เดือนมีนาคม 2561 หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 ปลด ‘สมชัย ศรีสุทธิยากร’ ออกจากตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะไม่พอใจที่ให้ความเห็นเรื่องปฏิทินการเลือกตั้ง หลังก่อนหน้านั้นถูกเลื่อนมาหลายครั้ง
หลังพ้นจากตำแหน่งในองค์กรอิสระที่จะมีบทบาทสำคัญในการจัดการเลือกตั้ง สมชัยก็ยังไม่หายไปจากหน้าข่าวการเมือง เป็นคอลัมนิสต์ประจำในนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง และให้ความเห็นถึงสถานการณ์การเมืองต่างๆ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Somchai Srisutthiyakorn
นอกจากนี้ ยังกระโดดลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะสอบตก และประกาศลาออกจากพรรคการเมืองเก่าแก่นี้ทันที หลังทราบข่าวจะเข้าไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ ซึ่งแม้จะเข้าไปเป็นนักการเมืองแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แต่เจ้าตัวก็บอกว่า “ได้รู้อะไรมากกว่า 5 ปีที่เป็นกรรมการ กกต.”
เขายังเขียนหนังสือที่พูดถึงวิกฤตการเมืองไทยในช่วงที่อยู่ในตำแหน่งกรรมการ กกต. ระหว่างปี 2556-2561 และเล่าถึงวินาทีรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 อย่างละเอียด ที่ถึงปัจจุบัน หัวหน้าคณะรัฐประหารคนเดิมยังอยู่บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไป
นอกจากนี้ เขายังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้ง ม.วลัยลักษณ์และ ม.รังสิต เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และล่าสุด คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ
อาจพูดง่ายๆ ว่า แม้โดน ม.44 ปลด แต่สมชัยแทบไม่เคยห่างหายไปจากหน้าสื่อ คอยติดตามและแสดงความเห็นทางการเมืองอยู่ตลอด
ในโอกาสครบรอบสองปี การเลือกตั้งทั่วไป 24 มี.ค.2562 The MATTER จึงขอไปนั่งคุยกับอดีตกรรมการ กกต.รายนี้ ถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของการเมืองไทย
หลังพ้นจากตำแหน่ง มองการทำงานของ กกต.อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการจัดเลือกตั้งทั่วไป 24 มี.ค.2562
มันเป็นปัญหาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่กำหนดคุณสมบัติและกระบวนการได้มาของกรรมการ กกต. เพราะสิ่งที่ อ.มีชัย ฤชุพันธุ์และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พยายามตั้งสเปกให้สูง เพื่อให้ได้คนที่ดีมา โดยลืมไปว่าการกำหนดสเปกดังกล่าว ตำแหน่งที่สูงไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะได้คนที่มีความรู้ความสามารถ เพราะระบบราชการปฏิเสธไม่ได้ว่า คนที่ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงๆ บางทีไม่ใช่เพราะมีความรู้ความสามารถ แต่เพราะเข้าหาผู้มีอำนาจในสังคม ฉะนั้นเมื่อคุณได้คนระดับสูงในระบบราชการเข้ามา ไม่ได้แปลว่าคุณได้คนเก่งเสมอไป
และเมื่อเข้ามาแล้ว การออกแบบการทำงาน กกต.ชุดใหม่ เขาให้ทำงานเป็นแบบ ‘บอร์ด’ ไม่ได้แบ่งเป็นด้านๆ เหมือนสมัยก่อน ที่จะล้วงลึกไปในแต่ละเรื่องๆ ได้ ผลก็คือสำนักงาน กกต.จะเป็นใหญ่ เขาจะเป็นฝ่ายชงอย่างเดียว ส่วน กกต.จะทำได้แค่ถามว่า เรื่องนี้แน่ใจนะว่าถูกต้องแล้ว ครบถ้วนแล้ว ไม่ผิดกฎหมายนะ แล้วค่อยก็ตัดสินใจตามที่สำนักงาน กกต.เสนอขึ้นมา และโดยลักษณะสำนักงาน ก็คือระบบราชการ กกต.แม้จะเป็น ‘องค์กรอิสระ’ แต่การทำงานก็ไม่ได้ต่างจากหน่วยงานราชการอื่นๆ ทั่วไป คือให้ตัวเองมั่นคง ปลอดภัย ได้เงินเดือน ไม่ถูกสอบสวน ไม่เสี่ยง ไม่อันตราย เขาก็จะไม่ทำอะไรที่มากเกินความจำเป็น เพราะถ้าทำมากก็เสี่ยงมาก เพราะอยู่เฉยๆ ก็ได้เงินเดือนเท่านี้ เราจึงเห็นว่ากระบวนการคิดหรือตัดสินใจของ กกต.จะไม่ทำให้เกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น กกต.ออกใบส้มได้ 1 ใบ และใบเหลืองได้ 1-2 ใบเท่านั้น นี่คือผลงานสูงสุดที่ทำได้ มีเท่านี้ ซึ่งไม่ใช่เพราะทุจริตเลือกตั้งเลยนะ แค่ผู้สมัคร ส.ส.ไปพลาดแล้วถูกร้องขึ้นมา ฉะนั้นเรื่องของการทุจริต แจกเงิน ใช้อิทธิพล กกต.ทำอะไรไม่ได้เลย
กลไกอีกแบบที่ถูกออกแบบโดย พ.ร.บ.ว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง คือ ‘ผู้ตรวจการการเลือกตั้ง’ ซึ่งเกิดจากทีมของ อ.มีชัยไปยก กกต.จังหวัดออก ด้วยเหตุว่าคนเหล่านั้นไปอิงแอบการเมืองอาจจะวางตัวไม่เป็นกลาง จึงสร้างผู้ตรวจการการเลือกตั้ง โดยหาคนมาจังหวัดละ 6-8 คนมากองไว้ แล้วจับสลากกันให้สลับจังหวัดในการทำงาน ซึ่งผมคิดว่าเป็นกลไกที่ไม่ได้ผล และค่าใช้จ่ายในการทำระบบนี้ เฉลี่ยวันละ 3 ล้านบาท ฉะนั้นทำ 2 เดือนก็ 120 ล้านบาท เป็นตัวเลข fixed cost การทำงานที่สิ้นเปลือง และสูงกว่า กกต.จังหวัดใช้ทั้งปีด้วยซ้ำ ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าว ผมเข้าใจว่ามาจากการผลักดันของเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน กกต.ด้วยซ้ำ เพราะเขาไม่อยากให้ใครมาตรวจสอบหรือกำกับเขา เพราะ กกต.จังหวัด ที่จะมีจังหวัดละ 5 คน จะมาจากหลากหลายอาชีพ จะคอยกำกับดูแลการทำงานของสำนักงาน กกต.จังหวัด ผอ.เลือกตั้งจังหวัด ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ต้องการ เพราะเขาใหญ่สุด
ผมจึงเชื่อว่า สำนักงาน กกต.ส่วนกลาง ถามว่าเขาต้องการกรรมการ กกต. 7 คนไหม นอกเหนือจากรับโทษแทน ผมเชื่อว่าเขาไม่ต้องการจะมี เพราะเขาอยากโตไปเป็น ‘เลขาธิการ’ ที่ถือว่าใหญ่ที่สุด เหมือนเลขาฯสภาพัฒน์ เลขาฯก.พ. เลขาฯกฤษฎีกา
แต่หลายคนก็มองว่า การเลือกตั้งทั่วไป ปี 2562 ตัวกรรมการ กกต.น่าจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดผลเลือกตั้ง เช่น แจกเก้าอี้ ส.ส.ให้พรรคเล็ก หรือคดียุบพรรคบางพรรค
เรื่องการคำนวณปัดเศษ ส่วนหนึ่งอาจเป็นธงที่จะกระจาย ส.ส.ไปยังพรรคเล็กๆ แต่เหตุผลใหญ่น่าจะเป็นรายละเอียดทางเทคนิค ที่วิธีการมีความซับซ้อนมากๆ ผมเชื่อว่ากรรมการ กกต.ทั้ง 7 คนไม่มีใครรู้-เข้าใจว่าทำไมเขาคิดแบบนี้ ปัญหาทางเทคนิคนี้เกิดจากการเขียนรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ไม่ตรงกัน รัฐธรรมนูญเขียนไว้ 5 ขั้นตอน แต่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กลับเขียนไว้ 7-8 ขั้นตอน เพื่อขยายความบางอย่าง ซึ่ง กกต.ก็ยืดเอากฎหมายหลังเป็นหลักโดยลืมดูว่าจะทำให้เกิดผลที่ขัดกับรัฐธรรมนูญในบางขั้นตอน และไม่มีใครเฉลียวในเรื่องนี้ นำไปสู่การปัดเศษให้เก้าอี้ ส.ส.กับพรรคเล็ก 10 พรรค บางพรรคได้แค่ 30,000 เสียงก็ได้เก้าอี้ ส.ส.แล้ว ทั้งที่จริงๆ แล้วมันไม่น่าจะได้เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่กระบวนการเหล่านี้ไม่มีใครเข้าใจ กรรมการ กกต.ทั้ง 7 คนก็ไม่มีทางเข้าใจ เพราะเขาไม่มีสมองพอจะเข้าใจเรื่องพวกนี้ (ยิ้ม) คือหัวมันไม่ไป คือคนที่จะเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ 1.ต้องอ่านกฎหมายรู้เรื่อง 2.มีความเข้าใจทางคณิตศาสตร์ และ 3.ใช้โปรแกรม Excel เป็น เวลาผมทำก็ยังใช้หลายวันกว่าจะถอดวิธีการออกมา กระนั้นก็ยังต่างกับคนอื่นๆ อีก เช่น อ.โคทม (อารียา อดีตกรรมการ กกต.) แต่โดยหลักการเหมือนกัน คือเราไม่มี ‘ปัดเศษ’ เพราะจะขัดกับรัฐธรรมนูญ
ผมเชื่อว่าถ้าเปลี่ยนได้ กกต.อยากเปลี่ยนไปเป็นบัตร 2 ใบเหมือนเดิม เพราะไม่ต้องคำนวณซับซ้อน แต่ถ้ายังยึดกติกานี้ในการเลือกตั้งคราวหน้า ผมเคยทำ simulation แบบ extreme case เชื่อไหมว่า 5,000 คะแนนก็ได้ ส.ส. 1 คน ถ้าสมมุติมีสักร้อยพรรค และแต่ละพรรคก็ได้คะแนนไล่เลี่ยกัน
คุณสมชัยมองว่า การแจกเก้าอี้ ส.ส.ให้พรรคเล็ก ไม่ใช่เพราะมี ‘ธง’ ที่จะสกัดพรรคใหญ่
ผมเชื่อว่าผู้มีอำนาจมี ‘ธง’ ต้องการทำลายพรรคใหญ่ อยากให้เกิดพรรคเล็กๆ จำนวนมาก แต่เรื่องปัดเศษ น่าจะเกิดจากความไม่เข้าใจ คือธงของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 คือต้องการทำลายพรรคเพื่อไทยให้ไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งก็เป็นจริง แต่การคำนวณปัดเศษเป็นปัญหาทางเทคนิคที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ระดับล่างในการคิด ผมระบุชื่อได้ด้วยซ้ำ เขาก็ทำ Excel พรีเซ้นต์ด้วยความซื่อสัตย์ กรรมการ กกต.ก็บอกว่า โอเค จบ
ส่วนเรื่องการยุบพรรค หรือการจัดการพรรคต่างๆ ในฝั่งของสำนักงานมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดหรือไม่เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบ ในการจัดการพรรคการเมืองต่างๆ ในระดับหนึ่ง เช่น กรณีโต๊ะจีนของพรรคพลังประชารัฐซึ่งความจริงมีเรื่องราวหลายอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อให้รัฐวิสาหกิจสนับสนุนเงินให้กับพรรค แต่แทนที่ กกต.จะเชื่อหลักฐานแรก ทั้งภาพถ่าย ผังโต๊ะ กลับไปเชื่อหลักฐานสุดท้ายที่ว่า ไม่มีการบริจาคเงิน คือมีความเกรงอกเกรงใจต่อบางพรรคเป็นพิเศษ
หรือกรณียุบพรรคประชาชนปฏิรูปของคุณไพบูลย์ (นิติตะวัน) ถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นความชัดเจนในการเคลียร์บัญชีหนี้สินแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่เกินกำหนดเวลาไปพอสมควร พอจะไปถามไปเช็กข้อมูล ก็ตอบว่าพูดไม่ได้ ต้องให้ระดับบริหารพูด หรือกรณีของการยุบพรรคอนาคตใหม่ ถ้าตามเรื่องมาตลอด มติที่จะให้ยุบพรรคถูกหยิบมาในช่วงเวลา 15 วันสุดท้ายก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญ คือคุณทำมาตลอดว่า ‘เงินกู้คือรายได้’ ทำมา 6 เดือนมันจบแค่เงินกู้ไม่ใช่รายได้ ที่มันไปต่อไม่ได้ คุณก็พลิกใน 15 วันสุดท้ายว่า ถ้าอย่างนั้น ให้กู้เท่ากับรับบริจาคเงิน ทั้งๆ ที่โดย common sense ให้กู้ไม่ใช่รายได้ แต่เป็นหนี้สิน ท้ายสุดศาลก็ตัดสินให้ยุบพรรค อันนี้คือชี้ให้เห็นว่า สำนักงาน กกต.มีบทบาท ที่เราไม่ทราบว่าคิดเองหรือมีการชี้ช่องทางจากภายนอกให้เร่งรัดในช่วงเวลาสั้นๆ
นี่คือกระบวนการที่เป็นปัญหา เหมือนจะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ฟังที่เล่ามา แต่กรณีที่เป็นปัญหาหลายๆ เคส เหมือนจะมาจากสำนักงาน กกต.เสียมากกว่าตัวกรรมการ กกต.
ทุกเคสเลย ผมถึงบอกเลยว่า “7 คนคือ 7 คนที่ไม่รู้เลยอะไร” เขาอาจจะมีหนี้บุญคุณกับทางนั้น แต่ทุกเรื่องจะมาจากสำนักงาน กกต.เสนอเรื่องขึ้นมา แล้วกรรมการ กกต.ก็จะถามไม่กี่อย่างหรอก เช่น เรื่องนี้ตรวจสอบรอบคอบแล้วใช่ไหม เรื่องนี้ไม่ผิดกฎหมายใช่ไหม เรื่องนี้ไม่ทำให้ผมเข้าคุกนะ แค่นั้นแหละ และหากเจ้าหน้าที่ตอบว่า ไม่ๆๆ ใช่ๆๆ กรรมการก็พร้อมจะลงมติ
แปลว่าถ้ากรรมการ กกต.ชุดนี้ ยังเป็นชุดที่คุณสมชัยยังอยู่ ผลก็คงออกมาไม่แตกต่างกัน
ไม่เหมือน เพราะคุณสมบัติกรรมการ กกต. 1.ต้องรอบรู้สถานการณ์การเมือง การเลือกตั้ง ปัญหาการทุจริตต่างๆ 2.ต้องเป็นผู้นำที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง 3.ต้องกำกับดูแลการทำงานไม่ใช่อยู่เพื่อรับเงินเดือน ถ้าเรารู้เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้จะริเริ่มเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง แต่หลายอย่างที่ผมริเริ่มไว้ถูกโยนทิ้งหมด เช่น ระบบรายงานผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ชื่อ Rapid Report ที่ตอนประชามติร่างรัฐธรรมนูญ สามารถรายงานผลได้ตอนทุ่มครึ่งหลังปิดหีบตอนห้าโมง ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น กกต.พยายามเอามาใช้ตอนเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 แล้วระบบมันเจ๊งหมด ก็ลืมเลย ไม่พูดเลย
หรือการออกแบบแอพฯ สัปปะรด ให้ประชาชนมีช่องทางสื่อสารกับ กกต. เป็น ‘ตาสัปปะรด’ ตอนนี้ก็ทำแบบแกนๆ ไม่ได้เอาไปต่อยอดกับฝ่ายสืบสวนสอบสวนเพื่อเอาไปลงพื้นที่เก็บข้อมูลหรือประสานงานกลับไป ใครป้อนข้อมูลก็ป้อนมาแต่ไม่มีใครติดต่อกลับ หรืออีกอย่างที่ไม่ทำเลยคือการเลือกตั้งทางอินเทอร์เน็ต ผมทำจนเสร็จ โปรแกรมเสร็จแล้ว ทดลองแล้ว ให้สถานทูตดูแล ใช้กับคนไทยใน 3 ประเทศ คือที่นอร์เวย์ จอร์แดน และโอซาก้าของญี่ปุ่น แต่วันนี้ก็เก็บไว้เฉยๆ เลย ไม่ทำ ซึ่งผมก็พยายามกระตุ้นประชามติ น่าจะไปใช้ได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะใช้หรือเปล่า
ดังนั้น ถ้ากรรมการรู้เรื่อง กระตือรือร้น และเล่นบทบาทในการกำกับดูแลอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่า กกต.จะดีกว่านี้ แต่เจ้าหน้าที่จะไม่ชอบ คนของ กกต. ถ้าเป็นคนที่ขยันทำงาน เขาจะชอบ แต่คนที่ไม่อยากทำงาน จะไม่ชอบ ผมเจอประโยคๆ นึงจากผู้บริหารของ กกต. ตอนที่ทำโปรแกรม Rapid Report เขาพูดกับผมตรงๆ ในที่ประชุมว่า “กฎหมายไมได้สั่งให้ทำ เราจะทำทำไม ทำแล้วก็ผิด แล้วก็เป็นปัญหาเปล่าๆ” นี่คือวิธีคิดของเขา กฎหมายให้ทำแค่ไหน ก็ทำแค่นั้น ไม่ทำมากกว่านั้น
หรืออีกเรื่องที่ผมบ่นมากๆ คือผมบอกให้ทำเครื่องลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเคยไปจ้างบริษัทวิทยุการบินไปออกแบบเครื่องใหญ่ๆ เป็นกระเป่ามีปุ่มกด มีอยู่ราว 200 ชุด ผมก็บอกว่า คุณใช้ปุ่มกด มันเป็น mechanic จะมีผู้สมัครได้ไม่เกิน 20 ชื่อ เพราะมีแค่ 20 ปุ่ม แล้วก็ต้องไปด้วยกันเป็นชุด เพราะมีตัวแม่สีส้มและตัวลูกสีเขียวอีก 4 ตัว คุณไม่ไปดูการเลือกตั้งในต่างประเทศหรือว่าเดี๋ยวนี้ใช้ touch screen ที่ราคาต่ำลงมหาศาล เพราะเดี๋ยวนี้จอไอแพดใช้เงินไม่กี่พันบาทก็ทำได้ แต่ก็กลับไม่มีคนทำ
กรณีแบบนี้เป็นสิ่งสะท้อนว่าคนของ กกต.ไม่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง คุณจะไม่มีทางเจอสิ่งใหม่ได้ ถ้าไม่มีการดูแลหรือเร่งรัดสิ่งใหม่ๆ ลงไป
แต่ถ้าผู้มีอำนาจจะเข้ามาจัดการการเลือกตั้งผ่านตัวกรรมการ กกต. จะพอเป็นไปได้ไหม
การได้มาของกรรมการ กกต. ผมก็เชื่อว่าเขาคงกรองคนที่เขาไว้ใจได้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีสิทธิมานั่งเป็น 1 ใน 7 คนได้ เพราะตามกระบวนการมีการปฏิเสธชื่อมาหลายรอบ กระทั่งได้เชื่อที่เขาไว้วางใจ นี่คือการกำหนดโดยคณะรัฐประหาร จริงๆ เขาไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนกรรมการ กกต.ทั้ง 5 คนออก ทำไม ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ ถึงใช้ชุดเดิมได้
กรรมการ กกต.อาจจะมีผมคนเดียวที่พูดไม่เข้าหู แต่เมื่อเขาไม่สามารถเอาผมออกได้ตามขั้นตอนปกติ งั้นก็เอาออกทั้งหมดก็แล้วกัน แต่กระนั้นก็ยังไม่พอใจอีก เพราะผมก็ยังพูดมากอยู่ ความจริงตอนที่ผมโดย ม.44 อีก 3 เดือนผมก็จะออกพร้อมๆ กับทุกคนแล้ว ความจริงควรจะรอได้ ไม่ต้องรีบขนาดนั้น “แต่เขาก็ใช้อำนาจเพื่อที่จะทำให้เห็นเขามีอำนาจ และเป็นการปรามคนอื่นๆ ว่าอย่าได้มีพฤติกรรมทำนองแบบนี้”
ซึ่งกรรมการ กกต.ทั้ง 7 คน พื้นฐานคือคณะรัฐประหารต้องไว้วางใจให้ผ่านเข้ามา ส่วนถามว่าจะทำงานตามใบสั่งหรือไม่ (นิ่งคิดนาน) ผมคิดว่า การขอในลักษณะรายบุคคลน่าจะมี โดยผ่านช่องทางที่เขาสามารถติดต่อประสานได้ แต่คงไม่ได้มีใบสั่งขนาดว่าทั้ง 7 คนต้องมีมติแบบนี้ เพราะมันดูมากไป ซึ่งอาจจะขอทั้ง 7 คนก็ได้ หรือขอไม่ครบทุกคนก็แล้วแต่ อาจจะขอ 1-2 คนแล้วก็ให้ไปโน้วน้าวจูงใจ เพราะบางครั้งเสียงข้างน้อยก็เอาชนะเสียงข้างมากได้
การขอต่อตัวบุคคลน่าจะมี เพราะผมเองก็เคยประสบตอนที่นั่งเป็นกรรมการ กกต.อยู่ มีการติดต่อจากคนที่รู้จักและมาพูดในทำนองว่า ให้เบาๆ หน่อย “เห้ย! สมชัย เบาๆ หน่อยสิ รัฐบาลน่วมไปหมดแล้ว” ผมก็ตอบทำนองว่า ถ้าไม่ผิดก็ไม่ต้องกลัวอะไร แต่ก็ยังมีความพยายามติดต่อกลับมาอีกว่า “เผื่อวันหน้าจะได้ช่วยกันทำงาน” แปลว่าอะไร แปลว่าผมต้องคิดเองว่าอยากมีงานในอนาคตหรือไม่ อยากมีตำแหน่งต่างๆ ในอนาคตหรือเปล่า ซึ่งถ้าผมรับประโยชน์ ก็แปลว่า ผมต้องยอมพูดตามเขา หรือไม่พูดแตกต่างจากสิ่งที่เขาคิด หรือยอมตามๆ เขาไปในหลายๆ เรื่อง ณ วันนี้ ผมก็อาจจะได้เป็น ส.ว.ก็ได้ (ยิ้ม)
และก็ต้องไปยกมือ โหวต พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกฯ ต่อ
อะไรประมาณนั้น แต่ตรงนั้นผมก็ปฏิเสธไป และไม่ได้มาจากแค่คนนอกที่ติดต่อเข้ามาอย่างเดียว แม้กระทั่งคนในกรรมการ กกต.ทั้ง 5 คนเอง ก็ยังมีบางคนที่มาเตือนให้ผมเบาๆ
สัญญาณเดียวกัน
สัญญาณเดียวกัน ผมก็ย้อนไปแบบเดียว หลังจากนั้นเขาก็รู้ว่าคุยกับผมไม่ได้ ก็ปิดช่องทางไม่สื่อสารกับผม
คือเราเชื่อว่า กับกรรมการ กกต.ชุดปัจจุบัน ก็น่าจะมีการ ‘กระซิบ’
ถามว่า กกต.แต่ละคนได้รับการติดต่อไหม ผมเชื่อว่าได้รับการติดต่อ ที่เชื่อเพราะว่าอะไร เพราะแม้กระทั่งท่าทีของผม ที่ไม่เอื้อประโยชน์เขาที่สุด เขาก็ยังพยายามติดต่อ
ขนาดเราไม่ได้เปิดช่องอะไรเลย ความพยายามติดต่อก็ยังมี เพื่อให้มีความเห็นหรือลงมติไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเขา ซึ่งเราไม่ตอบสนอง ขนาดเราเป็นคนที่ปิดประตูที่สุด แล้วคนอื่นซึ่งเปิดประตูล่ะ จึงน่าจะมีการติดต่อมาอย่างแน่นอน แต่อาจจะติดต่อเป็นรายบุคคล
ดังนั้นถ้าเรามองโลกแง่ร้ายสุดๆ คือเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า ก็น่าจะยากที่จะเป็นไปโดยบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม
ขึ้นอยู่กับประชาชน ถ้าเลือกมาถล่มทลาย กกต.ก็ทำอะไรไม่ได้ กกต.จะจัดการพวกเก็บเศษต่างๆ พวกงานไม่ปราณีทั้งหลาย
แต่อย่างเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งมีเซอร์ไพรส์คือกรณีพรรคอนาคตใหม่ได้รับเลือกตั้งมาอย่างถล่มทลายเกินคาด เขาก็ยังถูกจัดการ
เป็นผลมาจากการเก็บในจุดต่างๆ ที่มีช่องว่าง ที่เป็นความพลาดของคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) ที่อาจจะทรัพย์สินเยอะไปหน่อยมั้ง ถึงจัดการได้ไม่ครบถ้วน ซึ่งก็ต้องยอมรับสภาพ แต่วิธีการต่างๆ ของ กกต.ใช้กับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ใช้กับคนอีกกลุ่ม หรือเรื่องของเงินกู้เหมือนกัน ที่ กกต.ลงดาบกับพรรคอนาคตใหม่ แต่กับพรรคอื่นๆ ที่มีเงินกู้-เงินยืมในพรรคอื่นๆ ในงบการเงิน 32 พรรค ท้ายสุด กกต.ก็แค่ไต่สวนเป็นพิธีแล้วก็สรุปว่า “กู้ไม่ถึง 10 ล้านบาท ไม่ผิด” ซึ่งประโยคนี้ไม่มีในกฎหมาย เอา 2 เรื่องมาปนกัน คือ ‘เงินบริจาค’ กฎหมายห้ามเกิน 10 ล้านบาท กับ ‘เงินกู้’ ไม่ใช่รายได้ (กฎหมายระบุว่าวิธีหารายได้ของพรรคการเมืองต่างๆ ไว้ แต่ไม่รวมถึงการกู้เงิน) ดังนั้นไม่ว่าจะกู้มากหรือน้อยก็ต้องผิด
แต่ผมก็แปลกใจว่า ทำไมไม่มีคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ยื่นฟ้อง กกต. เพราะจริงๆ แล้ว ผมเปิดหน้ามากแล้วนะ และข้อมูลต่างๆ ที่ผมพูดไป กลับไม่มีใครเอาไปเล่นต่อ ไม่ว่าจะพรรคอนาคตใหม่หรือพรรคการเมืองอื่นๆ กลับไม่มีใครสนใจจะไปเล่นต่อ ไปร้องแบบศรีสุวรรณ (จรรยา) อะไรทำนองนั้น
ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยังไม่ถูกแก้ไข คิดว่าเลือกตั้งครั้งหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ถ้าให้ผมประเมิน ผมคิดว่าพรรคฝ่ายค้านไม่เสียเปรียบ เพราะพรรคใหญ่สุดตอนนี้ ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยอีกแล้ว แต่เป็นพรรคพลังประชารัฐ เขาก็จะมีโอกาสได้ ส.ส.เขตมาก และไปกระทบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้นความพยายามในการแก้ไขให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ น่าจะมาจากความพยายามซีกรัฐบาลมากกว่า แต่เขาก็อาจจะไม่ต้องการเปลี่ยนก็ได้นะ เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ก็จะทำให้เกิดพรรคเล็กๆ และการกวาดต้อนพรรคเล็กก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรง ผมจึงมองว่าขณะนี้ ทุกฝ่ายพร้อมปรับตัวเข้ากับทุกสถานการณ์ จะเป็นบัตรเลือกตั้งแบบเดิมหรือแบบใหม่ก็สู้ได้หมด
หรือขณะนี้มีเสียง ส.ว.คุยกันเอง แต่หลุดมาถึงหูผมว่า ยินดีที่จะแก้ไข ม.272 เพื่อให้ ส.ว.ไม่ต้องโหวตนายกฯ แต่ขอแลกเปลี่ยนบางอย่าง เช่น ช่วยแก้เรื่องคุณสมบัติ ส.ส. อย่าไปจำกัดเลยว่าต้องพ้นจาก ส.ว. 2 ปีแล้ว เผื่อพวกผมพ้นจาก ส.ว.จะได้มีงานทำต่อ แต่ผมก็วิจารณ์ไปว่า แบบนี้ไม่มีประโยชน์หรอกครับ ส.ว.ทุกคนไม่ต้องการเลือกนายกฯ อยู่แล้ว แต่ที่เขาต้องเลือกเพราะถูกเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล แต่โดย ส.ว.แต่ละคน ไม่อยากเลือกนายกฯ เพราะเลือกแล้วได้อะไร ก็ได้แค่ตอบแทนบุญคุณ แต่เขาโดนด่าทั้งแผ่นดิน คุณหลับหูหลับตาเลื่อกคนแบบนี้อีกแล้วหรือ ฉะนั้นการแก้ไขเรื่องนี้จึงเป็นเผือกร้อนที่เขาอยากเอาออกจากตัวเขาอยู่แล้ว ไม่ใช่เพราะต้องการทำเพื่อชาติบ้านเมือง ฉะนั้นเรื่องนี้อย่าไปตามใจเขา ให้มันตายไปพร้อมกับตัวเขา อยากโหวตนายกฯ ก็โหวต ก็สู้กันภายใต้ระบบแบบนั้น เราจะใช้เสียง ส.ส.ที่มีพอโดยไม่ต้องพึ่ง ส.ว. ก็เปิดหน้ากันไปเลย ไม่ต้องไปตามใจเขา
คิดว่าปี่กลองการเลือกตั้งใกล้มาหรือยัง หรือรัฐบาลจะขออยู่ครบวาระ 4 ปี
ปัจจัยสำคัญอยู่ที่พรรคร่วมรัฐบาล คือพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยว่าเขายังมีความสุขกับการเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ ถ้ายังมีความสุข การยุบสภาก็จะยังไม่เกิด เขาก็ยังอยู่แบบนี้ต่อไป ณ วันนี้เขาก็ยังยืนยันว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญนะ แต่ถ้าแก้ทั้งฉบับไม่ได้ก็แก้รายมาตราแทนได้ แสดงให้เห็นว่าเขาอยากจะอยูในอำนาจต่อไปโดยพยายามไม่ให้กระเทือนการร่วมรัฐบาล ส่วนแรงกดดันจากประชาชน ตอนนี้ยังอ่อนอยู่
ผมจึงสรุปว่า ปัจจัยภายในของรัฐบาล คลื่นลมยังสงบ แม้หลายคนพยายามทำนายว่า หลังโหวตคว่ำจะมีคลื่นลมจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ปรากฎว่าไม่ใช่ คลื่นลมยังสงบมาก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงจากภายในจะยังไม่เกิดขึ้น ส่วนการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก ขึ้นอยู่กับภายนอกว่าจะมีท่าทีต่างๆ ออกมาอย่าง และจะทำให้เกิดกระแสจากคนส่วนใหญ่ในประเทศได้หรือไม่
แต่ ณ วินาทีนี้คลื่นลมสงบ?
ภายในสงบ แต่ภายนอกมีคลื่นลมบ้าง แต่ไม่แรงพอจะทำให้รัฐนาวาล่ม
เวลาพูดถึงชื่อ สมชัย ศรีสุทธิยากร ในฐานะกรรมการ กกต. คนที่ติดตามการเมืองมาระยะเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะสมัยม็อบ กปปส. ก็อาจจะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บ้านเมืองมาถึงจุดนี้หรือเปล่า ทั้งการเลือกตั้งปี 2557 และการทำประชามติปี 2559
ต้องบอกว่า สิ่งที่ผมทำระหว่างเป็นกรรมการ กกต. คือการทำตามกฎหมาย ทำตามหน้าที่ที่มี ซึ่งจะทำให้มีทั้งกลุ่มคนที่พอใจและไม่พอใจ คนที่ได้ประโยชน์ เขาก็พอใจก็คิดว่าผมเป็นพวก คนที่ไม่ได้ประโยชน์ ก็คิดว่าผมอยู่ฝ่ายตรงข้าม แต่ผมยืนยันมาตลอดว่า “ผมไม่เคยเป็นพวกใคร” และจากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น หลายคนพยายามบอกว่า เพราะผมถูก ม.44 ผมเลยเปลี่ยนข้าง แต่อยากให้ไปดูว่าการวิพากษ์วิจารณ์ คสช. เกิดขึ้นก่อนที่ผมจะโดน ม.44 ใช่หรือไม่ อยากให้ดูไกลๆ แบบนี้
ส่วนการจัดการเลือกตั้งในปี 2557 กลไกของรัฐไม่ได้ช่วยเราให้การจัดการเลือกตั้งประสบความสำเร็จเลย (เน้นเสียง) เพราะทุกกลไกอยู่ในภาวะสั่งการไม่ได้ทั้งสิ้น รัฐอยู่ในภาวะที่สั่งไปทางไหนก็ไม่มีใครทำ สั่งไปตรงไหนก็เฉย ตอนนั้นเอง ศูนย์ราชการก็ถูกยึด กกต.ไม่มีที่ทำงานอยู่เดือนครึ่ง กกต.ต่างจังหวัดในภาคใต้เกือบทุกจังหวัดถูกล้อม ถูกล่ามโซ่โดย กปปส. เจ้าหน้าที่เราเข้าไปทำงานไม่ได้ ต้องแอบเข้าไปกลางคืน จุดเทียนทำงาน เพราะถ้าเปิดไฟ เขาจะรู้ว่ามีคนอยู่ จะส่งคนเข้ามา บัตรเลือกตั้งที่เราพิมพ์ แท่นพิมพ์ที่โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว ถูกบุก พิมพ์ไม่ได้ ต้องพิมพ๋ที่อื่น แอบซุ่มๆ ซ่อนๆ พิมพ์ ส่งบัตรเลือกตั้งไปภาคใต้ ก็ต้องเปลี่ยนรถยนต์ ไม่ใช้เส้นทางหลัก บัตรที่ส่งทางไปรษณีย์ถูกล้อมที่ทำการไปรษณีย์ชุมพรกับหาดใหญ่ หรือเวลารับสมัครก็ถูกปิดล้อม สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น เปิดรับสมัครอยู่ 5 วัน สามวันแรกเข้าไปไม่ได้ วันที่สี่ลอบเข้าไปตอนตีห้า รับสมัครได้ แต่ก็มีการตีกัน มีคนตาย มีการทำลายสถานที่ราชการต่างๆ
โดยบรรยากาศที่มันเกิดขึ้น ผมคิดว่า ผมทำดีที่สุดแล้ว ถ้าเราทำมากกว่านี้ ก็ไม่มีใครช่วยเรา และยังไงก็ไม่มีทางสำเร็จ
หลังเลือกตั้ง 2 กพ.2557 ที่จัดเลือกตั้ง 28 เขตไม่ได้ เราก็พยายามประชุมกัน ตอนนี้คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเรื่องเลือกตั้งโมฆะหรือไม่ยังไม่ออก เราก็พยายามประชุมเรื่องการเลือกตั้งที่จัดไมได้ ผมลงไปประชุมที่หาดใหญ่ เชิญผู้ว่าฯ 14 จังหวัดมา มีตัวแทนตำรวจ กอ.รมน. ศอ.บต. แล้วก็รัฐบาลคือคุณวิสาร เตชะธีรวัฒน์ รมช.มหาดไทย สิ่งที่ฝ่ายการเมืองต้องการคือให้จัดการเลือกตั้ง 28 เขตที่เหลือพร้อมกับเลือกตั้ง ส.ว. ปลายๆ เดือน มีค.2557 ผมถามผู้ว่าฯ ทีละจังหวัด 13 จังหวัดบอกว่าจัดไม่ได้ มีแต่ผู้ว่าฯ ชุมพร ที่ด่าผม แล้วเดินออก หลังจากนั้นจะตามกลับมาก็ปิดมือถือ ติดต่อไม่ได้ ผมถาม กอ.รมน. ศอ.บต. บอกทำไม่ได้ นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ภาคราชการประเมินว่ามันเกิดขึ้นไม่ได้ ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่ กกต.ตัดสินใจ
ในสถานการณ์นั้น ผมใช้คำว่า ‘รัฐล้มเหลว’ แล้วม็อบเป็นใหญ่
ส่วนประชุมมติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ผมก็ยึดกฎหมาย คือ พรบ.ประชามติ 2559 ที่ผมยึด 3 หลักแค่นั้นเอง ไม่หยาบคาย ไม่เป็นเท็จ ไม่ปลุกระดม และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองกับห้ามก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ฉะนั้นการดำเนินการเกี่ยวกับประชามติจะอยู่ภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับนี้เท่านั้นเอง มีประมาณ 200 เคสที่โดนคำเนินคดี 180 เคส เป็นกรณีคำสั่งหัวหน้า คสช. อีกราว 20 เคสที่เป็น พรบ.ประชามติ แต่ พรบ.ประชามติก็ยังเป็นเรื่องที่ใช้โดย กกต.กับเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนหนึ่ง เช่น กรณี จ.ราชบุรี มีการจับรถที่ใส่ใบปลิวประชามติโดยตำรวจ มีนักข่าวประชาไท หลังจับกุมตำรวจโทรหาผมเพื่อให้ยืนยันว่าทำผิด พรบ.ประชามติหรือไม่ ผมก็ถามว่ามีอะไรบ้าง เขาก็ไล่มาๆ ผมก็บอกว่าเอกสารเตรียมแจกยังไม่ผิดครับ แต่วันเดียวกันสามทุ่ม ยังมีคนถูกจับกุมที่โรงพัก ผมก็ถามว่าทำไมไม่ปล่อย เขาก็บอกว่า “ข้างบนสั่งให้ดำเนินคดี” แสดงว่าการดำเนินการ พรบ.ประชามติ ไม่ใช่ กกต.ดูแลฝ่ายเดียว แต่เจ้าหน้าที่รัฐอื่นก็ใช้จัดการคนเห็นด้วย
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ สมัยเป็นกรรมการ กกต. มีอะไรที่อยากจะเปลี่ยนแปลง หรือไม่ทำบ้าง เพื่อไม่ให้บ้านเมืองมาเป็นเช่นนี้
อันนึงที่ผมรู้สึกว่าตามใจรัฐบาลคือการไม่พิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแจกประชาชนตอนทำประชามติ ผมอาจจะยืนยันน้อยไปนิดนึง ตอนที่ผมคุยกับวิษณุ (เครืองาม รองนายกฯ) ว่าจะทำอะไรบ้าง เราถูกตีกรอบด้วยเงิน เลยลดจำนวนพิมพ์เหลือแค่ 1,000,000 เล่ม นี่คือจุดที่ผมคิดง่ายเกินไป เพราะร่างรัฐธรรมนูญน่าจะส่งให้กับทุกคน เพราะทุกวันนี้ผมเปิดรัฐธรรมนูญทุกวัน จึงคิดว่าประชาชนควรจะมีรัฐธรรมนูญอยู่ในมือ จะใช้ค้นคว้าอ้างอิงอะไรก็ว่าไป นี่คือเรื่องเล็กๆ เรื่องนึง แต่เป็นตัวอย่างการไม่ยืนหยัดต่อรองของบจากรัฐบาลเพิ่มเติม
ส่วนการเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 อันนั้นทำอะไรไม่ได้เลย มันคือสิ่งที่ฉุกละหุกที่สุด มันคือการประคองสถานการณ์เท่านั้น เพราะผมเข้ามาปลายเดือน ธ.ค.2556 แล้ว ออฟฟิศเราไม่มีด้วยซ้ำ เราถูกปิดล้อม เลือกตั้งดังกล่าว จึงไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้ดีไปกว่านั้น เพราะคุณเข้ามา เป็นมือใหม่ สถานการณ์ก็วุ่นวาย จึงทำได้แค่ประคองเท่านั้น
ถามว่า.. ถ้าย้อนกลับไปจะทำอะไร ผมอาจจะพูดน้อยกว่านั้น (หัวเราะ) ผมอาจจะพูดมากเกินไป ปรารถนาดีกับทุกฝ่ายมากเกินไป และจริงจังมากเกินไป ก็เลยพูดเยอะ ซึ่งผมคิดว่าถ้าพูดน้อยกว่านั้น คงจะทำให้กรรมการ กกต.ทั้ง 5 คนอยู่ครบวาระได้ อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่เป็นประสบการณ์สั่งสมกันมาก โครงการที่ริเริ่มกันมา มันจะมาถึงการเลือกตั้ง 24 มีค.2562 แต่พอเราพูดมากเกินไป ผลคือความไม่ไว้วางใจของผู้มีอำนาจ เขาก็เลยหาทางเอาออก เมื่อเอาออกคนเดียวไม่ได้ ก็เลยเอาออกทั้งชุด เอาออกทั้งชุดไม่ยอมหยุดอีก ก็เลยใช้ ม.44 เอาออกคนเดียวก่อน
สังเกตดู องค์กรอิสระอื่นไม่โดนเลย เพราะเขาเงียบ เขาไม่พูดอะไรเลย ปปช.ก็เรียบหนังสือกับผม ศาลรัฐธรรมนูญก็เรียนหนังสือกับผม ผมก็ถามว่า ไม่กลัวเหรอ เขาบอกไม่กลัว เพราะเขาเงียบ ถามว่าร่างรัฐธรรมนูญเขียนมาแบบนี้ไม่น่าจะถูกต้อง ทำไมไม่ออกมาพูดอะไรเลย เขาก็บอกว่า “แล้วแต่เขา” เลยทำให้เขาอยู่ได้
ถ้าถามว่าย้อนไป แล้วเป็นอะไร ก็น่าจะพูดในน้อยลง
อย่างน้อยๆ จะได้อยู่จนครบวาระ
ไม่ใช่เพื่อให้ยังอยู่ในตำแหน่งนะ แต่ได้สานต่อสิ่งที่ทำมา โดยไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ หรือโดนโยนทิ้งไป ซึ่งมันก็อาจทำให้การเลือกตั้งน่าจะดูดีกว่านี้ และผมไม่ถูกหลอกโดยสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแน่นอน
ในฐานะที่ อ.สมชัยดูศูนย์วิจัยการเมืองไทยและการพัฒนา ม.รังสิต ประชาธิปไตยไทยตอนนี้มันถอยหลังไปไกลแค่ไหนและมีโอกาสจะกลับคืนสู่สิ่งที่เคยเป็นได้ไหม
ผมว่าประชาธิปไตยไทยเราถอยไปมากกว่า 30 ปี เป็นสภาพสมัยรัฐบาล พล.อ.สุจินดา (คราประยูร) ปี 2535 ที่ทหารเข้ามายึดอำนาจทางการเมือง แต่วิธีการยึดของ คสช.จะแยบยลมากกว่า และอาศัยความพรั่งพร้อมของการสนับสนุนมากกว่า ทำให้เขาอยู่ได้นาน แต่ไม่ได้เป็นผลดีต่อบ้านเมือง เพราะมันถอยไปไกลมาก
ถามว่าจะดึงกลับมาเป็นประชาธิปไตยได้ไหม ผมอยากให้กำลังใจว่ามันดึงได้ และทุกที่ในโลก ไม่ว่าระบบเผด็จการจะเข้มแข็งแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถจะอยู่ได้ตลอดไป ทยอยล้มไปทีละแห่งสองแห่ง ที่มันเข้มแข็ง-รุนแรงกว่าเรา มันก็ยังอยู่ไม่ได้ จึงอยู่ที่ว่าประชาชนเข้าใจสถานการณ์ และช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง วันนึงต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่ดี มีการเมืองที่ดีกว่านี้ และไม่มีทางจะอยู่ได้เป็นแบบนี้ตลอดไป คงต้องช่วยในการทำมากกว่า
สิ่งสำคัญตอนนี้ก็คือจะทำยังไงให้เกิดการ “รู้จักแยกมิตรแยกศัตรู อย่าผลักมิตรให้เป็นศัตรู” อย่าใจร้อน อย่าคิดว่าสิ่งที่ขั้นผลักดันเท่านั้นถึงจะถูกต้อง ลองฟังเสียงคนรอบข้างดูว่า ประเด็นอะไรเป็นประเด็นร่วมที่คนน่าจะช่วยกันผลักดันมากกว่า อะไรที่ยังไม่ถึงเวลา ยังไม่จำเป็น เก็บไว้ก่อนได้ไหม หยิบเอาประเด็นสำคัญมาผลักดันก่อน
ผมคงไม่พูดอะไรให้ชัดกว่านี้