“เราจะออกระเบียบให้ดีแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าเจตจำนงทางการเมืองไม่ได้ชัดเจนว่าคุณต้องการทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นโปร่งใส สุจริต ก็คงไม่สามารถบังคับใช้จริงได้”
ทำไมแทงหวยไม่ถูกแบบนี้บ้าง คงมีหลายคนที่โพล่งความคิดนี้ออกมาก หลังได้เห็นผลงานของ กกต. หรือ คณะกรรมการเลือกตั้ง จากวันเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ว่าดูจะไม่ได้ผิดฟอร์มไปจากที่คาดคิด ด้วยข้อร้องเรียนจากผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่พบสารพัดปัญหา จนดันให้ #กกตมีไว้ทำไม ติดเทรนด์ทวิตเตอร์
ไม่เพียงเท่านั้น จากกรณีปัญหาเจ้าหน้าที่เขียนเขตผิด จนมีความกังวลว่าอาจทำให้เกิดบัตรเสีย ก็ทำให้แคมเปญ change.org มีประชาชนมาร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ถอดถอน กกต. จนทะลุ 1 ล้านคนทีเดียวเมื่อวานนี้ (8 พฤษภาคม)
แต่ข้อสงสัยที่ตามมาคือ การเคลื่อนไหวของประชาชนนำไปสู่การจัดการตามกลไกทางกฎหมายได้หรือไม่ The MATTER จึงถือโอกาสนี้ไปไขข้อสงสัยกับ ณัชปกร นามเมือง ผู้ประสานเครือข่ายจับตาการเลือกตั้ง vote62 ถึงสิ่งที่ประชาชนมีส่วนร่วมจับตา กกต. ในการเลือกตั้ง 2566 นี้
ประชาชนสามารถลงชื่อถอดถอน กกต. ได้หรือไม่?
ไม่ได้ เดิมรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 เคยกำหนดให้การเข้าชื่อของประชาชน เข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน 20,000 ชื่อ จะสามารถยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้ โดยการยื่นรายชื่อดังกล่าวนี้ยื่นต่อวุฒิสภาให้ดำเนินการถอดถอนได้
นั่นถึงทำให้เกิดการล่ารายชื่อครั้งนี้ (จากกรณีการเลือกตั้งล่วงหน้า) ด้วยเข้าใจว่ากลไกนี้ยังได้ผลอยู่ แต่จริงๆ ไม่ใช่ ถึงกลไกนี้จะยังมีแต่ไม่สามารถใช้กับ กกต. ได้แล้ว ใช้ได้แค่กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เท่านั้น
ความแปลกประหลาดของรัฐธรรมนูญ 2560 คือ ตัดช่องทางการเข้าชื่อเสนอถอดถอนองค์กรอิสระออกไป แต่ใช้ระบบว่าถ้าอยากจะจัดการองค์กรอิสระใดก็ตาม ถือเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ต้องรอจนเห็นว่า ป.ป.ช.ไม่ทำหน้าที่ คุณถึงจะต้องไปเข้าชื่อแล้วถอดถอน ป.ป.ช. อีกที
ความหมายคือ เราไม่สามารถลงชื่อถอดถอน กกต. โดยตรง แต่ถ้าเห็นว่า ป.ป.ช. ไม่ทำหน้าที่ตามที่ควรจะเป็น ก็ให้ไปเข้าชื่อถอดถอน ป.ป.ช. เสีย แต่ในทางปฏิบัติ ไม่มีทางทำได้จริงเลย (หัวเราะ)
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงแน่ๆ คือที่มาขององค์กรอิสระทั้ง 5 องค์กร เราจะพบว่าหนึ่ง คณะกรรมการสรรหามักเป็นคนคุ้นเคยกัน โดยมีโควตาในแต่ละองค์กรให้ส่งรายชื่อคณะกรรมการสรรหาของตัวเองเข้าไป พูดง่ายๆ ว่าคนคัดเลือกองค์กรอิสระขั้นต้น ล้วนแต่เป็นคนในแวดวงเดียวกันหมดเลย
สองคือ ที่มาของคนที่เห็นชอบในด่านสุดท้าย ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ส.น.ช.) และวุฒิสภา (ส.ว.) ก็เป็นกลุ่มที่มาเดียวกันอีก ดังนั้นการที่ ป.ป.ช. ซึ่งมาจากคณะกรรมการสรรหาที่ใกล้เคียงกัน คนที่ลงมติเห็นชอบกลุ่มก้อนเดียวกัน จะตรวจสอบกันเองมันเกิดขึ้นไม่ได้แน่นอน
สมมติเรายื่นรายชื่อถอดถอน ป.ป.ช. ใช้เวลานานแค่ไหนไม่รู้กว่าจะแล้วเสร็จ กว่าจะจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ได้ และกว่าชุดใหม่นั้นจะดำเนินการ กกต. ก็คงหมดวาระไปแล้ว
แล้วอย่างนี้ เราจะไม่สามารถตรวจสอบ กกต. ผ่านกลไกกฎหมายได้เลยหรือ?
ผมคิดว่าโดยหลักการเรื่องอยู่ที่ ป.ป.ช. เราคงจะฟ้องคดีอาญาได้ เช่น เห็นว่าเขาผิดทุจริต ตามมาตรา 157 มันเป็นการใช้ระเบียบปกติ คือ ข้าราชการการเมือง ข้าราชการองค์กรอิสระ ถือเป็นข้าราชการระดับสูง ในการชี้มูลความผิดตามมาตรา 157 ในฐานละเว้น หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งนั่นเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการชี้มูลฟ้อง
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำได้คือ เราสามารถไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ได้ เพียงแต่ปัญหาสำคัญ คือ ต้องมีหลักฐานอย่างแน่นหนามากพอ ที่จะบอกว่าเขามีเจตนาที่จะทุจริต ซึ่งเป็นเรื่องยาก ตัวอย่างเช่น เลือกตั้งล่วงหน้า กกต. ไม่ยอมเขียนหมายเลขเขตเลือก ก็ต้องไปสืบพิสูจน์กันว่าเขามีเจตนาทุจริตหรือไม่ เขาอาจจะผิดโดยสุจริตใจก็ได้ มันมีเส้นความเบลอตรงนี้อยู่
ปัญหาการเลือกตั้งล่วงหน้าผิดปกติครั้งนี้ ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ?
ณ ตอนนี้ สิ่งที่ปรากฏให้เราเห็น คือ ความผิดพลาดในการจัดการเลือกตั้ง แต่เรายังหนักแน่นไม่พอที่จะบอกว่าเป็นความตั้งใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ยังต้องมีขั้นตอนการสืบพยานที่ใช้เวลานาน จากกรณีการเลือกตั้งปี 2562 ที่บัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จากนิวซีแลนด์ ส่งมาไม่ทันเวลา ก็เป็นตัวอย่างครั้งใหญ่ของบ้านเรา
ถ้ามองจากมุมผม ชัดเจนมากว่า กกต.ชุดใหญ่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ครั้งนั้น เพราะคุณเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแท่งโครงสร้างนี้ แต่คุณไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ปรากฏว่า ป.ป.ช. กลับไปชี้มูลรองเลขาธิการ กกต. ก็กลายเป็นว่าความผิดพลาดเฉพาะหน้า ปัญหาจะไปกองอยู่ที่ระดับข้าราชการประจำ แต่ไม่สามารถไปถึง กกต.ชุดใหญ่ได้
อย่างในการเลือกตั้งปีนี้ ที่เกิดการทุจริตซื้อเสียงด้วยการเก็บบัตรประชาชน อย่างที่คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ออกมาเปิดโปง พูดแบบตรงไปตรงมาชาวบ้านทั่วไปคงไม่กล้าพูด แต่คุณชูวิทย์มีต้นทุนทางสังคมมากพอที่จะได้รับการปกป้องความปลอดภัย
ในทางกลับกัน ถ้าคุณเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่มีการซื้อเสียง โดยที่ทั้งหมู่บ้านที่มี 10 ครัวเรือน รับเงินไปแล้ว 9 ครัวเรือน คุณเป็นครัวเรือนเดียวที่ไปร้องเรียนทุจริต ต้นทุนของคุณสูงมหาศาล ดังนั้นการร้องเรียนเหตุทุจริตการเลือกตั้งโดยประชาชน ผมคิดว่าโดยกลการคุ้มครองพยาน หรือคุ้มครองผลกระทบยังทำได้ไม่ดีพอ
กกต. เคยพยายามออกระเบียบคุ้มครองพยานชี้โกงเลือกตั้ง ไม่ได้ผลเหรอ?
ผมคงไม่สามารถบอกผลลัพธ์ที่แน่ชัดได้ แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องเจตจำนงทางการเมืองมากกว่า ไม่รู้ว่าความหมายของคำนี้จะกว้างไปไหม
ยกตัวอย่าง มีชาวทวิตเตอร์คนหนึ่งโพสต์เรื่องการเก็บบัตรประชาชนในจังหวัดหนึ่ง ด้านพรรคการเมืองที่ถูกกล่าวหายังไม่ได้ออกตัวอะไร แต่อยู่ดีๆ เป็น กกต. ที่มาแก้ต่างแทนพรรคการเมืองว่าเป็นเรื่องการปรักปรำ ซึ่งสะท้อนเจตจำนงทางการเมืองว่าจะไม่มีการเอาผิด มันเป็นไปได้เหรอ ที่องค์กรอิสระจะมาแถลงข่าวแก้ต่างให้ ซึ่งไม่น่ามีองค์กรไหนทำนะ
ผมเลยคิดว่า เราจะออกระเบียบให้ดีแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าเจตจำนงทางการเมืองไม่ได้ชัดเจน ว่าคุณต้องการทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นโปร่งใส สุจริต ก็คงไม่สามารถบังคับใช้จริงได้
ท้ายสุดประชาชนอย่างเราๆ ทำอะไรได้บ้าง?
ต้องยอมรับว่าความผิดปกติเฉพาะหน้าที่เพิ่งเกิดขึ้นไป เราทำอะไรแทบไม่ได้แล้ว แต่สิ่งที่เราทำได้จากบทเรียนปี 2562 ซึ่งค้นพบว่าปัญหาที่น่ากลัวที่สุดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง คือ ระบบการรายงานคะแนน เราพบว่ามีคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้งถึง 3,906 คน ถูกปรับลดคะแนนระหว่างการรายงานคะแนน คือเขามีการปรับตัวเลขขึ้นๆ ลงๆ ตลอดทาง
สิ่งที่เราจะแก้ได้ คือ ถ้าทุกคนที่ไปหน้าคูหาเลือกตั้ง เราถ่ายรูปแบบขีดคะแนน (ส.ส. 5/11) เราถ่ายรูปแบบสรุปผลคะแนน (ส.ส. 5/18) แล้วบันทึกลงระบบคลาวน์ของเว็บไซต์ Vote62 ก็จะทำให้เรามีฐานข้อมูลในมือว่า ข้อมูลหน้าหน่วยเลือกตั้ง กับข้อมูลที่ กกต. สรุปผลมานั้นเป็นข้อมูลชุดเดียวกันไหม ถ้าหากไม่ตรงกัน เราก็ต้องจี้ถามหาเหตุผล ซึ่งหากเขาตอบไม่ได้เท่ากับเราสามารถพิสูจน์ได้ว่า นั่นเป็นการทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งสามารถนำไปสู่การเอาผิดได้จริง
ตั้งแต่ก่อนจะมีเลือกตั้งล่วงหน้า iLAW เคยรณรงค์ให้ประชาชนไปเลือกตั้งในวันจริง อย่าเลือกตั้งนอกเขต หรือเลือกตั้งล่วงหน้าเลย เพราะพบปัญหาจากการเลือกตั้งปี 62 มาแล้วมากมาย ซึ่งนำสู่การมีบัตรเสียกว่า 2,000,000 ใบ จนถึงทุกวันนี้ กกต. ยังไม่สามารถชี้แจงได้ว่าบัตรเสียเหล่านั้นมาจากสาเหตุอะไรบ้าง คิดเล่นๆ ว่า 20% ของบัตรเสีย 2,000,000 ใบ ก็ราว 400,000 ใบ ซึ่งคะแนนเท่านั้นสามารถตัดสินการแพ้ชนะของบางเขตเลือกตั้งได้เลย
เพราะฉะนั้น ผมเลยคิดว่าการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่า กกต. ไว้ใจไม่ได้ เราเห็นว่าเขาเต็มไปด้วยความผิดพลาด บางคนอาจรู้สึกอยากเป็นกลางหน่อยไม่อยากต่อว่า ก็ให้เข้าใจไว้ว่าการทำงานของเขามีจุดบกพร่องจริง
และในเมื่อยังไม่สามารถเชื่อใจได้ทั้งหมด สิ่งที่เราทำได้ คือ ออกไปจับตาเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ให้มากที่สุด ใครอยู่ใกล้หน่วยไหนไปหน่วยนั้น ถ่ายรูปตั้งแต่การเริ่มต้นนับคะแนน ถ้าเขาขานคะแนนผิดก็ทักท้วง เขารวมคะแนนผิดก็ท้วงได้ พอถึงเวลาประมวลคะแนนถ้ามีบัตรเขย่งเกิดขึ้นเราก็จะสามารรับรู้ และทักท้วงได้ ณ ตอนนั้นเลย
ท้ายสุด ถ้าเขาไม่สามารถชี้แจงได้ ก็ให้เก็บหลักฐานทั้งหมดเอาไว้ เรื่องแบบนี้จะมีน้ำหนักมากพอ ว่าถ้าคุณตอบคำถามไม่ได้ก็จำเป็นต้องไปสู้กันในชั้นศาล
คงต้องติดตามว่าในวันเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคมนี้ จะมีความไม่ปกติใดปรากฏให้เห็นเพิ่มเติมไหม หรือระบบการจัดการจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ประชาชนสามารถร่วมจับตาไปพร้อมกันได้ เพราะคงไม่มีใครเป็นพยานปากเอกของเหตุการณ์นี้ได้ดีเท่าเรากันเองแล้ว