“ไอ้สัตว์!”
“ขอบใจจ้า อย่างน้อยก็เลือกได้ว่าจะเป็นตัวอะไร เพราะฉันอยากเป็นม้ายูนิคอร์นอยู่พอดี”
“อีดอก!”
“ว้าว เป็นดอกไรดีอะ ยิปโซก็ดี ยิปซีก็สวย”
สมัยก่อนเราอาจจะรู้สึกหน้าชาไปกับคำด่าหรือคำหยาบคายที่รุนแรง คำสาปแช่งที่ไล่ให้ไปตาย หรือกลายเป็นสัตว์ตัวนั้นตัวนี้ แต่สมัยนี้การด่าได้บียอนด์ไปมากกว่านั้น เพราะแม้ในรูปประโยคจะไม่มีคำหยาบใดๆ แต่ก็ทำเอาเราจุกจนพูดไม่ออกไปทั้งวัน
ทำไมเราเคยเจ็บปวดกับคำคำหนึ่ง แต่วันนี้ถึงไม่รู้สึกอะไร? แล้วสมัยนี้ต้องด่ากันแบบไหนถึงจะเรียกว่าด่าแรง? จริงๆ คำด่าก็มีวิวัฒนาการตามยุคสมัยเหมือนกัน
คำด่าในฐานะเครื่องเยียวยาจิตใจ
แม้จะรู้ดีว่าคำด่าหรือคำหยาบคายเป็นคำที่ไม่น่ารื่นหูเท่าไหร่ และคนโดนพูดใส่ก็คงอดเสียสุขภาพจิตไม่ได้ แต่เวลาเดินเตะขอบโต๊ะ เราเลือกที่จะพูดคำไหนมากกว่ากัน ระหว่าง “เชี่ย” กับ “คุณพระช่วย” แน่นอนว่าส่วนใหญ่ก็คงอุทานว่า เชี่ย กัน เพราะนอกจากจะสั้นและได้ใจความ ยังจะสามารถสื่อแทนความเจ็บปวดขณะนั้นได้ดีที่สุด หรือเวลาหงุดหงิด โกรธ โมโห แม้จะพยายามใจเย็นมากแค่ไหน แต่ก็ต้องมีบ้างแหละที่คำว่า “แม่งเอ๊ย” ผุดขึ้นมาในหัว หรือเผลอหลุดออกมาจากปาก
นั่นก็เพราะคำหยาบคายช่วยระบายความเครียดออกจากร่างกายได้พอๆ กับการร้องไห้ ซึ่งผลการวิจัยกล่าวว่า มนุษย์จะรับมือกับสถานการณ์ตึงเครียดได้ดีเมื่อพวกเขาได้สบถออกมา ในขณะเดียวกัน ถ้าบอกพวกเขาว่าอย่าพูดคำหยาบสิ นั่นจะทำให้พวกเขาเผชิญหน้ากับปัญหาได้ยากยิ่งขึ้น
แต่นอกจากจะใช้เพื่อระบายอารมณ์หรือเพื่อความสะใจ คำหยาบคายยังช่วยลดความเจ็บปวดในทางกายภาพด้วยเช่นกัน โดยผลการวิจัยจาก ริชาร์ด สตีเฟ่น (Richard Stephen) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา เผยว่า การสบถหรือพูดคำหยาบช่วยต้านทานความเจ็บปวดได้ถึง 1 ใน 3
โดยสตีเฟ่นได้ทดลองให้นักศึกษาจุ่มมือลงไปในน้ำเย็น แล้วแช่ไว้ให้นานที่สุด ซึ่งจะทดลองทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งแรกให้สบถคำหยาบออกมาได้ ส่วนครั้งที่สอง ไม่อนุญาตให้สบถคำหยาบ แล้วก็พบว่า นักศึกษาจะจุ่มมือในน้ำเย็นได้นานขึ้นถึง 50% เมื่อพวกเขาได้สบถ ยิ่งไปกว่านั้น ตอนที่สบถคำหยาบออกมา อัตราการเต้นของหัวใจของพวกเขาได้เพิ่มสูงขึ้น และการรับรู้ความเจ็บได้ลดลง (หรือลองออกกำลังกายด้วยท่าแพลงกิ้งซัก 1 นาทีดู แล้วจะรู้เองว่าตอนที่หน้าท้องกำลังเกร็งแบบสุดขีด สมองเราผลิตคำหยาบออกมาได้เยอะแค่ไหน)
แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดว่าคำสบถได้สร้างสภาวะทางอารมณ์บางอย่างให้มนุษย์หายเจ็บจริงๆ หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ มันได้ส่งผลกระทบต่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย อย่างการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งทำให้มนุษย์เราเกิด ‘ปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อตกอยู่ในอันตราย’
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บางครั้งมนุษย์ใช้ความก้าวร้าวเพื่อปกป้องจิตใจและร่างกายของตัวเองจากสภาวะความเจ็บปวด หรือพูดได้ว่า ยิ่งเราด่าหรือสบถออกมาแรงเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เราเอาชนะความโกรธและความเจ็บปวดที่โลดแล่นอยู่ในตัวได้มากเท่านั้น และนั่นก็ทำให้คำหยาบไม่ได้ถูกมองในแง่ร้ายเสมอไป
คำด่าที่ถูกลดทอนให้เป็นคำทั่วไป
ทุกวันนี้ เราจะเห็นได้ว่าคำหยาบที่เคยสร้างความเจ็บแสบ ได้กลายเป็นคำทั่วไปในชีวิตประจำวัน อาจจะด้วยการที่เราอยู่กับมันมานานจนแทบไม่รู้สึกอะไร แถมยังลดทอนพลังของคำเหล่านั้นด้วยการนำไปใช้ในบริบทอื่นๆ นอกจากการด่าหรือทำร้ายจิตใจกัน
เมื่อเพื่อนพูดว่า
“อีสัตว์ อย่าทำน้อง”
นั่นคือ ‘น้อง’ หมายถึงแมว
แล้ว ‘อีสัตว์’ หมายถึงเรา
“อีสัตว์ อีดอก อีเหี้ย” ถ้าคุณเคยโดนเรียกด้วยคำเหล่านี้ เราคือเพื่อนกัน ใช่ ‘เพื่อน’ กัน เพราะบางครั้งเราก็ใช้คำหยาบเพื่อเข้าสังคม ทำลายกำแพงความสัมพันธ์ และลดความอึดอัดกับคนรอบตัว เพราะคงจะมีแต่คนที่สนิทใจด้วยจริงๆ ที่เรากล้าพูดแบบนั้น (นอกซะจากจะเป็นคนประเภทที่ชอบหยาบคายไปทั่ว) ทำให้สมัยนี้ คำหยาบที่เคยใช้ด่ากัน กลายเป็นแค่สรรพนามเรียกแทนคนคนหนึ่ง ที่แสดงถึงความสนิทสนมและไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่ได้หมายถึงพฤติกรรมก้าวร้าวเพียงอย่างเดียว ซึ่ง เอมม่า เบิร์น (Emma Byrne) ผู้แต่งหนังสือชื่อ Swearing Is Good For You ได้กล่าวว่า “น่าเสียดายที่สังคมเรามองคำหยาบหรือคำสบถเป็นเรื่องไม่ดี แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคนพูดจะเป็นคนก้าวร้าวซะทั้งหมด”
นอกจากจะกลายเป็นคำสรรพนามแล้ว บางครั้งเรายังใช้เป็น คำสร้อย คำอุทาน หรือคำขยายความเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เช่นเวลาเจออะไรน่ารักๆ การพูดว่า “น่ารักสัสๆ” อาจจะทำให้สิ่งนั้นดูน่ารักกว่า “น่ารักมากๆ” หรือเวลาเจออะไรตลกๆ การพูดว่า “อีดอกกกก ตลก” ก็อาจจะแสดงให้เห็นว่าเรารู้สึกตลกกับสิ่งนั้น มากกว่าการพูดว่า “ตลกจัง ตลกมากๆ”
แม้จะเต็มไปด้วยคำหยาบ แต่ในประโยคดังกล่าวกลับไม่มีใครถูกด่าหรือถูกทำร้ายจิตใจ จะมีก็แต่การเพิ่มระดับให้กับคำคุณศัพท์นั้นๆ อย่างไรก็ตาม เลเวลการใช้คำหยาบก็คงขึ้นอยู่กับระดับความสนิทของแต่ละคน ไม่ใช่ว่าจะนำไปพูดกับใครก็ได้ แต่การนำมาใช้กับเรื่องทั่วไปเช่นนี้ ก็เหมือนกับเรากำลังสร้างวัคซีนให้กับตัวเอง เพื่อช่วยให้จิตใจต้านทานกับคำหยาบได้มากขึ้น จึงเกิดเป็นคำถามต่อมาว่า แล้วคำแบบไหนล่ะ ที่จะทำให้เราหน้าสั่นไปทั้งวัน?
ยุคที่ด่าแรงไม่ได้แปลว่าด่าเจ็บ
เมื่อไม่นานมานี้ เกิดศึกปะทะฝีปากในทวิตภพระหว่างทีมชาติไทยและทีมชาติจีน แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการด่าของชาวเน็ตไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อน ที่ทำเอาต่างชาติออกมาชื่นชมในสกิลการแซะและการสร้างสรรค์คำด่า ไม่ว่าจะเป็นมีมรูปภาพหรือประโยคเชิงจิกกัด แต่เราจะเห็นได้ว่า ในประโยคที่ด่า ส่วนใหญ่แล้วมีคำหยาบคายน้อยมาก จะมีก็เพียงแต่สรรพนาม ‘กูมึง’ ที่ก็กลายเป็นเรื่องปกติ๊ปกติสำหรับทุกวันนี้
เดิมคำหยาบคายหรือคำสาปแช่งอาจทำให้อีกฝ่ายน้ำตาตก แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นคำพูดลอยๆ ที่ไม่ทำให้เจ็บหรือสำนึก และเป็นเพียงคำสาปแช่งที่ไม่มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต เพราะ “หมา ควาย เหี้ย” ก็แค่สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง และประโยค “พ่อมึงตาย” ก็ไม่ได้ทำให้พ่อเราวิ่งไปโดดตึกหรือเดินออกไปให้รถชนแต่อย่างใด
“ด่าให้มันสร้างสรรค์กว่านี้หน่อย” เราจึงไล่อีกคนให้ไปฝึกมาใหม่ เพราะยุคนี้เป็นยุคที่คนเราต้องครีเอทคำด่าให้แสบทรวง ที่ไม่ใช่แค่การพูดคำที่หยาบคายที่สุดออกมา แต่ต้องใช้ไหวพริบให้เกิดความ ‘ตลก’ หรือเรียกได้ว่าเอาอารมณ์ขันต่อสู้กับความดุเดือดในสมรภูมิรบ เช่น บอกว่าจะใช้บริการเดลิเวอรี่ฟู้ดแพนด้าหนักๆ เพราะเป็นสัตว์ประจำชาติของจีน หรือการล้อชื่อท่านเปา ที่ทุกวันนี้เป็นเพียงชื่อยี่ห้อผงซักฟอกในไทย และนี่แหละ คือการด่าอย่างสร้างสรรค์ในความหมายของชาวเน็ตไทย
และเมื่อผสมกับท่าทีความมั่นใจและการไม่ระแคะระคายต่อคำด่าของจีน ไม่ว่าจะเป็นคำหยาบหรือการล้อเลียนความเป็นอยู่ การเมือง ระบบสาธารณสุข (ที่แม้จะล้อยังไงเราก็ไม่เจ็บ เพราะเราล้อกันเองมานานแล้ว) จึงได้ทำให้ไทยกลายเป็นยัยตัวแสบในดราม่าครั้งนี้
แต่การด่าก็คือการด่า ฟังก์ชั่นของมันคือการสร้างความเจ็บปวดในจิตใจของอีกฝ่าย จึงเป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามว่า การด่าที่บางครั้งอาจแฝงไปด้วยการเหยียดเพศ สัญชาติ หรือความชอบส่วนบุคคล จะเรียกว่า ‘สร้างสรรค์’ ได้แบบเต็มปากจริงๆ หรือเปล่านะ?
อ้างอิงข้อมูลจาก