งและโครงการก่อสร้างสวนสาธารณะ ชายหาดคลองวาฬ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีการสร้างเขื่อนคอนกรีตตามแนวหาด และนอกชายฝั่ง ระยะทางราว 1.3 กิโลเมตร โดยผลที่ตามมาของการสะท้อนกลับคลื่น ทำให้ทรายหน้าหาดหดหาย จนชาวประมงไม่สามารถจอดเรือริมฝั่งได้อย่างเดิม และกระแสน้ำชายฝั่งก็เปลี่ยนทิศทางและไหลช้าลงจากแนวกำแพงหินทิ้ง
ไม่ต่างกับกรณีโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ จ.สงขลา ที่ป้องกันชายฝั่งด้วยโครงสร้างแท่งคอนกรีต หินทิ้ง และกระสอบทราย ตลอดแนวหาดราว 2 กิโลเมตร แต่กลับทำให้การกัดเซาะขยายวงกว้าง ทั้งการใช้วิธีดูดทรายจากหน้าหาดแหลมสนในพื้นที่ใกล้กัน ก็กลับไปสร้างปัญหาใหม่ที่หาดดังกล่าว
แต่ใช่ว่าทุกกรณีพิพาทจะไม่มีข้อสรุปเสมอไป อย่าง หาดมหาราช จ.สงขลา ถือเป็นตัวอย่างสำคัญว่าชายหาดไม่ใช่พื้นที่ของใครคนใดคนหนึ่ง และผู้ก่อให้เกิดความเสียหายย่อมต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ แม้จะเป็นผลจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม
ย้อนไปปลายปี 2566 ศาลปกครองสงขลา มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวพื้นที่ชายหาดดังกล่าว จากโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ระยะที่ 3 ความยาว 555 เมตร เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่สามารถที่จะแสดงหลักฐาน ให้เชื่อได้ว่ากำแพงกันคลื่นสามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้จริง และไม่มีผลกระทบต่อชายหาด อีกทั้งยังไม่มีการขออนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ
ทว่า การคุ้มครองครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากกำแพงกันคลื่นหาดมหาราช ระยะที่ 1 และ 2 สำเร็จแล้ว นั่นเท่ากับ ความเสียหายต่อชายของชายหาดเกิดขึ้นแล้ว และเกิดความเสียหายในเชิงงบประมาณ ทั้งในขั้นตอนรื้อถอนและฟื้นฟูให้กลับมาเหมือนเดิมก็ยังต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล
ตัวอย่างข้อพิพาทของกำแพงกันคลื่นในไทยที่รวบรวม จึงไม่ได้เป็นไปเพื่อตามหาผู้กระทำผิด เพราะนั่นอาจไม่ใช่หน้าที่ตามความเชี่ยวชาญของคนทั่วไป แต่ตามสิทธิพื้นฐานเราสามารถร่วมกันติดตามการทำงานของรัฐ เพื่อร่วมกันหาทางออกและลดผลกระทบของการกัดเซาะชายฝั่งในอนาคตให้มากที่สุด