‘เอายังไงดี ถ้าหยิบมาเลย เพื่อนจะโกรธเราแน่ๆ’
‘อย่าไปคิดมากเลยแก หยิบไปเถอะ มันจำเป็นหนิ’
‘จะดีเหรอ ไปบอกเพื่อนก่อนดีมั้ย รู้ใช่มั้ยว่า เราไม่ควรหยิบของคนอื่นไปโดยไม่ขอนะ’
นี่คือสถานการณ์จำลองที่เกิดขึ้นในหัว ขณะที่เรากำลังคิดจะหยิบการบ้านเพื่อนมาลอก เพราะเดดไลน์จ่อคอเข้ามาแล้ว แต่ก็ดันมีนางฟ้ากับมารร้าย 2 ตัวมาวนเวียนเถียงกันอยู่บนไหล่ เอาแล้วไง ควรเชื่อใครดีล่ะทีนี้
เคยกันไหม เวลาต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง มักมีความคิดชวนขัดแย้งผุดขึ้นมาในหัว ทำให้เราสับสนมากยิ่งขึ้นเวลาต้องเลือกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เหมือนกับเวลาดูการ์ตูนในวัยเด็ก ที่มักจะปรากฏตัวละครนางฟ้าบนไหล่ข้างหนึ่งคอยเตือนให้เราทำในสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนไหล่อีกข้างก็มีมารร้ายมาคอยยุยงให้เราตามหัวใจตนเอง
การมีเทวดาบนไหล่มาคอยแนะนำให้เราทำอย่างนู้นอย่างนี้ บางครั้งก็ช่วยในการตัดสินใจ แต่บางครั้งก็สร้างความลำบากใจให้เราไม่น้อย เพราะถ้าเราทำตามนางฟ้าเราก็จะไม่ได้ทำตามสิ่งที่เราต้องการ ทว่าถ้าทำตามมารร้ายก็อาจส่งผลกระทบไม่ดีตามมาได้ ยิ่งคิดยิ่งปวดหัวมากขึ้นไปอีก ไอเจ้านางฟ้ากับมารร้ายบนไหล่ 2 ตนนี้ พวกแกเป็นใครมาจากไหนกันนะ?
ความเชื่อเกี่ยวกับเทวดาบนไหล่
หากพูดถึงในชีวิตจริงของเรา คงไม่มีเทวาดาบนไหล่ (Shoulder Angels) มาบินอยู่รอบๆ เราหรอก ทว่าถ้าเป็นในความเชื่อตามแหล่งต่างๆ ก็อาจมีปรากฏอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวคิดทางศาสนา ที่มักแบ่งแยกผลของการกระทำของเราออกเป็นความดีและความชั่ว
ศาสนาคริสต์ถือเป็นแนวคิดแรกๆ ที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวของเทวดาบนไหล่ ซึ่งปรากฏอยู่ใน The Shepherd of Hermas งานเขียนทางศาสนาคริสต์ยุคแรกราวๆ ปีค.ศ. 140-150 โดยเนื้อหาเกี่ยวกับเทวดาบนไหล่ที่ปรากฏในบันทึกดังกล่าว มีใจความว่า ‘มีทูตสวรรค์ 2 องค์อยู่กับมนุษย์ องค์หนึ่งเป็นทูตสวรรค์แห่งความชอบธรรม อีกองค์หนึ่งเป็นทูตสวรรค์แห่งความชั่วร้าย’ ทั้งนี้ทูตสวรรค์ทั้ง 2 ตัวไม่มีหน้าที่เพียงแค่สังเกตการณ์รอบตัวมนุษย์ ทว่าบางครั้งพวกเขายังคอยชี้นำให้ทำตามพวกเขาด้วย
นอกจากศาสนาคริสต์แล้ว ยังมีอีกหลายพื้นที่ทั่วโลกอันปรากฏแนวคิดในลักษณะคล้ายกัน อย่างเช่น ศาสนาอิสลาม ก็จะมี มลาอิกะฮ์ หรือทูตสวรรค์ ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์แตกต่างกันไป โดยมีอยู่ 2 ตนทำหน้าที่ใกล้เคียงกับเทวดาบนไหล่ คือ รอกีบและอะติด ซึ่งคอยจดบันทึกความดีความชั่วของมนุษย์อยู่บนไหล่สองข้าง
หรือในศาสนาพุทธแบบญี่ปุ่นเองก็มี คุโชจิน (Kushoujin) ซึ่งเป็นเทพผู้คอยนั่งอยู่บนไหล่ของมนุษย์ คอยบันทึกคุณงามความดีและความชั่วที่เราได้กระทำลงไป โดย ชิเมอิ (Shimei) เทพผู้ชายจะบันทึกการกระทำดีของมนุษย์ และ ชิเซอิ (Shisei) เทพผู้หญิงจะบันทึกการกระทำไม่ดีของมนุษย์
แนวคิดเกี่ยวกับเทวดาบนไหล่ปรากฏให้เห็นอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก แม้พวกเขาจะไม่ได้ทำหน้าที่คอยส่งเสริมหรือยุยงทางความคิดของมนุษย์ แต่จะเห็นได้ว่าพวกเขามีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดด้านศีลธรรมและความดีความชั่ว ซึ่งล้วนเป็นสิ่งเชื่อมโยงกับการกระทำ รวมถึงการตัดสินใจของมนุษย์เรา
แล้วในชีวิตจริงเทวดาบนไหล่เป็นใครกัน?
นอกจากความเชื่อทางศาสนาแล้ว แน่นอนว่าในทางจิตวิทยาก็มีคำอธิบายอยู่เหมือนกัน ว่าเจ้าเทวดาเหล่านี้อาจไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่มันคือจิตใจของตัวเราเองนี่แหละ ที่คอยสั่งการให้เราทำหรือไม่ทำสิ่งใด
ไม่ผิดนักหากจะบอกว่า ‘จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว’ การกระทำล้วนเกี่ยวข้องกับจิตใจเสมอ ไม่ว่านึกถึงอะไรหรือมีสิ่งใดซุกซ่อนอยู่ในจิตใจ สิ่งเหล่านี้นี่แหละคือตัวกำหนดการกระทำของตัวเรา โดยแนวคิดเรื่องบุคลิกภาพ ในทฤษฏีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic theory) คือตัวช่วยอธิบายว่า แท้จริงแล้วเทวดาบนไหล่ของเราคืออะไรกันแน่
ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิทยาและบิดาแห่งจิตวิเคราะห์ เจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ได้นำเสนอแนวคิดเรื่องบุคลิกภาพ โดยได้แบ่งโครงสร้างของจิต ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ Id, Ego, และ Superego เพื่อนำมาใช้อธิบายความซับซ้อนในวิธีคิด รวมถึงการกระทำของมนุษย์เรา
อีกทั้งองค์ประกอบแต่ละส่วนยังมีผลในการช่วยสร้างเสริมบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งทั้ง 3 องค์ประกอบมีปฏิสัมพันธ์กันในรูปแบบที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อบุคคล โดยจะปรากฏขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิต
- Id
Id คือ ความต้องการหรือสัญชาตญาณที่ถูกซุกซ่อนอยู่เอาไว้ในส่วนลึกของจิตเรา ฟรอยด์มองว่า Id มีบทบาทสำคัญในโครงสร้างบุคลิกภาพของมนุษย์ เพราะมันส่งผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของเราในระดับลึกซึ้ง โดย Id จะอยู่ควบคู่กับมนุษย์เรามาตั้งแต่เกิด ดังเห็นได้จากเวลาเด็กทารกที่แสดงออกถึงความรู้สึกต่างๆ ออกมาอย่างตรงไปตรงมา พร้อมทั้งไม่สนว่าการกระทำเหล่านั้นอยู่บนหลักเหตุผลหรือไม่
นั่นจึงทำให้ Id ถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างมากในช่วงต้นของชีวิต เพราะมันช่วยให้ความต้องการของเด็กแรกเกิดได้รับการตอบสนอง อย่างในช่วงเวลาที่รู้สึกหิวหรือไม่สบาย พวกเขาจะร้องไห้จนไปเรื่อยๆ จนกว่าความต้องการของพวกเขาจะได้รับการตอบสนอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเติบโตขึ้น การเรียกร้องสิ่งที่ต้องการไม่ได้ง่ายเท่ากับทารกแรกเกิดแล้ว เนื่องจากมนุษย์ต้องรู้จักการควบคุมตัวเองและมีเหตุผลมากขึ้น เจ้า Id ที่อยู่กับเรามาตั้งแต่เกิดเลยถูกผลักลงไปอยู่ในส่วนลึกในจิตใจของเราแทนนั่นเอง
หากเปรียบเทียบแล้ว Id คงไม่ต่างอะไรจากมารร้ายผู้คอยยุยงเราให้ทำตามใจต้องการ แม้สิ่งนั้นไม่ถูกต้องก็ตาม ตัวอย่างเช่น เมื่อเพื่อนเปิดตัวคบกับแฟนเก่าเรา ทั้งๆ ที่ตอนแรกบอกไม่มีอะไรกัน เจ้ามารร้ายบนไหล่ขวาเราก็พร้อมโผล่ขึ้นมาเป่าหูเราทันทีว่า “ไปสั่งสอนนังเพื่อนตัวดีคนนี้เลยเถอะ แกจะปล่อยให้นางลอยหน้าลอยตาอยู่อย่างนี้ได้เหรอ”
- Ego
Ego คือ ตัวตนแห่งความเป็นจริงของเรา ซึ่งเป็นส่วนที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจาก Id เพื่อให้พฤติกรรมอันเกิดจากแรงกระตุ้นของความต้องการ สามารถถูกยอมรับได้ในสังคม ทั้งนี้ Ego ยังเป็นส่วนของจิตที่ได้รับอิทธิพลมาจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็น ความคาดหวังทางสังคม บทบาทหน้าที่ หรือวัฒนธรรม
หน้าที่สำคัญของ Ego คือการตอบสนองความปรารถนาภายในจิตของเรา ในรูปแบบสมจริงและเหมาะสมกับสังคม โดยคำนึงถึงหลักความเป็นจริง ฟรอยด์ได้เปรียบเทียบว่า Id คือ ม้า ส่วน Ego คือคนขี่ม้า ซึ่งม้ามอบพลังในการเคลื่อนไปข้างหน้าให้ ถ้าไม่มีคนขี่คอยควบคุม ม้าก็จะวิ่งไปข้างหน้าแบบไร้ทิศทาง ไม่สามารถไปถึงเป้าหมายได้
ทั้งนี้ หนึ่งสิ่งสำคัญของ ซึ่งช่วยเข้ามาตอบสนองต่อความต้องการของ Id ได้ คือ การอดทนรอคอย (Delay of Gratification) เป็นขั้นตอนง่ายๆ สำหรับจัดการแรงปรารถนาภายในจิตใจเบื้องลึกของเรา ผ่านการกำหนดวันและเวลาภายหลังในการทำกิจกรรมต่างๆ แทน
เพราะฉะนั้นแล้ว Ego ก็คงเป็นตัวของเราเองนี่แหละ โดยหลังจากมารร้ายโผล่มายุยงเราให้เราทำในสิ่งไม่ดี ตัวเราก็มีอำนาจในการชะลอการตัดสินใจในการทำกิจกรรมดังกล่าวได้ ด้วยการอดทนรอ ตัวอย่างเช่น หลังจากที่มารร้ายบอกให้เราบุกไปสั่งสอนนั่งเพื่อนตัวดี เราอาจบอกกับตัวเองว่า “เอาหน่า ไว้ค่อยไปสั่งสอนภายหลังล่ะกัน ขอทำสิ่งสำคัญอย่างอื่นก่อนนะตอนนี้”
- Superego
Superego คือ จิตส่วนที่ตระหนักต่อมาตรฐานทางศีลธรรมและอุดมคติภายใน ซึ่งได้รับมาจากพ่อแม่ รวมถึงสังคมรอบตัว อาจกล่าวได้ว่า Superego เป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตัวเรา จิตส่วนนี้จึงทำหน้าที่เป็นเหมือนกับแนวทางสำหรับการตัดสินใจของตัวเราว่า เราควรทำสิ่งนั้นหรือไม่ โดยอิงจากความผิดถูกตามสิ่งที่ได้รับรู้มา
ด้วยเหตุนี้ Superego จึงเป็นจิตส่วนที่พยายามควบคุมพฤติกรรมของเราสมบูรณ์แบบมากขึ้น ด้วยการเข้าไปทำการระงับแรงขับเคลื่อนอันไม่ถูกต้องของ Id ทั้งหมด พร้อมทั้งทำให้ Ego ปฏิบัติตามมาตรฐานในอุดมคติ มากกว่าอ้างอิงจากหลักการของความเป็นจริง นั่นจึงทำให้เมื่อเราทำตาม Id มากจนเกินไป Superego จะมีหน้าที่ทำให้เรารู้สึกผิดต่อการกระทำของเรา ถ้าหากเราเชื่อฟัง Superego ตัวของเราก็จะได้รับความรู้สึกภาคภูมิใจนั่นเอง
ดังนั้น Superego จึงเปรียบเสมือนกับนางฟ้าผู้แสนดี ผู้คอยสนับสนุนให้เราทำในสิ่งถูกต้องตามหลักศีลธรรม ด้วยการนำเสนอแนวทางและมุมมองด้านความถูกต้องให้เราได้นึกคิดให้ดีก่อนจะตัดสินใจทำอะไรบางอย่างลงไป อาจเป็นการเพิ่มตัวเลือกให้เรานึกถึงบุคคลอื่นเพิ่มขึ้น ไม่ได้นึกถึงแค่เฉพาะตัวเราเองอย่าง Id และ Ego
เช่น หากเพื่อนเปิดตัวคบกับแฟนเก่าเรา แทนที่เราจะมุ่งร้ายต่อพวกเขา นางฟ้าบนไหล่ก็จะออกมาปลอบประโลมแนะนำให้เราลองสงบจิตใจสงบใจ แล้วลองนึกดูให้ดีๆ ว่า “รู้ใช้มั้ยว่าการบุกไปสั่งสอนใคร ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเท่าไหร่นักหรอกนะ ถ้าพลาดพลั้งทำร้ายร่างกายกันขึ้นมามานอกจากจะเจ็บตัวแล้ว ยังผิดกฎหมายด้วย เผลอๆ เราจะอาจจะกลายเป็นตัวสะเหล่อในสายตาแฟนเก่าและเพื่อนคนนั้นก็ได้ ลองคิดดูดีๆ”
นางฟ้า มารร้าย สุดท้ายร่วมมือกัน?
ถ้า Superego หรือ นางฟ้า คือส่วนของจิตที่ทำให้เราปฏิบัติตามหลักศีลธรรม ถ้าอย่างนั้นก็ขอมีฝั่งของนางฟ้าฝั่งเดียวไม่ได้เหรอ ตัวเราจะได้ไม่ทำผิด แถมยังเป็นคนดีของสังคมด้วย
แน่ล่ะว่ามันคงดีถ้ามีแต่นางฟ้า ทว่าในความเป็นจริงการเป็นคนดีอาจไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิดเสมอไป เพราะเจ้า Id, Ego, และ Superego นั้น ไม่สามารถแยกออกจากกันหรือมีเส้นแบ่งขอบเขตชัดเจนได้ ดังนั้นเราจะเลือกเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วตัดอีกสิ่งหนึ่งออกไปจากจิตของเราเลย เห็นทีคงเป็นไปไม่ได้
ทั้ง 3 ส่วนในจิตของเราจะมีการเปลี่ยนแปลงและโต้ตอบกันอยู่เสมอ เพราะทั้ง Id, Ego, และ Superego ล้วนส่งผลต่อการสร้างบุคลิกภาพ ตลอดจนพฤติกรรมโดยรวมของบุคคล
ถ้าหากทั้ง 3 ส่วนเกิดความไม่สมดุลกัน ฟรอยด์เชื่อว่าความไม่สมดุลระหว่างองค์ประกอบเหล่านี้ จะนำไปสู่การฟรับตัวแบบผิดๆ (Maladaptive Behavior) ที่หมายถึง การกระทำ ความคิด หรือรูปแบบพฤติกรรมซึ่งขัดขวางและทำให้บุคคลไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้
เคนดรา เชอร์รี (Kendra Cherry) ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูจิตสังคม อธิบายว่า เมื่อ Ego ของจิตเราไม่สามารถระงับความต้องการของ Id ได้ เราก็อาจทำตามความต้องการหรือสัญชาติญาณของเรามากเกินไป จนไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ที่ตามมา ในทางกลับกัน หากเรามี Superego เยอะไป ก็อาจทำให้เรายึดมั่นต่อศีลธรรมมากเกินพอดี จนกลายเป็นการคนชอบตัดสินผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากบุคคลนั้นๆ ไม่ได้ปฏิบัติตามศีลธรรมชุดเดียวกับเรา
ท้ายสุดแล้วไม่ว่าจะเป็นนางฟ้าบนไหล่ซ้าย หรือมารร้ายบนไหล่ขวา มันก็คือส่วนหนึ่งของจิตใจเรา แต่ละฝ่ายต่างก็มีข้อดีและข้อเสียในตัวเอง ถ้าหากเชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปเลย ก็อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเท่าไหร่นัก
ดังนั้นก่อนจะเลือกเชื่อนางฟ้า หรือมารร้าย ก็ลองช่างใจด้วยตัวเองก่อนนะ
อ้างอิงจาก
verywellmind.comsimplypsychology.org