สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง เพราะความผิดพลาดเป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครก็ยากที่จะหลีกเลี่ยง ทุกคนล้วนผ่านมาแล้วทั้งนั้น แต่แตกต่างกันที่การตอบสนองหรือการรับผิดชอบ ว่าเราเลือกที่จะ ‘แก้ไข’ หรือว่า ‘แก้ตัว’
หากอ้างอิงตามทฤษฎีผีเสื้อขยับปีก (butterfly effect) ทุกการเคลื่อนไหวแม้จะน้อยนิด ก็อาจส่งกระทบที่ยิ่งใหญ่และรุนแรงได้เสมอ เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดความผิดพลาดบางอย่าง แน่นอนว่าผลกระทบย่อมเกิดขึ้น ไม่ว่าจะต่อตัวเราหรือคนรอบข้าง แล้วหน้าที่ในการรับผิดชอบควรเป็นของใครกันนะ ไม่ต้องหันมองใครหรอก ก็ของเรานั่นแหละ
เมื่อครั้งยังเด็ก เราจะถูกสอนว่าถ้าทำผิดก็ต้องยอมรับแล้วขอโทษ แต่การพูดคำว่าขอโทษมันไม่ง่ายขนาดนั้นหรอก เพราะบางครั้งการรับรู้ ความคิด หรือความเชื่อของเราก็เกิดความขัดแย้งในตัวเอง เราเรียกว่า cognitive dissonance และเมื่อเจ้าสิ่งนี้เกิดความขัดแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้น เราจึงรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ยอมรับ ไปจนถึงต่อต้าน
และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การยอมรับในสิ่งที่ขัดแย้งกับการรับรู้ที่มีมานาน ทำให้อัตตา (ego) ของเราถูกลดทอนลงไปด้วย เราอาจรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า น่าอับอาย โง่เขลา ไร้ความสามารถ หากเรายอมรับว่าความผิดนั้นมาจากเราจริงๆ จึงเป็นสาเหตุที่ไม่ใช่ทุกการทำผิดจะนำมาซึ่งการยอมรับและการขอโทษ หากแต่ถูกเปลี่ยนเป็นการ ‘แก้ตัว’ แทน
เมื่อการยอมรับผิดน่ากลัว การแก้ตัวจึงปลอดภัยกว่า
แม้จะรู้ดีว่าการยอมรับผิดเป็นสิ่งที่พึงกระทำ แต่ราคาของการยอมรับผิดนั้นค่อนข้างแพง เพราะเราอาจโดนตอกย้ำซ้ำเติม หรือโดนตราหน้าด้วยความผิดนั้นไปตลอดกาล ไหนจะความเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับการให้อภัยหรือโอกาสในการแก้ตัว หากเป็นเช่นนั้น อัตตาของเราคงต่ำลงไปเรื่อยๆ จนยากจะกลับมาภาคภูมิใจในตัวเอง
ในขณะที่ราคาของการไม่ยอมรับนั้นถูกแสนถูก เพราะอีกนัยหนึ่งมันคือ ‘การปัดความรับผิดชอบ’ ออกไป ไม่ต้องทำอะไรให้เหนื่อย และไม่ต้องสูญเสียอะไรมากมาย แต่บางครั้งก็อาจถูกมองว่าเป็นพวกขาดจิตสำนึก หน้าด้าน ไร้ยางอาย เพราะหลักฐานก็มีอยู่ทนโท่ แต่ยังเลือกที่จะไม่ยอมรับ ทำให้เราต้องหาบางอย่างมาชดเชย เพื่อลดความรุนแรงของข้อกล่าวหาที่อาจได้รับ นั่นก็คือ ‘ข้ออ้าง’ หรือ ‘คำแก้ตัว’ และหากเรามีคำแก้ตัวที่ฟังขึ้นมากเท่าไหร่ ก็อาจมีเปอร์เซ็นต์ที่จะหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาดังกล่าว อีกทั้ง ยังสามารถคงอัตตาที่มีเอาไว้ได้ด้วย
กลไกการป้องกันที่ซ่อนอยู่ในคำแก้ตัว
นอกจากจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่มนุษย์ใช้ป้องกันตนเอง (defense mechanism) จากการถูกคุกคามอัตตา การแก้ตัวยังเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด ที่จะเอาตัวเองออกมาจากสถานการณ์ที่การบอกความจริงเป็นเรื่องที่ไม่น่าให้อภัย เช่น การลืมนัดสำคัญหรือไปไม่ตรงเวลานัด โดยแก้ตัวว่าเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยกะทันหัน ทั้งที่จริงก็แค่ตื่นสาย ทำอะไรล่าช้า หรือการหาข้ออ้างเพื่อผัดวันประกันพรุ่งออกไป ย่อมรู้สึกปลอดภัยกว่าการเผชิญหน้าทันที โดยเฉพาะการต้องทำในสิ่งที่มาจากการเรียกร้องของคนส่วนมาก ซึ่งอาจเป็นการทดสอบบางอย่างในตัวเรา เราจะพยายามเลื่อนมันออกไปให้ได้มากที่สุด
จะเห็นได้ว่า ‘ความกลัวหรือความรู้สึกไม่ปลอดภัย’ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนเลือกจะแก้ตัวมากกว่ายอมรับหรือเผชิญหน้ากับความผิดพลาด และบางครั้งข้อแก้ตัวก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการโกหก หรือเป็นเพียงแค่กลยุทธ์ที่ผู้คนใช้ซ่อนความจริงบางอย่าง การทำความเข้าใจกลไกเบื้องหลังนี้ จึงไม่เพียงแต่จะทำให้เราตระหนักได้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่คืออะไร ทำไปเพื่ออะไร หรือจะส่งผลกระทบยังไงต่อตนเองและผู้อื่น แต่ยังทำให้เราสามารถรับมือกับคนที่ชอบแก้ตัวจนเป็นนิสัยได้ดีขึ้น
คนที่มักจะหาข้อแก้ตัวให้ตัวเองตลอดเวลา ไม่ใช่คนที่มีความสุขหรือรู้สึกดีกับตัวเองสักเท่าไหร่นัก ที่จริงแล้วพวกเขารู้สึกกำลัง ‘ถูกคุกคาม’ จากการที่มีคนตั้งคำถามถึงความสามารถของพวกเขาอยู่ เมื่อภาพลักษณ์กำลังตกอยู่ในอันตรายจากความผิดพลาด ความเลินเล่อ หรือพฤติกรรมที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย ข้อแก้ตัวจึงเป็นกลไกป้องกันจุดอ่อนและความไม่ลงรอยนั้นได้ ซึ่งบางทีอาจมีเรื่องของอคติเอนเอียงเพื่อยืนยันความถูกต้องของตัวเอง (confirmation bias) เข้ามาเกี่ยวด้วย โดยพวกเขาจะเลือกพิจาณาเฉพาะหลักฐานที่สนับสนุนความเชื่อของตัวเองเท่านั้น ทำให้เกิดจุดบอด (blind spot) ที่ยากจะทำให้เห็นความผิดพลาดของตัวเอง
โดยการจะให้คนคนหนึ่งยอมรับความผิดพลาดที่ตัวเองก่อ เราจำเป็นต้องลดปัจจัย ซึ่งได้แก่ ความกลัวและความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่เขามีลงก่อน อาจเป็นการสร้างพื้นที่สบายใจ อธิบายว่าสิ่งที่เขามีกลไกอย่างไร อย่างที่ได้กล่าวไปว่าบางคนมีอคติที่ทำให้เกิดจุดบอด การที่เขาไม่ยอมรับแปลว่าเขาอาจมองไม่เห็นความผิดพลาดนั้นจริงๆ ตั้งแต่แรกก็ได้ นอกจากนี้ พยายามทำให้เขารับรู้ว่าความจริงจะไม่นำไปสู่การซ้ำเติมหรือการตราหน้า เพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้สารภาพความผิดนั้นออกมาอย่างจริงใจ
แก้ (ที่) ตัว (เรา)
การแก้ตัวทำให้เรารอดพ้นจากความผิดและการถูกกล่าวหาได้ก็จริง แต่ในขณะที่เราคิดหาข้อแก้ตัว สมองเราจะอยู่ในสภาวะหวาดกลัว กลัวว่าคำแก้ตัวจะฟังไม่ขึ้น กลัวว่าสักวันคนจะรู้ความจริง หรือวันหนึ่งเราอาจพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะสร้างข้อแก้ตัวขึ้นมาใหม่ เพราะความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นบ่อยซ้ำๆ ซากๆ จนข้อแก้ตัวที่มีอยู่ในคลังไม่มีเหลือพอจะเอาออกมาใช้แล้ว
เพราะฉะนั้น การจะก้าวข้ามสภาวะที่เต็มไปด้วยความกลัว เราจะต้องหาจุดบอดนั้นให้เจอเพื่อเดิมออกมาก่อน นักจิตวิทยาเชื่อว่ามนุษย์มีทักษะบางอย่างในการสะท้อนตัวเอง หรือ self-reflect เพื่อให้เรารู้ว่าการกระทำของเราส่งผลต่ออะไร และควรทำอย่างไรเพื่อแก้ไขผลกระทบนั้น แต่สำหรับบางคนทักษะนี้ไม่ได้เติบโตมาด้วยกัน เนื่องจากถูกหล่อเลี่ยงอยู่สังคมที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องอัตตาตัวเองเป็นอันดับหนึ่ง แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ว่าเราจะฝึกฝนทักษะนี้ไม่ได้
เริ่มแรกเราจะต้องตระหนักในธรรมชาติก่อนว่า เราคือมนุษย์คนหนึ่งที่สามารถผิดพลาดได้ และไม่สมบูรณ์แบบไปเสียทั้งหมด ซึ่งความไม่สมบูรณ์แบบนั้น ไม่ได้แปลว่าเราไม่สมควรได้รับความรักหรือการยอมรับจากใคร หากเราไม่ได้มีเจตนาจะทำร้ายใครจริงๆ เมื่อทำความเข้าใจได้แบบนั้นแล้ว ก็ค่อยๆ กลับมาทำความเข้าใจกับตัวเองต่อ ผ่านการถามคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับความรู้สึกของเราบ้าง ทำไมเราถึงกลัวที่จะดูเป็นคนอ่อนแอ ทำไมเราถึงไม่มีความอดทน ทำไมเราถึงรู้สึกไม่ปลอดภัยหากต้องรับผิด เรากำลังมีปัญหาเรื่องการควบคุมความโกรธหรือเปล่า หรือการกระทำของเราส่งผลยังไงต่อคนที่เราแคร์บ้าง
เชื่อว่าคำตอบของคำถามเหล่านั้น จะทำให้เห็นภาพรวมว่าสุดท้ายแล้ว การเพิกเฉยต่อปัญหาหรือเลือกที่จะแก้ตัว ส่งผลดีต่อใครที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้บ้าง นอกจากความสบายใจของตัวเอง แล้วการยอมรับเพื่อแก้ไขความผิดพลาดนั้น จะนำไปสู่อะไรที่ดีขึ้นกว่าเดิมบ้าง คุ้มค่าหรือเปล่าที่จะลดอัตตาของตัวเองลง หรือจริงๆ เรื่องอัตตาเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ เราไม่ได้สูญเสียอะไรไปเลย เพราะมองในอีกมุมหนึ่ง การยืดอกยอมรับความผิดพลาด ก็ทำให้เรากลายเป็นคนกล้าหาญและน่ายกย่องมากกว่า อย่างในกรณีที่นักการเมืองประเทศญี่ปุ่นออกมาก้มหัวขอโทษประชาชน หรือประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ไม่ว่าความผิดพลาดนั้นจะรุนแรงหรือเล็กน้อยก็ตาม แต่เพราะเขากำลังทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
การแก้ตัวจึงเป็นเหมือนไวรัส ที่นอกจากจะทำให้จิตสำนึกทำงานบกพร่อง ยังเป็นตัวขัดขวางการเจริญเติบโตของเราด้วย เพราะเมื่อไหร่ที่เราเลือกจะสร้างข้อแก้ตัว เมื่อนั้นเรากำลังปิดกั้นโอกาสในการทบทวนความผิดพลาด และเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่รับผิดชอบมากขึ้น การมีอัตตาที่มากจนเกินไปก็คล้ายน้ำเต็มแก้ว ที่ไม่พร้อมจะรับอะไรเข้าไปอีกแล้ว ลองเหลือที่ว่างให้เติมอะไรใหม่ๆ เข้าไปบ้าง คงไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไรนัก
แต่ไม่ใช่ว่าการแก้ตัวเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ หรือเราไม่ควรทำอะไรเพื่อปกป้องอัตตาของตัวเอง บางครั้ง เราสามารถใช้ข้อแก้ตัวเป็นเสื้อชูชีพพยุงชีวิตของตัวเองไปก่อน เพื่อไม่ให้เสียหน้า เสียความมั่นใจ หรือเสียความสัมพันธ์ แล้วระหว่างนั้นค่อยคิดหาทางฝึกฝนไปเรื่อยๆ เพื่อพิสูจน์ว่าเราสามารถว่ายน้ำได้ด้วยตัวเอง และเราจะไม่จมลงไปอีก เพราะอย่าลืมว่าทุกคนผิดพลาดกันได้ อยู่ที่ว่าเราจะเรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดนั้นบ้าง
มนุษย์ทุกคนมีอัตตาที่ต้องปกป้อง แต่หากการลดอัตตาลงมาเล็กน้อย ส่งผลให้เกิดประโยชน์ เกิดความผาสุกต่อส่วนรวม หรือทำให้เรามีโอกาสที่จะได้ปรับปรุงตัวเองให้ดียิ่งขึ้น เชื่อว่าในที่สุดแล้ว เราไม่ได้กำลังสูญเสียอะไรไปเลยสักอย่าง แต่กำลังได้รับกลับมาต่างหาก อย่างน้อยก็ความซื่อสัตย์ในตัวเองล่ะนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก